เที่ยว Slow Life 4 ภาค พักจากวันรีบๆ - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
เที่ยว Slow Life 4 ภาค พักจากวันรีบๆ

ความ Local หรือวิถีชีวิตบ้าน ๆ  แท้จริงแล้วคือจุดเด่นในแบบไทย ๆ ที่ไม่มีใครเหมือน และมักจะมาพร้อมกับชีวิตแบบ Slow Life หรือชีวิตแบบช้า ๆ ไม่เร่งรีบ แต่กลับมีความสุขมากขึ้น เพราะเราได้สังเกต เฝ้ามอง ผู้คน ชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม เหมือนกับเรื่องราวของผมในครั้งนี้กับ “เที่ยว Slow Life 4 ภาค พักจากวันรีบๆ

1. ภาคกลาง : บางนกแขวก บนดินแดนที่เล็กที่สุดในไทย | สมุทรสงคราม

ดินแดนที่เล็กที่สุดในไทยตามชื่อเรื่อง ไม่ต้องไปไหนไกลครับ คำตอบคือ “สมุทรสงคราม” จังหวัดเล็กสุดในประเทศมีแค่ 3 อำเภอ ได้แก่ เมือง อัมพวา และบางคนที เอาเป็นว่าถ้าวัดเป็นกิโลเมตร แบบตีเส้นตรง ทั้งจังหวัดจะยาวไม่เกิน 50 กม. แต่ที่นี่เป็นแบบเล็กพริกขี้หนูนะครับ เพราะเต็มไปด้วยความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอยู่มากมาย

หนึ่งในนั้นคือ “บางนกแขวก อำเภอบางคนที” ชุมชนเก่าริมแม่น้ำแม่กลองที่ยังคงความสวยงาม และเงียบสงบไว้ได้อย่างดี เรือนแถวไม้ริมน้ำก็ยังคงสภาพเดิมอยู่มาก อาจจะมีบางหลังที่ก่อสร้างเป็นปูนเพื่อความแข็งแรงมากขึ้น แต่บรรยากาศโดยรวมคือดีมาก เหมาะแก่การพักผ่อน นั่งเล่นมองแม่น้ำแม่กลองใส ๆ ไหลแบบ Slow Life ก็มีความสุขแล้ว

ที่สำคัญมาถึงที่นี่ “ต้องกินข้าวแห้ง” เป็นอาหารที่ดัดแปลงมาจากข้าวต้มทั่วไป แต่จะเอาน้ำออกให้หมด เหลือเพียงข้าว ที่สำคัญต้องเป็นข้าวนึ่ง (ถ้าเป็นข้าวหุงจากหม้อไฟฟ้าจะไม่อร่อย) แล้วไส่หมูสับ ปาท่องโก๋ชิ้นเล็ก ๆ โรยหน้าด้วยผักชีและกระเทียมเจียว

เหตุที่มีเมนูข้าวแห้งนี้ขึ้นมา เพราะอดีตคนในชุมชนมีทั้งคนไทยและคนจีน ต้องใช้แรงงานเพื่อขนถ่ายสินค้าอยู่เสมอ ทำให้การกินข้าวต้มทั่วไปไม่อิ่มและไม่อยู่ท้อง จึงเอาน้ำร้อนออก แล้วนึ่งข้าวให้ฟู ๆ ใส่ข้าวเยอะ ๆ ส่วนเครื่องเคียงก็ยังคงใช้แบบเดียวกับข้าวต้มเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเสน่ห์ของชุมชนบางนกแขวกที่ผสมสานได้อย่างลงตัว

ไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมี “วัดเจริญสุขาราม” สถานที่เคารพสักการะของชาวพุทธ และแฝงด้วยประวัติศาสตร์สงครามโลก ครั้งที่ 2 จากการที่ญี่ปุ่นทิ้งระเบิดเพื่อปิดกั้นประตูน้ำ ต่อมามีการขุดพบระเบิดลูกนี้ที่ด้านแล้วในคลองบางนกแขวก และนำมาจัดตั้งภายในวัด เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นด้วย

Catholic church andblue sky in Amphawa,Samutsongkram province

ที่นี่ชุมชนมีหลากหลายมาก รวมถึงไปถึงจุดเช็กอินตรงนี้ “โบสถ์บางนกแขวก หรือชื่อเต็ม ๆ คืออาสนวิหารแม่พระบังเกิด” ของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เชื่อว่าสิ่งแรกที่ทุกคนเห็นคือ ความยิ่งใหญ่ริมแม่น้ำแม่กลอง แต่หากลงรายละเอียดไปอีกหน่อย ก็จะรู้ว่าสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2433 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้ว่าโบสถ์จะมีอายุมากกว่า 130 ปีแล้ว ทุกอย่างยังคงดูสวยงามและได้รับการดูแลเป็นอย่างดี สมกับที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของคริสต์จักรคาทอลิคของภาคใต้และภาคตะวันตกของบ้านเรา

…เล็กพริกขี้หนู แถมมีเสน่ห์อย่างที่คาดไม่ถึงจริงๆ กับเมืองสมุทรสงครามแห่งนี้

2. ภาคตะวันออก : ค้นหาของเก่า กลางเมืองแกลง | ระยอง

ผมชอบขับรถไปในเส้นทางรอง โดยเฉพาะเส้นทางนี้ “เมืองแกลง จังหวัดระยอง”  อำเภอนี้เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ถึงวันนี้ก็มีอายุกว่า 110 ปี กับเสน่ห์แบบเมืองเก่าที่ซ่อนอยู่ริมทะเลแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านไม้เก่า ๆ ที่มีอายุเกือบร้อยปี และวิถีชีวิตแบบชาวบ้านธรรมดาที่คนทั่วไปไม่ค่อยเห็นกัน

ไม่นานนักจะพบกับ “ทุ่งโปรงทอง” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านและองค์กรท้องถิ่นช่วยกันฟื้นฟูแหล่งป่าเสื่อมโทรมในอดีต ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวป่าชายเลนใหญ่ที่สุดในระยอง ปัจจุบันนี้จึงเต็มไปด้วยต้นแสม โกงกาง แต่ที่เป็นดาวเด่นก็คือ “ต้นโปรง” เพราะยามที่แสงแดดส่องลงมาจะตกกระทบกับใบสีเหลืองๆ ของต้นนี้ กลายเป็นสีทองเหลืองอร่ามไปทั่ว จึงเป็นที่มาของชื่อที่นี่นั่นเอง

Wooden walkway bridge surrounded with Ceriops Tagal field in mangrove forest, it called “Tung Prong Thong” located at Rayong, Thailand.

อีกจุดหนึ่งที่ถือว่าคลาสสิคมากๆ ของเมืองแกลงคือ “พิพิธภัณฑ์บ้านครูกัง” แหล่งรวบรวมของเก่า ของสะสมที่หายากของอำเภอ อายุของเหล่านี้น่าจะอยู่ที่ 40 – 80 ปี รวบรวมโดย “ครูกัง” ข้าราชการเกษียณที่เนรมิตพื้นที่เปล่า ๆ ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ห้องแถวไม้ 2 ชั้น แล้วบรรจุของเก่าระดับตำนานนับพัน ๆ ชิ้นไว้อย่างเป็นระเบียบ ตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ อย่างแก้วน้ำ ไปจนถึงของใหญ่ ๆ อย่างรถสองแถว ลงมือจัดเป็นร้านค้าต่าง ๆ จำลองช่วงเวลาในอดีตไว้ได้อย่างน่าดู เช่น ร้านตัดผม ร้านถ่ายรูป ร้านขายของชำ โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ผมเองอดสงสัยไม่ได้ว่าเพราะอะไร? จึงทำให้ครูกังจัดทำแหล่งเรียนรู้ที่สุดยอดแบบนี้ขึ้นมา แกตอบผมสั้นๆ ว่า “…ไม่อยากเก็บไว้ดูคนเดียวครับ”

เป็นคำตอบสั้น ๆ แต่ได้ใจความมาก (ฮา) แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงน้ำใจและความตั้งใจที่ดี ที่จะถ่ายทอดภาพอดีตอันสำคัญ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เรื่องราวของเมืองแกลง รวมไปถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และหาดูไม่ได้ในปัจจุบันแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า “อำเภอแกลง” มีเสน่ห์แบบวินเทจที่ไม่ค่อยเหมือนใคร ทั้งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติที่สวยงาม ผู้คนที่เป็นมิตร จริงใจ

…พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวเหมือนญาติคนหนึ่งที่มาเยี่ยมบ้านจริงๆ

3. ภาคใต้ : เที่ยวริมเล เดินเล่นถนนสู้ศึก สงบงามที่เมือง 3 อ่าว (ประจวบคีรีขันธ์)

จังหวัดที่มีภูเขาสวย ๆ และทะเลสงบ ๆ รวมอยู่ด้วยกันแบบลงตัว ผมขอยกให้ “ประจวบคีรีขันธ์” เป็นหนึ่งในลิสต์เลย

สายปั่นจักรยานอย่างผม จึงขอเริ่มความชิลล์ด้วยการปั่นจักรยานเลียบทะเลให้สมกับฉายาเมือง 3 อ่าวสักหน่อย นั่นคือ “อ่าวประจวบ อ่าวมะนาว และอ่าวน้อย” พร้อมกับเดินเล่นบน “สะพานสราญวิถี” สีแดงสดใสทอดยาวลงไปในทะเล คนพื้นที่เรียกกันว่าสะพานปลาประจวบ ปัจจุบันก็ยังเป็นที่จอดเรือประมง แต่ด้วยความสวยงามของสะพาน ผมจึงมองว่าเป็นสะพานปลาที่เหมาะแก่การถ่ายรูปมากๆ (ฮา)

แต่ก่อนที่จะไปเที่ยวกันต่อกันต่อ ต้องไปกินกาแฟริม “อ่าวมะนาว” ที่ชื่อว่า “Cowboy Wing 5” ความพิเศษของที่นี่คือ “มีบริการให้ขี่ม้าด้วย” ถือว่าเป็นไอเดียสร้างสรรค์ที่ดีมาก โดยจุดนี้อยู่ในความดูแลของกองบิน 5 กองทัพอากาศ อ่าวมะนาวจึงสวยสะอาดตา ซึ่งในอดีตพื้นที่นี้ยังเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจะมีพิพิธภัณฑ์และเครื่องบินที่ใช้ในประวัติศาสตร์ครั้งนั้นจัดแสดงอยู่บริเวณเขาล้อมหมวกด้วย

สองข้างทางเลียบชายทะเลนี้จะมีชุมชนชื่อว่า “คลองวาฬ” ที่ยังใช้ชีวิตแบบชาวเลไว้ได้อย่างดี ในอดีตจะเห็นวาฬว่ายไปมาในทะเลอยู่บ่อย ๆ แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมาเท่าไร อาจเป็นเพราะโลกที่เปลี่ยนไป แต่ถ้ามองถึงความอุดมสมบูรณ์แล้ว ผมว่าภาพรวมยังดูดีอยู่มาก สังเกตได้จาก “สะพานปลาคลองวาฬ” ที่มีเรือประมงมาจอดทุกเช้าเย็น พร้อมกับปลาเต็มลำ ถูกใจก็ซื้อกันสด ๆ กลับบ้านได้เลย

วันนี้ตรงกับคืนวันเสาร์ต้นเดือนพอดี ผมจึงไม่พลาดกับ “ถนนคนเดินสายวัฒนธรรมสู้ศึก” เอกลักษณ์ของถนนเส้นนี้มีอดีตที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน บ้านเรือนต่าง ๆ ก็ยังคงแบบดั้งเดิมไว้ สำหรับบ้านไม้ที่เป็นไฮไลท์ก็คือ “ฮาจิ บ้านขนมปัง” ที่มีอายุกว่า 80 ปี ภายในร้านตกแต่งแบบวินเทจ พร้อมกับมีขนมปังโฮมเมดอร่อย ๆ พร้อมเสิร์ฟ และจักรยานให้เช่าไว้ปั่นเล่นเลียบชายทะเลเมือง 3 อ่าวแห่งนี้ด้วย

เสียดายที่ผมมาถึงร้านนี้แล้ว และขนมปังขายหมดเกลี้ยงไปเรียบร้อย (แนะนำว่าต้องมาก่อนเที่ยง) แต่ถือว่าการเดินทางในครั้งนี้ได้ครบทุกรสชาติความประทับใจในเมือง 3 อ่าวที่มีครบครันทั้งทะเลและภูเขา

…ยังเป็นจังหวัดที่ผมต้องมาเยือนอีกหลายครั้งอย่างแน่นอน

4. ภาคเหนือ : แอ่วเมืองแป้ แลสถานีรถไฟบ้านปิน (แพร่)

จังหวัดที่เป็นรอยต่อระหว่างภาคต่างๆ ของประเทศไทย ผมว่ามีเสน่ห์นะครับ เหมือนครั้งนี้ที่ผมเดินทางมา “แพร่” นับเป็นประตูแห่งดินแดนล้านนาตะวันออก ก่อนจะไปเจอกับจังหวัดน่าน พะเยา ต่อเนื่องไปถึงเชียงราย

ความคดเคี้ยวของเบาๆ ของเขาพลึงประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร จากอุตรดิตถ์ก่อนถึงแพร่ ทำให้ถนนหมายเลข 11 นี้สวยงามไม่แพ้ที่ไหน และเมื่อถึงอำเภอเด่นชัยก็หมายความว่า ถึงเมืองแป้โดยสมบูรณ์ (ทำเสียงสำเนียงคนเหนือเจ้า)

ทันใดนั้นสายตาผมก็มองไปเห็นวัดแปลกตาขนาดใหญ่ ที่ชื่อว่า “วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม” สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เจ้าอาวาสได้นำพุทธศิลป์จากพม่า จีน ลาว มาตกแต่งแบบศิลปะล้านนาประยุกต์ ถือว่าเป็นพระประธานกลางแจ้งที่สวยงามและใหญ่สุดในแพร่ ด้านในก็ยังมีอนุสาวรีย์ทหารอยู่ใกล้กับรูปปั้นพระองค์ใหญ่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานทหารที่ได้เข้ามาทำนุบำรุงวัดแห่งนี้มาโดยตลอด ถือเป็นประติมากรรมแปลกตาและไม่เห็นอยู่บ่อยนัก

ไม่ไกลกันนักก็มี “หมู่บ้านแม่ปาน” ที่รายล้อมไปด้วยหมู่บ้านและวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ในแบบคนแพร่ บางช่วงก็ลัดเลาะเนินเขาเตี้ยๆ (เหมาะกับการปั่นจักรยานชมวิว) ผ่ากลางแม่น้ำยมที่อุดมสมบูรณ์ ทุกอย่างดูเพลินตาทำให้ระยะทาง 10 กม. ที่ผ่านมานี้ดูไม่ไกลเลย

ผมแวะมาหยุดพักที่ “อำเภอลอง” เมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ตั้งแต่คำว่า “เมืองแพร่แห่ระเบิด” ซึ่งความเป็นจริงคือการนำของมาดัดแปลงมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือลูกระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ตกลงมาแต่ไม่ระเบิด ชาวบ้านนำดินปืนออกมาทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย และเห็นว่าลูกระเบิดที่ทำจากเหล็กนี้เสียงก้องกังวานดีมาก จึงช่วยกันขนและแห่กันไปถวายวัด เพื่อทำเป็นระฆังให้พระสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์ โดยตั้งอยู่ที่ “วัดพระธาตุศรีดอนคำ” จนถึงปัจจุบัน และยังมีอีก 2 ลูกอยู่ที่วัดแม่ลานเหนือและวัดนาตุ้ม ตามลำดับ

อีกหนึ่งงานมาสเตอร์พีชอีกชิ้นของเมืองแพร่ที่ผมชอบมากๆ คือ “สถานีรถไฟบ้านปิน” เป็นสถานีรถไฟสไตล์เฟรมเฮ้าส์แบบบาวาเรียนของเยอรมัน สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2458 สัญลักษณ์แห่งการคานมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ป้องกันการรุกรานดินแดนจาก 2 ประเทศนี้ เพื่อแสดงออกว่าเรามีเยอรมนีหนุนหลัง ไม่ให้ใครมารุกรานดินแดนไทยง่ายๆ ถือเป็นกุศลโลบายชั้นเลิศของรัชกาลที่ 5 ในการรักษาดินแดนไทยให้คงอยู่ และได้กลายเป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวในไทยที่เป็นแบบ ​Made in Germany

ไม่ทันไรเวลาเย็นย่ำก็มาเยือน อีกหนึ่งจุดชมวิวที่ต้อวมาเลยคือ “อ่างเก็บน้ำแม่สาย” อยู่ท่ามกลางหุบเขาน้อยใหญ่ ถือว่าเป็นวิวชั้นดี แถมด้วยลมเย็นๆ ทำให้สดชื่นได้เป็นอย่างดี ก่อนจะออกไปตะลุยกาดคนเดิน 2 แห่งกลางเมืองแพร่ในค่ำคืนนี้ นั่นคือ “กาดกองเก่าและกาดพระนอน” เป็นตลาดถนนคนเดินในอำเภอเมืองแพร่ที่แสดงถึงวิถีชีวิตได้เป็นอย่างดี กับการแสดงดนตรีสดแบบล้านนา ประกอบการช้อปปิ้งของแบบบ้านๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งงานไม้ งานทำมือ งานถักร้อย ที่เห็นมีขายมากที่สุดก็คือ “เสื้อม่อฮ่อมและผ้ามัดย้อมคราม” ของขึ้นชื่อของที่นี่ ตลอดความยาวประมาณเกือบ 2 กิโล กับ 2 กาดนี้ ยังคงกลิ่นอายของคำว่ากาดแบบภาคเหนือได้เป็นอย่างดี ยังไม่ถูกกลืนกินจากวัฒนธรรมภายนอกมากนัก

…รับรองได้ว่าจะทำให้ค่ำคืนวันเสาร์มีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครแน่นอน

Text & Photo : หนุ่ม – เฉลิมชัย ตันสิงห์ แชมป์รายการแฟนพันธุ์แท้ ท่องเที่ยวไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save