Series Review | “Sons of Anarchy” ซีรีส์โคตรแมน เข้มข้น เพลิดเพลิน จนต้องเปิดเบียร์สักกระป๋อง! - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
Series Review | “Sons of Anarchy” ซีรีส์โคตรแมน เข้มข้น เพลิดเพลิน จนต้องเปิดเบียร์สักกระป๋อง!

ปกติแล้ว หากจะเริ่มดูซีรีส์ฝรั่งยาวๆ ซักเรื่องนึง ผมมักจะคิดแล้วคิดอีก เพราะนอกจากจะต้องใช้เวลาติดตามยาวนาน มันยังมีซีรีส์หลายเรื่องที่ทำให้เราแผ่ว และหยุดดูไปกลางคัน ครั้นจะกลับมาดูต่ออีกที ก็มักจะปะติดปะต่อไม่ได้ จนอาจเลิกดูไป

“Sons of Anarchy” ซีรีส์โคตรแมน ที่ปิดฉากจบไปแล้วเมื่อปี 2014
(Source : HD wallpapers)

แต่กับ “Sons of Anarchy” ซีรีส์แมนๆ ที่มีเรื่องของแกงค์มอเตอร์ไซด์เป็นพื้นเพ กับความยาวถึง 7 ซีซัน กลับสามารถสร้างความเพลิดเพลินให้ดูต่อเนื่องได้รัวๆ ทั้งที่ไม่ได้ชื่นชอบมอเตอร์ไซด์ หรืออินเรื่องแกงค์นักเลง แต่อย่างใด

“Sons of Anarchy” เป็นซีรีส์อเมริกันของ FX Networks ที่ตอนนี้สามารถชมทุกซีซัน ผ่านทาง Netflix ได้แล้ว โดยความยาวทั้งหมดคือ 7 ซีซัน แต่ละซีซันมี 13 EP (มีซีซันนึง 14 EP) ออกฉายช่วงปี 2008-2014 โดยมีนักแสดงที่กลายเป็นที่รู้จักอย่าง “ชาร์ลี ฮันนัม” ซึ่งมีผลงานหนังใหญ่หลายเรื่อง อย่าง Pacific Rim, King Arthur: Legend of the Sword, Crimson Peak

“ชาร์ลี ฮันนัม” กับบท “แจ็คซ์” ที่ทำให้เขาโด่งดัง เป็นที่รู้จัก จนมีผลงานตามมามากมาย
(Source : CinemaBlend)

นอกเหนือจากฮันนัม ยังมีนักแสดงคุณภาพอีกหลายคนให้จดจำ เช่น รอน เพิร์ลแมน, เคธี ซากัล, ทอมมี่ ฟลานาแกน, จิมมี่ สมิทส์ เพราะจุดเด่นสำคัญของซีรีส์ คือการสร้างคาแรคเตอร์ ที่รับรองว่าจะมีหลายรายที่คุณหลงรัก โดยรายละเอียดจะขอพูดต่อในส่วนรีวิวถัดไป

เรื่องย่อ

“Sons of Anarchy” มีตัวละครเอกคือ “แจ็คสัน เทลเลอร์” (รับบทโดยชาร์ลี ฮันนัม) หรือ “แจ็คซ์” ลูกชายของ “จอห์น เทลเลอร์” ผู้ก่อตั้งแกงค์มอเตอร์ไซด์ “ซันส์ ออฟ อานาคี่” ผู้ล่วงลับ

โดยแจ็คซ์ปัจจุบันรับตำแหน่ง “รองประธาน” ของสาขาหลักที่ชื่อ “เร้ดวู้ด ออริจินอล” ซึ่งมี “เคลย์ มอร์โรว์” (รอน เพิร์ลแมน) สมาชิกก่อตั้ง รับบทประธาน แถมยังเป็นพ่อบุญธรรมของแจ็คซ์ไปในตัว เพราะเคลย์แต่งงานอยู่กินกับ “เจมม่า” (เคธี ซากัล) แม่ของแจ็คซ์

“เจมม่า” และ “เคลย์” 2 ตัวละครสำคัญ ซึ่งใกล้ชิดกับแจ็คซ์
[Source : Sons of Anarchy (Blogspot)]

แม้ “ซันส์ ออฟ อานาคี่” จะมีฉากหน้าเป็นสมาคมคนรักมอเตอร์ไซด์บิ๊กไบค์ และเปิดอู่ซ่อมรถ แต่เบื้องหลังพวกเขามีกิจการหารายได้เถื่อน โดยสาขาเร้ดวู้ดฯ มีธุรกิจปืนเถื่อนกับพวกไอริช ส่งผลให้ถูกจับตาโดยตำรวจท้องที่, รัฐบาลกลาง และแน่นอนว่ามีแกงค์อื่น ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาพัวพันด้วยตลอด

การดำเนินงานของสาขาดูจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่การไปเจอเอกสารเกี่ยวกับแกงค์ ที่พ่อทิ้งไว้ ทำให้แจ็คซ์เริ่มกลับมาหยุดคิดถึงเป้าหมาย และทิศทางของแกงค์ ซึ่งนั่นสร้างความกังวลให้กับเคลย์ และเจมม่า ซึ่งคิดว่าทุกอย่างอาจเปลี่ยนไป จากที่ควรเป็น

“จอห์น เทลเลอร์” พ่อของแจ็คซ์ และผู้ก่อตั้งแกงค์ ที่ล่วงลับไปแล้ว
(Source : Screen Rant)

ความน่าสนใจซีซันแรก

การที่แยกความสนใจของซีซันแรกออกมา เพราะมันถือเป็นปราการด่านสำคัญ ที่เราจะหยุดหรือไปต่อ กับซีรีส์ที่มีความยาวระดับเกิน 3-4 ซีซันแบบนี้ ซึ่งข้อดีของ SOA (ขอใช้ชื่อย่อนะครับ) คือซีซันแรก ทำออกมาได้น่าติดตามตั้งแต่ต้น

เหมือนกับซีรีส์เรื่องอื่นๆ ผู้ชมต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 EP อย่างน้อย ในการปรับตัวให้คุ้นชินกับเรื่องราว และสภาพแวดล้อมของซีรีส์ ซึ่ง SOA ถือว่าพาเราเข้าท่อนฮุคได้เร็ว ด้วยตัวละครที่น่าสนใจ และแต่ละตัวไม่ได้มุ่งไปทางใดทางหนึ่งสุดโต่ง สามารถค่อยๆ เรียนรู้ และเข้าใจมิติของเรื่องได้ไม่ยาก

การวางตัวละครให้ผู้ชมค่อยๆ ซึมซับ ไปพร้อมกับเนื้อเรื่อง สร้างความสนุกตั้งแต่ต้น
(Source : Pop Culture)

ความน่าสนใจอีกอย่าง คือแม้ SOA จะขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องของแกงค์มอเตอร์ไซด์ และการกระทำผิดกฎหมาย แต่เอาจริงแล้ว แก่นเนื้อหาไม่ได้เดินหน้าไปในทิศทางนั้นแบบ “เดินหน้าฆ่ามัน”

ซีรีส์กลับเลือกค่อยๆ สร้างปมของตัวละครทีละนิด ให้เห็นสภาพจิตใจที่มีทั้งดำ, ขาว และเทา อธิบายการตัดสินใจแต่ละอย่างจะแจ้ง ซึ่งทำให้หนังมีความแมสกว่าที่คิด ถึงมันจะไม่ถึงขั้นเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัยก็ตาม

ซีรีส์ไม่ได้พุ่งเป้าเอาความดิบสะใจเพียงอย่างเดียว การวางปมของเรื่องราว ก็ทำได้ดี
(Source : magich0urs – LiveJournal)

สิ่งที่ชอบมากอีกอย่าง คือซีรีส์ไม่ได้บีบตัวละครให้จนตรอกเหมือนที่หลายๆ เรื่องใช้ ความใจเย็นในการวางปม และร้อยเรียงเรื่องเพื่อหวังผลระยะยาว ทำให้เราได้ความเพลิดเพลินในระยะสั้นๆ อย่างไม่รู้ตัว ถึงจะไม่หวือหวา แต่ก็ไม่มี EP ที่ทำให้เรารู้สึกแผ่วเลย

เทรลเลอร์ซีซัน 1 ของ Sons of Anarchy
[Source : YouTube (Sinovi Anarhije)]

ความน่าสนใจซีซันต่อๆ ไป

ในส่วนของเนื้อหา คงไม่อยากเปิดเผยให้เสียอรรถรสกันเปล่าๆ แต่จะพูดในแง่มุมว่า SOA สามารถต่อยอดการปูเรื่องราวที่น่าติดตามในช่วงแรกต่อไปได้อย่างไร

อาวุธเด็ดของ SOA อย่างแรก คือ “ความต่อเนื่อง” ครับ เพราะตลอดความยาวถึง 7 ซีซัน ผู้สร้างอย่าง “เคิร์ท ซุตเตอร์” (รับบทเป็น “อ็อตโต้” ในเรื่องด้วย และชีวิตจริงเป็นสามีของเคธี่ ซากัล) สามารถหยิบเอาเรื่องราวของตัวละครที่เราเห็นคุ้นชินตา มาหาแง่มุมให้น่าติดตามได้เสมอ

“เคิร์ท ซุตเตอร์” ผู้สร้างซีรีส์ ที่นอกจากจะมีตอนกำกับเอง ยังรับบท “อ็อตโต้” อีกด้วย
(Source : Rolling Stone)

ครั้นจะใส่ตัวละครใหม่ๆ เข้ามาระหว่างทาง ก็ทำได้ดีในความใจเย็น และเน้นความคงเส้นคงวา ให้ผู้ชมค่อยๆ ยอมรับเรื่องราวที่สร้างขึ้น แบบไม่ผ่อนหรือตึงเกินไป “ความต่อเนื่อง”​ จึงทำให้ทุก EP ของซีรีส์นี้ ได้รับการการันตีด้วยคะแนนใน IMDb ไม่เคยต่ำกว่า 8.0 เลย

อย่างต่อมา ซึ่งถือเป็นหมัดฮุกที่ซีรีส์ทุกเรื่องต้องมี นั่นคือ “ไคลแมกซ์” ซึ่งในซีซันนึง ต้องมีอย่างน้อย 1-2 ครั้ง เพื่อกระตุกให้กราฟอารมณ์ของผู้ชมได้ตื่นเต้นบ้าง ซึ่งบางเรื่องก็มักจะใช้ “การหักมุม” หรือการทำให้เนื้อเรื่อง “คาดไม่ถึง” เป็นทีเด็ด

ไม่ใช่แค่ตัวละครในแกงค์ ตัวละครอื่นอย่าง “ทาร่า” รักในวัยรุ่นของแจ็คซ์ ก็มีส่วนสำคัญ
(Source : Twitter)

กับ SOA ซีรีส์ก็มีการปั้นไคลแมกซ์ขึ้นมาเช่นกัน และทำได้ค่อนข้างดีโดยตลอด แม้จะต้องออกแรงเยอะหน่อย เพราะมีความคงเส้นคงวาของเนื้อหาเป็นแกนหลัก

ไคลแมกซ์ของ SOA สร้างความแปลกใจ และคาดไม่ถึงได้อยู่เรื่อยๆ แม้โดยส่วนใหญ่จะค่อนข้าง “ดิบ” แต่มันกลับสะท้อนแง่มุมเบื้องลึกของแต่ละตัวละคร หรือการกระทำได้ลึกซึ้งเพียงพอ ซึ่งนั่นทำให้เราอินไปกับเนื้อหาโดยทันที และอยากรู้ต่อว่ามันจะดำเนินต่อไปยังไง

ความแมนของซีรีส์ สร้าง “ความดิบ” อยู่เสมอ แต่ก็มีความลึกซึ้งในเนื้อหาที่เข้มข้นไม่แพ้กัน
(Source : Pop Culture)

อย่างสุดท้ายที่อยากหยิบเอามาพูดถึง คือการ “ทำลายข้อจำกัด” เพราะด้วยความยาวของซีรีส์ขนาดนี้ ไม่แปลกที่ความชื่นชมของแต่ละตัวละคร ต้องมีขึ้นและลงเป็นธรรมดา ซึ่งไอ้การขึ้นหรือลงในความนิยมชมชอบ มันมักจะมาจากการทำลายข้อจำกัดของแต่ละตัวคร ซึ่งหากผู้ชมอิน มันก็เป็นผลบวก แต่ถ้ามันไม่สมเหตุสมผล สิ่งที่สร้างมา ย่อมพังทลายไปโดยง่าย

“Game of Thrones” และ “Dexter” ซีรีส์ยอดฮิต ที่มาตกม้าตายตอนท้าย
(Source : Cultured Vultures)

เรื่องการทำลายข้อจำกัดนี่แหละ ที่ทำให้ซีรีส์ขึ้นหิ้งหลายเรื่อง ต้องตกม้าตายมาแล้ว ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือช่วงท้ายของ “Game of Thrones” หรือ “Dexter” ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์แง่ลบ มากกว่าบวก เพราะมันทำลายสิ่งที่ปูมากับตัวละคร หรือการกระทำ ที่เข้มแข็งก่อนหน้า

กับซีรีส์แมนๆ เข้มๆ อย่าง “Breaking Bad” และ SOA ก็ไม่มีข้อยกเว้นที่จะต้องก้าวผ่านตรงนี้ และมีแผลที่ทำให้เราไม่พึงพอใจกันบ้าง ซึ่งโดยรวมแล้ว SOA ทำได้ดีทีเดียว ในการค่อยๆ สร้างเหตุผล ให้การทำลายข้อจำกัดของเนื้อหา หรือตัวละคร มันไปในทิศทางที่ดี ซึ่งจุดนี้ สามารถเทียบเคียง Breaking Bad ได้ไม่เคอะเขิน

การทำลายข้อจำกัดต่างๆ ของตัวละคร ถือเป็นหมัดเด็ดอันนึงที่ SOA ทำได้สม่ำเสมอ
(Source : ltl.cat)

คาแรกเตอร์ตัวละคร

ที่ต้องเอามาพูดแยก เพราะการสร้างคาแรกเตอร์ ถือเป็นหมัดเด็ดสำคัญของ SOA โดยซีรีส์สามารถดูแลทุกตัวละครหลัก ให้เซอร์วิสคนดูได้คุ้มค่า และนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ส่งผลดีต่อมวลรวมของเนื้อหา

เหนือสิ่งอื่นใด จุดเด่นของ SOA คือการใช้ศักยภาพของตัวละครอย่างเต็มที่
(Source : Entertainment Weekly)

ตลอดการชม SOA ของคุณ จะมีความรู้สึกชอบตัวละครแทบทุกตัว ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของเนื้อเรื่อง โดยความชื่นชอบ ไม่ได้มีแค่เพียงภาพลักษณ์ที่เรามองเห็นด้วยตา แต่ยังเป็นที่มาที่ไปข้างใน ซึ่งมันทำให้รู้สึกสมเหตุสมผลจนชื่นชอบเรื่องราว โดยไม่รู้ตัว

ฟังแบบนี้ อาจจะรู้สึกว่าทุกตัวต้องมีปมที่สร้างความเคร่งเครียดในการรับชม แต่ความจริงแล้ว มันก็ยังมีมิติอื่นๆ ที่พาเราให้เกิดความบันเทิงกับคาแรกเตอร์ต่างๆ ได้อีกหลายประเด็น ทั้งนิสัยใจคอ, แง่มุมเบาๆ หรือบทสนทนาที่เข้าขากันของนักแสดง ดังนั้นไม่ต้องกังวลตรงจุดนี้

ตัวละครทั้งหลัก และเสริม มีแนวทางของตัวเอง ไม่สุดโต่งเกิน และมีเหตุมีผล
(Source : Sporcle)

อยากบอกให้รู้ก่อนชม

เรื่องแรกคงเป็นการ “เปิดใจ” เพราะผมเองก็เคยมีปัญหาตอนแรก กับรูปลักษณ์ของซีรีส์ ที่ไม่ชวนให้เราอินเท่าไหร่เมื่อแรกพบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “แกงค์มอเตอร์ไซด์” หรือ “ความอเมริกันจ๋า” ซึ่งมันสัมผัสได้ก่อน

ภาพลักษณ์แว้บแรก ทั้งเรื่องแกงค์มอ’ไซด์ และความเป็นอเมริกัน อาจทำให้คุณมีอคติ
(Source : An Inanimate F*cking Blog)

แต่อย่างที่รีวิวไป รายละเอียดของซีรีส์ ไม่ได้ยึดมั่นตรงจุดนั้นเลย SOA มีความครอบคลุมในเนื้อหาที่ประกอบเป็นเรื่องราวชั้นดี โดยไม่ได้เน้นการไล่ล่าบนเบาะฮาเลย์ หรือความเป็นอเมริกันเต็มขั้น แบบที่เราอาจจะไม่ชื่นชอบจากหนังเรื่องอื่น

หนังมีความแมสในตัวมากกว่าที่คิด เพราะมีเรื่องราวของความเป็นคน และแรงขับเคลื่อนภายในของตัวละคร ที่ทำให้เราสัมผัสได้ลึกกว่าภาพลักษณ์แรกที่เราเห็น

ความดิบระดับ 18+ หรือ 20+ เป็นอีกอย่าง ที่ทำให้ซีรีส์ไม่ได้เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย
(Source : LADbible)

อีกอย่าง คือเรื่องของความดิบ ที่ไม่รู้จะเรียกว่า 18+ หรือ 20+ ดี เพราะแม้เนื้อหาจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกเพศทุกวัย SOA ค่อนข้างแมนเอามากๆ แมนในแบบที่พอดูแล้ว คุณจะอยากเดินไปหยิบเบียร์ในตู้เย็นมาจิบไปดูไป (ไม่เชื่อลองดู!)

ดังนั้น หากคิดจะชวนแฟน หรือเพื่อนสาวมาชม คุณอาจจะต้องเตรียมใจไว้ก่อน ว่าฉากดิบๆ เนื้อหาแมนๆ อาจจะเป็นกำแพงของพวกเธอได้พอสมควร

บทสรุปรีวิว

ส่วนตัวผมว่า “Sons of Anarchy” กลมกล่อม และครบถ้วน ความเฉียบคมในจุดสำคัญ อาจจะยังเป็นรอง “Breaking Bad” แต่หากมองความสม่ำเสมอ SOA ทำได้ไม่เป็นรอง เผลอๆ จะดีกว่าด้วยซ้ำไป

ความเข้มข้นสม่ำเสมอของเนื้อหา ทำให้ซีรีส์ไม่แผ่ว และดูเพลินต่อเนื่อง
(Source : Wealthy Gorilla)

การสร้างคาแรกเตอร์เป็นจุดเด่นที่คุณจะหลงรัก เพราะมันทำให้คุณชื่นชอบตัวละครได้มากกว่า 3-4 ตัว อย่างแน่นอน ติดตามสนุกกับการใช้ตัวละครได้คุ้มค่า ครบเครื่องในทุกด้าน

ที่แนะนำให้ชมกัน เพราะบ้านเรา ไม่ค่อยมีใครพูดถึง SOA เท่าไหร่ ยิ่งตอนนี้ดูได้ผ่าน Netflix แม้จะมีซีซัน 4 ที่มีปัญหาเรื่องซับไทยหาย (ไม่แน่ใจว่าแก้ไขหรือยัง) แต่ทุกซีซัน ทุก EP มีให้ชมครบถึงบ้าน

ทุกซีซันสามารถดูได้บน Netflix รับรองเลย ว่าคุณจะไม่ผิดหวังกับแกงค์นี้
(Source : The Mercury News)

นั่งจิบเบียร์ เตรียมตัวเตรียมใจ!
“Sons of Anarchy” จะกลายเป็นซีรีส์ขึ้นหิ้งที่คุณจำไม่ลืม คอนเฟิร์ม!

คะแนน : 9/10 สำหรับภาพรวมทั้งหมด ดูไปพร้อมจิบเบียร์ รับรองเพลิน!

Picture : Wallpaperflare, HD wallpapers, CinemaBlend, Sons of Anarchy (Blogspot), Screen Rant, Pop Culture, magich0urs – LiveJournal, Twitter, Rolling Stone, An Inanimate F*cking Blog, Entertainment Weekly, Cultured Vultures, Sporcle, ltl.cat, Wealthy Gorilla, LADbible, The Mercury News

Trailer : YouTube (Sinovi Anarhije)

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

1 Comment

  1. 09/08/2022 at 18:39

    […] อ้างจากแหล่งที่มา: … […]

Comments are closed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save