ไขข้อข้องใจ ทำไมเรากินเยอะจังเวลาเข้าร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ไขข้อข้องใจ ทำไมเรากินเยอะจังเวลาเข้าร้านอาหารบุฟเฟ่ต์

เพื่อนๆ สายสุขภาพหลายคนพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ เพราะเข้าไปทีไรห้ามใจตัวเองไม่ได้ ต้องทานเยอะกว่าที่ร่างกายจะรับไหวทุกที ไม่รู้เป็นไร ใจมันสั่งมาว่าต้องทานให้คุ้ม หากเข้าร้านอาหารบุฟเฟ่ต์บ่อยๆ วินัยในการควบคุมอาหาร การรักษาหุ่น รักษาสุขภาพทั้งหลายทั้งมวลเป็นอันพังหมดแน่ๆ

ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงข้องใจว่าร้านอาหารบุฟเฟ่ต์มีดีอะไร ทำไมถึงได้มีเสน่ห์ร้อนแรงเหลือเกิน เดินผ่านที่ไรก็ห้ามใจตัวเองแทบไม่ไหว อยากจะเข้าไปถล่มกินไม่ยั้ง ใครอยากรู้ ตามมาหาคำตอบในเชิงจิตวิทยากันได้เลย

เสน่ห์ดึงดูดของร้านอาหารบุฟเฟ่ต์

ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์มีเสน่ห์ดึงดูดตรงที่ตัดกังวลเรื่องการไม่มีเงินจะจ่ายไงล่ะ สำหรับคนที่มีงบจำกัด เมื่อเข้าร้านอาหารทั่วไปแล้วจะสั่งอะไรก็ต้องจิ้มเครื่องคิดเลขตลอดเวลา ว่าราคาอาหารและเครื่องดื่มตอนนี้รวมได้เท่าไหร่แล้ว ต้องคอยกังวลว่ามันจะเกินงบหรือป่าวน้า ? กินไปกังวลไปแบบนี้ไม่มีความสุขเลยใช่มั้ยล่ะ

ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์สามารถตัดความกังวลในเรื่องนี้ได้ เพราะทันทีที่คุณก้าวเข้าไปในร้าน คุณจะทราบทันทีเลยว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ และสามารถสั่งทานได้เต็มที่อิ่มไม่อั้น นั่งทานได้อย่างสบายใจ แถมบางร้านไม่จำกัดเวลาด้วย จนใครที่กระเพาะใหญ่สามารถนั่งจนร้านปิดได้เลย

สาเหตุที่เข้าร้านบุฟเฟ่ต์ทีไรแล้วต้องทานเยอะทุกที

เพื่อนๆ หลายคนแม้โดยปกติจะไม่ใช่คนทานเยอะ แต่พอได้เข้าร้านบุฟเฟ่ต์ทีไรทานเยอะในแบบที่ว่าเอาให้ตายกันไปข้างนึงเลย หากจะถามเรื่องเหตุผล พวกเขาก็จะตอบว่า “สั้นๆ ไม่มีอะไรมาก แค่ต้องเอาให้คุ้ม” หรือ “ทานน้อยก็เสียดายตังค์สิ” เป็นต้น

แต่หากจะตอบในเชิงหลักวิชาการในด้านการตลาด และจิตวิทยาแล้ว มันเป็นผลมาจาก “ต้นทุนที่เราเสียไป” หรือ ต้นทุนจม (Sunk Cost) ต่างหากล่ะ แล้ว ต้นทุนที่เราเสียไป คืออะไร เรามาดูกันเลย

ความหมายของ ต้นทุนที่เสียไป

ต้นทุนที่เสียไป หรือ ต้นทุนจม ก็คือเงินทุนที่เราได้จ่ายไปเพื่อลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งแต่กลับได้ผลกลับมาไม่คุ้มค่า เช่น เราเสียค่าคอร์สฟิตเนสไป 10,000 บาท แต่ถึงเวลาจริงกลับไม่มีเวลาเข้าคอร์ส หรือ จ่ายตังค์ค่าโฆษณาไป 50,000 บาท แต่ยอดขายกลับไม่กระเตื้อง เป็นต้น

เมื่อมีเราได้ทราบความหมายของ ต้นทุนจม แล้ว เพื่อนๆ ก็คงทราบแล้วว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย ทำให้ทุกคนเกรงกลัวที่จะเผชิญหน้ากับมัน จนก่อให้เกิด “อคติต้นทุนจม” (Sunk Cost Fallacy) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราทานเยอะๆ เวลาเข้าร้านอาหารบุฟเฟ่ต์นั่นเอง

กรณีตัวอย่างเทียบเคียง

ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าหนาว สัปดาห์หน้ามีหยุดยาว คุณเลยซื้อทริปทัวร์จะไปเที่ยวป่าเที่ยวเขาที่เชียงใหม่ มูลค่า 10,000 บาท แต่ต่อมาคุณกลับโชคดีได้รับโชคเป็นของขวัญเป็นทริปทัวร์ไปเที่ยวทะเลภูเก็ตมูลค่า 30,000 บาท แต่วันเวลาการไปท่องเที่ยวดันตรงกับทริปเชียงใหม่ที่คุณได้ซื้อทัวร์ไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว แถมเลื่อนไม่ได้ด้วยเพราะทุกอย่างได้ถูกจัดเตรียมไว้แล้ว  จึงจำเป็นที่คุณจะต้องเลือก ลองถามตัวเองดูว่าหากเป็นคุณจะเลือกทริปไหน

คำตอบนั้นเดาได้ไม่ยาก เพราะนักวิจัยด้านจิตวิทยาที่เคยทำการสำรวจคำตอบจากกรณีใกล้เคียงกันนี้ไว้แล้วหลายเคสซึ่งเมื่อนำมาเฉลี่ยกันแล้วพบว่า 54% จะเลือกทริปที่มีราคาแพงกว่า ซึ่งผลสรุปจากการวิจัยก็พบว่ามันเป็นอิทธิพลมาจาก อคติต้นทุนจม นั่นเอง เพราะคนส่วนใหญ่เลือกที่จะสูญเสียสิ่งที่มีมูลค่าน้อยกว่า โดยไม่คำนึงถึงอรรถประโยชน์เป็นที่ตั้ง

รู้ทันอคติต้นทุนจม รู้ทันบุฟเฟ่ต์

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆ คงทราบแล้วว่าสาเหตุที่ทำให้เราทานบุฟเฟ่ต์เยอะเกินความจำเป็นจนอาจเสียสุขภาพนั้นก็เป็นเพราะ อคติต้นทุนจม นั่นเอง ที่ทำให้เราขาดสติ โดยเฉพาะบางร้านจัดบุฟเฟ่ต์ที่ผู้ใช้บริการควรระวัง เช่น บุฟเฟ่ต์น้ำอัดลม และบุพเฟต์เบียร์ เป็นต้น เพราะทานมากเกินไปนอกจากจะไม่ดีต่อสุขภาพแล้วในระยะยาวแล้ว ในระยะสั้นยังอาจทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยเลยก็เป็นได้ เช่น โรคกระเพาะถามหา หรือปวดหัวหนักเพราะแอลกอฮอล์ในร่างกายมากเกินไป  ดังนั้นวิธีการดึงสติกลับมาคือเราควรคำนึงถึงอรรถประโยชน์เป็นที่ตั้ง มากกว่าที่จะให้อคติต้นทุนจมมาครอบงำเราจนควบคุมตัวเองไม่ได้

เพราะอรรถประโยชน์ของร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ก็คือการที่ทำให้เรานั่งทานอาหารได้อย่างมีความสุข หมดกังวลว่าจะไม่มีเงินจ่าย เพียงเท่านี้มันก็คุ้มสุดๆ แล้ว ส่วนที่เหลือไม่มีอะไรต้องเสียดาย เก็บมาคิดมากจนรกสมอง เพราะแค่คุณได้นั่งทานอย่างเอร็ดอร่อยในปริมาณที่อิ่มสบายท้อง ในบรรยากาศดีๆ และได้ทานของที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เท่านี้ก็ถือว่าคุ้มสุดๆ แล้วล่ะ

และนี่ก็คือความรู้เท่าทันบุฟเฟ่ต์ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ทำให้ไม่ต้องติดกับดักบุฟเฟ่ต์จนทำลายสุขภาพตัวเอง สำหรับใครที่เคยคิดว่าทุกครั้งที่เข้าร้านบุฟเฟ่ต์ต้องกินให้คุ้ม ตายเป็นตาย คงจะสามารถเปลี่ยนความคิดกันใหม่ได้แล้วนะครับ เพื่อสุขภาพที่ดี และไม่ต้องให้บุฟเฟ่ต์ทรมานร่างกายคุณอีกต่อไป

Sujate Wanchat

What one man calls God, another calls the laws of physics.

วิศวกร นักท่องเที่ยว บล็อกเกอร์ นักเขียนบทความ ชอบติดตามโลกเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำสมัย เรื่องราวการท่องเที่ยวผจญภัย มนุษย์ต่างดาว และสาวๆ เซ็กซี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save