8 เคล็ดลับตอบคำถามให้น่าประทับใจ ใช้ได้ทุกสถานการณ์ - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
8 เคล็ดลับตอบคำถามให้น่าประทับใจ ใช้ได้ทุกสถานการณ์

มนุษย์เริ่มต้นมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการพูดคุยเป็นส่วนใหญ่ ทักษะสำคัญที่สามารถสร้างความประทับใจตั้งแต่การพบเจอกันเป็นครั้งแรกก็คือ “การตอบคำถามที่ดี” ซึ่งก็คือการตอบคำถามที่ฉลาด ดูมั่นใจ คมชัด กระชับ และตรงประเด็น ทำให้ผู้ถามเข้าใจ และสิ้นสงสัย

แต่หลายครั้งเช่นกันที่เราอยู่ในสถานการณ์แย่ๆ ต้องเจอคำถามที่อึดอัดจะตอบ หรือคำถามที่มีความรู้ไม่พอที่จะตอบได้ เช่นใจตอนที่ต้องสัมภาษณ์งาน หรือตอนที่นำเสนองานให้ลูกค้าและนักลงทุน แล้วเราจะเอาตัวรอดในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร โดยที่คำตอบของเราจะยังคงออกมาดูดี สร้างความประทับใจได้อยู่ ใครอยากรู้ต้องมาดูเคล็ดลับที่เรากำลังจะบอกด้านล่างนี้เลย

ตั้งใจฟังคำถามของคู่สนทนาให้

เทคนิคข้อแรกนี้คือหัวใจสำคัญที่สุดของการตอบคำถามที่ดี เพราะการเข้าใจคำถามอย่างชัดแจ้งจะช่วยให้เราตอบคำถามได้ตรงประเด็น แต่หากเราไม่เข้าใจคำถาม ถูกถามอีกอย่าง แล้วตอบอีกอย่าง คู่สนทนาของคุณย่อมไม่ประทับใจ ซึ่งทำให้เขาอาจจะพูดตามมาด้วยประโยคที่ว่า “นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมถาม”  หรือ “คุณตอบไม่ตรงประเด็น”

ดังนั้นคุณจึงควรตั้งใจฟังคำถามให้ดี หากไม่เข้าใจก็ให้คู่สนทนาทวนคำถามอีกครั้ง ดีกว่าตอบไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ซึ่งดูเหมือนไม่มีความตั้งใจที่จะตอบ และแน่นอนว่ามันเป็นการตอบคำถามที่ไม่ดี 

ตอบอย่างสุขุมรอบคอบ

คำถามที่เราสามารถตอบได้ทันทีก็คือคำถามทั่วไปเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเรา เช่น ทานข้าวกับอะไร บ้านอยู่ที่ไหน ใช้รถยี่ห้ออะไร เป็นต้น แต่คำถามที่เป็นการเป็นงานนั้นเราควรมีลีลาในการตอบให้ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งลีลาการตอบคำถามที่ดีคือการตอบคำถามอย่างสุขุมรอบคอบ ค่อยๆ ตอบอย่างถูกต้องตรงประเด็น มีการเรียบเรียงคำพูด ประโยค เหตุผล และตรรกะให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย

ในการตอบคำถามที่เป็นการเป็นงานแบบโผงผาง ทันทีทันใด แม้มันจะทำให้เราดูมีความห้าว มั่นใจในตัวเองสูง และเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ลีลาแบบนั้นก็ยังดูเหมือนเด็กที่ขาดวุฒิภาวะ และความน่าเชื่อถือ ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้คุณตอบอย่างสุขุมรอบคอบเข้าไว้ดีที่สุด

ตอบบางส่วน ที่เราตอบได้ก่อน

เมื่อเราเจอคำถามยากๆ ที่มีความรู้ไม่พอจะตอบได้ หรืออึดอัดที่จะตอบ การตอบคำถามเพียงบางส่วนที่คุณตอบได้ไปก่อนจะช่วยกู้สถานการณ์นี้ได้ เทคนิคที่เราอยากแนะนำเมื่อคุณเจอคำถามยากๆ ก็คือ ให้คุณแบ่งคำถามออกเป็นประเด็นย่อยให้ได้ก่อน แล้วเลือกตอบในประเด็นที่คุณตอบได้ ซึ่งมันก็ดีกว่าที่คุณตอบไปเลยว่า “ไม่รู้” อย่างแน่นอน

ตอบครั้งหน้า

สืบเนื่องจากข้อที่แล้วที่เราได้ตอบคำถามไปแล้วเพียงบางส่วน หากคุณเชื่อว่ายังมีโอกาสได้ตอบคำถามคู่สนทนาในโอกาสต่อไป และเพื่อยังคงทำให้คู่สนทนาประทับใจ คุณสามารถเลื่อนไปตอบคำถามที่ตอบไม่ได้ในคราวหน้าได้ด้วยคำพูดประมาณว่า “ประเด็นนี้ต้องใช้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ซึ่งขอผมได้กลับไปทบทวนให้สักหน่อย แล้วผมจะมาตอบคุณอย่างชัดเจนในโอกาสต่อไป” แต่หากมันเป็นคำถามในการสัมภาษณ์งานที่คุณอาจไม่ได้มีโอกาสกลับมาตอบอีกแล้ว คุณสามารถตอบด้วยคำพูดที่ดีที่สุดว่า “ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผม แน่นอนว่าถ้าผมได้ดูข้อมูลอีกนิด ผมสามารถตอบคำถามคุณได้อย่างชัดเจนทุกประเด็น”

ตอบคำถาม ในมุมมองของผู้ฟัง

ในการสนทนา และตอบคำถาม คนส่วนใหญ่มักพูดออกไปโดยใช้มุมมองของตัวเอง ซึ่งนั่นทำให้การตอบไม่เป็นที่น่าประทับใจผู้ฟังเท่าไหร่ การตอบคำถามที่ดีจึงควรเป็นมุมมองที่ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” แล้วเราจะเข้าใจความต้องการของผู้ถามมากขึ้น เช่น ขณะที่เรากำลังสัมภาษณ์งาน เราเมื่อเราฟังคำถาม เราจึงควรโฟกัสว่านายจ้างอยากได้อะไรจากเรา มากกว่าที่เราอยากจะโชว์ให้นายจ้างเห็นว่าเรามีความรู้มากมายแค่ไหน ซึ่งมันจะทำให้เราสามารถตอบคำถามได้ชัดเจน กระชับ ตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ และผู้ฟังสามารถทราบได้ทันทีว่าเรารู้จริง

ออกนอกเรื่องบ้าง

การออกนอกเรื่องเป็นเทคนิคการตอบคำถามที่เราอึดอัดที่จะตอบ สถานการณ์นี้มักเจอระหว่างการดีเบต และระหว่างการแถลงข่าว ที่มักจะมีการถามคำถามแบบชกใต้เข็มขัดกันเพื่อหักหน้ากัน

เมื่อเราเจอคำถามแบบนี้ แทนที่เราจะทำเป็นไม่ได้ยิน หรือไม่ตอบอะไรเลย ซึ่งมันทำให้ดูไม่ฉลาด แต่เราสามารถใช้เทคนิคที่เรียกว่า Bridging หรือการเบี่ยงประเด็นออกนอกเรื่องได้ ด้วยคำพูดประมาณว่า “นั่นเป็นคำถามที่ดีนะ แต่…” หรือ “ที่คุณเข้าใจนั้นมันไม่เป็นความจริงเลย ซึ่งความจริงก็คือ…”

ทำให้บรรยากาศเย็นลง

ในบางครั้งเราต้องเข้าไปอยู่ในวงสนทนาที่เร่าร้อน เป็นการถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียด เช่น การประชุมเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ในองค์การ ที่มีการยิงคำถามกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน จนบางครั้งคุณตอบไม่ได้ เพราะมีข้อมูลไม่มากพอ ครั้นตอบไปก็กลัวจะผิดพลาด ซึ่งนั่นยิ่งทำให้สถานการณ์เดือดมากขึ้น เพราะผู้ถามก็อยากได้คำตอบตอนนั้นก็เกิดความเครียด วิตกกังวล ขาดสติ ไร้เหตุผลขึ้นมาทันที แต่คุณสามารถใช้ความฉลาด ดึงสติในวงประชุมให้กลับมาได้ด้วย คำพูดประมาณว่า “ผมเข้าใจว่าทุกคนเครียด ตอนนี้เรารู้หมดแล้วว่าปัญหาคืออะไร คำถามที่ต้องการมีคำตอบคืออะไรบ้าง หากทุกคน รวมถึงผมด้วยได้มีโอกาสไปหาข้อมูลมาอย่างละเอียดเพื่อมาตอบในที่ประชุมครั้งหน้า ย่อมจะได้คำตอบที่ถูกต้องแม่นยำกว่า” เป็นต้น

อย่าลืมเรื่องภาษากาย

ปัจจัยร่วมของการตอบคำถามที่ดีให้มีความน่าเชื่อถือก็คือ “ภาษากาย” นั่นเอง ซึ่งคุณต้องใส่ใจเรื่องนี้ใหม่มาก ตั้งแต่การเริ่มต้นสนทนา ซึ่งคุณควรตอบคำถามด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เลือกใช้แต่คำที่สุภาพ มีหางเสียง หลีกเลี่ยงการตอบคำถามแบบหวนๆ ถามคำตอบคำ เช่น “ใช่” หรือ “ไม่” โดยปราศจากคำอธิบายใดๆ เพราะมันเหมือนกับคุณไม่มีความตั้งใจที่จะตอบคำถาม

อีกทั้งกิริยาท่าทางของคุณต้องเป็นท่าทางที่มั่นใจและไม่ปิดกัน เช่นคุณสามารถนั่งไขว่ห้างได้อย่างเหมาะสม มีการใช้ภาษามือประกอบกับคำพูด เพื่อโน้มน้าวผู้ฟังให้คล้อยตาม หลีกเลี่ยงการหลบสายตาที่ทำให้เราดูขาดความมั่นใจ ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงไม่ควรกอดอกถ้าไม่จำเป็นเพราะเป็นภาษากายของการปฏิเสธและปิดกั้นตัวเองซึ่งจะถามให้คนถามคำถามพลอยเครียดไปด้วย

หลายคนบอกว่า ภาษากาย เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เพราะมันเป็นบุคลิกของแต่ละคน ซึ่งความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้องเลยทีเดียว ซึ่งในความจริงแล้ว ภาษากายนั้นสามารถฝึกได้ด้วยตัวเอง เช่น การฝึกพูดกับตัวเองหน้ากระจกบ่อยๆ จะทำให้คุณได้เห็นภาษากายตัวเองได้ทุกอย่าง และเมื่อฝึกบ่อยๆ คุณก็สามารถปรับมันให้เหมาะสมได้  

และนี่ก็คือ 8 เคล็ดลับการตอบคำถามให้น่าประทับใจที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน หลังจากที่ได้อ่านจบไป ใครที่รู้ตัวว่ามีปัญหาในเรื่องการตอบคำถาม ก็อย่าลืมนำไปปรับใช้กัน

Sujate Wanchat

What one man calls God, another calls the laws of physics.

วิศวกร นักท่องเที่ยว บล็อกเกอร์ นักเขียนบทความ ชอบติดตามโลกเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำสมัย เรื่องราวการท่องเที่ยวผจญภัย มนุษย์ต่างดาว และสาวๆ เซ็กซี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save