โค้ชไทย หรือต่างชาติ? ปัจจัยอะไรควรใช้เลือกกุนซือช้างศึก? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
โค้ชไทย หรือต่างชาติ? ปัจจัยอะไรควรใช้เลือกกุนซือช้างศึก?

ต้องพบกับจุดพิสูจน์ศรัทธาอีกครั้ง สำหรับ “ทีมชาติไทย” ทีมชาย ซึ่งพึ่งจบเพียงอันดับบ๊วย ในศึกชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” โดยพ่ายทั้งเวียดนาม และอินเดีย ซึ่งหากย้อนไปราว 2-3 ปีก่อนนี้ เราเป็นต่อทั้ง 2 ชาติอยู่พอสมควร

จากผลงานดังกล่าว ทำให้ “โค้ชโต่ย” ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย และ “โค้ชโชค” โชคทวี พรหมรัตน์ ตัดสินใจไขก๊อกลาออกจากตำแหน่ง หลังการหารือกับ “บิ๊กอ๊อด” สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลของไทย โดยทั้งคู่เข้ามารับงานขัดตาทัพแทน “มิโลวาน ราเยวัช” ที่ถูกปลดไปตั้งแต่เอเชียน คัพ

“โค้ชโต่ย” และ “โค้ชโชค” กุนซือขัดตาทัพ ที่ประกาศยุติบทบาท หลังหารือ “บิ๊กอ๊อด”

ตำแหน่งกุนซือที่ว่างลง ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นอีกครั้ง ว่าใครกันที่เหมาะสมจะเข้ามา “กู้วิกฤติ” ของทีมช้างศึกตอนนี้ ควรจะเป็นกุนซือชาวไทย หรือควรอิมพอร์ตของนอกอีกซักหนดี?

เพื่อตีประเด็นถกเถียงนี้ให้กระจ่างยิ่งขึ้น เราลองไปดูปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะทำให้ตอบปัญหาโลกแตกนี้ได้ง่ายขึ้นกัน

การพัฒนาศักยภาพ

หัวข้อแรกอยากพูดถึงเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพ” ให้กับทีมชาติไทยก่อน จุดนี้ไม่ได้มองแค่กับ “นักเตะ” นะครับ มันยังหมายรวมถึง “ทีมงาน” และ “องค์ประกอบโดยรวม” ด้วย

เราพูดกันอยู่เสมอว่านักเตะไทยในระดับเยาวชนเก่ง แต่พอขึ้นมาในระดับก่อนชุดใหญ่ (พวกยู-21 หรือ ยู-23) หรือในชุดใหญ่ ศักยภาพของนักเตะเราจะหยุด หรือพัฒนาเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรเป็น

“อเล็กซานเดร กาม่า” กุนซือที่หวังจะมาพัฒนาชุดยู-23 ก็อยู่คุมทีมได้เพียงระยะสั้น

จุดนี้เป็นจุดอ่อนที่เราหยุดนิ่งมานานหลายปี (อาจจะใช้คำว่าสิบปีได้เลย) ในขณะที่เพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม หรือเพื่อนร่วมทวีปอย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งเคยเป็นเหมือน “ลูกไล่” ของเราในยุคหลายสิบปีก่อน แซงหน้าพวกเราไปหมดแล้ว

พูดมาถึงตรงนี้ เห็นได้ชัดเลยว่าไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะของกุนซือชุดใหญ่ มันต้องมีการทำงานกันจริงจังไปในหลายระดับเลยภายในสมาคม

ไม่เพียงแต่การผลักดันเยาวชน ยังรวมถึงการยกระดับฟุตบอลอาชีพตั้งแต่เด็กจนไทยลีก เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักเตะไทยได้พัฒนาฝีเท้าทั้งในประเทศ และอาจจะเพิ่มโอกาสไปยังต่างแดนอีกด้วย

ก่อนที่จะได้โกอินเตอร์ ไปต่อยอดศักยภาพ พื้นที่ในประเทศเรา ต้องแข็งแกร่งก่อน

ปัจจัยนี้ฟันธงยากมากว่าโค้ชไทย หรือของนอก อันไหนจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีกว่า ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมาผสานตรงจุดนี้ลงตัวกว่ากัน ทั้งกับกรรมการบริหารสมาคม และคนดูแลโครงสร้างในแต่ละระดับ

“เอคโคโน่” บริษัทพัฒนาโครงสร้างฟุตบอล ซึ่งสมาคมว่าจ้างให้เข้ามาดูแลตั้งแต่ระดับเยาวชน

ตอนประมาณต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวเหมือนกันว่า สมาคมอาจจะพิจารณาเลือกกุนซือสแปนิช ซึ่งทาง “เอคโคโน่” บริษัทที่เข้ามาดูระบบเยาวชนให้ไทยเรา เสนอชื่อมาให้ อันนี้ส่วนตัว รู้สึกว่าน่าสนใจ หากเราสามารถปูทางให้ผสานกันในแต่ละระดับอายุได้จริงๆ

แทคติก

แน่นอนว่าเรื่องของแทคติกนั้นสำคัญมากต่อการเล่นของทีม วิธีง่ายที่สุดคือหากุนซือที่มีรูปแบบการเล่นที่เหมาะกับไทยเรา อย่างเช่น ชอบเล่นหลัง 3 แบบ 3-5-2 หรือชอบเล่นด้วยความคล่องตัว มากกว่าใช้พละกำลังบุกทะลวง ซึ่งจุดนี้เคยทำให้ราเยวัช ตกม้าตายมาแล้ว เพราะสิ่งที่เขาทำให้กาน่า เล่นได้ดี ใช้ไม่ได้ผลกับนักเตะแบบเรา

“มิโลวาน ราเยวัช” กุนซือต่างชาติรายล่าสุด ซึ่งช่วงหลังที่คุม โดนวิจารณ์เรื่องแทคติกอย่างหนัก

ในทางกลับกัน การเลือกเปลี่ยนแปลงแทคติกไปเป็นรูปแบบอื่น ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ต้องการเวลา และแรงสนับสนุนจากทั้งนักเตะ และทีมงาน ให้มากกว่าที่เราเคยเป็น ซึ่งจุดนี้มักจะเป็นปัญหาเสมอ

เพราะแม้ระเบียบวินัย และความเป็นมืออาชีพของนักเตะบ้านเราจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้ว แต่ด้วยความพร้อมด้านการจัดโปรแกรม และรูปแบบการจัดการในระดับสโมสร ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นมาให้ทลายข้อจำกัดในบางอย่างได้ การเปลี่ยนแปลงแทคติก และรูปแบบการเล่นไปเลย จึงเกิดได้ยากหน่อย

ความไม่สอดประสานของการจัดโปรแกรม และระบบจัดการระดับสโมสร ยังคงเป็นอุปสรรคต่อทีมชาติ

ดังนั้น ขอให้มีแทคติกที่แน่ชัด รูปแบบการเล่นจะตามมา จะเป็นของเราเอง หรือจะเลียนแบบโมเดลมาจากทีมไหนก็แล้วแต่ มันไม่สำคัญหรอกครับ หากมันใช้กับนักเตะของเราได้ลงตัว

ความเข้าใจระบบลีกบ้านเรา

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว ระบบลีก และการแข่งขันระดับต่างๆ ของบ้านเรา ซึ่งมีความเฉพาะตัว ก็เป็นอีกปัจจัยที่กนุซือทีมชาติไทยรายใหม่ ต้องเข้าใจ และเข้าไปคลุกคลีให้เพียงพอ

“วิลฟรีด เชเฟอร์” อดีตกุนซือชาวเยอรมัน ซึ่งได้รับคำชมเรื่องการเข้าใจฟุตบอลลีกไทย

จุดนี้เราต้องการกุนซือที่ขยันขันแข็ง และเข้าไปศึกษาดูเกมในทุกระดับที่บ้านเราเป็น มันอาจจะต้องใช้เวลาหน่อย แต่กุนซือทีมชาติในอดีต อย่างเช่น วิลฟรีด เชเฟอร์ ก็สามารถจัดการตรงนี้ได้ดี และมีข้อมูลนักเตะที่หลากหลาย เพื่อประกอบการตัดสินใจ

หากข้อมูลในมือที่เพียงพอแล้ว เราน่าจะจัดการกับฟอร์มการเล่นของนักเตะได้ดีขึ้น โฉมหน้าของนักเตะที่ติดทีมชาติก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ข้อครหาถึงเรื่องเด็กเส้น ก็อาจจะลดลงด้วยเหตุผลที่เหมาะสม

ความมั่นใจทีละก้าว

แม้มันอาจจะเจ็บปวด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราต้องกลับมาก้าวทีละก้าวอย่างมั่นคงอีกครั้ง ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก อาจจะต้องลดความคาดหวังลง คือทำให้เต็มที่ แต่อย่าไปผิดหวังหากผลมันไม่เป็นตามต้องการ เน้นไปที่การกลับมาเป็น 1 ในอาเซียนเหนือเวียดนาม, ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย เสียก่อน

ความมั่นใจต้องก้าวทีละก้าว เริ่มจากการทวงความเป็น 1 ในอาเซียนกลับมา

ขุมกำลัง และศักยภาพนักเตะที่เรามีอยู่ สามารถกลับมาทวงเบอร์ 1 ในอาเซียนได้ไม่ยากแน่ หากมีความมั่นใจ และเรียกความมุ่งมั่นกลับคืนมา การได้กุนซือถาวรที่มีแผนการชัดเจน น่าจะเรียกโฟกัสของทุกคนกลับมาให้ทำผลงานที่ดีขึ้น ผลงานที่ดีขึ้นก็ย่อมตามมาด้วยการสนับสนุนจากแฟนบอล ซึ่งรอพร้อมอยู่เสมอ

“บิ๊กอ๊อด” คนที่จะต้องรับบทหนักทั้งการให้สัมภาษณ์ และการชี้แจงทิศทาง ให้เหมาะสม

“ความมั่นใจทีละก้าว” ที่ผมว่า ยังหมายรวมถึงการส่งข้อความไปยัง “บิ๊กอ๊อด”​ และ “แฟนบอล” ด้วย ต้องยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบัน และหาโอกาสที่จะปรับปรุงมันไปทีละอย่าง หากมันยังไม่ดีขึ้นทันตา ก็ไม่ต้องอาย 🙂

มองให้ลึกถึงองค์ประกอบ

แม้ทุกวันนี้ โลกโซเชียล และอินเตอร์เน็ต จะทำให้เราเข้าถึง “กระแส” กันได้ง่ายขึ้น ทุกคนแสดงความคิดเห็นกันได้ง่ายขึ้น ข้อมูลต่างๆ ก็หมุนเวียนให้มาศึกษาได้สะดวกสบาย แต่ทั้งหมด มันไม่ใช่ปัจจัยหลัก ที่จะมีผลต่อการเลือกกุนซือซะทีเดียว

“กระแส” ในที่นี้มีความหมายไปได้ 2 ทาง หนึ่งคือ “กระแสจากคนไม่เกี่ยวข้อง” กับสองคือ “กระแสทจากดีกรีของกุนซือ”

เสียงของแฟนบอลสำคัญ แต่กับการเลือกกุนซือใหม่ มันมีปัจจัยอื่นให้คำนึงถึงมากกว่านั้น

ไม่ควรจะยึดติดกับ “กระแสจากคนที่ไม่เกี่ยวข้อง” เพราะสมาคมควรจะมีการคัดกรองในภาพรวมที่เหมาะสมว่าใครจะเป็นกุนซือคนใหม่ของทีมชาติชุดใหญ่ อย่าตามกระแส หรืออย่าเอาใจแฟนจนละเลยสิ่งที่จำเป็นในการพิจารณา

“ไบรอัน ร็อบสัน” หนึ่งในกุนซือโปรไฟล์น่าตื่นเต้น แต่ผลลัพธ์กลับไม่ประสบความสำเร็จ

และแน่นอนว่าไม่ควรจะตาม “กระแสจากดีกรีของกุนซือ” เพราะหลายครั้งมันใช้ไม่ได้เสมอไป หากความเหมาะสมมันไม่สอดคล้อง เราเคยผิดพลาดกับ “ไบรอัน ร็อบสัน”, “ปีเตอร์ รีด” หรือล่าสุดกับ “มิโลวาน ราเยวัช” ก็เพราะคิดว่าชื่อชั้น และประสบการณ์ของกุนซือจะช่วยได้

5 ปัจจัยที่ว่ามา อาจจะยังช่วยตอบได้ยากว่า “โค้ชไทย” หรือ “โค้ชนอก” อันไหนจะเหมาะสมจะเข้ามารับ “เผือกร้อน” คุมช้างศึก มากกว่ากัน แต่ก็หวังว่ามันจะช่วยไปสะกิดใจคนที่เกี่ยวข้องเล็กๆ ว่าการสร้างผลงานของทีมชาติไทย เรามองแค่เพียงมิติในสนามอย่างเดียวไม่ได้

ก้าวต่อไปของทัพ “ช้างศึก” สำคัญ และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ต่อจากนี้ก็คงได้แต่ติดตามกันต่อไปล่ะครับ ว่าสมาคมฟุตบอลจะประกาศชื่อกุนซือคนใหม่ออกมาเป็นใคร เรื่องระยะเวลาเองก็สำคัญ เพราะเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก รอเราอยู่แล้ว

ล้มแล้วก็ลุกได้ ขอให้มันเป็นการลุกที่เข้มแข็ง แฟนบอลไทย รอเชียร์ “ช้างศึก” อยู่เสมอ… ไทยแลนด์ ปู๊นๆ

Picture : Kapook, เชียร์กีฬาไทย, Sanook, ballthai24, มติชน, SpringNews, Duball Live, MThai, Thairath, Chiangmainews, udclick, FOX Sports Thailand

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save