จัดงานแต่งงานอย่างไรไม่ให้ขาดทุน รู้ไว้ไม่ล้มละลายหลังจบงาน [Part 1 : Pre-Production] - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
จัดงานแต่งงานอย่างไรไม่ให้ขาดทุน รู้ไว้ไม่ล้มละลายหลังจบงาน [Part 1 : Pre-Production]

“การแต่งงาน” เรียกว่าเป็นหลักไมล์สำคัญ ที่เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ซึ่งนำไปสู่การเป็น “ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ” แต่กว่าจะผ่านหลักไมล์นี้ไปได้หลายคู่ก็แทบจะล้มละลายจากค่าจัดงานแต่งที่ไม่ได้คาดคิดไว้ก่อน ยิ่งถ้าให้ความสำคัญผิดจุด ไปเทงบในส่วนที่ไม่สำคัญของงานแต่งงานมากเกินไป ก็อาจจะมีรายจ่ายบานปลายงอกมาให้ปวดหัวกลายเป็นหนี้สินหลังจบงานแต่งงานอันแสนหวานก็ได้

 

วันนี้ The Macho ขอเป็น Wedding Planner ในการควบคุมงบประมาณ และแชร์ประสบการณ์รู้ไว้ก่อนแต่ง ตั้งแต่ขั้นเรียกประเมินค่าสินสอดเลย จะได้เตรียมตัวถูกว่าเราจะบริหารงบงานแต่งอย่างไร หรือเราจะได้เงินจากตรงไหนบ้างที่มา support บ้าง

 

สินสอด – ราคากลางของตลาดไม่มีจริง

ภาพจาก – weddinginlove.com

นับว่าเป็นเรื่องปวดหัว และชวนดราม่าตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่ช่วงโปรดักชั่นของงานแต่งงานเลย บางคู่คบกันมาหลายปีจากตั้งใจจะแต่งกันกัน กลายเป็นได้เลิกกันเพราะเรื่องสินสอดนี่แหละ กรณีเจ้าบ่าว-เจ้าสาวเป็นคนไทย ยังพอเข้าใจกันได้ แต่ถ้าได้แฟนเป็นชาวต่างชาติอาจจะต้องอธิบายกันยาวเลยว่านี่คือค่าอะไร เพราะมันมีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น!!

 

ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องคุยกันให้ดีที่สุด เพราะมีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกทั้งทางฝั่งบ้านของเจ้าบ่าว และเจ้าสาวเองมากๆ เราไม่สามารถบอกได้ว่ามันควรจะมีราคากลางอยู่ตรงไหน เคยเห็นบางแฟนเพจ เอาอายุเจ้าสาว กับเงินเดือนเจ้าสาวมาใส่สูตรคำนวน แล้วคิดออกมาเป็นตัวเลข ในความเป็นจริงสูตรนี้มันใช้ไม่ได้ 100% เพราะ “สินสอดเป็นเรื่อง Emotion” เราคงไม่สามารถตีราคาความรัก การเลี้ยงดูอย่างดีจากครอบครัวเจ้าสาวออกมาเป็นตัวเลขแบบนั้นได้

 

ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ควรนัดวันแล้วปล่อยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาคุยกันเองตั้งแต่เจอหน้ากันครั้งแรก ไม่เช่นนั้นอาจมีฝ่ายหนึ่งหน้าเจื่อนกลับไปแล้วเกิดความระหองระแหงทางความรู้สึกของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้

 

สำหรับวิธีที่ดีที่สุดในการประเมินค่าสินสอด คือ ให้ฝ่ายหญิงลองคุยกับที่บ้านให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเรียกเท่าไหร่ และถ้าเป็นไปได้ให้ถามต่อเลยว่าเงินค่าสินสอดนี้ตอนจบงาน ฝ่ายพ่อแม่เจ้าสาวจะเก็บไปเท่าไหร่ หรือจะคืนกลับมาให้บ่าวสาวเป็นเงินตั้งตัว ซึ่งเป็นเรื่องความสมัครใจ และความสะดวกของแต่ละบ้าน บางบ้านเรียกค่าสินสอดสูง แต่ว่ายกให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวหมดหลังจบงาน ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ฝั่งพ่อแม่เจ้าบ่าวมองว่ายังไงมันก็วนกลับมาที่ลูกเขาเอง ถึงสูงก็ไม่เป็นไร ดิลดีต่อทุกฝ่าย

 

อีกมุมหนึ่งตั้งแต่ในอดีต “ค่าสินสอด” ถือเป็นหน้าตาทางสังคมของครอบครัวฝ่ายหญิง บางบ้านอาจจะเรียกพอเป็นพิธี แต่บางบ้านก็เรียกสูงมาก แล้วตอนจบงานคืนให้พ่อแม่ฝ่ายชายหมด เรื่องนี้ควรคุยให้เคลียร์กันก่อนตั้งแต่ตอนที่ฝั่งฝ่ายหญิงคุยกับที่บ้านว่าจบงานแล้วจะทำอย่างไรกับสินสอด อย่าให้ความคลุมเครือแบบฝั่งใดฝั่งหนึ่งคิดไปเองทำให้เกิดรอยร้าวขึ้นกับความสัมพันธ์ทั้งสองครอบครัว เพราะนี่เพิ่งแค่เริ่มต้นเท่านั้น

 

ถ้ายังคิดไม่ออกว่าตัวเลขที่เหมาะสมมันควรจะเท่าไหร่ พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเป็นคนบอกเอง โดยตัวเลขอ้างอิงส่วนมากมักจะมาจากตัวเลขของลูกหลานคนอื่นที่แต่งงานไปก่อนหน้านี้นั่นเอง สำหรับสาวๆ ถ้าอยากรู้มูลค่าสินสอดของตัวเองคร่าวๆ ก่อนที่จะมีโอกาสแต่งจริง เวลาไปงานแต่งญาติที่อายุใกล้ๆ กันก็ลองสังเกตุค่าสินสอดดูนะครับว่าใกล้เคียงมั้ย

 

รูป Pre Wedding – มีรูปไว้ตกแต่งหน้างาน หลังจบงานนานๆ จะหยิบมาดูที

ภาพจาก – TourMyIndia

“งานแต่งงาน” สำหรับฝ่ายหญิงบางคนมองว่านี่คือเทพนิยายในฝันที่วาดฝันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ ว่าเธอจะได้แต่งงานกับเจ้าชายในฝันท่ามกลางดอกไม้ และแขกที่มายินดีกับเธอในงาน ทำให้บางคนตั้งใจถ่ายพรีเวดดิ้ง เพื่อต้องการให้งานมี Theme concept คลุม เก็บเป็นภาพจำของเธอไปตลอดชีวิต ส่วนนี้เรียกว่าเป็นส่วนเติมเต็มความรู้สึกฝ่ายหญิงมากกว่า ผู้ชายเองน่าจะมีไม่ถึง 10% ที่อยากจะถ่ายพรีเวดดิ้งด้วยตัวเอง แต่เมื่อว่าที่เจ้าสาวต้องการ ก็คือต้องตามใจ

 

ถ้านับจริงๆ ส่วนนี้ถือว่ามีความฟุ่มเฟือยระดับหนึ่ง อยู่ที่ทั้งคู่จะมองอย่างไร ถ้าแค่มองว่าเป็นของประดับหน้างานอยากให้มันดูสวยก็จัดไปได้เลย แต่ถ้าอยากเพิ่มไอเดีย เล่าเรื่องระหว่างทางความรักของทั้งคู่ก่อนจะได้แต่งงานกัน อาจจะเป็นรูปที่ถ่ายด้วยกันตั้งแต่คบกันก็ได้ น่าจะบอกเล่าเรื่องของทั้งคู่มากกว่าการตะลุยถ่ายรูปพรีเวดดิ้งแค่วันเดียวแบบเปลี่ยนเสื้อ 4-5 ชุด ก็ประหยัดได้ด้วยไอเดียแทน

 

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วแขกที่มางานมีไม่มากที่จะเดินดูรูปเจ้าบ่าวเจ้าสาวก่อนเข้างาน ซึ่งจุดหน้างานมีแค่ 2 จุดเท่านั้นที่แขกที่มางานจะถ่ายรูปนั่นคือ Backdrop ที่ถ่ายรูปคู่เจ้าบ่ายเจ้าสาวหน้าทางเข้างาน และอีกจุดคือมุมที่เซตมาให้แขกมาถ่ายรูปเช็คอินว่ามาถึงที่งานแล้วนะ ดังนั้นหน้างานจริงๆ มี 2 จุดนี้แหละที่สำคัญ ควรให้ออกมาดูดีหน่อย

 

ชุดเจ้าบ่าว และเจ้าสาว – “ครั้งเดียวในชีวิตเลยนะ” วลีเด็ดที่ทุกร้านตัดชุดเช่าชุดแต่งงานมักใช้ตอนเราไปเลือกชุด

ภาพจาก -beltranarismendi.com

ชุดเจ้าบ่าว และเจ้าสาว ส่วนมากเป็นชุดที่ใช้ครั้งเดียวเท่านั้น “การเช่า” จึงเป็นทางเลือกที่ควรที่สุด ถ้าไม่อยากให้นี่เป็นปัจจัยหนึ่งจากการล้มละลายด้วยงบที่บานปลายจากงานแต่ง สำหรับร้านเช่าชุดแต่งงานก็มีหลายระดับ และหลายราคามาก ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของทางร้านเอง ร้านที่มีความละเอียดปราณีตในการตัด รวมไปถึงการประดับประดาชุดให้หรูหราย่อมตามมาด้วยราคาเช่าที่แพงขึ้น ราคาเช่าชุดแต่งงานจึงมีช่วงกว้างมากตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักแสนในกรณีที่เป็นการ เช่าตัด*

 

อาจจะมองว่าชุดเช่าทำไมมันแพงขนาดนั้น คือชุดแต่งงานแต่ละชุดมันเป็นงานฝีมือ บางชุดที่มีรายละเอียดมากจำเป็นต้องใช้ช่างหลายคนตัด แล้วปักเย็บกันเป็นเดือน เพื่อให้ได้ชุดนี้ขึ้นมา ลองเอาเงินเดือนช่างแต่ละคนมารวมกันก็ได้ราคาชุดแล้วยังไม่รวบค่าผ้า และอุปกรณ์อีก ยิ่งบางร้านได้รับความนิยมในหมู่ดาราที่กำลังจะแต่งงานมาตัดนี่เตรียมใจได้เลย ชื่อเสียงมาพร้อมราคาที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

สิ่งที่ควรทำ คือ ลองหาข้อมูลร้านตัดหลายๆ ที่ 5-8 ร้าน เป็นตัวเลขที่ไม่เกินความจริง ถ้าต้องการจะหาร้านที่ราคาไม่แหกกระเป๋าเรามากเกินไป ให้มองว่าการหาชุดแต่งงานหลายๆ ร้านก็คล้ายๆ การเดินขึ้นภูกระดึงกับแฟน จำลองการผ่านความยากลำบากด้วยกันตรงนี้อีกสักครั้งก่อนต้องไปใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแบบของจริงตอนหลังแต่งงาน

 

ร้านเช่าชุดแต่งงานหลายร้านเดี๋ยวนี้มักมีบริการครบวงจร ตั้งแต่เรื่องถ่ายพรีเวดดิ้งด้วย โดยมีแพคเกจชุดแต่งงานในนั้น ยังไม่ต้องรีบตัดสินใจ ควรกลับบ้านเอาราคาทุกร้านที่หามาวางเทียบกันก่อน ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในร้านเดี๋ยวนั้น เพราะส่วนใหญ่ทุกคนที่มาร้านเช่าชุดแต่งงานก็มาไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้งอยู่แล้ว และทุกร้านก็มักกล่อมให้คุณเคลิ้มด้วยคำว่า “แต่งงานครั้งเดียวในชีวิตนะ” ให้คิดเสมอว่า ถ้าต้องจัดเต็มทุกส่วนของงานแต่งงาน มีเป็นล้านก็ใช้หมดล้านได้ จำเป็นที่ต้องหาจุดลงตัวระหว่าง อารมณ์ และเหตุผลในการใช้งานก่อนตัดสินใจอะไรลงไปเสมอ ซึ่งมันยากมากที่ต้องตัดสินใจในร้าน(ที่มีพนักงานขายกล่อมเราตลอด) ควรกลับมาที่บ้านแล้วเปรียบเทียบราคาแบบแยกแต่ละชิ้นก่อนตัดสินใจเสมอ

 

หมายเหตุ : การเช่าตัด คือการตัดขึ้นมาใหม่โดยวัดจากตัวเจ้าสาวเลย ก็จะได้ชุดที่พอดีตัวเป๊ะ แต่จบงานก็ตกเป็นของร้าน ซึ่งทางร้านก็นำไปให้คนเช่าต่ออีกที

 

ตอนต่อไปขอต่อใน Part 2 นะครับ โดยจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ เงินที่จะได้กลับมาแขกที่มางาน ,การเลือกสถานที่จัดงานแต่ง ,เทคนิคการเชิญแขกอย่างไรให้ได้เงินกลับมาพอค่าจัดงาน และประเมินจำนวนแขกที่มางาน

 

อ่านต่อ [Part 2] จัดงานแต่งงานอย่างไรไม่ให้ขาดทุน รู้ไว้ไม่ล้มละลายหลังจบงาน [Production] 

W. Charoenchit

Online Marketing | BD @ ThisIsGame Thailand | Admin AV idol Fanpage | Admin รวมดาวสาว Office | Gamer l Toy collector | Food Hunter

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save