Black Mirror SS.5 กับนัยยะที่ซ่อนเอาไว้เบื้องหลังความธรรมดาของเนื้อเรื่อง - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
Black Mirror SS.5 กับนัยยะที่ซ่อนเอาไว้เบื้องหลังความธรรมดาของเนื้อเรื่อง

เป็นซีรีส์น้ำดีที่ขายความแปลกใหม่ด้วยการจิกกัดเทคโนโลยีได้อย่างเจ็บแสบถูกใจคนดูมาแต่ไหนแต่ไหน พอเดินทางมาถึง Season 5 แฟนซีรีส์หลายคนต่างก็คาดหวังไปตาม ๆ กันว่าผลงานชิ้นใหม่นี้จะสร้างความประทับใจให้

ไหนจะนักแสดงเบอร์ใหญ่หลายคนที่คว้ามาร่วมงานซีซันนี้อย่างจัดเต็มซึ่งก็การันตีได้ระดับหนึ่งว่า ซีรีส์เรื่องนี้จะต้องออกมาดีแน่นอน แต่พอลงฉายจริง Black Mirror ซีซัน 5 กลับทำให้หลายคนผิดหวัง

“ผิดหวังวะ ไอเดียมันไม่ใหม่แล้วก็เดินเรื่องได้น่าเบื่อมาก” แฟนซีรีส์ที่ติดตาม Black Miror มาตั้งแต่ซีซันแรกตัดพ้อกับเราอย่างตรงไปตรงมา

“แต่กูชอบตอน Miley นะ มันดูสนุกแนวซีรีส์วัยรุ่นดี” เพื่อนอีกคนแย้งขึ้นมา

“ก็น่าจะดีสุดแล้วมั้งใน 3 ตอน แต่เทียบกับที่ผ่านมาถือว่ามาตรฐานตก”

ขนาดนั้นเลยหรอวะ ฉันนึกในใจเพราะโดยส่วนตัวฉันยอมรับว่าซีซันนี้การเดินเรื่องมันขาดความตื่นเต้นจริง แต่ประเด็นลึก ๆ ที่ลดความดาร์กนั้นยังคงจิกกัดสังคมระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาให้เนื้อหามันค่อย ๆ วนเวียนอยู่ในหัวแล้วตกผลึกออกมาหน่อย หรืออาจจะต้องเป็นคนที่เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นถึงจะเข้าใจถึงแก่นที่ต้องการสื่อ  ส่วนจะมีประเด็นไหนซ่อนเอาไว้บ้าง ใช่อย่างที่คุณคิดไว้หรือเปล่านั้น มาดูกัน

(มีสปอย์จัดเต็ม เหมาะสำหรับผู้ที่ดูแล้ว)

EP.1 | Striking Viper

https://www.youtube.com/watch?v=ssr40U3-do0

เรื่องราวว่าด้วยคู่รักคู่หนึ่งที่เปิดเรื่องด้วยการย้อนกลับไปสมัยตัวละครยังเป็นวัยรุ่น ตอนนั้นพวกเขารู้สึกว่าความรักเป็นเรื่องสดใหม่ แค่ได้สวมบทบาทสมมติว่าเป็นคนไม่รู้จักกันเข้ามาสานสัมพันธ์กันก็ทำให้ตัวนางเอกของเรารู้สึกเร้าร้อนไปกับบทสาวฮอตที่มีหนุ่มมาตามจีบ แต่เมื่อวันเวลาล่วงเลยจนอายุพวกเขาขึ้นเลข 3 ความเบื่อหน่ายของชีวิตคู่ก็เริ่มฉายออกมาในแววตาของฝ่ายชาย เขาเริ่มชายตามองคนอื่น และรู้สึกอิจฉาเพื่อนสนิทที่สนุกกับชีวิตโสด แต่ถึงอย่างนั้นตัวเขาก็ไม่สามารถจะนอกใจภรรยาได้เพราะศีลธรรมที่คล้ำคอชีวิตคู่เอาไว้อยู่

Hollywood Reporter

จนกระทั่งเพื่อนสนิทของพระเอกเราได้มอบเกม Striking Vipers X ให้เป็นของขวัญวันเกิด ซึ่งเขากับเพื่อนซี้โปรดปรานเกมนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น ปัจจุบันมันถูกพัฒนาให้เป็นเกมต่อสู้เสมือนจริงที่ผู้เล่นสามารถเข้าไปสวมบทบาทในเกมได้เลย และรับรู้ความรู้สึกได้ราวกับอยู่เหตุการณ์ในนั้นจริง ๆ  แต่ประเด็นคือเขากับเพื่อนซี้ดันใช้เกมนี้ผิดวัตถุประสงค์แทนที่จะใช้ซัดกันให้มันส์กันไปข้าง พวกเขากลับเลือกใช้เป็นพื้นที่สำหรับมีเซ็กส์กันโดยอยู่ในร่างของตัวละคร แล้วที่พีคไปกว่านั้นคือในชีวิตจริงเพื่อนคนนั้นเป็นผู้ชาย !

การเอาเกม VR มาเป็นประเด็นนี่ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เพราะทุกคนในยุคนี้ก็อาจจะเข้าถึงได้ง่ายอยู่แล้ว เราไม่ใช่แค่มีเกม VR แต่เรามีหนังโป๊ VR ด้วยซ้ำ การยกเกมมาใช้เป็นพื้นที่สำหรับหลีกหนีศีลธรรม หลบความผิดชอบชั่วดีในโลกของความเป็นจริงจึงทำให้เราชอบมาก เพราะทุกวันนี้คนบางกลุ่มก็มักเล่นเกมแพลง ๆ กันอยู่แล้ว อย่างการสร้างตัวละครเกรียน ๆ ใน Sims ให้ฮูวูทั้งหมู่บ้าน หรือ ฆ่าทั้งโคตรก็มีให้เห็นเยอะแยะถมเถไป แต่ถามว่าในความเป็นจริงเราได้ทำแบบนั้นไหม ก็ไม่

The Verge

“มันก็เหมือนกับการดูหนังโป๊นั่นแหละ”  ประโยคที่ตัวละครในเรื่องพูดเป็นการจิกกัดว่าตราบใดที่เราไม่ได้ลงมือกระทำจริง ๆ เราก็ไม่ผิดอะไร ก็เหมือนกับการดูหนังโป๊ที่ถ้าถามว่าคนดูว่า ผิดไหม เราก็จะบอกว่าไม่ผิดเพราะเราก็ต้องตอบสนองอารมณ์ทางเพศตัวเอง ของมันต้องระบาย แต่ถ้าคุณมีแฟนแล้วดูหนังโป๊ ไม่ยอมมีอะไรกับแฟนนี่มีปัญหาละ คุณอะไม่มีปัญหาแต่แฟนคุณจะมีปัญหาเหมือนในซีรีส์เลยแหละ

มันจึงเป็นการเปรียบให้เห็นว่าตัวละครคู่รักนั้นต่างก็มีความใคร่ คนคนนึงมีความใคร่ในความรักแบบรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจกับคนแปลกหน้าอย่างในอดีต กับอีกคนนึงรู้สึกมีความใคร่ในความรักแบบบทบาทสมมติในเกม แต่การแสดงออกของทั้งคู่ต่างกัน คนนึงเลือกที่จะยึดมั่นในชีวิตคู่ครอง คนนึงเลือกที่จะปล่อยไปตามอารมณ์ แต่สุดท้ายตอนจบก็สะท้อนให้แง่คิดว่า สิ่งที่ถูกต้องของคู่ครองคือแบบไหนกัน ใช่การหาจุดตรงกลางระหว่างกันให้เจอหรือไม่

The Verge

เรารู้สึกชอบประเด็นนี้เพราะโดยส่วนตัวเราคิดว่าไม่มีรักไหนดีทุกวัน ยิ่งรักที่มันจืดจางแล้ว ต่อให้พยายามจะเติมความหวานให้ได้แบบครั้งวันวาน มันก็ไม่มีทางรู้สึกสดใหม่ ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นเหตุผลที่หลายคนยอมให้คนรักของตัวเองไปมีคนอื่นได้บางครั้งคราว ถ้ามันจะทำให้พวกเขาประคองชีวิตคู่ได้ต่อไป แต่สิ่งที่ไม่ชอบในหนังคือทำไมถึงต้องเจาะจงกับเพื่อนคนนี้คนเดียว เพราะในความเป็นจริงสันดานมนุษย์เราชอบลองไปเรื่อย ๆ ก่อนจะมาเจาะจงกับคนเดียว แต่หนังกลับตีกรอบให้แคบ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็นความจงใจจะให้คิดว่าพวกเขาอาจแอบชอบกันอยู่แล้วแต่ไม่ยอมรับความจริงหรือเปล่า ตรงนั้นก็ไม่ทราบ  

EP. 2 | Smithereens

เรากลืนกินโซเชียลจนกระทั่งโซเชียลกลืนกินเรา ใช่ ประเด็นมีแค่นี้เลย และด้วยความที่มันมีแค่นี้จึงทำให้ทุกอย่างดูยัดเยียดไปหน่อย เพราะคนดูส่วนใหญ่น่าจะรู้แต่แรกอยู่แล้วว่าหนังต้องการสื่ออะไร แต่เอาจริง ๆ ก็มีหลายประเด็นที่ซุกซ่อนอยู่ เราว่าซ้อนอยู่น่าจะเยอะสุดใน season นี่เลยด้วยซ้ำ

เรื่องราวว่าด้วย Chris คนขับรถผ่านแอปชื่อ Hitcher ที่มักจะไปจอดคอยผู้โดยสารอยู่หน้าบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์คชื่อดังนามว่า Smithereens  โดยหนังจะเล่าตัดสลับไปมากับเหตุการณ์ในกลุ่มปรับทุกข์และพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อชวนให้เราตั้งข้อสงสัยว่าเขาต้องการอะไรกันแน่

HITC

ในที่สุดความตื่นเต้นก็มาถึงเมื่อเด็กฝึกงานที่แต่งตัวเหมือนพนักงานใหญ่ของบริษัท Smithereens  เรียกใช้บริการไปสนามบิน และด้วยความมัวแต่จิ้มหน้าจอจนไม่รู้ว่าคนขับพาออกนอกเส้นทางมาตั้งไกล รู้ตัวอีกทีเขาก็โดนปืนจ่อเข้าที่กะโหลก โดยมีข้อเรียกร้องจากพี่คนขับของเราว่าขอคุยกับ Billy Bauer ผู้บริหารสูงสุดของ Smithereens ไม่งั้นโดนเป่าหัวแน่ แต่อิตาคนขับนี้ก็ดูจะเป็นผู้ร้ายมือใหม่ คนดีจำใจเลวเลยทำอะไรไม่เนียนสักอย่าง

พี่แกจึงถูกตำรวจจับได้และโดนไล่ล่ามาหยุดอยู่ตรงทุ่งหญ้าแห่งหนึ่ง เมื่อไม่เห็นทางหนีทีไล่เขาจึงตัดสินใจใช้เด็กฝึกงานเป็นตัวประกัน เกรี้ยวกราดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจและพยายามโทรติดต่อทุกคนที่จะสามารถสาวไปจนถึงตัว Billy Bauerได้ด้วยตัวเอง ทำให้คนดูสงสัยขึ้นไปอีกว่าคนขับที่ดูสุภาพเรียบร้อย ทำไมถึงคุ้มคลั่งได้ขนาดนี้ แล้วทำไมต้องอยากคุยกับผู้บริหารสูงสุดอะไรหนักหนา หรือจะเรียกค่าไถ่

Hollywood Reporter

ปรากฎว่าที่คาดเดาไม่ตรงสักอย่าง เขาแค่อยากโทรไปปรับทุกข์ว่าคู่หมั้นของเขาต้องเสียชีวิตเพราะเขาเล่นเจ้าแอปโซเชียลนี้เพลินระหว่างขับรถ ก่อนที่จะตัดสินใจฆ่าตัวตายตามเธอไปในวันนี้แหละ เมื่อเด็กฝึกงานที่อยู่ในฐานะตัวประกันได้ยินสตอรี่ Loser ของพี่คนขับก็เกิดสงสารจึงพยายามแย่งยื้อปืนในมือเพื่อไม่ให้เขาฆ่าตัวตายได้สำเร็จ

สรุปใครคนใดคนหนึ่งก็โดยสไนเปอร์สอย แต่ซีรีส์ไม่ได้บอกว่าใครกันที่โดนยิง แต่เลือกสะท้อนให้เห็นแทนว่า ไม่ว่าใครจะอยู่หรือตายเพราะแอปพลิชันนี้คนก็ยังเล่นมันเหมือนปกติอยู่ดี

จริงอยู่ว่าประเด็นหลักของเรื่องนี้คือการเสพติดโซเชียลมากไป แต่เราก็แอบคิดอยู่ไม่น้อยว่าประเด็นรองของเรื่องคือการเล่นใหญ่เพื่อให้ตัวเองดัง เหมือนกับที่นักเกลี้ยกล่อมตั้งข้อสังเกตว่าเขาต้องการเรียกร้องความสนใจจากโซเชียลมีเดียเพราะในขณะที่ชีวิตเขาตกต่ำเป็นทาสของโซเชียลจนเสียคนรัก ผู้บริหารสูงสุดกลับรวยเอา ๆ ทั้งที่อายุเท่ากันแต่ความสำเร็จกลับต่างกันคนละขั้ว

Hello Magazine

นอกจากนี้การที่เขาเหลือบมองดูรถนักข่าว ส่องการพูดถึงข่าวเขาในโซเชียล หรือการเรียกร้องจะคุยกับผู้บริหารสูงสุดให้ได้ก็ดูจะเป็นความต้องการที่เหมือนต้องการเรียกร้องความสนใจจริง แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งตีความว่าน่าจะสื่อถึงการสารภาพบาปกับพระเจ้า

ส่วนเรื่องคำขอสุดท้ายที่เข้าร้องขอจากผู้บริหารนั้นก็ทำให้เราฉุกคิดได้เหมือนกันว่าหรือหนังจะสื่อถึงความทุกข์ร้อนของคนอื่นที่ไม่ได้รับการเห็นใจ ถ้าจะทำให้คนอื่นยอมแก้ไขคือการทำให้เป็นเรื่องใหญ่ มันก็สามารถตีความได้เหมือนกัน

หลัก ๆ แล้ว สำหรับเราเรื่องนี้เป็นการเสนอประเด็นที่ทำให้คนดูตระหนักถึงภัยร้ายจากการเล่นโซเชียลที่จะกระทบชีวิตและเป็นการจิกกัดว่าคนเราสามารถสร้างเรื่องเลวร้ายให้ตัวเองได้ภาพจำบนโซเชียล ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าคนสมัยนี้เลือกที่จะเปิดเผยเรื่องส่วนตัวในโซเชียลมากกว่าให้ข้อมูลกับทางราชการ พอดูจบหลายคนก็คงเหมือนกับโดนตบหน้าไปหนึ่งฉาดเหมือนกัน

EP 3. | Rachel, Jack and Ashley Too

น่าจะเป็นเรื่องที่เนื้อหาเบาสมองที่สุดแล้วในบรรดาซีรีส์ทั้ง 3 เรื่อง โดยส่วนตัวเราชอบ EP. นี้เพราะ Miley Cyrus แต่ด้วยความที่เรื่องมันค่อนข้างจะเกี่ยวกับวัยรุ่นหน่อยและดูง่ายนี่แหละหลายคนเลยจึงรู้สึกไม่อิน จนมองข้ามประเด็นสำคัญที่หนังต้องการสื่อไป

เรื่องราวว่าด้วย Rachel และ Jack  สองพี่น้องวัยทีน(ที่คาแรกเตอร์ต่างกันสุดขั้ว) ต้องย้ายมาอาศัยอยู่กับพ่อ (Marc Menchaca) หลังจากแม่ของพวกเธอจากไปเมื่อหลายปีก่อน จึงทำให้ Rachel คนน้องที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเองไม่มีเพื่อนที่โรงเรียนใหม่เลยสักคน มีเพียงแค่นักร้องป๊อบสตาร์คนดังอย่าง Ashley O (Miley Cyrus) เป็นไอดอลและเพื่อนคนเดียวของเธอ เป็นติ่งแหละว่าง่าย ๆ  จนกระทั่งวันหนึ่งนักร้องซุปตาร์คนนี้ได้ผลิตหุ่นยนต์ AI อัจฉริยะ “Ahley Too” ออกมาวางขาย ซึ่งเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถพูดคุย ตอบสนอง และให้คำแนะนำได้ราวกับคุยกับเธออยู่จริง ๆ  Rachel ของเราเห็นก็อยากได้ จึงร้องขอเป็นของขวัญวันเกิดจากผู้เป็นพ่อ และพ่อก็ซื้อให้เธออย่างที่ใจต้องการ

The Verge

หนังเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างครอบครัวของ  Rachel  กับชีวิตเบื้องหลังของสาวไอดอลคนนี้ที่ถูกน้าตัวเองวางยาให้เชื่อง ขูดรีดความสามารถทางด้านดนตรีของเธอออกมาขายโดยไม่ได้สนว่าตัวตนจริง ๆ ของเธอต้องการอะไร ชีวิตจริงของ สาว Ashley จึงแทบไม่ต่างกับคนในร่างของหุ่นยนต์ที่ถูกป้อนโปรแกรมไว้หมดทุกอย่างโดยไม่มีสิทธิเลือก เธอจึงต้องหาทางต่อสู้กับน้าตัวดีแม้จะถูกวางยาให้อยู่ในอาการโคม่าก็ตาม

เรื่องนี้ถ้าใครไม่เคยเป็นติ่งอาจจะไม่รู้สึกอินอะไรมาก แต่ถ้าใครเคยมีประสบการณ์นี้มาก่อนเราจะรู้ว่าทำไม Rachel ถึงยอมเสี่ยงตายไปช่วยชีวิตไอดอลของเธอได้ แล้วการเลือกไมลี่ย์มารับบทนี้ ก็ยิ่งทำให้ชีวิตจริงของไมลีย์กับตัวละครดูเหมือนมีอะไรที่จะเป็นแบบในซีรีส์จริงๆ

Sci-Fi Bulletin

นี่คือเมสเสจส่งถึงวงการบันเทิงที่แสวงหาผลประโยชน์จากตัวศิลปิน โดยละทิ้งความเป็นตัวตนที่แท้จริงของศิลปินนั้น ๆ ไป ศิลปินถูกปิดกั้นความเป็นของตัวเอง เพียงเพราะมีใครบางคนต้องการกระแสนิยมและทุกอย่างเป็นเรื่องของธุรกิจ

มองผิวเผินก็ดูเหมือนจะเป็นหนังขาย Miley นะ แต่มองอีกมุมในวงการเพลงเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอด เราตั้งข้อสงสัยทั้งเรื่องว่าหนูของพ่อเกี่ยวกับแก่นของหนังยังไง ซึ่งเราก็ไปหาคำตอบมาจาก Reddit เว็บถามตอบของเมืองนอกที่คล้ายกับ Pantip บ้านเรามา เขาตีความกันว่าหนูเปรียบเสมือนตัวแทนของดิสนีย์ ซึ่งมันโยงเข้าไปช่วงเข้าวงการแรกเริ่มของสาว Miley ที่เธอแจ้งเกิดจากค่ายนี้ การที่ฉากหนึ่งในเรื่องเธอไม่ยอมเข้าไปในรถหน้าหนูก็เปรียบกับว่าเธอไม่เต็มใจจะอยู่กับดิสนีย์นั่นเอง ซึ่งถ้าใครตามเหล่าดาราดิสนีย์เราจะเห็นว่าพอพวกเธอโตขึ้นคาแรกเตอร์จะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือชนิดแฟนคลับช็อกไปเลย ซึ่งสาว Miley เราก็เคยช็อกกับเธอไปแล้วตอน Wrecking Ball

News18.com

แต่เราตีความว่าหนูเปรียบเสมือนตัวไอดอลที่ไม่ต่างอะไรจากหนูทดลองของทางค่ายและการคิดค้นหาวิธีกำจัดหนูของพ่อก็เสมือนกับการอ้างว่าเราควบคุมมันอย่างมีมนุษยธรรม แต่เอาจริงมันไม่มีมนุษยธรรมใดทั้งนั้น ป้ายเล็ก ๆ บนรถหน้าหนูที่เขียนว่า humanecontrol.com  ก็เป็นการสื่อถึงการควบคุมมนุษย์ด้วย นอกจากนั้นเรายังเห็นการถูกครอบงำจากสาว Rachel ที่เธออยากเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเหมือนไอดอลเพื่อให้เป็นที่ยอมรับโดยยึดคำแนะนำจากหุ่นยนต์ก็เหมือนกับการที่เธอเป็นเหยื่อของการถูกครอบงำจนไม่รู้ว่าความต้องการของตัวเองคืออะไร ส่วนพี่สาวของเธอ Jack เองก็เปรียบเหมือนตัวแทนของวัยรุ่นที่บอกว่าตัวเองชอบฟังเพลงร็อคแต่เพลงทั้งหมดกลับเป็นเพลงที่แม่เธอชอบ

ส่วนฉากจบเราว่าจบได้ดีเลย เหมือนกับการเปรียบเทียบให้เห็นว่าพอศิลปินเป็นตัวของตัวเองแฟนคลับก็น้อยลง เชิงแอบจิกกัดเบา ๆ ว่าสรุปแล้วคุณชอบตัวตนของเขาจริง ๆ หรือชอบที่ศิลปินเป็นแบบที่คุณอยากให้เขาเป็น

Source : 1|2|3|4

Suthamat
The girl with flowers tattoo

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save