"เปลี่ยนมือถือทุกปี" คุ้มกว่า "ใช้จนพัง" จริงดิ? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
“เปลี่ยนมือถือทุกปี” คุ้มกว่า “ใช้จนพัง” จริงดิ?

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งมักจะเปลี่ยนมือถือทุกปีโดยให้เหตุผลว่าต่อให้เราไม่เปลี่ยนมือถือ ราคาของมือถือก็จะตกลงอยู่ดี การเปลี่ยนมือถือเป็นประจำทุกปี นอกจากจะได้อัพเดทเทคโนโลยีใหม่แล้ว ยังคุ้มค่ากว่าเพราะสุดท้ายราคาของมือถือที่เราใช้ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ขาดทุนเท่ากับคนที่ไม่เปลี่ยนมือถือเหมือนกัน

ราคาที่ด้อยค่าลงไปนี้เรามักรู้จักกันดีในชื่อ “ค่าเสื่อม” เมื่อเวลาผ่านไป มูลค่าของสิ่งของที่ใช้จะลดลงไปตามสภาพการใช้งาน เรานิยมใช้ค่าเสื่อมมาคิดคำนวณเวลาจะซื้อขายสินค้าต่อหรือสินค้ามือสอง ทางเศรษฐศาสตร์ค่าเสื่อมมีความสำคัญในแง่ของการตีความมูลค่าที่เกี่ยวข้องกับเวลา แต่ในชีวิตจริงค่าเสื่อมมักถูกตีตราในแง่ของราคาที่วัดผลได้

ในความจริงแล้วระหว่างการ “ซื้อเปลี่ยนมือถือใหม่ทุกปี” กับ “การใช้เครื่องเดิมไปก่อน” (จนกว่าจะเปลี่ยนหรือพัง) แบบไหนกันแน่ที่จะมีค่าเสื่อมหรือมีการขาดทุนในเชิงตัวเลขที่สามารถประเมินออกมาเป็นความคุ้มค่าสำหรับการเลือกตัดสินใจเพื่อเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน

แบบไหนกันแน่ที่คุ้มค่ากว่ากัน ?

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น 

ค่าเสื่อมลดลงจริงหรือ?

มือถือโดยเฉพาะสมาร์ทโฟนนั้นเมื่อมีรุ่นใหม่วางตลาด รุ่นเก่าก็ย่อมมีราคาขายมือสองตกฮวบไปตามความความล้าสมัยที่รุ่นใหม่ดันให้รุ่นเก่ามีอันต้องตกรุ่นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าเป็นค่ายผลไม้จะมีอัตราราคามือสองที่ตกน้อยที่สุดกว่าค่ายอื่น โดยจะมีราคาตกไปราว 8,000 – 10,000 บาท ส่วนค่ายเกาหลีขายดีจะตกหนักกว่าด้วยมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาแจกแถมบ่อยครั้ง ซึ่งจะมีราคาตกไปราว 10,000 – 15,000 บาท โดยสองค่ายนี้จะขายต่อมือสองได้ง่ายกว่าค่ายอื่นจากปัจจัยด้านศูนย์บริการ ความนิยม ความต้องการที่มากกว่าค่ายอื่นพอสมควร

ส่วนค่ายมือถือยอดนิยมจากจีนนั้นต้องทำใจกับราคามือสองที่ตกฮวบฮาบชนิดที่เห็นราคาแล้ว อาจจะเปลี่ยนใจเก็บไว้ใช้ต่อ โดยมีอัตราราคาตกสูงมากถึง 20,000 บาทในบางรุ่น ด้วยว่าศูนย์บริการ ความนิยม ยังเป็นรองค่ายผลไม้และค่ายเกาหลี

มองกันแบบผิวเผินแล้ว สมมติว่าค่าเสื่อมมือถือตกปีละ 10,000 บาท ถ้าซื้อมือถือรุ่นท้อปมาในราคา 40,000 บาท เท่ากับว่าราคามือสอง …
ผ่านไป 1 ปี ราคาจะเหลือ 30,000 บาท
ผ่านไป 2 ปี เหลือ 20,000 บาท
ผ่านไป 3 ปี เหลือ 10,000 บาท

ในทางกลับกัน ถ้าเรายังใช้มือถือเครื่องเดิมไปเรื่อยๆ
ผ่านไป 1 ปี ราคาจะเหลือ 30,000 บาท
ผ่านไป 2 ปี เหลือ 20,000 บาท
ผ่านไป 3 ปี เหลือ 10,000 บาท

ถ้ามองผิวเผิน ดูจะไม่มีความแตกต่างกันเลย มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่เรามองไม่เห็นกันนะ?

ต้นทุนล่องหน

จริงอยู่ที่ค่าเสื่อมของการซื้อมือถือใหม่กับการใช้เครื่องเดิมต่อไปจะเท่าเดิม แต่การซื้อมือถือใหม่ทุกปี เท่ากับคุณต้องควักเงินเพิ่มเติมในส่วนของค่าเสื่อมที่หายไปเพื่อ “ซื้อเครื่องใหม่”

ลองคิดดูว่ามือถือราคา 40,000 บาท ใช้ไป 1 ปี ราคาขายเหลือแค่ 30,000 บาท รุ่นใหม่ที่ออกราคา 40,000 บาท เท่ากับเราสูญเสียเงินไปแล้ว 10,000 บาทจากค่าเสื่อม แล้วยังต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 10,000 บาท เพื่อซื้อเครื่องรุ่นใหม่ สรุปก็คือเงินที่เราจะใช้เพื่อซื้อเครื่องใหม่มีมูลค่าถึง 20,000 บาท

ในขณะที่เราเลือกใช้มือถือเครื่องเดิมไป ต่อให้ราคามือสองจะลดลงไปตามค่าเสื่อมก็ตาม แต่เราไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องใหม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นของมือถือใหม่ (ซึ่งจะกล่าวต่อไปด้านล่าง)

* การคำนวณนั้นคิดจากราคาเต็มของราคามือถือ ซึ่งอาจมีราคาที่ถูกกว่าราคาขายจริง จากโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เงินคืนจากบัตรเครดิต

“ในขณะที่เราเลือกใช้มือถือเครื่องเดิมไป ต่อให้ราคามือสองจะลดลงไปตามค่าเสื่อมก็ตาม แต่เราไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องใหม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นของมือถือใหม่”

ค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น

การเปลี่ยนมือถือรุ่นใหม่แต่ละครั้งจะมีต้นทุนแฝงมาด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่หลายคนลืมคำนวณคิดรวมลงไปด้วย มือถือเครื่องใหม่ที่เราได้มานั้นจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เสริมมาใช้ควบคู่กันไปด้วย อย่างแรกหนีไม่พ้นฟิล์มกันรอยหน้าจอ หากเป็นรุ่นทั่วไปราคาหลักร้อย แต่ถ้าเป็นรุ่นฟิล์มกระจก UV อย่างดีก็มีราคาสูงถึงเกือบ 2,000 บาท

เคสสำหรับใส่เพื่อป้องกันเครื่องก็เป็นอุปกรณ์ลำดับสองที่ต้องหาซื้อมาช่วยเพิ่มการปกป้องการตกหล่น รอยขีดข่วน หรือเพิ่มความสวยงามตามใจผู้ใช้งาน โดยมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน สำหรับอุปกรณ์อื่นๆที่ต้องมีการซื้อเพิ่มก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคน อาทิเช่น พาวเวอร์แบงค์สำหรับชาร์ตไฟ สายชาร์ต แท่นชาร์ตไร้สาย

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีในส่วนของการซื้อประกันอุบัติเหตุให้กับมือถือหากเกิดปัญหาทำเครื่องตกจอแตก หาย เพื่อลดความเสี่ยงกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นจริง ค่าเบี้ยประกันก็มีตั้งแต่หลักเกือบพันไปจนถึงเกือบสองพันบาท

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ถ้าคิดรวมกันแล้วจะมีมูลค่ารวมถึง 7 – 8,000 บาทกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ยังไม่คิดรวมอุปกรณ์ที่ซื้อหลังจากใช้งานไปได้สักพักด้วย ตัวอย่างเช่น ใช้ไปแล้วฟิล์มหน้าจอใช้งานไม่ดี เคสใช้งานไม่ถนัดอย่างที่คิด ก็ต้องซื้อเปลี่ยนอีก ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมเบี้ยใบ้รายทางสูงไปเรื่อยๆ

ราคามือสองสยองจริง

เคยได้มีโอกาสคุยกับหลายคนที่คิดเข้าข้างตัวเองเวลาจะได้ซื้อเปลี่ยนมือถือใหม่มักจะดีใจที่เครื่องเก่านั้นขายมือสองได้ เท่ากับว่าเครื่องใหม่จ่ายแค่ส่วนต่างจากเงินที่ได้จากการขายเครื่องเก่า

แต่ทว่าความจริงของตลาดมือสองนั้นมีความโหดร้ายแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่

ราคาขายของเครื่องมือสองนั้นจะผันผวนสูงตามปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพเศรษฐกิจ โปรโมชั่นสุดโหดจากร้านค้า ความนิยมลดลง ฯลฯ เหตุเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อราคาขายมือสองอย่างมาก จนทำให้ราคาที่คาดหวังเอาไว้ไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งใจ

แถมเครื่องที่เราใช้นั้น หากไม่ได้ดูแลรักษาดีเท่าที่ควร อุปกรณ์ในกล่องเก็บไม่ครบ ประกันใกล้หมด ก็ยิ่งส่งผลต่อราคาขายต่อชนิดที่เรียกว่าโดนกดราคาจากผู้ซื้อหรือร้านตู้จนสะเทือนใจน้ำตาไหลรินเป็นสายธารา

ดังนั้น เราจึงควรศึกษาความเสียหายของราคาที่หายไปจากการขายมือสองก่อนการตัดสินใจเลือกขายหรือเปลี่ยนมือถือใหม่ บางคนอาจจะทำใจกับราคามือสองไม่ได้ จนเก็บไว้เป็นเครื่องสำรอง หรือยกให้คนในครอบครัวไว้ใช้ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ หากมีงบประมาณมากพอในการซื้อเครื่องใหม่

ราคาขายต่อมือสองที่ตกน้อยก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้หลายคนเลือกซื้อมือถือบางค่ายบางแบรนด์เพราะซื้อง่ายขายคล่อง มีต้นทุนในการเป็นเจ้าของที่น้อยกว่า จึงทำให้ได้รับความนิยมมากกว่านั่นเอง

กับดักบัตรเครดิต

ภาพลวงตาอีกประการหนึ่งของการผ่อนชำระรายเดือนที่นิยมการผ่อนกับบัตรเครดิตนั้นมักจะเป็นปัญหาการลืมคิดคำนวณว่าเงินที่ต้องจ่ายให้กับบัตรเครดิตแบบแบ่งผ่อนชำระนั้น ถึงแม้ค่าเครื่องมือถือจะคิดเป็นรายเดือนยอดไม่สูงมาก แต่เป็นการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้

ถ้าคุณมีเงินเก็บอยู่แล้วก็ไม่ถือว่าปัญหาแต่ประการใด แต่ถ้าคุณไม่มีเงินออมเก็บไว้ ในอนาคตวันหนึ่งคุณเกิดมีปัญหาต้องใช้เงิน เงินที่หักขั้นต่ำนั้นก็อาจจะมีประโยชน์ไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินได้

ยอดที่ต้องจ่ายรายเดือนให้บัตรเครดิตแม้จะไม่สูงมากแต่มีหลายคนที่ไม่เคยคิดคำนวณว่ายอดรวมทั้งหมดที่แท้จริงของการลงทุนซื้อมือถืออาจจะสูง ตัวเลขที่ไม่มากแสดงบนรายการสรุปค่าใช้จ่ายรายเดือนบัตรเครดิตจะทำให้เรารู้สึกว่าจ่ายไม่แพง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการผ่อนแบบที่คิดดอกเบี้ย

กลุ่มไหนที่เปลี่ยนมือถือทุกปีแล้วคุ้ม

คนที่เหมาะจะเปลี่ยนมือถือทุกปีนั้นมักจะเป็นกลุ่มนวัตกร (Innovator) เป็นกลุ่มที่ชอบเทคโนโลยี อยากใช้ได้สัมผัสนวัตกรรมใหม่ก่อนใคร ซึ่งอาจจะเป็นคนที่มีอาชีพด้านการรีวิวเป็น YouTuber หรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลด้านความคิด (Influencer) ซึ่งจะมีกำลังซื้อสูงสามารถเปลี่ยนมือถือได้บ่อย

กลุ่มนี้จะไม่ค่อยประสบปัญหากับค่าใช้จ่ายหรือค่าเสื่อมที่สูญเสียไปเพราะจะเปลี่ยนมือถือถทุกปี (หรือบ่อยกว่านั้น) ดังนั้นค่าเสื่อมที่หายไปของแต่ละเครื่องจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ จึงเป็นกลุ่มที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนช้าหรือเร็วก็จะไม่ขาดทุนเท่าไรนัก ด้วยอาจมีรายได้จากการใช้งานเพื่อใช้ทำงานหาเงินมาช่วยอีกทางหนึ่ง

จะว่าไปการเปลี่ยนมือถือบ่อยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแล้วมีรายได้จากการเปลี่ยนมือถือนั้นก็ถือว่าคุ้มค่า ซึ่งหากยิ่งเป็นคนที่มีรายได้ดีมีฐานะการจะเปลี่ยนมือถือบ่อยยังไงก็ได้นั้นไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนเงินในกระเป่า แต่จากประสบการณ์ที่ได้เจอคนรวยมา คนรวยกลับไม่ค่อยเปลี่ยนมือถือบ่อย แต่กลับใช้ไปจนกว่าจะพังแทน นั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่คนรวยมีเงินเหลือก็เป็นได้

ส่วนมากเมื่อได้เครื่องรุ่นใหม่ก็มักจะปล่อยเครื่องเก่าในราคาน่าซื้อ ใครที่อยากได้ราคามือสองสภาพดีก็ให้รอตามเก็บจากบุคคลเหล่านี้ได้เลย

เมื่อไรควรเปลี่ยนมือถือดี?

คนที่มีกำลังซื้อสูงพอมีฐานะอยู่แล้ว การเปลี่ยนมือถือทุกปีคงไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่หากคุณมีรายได้จำกัด การเลือกซื้อมือถือสักเครื่องมาใช้แทนเครื่องเก่า อาจจะต้องเลือกตามงบประมาณ ความชอบ ราคา โปรโมชั่น ของแถม สำหรับคนที่ต้องซื้อมือถือมาใช้งานมีเงินมีรายได้ต่อให้มีราคาแพงก็ถือว่าเป็นอุปกรณ์ใช้ทำมาหากิน ถ้าซื้อมาเพียงเพราะความอยากได้อยากมี ซื้อมาอวดกัน ซื้อมาเพราะของมันต้องมี แบบนี้ เป็นการสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

ความพึงพอใจต่อการใช้จ่ายเป็นสิทธิส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครจะซื้อมาใช้อย่างไรก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หากซื้อมาแล้วต้องลำบากตนเอง กู้หนี้ยืมสิน กินมาม่า การมีมือถือเหล่านี้ก็จะกลายเป็นภาระในระยะยาว

“ถ้าซื้อมาเพียงเพราะความอยากได้อยากมี ซื้อมาอวดกัน

ซื้อมาเพราะของมันต้องมี แบบนี้ เป็นการสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้”

การเปลี่ยนมือถือจึงควรดูปัจจัยหลายด้านประกอบเพื่อให้การตัดสินใจเปลี่ยนมือถือเป็นเรื่องของเหตุผลมากกว่าอารมณ์เพียงอย่างเดียว ถ้ามีงบมากรายได้สูงจะเปลี่ยนบ่อยแค่ไหนก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด แต่หากมีงบจำกัดหรือเป็นคนที่รู้จักการบริหารใช้เงิน รอซื้อตอนตกรุ่น ช่วงมีโปรโมชั่นพิเศษ หรือใช้เครื่องเดิมไปก่อน

สุดท้ายแล้วคนที่ใช้มือถือไปกว่าจนกว่าจะพังเป็นคนที่มีเงินเหลือเก็บมากที่สุด การเปลี่ยนมือถือทุกปีไม่ได้ประหยัดกว่าเพราะมีความเชื่อที่ว่าค่าเสื่อมตกลงทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากมายที่มักจะลืมคำนวณคิดกัน

รวมถึงต้องระมัดระวังสื่อต่างๆจากยุคใหม่ที่พยายามสร้างความอยากได้อยากมีให้เกิดขึ้นตลอดเวลา การบริโภคเสพสื่อจึงจำเป็นต้องอาศัยสติเพื่อป้องกันให้เงินในกระเป๋าของคุณยังคงมีเหลือไว้ในลงทุนหรือจะออมไว้ในยามจำเป็นฉุกเฉิน การหาเงินได้เก่ง หากบริหารเงินไม่เป็น ต่อให้มีมากก็ยากจนได้เช่นกัน

 


ขอบคุณภาพประกอบจาก
Special Thanks

Rahul Chakraborty
Robin Worrall
Raw Pixel
Sharon Mccutcheon
pixabay.com

Macha
หนุ่มสายมินิมอล ผู้ชื่นชอบการถ่ายรูป | เล่นเกม | อ่านหนังสือ | งานเขียน | การตลาด | เศรษฐศาสตร์ | และชาเขียว

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save