ถ้าวันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า!! | คิดต่างอย่างไร...หากกัญชาในไทยถูกกฎหมาย? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ถ้าวันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า!! | คิดต่างอย่างไร…หากกัญชาในไทยถูกกฎหมาย?

คิดต่างอย่างไร…หากกัญชาในไทยถูกกฎหมาย?

ถ้าวันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า…!! ลองมาว่ากันด้วยเรื่องใบไม้หรรษาอย่าง “กัญชา” ที่หลายๆคนให้คำนิยามกันว่าเป็นใบไม้ที่ทำให้อารมณ์ดี
อะไรประมาณนี้ หลายๆคนคงเคยได้ยินสรรพคุณของ กัญชามากันบ้าง ซึ่งมันถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และยังมีโทษทางอาญา ทั้งกับผู้เสพ และผู้ค้า หรือผู้ที่มีไว้ในครอบครอง แม้แต่ทางการแพทย์ก็ยังไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ แต่ล่าสุดนิด้าโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “กัญชา ประโยชน์หรือโทษ” จากประชาชนทั่วไป

และจากนิด้าโพล เก็บผลสำรวจจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง และเมื่อถามถึงการทราบหรือเคยได้ยิน เกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชา ที่สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้นั้น ก็พบว่า ผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ ทราบ และเคยได้ยินถึง 68.24% และที่พีคไปกว่านั้นคือ ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคอย่างถูกกฎหมายในอนาคตนั้น ซึ่งมีประชาชนเห็นด้วยถึง 72.40% เลยทีเดียว

ลองมาดูผลสำรวจอื่นๆจากนิด้าโพลกับข้อเสนอแนะของประชาชน ที่เข้าร่วมทำผลสำรวจทั้งหมด 1,250 คนนั้น จะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง หากในอนาคตประเทศไทยจะทำให้กัญชานั้นถูกกฎหมาย เพื่อการรักษาโรคจริงๆ

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การทำให้กัญชาถูกกฎหมาย เพื่อการรักษาโรคในไทย
53.12% กำหนดให้มีการใช้กัญชาได้เฉพาะบางสถานที่ที่ได้รับอนุญาต เช่น โรงพยาบาล เท่านั้น
36.48% กำหนดให้มีการปลูกได้เฉพาะพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
29.04% เจ้าหน้าที่ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและลงโทษขั้นรุนแรงกับผู้ที่กระทำผิด
19.92% สร้างความรู้ จิตสำนึกให้กับประชาชนถึงประโยชน์และโทษของกัญชา
8.88% นำกฎหมายของต่างประเทศ ที่กัญชาถูกกฎหมายมาปรับใช้กับกฎหมายไทย
6.88% การเปิดเสรีการค้ากัญชาแบบถูกกฎหมาย เพื่อการรักษาโรค

ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่า เพราะกัญชามีประโยชน์หลายอย่าง จึงน่าจะนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ และถ้านำมาใช้กับทางการแพทย์ได้จริง ก็คาดว่าน่าจะเกิดประโยชน์อย่างมาก ซึ่งในต่างประเทศก็ทำกันอยู่แล้ว ในขณะที่ประชาชนบางส่วนก็ยังคงกังวลว่า หากมีการลักลอบนำมาใช้ในทางที่ผิด และอาจส่งผลร้ายต่อเยาวชนและสังคมก็เป็นได้ เรียกได้ว่า ใบไม้หรรษาที่อาบยาพิษดีๆนี่เอง

ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันถึงประโยชน์ และโทษภัยของใบกัญชา เพราะหากมีการอนญาตให้ใช้ได้จริง ก็คงต้องมีการควบคุมกันอย่างคลอบคลุมอย่างที่สุด แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีแหละว่ากฎหมายบ้านเรามักมีช่องโหว่ และไม่มีความเด็ดขาดมากพอ ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนยิ่งกังวลว่ามันอาจจะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์นั่นเอง

ในขณะที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด งั้นเอาเป็นว่าวันนี้ เราลองมาศึกษาประโยชน์ และโทษของกัญชา เผื่อว่าหลายๆคนที่ยังไม่ทราบ จะได้ทำความเข้าใจกันไปพร้อมๆกันดีกว่าว่า ในปัจจุบันมีประเทศใดบ้างที่ใช้กัญชาหรรษาได้อย่างถูกกฎหมาย และสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้

ประโยชน์ของกัญชา ในทางการรักษาโรค

  • ในทางการแพทย์ กัญชาถูกนำไปผสมกับอาหาร เพื่อช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร
  • จากการศึกษาของสำนักปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติอเมริกัน พบว่า กัญชามีสรรพคุณในการฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้เนื้อร้ายในสมองเหี่ยวลดลงได้
  • สาร Cannabinoids ในกัญชา ช่วยปรับสมดุลต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ผู้ใช้ลดการแสดงพฤติกรรมรุนแรงในทางด้านอารมณ์ได้ (หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม)
  • ในแคนาดามีการใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของ Cannabinoid เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากการอักเสบของสมองและไขสันหลัง
  • ยอดอ่อนเมื่อนำมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จะได้สารที่เรียกว่า “ทิงเจอร์แคนเนบิสอินดิคา” ซึ่งเป็นน้ำยาสีเขียว เมื่อกินเข้าไปประมาณ 5-15 หยด จะมีสรรพคุณเป็นยาช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เป็นยาสงบเส้นประสาท ทำให้นอนหลับ และแก้โรคสมองพิการ เป็นยาระงับปวด และเป็นยาแก้อักเสบ

โทษของกัญชา

  • ในเบื้องต้นการเสพกัญชาจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการร่าเริง ช่างพูด ตื่นตัว หัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อน เซื่องซึม และง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากจะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว หวาดระแวง ความคิดสับสน และควบคุมตัวเองไม่ได้ ในบางรายอาจไม่รู้จักตนเองหรือไม่เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว หรือควบคุมตัวเองไม่ได้
  • หากใช้กัญชาเป็นระยะเวลานาน จะนำมาซึ่งภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และก่อให้เกิดความผิดปกติของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การเสพกัญชาแม้เพียงระยะสั้น ผู้เสพบางรายอาจสูญเสียความทรงจำได้ เกิดความสับสน วิตกกังวล มีปัญหาในการตัดสินใจ
  • มีฤทธิ์ทำลายสมรรถภาพทางกาย ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมและอ่อนแอ
  • มีฤทธิ์ทำลายความรู้สึกทางเพศ ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในชายลดลง
  • การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ความเสี่ยงในการแท้งเพิ่มขึ้นหากใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์ หรือ ส่งผลให้ความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มมากขึ้น 2.3 เท่า

มีประเทศใดบ้าง ที่กัญชาถูกกฎหมาย

  • อุรุกวัย : อุรุกวัยนับว่าเป็นดินเเดนเเห่งกัญชา ที่เสรีที่สุดแห่งลาตินอเมริกา โดยเมื่อเดือน กรกฎาคม ปี 2017 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุญาตให้มีการขายกัญชาเพื่อสันทนาการตามร้านขายยา ได้อย่างถูกกฎหมายเป็นชาติแรกในโลก หลังผ่านกฎหมายเสพกัญชาอย่างถูกกฎหมายมาตั้งเเต่ปี 2013
  • แคนาดา : แคนาดาเป็นประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ตั้งแต่ปี 2001 และต่อมาแคนาดาก็กลายเป็นประเทศที่สองของโลก รวมถึงเป็นประเทศแรกในกลุ่มจี 7 ที่อนุมัติให้ประชาชนสามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกกฎหมาย
  • เนเธอร์แลนด์ : เนเธอร์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่มีชื่อเสียงด้านกัญชาถูกกฎหมาย ทั้งใช้ในการแพทย์และสันทนาการ ที่มาดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศให้เติบโต
  • ออสเตรเลีย : ออสเตรเลีย กำหนดให้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมาย มาตั้งแต่ปี 2016 ส่วนการใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
  • สหรัฐอเมริกา : เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2018 ทางการรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้กัญชากลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยเป็นรัฐที่ 7 ของสหรัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ ขณะเดียวกันยังมีอีก 29 รัฐในอเมริกา ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้
    ยังอีกหลายประเทศที่เปิดให้กัญชาถูกกฎหมาย ทั้งเพื่อการรักษาโรคและสันทนาการ

นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราอยากจะหยิบมาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดและทัศนคติเท่านั้น มิได้จงใจทำให้เกิดข้อขัดแย้งทางสังคมแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนแหละว่า มันก็ย่อมมีทั้งเห็นด้วย และคิดต่างเป็นธรรมดา ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากมีการนำเข้ามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริงมันก็จะส่งผลดีในหลายๆด้าน แต่ในขณะเดียวกัน หากเราใช้เกินข้อจำกัด มันก็จะเกิดผลเสียตามมาอย่างแน่นอน แล้วแต่ละคนมีความคิดเห็นอย่างไรก็บ้างกับเรื่องนี้ สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่แฟนเพจของเราเนาะ^^ www.facebook.com/theMachoCo/

Sharry

Writer, Project Editor, Photographer

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save