“เพิ่มความจำ” ด้วยการไขความลับของสมองด้วยวิทยาศาสตร์ - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
“เพิ่มความจำ” ด้วยการไขความลับของสมองด้วยวิทยาศาสตร์

เพื่อนๆ เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมระบบความทรงจำของสมองคนเรานั้นถึงได้แสนประหลาด “อะไรที่อยากจำกลับลืม อะไรที่อยากลืมกลับจำ” บางคนลืมได้กระทั่งเรื่องสำคัญๆ

อย่างไรก็ดีเราเชื่อว่าทุกคนอยากจะสั่งให้สมองทำงานเหมือนหน่วยเก็บความจำของคอมพิวเตอร์ที่สามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งหมดที่อยากจะเก็บ และสามารถลบข้อมูลทุกอย่างที่ไม่ต้องการได้อย่างใจนึก

นอกจากนี้เราก็เชื่อว่าทุกคนอยากมีความจำดี เพื่อจะได้เรียนเก่ง เรียนรู้งานได้เร็ว สอนอะไรก็จำได้ เข้าใจง่าย แต่ตราบใดที่คุณยังไม่เข้าใจความลับการทำงานของระบบความจำของ “สมองมนุษย์” คุณก็จะไม่สามารถพัฒนาความจำของตัวเองให้ดีขึ้นได้มากไปกว่านี้ ดังนั้นวันนี้เราจะพาเพื่อนๆ The Macho ทุกคนมาไขความลับการทำงานของระบบความจำของสมองกัน

ผู้ที่เริ่มต้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “ความจำ” ของสมองเป็นคนแรกของโลก

ผู้ที่ศึกษาเรื่องระบบความจำของสมองมนุษย์อย่างเป็นวิชาการเป็นคนแรกของโลกก็คือนาย เฮอร์มานน์ เอบบิงเฮาส์ (Hermann Ebbinghaus) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันที่ได้เริ่มศึกษาเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 1880 โดยเขาได้ใช้เวลาวิจัยเรื่องนี้กับตัวเองโดยลำพังเป็นเวลาหลายปีเพื่อไขความลับความจำของมนุษย์

วิธีการศึกษาของเฮอร์มันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เขาแค่ทดลองให้ตัวเองได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งใหม่ๆ แล้วจดบันทึกว่าเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปนั้นจำอะไรได้บ้างแล้ว โดยไม่กลับไปทบทวน เขาทำวนๆ ซ้ำแบบนี้หลายรอบ กับหลายเรื่องราวมาก จนสามารถสรุปได้ว่า

เมื่อเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อผ่านไป 20 นาทีแรกสิ่งที่เราจำได้จะเหลือ 60% และเมื่อผ่านไป 1 ชั่วโมง สิ่งที่จำได้จะเหลือ 50% และเมื่อผ่านไป 9 ชั่วโมง สิ่งที่จำได้จะเหลือเพียงแค่ 20% เท่านั้น แล้วจากนั้นความทรงจำ 20% ที่เหลือนี้ก็มีแนวโน้มคงที่ (ลดลงทีละนิดๆ) นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าเราจะจดจำมันได้ไปอีกหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ แต่หากผ่านไปเป็นเดือนๆ ก็ย่อมลืมได้

Forgetting Curve

 หลังจากที่ เฮอร์มานน์ ได้ทำการวิจัยนี้ผ่านไป 5 ปี ในปี ค.ศ. 1885 เขาก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยนี้ให้แวดวงวิชาการได้รับรู้ โดยไฮไลท์สำคัญของการตีพิมพ์ซึ่งเป็นการสรุปรวมทุกสิ่งก็คือ “Forgetting Curve” หรือ กราฟแห่งการลืม อันเลื่องชื่อซึ่งดูเหมือนว่ากราฟนี้กราฟเดียวจะเป็นการสรุปทุกสิ่งที่เขาได้ทำมาห้าปี

งานวิจัยของ เฮอร์มาน ได้รับการยอมรับจากนักประสาทวิทยาสมัยใหม่

อย่างไรก็ดี ในการศึกษาวิจัยของเฮอร์มานนั้น เขาได้ทำการบันทึกความจำแต่ละเรื่องใหม่ๆ ที่เขาศึกษาเพียง 31 วันเท่านั้น นักประสาทวิทยา (Nuerobiologist) ยืนยันว่า หากเวลาผ่านไปหลายเดือน หรือเป็นปี ความทรงจำนั้นย่อมเลือนหายไปมาก แต่จะไม่ถึงกับลืมไปหมดเสียทีเดียว เพราะมันจะถูกซ่อนไว้ใน Deep State ของระบบความทรงจำที่ค้นหาได้ยากแล้ว

นักประสาทวิทยาสมัยใหม่ยืนยันว่าการอธิบายกระบวนการจำ และการลืมของสมองมนุษย์ที่เฮอร์มานได้ทำไว้นั้นถูกต้อง เป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งใครได้อ่านแล้วสามารถหยิบไปใช้เพื่อประโยชน์สำหรับพัฒนาความจำ และพัฒนาการเรียนรู้ได้ทันที

นักประสาทวิทยาสมัยใหม่ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า สมองมนุษย์ไม่ได้มีการทำงานเหมือนหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ ใครที่คิดว่าเราเรียนสิ่งใดแล้วสามารถจดจำได้ทุกสิ่ง ย่อมเป็นการเข้าใจผิด สมองคนเราจะจดจำได้แต่สิ่งที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ตกผลึกเท่านั้น หรือไม่ก็จะต้องเป็นสิ่งที่ต้องใช้บ่อยๆ เช่น เราสามารถจดจำเบอร์โทรศัพท์ของเราที่ใช้อยู่ได้ทุกเบอร์ จดจำรหัสนักศึกษาได้ จดจำบ้านเลขที่ได้ จดจำหมายเลขพาสปอร์ตได้ จดจำหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนได้ และจดจำสิ่งที่จำฝังใจได้ เป็นต้น

 ในทางตรงข้าม เรามักจะลืมสิ่งที่เราไม่ได้สนใจ ยกตัวอย่างเช่น นายคนนั้นจำได้ว่าเคยแลกนามบัตรกันในงานประชุมวิชาการครั้งที่แล้ว เห็นหน้ากันครั้งนี้จำชื่อไม่ได้ แต่จำหน้าได้ หรือกระทั่งการพูดคุยอย่างสนุกสนานกับเพื่อนๆ ในงานสังสรรค์ จนลืมว่าวางกุญแจรถไว้ที่ไหนจนต้องหากันวุ่น จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นเรื่องที่เพิ่งผ่านมาแป๊บๆ แต่หากเราไม่สนใจก็จะจดจำมันไม่ได้

ความจำมนุษย์ไม่เหมือน “ฮาร์ดดิส” แต่เหมือน “ต้นไม้” ที่ต้องรดน้ำทุกวัน

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราจะสรุปให้เพื่อนๆ เข้าใจง่ายๆ การทำงานของระบบความจำในสมองมนุษย์นั้นแตกต่างจากฮาร์ดดิสคอมพิวเตอร์ที่จำได้ทุกสิ่งไม่ว่าจะนานแค่ไหน แม้ได้ไม่ได้เปิดไฟล์ทุกวัน แต่เปิดเมื่อไหร่ข้อมูลทุกอย่างก็ยังคงอยู่ครบถ้วนในนั้น ตรงข้ามความทรงจำในสมองมนุษย์ทำงานคล้ายกับ “ต้นไม้” ที่ต้องรดน้ำเป็นประจำ มิเช่นนั้นแล้วต้นไม้นั้นก็จะเหี่ยวเฉาตายไป

ดังนั้นหากคุณต้องการจะจำสิ่งใดได้จะต้องหมั่นทบทวนสิ่งนั้น หรือไม่ก็ใช้งานมันเป็นประจำ ให้กลายเป็นทักษะความเชี่ยวชาญ ตกผลึกติดตัวไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับการที่คุณสามารถปั่นจักรยาน ตีเทนนิส หรือเล่นสกี เมื่อทำได้จนเป็นทักษะแล้วก็จะจดจำมันได้ตลอดไป เช่น ถ้าคุณเล่นสกีเป็นแล้วแม้ว่าคุณจะไม่ได้เล่นสกีมาเป็นหลายปี เพราะไม่ค่อยมีเวลาได้ออกไปต่างประเทศ แต่หากปีนี้คุณมีโอกาสได้เล่นอีก คุณก็สามารถเล่นได้เลยไม่ต้องมาฝึกใหม่ใช่มั้ยล่ะ

แต่ถ้าหากคุณอยากลืมสิ่งใด วิธีการง่ายๆ ก็แค่ไม่ต้องไปสนใจคิดถึงมัน พยายามหากห้ามใจ หันเหความสนใจไปที่สิ่งอื่นๆ เช่นคนที่กำลังอกหัก อยากลืมเรื่องราวเก่าๆ ก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยการหันเหความสนใจไปที่สิ่งใหม่ๆ ห้ามใจตัวเองไม่ให้หวนคิดถึงเรื่องราวในอดีต นานวันเข้าความทรงจำเหล่านั้นก็จะค่อยเลือนหายไป หรือต่อให้จำได้บ้าง คุณก็จะไม่รู้สึกอะไรกับมันเท่าไหร่แล้ว

และนี่ก็คือเรื่องราวความลับเกี่ยวกับการทำงานของระบบความจำของสมองมนุษย์ที่เราอยากนำเสนอให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับชาว The Macho ทุกคน หลังจากที่ได้อ่านจบไป เมื่อคุณได้ทราบความลับนี้แล้วก็อย่าลืมนำไปปรับใช้กัน เพื่อที่คุณจะได้สั่งการให้สมองของคุณจดจำและลืมข้อมูลต่างๆ ในสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด

Sujate Wanchat

What one man calls God, another calls the laws of physics.

วิศวกร นักท่องเที่ยว บล็อกเกอร์ นักเขียนบทความ ชอบติดตามโลกเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำสมัย เรื่องราวการท่องเที่ยวผจญภัย มนุษย์ต่างดาว และสาวๆ เซ็กซี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save