จากแชมป์ลีกหนก่อน! ไล่เรียงเส้นทาง 30 ปี "หงส์แดง" ที่เดียวครบ! - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
จากแชมป์ลีกหนก่อน! ไล่เรียงเส้นทาง 30 ปี “หงส์แดง” ที่เดียวครบ!

เชื่อว่าแฟน “หงส์แดง” ลิเวอร์พูลเตรียมตัวฉลองแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 19 และเป็นสมัยแรกในยุคพรีเมียร์ลีก หลายคนที่อุทิศตนเป็น “เดอะ ค็อป” ย่อมหลงลืมวันคืนไปพอสมควร ว่าความสำเร็จครั้งที่ 18 มันห่างเหินมานานกี่ปีกัน

ครับ ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าหนสุดท้ายคือ “30 ปี” เข้าให้แล้ว แชมป์ครั้งสุดท้าย ต้องย้อนไปฤดูกาล 1989/90 ที่ลูกทีมของ “คิง เคนนี่” เถลิงแชมป์ลีกสูงสุด หรือดิวิชั่น 1 ในชื่อเดิม ซึ่งเป็นการกวาดแชมป์ลีกสมัยที่ 6 ในรอบ 10 ปีหลัง

ขุนพลตัวหลักของ “หงส์แดง” อย่าง รัช, วีแลน, แฮนเซ่น, บาร์นส์ ฉลองแชมป์ลีก 1989/90
(Source : Yahoo Sport)

แม้โดยอายุอานามแล้ว ผมคงจดจำรายละเอียดความยิ่งใหญ่ของยุคปลาย 80 หรือต้นๆ 90 ได้ไม่แจ่มแจ้งนัก พอๆ กับนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ ปี 1989 ที่ “หงส์แดง” ปราบคู่ปรับร่วมเมืองอย่างเอฟเวอร์ตันในช่วงต่อเวลา ที่เป็นนัดแรกที่ผมได้เห็นพวกเขาลงเล่น ซึ่งก็เลือนรางไม่ต่างกัน

แต่ก็เพราะไอ้แว้บแรกที่เห็นผ่านจอทีวีแบบเลือนรางนั่นแหละ มันกลับเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้ผมกลายเป็น “เดอะ ค็อป” นับแต่นั้น จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวในวันนั้น นับถึงวันนี้ 30 ปีที่ห่างหายจากแชมป์ลีกสูงสุด มันก็กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญในชีวิตไปซะแล้ว

เอฟเอ คัพ นัดชิงปี 1989 นัดแรกที่ผมจำความได้ว่าดู “หงส์แดง” เล่น
(Source : Liverpool Echo)

และวันนี้ ในวันที่ทีมเขยิบเข้าใกล้แชมป์ลีกมากที่สุด จนแทบจะไม่เหลือช่องว่างให้พลาดพลั้ง มันก็ดีเหมือนกันที่เราจะมาย้อนรอย 30 ปีอันยาวนาน ว่าเกิดอะไรขึ้นมั่ง

(แน่นอนว่าการเล่าเรื่องราว 30 ปีนี้ ถึงผมพยายามจะหั่นให้สั้นที่สุด แต่ก็ยังยาวทำลายประวัติศาสตร์การเขียนบทความของตัวเอง ไปมากกว่า 3 เท่า – หวังว่าทุกท่านจะยังตามอ่านไปด้วยกันจนจบ)

แชมป์ลีก และการอำลาของ “คิง เคนนี่”

นับจาก “โจ เฟแกน” อำลาทีมไปหลังโศกนาฏกรรมเฮย์เซลเมื่อปี 1985 บุรุษผู้เป็นฮีโร่ และเป็นที่รักของเดอะ ค็อป อย่าง “เคนนี่ ดัลกลิช” ก็ก้าวขึ้นมารับบทผู้เล่น-ผู้จัดการทีม พร้อมกับสานต่อความสำเร็จอันเกรียงไกรของลิเวอร์พูล ได้อย่างไร้รอยต่อ

“โจ เฟแกน” กับศิษย์เอก “เคนนี่ ดัลกลิช” ที่กลายเป็นผู้สานต่อตำนานบู๊ทรูม (Source : Pinterest)

หลังผ่านฤดูกาล 1988/89 ที่ไม่ค่อยน่าจดจำ เพราะนอกจากหงส์แดงจะพลาดแชมป์ลีก จากประตูเสี้ยวนาทีสุดท้ายของ “ไมเคิล โธมัส” ทุกผู้ทุกคนที่เกี่ยวพันกับสโมสร ก็อยากจะทิ้งความโศกเศร้าจาก “โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่” เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 1989 ไปให้เร็วที่สุด

เหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำนั้น นำไปสู่การเสียชีวิตของแฟนบอลถึง 96 ราย และยังนำไปสู่การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงของครอบครัว และผู้รอดชีวิตอีกยาวนานกว่า 30 ปี

ผ้าพันคอ และดอกไม้ ที่วางไว้อาลัยเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ฮิลส์โบโร่
(Source : The New York Times)

ผลงานการคุมทีมของเคนนี่ เขาพาทีมเป็นแชมป์ลีก 3 สมัย (รวมทั้งสมัยสุดท้าย 1989/90) เอฟเอ คัพ 2 สมัย ไม่เคยพาทีมจบเกินอันดับ 2 ในลีก ซึ่งในฤดูกาล 1990/91 เอง ทีมก็ไม่ได้ตกต่ำลง ยังคงไล่บี้กับอาร์เซน่อลเพื่อตามหาแชมป์ลีกสมัยที่ 19 แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับเรื่องไม่คาดฝัน ในเดือน ก.พ. 1991

เคนนี่ที่กำลังพาทีมลุ้นดับเบิลแชมป์อยู่ เกิดประกาศลาออกอย่างกะทันหันในวันที่ 22 ก.พ. หลังเสร็จสิ้นเกมเอฟเอ คัพ นัดรีเพลย์หนที่ 2 ที่เสมอกับเอฟเวอร์ตัน 4-4 จนทีมต้องตั้ง “มิสเตอร์ลิเวอร์พูล” รอนนี่ มอแรน ลูกหม้อเก่าแก่ของสโมสร ขึ้นมาคุมทีมชั่วคราว

ดัลกลิช กับ “รอนนี่ มอแรน” (ที่ 3 จากซ้าย) ลูกหม้อที่รับใช้สโมสรมายาวนาน
(Source : Sportskeeda)

มอแรนคุมทีมได้ราวเกือบ 2 เดือน ก็ถึงคราวส่งไม้ต่อให้กับ “แกรม ซูเนสส์” อดีตนักเตะตำนาน ที่ก่อนหน้าคุมกลาสโกว์ เรนเจอร์ส โดยซูเนสส์เริ่มคุมทีมเดือน เม.ย. ในขณะที่ทีมยังมีโอกาสไล่อาร์เซน่อลทันอยู่ แต่สุดท้ายก็พลาดไป จบเพียงอันดับ 2 ด้วยแต้มห่าง 9 คะแนน

ยังไม่มีใครกล่าวโทษอะไรซูเนสส์นัก เพราะเขาเป็นตำนานของสโมสร ผู้มาสานต่อธรรมเนียม “บู๊ทรูม” ที่ยึดถือกันมายาวนาน อีกทั้ง “ปืนใหญ่” ในซีซั่นนั้นก็แข็งแกร่ง แพ้เพียงแค่นัดเดียวตลอดซีซั่น

“แกรม ซูเนสส์” อดีตนักเตะตำนาน ผู้กลับมารับหน้าที่กุนซือ ในเดือน เม.ย. 1991
(Source : Football365)

ผู้คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ระแคะระคายสงสัยเลย ว่า “หงส์แดง” จะไม่สามารถขึ้นไปท้าทายแชมป์ลีกไปอีกนาน และยิ่งไม่มีใครคิด ว่าเจ้าของแชมป์ 18 สมัย จะขยับห่างตำแหน่งแชมป์ลีก ไปอีกนาน 29 ปี นับจากนั้น

ความตกต่ำเริ่มขึ้นแล้วกับ “ซูเนสส์”

ซีซั่น 1991/92 กับการคุมทีมเต็มตัวของซูเนสส์ เขาเสริมนักเตะที่น่าสนใจเข้ามาทั้ง “ดีน ซอนเดอร์ส”, “มาร์ค ไรท์” และ “มาร์ค วอลเทอร์ส” พร้อมกับมีเด็กดาวรุ่งพุ่งขึ้นมาที่ชื่อ “เจมี่ เร้ดแนปป์” และ “สตีฟ แม็คมานามาน” รวมถึงเสริม “ไมเคิล โธมัส” มิดฟิลด์จากอาร์เซน่อล ที่เคยยิงประตูให้พวกเขาน้ำตาร่วงอดแชมป์ลีกมาแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน

แม็คมานามาน และเร้ดแนปป์ 2 ดาวรุ่งของทีม ที่ต่อมาก้าวไปติดทีมชาติอังกฤษ
(Source : Sky Sports)

ช่วงครึ่งซีซั่นแรก ซูเนสส์ถือว่าทำผลงานได้โอเค ถึงมันจะไม่ถึงระดับที่ลิเวอร์พูลควรเป็น แต่พวกเขาก็ไม่ได้แพ้บ่อยนัก แต่พอเข้าครึ่งฤดูกาลหลังเท่านั้นแหละ ตั้งแต่เดือน ก.พ. พวกเขาแพ้ถึง 7 นัด จบเพียงอันดับ 6 หากจะเทียบกัน ต้องย้อนไปถึงปี 1964/65 นู่น ถึงจะเจออันดับที่พวกเขาจบแย่กว่า

จุดที่ยังพอให้ชุ่มชื่นหัวใจบ้าง ก็คือซีซั่นนั้น ลิเวอร์พูลสามารถฟันฟ่าเป็นแชมป์เอฟเอ คัพ ได้สำเร็จ ด้วยการปราบซันเดอร์แลนด์ 2-0 จากประตูของโธมัส และ “เอียน รัช” ถึงนัดนั้นจะเป็นมอแรนคุมทีมแทนซูเนสส์ที่พักฟื้นจากการผ่าตัดหัวใจ แต่เขาก็พอกู้เครดิตกลับมาบ้าง

แชมป์เอฟเอ คัพ ปี 1992 ความสำเร็จเดียวของซูเนสส์ ในการคุมลิเวอร์พูล
(Source : Liverpool Echo)

ฤดูกาลถัดไป ผลงานของซูเนสส์ยังคงไม่กระเตื้อง ทีมจบอันดับ 6 อีกครั้ง แถมฟุตบอลยุโรปอย่างคัพ วินเนอร์ส คัพ พวกเขาก็จบเห่แค่รอบ 2 ความกดดันเริ่มถาโถมใส่ซูเนสส์ ว่าทีมกำลังมาถูกทางจริงหรือ

ฤดูกาล 1993/94 ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของซูเนสส์ เมื่อเขาพาทีมแพ้ในลีก 5 ใน 6 นัดช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. ก่อนจะแยกทางกับทีมปลายเดือน ม.ค. หลังตกรอบเอฟเอ คัพ แบบสุดช็อคจากการแพ้ต่อบริสตอล ซิตี้

บอร์ดบริหาร ตัดสินใจตั้ง “รอย อีแวนส์” หนึ่งในบู๊ทรูมเก่าแก่ ขึ้นมาคุมทีมแทน โดยซีซั่นที่น่าผิดหวัง ทีมจบเพียงอันดับ 8 เท่านั้น

เกมรุก และความพยายามของ “อีแวนส์”

หลังมารับงานต่อซูเนสส์แบบครึ่งๆ กลางๆ อีแวนส์เริ่มต้นซีซั่น 1994/95 ด้วยการเสริมแนวรับที่มีปัญหา “ฟิล บาบบ์” และ “จอห์น สเกลส์” ถูกดึงเข้ามา เมื่อรวมกับนักเตะที่มีอยู่อย่าง เจมส์, เร้ดแนปป์, แม็คมานามาน, ร็อบ โจนส์, บาร์นส์, รัช และดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง “ร็อบบี้ ฟาวเลอร์” ทุกคนต่างคาดหวังว่าทีมน่าจะดีขึ้น

“ร็อบบี้ ฟาวเลอร์” ไอ้หนูกองหน้าความหวังใหม่ ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่
(Source : Liverpool FC)

อีแวนส์ปรับทีมให้เล่นเกมรุกที่ดูสนุกขึ้น เกมรับก็ดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จากทีมที่มีผลต่างประตูแค่ +4 ในซีซั่นก่อน ก็กลายเป็นผลต่าง +28 จบอันดับ 4 และกลับไปเล่นฟุตบอลยุโรปอีกครั้ง แม้จะยังห่างไกลจากการลุ้นแชมป์ลีกก็ตาม

“รอย อีแวนส์” ปรับทีมให้เล่นเกมรุกมากขึ้น พร้อมพยายามแก้ไขปัญหาแนวรับของทีม
(Source : LFC Click)

และที่ลืมพูดถึงไม่ได้ คือแมทช์เกมลีกส่งท้ายซีซั่น ซึ่งการลุ้นแชมป์ระหว่างคู่ปรับตลอดกาลอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และม้ามืดแบล็คเบิร์น (ที่คุมทีมโดยดัลกลิช) ต้องตัดสินถึงฎีกา โดยหาก “กุหลาบไฟ” ชนะลิเวอร์พูล ที่แอนฟิลด์ พวกเขาจะเป็นแชมป์ทันที แต่หากว่าเสมอ หรือแพ้ แชมป์จะเปลี่ยนมือ หาก “ปีศาจแดง” บุกไปชนะเวสต์แฮมได้

จะด้วยมุมของการเป็นคู่ปรับกับยูไนเต็ด หรือการที่แบล็คเบิร์นมีตำนานของทีมอย่างดัลกลิช คุมทีมอยู่ มันไม่สมเหตุสมผลเลย ที่นักเตะ “หงส์แดง” จะเล่นเต็มฝีเท้า ใครๆ ก็คิดว่าพวกเขาทิ้งเกมนี้แน่

แต่ปรากฏว่านักเตะลิเวอร์พูลทุกคนสู้ด้วยสปิริตที่มี ถึงจะโดน “อลัน เชียเรอร์” ยิงออกนำไปก่อนในครึ่งแรก แต่ครึ่งหลังพวกเขามาได้ 2 ประตูจากบาร์นส์ และเร้ดแนปป์ ยัดเยียดความปราชัยให้แบล็คเบิร์น ที่ต้องลุ้นแชมป์จนวินาทีสุดท้าย ก่อนจะได้เฮ เมื่อมีการยืนยันว่าอีกสนาม ยูไนเต็ดทำได้แค่เพียงเสมอเวสต์แฮม

ดัลกลิช กับตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฐานะกุนซือแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส
(Source : Lancashire Telegraph)

กลับมาต่อด้วยการสานต่อผลงานที่ดีขึ้นของอีแวนส์ ซีซั่น 1995/96 ถัดมา อีแวนส์เสริมทัพน่าตื่นตา ด้วยการทุ่มซื้อ “สแตน คอลลีมอร์” เข้ามาเป็นคู่หูมหากาฬกับฟาวเลอร์ เกมรุกของทีมเปรี้ยงปร้างขึ้น พวกเขายิงถึง 70 ประตูในลีก จบอันดับ 3 ตามหลังแค่ยูไนเต็ด และนิวคาสเซิล โดยมีแมทช์ระทึก เฉือน “สาลิกาดง” 4-3 เป็นสุดยอดความทรงจำ

ด้านเกมรับ “เดวิด เจมส์” ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญ และเริ่มมีชื่อเข้าไปติดทีมชาติอังกฤษสม่ำเสมอ ทุกสิ่งดูไปได้สวย จนกระทั่งรอบชิงเอฟเอ คัพ ปี 96 ที่ลูกยิงถอยหลังซัดของ “เอริค คันโตน่า” เป็นทั้งประตูชัยของยูไนเต็ด, เป็นทั้งการหันเหให้ผู้คนมองแต่ชุดสูทสีขาว “สไปซ์ บอย” และเป็นเหมือนคำสาปใส่เจมส์ ที่หลังจากนั้น หาฟอร์มเก่งไม่เจออีกเลย

สูทขาวทั้งชุดในนัดชิงเอฟเอ คัพ 1996 ซึ่งสร้างภาพลักษณ์ “สไปซ์ บอย” ให้นักเตะชุดนั้น
(Source : The Independent)
ประตูท้ายเกมของ “เอริค คันโตน่า” ส่งผลมากมายหลายอย่างกว่าที่คิด
(Source : Liverpool Echo)

ส่วนผลงานในลีก ถึงจะจบแค่อันดับ 4 แต่ก็มีคะแนนห่างจากแชมป์อย่างยูไนเต็ด ใกล้เข้ามาเหลือ 7 คะแนน แถมพวกเขายังทะลุไปถึงรอบรองฯ ในคัพ วินเนอร์ส คัพ ก่อนไปพ่ายให้กับเปแอสเช

ซีซั่น 1997/98 ถือเป็นปีที่น่าตื่นเต้นขึ้นไปอีก เพราะนอกจากการเสริมทั้ง “พอล อินซ์” ที่กลับมาจากอิตาลี และ “คาร์ลไฮน์ รีดเล่” เจ้าของแชมป์ UCL แล้ว โลกยังได้เห็นการเติบโตอันก้าวกระโดดของ “ไมเคิล โอเว่น”​ กองหน้าที่อาจจะดีที่สุด ในรอบหลายปีของวงการฟุตบอลอังกฤษ

อินซ์ อดีตนักเตะคู่อริแมนฯ ยู และเจ้าหนูโอเว่น ความหวังของทีมนับตั้งแต่ปี 1997
(Source : Daily Mail)

แต่ถึงนักเตะที่เสริมเข้ามาจะดูลงตัวมากขึ้น แต่ปัญหาแนวรับ ที่อีแวนส์ยังแก้ไม่ตก ก็ส่งผลกระทบชัดเจน เพราะเมื่อถึงต้นเดือน ธ.ค. ทีมก็แพ้ในลีกเข้าไปแล้ว 5 นัด รวมถึงการพ่ายยูไนเต็ดคาบ้าน 1-3 ด้วย

ผลงานในยูฟ่า คัพ ก็ทำได้ไม่ดีเมื่อตกรอบตั้งแต่รอบ 2 เช่นเดียวกับเอฟเอ คัพ ที่พ่ายโคเวนทรีคาแอนฟิลด์ ตั้งแต่รอบ 3 (รอบแรกที่ลงเล่น) ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเหมือนวนเวียนไม่ไปไหน แม้สุดท้ายทีมจะจบอันดับ 3 อีกครั้งก็ตาม

ถึงบางส่วนจะสนับสนุน แต่ก็เริ่มมีคนตั้งข้อสงสัย ต่อการพาทีมขึ้นไปท้าชิงแชมป์ของอีแวนส์
(Source : Alchetron)

แล้วการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เมื่อบอร์ดบริหารทำการแต่งตั้ง “เชราด์ อุลลิเยร์” อดีตกุนซือทีมชาติฝรั่งเศส เข้ามาคุมทีมร่วมกับอีแวนส์ ซึ่งถือเป็นการแหกประเพณีบู๊ทรูม เป็นครั้งแรก เมื่อเริ่มต้นซีซั่น 1998/99

สร้างระบบ รื้อโครงสร้างกับ “เชราด์”

กุนซือคนคู่อีแวนส์-อุลลิเยร์ อยู่กันไม่ได้ยืดยาว แค่เพียงเดือน พ.ย. ของซีซั่น 1998/99 อีแวนส์ที่มีข่าวอยู่เนืองๆ ว่าเขาโดนกดดัน ที่บอร์ดบริหารหาคนมาควบตำแหน่ง ก็ตัดสินใจลาออกไป ส่งผลให้กุนซือชาวฝรั่งเศส ได้กุมบังเหียนเดี่ยวแทน และทีมก็จบเพียงอันดับ 7 หลังอะไรๆ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

“เชราด์ อุลลิเยร์” กุนซือนอกขนบบู๊ทรูมคนแรก ที่เริ่มจากการเข้ามารับบทกุนซือคู่
(Source : Liverpool Echo)

จุดประสงค์หลักนอกเหนือจากการนำเอาประสบการณ์นอกบู๊ทรูมมายังลิเวอร์พูลแล้ว บอร์ดของหงส์แดง ก็คาดหวังว่าอุลลิเยร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างเยาวชน จะช่วยยกระดับทีมไปสู่แผนระยะยาวได้ในอนาคต

อุลลิเยร์ได้จับจ่ายนักเตะด้วยตัวเองแบบเต็มตัว ด้วยการนำเข้านักเตะหลายสัญชาติเข้าสู่ทัพหงส์แดง ซัมเมอร์ปี 1999 เขาซื้อทั้งฮูเปีย, เวสเตอร์เวลด์, ซมิเซอร์, ฮามันน์, ติตี้ กามาร่า, อองโชซ์ รวมถึงการดึงดาวรุ่งน่าจับตาอย่าง “เอมิล เฮสกี” มาเสริมทีมในช่วงครึ่งซีซั่นหลัง

ผู้เล่นหน้าใหม่ ถ่ายรูปเปิดตัวกับอุลลิเยร์ และมือขวาบู๊ทรูมอย่าง ฟิล ธอมป์สัน
(Source : Planet Football)

นอกจากนั้น อุลลิเยร์เริ่มใช้งานดาวรุ่งของทีมมากขึ้น จนทำให้เราเริ่มรู้จัก “เจมี่ คาร์ราเกอร์” ที่ประเดิมประตู ตั้งแต่นัดแรกที่ลงเล่น และ “สตีเว่น เจอร์ราร์ด” สเกาเซอร์ดุดัน ที่เริ่มจากการขึ้นมายืนแบ็คขวา ก่อนที่ทั้งคู่จะกลายเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ของสโมสร อย่างที่เราทราบกัน

ไอ้หนู “สตีเว่น เจอร์ราร์ด” สเกาเซอร์ขาบู๊ ที่ก้าวขึ้นมาในยุคอุลลิเยร์
(Source : Sports History & Culture)

หลังผลงานในลีกที่ดีขึ้น ซีซั่น 2000/01 ก็ถึงปีทองของอุลลิเยร์ หลังเขาสามารถบาลานซ์ทีมด้วยการดึงแข้งประสบการณ์มาเพิ่มเติม ทั้งการเซ็นฟรีแม็คอัลลิสเตอร์ หรือลิตมาเน่น รวมถึงการเติมบับเบิล, ซีเก้ และบาร์มบี้ เข้ามา

หงส์แดงผงาดคว้า “ทริปเปิลแชมป์” ฟุตบอลถ้วย ด้วยการกวาดเรียบทั้ง เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ และยูฟ่า คัพ อันดับในลีกก็ถือว่าไม่ได้ต่ำลงกว่าเดิม พวกเขาจบอันดับ 3 และได้สิทธิ์ไปเตะยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก ซะที หลังยูฟ่าเพิ่มเติมโควต้าให้ทีมอันดับรองลงมา

ภาพการเฉลิมฉลอง 3 แชมป์บอลถ้วยที่เมืองลิเวอร์พูล หลัง “หงส์แดง” กวาดมาเรียบวุธ
(Source : From The Stands)

ทิศทางของสโมสรเริ่มดีขึ้น ซีซั่น 2001/02 หงส์แดงสามารถจบอันดับ 2 ของลีกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ผลงานใน UCL ก็ทะลุเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย (แพ้เลเวอร์คูเซ่น) แม้ระหว่างทาง อุลลิเยร์จะต้องพักฟื้นจากอาการโรคหัวใจ จนทำให้ “ฟิล ธอมป์สัน” มือขวา ต้องคุมทีมแทนอยู่นานถึง 5 เดือน ก็ตาม

แต่ท่ามกลางเส้นกราฟที่ดูจะพุ่งขึ้น กลับมีอีกโมเมนต์ ที่เดอะ ค็อป ต้องรู้สึกตรงกันข้าม เมื่อตำนานอันเป็นที่รักอย่างฟาวเลอร์ ย้ายออกจากทีมไป เพื่อเปิดทางให้การยืม “นิโกลาส์ อเนลก้า” กลับมายังแดนผู้ดีอีกหน

“นิโกลาส์ อเนลก้า” ศูนย์หน้าตัวยืม ที่สุดท้ายอุลลิเยร์ ตัดสินใจไม่เซ็นถาวร
(Source : Bleacher Report)

อย่างไรก็ดี 2 ซีซั่นถัดจากนั้น ซึ่งเป็น 2 ซีซั่นสุดท้ายของอุลลิเยร์ ทีมกลับไม่สามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น พวกเขาจบเพียงอันดับ 5 และ 4 ตามลำดับ และมีแต้มออกห่างจากแชมป์มากขึ้นกว่าเดิม

นักเตะที่นายใหญ่ชาวฝรั่งเศสเสริมเข้ามา ก็เริ่มไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ “เอล ฮัดจิ ดิยุฟ” สตาร์จากฟุตบอลโลก 2002 ที่อุลลิเยน์เลือกเซ็นแทนที่จะเป็นอเนลก้า รวมถึงตัวจากลีกฝรั่งเศสทั้ง เชย์รู, ดิเยา, เลอ ตัลเล็ก ตัวที่น่าจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย อย่าง “แฮร์รี่ คีเวลล์” ก็ไม่หวือหวา ที่ดูคุ้มที่สุด ก็คงเป็น “สตีฟ ฟินแนน”

แชมป์ยุโรป และแท็คติกแบบ “ราฟา”

หลัง 6 ปี ในมือของอุลลิเยร์ สโมสรตัดสินใจแยกทางกับเฟรนช์แมน แล้วไปติดต่อตัวเลือกที่เหมาะเจาะพอดี เพราะ “ราฟา เบนิเตซ” กุนซือผู้พาบาเลนเซีย เป็นแชมป์ลา ลีก้า มีปัญหากับบอร์ดของทีม และตอบตกลงย้ายมาลองความท้าทายที่ลุ่มแม่น้ำเมอร์ซี่ไซด์แทน

“ราฟา เบนิเตซ” เข้ามาคุมทีม พร้อมดึงนักเตะสแปนิชอย่างการ์เซีย และอลอนโซ่ มาเสริม
(Source : Chronicle Live)

ซีซั่นแรกถือว่าราฟามีความเสี่ยงในตลาดซื้อขายไม่น้อย เพราะถึงพวกเขาจะได้ อลอนโซ่, หลุยส์ การ์เซีย และซิสเซ่ (อุลลิเยร์เซ็นล่วงหน้าไว้) แต่เขาก็ต้องเสียโอเว่น ไปให้เรอัล มาดริด ด้วยราคาแสนถูก ในขณะที่ “แดนนี่ เมอร์ฟี่” นักเตะผู้ชอบยิงปราบยูไนเต็ด ก็ไม่อยู่ในแผนทำทีม ถูกปล่อยออกไปแบบย่อมเยาว์เช่นกัน

ผลงานในลีกของราฟาไม่ราบรื่นเอาเสียเลย หงส์แดงแพ้ถึง 14 นัดตลอดซีซั่น จบเพียงอันดับ 5 เป็นรองคู่ปรับร่วมเมืองอย่างเอฟเวอร์ตัน เสียด้วยซ้ำ โดยการจบอันดับ 4 ของ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ทำให้พวกเขาได้ผ่านเข้าเล่นรอบคัดเลือก UCL เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ไม่ค่อยมีใครจำผลงานในลีกซีซั่นแรกของราฟาได้หรอก เพราะผลงานในฟุตบอลยุโรปต่างหาก คือเทพนิยายที่น่าจดจำจนวันตาย

เพียงซีซั่นแรก ราฟาสามารถนำทัพหงส์แดง เถลิงแชมป์ครองจ้าวยุโรป สมัยที่ 5
(Source : Chronicle Live)

เพราะซีซั่นแรกของ “เอลบอส” เขาสามารถพาทีมที่ไม่ได้ดีเด่นัก ทะลุเข้าชิง UCL และสามารถล้มเอซี มิลาน ยอดทีมแห่งยุค ด้วยซูเปอร์คัมแบ็ค ที่มีชื่อเรียกขานว่า “ปฏิหาริย์แห่งอิสตันบลู” กลายเป็นแชมป์สมัยที่ 5 อันยิ่งใหญ่

หลังจากโกยศรัทธาได้มหาศาล ราฟาก็เดินหน้าต่อด้วยการสร้างทีมของตัวเอง เขาเสริมเปเป้ เรน่า, เคราช์, เซนเด้น, โมโม่ ซิสโซโก้ และดาวรุ่งอย่างแอกเกอร์ เข้าสู่ทีม นอกจากนั้นยังพา “ก็อด” ของชาวหงส์แดงอย่างฟาวเลอร์กลับสู่ทีม ในช่วงเดือน ม.ค.

การเซ็น “ก็อด” ฟาวเลอร์กลับสู่ทีม สร้างความฮึกเหิมให้ค็อปชนดีแท้
(Source : Liverpool FC)

ด้วยองค์ประกอบที่ลงตัวขึ้น ช่วยพาทีมทำแต้มได้ถึงหลัก 82 คะแนน เข้าป้ายอันดับ 3 แถมยังชนะเอฟเอ คัพ ได้สำเร็จ ด้วยการคัมแบ็คยอดเยี่ยม จากลูกยิงตีเสมอสุดมันของเจอร์ราร์ด ก่อนจะชนะจุดโทษเวสต์แฮม ได้สำเร็จ

ซีซั่น 2006/07 เป็นอีกปีที่ราฟาพิสูจน์ว่า ถ้าเป็นฟุตบอลถ้วยเหย้า-เยือน และการเจอทีมภาคพื้นยุโรป เขาไม่เป็นสองรองใคร เมื่อเขาพาลิเวอร์พูลเข้าชิง UCL อีกหน ด้วยการผ่านทั้งบาร์เซโลน่า และเชลซี ก่อนจะไปเข้าไปเจอคู่ชิงหน้าเดิม เอซี มิลาน

2 ประตูของ “ฟิลิปโป้ อินซากี้” ช่วยให้มิลาน ล้างแค้นลูกทีมของราฟาสำเร็จ
(Source : Rossoneri Blog)

เพียงแต่หนนี้ มิลานเล่นด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้น และการเข้าฟอร์มของ “ฟิลิปโป้ อินซากี้” ก็ช่วยให้มิลานล้างแค้นสำเร็จ แม้ท้ายเกมแชมป์ 5 สมัยจากแดนผู้ดี จะไล่มาให้ได้ลุ้นจาก “เดิร์ค เคาท์” ศูนย์หน้าชาวดัทช์คนใหม่ก็ตาม

นอกเหนือจากการหวุดหวิดจะคว้าแชมป์ถ้วยใบใหญ่ยุโรปได้อีกหน ในเดือน ก.พ. ปี 2007 ก็มีอีกการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อ “ทอม ฮิคส์” และ “จอร์จ ยิลเล็ตต์” 2 นักธุรกิจชาวอเมริกัน ระดมทุนมาซื้อสโมสรจากครอบครัวมัวร์ส ที่เป็นเจ้าของทีม มาอย่างยาวนาน

เฉียดล้มละลายกับ “ปลิงมะกัน” และอีโก้ของราฟา

“ทอม ฮิคส์” และ “จอร์จ ยิลเล็ตต์” 2 เศรษฐีอเมริกัน ผู้เข้ามาซื้อสโมสรลิเวอร์พูล

การเข้ามาของเจ้าของใหม่ ครอบครัวมัวร์สเชื่อว่าจะนำสโมสรก้าวหน้าไปอีกขั้น หลังทีมร่วมลีก เริ่มมีเงินถุงเงินถัง และการเข้ามาซื้อสโมสรจากกลุ่มทุนต่างชาติ ก็เริ่มเป็นที่นิยม

ซีซั่นแรกภายใต้เจ้าของใหม่ เดอะ ค็อปต่างตื่นเต้นเมื่อทีมได้รับการอัดฉีดงบประมาณ ในการเสริมศูนย์หน้าระดับแนวหน้าอย่าง “เฟร์นานโด ตอร์เรส” บวกกับ “ไรอัน บาเบิล” ดาวโรจน์ชาวดัทช์ รวมถึงการเซ็น “ฮาเวียร์ มาสเคราโน่” ตัวรับระดับท็อป ในตลาดหน้าหนาว ก็เริ่มทำให้เดอะ ค็อป คิดว่าทีมพร้อมก้าวไปอีกระดับแล้ว

“เฟร์นานโด ตอร์เรส” ศูนย์หน้าสแปนิช ผู้เข้ามายกระดับทีมอย่างแท้จริง
(Source : Liverpool FC)

ผลงานในลีกในซีซั่นนี้ ถือว่าร้อนแรงในช่วงแรก ตอร์เรสไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ส่วนบาเบิลก็แสดงแววว่าน่าจะรุ่ง หงส์แดงไม่แพ้ใครเลยจนถึงเดือน ธ.ค. แต่การที่พวกเขาเสมอมากถึง 13 นัด เพราะมีปัญหาในการปิดบัญชีคู่แข่ง ทำให้ทีมจบแค่อันดับที่ 4

ผลงานเด่นของราฟายังคงเป็น UCL ที่เขาพาทีมเข้าถึงรอบรองชนะเลิศอีกครั้ง ก่อนจะแพ้เชลซีคู่ปรับสำคัญไปหวุดหวิด แบบต้องต่อเวลาตัดสินกัน

เงินทุนที่ดูแข็งแรงจากเจ้าของมะกัน ทำให้สโมสรเสริมทัพ “ร็อบบี้ คีน” ศูนย์หน้าเบอร์ต้นๆ ของลีก เข้ามาในซีซั่นถัดไป (2008/09) แต่สุดท้ายกลายเป็นคีนที่โชว์ฟอร์มไม่ออก พร้อมกับข่าวลือหนาหูว่า ราฟาไม่ได้อยากได้เขามาร่วมทีม แต่ทีมซื้อขายยัดเยียดมาให้ จนเกิดข้อขัดแย้งระหว่างราฟา กับทีมงานระดับสูงบางส่วน

“ร็อบบี้ คีน” ศูนย์หน้าชั้นนำที่มาไวไปไว หลังไม่ประสบความสำเร็จกับทีม
(Source : Football365)

แม้จะดูมีรอยร้าวเกิดขึ้น แต่ราฟา และลูกทีมก็ก้มหน้าก้มตาสร้างผลงานที่ดีต่อไป พวกเขาครองจ่าฝูงหลังผ่านคริสต์มาสซีซั่น 2008/09 ก่อนจะเริ่มสะดุดหลังปีใหม่ และแม้ท้ายสุดจะชนะได้ถึง 10 จาก 11 นัดสุดท้าย รวมถึงการบุกไปยัดเยียดความปราชัยให้ยูไนเต็ดถึงโอลด์ แทรฟฟอร์ด 4-1

แต่ในท้ายที่สุด แชมป์ก็ยังอยู่ในมือลูกทีมของ “เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน” ผู้ทำให้ “ปีศาจแดง” ครองแชมป์ลีก 18 สมัยเทียบเท่ายักษ์หลับอย่างลิเวอร์พูล เป็นที่เรียบร้อย

การบุกไปชนะแมนฯ ยู ถึงโอลด์ แทรฟฟอร์ด 4-1 ไม่อาจช่วยให้ทีมเป็นแชมป์ในบั้นปลาย
(Source : The Telegraph)

หลังจบอันดับ 2 และเข้ารอบลึกใน UCL ได้สม่ำเสมอ ในซีซั่น 2009/10 ลิเวอร์พูลจึงถูกคาดหวังไว้สูง ว่ามีโอกาสจะต่อกรตำแหน่งแชมป์ลีกอีกหน โดยไม่รู้เลยว่าจะมีปัญหามากมายตามมา จนมันเป็นหนึ่งในซีซั่นที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

ปัญหาเริ่มต้นจากการผลักดันขาย “ชาบี อลอนโซ่” ออกจากทีม เพราะราฟา ต้องการ “แกเร็ธ แบร์รี่” กองกลางจากแอสตัน วิลล่า ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทีมก็พลาดแบร์รี่ แถมยังต้องเสียอลอนโซ่ ที่รู้สึกเป็นส่วนเกิน และตัดสินใจขอย้ายไปมาดริด ทุกสิ่งทำให้ทีมต้องไปเสี่ยงดวงเอา “อัลแบร์โต้ อควิลานี่” จากโรม่ามาแทน และเขาก็ไม่สามารถสร้างผลงานสม่ำเสมอให้ทีมได้เลย

อลอนโซ่ ตัดสินใจขอขึ้นบัญชีขาย และย้ายไปมาดริด หลังราฟาอยากได้แบร์รี่มาแทน
(Source : as.com)

ปัญหาที่น่าห่วงต่อไป คืออาการบาดเจ็บของตอร์เรส ซึ่งเป็นศูนย์หน้าตัวหลักของทีม การปรับทัพของราฟาเพื่อแก้ปัญหา ก็ดูไม่เข้าที่เข้าทาง เกมที่เคยมีแทคติคแพรวพราวก็เริ่มติดขัด ยังไม่ทันหมดปีปฏิทิน 2009 พวกเขาก็แพ้ไปถึง 7 นัด หมดลุ้นแชมป์ และจบได้เพียงอันดับที่ 7 แถม UCL ที่เป็นไม้เด็ดก็ตกแค่รอบแบ่งกลุ่มเท่านั้น

อย่างไรก็ดี นั่นยังไม่ใช่ปัญหาที่หนักหน่วงที่สุด เพราะที่มาแรงแซงโค้ง คือเรื่องหนี้สิน ที่ฮิคส์ และยิลเล็ตต์ ไปกู้เงินมาซื้อทีม และเรื่องทุกอย่างก็เริ่มแดงขึ้น เมื่อทั้ง 2 คนไม่มีแผนระยะยาวที่จะพัฒนา หรือแม้กระทั่งหาเงินทุนมาหมุนเวียน

เมื่อเงินทุนที่กู้มาเริ่มขัดสน เงินซื้อนักเตะก็ไม่มีอีกต่อไป เซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่ราฟาอยากปรับ ก็มีงบแค่ 2 ล้านปอนด์ ไปซื้อนักเตะอย่างคิเกียร์กอส ที่แม้จะเล่นไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่สามารถยกระดับอะไรให้เกมรับได้เลย

“มาร์ติน เบราจ์ตัน” (ขวาสุด) ตัวละครสสำคัญ ที่ช่วยให้ลิเวอร์พูลหาเจ้าของใหม่สำเร็จ
(Source : Liverpool Echo)

หนี้สินตัวแดงโร่ ทำให้ทีมเกือบจะต้องล้มละลาย และเสี่ยงต่อการถูกตัดแต้ม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ หากนับว่าหงส์แดง คือหนึ่งในทีมที่มีแฟนบอลมากที่สุดในโลก

เคราะห์ยังดี ที่บอร์ดบริหารบางส่วน ไปดึงเอา “มาร์ติน เบราจ์ตัน” นักธุรกิจชาวอังกฤษ มาแทรกแซงอำนาจจาก 2 ปลิงมะกัน และนำพาทีมสู่ขบวนการขายต่อได้สำเร็จ หลังชนะการพิจารณาในชั้นศาล ที่ฮิคส์​ & ยิลเล็ตต์ พยายามยับยั้งการขายสโมสร

“จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่” เจ้าของทีมบอสตัน เร้ดซ็อกซ์ และกลุ่มทุน NESV เมื่อตอนซื้อทีมสำเร็จ
(Source : SportsPro Media)

โดยเป็นกลุ่ม NESV (นิว อิงแลนด์ สปอร์ตส เวนเจอร์ส) หรือที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า FSG (เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป) ที่เข้ามาซื้อทีม พร้อมกับปลดหนี้ให้ทีมรอดพ้นจากการล้มละลายไปได้หวุดหวิด

อย่างไรก็ดี แม้จะได้เจ้าของทีมคนใหม่เข้ามา แต่คนที่ต้องเดินจากไปก็คือราฟา ที่ผลงานในช่วงหลังย่ำแย่ และดูจะมีปัญหากับการจัดการขุมกำลังของทีม ด้วยอีโก้ ที่เริ่มทำให้แฟนบอลสับสนงุนงง

“ปู่รอย” ผู้ล้มเหลว และการกลับมาของ “คิง เคนนี่”

จากผลงานที่พาฟูแล่ม ทะลุเข้าถึงรอบชิงยูโรป้า คัพ และประสบการณ์ที่คุมทีมมาทั่วสารทิศ ทำให้ “รอย ฮ็อดจ์สัน” ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่คนแรกภายใต้ NESV โดยมีเป้าหมายให้ปู่ ช่วยก่อร่างสร้างทีมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

“รอย ฮ็อดจ์สัน” เข้ามาคุมทีม พร้อมเสริมนักเตะในสไตล์ของตัวเอง
(Source : Planet Football)

แม้จะมีประสบการณ์มาก แต่ฮ็อดจ์สันกลับไม่คุ้นเคยกับการคุมทีมใหญ่เท่าที่ควร เขาเลือกซื้อนักเตะในเกรดรอง และเลยจุดพีคไปแล้วเข้าสู่ทีม แม้รายชื่อของ “ราอูล ไมราเลส” หรือ “โจ โคล” จะน่าตื่นเต้น แต่ผลงานทีมกลับตรงกันข้าม

นอกเหนือจากรูปแบบการเล่นที่ไม่น่าประทับใจแล้ว ท่าที และการให้สัมภาษณ์ของฮ็อดจ์สัน ยังบ่งบอกถึงการรับมือความกดดันได้แย่ โดยเฉพาะการเผยออกสื่อว่า “ที่ลิเวอร์พูล พวกเขามีความคาดหวังมากเกินจำเป็น”

ภายใต้การคุมทีมของ “ปู่รอย” ราว 5 เดือน หงส์แดงเคยหล่นไปอยู่ในโซนตกชั้น แพ้ก่อนผ่านปีใหม่ถึง 8 นัด ตกรอบลีกคัพ ด้วยฝีเท้าของนอร์ธแธมป์ตัน จนในที่สุดก็โดนปลดหลังผ่านปีใหม่ไปได้ไม่กี่วัน และสโมสรก็ตัดสินใจตามคำเรียกร้องของหลายฝ่าย ดึง “คิง เคนนี่” เคนนี่ ดัลกลิช กลับมาคุมทีม สานต่อรอยด่างที่เขาทิ้งไว้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน

“เคนนี่ ดัลกลิช” กับ 2 ศูนย์หน้าใหม่ แคร์โรลล์ และซัวเรซ ที่เข้ามา ม.ค. 2011
(Source : Zimbio)

แค่เพียงกลับมาแว้บแรก ดัลกลิชก็ต้องเจอบททดสอบทันที เมื่อทีมหวังจะซื้อ “หลุยส์ ซัวเรซ” ดาวยิงฟอร์มแรงชาวอุรุกวัย มาประสานงานกับตอร์เรส แต่กลายเป็นหัวหอกแก้มแดงชาวกระทิงดุ ที่อยากย้ายออกไปร่วมทีมเชลซี ในราคา 50 ล้านปอนด์ โดยเหลือเวลาไม่กี่วันก่อนตลาดปิด ให้ดัลกลิช และทีมซื้อขาย ต้องหาคนมาทดแทน

ในเวลากระชั้นชิดแบบนั้น ทีมงานทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากทำการซื้อนักเตะแบบ “Panic Buy” พวกเขาลงทุนถึง 35 ล้านปอนด์ ดึง “แอนดี้ แคร์โรลล์” มาจากนิวคาสเซิล หลังบาเยิร์นไม่ปล่อย “มาริโอ โกเมซ” เป้าหมายแรก มาให้

ผลงานช่วงครึ่งซีซั่นหลัง นับจากดัลกลิชมาคุม อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ เขาพาทีมชนะทั้งเชลซี, ยูไนเต็ด และแมนฯ ซิตี้ พาทีมจบอันดับ 6 ดีขึ้นกว่าตอนต้นฤดูกาล แต่ก็ยังพลาดหวังจะไปเล่นฟุตบอลยุโรป

ปีเดียวของดัลกลิช และกุนซือหนุ่ม “บีร็อด”

หลังเห็นทิศทางที่ดีขึ้น ดัลกลิชได้รับสัญญาคุมทีมถาวร และเริ่มเตรียมตัวสำหรับซีซั่น 2011/12 ด้วยการดึงนักเตะมาเสริมทีมในสไตล์ของเขา โดยเน้นไปที่นักเตะที่เล่นได้ดีในลีก อย่างอดัม, เฮนเดอร์สัน, ดาวนิ่ง, เอ็นริเก้ และการเซ็นฟรีเบลลามี่ กลับมาร่วมทีมอีกหน

อย่างไรก็ดี ผลงานของทีมกลับไม่สม่ำเสมอ หงส์แดงขึ้นไปแตะอันดับ 3 ของลีก ได้เพียงต้นซีซั่น และหลังจากนั้นก็ไม่เคยอยู่ในอันดับที่สูงกว่าที่ 5 เลย ก่อนจะจบซีซั่นด้วยอันดับ 8

ถึงจะพาทีมคว้าแชมป์ลีกคัพ แต่ก็ไม่อาจช่วยดัลกลิช ให้อยู่คุมทีมต่อไปได้
(Source : Liverpool FC)

และถึงแม้ดัลกลิชจะพาทีมเข้าชิงบอลถ้วยในประเทศได้ทั้ง 2 ใบ และได้แชมป์มา 1 รายการ จากการดวลจุดโทษชนะคาร์ดิฟฟ์ ในลีกคัพ แต่ก็ไม่เพียงพอจะทำให้บอร์ดบริหารไว้ใจเขาคุมทีมต่อ เพราะทาง FSG ต้องการกุนซือหนุ่มที่มาสร้างรากฐานใหม่ให้กับทีมมากกว่า

นั่นเป็นที่มา ให้ FSG มองหาแคนดิเดทเป็นกุนซือคนหนุ่ม 2 ราย ทั้ง “แบรนแดน ร็อดเจอร์ส” ที่ทำผลงานได้ดีกับสวอนซี และ “โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ” ที่แม้วีแกนที่เขาคุมจะวนเวียนหนีตกชั้น แต่มาร์ติเนซเองก็มีแนวคิดที่น่าสนใจ และเกือบทำให้ FSG เอนเอียงไปเลือกเขา

2 คนหนุ่มร็อดเจอร์ส และมาร์ติเนซ แคนดิเดทในแนวคิดยุคใหม่ของ FSG
(Source : Bleacher Report)

แต่สุดท้ายก็เป็นร็อดเจอร์ส ที่เข้าวิน ถึงจะเคยปฏิเสธการทาบทามในคราวแรก โดยกุนซือวัยเพียง 39 ปี มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเล่นให้น่าสนใจ เน้นต่อบอลบนพื้น และครอบครองบอลไว้กับทีมให้มากที่สุด ซึ่ง FSG เอง ก็พร้อมให้โอกาส “บีร็อด” สร้างสิ่งที่เขาต้องการขึ้นมา

3 ปีครึ่งที่ “เข้าใกล้” แต่ไม่ถึงเป้าหมาย

ถึงการถูกเปรียบว่าเขาจะเป็น “นิว แชงค์ลี่ย์” จะดูเกินเหตุไป แต่บีร็อดก็เริ่มดึงเอาความรู้สึกเก่าๆ ที่เรียกว่า “สปิริต” กลับมาสู่ทีม เช่น การให้ความสำคัญกับทีมสตาฟฟ์ หรือการนำเอาป้าย This is Anfield เก่า กลับมาใช้

นักเตะที่เข้ามาใหม่ก็ดูน่าสนใจ และสะท้อนปรัชญาการเล่นในแบบของเขา ทั้งศิษย์เก่าอย่างอัลเลน และบอรินี่ หรือผู้มาใหม่ในช่วงตลาดฤดูหนาวอย่าง สเตอร์ริดจ์ และคูตินโญ่

คูตินโญ่ และสเตอร์ริดจ์ ยกระดับฝีเท้าขึ้น เมื่อย้ายมาร่วมทีมหงส์แดง
(Source : Daily Express)

ความคาดหวังที่จะเห็นอะไรเปลี่ยนแปลง ย่อมเริ่มต้นด้วยอุปสรรคเสมอ บีร็อดประเดิมคุมทีมในลีก ด้วยการบุกไปแพ้เวสต์บรอมวิช 0-3 และแพ้ถึง 3 นัดใน 5 นัดแรก ซึ่งเป็นการแพ้ทั้งยูไนเต็ด และอาร์เซน่อล ที่แอนฟิลด์

การควานหาชัยชนะยังคงยากเย็นต่อไป จนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในเดือน ธ.ค. ทีมทำได้ดีขึ้นในครึ่งซีซั่นหลัง แต่ก็จบได้เพียงอันดับ 7 อย่างไรก็ดี เราได้เห็นสัญญาณบวกในทีมที่เขาพยายามจะสร้างขึ้นมาอยู่บ้าง อย่างเช่น ซัวเรซเริ่มยิงประตูได้สม่ำเสมอขึ้น, สเตอร์ริดจ์-คูตินโญ่ ปรับตัวไม่นาน และมีชัยชนะสวยๆ อย่างการบอมบ์นิวคาสเซิล 6-0 และชนะทั้งนอริชกับสวอนซี ขาดลอย 5-0 ให้เติมเชื้อไฟว่ามันจะเวิร์ค

ซัวเรซก้าวขึ้นมาเป็นความหวังหลัก และลิเวอร์พูลต้องทุ่มเทเต็มที่ เพื่อรั้งเขาเอาไว้
(Source : Sky Sports)

ซีซั่น 2013/14 ถือเป็นการเปลี่ยนถ่ายทีมที่สำคัญอีกหน หลังบีร็อดได้โอกาสดูเชิงไปแล้วหนึ่งฤดูกาลเต็ม ลูกหม้อของทีมอย่างคาร์ราเกอร์แขวนสตัดท์ นักเตะที่ไม่อยู่ในแผน ถูกปล่อยออกไป ทั้งเปเป้ เรน่า, แคร์โรลล์, ดาวนิ่ง และเชลวี่ย์ โดยมีซาโก้,​ โคโล่ ตูเร่, มินโญเล่ต์, อัสปาส เข้ามาทดแทน แถมทีมยังสามารถรั้งซัวเรซ ที่ทำท่าอยากย้ายไปสเปน ไว้กับทีมได้ต่อ

ด้วยการที่ทีมไม่มีโปรแกรมฟุตบอลยุโรป ทำให้พวกเขาเน้นได้เต็มที่ในเกมลีก และสร้างผลงานได้ดีตั้งแต่ต้นฤดูกาล ทัพหงส์แดงเกาะกลุ่มนำไว้อย่างเหนียวแน่น พวกเขารันชนะ 11 นัดรวดหลังเข้าเดือน ก.พ. โดยเฉพาะชัยชนะเหนือคู่แข่งสำคัญอย่างแมนฯ ซิตี้ ที่ทำให้แชมป์ลีกอยู่ในกำมือ

จังหวะลื่นของเจอร์ราร์ดในเกมกับเชลซี ถูกหยิบเอามาเป็นเหตุผลสำคัญ ในการชวดแชมป์
(Source : Bleacher Report)

จะด้วยการติดโทษแบนของเฮนเดอร์สัน หรือเหตุผลที่น่าเจ็บปวด ที่เห็นเจอร์ราร์ดเสียหลักลื่นในเกมกับเชลซี ก็แล้วแต่ สุดท้ายพวกเขาก็ทำแชมป์ลีกหนแรกในรอบ 24 ปี หลุดมือไป เมื่อซิตี้เก็บชัยนัดที่เหลือได้ทั้งหมด เข้าป้ายด้วยคะแนนเหนือกว่าเพียง 2 คะแนน

ณ จุดนั้น ในฐานะกองเชียร์สัมผัสได้ชัดเจนถึงความเสียดาย เพราะทีมมีรูปแบบการเล่นเกมรุกที่หาใครหยุดยาก 4 ประสานแนวรุก คูตินโญ่, ราฮีม, ซัวเรซ และสเตอร์ริดจ์ ช่วยกันยิงถึง 101 ประตูในลีก (แต่ซิตี้ยิง 102 แน่ะ) ไม่เคยมีครั้งไหนที่ใกล้เท่าครั้งนี้ (ในเวลานั้น)

และหลังรั้งตัวซัวเรซไว้ได้ 1 ฤดูกาล แต่ต้องลงเอยกับความผิดหวัง ทีมก็ต้องยอมเสียเขาไปให้บาร์เซโลน่า รวมถึงการจากทีมไปของแอกเกอร์ อีกหนึ่งนักเตะที่เดอะ ค็อป รัก

บาโลเตลลี่ ที่ทีมซื้อขายหวังเอามาแทนซัวเรซ แต่บีร็อด ไม่ได้ต้องการ
(Source : IBTimes UK)

รูโหว่ที่ซัวเรซทิ้งไว้ ไม่สามารถอุดรอยรั่วได้ นักเตะที่เข้ามาใหม่อย่าง บาโลเตลลี่, มาร์โควิช, แลมเบิร์ต ไม่สามารถสร้างผลงานน่าประทับใจ ถึง ชาน, โมเรโน่, ลอฟเรน, ลัลลาน่า จะทำได้ค่อนข้างดี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันเริ่มไม่คลิก และประสบการณ์ที่ไม่มาก ก็เริ่มทำให้บีร็อด มีปัญหาในการตามหาผลการแข่งขันที่ต้องการ

ซีซั่น 2014/15 ถือเป็นซีซั่นที่หาความแน่นอนในแผนการเล่นของบีร็อดได้ค่อนข้างยาก เขาปรับให้ทีมเล่นแผนหลากหลายขึ้น แต่ประสิทธิภาพไม่ดีอย่างที่หวัง ผลงานในบอลยุโรปยังห่างไกลจากความสำเร็จในยุคของเขา (ตกรอบแบ่งกลุ่ม) ถึงฟุตบอลถ้วยในประเทศจะไปถึงรอบรองก็ตาม

อีกจุดที่เริ่มเป็นข้อสงสัย คือการดร็อปเจอร์ราร์ดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเกม “แดงเดือด” ที่แอนฟิลด์ ก่อนที่พี่เจิดจะเปลี่ยนตัวลงมา และถูกไล่ออกในเวลาแค่ 38 วินาที ในจังหวะเข้าสกัดช้า ปิดฉากแดงเดือดหนสุดท้ายของตัวเอง แบบไม่น่าจดจำ

นัดสุดท้ายในชุดลิเวอร์พูลของเจอร์ราร์ด ที่จบด้วยการพ่ายสโต๊กยับเยิน 1-6
(Source : Liverpool Echo)

ฤดูกาลอันกระท่อนกระแท่น จบลงด้วยการพ่าย 2 นัดติดปิดท้าย แพ้พาเลซในบ้าน 1-3 และบุกไปพ่ายสโต๊กนัดปิดฤดูกาลยับเยิน 1-6 ปิดท้ายแมทช์ทางการสุดท้ายกับหงส์แดงของเจอร์ราร์ด ซึ่งย้ายไปร่วมทีมแอลเอ แกแล็กซี่ เมื่อจบฤดูกาล

ความไว้ใจที่สั่นคลอนต่อการต่อยอดยกระดับทีมของบีร็อด เริ่มผันแปรเป็นเครื่องหมายคำถาม เขาเก่งจริงเหรอ? ผลงานดีเพราะซัวเรซรึป่าว? ทีมจะพัฒนาต่อได้มั้ย? ทุกคำถามมาพร้อมข่าวลือว่าบอร์ดของทีม เริ่มเล็งหากุนซือรายใหม่ เพียงแต่คนที่บอร์ดอยากได้ ยังไม่ลงล็อค บีร็อดเลยได้คุมทีมต่ออีกฤดูกาล

การทุ่มทุนอีกหนกับเบนเทเก้ ก็ยังไม่สามารถยกระดับผลงานของบีร็อดได้
(Source : Empire of the KOP)

ทีมซื้อขายยังคงทำงานต่อเนื่อง และเราเริ่มได้เห็นดีลที่เอาจริงเอาจัง อย่างการซื้อฟิร์มิโน่, ไคลน์, เซ็นฟรีมิลเนอร์, ซื้ออนาคตกับอิงส์ และโกเมซ รวมถึงปัญหาแนวรุกนับจากขาดซัวเรซ และบาโลเตลลี่ไปไม่รอด ทีมก็ทุ่มซื้อ “คริสเตียน เบนเทเก้” เข้ามาในระดับราคา 32.5 ล้านปอนด์

ฝั่งย้ายออก นอกเหนือจากเจอร์ราร์ดแล้ว ทีมยังเสียราฮีมไปให้กับซิตี้ด้วยราคาแตะ 50 ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับอัสปาส ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ย้ายกลับสเปนไป

แม้จะฮึดอีกเฮือก แต่ทีมของบีร็อด ทำผลงานดี ได้แค่เพียง 2-3 นัดแรก นับจากนั้นปัญหาแนวรุกฝืดเคือง แนวรับก็มีข้อผิดพลาด ก็เริ่มเล่นงานบีร็อดขึ้นทุกที ทีมอยู่ในอันดับราวๆ 7-10 วนเวียนอยู่แบบนั้น และในที่สุดเขาก็โดนปลด หลังเกมเสมอเอฟเวอร์ตัน เมื่อ 4 ต.ค. 2015

“เจอร์เก้น คลอปป์” อดีตกุนซือดอร์ทมุนด์ ถูกดึงเข้ามาแทนที่บีร็อด กลางซีซั่น
(Source : Sky Sports)

โดยกุนซือใหม่ที่เข้ามา ทำเอาเดอะ ค็อป เนื้อเต้น เพราะเขาคือ “เจอร์เก้น คลอปป์” กุนซือเฮฟวี่ เมทัล ผู้เต็มไปด้วยแพสชั่น โดยวิสัยทัศน์ของเขาถูกใจ FSG มากกว่า “คาร์โล อันเชล็อตติ” และว่ากันว่า FSG จีบเขามาตั้งแต่ซัมเมอร์ เพียงแต่เขาพึ่งจะตกปากรับคำเอาในเดือน ต.ค.

เฮฟวี่ เมทัล-เกเก้นเพรสซิ่ง-แพสชั่น

ในส่วนการคุมทีมของคลอปป์ ผมคงไม่ต้องลงลึกกันมาก เพราะหลายคนคงทราบที่มาที่ไปดี รวมถึงผมเองก็เคยเขียนมันไว้แล้วในบทความ : “Doubter to Believer” 3 ปีครึ่งพิสูจน์คำคลอปป์ ย้อนไปอ่านกันได้โดย >> คลิกที่นี่ <<

สิ่งที่พูดได้เต็มปาก คือเราสัมผัสได้ถึง “ออร่า” ในตัวกุนซือชาวเยอรมันรายนี้ ที่แตกต่างจากกุนซือคนอื่น อย่างตอนเราเห็นบีร็อด เรารู้สึกถึงพลังที่ใช่ แต่กับคลอปป์เราเห็นแพสชั่นที่ออกมามากกว่านั้น หรือตอนเราเห็นการเป็นศูนย์รวมเดอะ ค็อป ของคิง เคนนี่ แต่กับคลอปป์ เราเห็นเขาเป็นศูนย์กลางของทุกผู้ทุกคน เหมือนดั่งเขาเป็นสเกาเซอร์ขนานแท้

ธรรมชาติ และแพสชั่น บวกกับผลงาน สั่งสมให้ผู้คนพร้อมเป็น Believer ไปโดยปริยาย
(Source : Liverpool FC)

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงทันทีเมื่อคลอปป์มาถึง คือเขาพัฒนาความคิดของผู้คนที่เกี่ยวกับสโมสร นักเตะต้องปรับทัศนคติใหม่ในการเล่น เกเก้นเพรสซิ่ง และการซ้อมที่เข้มข้นถูกใส่เข้ามา ทีมงานเบื้องหลังต้องปรับในทุกมุม จะด้านฟิตเนส, วิเคราะห์คู่แข่ง, โภชนาการ, จิตวิทยา ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นใหม่ และสอดคล้องกัน

กับเราๆ ท่านๆ ที่เป็นกองเชียร์ คลอปป์ขอให้เปลี่ยนจาก “ผู้สงสัย” เป็น “ผู้ที่มีความเชื่อ” และผันแปรเป็น “ผู้ที่มีความฝัน” และเป็นฝันที่ “สมเหตุสมผล” เมื่อทุกสิ่งอย่างประจวบเหมาะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

ความฝันที่เริ่มเป็นจริง ค่อยๆ ถูกสร้างด้วยความเชื่อมั่นของทุกคนที่เกี่ยวข้อง
(Source : Sporting Life)

การพาทีมเข้าชิง 2 บอลถ้วยในซีซั่นแรก (2015/16) ทำให้เราตื่นเต้น ปีถัดมา (2016/17) พาทีมกลับไปเล่น UCL ทำให้เรารู้สึกมั่นคง ผ่านไปอีกแค่ปีเดียว (2017/18) ทีมก็ยกระดับขึ้นไปท้าชิงแชมป์ UCL อย่างยอดเยี่ยม ทำให้เรารู้สึกว่ามาถูกทาง แบบเป็นขั้นเป็นตอน

กับเป้าหมายสูงสุด ในการกลับมาท้าชิงแชมป์ลีกอีกครั้ง คลอปป์ก็ค่อยๆ แต่งเติมให้ทีมแข็งแกร่ง จากนักเตะที่เขาคัดสรรเข้ามาเสริม จากมาเน่ สู่ซาล่าห์, จากฟาน ไดค์ สู่อลิสซง ทุกอย่างถูกยกระดับ และพาทีมจนมาอยู่จุดนั้นได้ในเวลา 3 ปี (2018/19) ถึงแม้ในบั้นปลายจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทุกคนเข้าใจ และยอมรับว่าคู่แข่งอย่างซิตี้ของ “เป๊บ กวาดิโอล่า” ช่างแข็งแกร่งเกินต้านทาน

“เป๊บ กวาดิโอล่า” คู่ปรับสำคัญ ที่คลอปป์ยกย่องชื่นชมอยู่เสมอ
(Source : talkSPORT)

เปรียบเหมือนนักกีฬาของเรา ทำคะแนนท่ากระโดดน้ำได้สูงถึง 9.7 คะแนน แต่คู่แข่งกลับเล่นท่ายาก และทำได้สมบูรณ์จนชนะไปด้วยคะแนน 9.8 แล้วแบบนี้ เราจะโทษนักกีฬาของเราได้เหรอ? ไม่มีทาง!

นอกเหนือจากการยกระดับทีมของคลอปป์แล้ว แผนงานที่เป็นรูปธรรม ก็ช่วยสนับสนุนให้สโมสรมองเห็นแสงรำไรของความสำเร็จ มองใกล้ๆ ตัวหน่อย ก็เรื่องของการซื้อ-ขายนักเตะ ที่ลิเวอร์พูล ไม่เคยเสียเปรียบใครเลย อยากได้ใครก็ฉับไว ราคาคุ้มค่า อยากขายใครก็ได้เม็ดเงินกลับมาเหมาะสม

มองมุมกว้างขึ้นหน่อย FSG ก็เริ่มเข้าใจตลาดฟุตบอล และการวางโครงการระยะยาวมากขึ้น แอนฟิลด์ถูกต่อเติม อคาเดมี่ใหม่กำลังจะเสร็จในไม่ช้า ทุกสิ่งเป็นไปตามแผนงานระยะยาว และมุ่งไปสู่การเติบโตที่ดี นอกเหนือจาก “แพสชั่น” ตอนนี้เราเริ่มสัมผัสได้ว่ามัน “มั่นคง” และ “ต่อยอด”

ภาพจำลองของศูนย์ฝึกซ้อมเคิร์กบี้ใหม่ ที่กำลังจะแล้วเสร็จในไม่ช้า
(Source : Twitter)

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าซีซั่น 2019/20 นี้จะไปสิ้นสุดลงแบบไหน ถึงจะใกล้เคียงกับการหยุดการรอคอยไว้ที่ 30 ปี แต่เดอะ ค็อปเอง ก็ไม่นิ่งนอนใจ คิดว่ามันสิ้นสุด จนกว่าจะถึงวันที่เฮนเดอร์สัน ยกถ้วยขึ้นบนหัว แบบที่คลอปป์พูดน่ะแหละ

และไม่ว่าตัวเลข 30 ปีจะหยุดเดินลง หรือยังคงต้องนับต่อไปอีกครั้ง กองเชียร์ทุกคนทราบดีว่าทีมผ่านพ้นอะไรมามาก ทั้งสิ่งที่น่าจดจำ และไม่อยากนึกถึง ทั้งสิ่งที่สร้างความสุข และความทุกข์ มันไม่ใช่แค่เกมฟุตบอลที่เราเจียดเวลามาดูสัปดาห์ละครั้ง แต่มันเป็นส่วนนึงในชีวิตของเราไปแล้ว ทุกคนรู้ดี

น้ำตาแห่งชัยชนะที่มาดริด บ่งบอกทุกอย่างได้ดี ว่าทีมตั้งใจจะประสบความสำเร็จแค่ไหน
(Source : Forbes)

นอกจากผู้คนที่เกี่ยวข้องกับสโมสรมาตลอดเส้นทาง คงไม่มีใครน่าชื่นชมไปกว่าตัวคุณเอง ที่ตัดสินใจเริ่มเชียร์ และไม่เปลี่ยนใจจากทีมนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จงสัมผัสกับ “แพสชั่น” ที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลก

จงมีความสุขเหมือนที่เราเคยฉลองแชมป์ UCL และจงโศกเศร้า เหมือนที่เราเคยเห็นอกเห็นใจกับเหตุการณ์ฮิลส์โบโร่ ที่ทุกคนยืนหยัดสู้มายาวนาน โดยไม่ต้องเก็บงำอะไรไว้

เพราะแม้กุนซือ, นักเตะ หรือเจ้าของทีม จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน สโมสรแห่งนี้ยังคงอยู่ กองเชียร์แบบเราก็ย่อมต้องอยู่ และทำให้สโลแกนอันเลื่องชื่อ ไม่ได้เป็นแค่คำพูดเท่ๆ เพราะเราไม่มีวันปล่อยให้ “ลิเวอร์พูล” ทีมนี้ ต้องเดินเดียวดาย #YNWA

You’ll Never Walk Alone
(Source : Bleacher Report)

Picture : Yahoo Sport, Liverpool Echo, Pinterest, Sportskeeda, Football365, Sky Sports, LFC click, Lancashire Telegraph, Liverpool FC, The Independent, Daily Mail, Alchetron, Planet Football, ports History & Culture, From The Stands, Bleacher Report, Chronicle Live, Rossoneri Blog, Up News Info, The Telegraph, as.com, SportsPro Media, Zimbio, Daily Express, IBTimes UK, Empire of the KOP, Forbes, Sporting Life, talkSPORT, Twitter, The New York Times

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save