พรีวิวพิเศษ : Coming Home or Rome?!? “สิงโตคำราม” ดวล “อัซซูรี” ชิงดำจ้าวยุโรป! - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
พรีวิวพิเศษ : Coming Home or Rome?!? “สิงโตคำราม” ดวล “อัซซูรี” ชิงดำจ้าวยุโรป!

หลังดวลกันมายาวนานราว 1 เดือนเต็ม ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ “ยูโร 2020” ก็ถึงแมทช์ชิงดำสุดท้ายแล้ว ทีมต่างๆ, นักเตะ, สตาฟฟ์โค้ช ต่างใส่ทุกอย่างที่พวกเขามี แฟนบอลอย่างเราก็เชียร์สุดตัว อดหลับอดนอนกันมาอย่างต่อเนื่อง

และอย่างที่ทราบกัน ว่าเส้นทางสุดท้ายจะมาบรรจบกันที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ในช่วงดึกคืนวันอาทิตย์ที่ 11 ก.ค. ตามเวลาบ้านเรา โดยคู่ชิงชนะเลิศ เป็นการดวลกันของแมทช์ที่แทบทุกคนลงความเห็นตรงกันว่า “น่าดูที่สุด”

“สิงโตคำราม” และ “อัซซูรี” 2 ทีมคู่ชิงยูโร 2020 ที่ยังไม่แพ้ให้ใครเลยในทัวร์นาเมนท์นี้
(Source : The Sun)

แมทช์ชิงชนะเลิศที่เราบิวท์กันมา เป็นการเจอกันระหว่าง “สิงโตคำราม” อังกฤษ กับ “อัซซูรี” อิตาลี 2 ทีมแกร่งที่ทำผลงานในยูโรหนนี้ได้ยอดเยี่ยม เป็นแมทช์ชิงที่สมศักดิ์ศรี และคงพลาดเขียนพรีวิวให้ได้เห็นรายละเอียด และขุมกำลังต่างๆ ไม่ได้

“สิงโตคำราม” อังกฤษ

ผลงาน

“สิงโตคำราม” ผ่านเข้าชิงด้วยสถิติยอดเยี่ยม เสียไปเพียงประตูเดียวตลอดทัวร์นาเมนท์
(Source : Sky Sports)

>> ผ่านรอบแบ่งกลุ่มในฐานะแชมป์กลุ่ม D ประเดิมนัดแรกด้วยการเฉือนโครเอเชีย 1-0 ก่อนทำผลงานไม่น่าปลื้ม เสมอเพื่อนบ้านสก็อตแลนด์ 0-0 ก่อนจะมาชนะสาธารณเช็ก 1-0 ยิงได้ 2 ประตู ไม่เสียประตูให้ใคร

>> รอบ 16 ทีมสุดท้าย สิงโตคำรามพลิกจากทีมที่โดนค่อนขอด มาโชว์ฟอร์มแกร่งล้มเยอรมันได้ 2-0 ก่อนจะผ่านยูเครนไม่ยากเย็นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ด้วยสกอร์ 4-0 จนเพลง “Football is Coming Home” เริ่มดังกระหึ่ม

>> รอบรองชนะเลิศ เป็นเกมที่เหนื่อยกว่าที่คาด พวกเขาเสียประตูแรกในทัวร์นาเมนท์ แต่ก็ยังสามารถเฉือนเดนมาร์ก 2-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ จากจุดโทษสำคัญที่หลายคนกังขาว่ามันมีน้ำหนักพอจะเป็นการฟาล์วหรือไม่

ผู้เล่นตัวจริงที่ใช้งาน

(Source : Sportskeeda)

ผู้รักษาประตู : จอร์แดน พิคฟอร์ด (6 นัด)

กองหลัง : จอห์น สโตนส์ (6 นัด), ไคล์ วอล์คเกอร์ (5), ลุค ชอว์ (5), แฮร์รี แม็คไกวร์ (4), ไทโรน มิงส์ (2), คีแรน ทริปเปียร์ (2), รีส เจมส์ (1)

กองกลาง : คัลวิน ฟิลลิปส์ (6 นัด), ดีแคลน ไรซ์ (6), ราฮีม สเตอร์ลิง (6), เมสัน เมาท์ (4), บูคาโย่ ซาก้า (3), ฟิล โฟเด้น (2), แจ็ค กรีลิช (1), จาดอน ซานโช (1)

กองหน้า : แฮร์รี เคน (6 นัด)

ดาวซัลโว

แฮร์รี เคน (4 ประตู), ราฮีม สเตอร์ลิง (3 ประตู)

วิเคราะห์ 11 ตัวจริง

ผู้รักษาประตู : จอร์แดน พิคฟอร์ด

(Source : The Teach Tack)

นายด่านจากเอฟเวอร์ตันเริ่มต้นทัวร์นาเมนท์ได้ยอดเยี่ยม เขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อังกฤษไม่เสียประตูในรอบแบ่งกลุ่ม แต่เมื่อเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ การเล่นของเขาก็ดูมีข้อผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะท้ายเกมกับยูเครนในรอบ 8 ทีม และเกมสำคัญกับเดนมาร์ก ในรอบรองฯ

จุดอ่อนสำคัญของพิคฟอร์ดคือการตัดสินใจ และการออกบอลด้วยเท้า ที่พอโดนสถานการณ์กดดัน ก็มักจะมีอาการเป๋ให้เห็น อย่างไรก็ดี ตำแหน่งมือ 1 ในรอบชิงชนะเลิศยังคงมั่นคง ความเป็น Shot stopper ที่ดีของเขายังมีประโยชน์ ขอแค่ต้องปรับจูนสมาธิให้ดีกว่าเดิม

วิงแบ็คขวา : คีแรน ทริปเปียร์

(Source : beIN SPORTS)

ตามสถิติแล้ว ทริปเปียร์ลงเล่นเป็นตัวจริงในทัวร์นาเมนท์นี้แค่ 2 นัด แต่ที่เลือกวิเคราะห์ว่าเขาอาจจะได้ลงในนัดชิง เพราะเซาธ์เกตเองก็ดูจะนิยมชมชอบการเล่นเพลย์เซฟ ดังนั้นระบบหลัง 3 ตัว ก็อาจจะถูกมาหยิบใช้อีกครั้ง เหมือนในนัดที่ชนะเยอรมัน 2-0

พูดถึงตัวทริปเปียร์เอง ฟอร์มโดยรวมของเขาไม่ได้แย่ แต่เมื่อเทียบกับธรรมชาติที่อังกฤษดูจะคล่องตัวกว่าในการเล่นระบบหลัง 4 ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นตัวที่ฟอร์มไม่ค่อยน่าปลื้มเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี เขาก็เป็นพวกทำตามหน้าที่ได้ดี ซึ่งเซาธ์เกตอาจต้องการนักเตะตามสั่งอย่างเขาลงไปแพ็คเกมให้แน่น

วิงแบ็คซ้าย : ลุค ชอว์

(Source : 90Min)

แม้จะเริ่มต้นนัดแรกเป็นแค่สำรอง แต่พอลงเป็นตัวจริงในตำแหน่งแบ็คซ้ายแล้ว ฟอร์มของชอว์ยอดเยี่ยมจนเบียดแชมป์ยุโรปอย่างชิลเวลล์ตกขอบเป็นตัวสำรองตลอดทัวร์นาเมนท์ โดยชอว์โชว์บทบาทเกมรุกที่ยอดเยี่ยม ทำถึง 3 แอสซิสต์ ในรอบ 8 ทีม และรอบรองฯ

ไม่ว่าอังกฤษจะเลือกเล่นด้วยระบบหลัง 3 หรือ 4 ชอว์ก็น่าจะยึดตำแหน่งกราบซ้ายอย่างไม่มีปัญหา เกมรับที่ทำได้สม่ำเสมอ บวกกับการเติมเกมรุกที่ทำให้ฝั่งซ้ายสมดุล เขาเป็นหนึ่งในนักเตะกองหลังที่ดีที่สุดของทัวร์นาเมนท์ สภาพร่างกายที่เคยเป็นที่กังวล ก็ดูเข้าที่เข้าทางดี

สวีปเปอร์ : จอห์น สโตนส์

(Source : Sky Sports)

ต่อเนื่องจากฟอร์มกับต้นสังกัดแมนฯ ซิตี้ ยอดเยี่ยมเมื่อซีซันที่ผ่านมา บวกกับอาการบาดเจ็บของแม็คไกวร์ในรอบแรก ทำให้สโตนส์เป็นตัวเลือกแรกของเซาธ์เกต และลงเป็นตัวจริงในทุกนัด ไม่ว่าจะเป็นระบบกองหลัง 3 หรือ 4 ตัว เขาก็ทำหน้าที่ได้ดีตลอด

ตามที่คาดเดา ถ้าเซาธ์เกตเลือกแผนหลัง 3 อีกครั้ง สโตนส์จะถอยลงไปเป็นตัวสวีปเปอร์ แม้จะดูเคลื่อนที่ไม่เยอะ แต่เขามีจุดเด่นที่ cover พื้นที่ของเพื่อนร่วมทีมได้ดี การสกัดที่แม่นยำขึ้นมากในซีซันที่ผ่านมา ยังคงสม่ำเสมอในยูโรรอบสุดท้ายนี้

สต็อปเปอร์ : ไคล์ วอล์คเกอร์

(Source : Independent)

ดาวเตะประสบการณ์จากแมนฯ ซิตี้ เป็นแกนหลักในทีมของเซาธ์เกต มาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2018 โดยเขาสามารถเล่นได้ทั้งแบ็คขวา และสต็อปเปอร์ตัวขวาในระบบเซ็นเตอร์ 3 ตัว โดยอ็อพชันหลัง ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเซาธ์เกตเคยเลือกแผนหลัง 3 ในการเจอทีมใหญ่อย่างเยอรมันมาแล้ว

ความแข็งแกร่ง และเกมรับที่ดีเป็นจุดเด่นของวอล์คเกอร์เสมอมาในระยะหลัง เขาสามารถเป็นตัวซ้อนความผิดพลาดจากแดนกลาง และแดนหลังได้อย่างดี ความเร็วที่ไม่เลวก็เป็นอีกส่วนนึงที่ทำให้หลังบ้านเล่นกันง่ายขึ้น

สต็อปเปอร์ : แฮร์รี แม็คไกวร์

(Source : 90Min)

หลังจากหายจากอาการบาดเจ็บ แม็คไกวร์ก็กลับมาเล่นได้แข็งแกร่ง แถมมีจุดเด่นในการเติมขึ้นไปเล่นลูกเซ็ตพีซ ซึ่งทำให้เขาโขกไปแล้ว 1 ประตู ในเกมกับยูเครนในรอบ 8 ทีมสุดท้าย

แม็คไกวร์เล่นเข้าขากับชอว์ในฝั่งซ้ายได้เป็นอย่างดี การขยับเติมเกมบ่อยครั้งของชอว์ ทำให้เขาต้อง cover พื้นที่มากกว่าสโตนส์ แต่ตัวเขาก็ทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง รวมถึงยังเป็นตัวพาบอลขึ้นมาเปิดเกมได้อีกด้วย หากฟอร์มยังคงเส้นคงวา อิตาลีก็คงจู่โจมอังกฤษได้ยาก

มิดฟิลด์ตัวกลาง : ดีแคลน ไรซ์

(Source : West Ham United)

ไรซ์ขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในทีมของเซาธ์เกตมาตั้งแต่รอบคัดเลือก และเขาก็พิสูจน์ตัวเองในรอบสุดท้ายได้ยอดเยี่ยม การเล่นที่สมดุลทั้งรุกและรับ ทำให้เขาได้ยืนตัวจริงตลอด แม้จะยังมีคำถามในเกมที่ค่อนข้างบี้กันตรงกลางหนักๆ ซึ่งเขาคงต้องพิสูจน์ให้เห็นกับอิตาลีในนัดชิงเพิ่มเติม

ข้อดีสำคัญของไรซ์คือความแข็งแกร่ง และสามารถสกรีนบอลก่อนถึงแนวรับได้ดี การแจกจ่ายบอลของเขาก็ทำได้เยี่ยม เช่นเดียวกับความสด ที่น่าจะบดกับแดนกลางประสบการณ์สูงกว่าของอิตาลีได้สนุก

มิดฟิลด์ตัวกลาง : คัลวิน ฟิลลิปส์

(Source : Indian Express)

กองกลางคุณภาพจากลีดส์ ถูกเลือกเป็นตัวจริงตั้งแต่นัดแรก และทำผลงานได้โดดเด่นจนได้ลงเป็น 11 ตัวจริงทุกนัดในทัวร์นาเมนท์รอบสุดท้ายนี้ แม้บทบาทในรอบหลังๆ จะหายไปพอสมควร แต่เซาธ์เกตก็ยังซื้อบาลานซ์แดนกลาง ที่เจ้าตัวเล่นคู่กับไรซ์ได้ดี

คาดเดาว่านัดชิงเซาธ์เกตคงไม่เปลี่ยนมิดฟิลด์คู่กลางที่ใช้มาตลอด เขากับไรซ์จะได้ดวลกับ จอร์จินโญ่ และแวร์รัตติ มิดฟิลด์ที่เก่งการเอาตัวรอดเช่นกัน ทั้ง 2 ฝั่งน่าจะต้องงัดบุ๋นและบู๊ มาวัดกันว่าใครจะครอบครองพื้นที่แดนกลางได้

มิดฟิลด์ตัวรุก : เมสัน เมาท์

(Source : Indian Express)

แม้การคาดการณ์ว่าเซาธ์เกตจะเลือกเล่นเซ็นเตอร์ 3 ตัว จะส่งผลต่อตำแหน่งตัวจริงของเมาท์ เพราะนัดที่อังกฤษเล่นแผนนี้ เซาธ์เกตก็เลือกใช้ซาก้าลงเล่นริมเส้น ซึ่งจะว่าไป เมาท์เองก็เล่นริมเส้นได้ เพียงแต่ยังไม่เคยเห็นเค้ารับบทบาทในรอบสุดท้ายเท่านั้น

ทฤษฎีที่ผมรู้สึกว่าเซาธ์เกตจะเลือกใช้เมาท์ มาจากอย่างแรกคือเขาต้องกักตัวทำให้พลาดรอบแรกนัดสุดท้าย และฟิตไม่พอสำหรับรอบ 16 ทีมสุดท้าย ซาก้าเลยได้ลงเล่นก่อน แต่กับรอบชิง คาดว่าประสบการณ์ของซาก้าน่าจะยังน้อยไป บวกกับฟอร์มก็วูบวาบ แต่ไม่สม่ำเสมอ เลยเซาธ์เกตน่าจะมองเมาท์ไว้เป็นทางเลือกมากกว่า แม้จะต้องปรับการยืนบ้างก็ตาม

มิดฟิลด์ตัวรุก : ราฮีม สเตอร์ลิง

(Source : Eurosport)

ความจริงก็แล้วแต่เรียก จะเป็นหน้าต่ำ หรือจะเป็นกองหน้าด้านข้าง ก็ไม่ผิด เพราะฟุตบอลยุคใหม่มันมีตำแหน่งตายตัวยาก ก็เอาเป็นว่ายังไงราฮีมได้ลงเล่นแน่นอน แม้จะโดนแซวบ่อยครั้งว่านามสกุลเซาธ์เกตหรือเปล่า

ถึงจะโดนวิจารณ์ฟอร์มอยู่บ้าง แต่ราฮีมก็ชอบมีมิติแตกต่างตอบแทนให้เซาธ์เกตเสมอ อย่างการยิงประตูคนเดียว 3 ประตูแรกของทีม หรือการเรียกจุดโทษสำคัญในนัดกับเดนมาร์ก ยังไงตัวจริงราฮีมลงแน่ ส่วนฟอร์มจะดีพอขนาดไม่โดนเปลี่ยนออกมั้ย อันนั้นอีกเรื่อง

กองหน้า : แฮร์รี เคน

(Source : Sports Illustrated)

กัปตันทีมชาติอังกฤษ กำลังลุ้นดาวซัลโวอยู่ โดยเขาเป็นคนเดียวที่ยิงได้ 4 ประตู และยังไม่ตกรอบ ไล่หลังโรนัลโด้แค่ลูกเดียว โอกาสจะใช้รอบชิงเป็นทั้งบันไดสู่ดาวซัลโว, แชมป์ยูโร และอาจจะพ่วงนักเตะยอดเยี่ยมของรายการไปได้ด้วยเลย หากเขายิงนำชัยให้ทีมจริงๆ

หลายคนมองว่าเคนน่าจะได้ดวลกับคิเอลลินี และโบนุชชีสนุก แต่พอเอาเข้าจริง เคนจะถอนตัวเองลงมาทำเกมพอสมควรแหละ จะได้ดวลกันจริงคงเป็นจังหวะในกรอบ ซึ่งหากเคนเร่งสปีดเข้าทำของตัวเองขึ้นอีกนิด น่าจะก่อกวนคู่เซ็นเตอร์อัซซูรีได้ดีเลย

ตัวสำรองเปลี่ยนเกม : ฟิล โฟเด้น

(Source : 90Min)

หลายคนพูดถึงกรีลิช กับซานโชกัน แต่เท่าที่เห็น เซาธ์เกตน่าจะคาดหวังกับโฟเด้นไว้ไม่มากกว่า 2 รายชื่อที่ว่าไป หากไม่ใช่ปัญหาแยกไปกักตัว เขาน่าจะมีโอกาสได้ลงเล่นมากกว่านี้ ในนัดชิงหากสถานการณ์ที่ต้องการประตู โฟเด้นอาจจะถูกเลือกลงมาเติมความวูบวาบในแนวรุก

กุนซือ : แกเร็ธ เซาธ์เกต

(Source : Football is Business)

จากกุนซือที่ดูไม่มีสง่าราศี เซาธ์เกตก้มหน้าก้มตาทำงานของเขาไปเรื่อยๆ และพิสูจน์ตัวเองได้ดี จากการพาอังกฤษเข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก และสามารถเข้าชิงยูโรได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยเขายึดมั่นในแนวทางของตัวเอง แม้จะมีเสียงวิจารณ์เรื่องการจัดตัว และการแก้เกมก็ตาม

การเปลี่ยนตัว หรือแก้เกมของเซาธ์เกตอาจจะขัดใจแฟนบอลหลายคน แต่รูปแบบที่เขาเลือกใช้ และปลุกปั้นทีมนี้มาก็ตอบคำถามด้วยผลลัพธ์น่าพึงพอใจมาตลอด ต้องมาดูว่าในนัดชิง หากสถานการณ์เขาพลิกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ที่นักเตะของเขายังไม่ค่อยได้เผชิญนัก เซาธ์เกตจะแสดงกึ๋นแก้เกมได้ดีแค่ไหน

“อัซซูรี” อิตาลี

ผลงาน

ทัพ “อัซซูรี”​ เหนื่อยหนักหน่อยในรอบน็อคเอาท์ แต่ก็ฟันฝ่าเข้าชิงโดยผ่านทั้งเบลเยียม และสเปน
(Source : UEFA)

>> ผ่านรอบแรกมาอย่างแข็งแกร่ง เก็บชัยได้ 3 นัดรวด เหนือตุรกี 3-0, สวิตเซอร์แลนด์ 3-0 และเฉือนเวลส์ส่งท้ายด้วยชุดสำรอง 1-0 ไม่เสียประตูเลย จนถูกยกให้เป็นทีมเต็งลำดับต้นๆ ที่จะซิวแชมป์

>> รอบ 16 ทีม อิตาลีต้องเจอบทพิสูจน์ที่หนักกว่าที่คาด พวกเขาถูกออสเตรียลากไปถึงต่อเวลาพิเศษ ก่อนจะผ่านมาได้ด้วยสกอร์ 2-1 และต้องมาดวลกับทีมแกร่งอย่างเบลเยียมในรอบ 8 ทีม ซึ่งพวกเขาก็บดเอาชนะมาได้ 2-1 เช่นกัน

>> รอบรองชนะเลิศ ต้องใช้คำว่าเหนื่อยหนักทีเดียว ด้วยปัญหาผู้เล่นบาดเจ็บ และการมาถูกสเปนไล่ตีเสมอท้ายเกม ในขณะที่มันชินีแก้เกมถอดตัวรุกออกไปแทบหมดแล้ว จนสุดท้ายพวกเขาต้องเป็นฝ่ายยื้อไปจนถึงจุดโทษ และเอาชนะกระทิงดุมาอย่างโชกโชน

ผู้เล่นตัวจริงที่ใช้งาน

(Source : InstaBumper Blog)

ผู้รักษาประตู : จิอันลุยจิ ดอนนารุมม่า (6 นัด)

กองหลัง : ลีโอนาร์โด้ โบนุชชี (6 นัด), จอร์โจ้ คิเอลลินี (4), ลีโอนาร์โด้ สปินัซโซล่า (4), โจวานนี ดิ ลอเร็นโซ่ (4), เอเมอร์สัน (2), อเลสซานโดร ฟลอเรนซี่ (1), อเลสซานโดร บาสโตนี (1), ราฟาเอล โตลอย (1), ฟรานเชสโก้ อแชร์บี้ (1)

กองกลาง : จอร์จินโญ่ (6 นัด), นิโคโล่ บาเรลล่า (5), ลอเรนโซ่ อินซิเย่ (5), มาร์โก แวร์รัตติ (4), เฟเดริโก้ เคียซ่า (3), โดมินิโก้ เบราร์ดี้ (3), มานูเอล โลคาเตลลี (2), มัตเตโอ เปสซิน่า (1), เฟเดริโก้ แบร์นาเดสคี่ (1)

กองหน้า : ชิโร อิมโมบิเล่ (5 นัด), อันเดรีย เบล็อตติ (1)

ดาวซัลโว

เฟเดริโก้ เคียซ่า (2 ประตู), ชิโร อิมโมบิเล่ (2 ประตู), ลอเรนโซ่ อินซิเย่ (2 ประตู), มานูเอล โลคาเตลลี (2 ประตู), มัตเตโอ เปสซิน่า (2 ประตู)

วิเคราะห์ 11 ตัวจริง

ผู้รักษาประตู : จิอันลุยจิ ดอนนารุมม่า

(Source : FourFourTwo)

นายทวารวัย 22 ปี ที่กำลังจะย้ายไปเป็นสมาชิกใหม่ของเปแอสเชในซีซันหน้า สร้างผลงานในยูโรรอบสุดท้ายได้อย่างยอดเยี่ยม จังหวะการเซฟ และการสั่งการในแดนหลังทำได้เด็ดขาด และแทบไม่มีข้อผิดพลาดเลย ยกเว้นการออกบอลด้วยเท้าที่ยังไม่ค่อยดีนัก

เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ทั้งความฟิต และความมั่นใจในฐานะเจ้าบ้าน อังกฤษอาจจะดูไม่เป็นรองอิตาลี แต่เรื่องของผู้รักษาประตูแล้ว อิตาลีเป็นต่อค่อนข้างชัดเจน และหากดอนนี่งัดฟอร์มสุดยอดออกมาได้อีก เขาอาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยตัดสินแชมป์ก็เป็นได้

แบ็คขวา : โจวานนี ดิ ลอเร็นโซ่

(Source : Goal.com)

แบ็คจากนาโปลี ยึดตำแหน่งตัวจริงของทีมมาตั้งแต่ได้ลงเล่นในครึ่งหลังเกมแรก เพราะตัวจริงอย่างฟลอเรนซี่ได้รับบาดเจ็บ ถึงจะไม่เด่นในด้านเติมเกมรุกเท่าไหร่นัก เพราะอัซซูรีเน้นเกมบุกจากแบ็คซ้ายมากกว่า แต่ในส่วนเกมรับ เขาก็ทำหน้าที่ได้ดี ไม่ขาดตกบกพร่อง

จุดอ่อนของดิ ลอเร็นโซ่ คงเป็นเรื่องของประสบการณ์ และการดันเกมรุกที่ไม่ค่อยเด่นอย่างที่บอกไป แต่คาดว่าเขาจะยังได้รับความไว้วางใจถูกส่งลงเป็นตัวจริงก่อนฟลอเรนซี ส่วนการโยกไปยืนแบ็คซ้ายนั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก ยกเว้นต้องแก้ปัญหาระหว่างเกม

แบ็คซ้าย : เอเมอร์สัน

(Source : Sampreinter)

แม้จะติดทีมมาอย่างน่ากังขาในสายตาคนนอก เพราะเจ้าตัวแทบไม่ได้เล่นให้เชลซีเลย ในซีซันที่ผ่านมา เป็นเพียงแบ็คซ้ายตัวเลือกอันดับ 3 ของทีม แต่กับทีมชาติ มันชินีเลือกเขาติดทีมเสมอ และเอเมอร์สันก็ได้รับโอกาสสำคัญ เมื่อสปินัซโซล่าที่เล่นได้อย่างโดดเด่น เจ็บหนักไป

การเติมเกมของเอเมอร์สันถึงจะสู้สปินัซโซล่าไม่ได้ แต่ก็พอไปวัดไปวาได้ ปัญหาติดแค่ตรงเกมรับที่ไม่ถึงกับดีนัก และเรื่องของความฟิตที่ดูจะมีปัญหาหากต้องยืนระยะยาวๆ การเจออังกฤษก่อกวน น่าจะส่งผลให้เขาต้องงัดฟอร์มดีๆ ออกมาให้ได้ ไม่งั้นเราอาจได้เห็นเขาโดนเปลี่ยนตัวออกเร็ว

เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ : จอร์โจ้ คิเอลลินี

(Source : 90Min)

กัปตันทีมจอมเก๋าของอัซซูรี มีหายหน้าไป 2 นัด หลังได้รับบาดเจ็บตั้งแต่รอบแรก แต่พอกลับมาฟิต เขาก็เป็นแกนหลักยืนคู่กับคู่หูอย่างโบนุชชีมาตลอด ถึงจะมีปัญหาบ้างเรื่องความเร็ว กับการออกบอลสั้น แต่โดยภาพรวม คุณภาพของเขายังดีเพียงพอเป็นตัวเลือกแรก

นอกเหนือจากเกมรับที่แข็งแกร่งมาตลอด คิเอลลินียังมีจุดเด่นเรื่องการเติมขึ้นไปเล่นเซ็ตพีซ รวมถึงแพสชันและความเป็นผู้นำ ก็เป็นอีกอาวุธเด็ด ที่จะกระตุ้นให้ทัพอัซซูรีสู้กับแรงกดดันจากแฟนบอลอังกฤษ ที่แห่เข้ามาแน่นแน่นอน

เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ : ลีโอนาร์โด้ โบนุชชี

(Source : beIN SPORTS)

คู่หูคนสำคัญของคิเอลลินี ลงเล่นเป็นตัวจริงทุกนัดในทัวร์นาเมนท์ จุดเด่นของโบนุชชีคือการสอดประสานกับคิเอลลินี ที่เล่นร่วมกันทั้งในสโมสร และทีมชาติมาอย่างยาวนาน รวมถึงจุดเด่นในการเติมขึ้นไปเล่นเซ็ตพีซ ก็ทำได้ดีเช่นกัน

เรื่องของความเร็ว คงเป็นประเด็นน่าสงสัยที่หลายคนจับตามอง เพราะอังกฤษเองดูจะจัดจ้านกว่า โดยเฉพาะสเตอร์ลิง ที่เรียกจุดโทษให้อังกฤษมาแล้วในรอบรองฯ โบนุชชีเองก็น่าจะเจอทดสอบตรงนี้ และต้องงัดประสบการณ์มาช่วยให้ได้

มิดฟิลด์ตัวกลาง : จอร์จินโญ่

(Source : 90Min)

หนึ่งในนักเตะปิดทองหลังพระที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับทีมชาติอิตาลี ฟอร์มของเขาโดดเด่นนับตั้งแต่ยืนระยะในทีมเชลซียุคทูเคิลได้ และมาสานต่อความยอดเยี่ยมในยูโรหนนี้ด้วย การพลิกบอลรับเป็นรุก และการครองบอลที่เสียยาก ทำให้อิตาลีได้เปรียบในหลายจังหวะ

แม้จะถูกจดจำว่าเป็นผู้รับหน้าที่สังหารจุดโทษสำคัญพาทีมเข้ารอบ แต่งานของเขาทำได้ดีมาโดยตลอด จอร์จินโญ่สามารถเล่นคู่กับแวร์ตัตติ และโลคาเตลลีได้ทั้งคู่ บทบาทในรอบชิงน่าจะมีเรื่องเกมรับเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเขาอาจได้ดวลกับเพื่อนร่วมทีมอย่างเมาท์ อีกด้วย

มิดฟิลด์ตัวกลาง : มาร์โก แวร์รัตติ

(Source : 90Min)

ถึงฟอร์มในบางช่วงบางตอนจะดูไม่ค่อยนิ่ง เพราะแกเป็นสไตล์พลิกบอลหลายจังหวะ และอาจทำให้เกมช้า แต่มันชินีก็ดูไว้ใจในประสบการณ์ของเขามากกว่าโลคาเตลลีในรอบลึกๆ และคงจะเป็นแบบเดิมในรอบชิงชนะเลิศวันอาทิตย์นี้

หากดูในรายละเอียด ฟอร์มของแวร์รัตติในรอบ 8 ทีม และรอบรองฯ เริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น การจ่ายบอลทะลุแนวแดนกลางคู่แข่ง และการเอาตัวรอดในจังหวะคับขันทำได้ดี ซึ่งบางทีการทลายคู่กลางของอังกฤษ ก็ต้องใช้ชั้นเชิงของเขานี่แหละ เป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญ

มิดฟิลด์ตัวกลาง : นิโคโล่ บาเรลล่า

(Source : Calcio News 24)

กองกลางชุดแชมป์เซเรีย อา จากอินเตอร์ โชว์ฟอร์มได้เด่นเช่นกันในยูโรรอบสุดท้าย โดยเฉพาะในรอบแรกที่เป็นพลังขับเคลื่อนทั้งรุกรับแบบไม่มีหมด ถึงการเล่นในรอบลึกจะดร็อปลงบ้าง เพราะเกมถูกบีบให้เล่นยาก แต่ภาพรวมก็ยังสำคัญพอที่ยืนเป็นตัวจริงให้ทีมต่อไป

นอกจากพละกำลังที่บาเรลล่ามอบให้แดนกลางอัซซูรีแล้ว การสอดขึ้นเป็นตัวเข้าทำในเขตโทษ ก็เป็นอาวุธที่อังกฤษจะประมาทไม่ได้ การเติมขึ้นมาจบสกอร์แบบเฉียบขาดในนัดกับเบลเยียม มีให้เห็นเรื่อยๆ ในยูโรหนนี้ และอาจจะมีอีกในนัดชิง หากสิงโตคำรามไม่ระมัดระวัง

มิดฟิลด์ตัวรุก : เฟเดริโก้ เคียซ่า

(Source : News in 24)

หากจะพูดว่าเคียซ่าเล่นได้โดดเด่นที่สุดในแนวรุกอิตาลีหลังผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะนับตั้งแต่ได้โอกาสลงเล่นแทนเบราร์ดี้ ลูกชายของเอ็นริโก้รายนี้ ใช้พละกำลังและความมั่นใจเล่นงานฝั่งตรงข้ามได้เสมอ

คาดเดารูปเกมในนัดชิงได้ยากอยู่เหมือนกัน ว่าเคียซ่าจะต้องรับบทหลักในการช่วยเกมรับมากกว่าเล่นเกมรุกหรือเปล่า แต่ถ้าเขาตั้งหลักและได้บอลบ่อยขึ้น เกมด้านข้าง และการสอดเข้าทำในพื้นที่สุดท้ายของอิตาลี จะน่ากลัวขึ้นแน่นอน

มิดฟิลด์ตัวรุก : ลอเรนโซ่ อินซิเย่

(Source : Stuff)

ตัวรุกร่างเล็กจากนาโปลี เป็นกำลังสำคัญของอิตาลีมาตลอด ชั้นเชิงการพลิกบอล และเซ้นส์ในการเข้าทำ เป็นอาวุธสำคัญที่มักจะสร้างความแตกต่างในเกมได้เสมอ และทำให้เจ้าตัวยิงประตูสวยๆ มาแล้ว 2 ลูกในยูโรหนนี้

จุดที่น่าสังเกตคือเขามักจะดูอ่อนแรงลงในช่วงท้ายเกม และมักจะโดนถอดออกหากมันชินีจะปรับเกม ต้องมาดูว่าพละกำลังของเจ้าตัวจะสร้างผลงานที่ดีให้ขุนพลอัซซูรีได้ก่อนเขาจะหมดเรี่ยวแรงหรือเปล่า

กองหน้า : ชิโร อิมโมบิเล่

(Source : 90Min)

ว่ากันตามตรง หลังจากสตาร์ท 2 นัดแรกด้วยประตู ฟอร์มของศูนย์หน้าที่ยิงให้ลาซิโอถล่มทลาย ก็เริ่มสาละวันเตี้ยลงในรอบน็อคเอาท์ แม้จะยังแสดงถึงการทำงานหนักในการเพรสซิ่งแดนบน แต่การแต่งบอลจังหวะสุดท้าย และการตัดสินใจของเจ้าตัว ดูผิดที่ผิดทางไปหมด

โชคดีอย่างนึงของอิมโมบิเล่คือฟอร์มของตัวสำรองที่ลงมาแทนอย่างเบล็อตติ ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน เลยคาดว่าเจ้าตัวจะได้ลงตัวจริงต่อ ซึ่งหากเขาพอเก็บบอล และประสานงานกับเพื่อนได้ดีขึ้น ก็อาจจะยังเป็นประโยชน์ในการกดดันอังกฤษได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

ตัวสำรองเปลี่ยนเกม : อเลสซานโดร ฟลอเรนซี่

(Source : UEFA)

ความจริง อดีตตัวจริงอย่างโลคาเตลลี และเบราร์ดี้ ฟังดูมีทีเด็ดทีขาดมากกว่าในการลงมาเป็นตัวเปลี่ยนเกม แต่จากที่ดูมาในรอบน็อคเอาท์ การเปลี่ยนตัวของมันชินี กลับเน้นทำให้เกมอิตาลีสมดุลขึ้น ซึ่งถ้านับในเคสแบบนี้แล้ว นอกจากเปสซิน่า ผมมองการกลับมาของฟลอเรนซี่ ว่าน่าสนใจ เพราะเขาอาจจะถูกใช้งานได้ทั้งแบ็คซ้าย-ขวา ที่อิตาลีอาจจะมีปัญหาในตอนท้ายเกม

กุนซือ : โรแบร์โต้ มันชินี

(Source : The Cult of Calcio)

ถึงจะได้รับคำชมมากมายจากการเล่นรอบคัดเลือก และรอบแบ่งกลุ่มในยูโรหนนี้ ด้วยการเปลี่ยนอิตาลีให้เล่นเกมรุกสนุก และยังคงเกมรับที่เหนียวแน่นไว้ได้ แต่พอต้องเจอเกมที่ยากขึ้นในรอบน็อคเอาท์ บวกกับปัญหานักเตะไม่สมบูรณ์ เส้นทางก็บ่งบอกเหมือนกันว่ามันชินี มีอาการแกว่งให้เห็น

การแก้เกมของมันชินีไม่ถึงกับแย่ แต่บางครั้งเขาก็ดูตัดสินใจไม่ถูกที่ถูกทางนัก นัดชิงชนะเลิศนอกจากจะเป็นการวัดฝีเท้าของนักเตะ 2 ทีมแล้ว กึ๋นในการวางเกม และแก้เกมของกุนซือทั้ง 2 คน ก็น่าจะมีผลต่อการคว้าแชมป์เช่นกัน ต้องจับตาดูว่ามันโช่จะใช้ไม้ไหนมากำราบสิงโตคำราม

ผู้ตัดสินนัดชิง : บียอร์น คุยเพอร์ส (ฮอลแลนด์)

(Source : Marca)

ผลงานในยูโร 2020

นัดที่ 1 (รอบแรก) : เดนมาร์ก-เบลเยียม : 1-2 (4 ใบเหลือง)
นัดที่ 2 (รอบแรก) : สโลวาเกีย-สเปน : 0-5 (4 ใบเหลือง, 1 จุดโทษ)
นัดที่ 3 (รอบ 8 ทีม) : สาธารณรัฐเช็ก-เดนมาร์ก : 1-2 (2 ใบเหลือง)

กรรมการชาวดัทช์วัย 48 ปี เป็นกรรมการในระดับนานาชาติตั้งแต่ปี 2006 โดยเขาร่วมตัดสินในทัวร์นาเมนท์เมเจอร์มาแล้วทั้งฟุตบอลโลก 2014, 2018 และฟุตบอลยูโร 2012, 2016 โดยยูโรหนนี้ เขายังไม่เคยตัดสินอังกฤษ และอิตาลี มาก่อน

นอกจากนั้นในระดับสโมสร คุยเพอร์สยังเคยตัดสินรอบชิงฟุตบอลสโมสรยุโรปมาแล้ว 3 ครั้ง แบ่งเป็นยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก ปี 2014 ระหว่าง เรอัล มาดริด-แอต.มาดริด และยูโรป้า ลีก 2 ครั้ง ในปี 2013 ระหว่าง เบนฟิก้า-เชลซี และปี 2018 ระหว่าง มาร์กเซย-แอต.มาดริด

10 เรื่องชวนรู้ เกี่ยวกับแมทช์ชิง

(1) ยูโร 2020 เป็นการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหนที่ 16 โดยเป็นการแข่งขันฉลองครบรอบ 60 ปีที่ก่อตั้งการแข่งขันนี้ขึ้นมา โดยตอนแรกจะมีการแข่งขันกันถึง 13 เมือง แต่ลดเหลือ 11 เมืองในตอนท้าย

(2) ไม่น่าเชื่อว่าอังกฤษยังไม่เคยเข้าชิงยูโรเลยซักหนเดียว พลพรรคสิงโตคำรามทำได้ดีที่สุดคืออันดับที่ 3 ในปี 1968 (สมัยนั้นยังมีชิงที่ 3 และมีเตะรอบสุดท้ายแค่ 4 ทีม) และการเข้ารอบรองชนะเลิศหนสุดท้าย ต้องย้อนไปในปี 1996 โดยพวกเขาพ่ายจุดโทษต่อเยอรมัน และคนที่สังหารพลาด ก็คือ “แกเร็ธ เซาท์เกต” กุนซือทีมชาติคนปัจจุบันนี่แหละ

เซาธ์เกตยอมรับว่าการชนะเยอรมันในยูโรหนนี้ ช่วยลบฝันร้ายพลาดจุดโทษของเขาเมื่อปี 1996
(Source : Sky Sports)

(3) มาดูฝั่งอิตาลีบ้าง ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าพวกเขาเป็นแชมป์ยูโรมาแค่หนเดียว และเป็นปี 1968 ซึ่งมีทีมรอบสุดท้ายแค่ 4 ทีม โดยพวกเขาเข้าชิงอีก 2 หน ในปี 2000 และ 2012 แต่ก็ผิดหวัง พ่ายฝรั่งเศส และสเปน ตามลำดับ

(4) สังเวียนรอบชิงหนนี้คือ “เวมบลีย์ สเตเดียม” กรุงลอนดอน โดยสนามแห่งนี้ เคยเป็นสังเวียนรอบชิงมาแล้วในปี 1996 ซึ่งเยอรมันหักอกอังกฤษ ทะลุเข้าชิงก่อนปราบม้ามืดอย่างสาธารณรัฐเช็ก คว้าแชมป์สำเร็จ ด้วยประตูโกลเด้น โกล ของ “โอลิเวอร์ เบียโฮฟฟ์”

รอบชิงยูโรหนก่อนที่เวมบลีย์ เบียร์โฮฟฟ์เป็นผู้ยิงโกลเด้น โกล พา “อินทรีเหล็ก” ซิวแชมป์ปี 1996
(Source : 90Min)

(5) รอบชิงชนะเลิศหนนี้ที่เวมบลีย์ แฟนบอลอนุญาตให้เข้ามาชมเกมได้ทั้งหมด 60,000 ที่นั่ง จากความจุเต็มราว 90,000 ที่นั่ง คิดเป็น 67% โดยในรอบแรกและรอบ 16 ทีมสุดท้าย สนามเวมบลีย์อนุญาตให้แฟนบอลเข้าแค่ 25% ก่อนจะเพิ่มเป็น 50% ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และ 67% ในรอบรองฯ และรอบชิง

(6) อังกฤษเสียประตูในทัวร์นาเมนท์นี้แค่เพียงลูกเดียว โดยเป็นลูกฟรีคิกที่เสียให้กับเดนมาร์กในรอบรองฯ ส่วนอิตาลีเสียไปแล้ว 3 ประตู โดยเป็นลูก Open play เพียงแค่ลูกเดียว ที่เสียให้สเปนในรอบรองฯ

(7) ตามสถิติในหลายเว็บไซต์เชื่อถือได้ ทั้งคู่พบกันในแมทช์เป็นทางการ 27 นัด โดยอิตาลีชนะ 11 นัด เสมอกัน 8 นัด และอังกฤษชนะ 8 นัด ซึ่งหนสุดท้ายที่เจอกัน เป็นเกมอุ่นเครื่องที่สนามเวมบลีย์ เมื่อปี 2018 โดยอังกฤษออกนำไปก่อนจาก “เจมี วาร์ดี้” แต่โดนตีเสมอช่วงท้ายเกมจากจุดโทษของ “ลอเรนโซ่ อินซิเย่”

อินซิเย่ ซัดจุดโทษท้ายเกม ตีเสมออังกฤษ 1-1 ในการเจอกันหนสุดท้ายเมื่อปี 2018
(Source : The Guardian)

(8) แต่ถ้านับเฉพาะรายการเมเจอร์ ครั้งสุดท้ายที่ทั้ง 2 ทีมเจอกัน คือฟุตบอลโลก 2014 รอบแรก ซึ่งอิตาลีชนะได้ 2-1 จากประตูของ “เคลาดิโอ มาคิซิโอ้” และ “มาริโอ บาโลเตลลี” ส่วนอังกฤษได้จาก “ดาเนียล สเตอร์ริดจ์” และครั้งก่อนหน้านั้นคือยูโร 2012 รอบ 8 ทีม ที่อิตาลีชนะอังกฤษได้เช่นกัน ในการดวลจุดโทษตัดสิน หลังเสมอกันในเวลา 0-0

การเจอกันในรายการเมเจอร์ 2 หนหลัง เป็นฝ่ายอิตาลี ที่กำชัยได้
(Source : NationalTurk)

(9) “แฮร์รี เคน” คือดาวซัลโวในรอบคัดเลือก ด้วยการยิงถึง 12 ประตู โดยขณะนี้ เขาก็ขึ้นมาเป็นดาวซัลโวของทีมในรอบสุดท้ายที่ 4 ประตู โดยตามหลัง “คริสเตียโน โรนัลโด้” อยู่แค่เพียงลูกเดียว ฝั่งอิตาลี รอบคัดเลือกพวกเขายิงเฉลี่ยกัน 3 ประตูถึง 4 คน และในรอบสุดท้ายนี้ พวกเขายังคงคอนเซ็ปท์เดิม ยิงได้สูงสุด 2 ประตูถึง 5 คน

(10) ตลอดการลงเล่น 6 นัดในยูโรรอบสุดท้ายหนนี้ อิตาลีเปลี่ยนตัวแทบจะเต็มโควตา โดยเปลี่ยนตัวไปถึง 31 ครั้ง (จากเปลี่ยนได้ 32 ครั้ง) ในขณะที่อังกฤษเปลี่ยนตัวไปแค่ 21 ครั้ง (จากที่เปลี่ยนได้ 31 ครั้ง)

เซาธ์เกตถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องการไม่ยอมเปลี่ยนตัวแก้เกม ใช้โควต้าไปแค่ 21 จาก 31 ครั้งเท่านั้น
(Source : Eurosport)

ข้อมูลที่ร่ายยาวมา เป็นเพียงพรีวิวประกอบก่อนการชม ผลจริงๆ จะเป็นยังไง ยากจะคาดเดา น่าติดตามเหลือเกินว่าสุดท้ายแล้ว แฟนๆ “สิงโตคำราม” อังกฤษ จะได้ร้องเพลง Football is Coming Home แบบบ้าคลั่งทั้งประเทศ หรือจะเป็น “อัซซูรี” อิตาลี ที่มาทำแสบพา Football is Coming Rome แทน ดึกคืนวันอาทิตย์นี้ มาลุ้นไปพร้อมกันครับ

Picture : UEFA, The Sun, Sky Sports, Sportskeeda, The Tech Tack, beIN SPORTS, 90Min, Independent, West Ham United, Indian Express, Eurosport, Sports Illustrated, Football is Business, InstaBumper Blog, FourFourTwo, Goal.com, Sampreinter, Calcio News 24, News in 24, Stuff, The Cult of Calcio, Marca, The Guardian, NationalTurk

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save