7 หนังรัก ที่จะทำให้คุณเข้าใจทานตะวัน และมุมมองเธอมากขึ้น - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
7 หนังรัก ที่จะทำให้คุณเข้าใจทานตะวัน และมุมมองเธอมากขึ้น

** หมายเหตุ : บทความนี้มีเนื้อหาเปิดเผยตอนจบ “My Ambulance รักฉุดใจ นายฉุกเฉิน” **

หลังเห็นกระแสตอนจบของ “My Ambulance รักฉุดใจ นายฉุกเฉิน” ถูกหลายคนในโซเชียล (ไม่ใช่ทุกคนนะฮะ) โจมตีกับตอนจบที่ลงเอยแบบขัดใจ ถึงขั้นมีการโพสต์ตำหนิต้นสังกัดซีรีส์อย่างนาดาว, คนเขียนบท และตัวละคร (ไม่ขอนับ ที่พาลไปโจมตีนักแสดงนะครับ อันนั้นอย่าสนเลย..) หลายรายถึงกับด่าทอ และประกาศตัดขาดไม่ดูซีรีส์จากทีมนี้อีก.. อ่านแล้วเพลียใจ..

พึ่งจบไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กับกระแส “ไม่ถูกใจ” ตอนจบ ที่รุนแรงไม่ธรรมดา
(Source : Siamrath Variety)

ที่ออกมาเขียนบทความนี้ ไม่ได้จะมาเป็นองครักษ์ #SaveNadao อะไรหรอกครับ เพียงแต่รู้สึกว่าหลายคนใจแคบ และด่วนตัดสินกันเร็วไป ยิ่งในยุคที่โซเชียลทำให้ผู้คนขาดความยับยั้งชั่งใจในการสื่อสาร และวิจารณ์ใคร เลยอยากช่วยสะท้อนให้คนมองมุมกว้างขึ้นมากกว่า

เพราะโดยส่วนตัวหลังได้ดูจนจบ (เร่งดู เพราะหลบสปอยล์ยากมาก) แม้บทหนังตลอด 16 EP จะไม่ได้เลิศเลอขึ้นหิ้ง แต่มันก็มีเหตุและผลเพียงพอ ที่จะพัฒนาตัวละคร และสื่อสารออกมาได้ค่อนข้างชัดว่าทำไม “ทานตะวัน” ถึงมีความคิด และตัดสินใจแบบนั้น

ซีรีส์ความยาวตั้ง 16 ตอน ซึ่งปูเหตุผลมากมาย ว่าทำไม “ทานตะวัน” เลือกแบบนั้น
(Source : Me Review)

ถามว่ามัน “ถูกใจ” และ “เฉียบคม” กับผู้ชมทุกคนมั้ย คำตอบคือไม่หรอกครับ เพราะซีรีส์ชัดเจน ในการเลือกเนื้อหาที่มีพระเอก 2 คน (ย้ำว่า 2 คน) มากกว่าจะมีตัวหลัก-ตัวรอง แถมยังไม่มี​ “เหตุการณ์ชี้นำ” ให้คนนึงเหมาะสมมากกว่าชัดเจนเหมือนหลายเรื่อง เช่น มีคนนึงตายไป, มีคนนึงเป็นคนดีไม่จริง หรือมีผู้หญิงอื่นมาคู่กับคนนึงไป

ดังนั้น ก่อนที่จะโจมตีแบบสาดเสียเทเสีย คุณต้องลองวางอคติให้เป็นกลางก่อน แล้วลองมองตัวละครให้เป็นแค่คนธรรมดา เปิดใจดูสิ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจของตัวละครนั้น บางทีมันอาจจะไม่สวยงามแฮปปี้เอ็นดิ้ง หรือถูกใจทุกคน แต่มันก็สะท้อนมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งดูสมจริงกับ “ความรัก” แท้ๆ ดีออก

บางครั้ง เราก็ต้องเลี่ยงการใช้อคติ และคาดเดาตอนจบตามแต่ใจเราดูก่อน
(Source : One31)

และเพื่อเป็นการหยิบยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนถึงสิ่งที่อธิบายไป ผมก็เลยอยากแนะนำหนังซัก 7 เรื่อง ที่นอกจากจะทำให้คุณได้เห็นตัวอย่าง มุมมองความรักที่แตกต่าง ยังน่าจะทำให้คุณเข้าใจ “ทานตะวัน” ในตัวตนของคนธรรมดา มากขึ้นตามไปด้วย

Blue Valentine

(Source : Rakuten TV)

หนังรักสีหม่นเมื่อปี 2010 เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของคู่รักคู่นึง ตั้งแต่ครั้งที่ทั้งคู่อินเลิฟ, คบหาดูใจ, ก่อร่างเป็นครอบครัว ไปจนถึงวันที่ทั้งคู่ไม่สามารถประคับประคองความรักมันต่อไปได้

หนังนำเสนอเรื่องราวของตัวนำ ซึ่งนำแสดงโดยนักแสดงระดับออสการ์ทั้ง “ไรอัน กอสลิ่ง” และ “มิเชล วิลเลี่ยมส์” ได้อย่างตรงไปตรงมา และมีความเรียลโดยมีสิ่งปรุงแต่งเข้ามาน้อยมาก ทำให้เราเข้าใจมุมมองความรัก ที่มันไม่ได้สวยงาม และโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป

[Source : YouTube (Movieclips Classic Trailers)]

จุดที่เราได้เรียนรู้จาก Blue Valentine ไม่ใช่เพียงความเศร้าในความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น แต่มันยังสะท้อนเตือนสติว่า ตัวละครในหนังก็ถูกผลิตจากคนธรรมดาปุถุชนนี่แหละ หากเราดูเรื่องราวของหนังอย่างเปิดใจ เราก็จะหันกลับมามองความสัมพันธ์ในชีวิตจริง โดยเฉพาะกับคนรัก คนใกล้ตัวที่จะให้ทุกสิ่ง ทั้งดีและไม่ดีของเรา

La La Land

(Source : Sound on Sound)

แม้หนังยอดเยี่ยมชนะออสการ์ 6 รางวัล จะถูกพูดถึงในด้านบทเพลง และการแสดงส่วนบุคคลที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะจาก “ไรอัน กอสลิ่ง” และ “เอ็มม่า สโตน” แต่หากมองลงไปในเรื่องความสัมพันธ์ของคู่รักแล้ว หนังเรื่องนี้ ให้แง่คิดที่ดีไม่แพ้เรื่องอื่นเลย

[Source : YouTube (Lionsgate Movies)]

La La Land เล่าเรื่องราวของ 2 คนหนุ่ม-สาว ที่พยายามตะเกียกตะกายตามหาฝันในเมืองใหญ่ ทั้งคู่หลงรักกันและกัน ด้วยตัวตนที่จะเติบโตไปพร้อมๆ กัน แต่แล้ววันหนึ่งด้วยปัจจัยที่เข้ามากระทบในวิถีชีวิต ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ และพบปัญหาที่จะประคับประคองมัน

เหตุการณ์ใน La La Land มันมีบางแง่มุมคล้ายกับเรื่องราวใน My Ambulance อยู่เหมือนกันครับ นั่นคือตัวตนที่เปลี่ยนไปเมื่อมีปัจจัย (การงาน, อาชีพ) เข้ามาเกี่ยวข้อง คือมันไม่ใช่ว่าไม่รักแหละ เพียงแต่เราอาจจะโฟกัสบางอย่างเปลี่ยนไป จนละเลยคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา

ความสัมพันธ์ที่รัก และเติบโตมาด้วยกัน อาจมีอันตรงสะดุดบ้าง เมื่อมีปัจจัยอื่นเข้ามา
(Source : Vox)

ซึ่งบางที ปริมาณความรักที่มากมาย หรือระยะเวลาที่คบหากันมา มันอาจจะไม่ช่วยอะไร หากไม่เปิดใจคุยกัน และปล่อยให้อะไรมันล่วงเลยจนเกินแก้ไข

45 Years

(Source : Film Comment)

มาเปิดมุมมองดูความรักในช่วงวัยที่แตกต่างออกไปบ้าง กับ 45 Years หนังที่เล่าเรื่องราวของคู่รักสูงวัย ที่แต่งงานอยู่กินกันมาใกล้จะ 45 ปี แต่ต้องมาพบกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งกระทบความรู้สึกของคนที่คิดว่าจะอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต

[Source : YouTube (IFC Films)]

โทนของหนังจะไม่ได้ฉูดฉาด และมีการแสดงการประชดประชันเหมือนหนังวัยรุ่น หรือวัยกลางคน ที่เราจะเรียนรู้ความสัมพันธ์ ผ่านบทพูด หรือเรื่องราว ตรงกันข้าม 45 Years จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจความรู้สึกตัวละคร ผ่านอารมณ์ที่สื่อออกมาทางสายตา ที่บ่งบอกสิ่งที่กัดกินอยู่ในใจ

ตัวละคร “เคท”​ ในเรื่อง ที่รับบทโดย “ชาร์ล็อตต์ แรมปลิง” ถูกจัดวางอารมณ์ไว้อย่างดี การแสดงของแรมปลิง ช่วยขับให้เราเข้าใจสภาวะของเคทได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงฉากจบที่ไม่ต้องการคำพูดอะไรมากมาย แต่สื่อความหมายได้เต็มเปี่ยม

“ชาร์ล็อตต์ แรมปลิง” กับการแสดงยอดเยี่ยม ที่ถ่ายทอดทุกอย่างออกมาหมด
(Source : Film Rocket)

ซึ่งบางทีระยะเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษที่เราอยู่กับคนๆ นึงมา อาจจะไม่ช่วยให้เรารับมือกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ หากมันทำร้ายจิตใจกันจนเกินลิมิตที่เรารับไหว

Amour

(Source : Cinema Autopsy)

พูดถึงความรักในช่วงสูงวัย ก็ขอต่ออีกซักเรื่องกับ Amour ที่พูดถึงคู่รักวัยเกษียณ ที่หวังใช้ชีวิตอยู่ตามประสาในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่ต้องมาพบกับเรื่องราวที่ไม่คาดคิด เมื่อตัวละครฝ่ายหญิง “แอน” เกิดอาการป่วยฉับพลัน จนเหมือนไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป

[Source : YouTube (@Hollywood)]

หนังเรื่องนี้ แตกต่างจาก 45 Years ตรงที่ ทั้งคู่เป็นคู่รักที่รักกันราบรื่น และไม่มีเหตุที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เลย นอกเหนือจากอาการป่วยของแอน ซึ่งบั่นทอนความรู้สึกของ “จอร์จส์” สามีของเธอมากกว่าที่เขาคาดคิดไว้

สิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การตัดสินใจต่างๆ ของตัวละครจอร์จส์ เหมือนฟังดูไม่มีน้ำหนัก และไม่ทำให้เราเข้าถึงหัวอกหัวใจเค้าเลย ถ้าเราไม่ได้ซึมซับสิ่งที่หนังค่อยๆ สื่อออกมา จนเราเข้าใจเหตุและผลของเขาดี

“จอร์จส์” ตัวละครหลักฝ่ายชาย ที่ต้องเจอความเปลี่ยนแปลงจากอาการป่วยของภรรยา
(Source : NPR)

และเมื่อเราเข้าใจทุกสิ่งที่ถูกปูมาแล้ว เราจะรู้ว่าบางทีความรัก และโชคชะตาก็ใจร้ายกับเราแบบไม่ปราณีบ้างเลย

Celeste & Jesse Forever

(Source : Sean Chavel | FlickMinute)

แนะนำหนังลงลึก ดราม่าไปมากแล้ว ขอกลับมาเป็นโทนสดใสบ้าง (แต่มันก็ไม่สดใสซะทีเดียวนะ..) กับหนังที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ในมุมที่แตกต่าง ถึงเหตุการณ์หลังคู่รักที่หย่าร้างกัน และตัดสินใจจะคบกันต่อ ในฐานะเพื่อนสนิท

[Source : YouTube (Movieclips Coming Soon)]

“เซเลส” และ “เจส” คือคู่รักที่เราพูดถึง พวกเขาเป็นเพื่อนสนิทกัน ก่อนจะพัฒนาเป็นคู่รัก และแต่งงานกัน แต่สุดท้ายแล้ว ฝ่ายหญิง (เซเลส) ก็ขอหย่า เมื่อรู้สึกว่าเจส ไม่ได้คิดถึงอนาคตมากพอ จะทำให้ชีวิตคู่ของเธอก้าวหน้ากว่าที่เป็น

ทั้งคู่ตัดสินใจคบหากันต่อในฐานะเพื่อน ทั้งที่ไม่มีใครเห็นด้วย จนสุดท้ายเรื่องราวเปลี่ยนไป เมื่อเจสไปมีสัมพันธ์กับหญิงคนใหม่ และเซเลสก็เริ่มพบว่าตัวเองเปราะบางมากๆ กับเหตุการณ์นี้ ซึ่งพาลไปทำให้เธอคิดถึงสิ่งที่เธอตัดสินใจยุติความสัมพันธ์กับเจส ว่ามันถูกต้องจริงเหรอ

การนำเสนอแง่มุมของหนัง ทำให้เราได้เข้าใจ และอินกับตัวละคร “เซเลส” ได้มากกว่าที่คิด
(Source : YouTube)

สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่าง และน่าจดจำแตกต่างจากหนังรักทั่วไป คือหนังสามารถสื่อสารให้เราตระหนักถึงคำว่า “ไม่ดีพอ” ว่ามันมีจริงมั้ย หนังไม่เพียงทำให้เราได้มุมมองที่แตกต่างยังทำให้เราเข้าใจตัวละครเซเลสมากขึ้น แม้เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับเธอไปซะหมดก็ตาม

500 Days of Summer

(Source : Metro)

มาถึงหนังดัง ที่มีส่วนคล้ายกับ My Ambulance อยู่ใน 2 มุม และแน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ ให้มุมมองของความสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไป แถมยังช่วยให้เราย้อนมาคิดถึงความรักในชีวิตจริงได้ดีเหมือนกัน

อย่างแรกที่เหมือนกับ My Ambulance คือหนังกล้าเขียนบทในมุมมองความคิดที่ไม่เหมือนหนังทั่วไป ตัวพระเอก-นางเอก ต่างมีการกระทำที่ไม่ make sense และไม่มี “ปัจจัยชี้นำ” ให้เกิดทางเลือก หรือจุดจบของหนังที่ชัดเจน คือแน่นอนว่าคนดูจบ ต้องมี “ถูกใจ” และ “ไม่ถูกใจ”

[Source : YouTube (FoxSearchlight)]

อย่างที่สองคือเรื่องของตัวละครหญิง ที่ “ซัมเมอร์” มีความคล้าย “ทานตะวัน” อยู่เหมือนกัน ตรงที่การกระทำของเธอ ทำให้ผู้ชม (โดยเฉพาะผู้ชาย – สำหรับผู้หญิง ผมไม่แน่ใจ แต่คิดว่าคิดไม่ต่างกัน) อยากจะด่าทอวิถีชีวิต และแนวคิดของเธอ ที่สร้างดาเมจให้ตัวละครพระเอก ต้องผิดหวัง

สองสิ่งที่ว่ามา หากมองในมุมที่เราคุ้นเคยในการตัดสินหนังอื่น เราจะรู้สึกอยากบ่นคนเขียนบท อย่างที่เราอาจรู้สึกแว่บแรกกับ My Ambulance น่ะแหละ แต่หากลองตั้งสติ มองมุมกว้างขึ้นอีกนิด เราจะรู้เลยว่า “ซัมเมอร์” และ “ทานตะวัน” ไม่ได้ผิดอะไรนักหรอก

หากจะด่าว่า “ซัมเมอร์” ร้าย คุณต้องลองชั่งใจดูใหม่ ว่ามันเป็นแบบนั้นเพราะอะไร
(Source : No Film School)

การมองแบบใจเป็นกลางมากขึ้น นอกเหนือจากเราจะไม่โดนสิ่งปรุงแต่งในหนัง (หรือซีรีส์) หลอกตาเราแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงของความสัมพันธ์ ว่าบางที เราเองน่ะแหละ ที่เรียกร้องผลลัพธ์เข้าข้างตัวเอง มากกว่าที่มันควรจะเป็น

Eternal Sunshine of the Spotless Mind

(Source : Hollywood Reporter)

หนังชื่อยาวตั้งแต่ปี 2004 ยังคงติดตราตรึงใจเสมอ ไม่ว่าจะด้วยแง่มุมของความรัก ความสัมพันธ์ และการถ่ายทอดตัวตนของตัวละคร ผ่านการแสดงที่ยอดเยี่ยมของทั้ง “จิม แคร์รี่” และ “เคท วินสเล็ต”

[Source : YouTube (Movieclips Classic Trailers)]

เล่าเนื้อเรื่องหน่อยนึง ว่าหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของ “โจเอล” ชายที่เข้าไปใช้บริการบริษัทลบความทรงจำ เพราะอยากจะลืมเรื่องของอดีตคนรัก “คลีเมนไทน์” ที่การเลิกรากับเธอทำให้เขาเจ็บปวด และไม่สามารถทนคิดเรื่องของเธอวนเวียนในหัวได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่เขากำลังจะลบความทรงจำนั้นจริงๆ เขากลับรู้ว่า ความทรงจำกับคลีเมนไทน์ นั้นเต็มไปด้วยความสุข และควรค่าจะเก็บไว้ แม้มันจะเจือปนความเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม โจเอลเลยต้องสู้เพื่อพยายามเก็บเรื่องราวนั้นเอาไว้

ยิ่งจะพยายามลบเท่าไหร่ ตัว “โจเอล” ก็ยิ่งต่อต้าน และอยากเก็บ “คลีเมนไทน์” ไว้มากเท่านั้น
(Source : Thrillist)

Eternal Sunshine of the Spotlessmind สอนให้เรายอมรับ และปล่อยวางกับความรัก ความสัมพันธ์ที่ผ่านไป แม้ส่วนที่เจ็บปวด จะกระตุ้นให้เรานึกถึงก่อนเพื่อน แต่แน่นอนว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ด้วยกัน มันย่อมมีช่วงเวลาที่มีความสุข และทำให้เราเรียนรู้ทั้งกับตัวเอง และคนที่ก้าวเข้ามาในชีวิตเรา

กับ My Ambulance จุดนี้ค่อนข้างชัดเจน ว่าทานตะวันเอง รู้จัก “หมอเป้ง” ดีกว่าใครๆ จากระยะเวลา 15 ปีที่อยู่ด้วยกันมา เธอทุ่มเททุกอย่าง เพื่อสร้างความสุขให้เป้งด้วยความเข้าใจ และคิดว่ามันคือความสุขของเธอด้วยเช่นกัน ที่เห็นคนรักของเธอได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก โดยหารู้ไม่ว่ามันบั่นทอนตัวตนของเธอมากแค่ไหน

แม้อาจจะดูเว่อร์วังไปบ้าง แต่สิ่งที่ “ทานตะวัน” ทำ ก็เพราะเธอต้องการให้คนรักของเธอมีความสุข
(Source : คมชัดลึก)

นั่นทำให้มุมมอง “ความรัก”​ ของเธอต่อเป้ง เปลี่ยนแปลงไป เมื่อได้ลองเรียนรู้และเข้าใจตัวเอง (จะคิดได้เอง หรือจะผ่านจากการมีฉลามเข้ามาก็แล้วแต่) เธอจึงเลือกจะ “เริ่มต้นใหม่” กับคนที่ทำให้เธอเป็นตัวเองมากกว่า แม้จะไม่รู้ว่าหนทางการเริ่มใหม่ ข้างหน้ามันจะขรุขระ หรือเลวร้ายกว่า 15 ปีที่เธอทำมาแค่ไหนก็ตาม

และเมื่อถึงเวลา สำหรับการจากลาของทั้งคู่ แม้จะเจ็บปวด แต่ก็ควรค่าต่อการเก็บความรู้สึกในส่วนดีๆ ไว้ และเหลือเพียงแต่ความหวังดีให้กัน โดยไม่จำเป็นต้องเสียดายเวลา หรือเก็บเอาเรื่องราวแย่ๆ มาบั่นทอนเส้นทางข้างหน้าเลยซักนิด

แม้ “ความรัก”​ และ “ความห่วงใย” จะยังคงอยู่ แต่มันแปรเปลี่ยนไปเป็นอีกรูปแบบแล้ว
(Source : Sanook)

ท้ายสุด ในความคิดของทานตะวัน “หมอเป้ง” ก็ยังคงเป็น “Ambulance” ในสายตาเธอเหมือนเดิม แต่ไม่ได้เป็นแค่เป็น “My Ambulance” ของเธอคนเดียว แต่เป็น “Ambulance” สำหรับทุกคน การปล่อยให้เขาไปทำหน้าที่หมอได้เต็มที่ ไม่ต้องฝืนตัวตน และอุทิศชีวิตให้คนอื่น คือทางเลือกที่เธอคิดว่าดีที่สุดแล้ว

Picture : Mcine News, The Japan Times, Directors Notes, Knoxville News Sentinel, Oscar, FilmEra, Narcity, Wallpaper Abyss – Alpha Coders, Sanook, คมชัดลึก, Thrillist, Hollywood Reporter, No Film School, Metro, YouTube, Sean Chavel | FlickMinute, NPR, Cinema Autopsy, Film Racket, Film Comment, Vox, Sound on Sound, Rakuten TV, One31, Me Review, Siamrath Variety

Trailer : YouTube (Movieclips Classic Trailers, FoxSearchlight, Movieclips Coming Soon, @Hollywood, IFC Films, Lionsgate Movies)

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save