มิตรรัก นักแฟนตาซียูโร : ทำความรู้จักวิธีการเล่น และกฎ-กติกาละเอียดครบถ้วน! - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
มิตรรัก นักแฟนตาซียูโร : ทำความรู้จักวิธีการเล่น และกฎ-กติกาละเอียดครบถ้วน!

หลังปิดซีซันระดับสโมสรไปเรียบร้อย หยุดพักปีนี้เรามี “ยูโร 2020” มาให้ได้ดูแก้เหงากันด้วย แม้คำว่า “ดู” หนนี้อาจจะไม่ง่าย เพราะบ้านเราอาจจะไม่มีถ่ายทอดสดทางทีวี แต่ด้วยทีมชาติชั้นนำของยุโรปลงเล่นกันครบครัน เดี๋ยวแฟนบอลบ้านเราก็ต้องหาทางดูกันจนได้แหละ

ในส่วนรายละเอียดทัวร์นาเมนท์โดยทั่วไป ทั้งรูปแบบการแข่ง, สถานที่, ระยะเวลา รวมถึงการแนะนำทั้ง 24 ทีมในรอบสุดท้าย ผมได้ลงบทความไว้เรียบร้อยแล้ว ตามไปอ่านได้โดย >> คลิกที่นี่ <<

นอกจากติดตามชม การได้เล่นแฟนตาซีด้วยผู้เล่นชั้นนำเพียบ ก็น่าจะสนุกดีไม่หยอก
(Source : The Analyst)

นอกเหนือจากการติดตามเชียร์ที่รัก ไม่ว่าจะรักจริง หรือรักเฉพาะกิจ อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือแฟนตาซียูโร ซึ่งแม้อาจจะไม่คุ้นเคยเท่า FPL แต่มันก็มีความน่าสนใจให้ติดตาม ซึ่งผมจะมาแนะนำวิธีเล่น และกฎ-กติกากันละเอียดในโพสท์นี้

และเพื่อไม่ให้เสียเวลา เพราะคิดว่าเนื้อหาจะยาวพอสมควร เราไปดูกันตั้งแต่เริ่มต้นเลย ว่าจะเริ่มเล่นแฟนตาซียูโร 2020 ยังไง

[วิธีเข้าเล่น]

ความจริงแล้ว Application ของ UEFA น่าจะมีอัปเดตให้เข้าเล่นแฟนตาซียูโรได้ด้วย แต่ส่วนตัวผมใช้บราวเซอร์มาตลอด เพราะ UI ของ UEFA ก็ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ การดูในหน้าจอกว้างๆ จะสะดวกกว่ามาก ดังนั้นผมจะโฟกัสไปที่การเล่นผ่านบราวเซอร์อย่างเดียวเลยตลอดไกด์นี้

เริ่มแรกเราต้องเข้าไปยังเว็บของ UEFA ก่อน จะลอง search หาว่า fantasy EURO 2020 หรือจะ >> คลิกที่นี่ << ก็ได้ โดยเมื่อเข้าไปแล้ว ใครเคยมีแอคเคาท์ตั้งแต่ใช้เล่น Fantasy UCL หรือดูบอลผ่าน UEFA.tv ก็สามารถใช้อันเดิมได้เลย ใครไม่มีก็สมัครซะ ไม่ยาก

เข้าไปปุ๊บ ให้กด Login แล้วล็อคอินผ่านแอคเคาท์ที่มีอยู่แล้ว หรือสมัครใหม่ซะก่อน
(Source : UEFA)

เมื่อเข้าไปเจอหน้าจัดตัว ทั้งที่ยังไม่ล็อคอินหรือสมัครไอดี แนะนำให้กดสมัครก่อนเลย โดยกด “Login” ที่ด้านบนสุด ถ้าไม่มีไอดีกับ UEFA มาก่อนก็สมัครเลย หากใช้อีเมล์ (ผมใช้อีเมล์) ก็ทำการคลิกคอนเฟิร์มในอีเมล์ให้เสร็จ แล้วกรอกข้อมูลต่อให้เรียบร้อย

เมื่อการลงทะเบียน (หรือล็อคอิน) เสร็จสรรพ คุณก็สามารถจัดทีมในหน้านั้นได้เลย จะกดเลือก “Auto complete” ไว้ก่อนก็ได้ เพราะก่อนแมทช์แรกจะเริ่ม คุณเปลี่ยนตัวกี่ครั้งก็ได้ เค้าไม่จำกัด

ล็อคอินเรียบร้อย ก็จะเจอหน้าจัดทีมครั้งแรก ซึ่งอาจจะกด Auto complete ไปก่อนก็ได้
(Source : UEFA)

เลือกทีมเสร็จ ก็จะเข้าสู่หน้าให้กดเลือกกัปตันทีม กดเลือกไปก่อนอย่าซีเรียส และต่อไปก็จะเป็นหน้าตั้งชื่อทีมของคุณ ตั้งเสร็จก็จัดการเซฟได้เลย จะปรับเปลี่ยนอะไรค่อยทำหลังจากนั้นได้ไม่มีปัญหา

เซฟแล้วคุณจะเข้าสู่หน้า Overview ของแฟนตาซียูโร ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น นับถอยหลังเดดไลน์เปลี่ยนตัว (Transfer Deadline) ที่จะถึง, กดไปดูรางวัล, กดไปดูข่าวสารของเว็บทางการ, สร้างลีกย่อย/จอยลีก, ดูว่าใน Matchday นั้น มีวันย่อยกี่วันบ้าง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสลับตัว (Substitutions)

หน้า Overview จะเป็นหน้าหลักของแฟนตาซียูโร มีกำหนดการเตือนต่างๆ ซึ่งดีนะ
(Source : UEFA)

เปลี่ยนตัวคืออะไร สลับตัวคืออะไร ใครยังงง เดี๋ยวตามอ่านด้านล่างได้เลย จะอธิบายให้เข้าใจกันแบบเคลียร์ๆ ต่อไป

[กฎ-กติกาต่างๆ]

ก่อนจะไปว่ากันถึงเรื่องการจัดทีม ซึ่งจะแนะนำเทคนิคเบื้องต้นกันใน EP หน้า ขออธิบายถึงกฎ-กติกา และวิธีเล่นของแฟนตาซียูโรก่อน เพราะมันมีความแตกต่างจาก FPL อยู่พอสมควรเลย ค่อยๆ ไล่ดูกันไป หากเข้าใจถี่ถ้วน รับรองว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง

รู้จักกับ Matchday

ใครที่เคยเล่น FPL มา จะคุ้นเคยกับคำว่า Gameweek แต่กับแฟนตาซียูโร เค้าจะใช้คำว่า “Matchday” แทน โดยตลอดทัวร์นาเมนท์ จะมีทั้งหมด 7 Matchdays แบ่งเป็น

รอบแบ่งกลุ่ม (รอบแรก) นัดที่ 1 >> Matchday 1
รอบแบ่งกลุ่ม (รอบแรก) นัดที่ 2 >> Matchday 2
รอบแบ่งกลุ่ม (รอบแรก) นัดที่ 3 >> Matchday 3
รอบ 16 ทีมสุดท้าย (น็อคเอาท์) >> Matchday 4
รอบ 8 ทีมสุดท้าย (น็อคเอาท์) >> Matchday 5
รอบรองชนะเลิศ (น็อคเอาท์) >> Matchday 6
รอบชิงชนะเลิศ (ไม่มีชิงที่ 3) >> Matchday 7

ตารางแข่งยูโร 2020 แบ่งเป็น Matchday ได้ตามนี้เลย

แน่นอนว่า Matchday ทำหน้าที่เหมือนกัน Gameweek คือการแบ่งรอบการคิดคะแนนออกเป็น 7 รอบ ซึ่งจะสอดคล้องกับการ Transfer (ขอใช้คำไทยว่า “เปลี่ยนตัว” จะได้เหมือน FPL) ซึ่งจะมี Free Transfer ให้ได้ใช้ (เปลี่ยนเกินก็โดน -4 แต้ม ในแต่ละครั้ง) ซึ่งจะอธิบายละเอียดในส่วนต่อไป

Free Transfer

ขอต่อด้วยเรื่อง Free Transfer เลย เพราะพูดเกริ่นไปด้านบนแล้ว โดย Free Transfer หรือการเปลี่ยนตัวฟรีไม่เสียแต้ม มีรูปแบบเหมือนกับ FPL แต่จะต่างกันที่จำนวนการเปลี่ยนตัว ซึ่งแต่ละ Matchday ไม่เท่ากัน

ก่อนแมทช์แรกใน Matchday 1 เริ่ม : เปลี่ยนฟรีได้ไม่จำกัด (unlimit)
รอบแบ่งกลุ่ม (Matchday 1-3) : เปลี่ยนฟรีได้ 2 ครั้ง ต่อ Matchday
ก่อนเริ่มเตะรอบ 16 ทีม (Matchday 4) : เปลี่ยนฟรีได้ไม่จำกัด (unlimit)
ก่อนเริ่มเตะรอบ 8 ทีม (Matchday 5) : เปลี่ยนฟรีได้ 3 ครั้ง
ก่อนเริ่มเตะรอบรองฯ (Matchday 6) : เปลี่ยนฟรีได้ 5 ครั้ง
ก่อนเริ่มเตะรอบชิงฯ (Matchday 7) : เปลี่ยนฟรีได้ 5 ครั้ง

Transfer คือการเปลี่ยนตัวในทีมของเราออก แล้วเอาตัวอื่นมาแทน โดยมีลิมิต Free Transfer อยู่
(Source : UEFA)

ที่เขาทำให้มีการเปลี่ยนได้มากกว่า 1 ครั้งตามที่ FPL ใช้ ก็เพราะแมทช์การแข่งขันมันมีน้อย และมีทีมกระเด็นตกรอบไปเรื่อยๆ ระหว่างเส้นทาง ยิ่งเข้ารอบลึกจำนวนทีมยิ่งน้อย เลยมีสิทธิ์เปลี่ยนฟรี หรือ FT มากขึ้นตามไปด้วย

อีกสิ่งสำคัญ นั่นคือการใช้ Free Transfer ไม่ครบ เพื่อถือ FT ข้ามไปยัง Matchday ต่อไป สามารถทำได้เช่นเดียวกับ FPL แต่จะสะสม FT ไปยัง Matchday ถัดไปได้สูงสุดเพียง 1 ครั้งเช่นกัน

**เพิ่มเติม เพิ่งไปอ่านเจอเมื่อ 9 มิ.ย.**
มีการระบุใน Rules ของแฟนตาซียูโรว่า “เมื่อเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ จะไม่สามารถถือ FT ข้ามไปยัง Matchday ต่อไปได้”​ (เค้าเขียนไว้แบบนี้ / ดังนั้นตีความได้ว่า สามารถถือ FT ที่ใช้ไม่หมด ข้ามไปได้แค่รอบแบ่งกลุ่ม หรือ Matchday 1-3 เท่านั้น

การจัดทีม

ประเด็นสำคัญต่อไปคือการจัดทีม ที่มีบางจุดเหมือน FPL แต่ก็มีอีกหลายรายละเอียดที่แตกต่าง ดังนั้นต้องไปไล่ดูกันให้ละเอียด

ข้อจำกัดของการเลือกนักเตะ

อย่างแรกเช่นเดียวกับ FPL คือจะมีงบประมาณรวมจำกัด โดยแฟนตาซียูโร จะเป็น 100 ล้านยูโรในรอบแบ่งกลุ่ม (Matchday 1-3) และเพิ่มเป็น 105 ล้านยูโร ในรอบน็อคเอาท์ (Matchday 4-7)

งบประมาณเป็นข้อจำกัดสำคัญแรกของแฟนตาซียูโร โดยรอบแบ่งกลุ่มมี 100 ส่วนรอบน็อคเอาท์มี 105 ล้านยูโร
(Source : UEFA)

อย่างต่อไปคือการจำกัดนักเตะแต่ละชาติในทีมของเรา ซึ่งจะมีแบ่งจำนวนไปตามรอบต่างๆ ของการแข่งขัน ดังนี้
รอบแบ่งกลุ่ม (Matchday 1-3) : เลือกผู้เล่นแต่ละชาติได้เพียง 3 ตัว เท่านั้น
รอบ 16 ทีมสุดท้าย (Matchday 4) : เลือกผู้เล่นแต่ละชาติได้เพียง 4 ตัว เท่านั้น
รอบ 8 ทีมสุดท้าย (Matchday 5) : เลือกผู้เล่นแต่ละชาติได้เพียง 5 ตัว เท่านั้น
รอบรองชนะเลิศ (Matchday 6) : เลือกผู้เล่นแต่ละชาติได้เพียง 6 ตัว เท่านั้น
รอบชิงชนะเลิศ (Matchday 7) : เลือกผู้เล่นแต่ละชาติได้เพียง 8 ตัว เท่านั้น

แผนการจัดทีม

การจัดทีมต้องเลือกนักเตะทั้งหมด 15 คน โดยแบ่งเป็น ผู้รักษาประตู x2, กองหลัง x5, กองกลาง x5 และกองหน้า x3 ซึ่งไม่แตกต่างจาก FPL

การเลือกทั้งหมด 15 ตัว และจัดเป็นตัวจริง 11 ตัว ไม่แตกต่างจาก FPL เท่าไหร่
(Source : UEFA)

แผนที่เลือกวาง 11 ตัว มีข้อจำกัดว่า (1) ต้องมีผู้รักษาประตู 1 คน (2) ต้องมีกองหลังอย่างน้อย 3 คน (3) ต้องมีกองกลางอย่างน้อย 2 คน (4) ต้องมีกองหน้าอย่างน้อย 1 คน

ในผู้เล่นที่จัดลง 11 ตัวจริง ต้องมีการเลือก 1 ตัวเป็นกัปตันทีม ซึ่งจะได้คะแนนคูณ 2 ใน Matchday นั้น แต่ไม่มีการเลือกรองกัปตันทีมแต่อย่างใด ซึ่งอันนี้แตกต่างจาก FPL

การสลับตัว (Substitutions)

ถึงหัวข้อสำคัญ ที่แฟนตาซียูโร มีความต่างจาก FPL เป็นอย่างมาก นั่นคือการ “สลับตัว” (Substitutions) ซึ่งที่ผมใช้คำว่า “สลับตัว” นั้น เพราะกุนซือทุกท่านใช้คำว่า “เปลี่ยนตัว” คุ้นเคยกับการ Transfer กันอยู่แล้ว เลยไม่อยากไปเปลี่ยนให้สับสน ดังนั้นหากผมใช้คำว่า “สลับตัว” ขอให้เข้าใจว่ามันคือการสลับตัวภายในทีม 15 คน เท่านั้น

ฟังก์ชันการสลับตัว (Substitutions) ถือเป็นจุดเด่นของแฟนตาซียูโร ต้องทำความเข้าใจให้ดี
(Source : UEFA)

กลับเข้าเรื่องการสลับตัว ในรูปแบบของแฟนตาซียูโร จะมีทั้ง “การสลับตัวแบบเราทำเอง” (Manual Substitutions) และ “การสลับตัวแบบอัตโนมัติโดยระบบ” (Auto Substitutions) ซึ่งจะอธิบายให้ฟังเน้นๆ ตามรายละเอียดด้านล่างนี้

เดดไลน์ของการสลับตัว (Substitutions Deadline)

เนื่องจากแฟนตาซียูโร นอกจากจะมีเดดไลน์ของการเปลี่ยนตัว (Transfer Deadline) ซึ่งแต่ละ Matchday มีเดดไลน์เดียว (ก่อนแมทช์แรกของ Matchday จะเริ่มคิกออฟ – จะไม่เหมือน FPL ที่ล่วงหน้าก่อนเตะถึง 90 นาที) ยังจะมี “เดดไลน์ของการสลับตัว” (Substitutions Deadline) อยู่ด้วย ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อน ไม่งั้นงงแน่

จากตารางกำหนด Matchday สังเกตดูให้ดีว่าจะมี “เดดไลน์สลับตัว” แทรกอยู่ด้วย (สีฟ้า)

สิ่งแรกที่สำคัญมาก คือด้วยเวลาบ้านเราต้องบวกไม่น้อยกว่า 5-7 ชั่วโมงจากเวลาเตะจริงในยุโรป ทำให้อาจจะสับสนเรื่องการแบ่งวัน ดังนั้นต้องมองข้ามการแบ่งวันตามสากลไป ให้คิดใหม่ง่ายๆ ว่าจะเริ่มวันใหม่คือ 6 โมงเช้า ยกตัวอย่างเช่น เกมที่เตะ 02.00 น. ก็ยังขอให้นับเป็นวันเก่า อย่างแมทช์เปิดสนาม ตุรกี-อิตาลี เตะตี 2 ของดึกคืนวันที่ 11 มิ.ย. ก็ขอให้นับว่ายังอยู่ในวันที่ 11 มิ.ย. อย่าไปนับตามสากล จะได้ไม่งง

เมื่อเข้าใจการนับเวลาแต่ละวันแล้ว ก็มาดู “เดดไลน์ของการสลับตัว” ซึ่งจะแบ่งเป็นตามวันในระหว่างที่ Matchday รันอยู่เลย ยกตัวอย่างเช่น Matchday 1 หรือการเตะรอบแบ่งกลุ่มนัดแรกของทุกทีม จะมีวันย่อยๆ ตามนี้
[วันที่ 1] 11 มิ.ย. มีเตะ 1 แมทช์
[วันที่ 2] 12 มิ.ย. มีเตะ 3 แมทช์
[วันที่ 3] 13 มิ.ย. มีเตะ 3 แมทช์
[วันที่ 4] 14 มิ.ย. มีเตะ 3 แมทช์
[วันที่ 5] 15 มิ.ย. มีเตะ 2 แมทช์

อย่างตารางในเว็บ จะเห็นว่าระหว่างวันที่ 2 และ 3 จะมีช่วงให้เรา “สลับตัว” ได้อยู่
(Source : UEFA)

สังเกตได้ว่าภายใน Matchday เดียว อย่าง Matchday 1 มีเกมลงเตะมากถึง 5 วัน ซึ่งแต่ละวันที่ว่าไป แฟนตาซียูโรจะเปิดโอกาสให้มีการ “สลับตัว” เกิดขึ้นในทุกวัน (คนละอย่างกับการ “เปลี่ยนตัว” นะ) เพื่อเพิ่มความสนุกในการเข้ามาเล่นทุกวันที่มีบอลเตะ

ดังนั้นเราต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า วันไหนที่มีบอลยูโรเตะ ก็เท่ากับจะมีเดดไลน์ของการสลับตัววางอยู่ด้วย ซึ่งทำให้เราสามารถสลับตัวผู้เล่นใน 15 ตัวได้ระหว่างวัน จนกว่าจะถึงเวลาคิกออฟของ “คู่แรกของวัน” ตัวอย่างเช่น วันที่ 13 มิ.ย. คู่แรกที่เตะคืออังกฤษ-โครเอเชีย เวลา 20.00 น. เดดไลน์ของการสลับตัวประจำวันก็คือ 20.00 น. นั่นเลย

พอเข้าใจแล้วเราจะว่ากันต่อในส่วนของกฎการสลับตัว เพราะมันมีทั้งแบบ Manual และ Auto เสียด้วย (อย่ากังวล เข้าใจไม่ยากน่า!)

การสลับตัวแบบเราทำเอง (Manual Substitutions)

หัวใจหลักของการสลับตัวมี 2 อย่าง นั่นคือ (1) เขาอนุญาตให้สลับตัวที่ยังไม่ได้เล่นเข้ามาแทนเท่านั้น ดังนั้นใครจัดตัวสำรองตัวไหนที่ลงเตะไปแล้ว แต่ดันทำคะแนนได้ดีขึ้นมา แล้วอยากจะสลับขึ้นมาเอาคะแนนทีหลัง จะไม่สามารถทำได้แต่อย่างใด

นอกจากนั้นอีกกฎเหล็กสำคัญ คือ (2) ตัวที่ถูกสลับออกไปเป็นสำรอง แล้วกดยืนยันเรียบร้อย ตัวนั้นจะไม่ถูกนำมาคิดคะแนนใน Matchday นั้นทันที ประมาณว่าทิ้งของไปแล้ว จะเปลี่ยนใจเก็บกลับมาไม่ได้

ตัวที่เราจะสลับเข้า ต้องเป็นตัวที่ยังไม่ได้ลงเตะเท่านั้น ส่วนตัวที่สลับออก เหมือนโยนทิ้งไม่เอาคะแนน
(Source : UEFA)

ซึ่งนอกจากการสลับตัวที่ยังไม่ได้ลงเตะใน Matchday นั้น ขึ้นมาแทนแล้ว คุณยังสามารถสลับมอบปลอกแขนกัปตันให้นักเตะที่ยังไม่ได้ลงเล่นได้อีกด้วย ซึ่งนั่นเป็นจุดเด่นสำคัญ หากกัปตันที่มีแมทช์เตะไปก่อน เกิดทำคะแนนไม่ตามเป้า คุณจะยังมีโอกาสลุ้นกับตัวใหม่ที่ยังไม่ลงเล่นได้อยู่

โดยการสลับกัปตันนั้น ก็ต้องสอดคล้องกับ 2 ข้อที่อธิบายด้านบน นั่นคือต้องสลับให้ตัวที่ยังไม่ได้ลงเตะเท่านั้น และเมื่อตัดสินใจคอนเฟิร์มการสลับแล้ว กัปตันทีมเดิม ก็จะไม่สามารถย้อนมาเอาคะแนนคูณ 2 ได้อีก เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย ห้ามเปลี่ยนใจ

นอกจากสลับตัวแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนกัปตันไปยังตัวที่ยังไม่ได้ลงเล่นอีกด้วย
(Source : UEFA)

การสลับตัวแบบอัตโนมัติ (Auto Substitutions)

แม้การสลับตัวแบบเราทำเอง จะเป็นจุดเด่นที่สำคัญของแฟนตาซียูโร แต่เค้าก็มีการสลับตัวแบบอัตโนมัติไว้รองรับด้วย สำหรับคนที่ไม่ได้แตะต้องสลับตัวเองเลยระหว่าง Matchday

การสลับตัวแบบอัตโนมัติ มีความคล้ายคลึงกับ FPL นั่นคือ ผู้รักษาประตูจะสลับกับผู้รักษาประตูเท่านั้น หากโกล์ตัวจริงเราไม่ได้ลงเล่น โกล์สำรองก็ขึ้นไปแทน ส่วนตำแหน่งอื่น ก็จะสลับตามลำดับที่เราจัดไว้ โดยลำดับจะถูกมองข้ามไป หากสลับแล้วขัดต่อกฎการจัดทีม ที่พูดถึงไปแล้วด้านบน

ก่อนเดดไลน์เปลี่ยนตัว สามารถจัดลำดับตัวสำรองได้เหมือน FPL
(Source : UEFA)

สิ่งที่ต้องย้ำกัน คือกลไกการสลับตัวแบบอัตโนมัติ จะเกิดก็ต่อเมื่อคุณไม่ไปแตะต้องสลับเองเลยระหว่าง Matchday ถ้ามีการ Manual แค่ตัวเดียว ไม่ว่าจะสลับสำรองขึ้นมาแทนตัวจริง, สลับกัปตัน หรือสลับตำแหน่งตัวสำรอง กลไกอัตโนมัติจะไม่ทำงานใน Matchday นั้นทันที

เงื่อนไขการสลับกัปตันทีม

นอกเหนือจากการสลับตัวทั้ง Manual และ Auto การสลับกัปตันยังมีข้อควรทราบอีกเล็กน้อยดังนี้

การสลับกัปตัน ไม่จำเป็นต้องสลับให้ตัวสำรองที่เปลี่ยนขึ้นมาแทนตัวจริงเท่านั้น คุณสามารถสลับกัปตันไปให้ 11 ตัวจริงด้วยกันก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าตัวที่จะได้ปลอกแขนใหม่ ต้องยังไม่ลงเล่นเท่านั้น

ข้อควรทราบต่อไปคือ หากกัปตันที่คุณเลือกไว้แต่แรกไม่ได้ลงเล่น และไม่มีการแตะต้องใช้การสลับตัวใดๆ ระหว่าง Matchday กัปตันของคุณจะเข้าข่ายถูกสลับตัวแบบอัตโนมัติตามปกติ โดยดึงสำรองขึ้นมาแทน แต่ตัวสำรองนั้นจะไม่ได้คะแนนคูณ 2 แต่อย่างใด

เงื่อนไขของกัปตันทีมเมื่อโดนใบแดง คุณจะไม่สามารถสลับตัวสำรองมาแทนได้
(Source : Soccer Refereeing Blog)

และข้อสุดท้ายที่น่าสนใจ นั่นคือหากกัปตันทีมของคุณโดนใบแดง คุณจะไม่สามารถสลับเอาตัวสำรองขึ้นมาแทนได้ แต่คุณสามารถเปลี่ยนปลอกแขนกัปตันไปให้นักเตะใน 11 ตัวจริงรายอื่นได้ โดยรายใหม่นั้นต้องยังไม่ลงเล่น

ตัวช่วย (Chips)

ตัวช่วยเป็นอีกหัวข้อที่แฟนตาซียูโรแตกต่างจาก FPL พอสมควร เพราะเขาจะมีแค่ Wildcard และ Limitless อย่างละ 1 ครั้งให้ใช้ตลอดทัวร์นาเมนท์เท่านั้น โดยรายละเอียดแต่ละตัวช่วย มีดังนี้

Wildcard

ทั้งชื่อและคุณสมบัติ คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว มันคือการเปลี่ยนตัวใน Matchday นั้นแบบไม่เสียแต้มลบใดๆ จะเปลี่ยนกี่ครั้ง หรือเปลี่ยนยกทีมก็ฟรี

(Source : Goal.com)

ความครอบคลุมของ Wildcard ก็ไม่ต่างจาก FPL นั่นคือเมื่อยืนยันแล้ว ไม่สามารถยกเลิกใช้ได้ และไม่ว่าจะเปลี่ยนตัวไปก่อนค่อยกดใช้ หรือกดใช้ก่อนค่อยเปลี่ยนตัว Wildcard จะ activate ครอบคลุม ไม่เสียแต้มลบแน่นอน

ข้อสังเกตอีกอย่าง แม้ Wildcard จะมีให้ใช้แค่หนเดียว แต่หลังจบ Matchday 3 ก่อนเข้ารอบน็อคเอาท์ หรือ Matchday 4 เกมจะให้คุณเปลี่ยนตัวไม่จำกัด ดังนั้นจึงเป็นเหมือน Wildcard อีกหน ซึ่งมีประโยชน์ต่อการวางแผนแน่นอน ต้องใช้ให้คุ้มค่า

Limitless

แม้ชื่อจะไม่คุ้นเคย แต่จริงๆ มันคือ Free Hit นั่นแหละ เพียงแต่มันมีประสิทธิภาพเพิ่มเติม คือสามารถจัดตัวใน Matchday นั้น ได้แบบไม่จำกัดงบประมาณอีกด้วย จะเลือกตัวแพงทั้งทีมก็สามารถทำได้

(Source : Sports Mole)

ความเหมือนกับ Free Hit นั่นคือนักเตะที่คุณเลือกจากตัวช่วย Limitless จะคงอยู่แค่ Matchday นั้น เมื่อผ่านเดดไลน์ไป นักเตะจะกลับมาเป็นชุดเดิมที่คุณใช้ใน Matchday ก่อนหน้า

ความครอบคลุมของ Limitless ก็เหมือนกับ Free Hit นั่นคือเมื่อยืนยันแล้ว ไม่สามารถยกเลิกใช้ได้ และไม่ว่าจะเปลี่ยนตัวไปก่อนค่อยกดใช้ หรือกดใช้ก่อนค่อยเปลี่ยนตัว Limitless จะ activate ครอบคลุม ไม่เสียแต้มลบแน่นอน

เดดไลน์การเปลี่ยนตัว (Transfer Deadline)

เดดไลน์การเปลี่ยนตัว (Transfer) ขอเอามาพูดทีหลัง เพื่อไม่ให้ไปปะปนกับเดดไลน์การสลับตัว (Substitutions Deadline) ที่เป็นสิ่งใหม่ของคนที่เล่น FPL มา

แปะรูปเดิมอีกที “เดดไลน์เปลี่ยนตัว” คือสีแดง ตรงกับเวลาคิกออฟของคู่แรกใน Matchday นั้นๆ เลย

เดดไลน์การเปลี่ยนตัวนั้นก็สอดคล้องกับการแบ่ง Matchday แต่จะแตกต่างจาก FPL ตรงที่เขาขีดเส้นเดดไลน์พร้อมกับแมทช์แรกของ Matchday นั้นคิกออฟเลย ไม่มีการกำหนดล่วงหน้า 60 หรือ 90 นาที แต่อย่างใด ดังนั้นรอดูรายชื่อตัวจริงของแมทช์แรกได้สบาย

การคิดคะแนน

การคิดคะแนนของนักเตะ มีความคล้ายคลึงกับ FPL โดยส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางหัวข้อที่แตกต่าง เช่น การเรียกจุดโทษได้, การทำเสียจุดโทษ, การทำประตูได้จากนอกกรอบ เป็นต้น สามารถดูรายละเอียดได้ในเว็บ (หัวข้อ Rules) หรือจะดูที่แคปเจอร์มาตรงนี้ก็ได้

(Source : UEFA)

นอกจากการคิดคะแนนตามตารางเบื้องต้น ยังมีรายละเอียดที่แฟนตาซียูโรอธิบายไว้เพิ่มเติมในบางเคสที่อาจจะคลุมเครือ ดังนี้

คลีนชีต

ผู้เล่นที่จะได้คลีนชีต คือผู้ที่อยู่ในสนามอย่างน้อย 60 นาทีเท่านั้น (เหมือน FPL) โดยหากโดนเปลี่ยนตัวออกไปแล้ว หน้าที่รับผิดชอบถือว่าสิ้นสุด ทีมมาเสียประตูหลังจากนั้น จะไม่นับแต่อย่างใด

ใบแดง

คล้ายกับ FPL นักเตะที่โดนไล่ออกจะต้องรับผิดชอบการเสียประตูของทีมไปจนจบเกมด้วย โดยการโดนไล่ออก ไม่ว่าจะเป็นแบบแดงโดยตรง, โดน 2 ใบเหลือง, โดนใบเหลืองก่อน แล้วโดนใบแดงโดยตรง จะคิดคะแนนเป็นการโดนใบแดงเพียง 1 ใบเท่ากันหมด

ส่วนเรื่องการสลับตัวกัปตันที่โดนใบแดง ได้อธิบายไว้ด้านบนแล้ว

แอสซิสต์

เป็นอีกหัวข้อคลาสสิกที่ต้องตีความกันตลอด หากมีลูกที่มันก้ำกึ่ง หรือลูกที่ “เอ๊ะ ยังไงนะ?” ซึ่งผมจะขอแปลมาตรงๆ จากที่แฟนตาซียูโรเค้าลงไว้ละกัน เพื่อไม่ให้มันคลาดเคลื่อนจากที่เค้าอยากจะสื่อสาร

ขอคั่นด้วย 2 นักเตะทำแอสซิสต์สูงสุดในยูโรหนที่แล้ว อาซาร์และแรมพ์ซี่ย์ มาเตะหนนี้ทั้งคู่
(Source : Eurosport)

ผู้เล่นจะได้แอสซิสต์ เมื่อทำการจ่ายบอลสั้น, เปิดบอลยาว, โหม่ง หรือยิง แล้วนำไปสู่ประตูในจังหวะถัดไป โดยนับรวม Set Plays ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเตะมุม, ฟรีคิก หรือทุ่ม

ผู้เล่นจะได้แอสซิสต์ เมื่อมีการยิงประตู ไปโดนโกล์เซฟ, ชนเสา, ขนคาน, ชนกองหลัง แล้วมีเพื่อนมาซ้ำเข้าไปเป็นประตู

ถ้ามีจังหวะขลุกขลิก หรือชนเสา/คาน ก็ต้องรอลุ้นแหละ ว่าเข้าข่ายที่เขาอธิบายไว้มั้ย
(Source : The San Diego Union)

ผู้เล่นจะได้แอสซิสต์ เมื่อการจ่ายบอลสั้น, เปิดบอลยาว, ยิงประตู นำไปสู่การทำเข้าประตูตัวเองในจังหวะถัดไป

ผู้เล่นจะไม่ได้แอสซิสต์ หากเป็นผู้เรียกจุดโทษได้ แล้วเพื่อนอีกคนยิงเข้าจุดโทษเข้าไป แต่จะได้คะแนนจากการเรียกจุดโทษแทน (ตามตารางคะแนนด้านบน)

ในแต่ละประตู จะมีผู้ได้แอสซิสตืแค่เพียง 1 คนเท่านั้น และหากประตูได้มาจากการโซโล่ไปยิง (solo run), การเลี้ยงหลบไปยิง (dribble) จะไม่มีใครได้แอสซิสต์

การต่อเวลา และยิงจุดโทษตัดสิน

เนื่องจากยูโรรอบน็อคเอาท์ เป็นแบบนัดเดียวรู้ผล ดังนั้นหากเสมอใน 90 นาที ย่อมมีการต่อเวลาพิเศษ หรือการยิงจุดโทษตัดสิน หาก 120 นาทียังหาผู้ชนะไม่ได้

กติกาการได้รับคะแนนของนักเตะของแฟนตาซียูโร จะพิเศษหน่อยตรงที่จะนับถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ 120 นาที แต่กับการยิงลูกโทษตัดสิน จะไม่นำมาคิดคะแนนแต่อย่างใด

ลีกย่อย (มินิลีก)

ลีกย่อยของแฟนตาซียูโร ก็จะมีทั้ง Private และ Public ไม่แตกต่างจาก FPL แต่อาจจะมีรายละเอียดข้างในที่แตกต่างกัน

Private League

เรื่องของลีกย่อย สามารถเข้าเมนู “Leagues” โดย Private League สามารถสร้างหรือจอยได้
(Source : UEFA)

คุณสามารถสร้างลีก แล้วชวนเพื่อนที่รู้จักมาจอย โดยการแชร์ลิงค์ และ code ที่สร้างขึ้นเฉพาะลีกของคุณ ทั้งหมดสามารถทำได้ผ่านเมนู Leagues ที่อยู่ด้านบน โดย Private League จะมีแค่แบบคิดคะแนนธรรมดา (Classic) ไม่มี H2H แต่อย่างใด

และสำหรับใครที่เคยมีลีกในแฟนตาซี UCL มาก่อนแล้ว ก็สามารถ reactivate ลีกของคุณในยูโร 2020 ได้ด้วย อย่างของกลุ่มแชทของเรา ก็ทำการ reactivate ไปเรียบร้อยแล้ว ตามไปแจมกันได้ โดยดูรายละเอียดในกลุ่มแชท >> คลิกที่นี่ <<

Public League

Public League มีความ auto อยู่ในตัว เป็น Overall, ชาติของเรา และทีมที่เราเชียร์
(Source : UEFA)

ส่วนลีก Public จะเรียกว่าเป็น Auto League ก็ได้ โดยจะมี 3 ลีก นั่นคือ (1) ลีกคะแนน Overall กับทุกคนในโลก (2) ลีกตามประเทศของคุณ (3) ลีกตามทีมชาติที่คุณเชียร์

นั่นแหละครับ ที่บอกว่ายาว ก็ยาวถึงใจจริงๆ เพราะมันมีรายละเอียดที่ต้องอธิบายยิบย่อยค่อนข้างมาก เพื่อทำความเข้าใจ หวังว่าทุกท่านจะติดตามได้เข้าใจ และเตรียมตัวเล่นได้สนุกขึ้น เพราะหากยังงงในระหว่างที่เริ่มเตะไปแล้ว รับรองว่าจะมึนตึ้บแน่ โดยเฉพาะเรื่องการ “สลับตัว”

ในส่วนของเทคนิคการจัดทีม ผมขออนุญาตยกไปใน EP ถัดไป เพราะการวางรูปแบบที่สามารถสลับตัวได้ระหว่าง Matchday ทำให้เรามีเทคนิคที่เล่นแตกต่างจาก FPL ไว้ EP หน้าจะมาแชร์ให้ทราบ ระหว่างนี้ก็ทำความเข้าใจกฎ และจัดตัวเบื้องต้นไปก่อนเนอะ!

Picture : UEFA, The Analyst, Soccer Refereeing Blog, Goal.com, Sports Mole, Eurosport, The San Diego Union

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save