มิตรรัก นักแฟนตาซี : สอนเล่นแฟนตาซี เล่นยังไง? เริ่มตรงไหน? ละเอียดยิบที่นี่ - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
มิตรรัก นักแฟนตาซี : สอนเล่นแฟนตาซี เล่นยังไง? เริ่มตรงไหน? ละเอียดยิบที่นี่

กล่าวสวัสดีกับพรีเมียร์ลีก และ Fantasy Premier League ซีซัน 2021/22 กันตรงนี้กับบทความประจำของผม “มิตรรัก นักแฟนตาซี” ซึ่งเข้าสู่ซีซันที่ 3 กันแล้ว โดยนับจากนี้จะลงให้คอแฟนตาซีได้อ่านกันทุกสัปดาห์แน่นอน

ซีซันนี้เข้มข้นแน่นอน ดูได้จากการทุ่มเสริมทีม และการกลับเข้าสู่สนามของแฟนบอล
(Source : Sky Sports)

และเนื่องจากบทความสอนเล่นแฟนตาซีของผมเดิมนั้นเขียนไปตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว (Intro 101 และ 201) ดังนั้นผมขอเริ่มด้วยการอัปเดตบทความสอนเล่นซะใหม่ ถือซะว่าเป็น EP 0 สำหรับคนที่เพิ่งมาอ่าน หรือเพิ่งตาม ส่วนใครที่คุ้นเคยอยู่แล้ว ก็ถือเป็นการทบทวนไปละกันเนอะ

ในเมื่อบอกว่า “สอนเล่น” ดังนั้น บทความนี้จะไล่กันตั้งแต่สมัครแอคเคาท์เลย ความยาวของบทความไม่ธรรมดาแน่นอน เพราะมีรายละเอียดเยอะ ยังไงค่อยๆ ไล่ดูกันไปนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน

[เริ่มต้นสมัคร/สร้างแอคเคาท์]

เกม Fantasy Premier League เป็นเกมทางการของพรีเมียร์ลีกเลย ที่มาที่ไปของแฟนตาซีเป็นยังไงนั้น ใครอยากทราบ อยากให้ย้อนไปอ่านบทความเก่าของผม ที่เคยรวบรวมไว้ >> คลิกที่นี่ <<

กลับมาที่การเริ่มต้นของเรา ปกติแล้ว Fantasy Premier League (FPL) จะเข้าเล่นได้ 2 ช่องทางหลัก อย่างแรกคือการเข้าผ่านเว็บบราวเซอร์ fantasy.premierleague.com กับเข้าผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่ชื่อว่า Premier League – Official App

หน้าตาเวอร์ชันบราวเซอร์ ที่เราจะใช้อธิบายสอนเล่นเป็นหลัก (ผมชอบมากกว่าผ่าน App)
(Source : Fantasy Premier League)

ส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างถนัดกับการเล่นผ่านบราวเซอร์ด้วย PC (Desktop) เพราะ UI ต่างๆ มันละเอียดกว่า และใช้ง่ายกว่า ดังนั้นผมจะโฟกัสสอนเล่นจากเวอร์ชันบราวเซอร์เท่านั้นครับ

เข้ามาสู่เว็บ Fantasy.premierleague.com แล้ว หากมีแอคเคาท์อยู่แล้วก็สามารถล็อคอินเข้าไปสร้างทีมได้เลย แต่ถ้าไม่มีกด Sign up ด้านขวามือได้เลย

สมัครใหม่ก็ต้องกรอกข้อมูลกันก่อน ใช้เวลาแป๊บเดียว (ไม่มีภาษาไทยนะ)
(Source : Fantasy Premier League)

กดเข้าไปก็จะมีข้อมูลให้กรอกเล็กน้อย โดย FPL จะยังไม่มีเวอร์ชันภาษาไทยให้ได้เล่นกันนะครับ ต้องเล่นภาษาอังกฤษ กรอกข้อมูลต่างๆ ตามขั้นตอน ทั้ง Personal details, Your favourites และ Email preferences

ในหน้าสุดท้าย ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เลื่อนลงมาล่างสุดทำการติ๊ก Terms & Conditions และสามารถกด Update your details ได้เลย

ในหน้าสุดท้ายที่กรอกข้อมูล เลื่อนมาล่างสุดเพื่อติ๊กถูก และกด Update
(Source : Fantasy Premier League)

[การเลือกทีมครั้งแรก]

เมื่อผ่านการสร้างแอคเคาท์แล้ว ก็จะมาเจอหน้าที่มีเมนู Squad Selection ซึ่งเราต้องคลิกเข้าไปเพื่อสร้างทีมเบื้องต้นก่อน

สร้างแอคเคาท์เสร็จแล้ว ก็ทำการเลือก Squad Selection ได้เลย
(Source : Fantasy Premier League)

เมื่อกดเข้าไปแล้ว จะเจอกับหน้าจัดตัวครั้งแรก ซึ่งสามารถลองจัดจริงจังเลยก็ได้ แต่เพื่อความรวดเร็วในการเข้าไปลองดูเมนูต่างๆ แนะนำให้กด Auto Pick ให้ระบบจัดทีมอัตโนมัติไปก่อนก็ได้ เพราะทีมของคุณยังสามารถเปลี่ยนได้ตลอดก่อนที่แมทช์แรก หรือ Gameweek แรกจะเริ่ม (คำว่า Gameweek จำไว้ให้ชินก่อน จะอธิบายต่อภายหลังว่าทำไมไม่เรียกสัปดาห์)

การจัดทีมครั้งแรก สามารถกด Auto Pick ก่อนได้ เพราะยังเปลี่ยนได้เรื่อยๆ จนถึงซีซันเปิด
(Source : Fantasy Premier League)

เมื่อยืนยันการจัดทีมครั้งแรก ก็จะเด้งหน้าตั้งชื่อทีมของคุณขึ้นมา ก็ตั้งตามที่ต้องการเลย (สามารถเปลี่ยนภายหลังได้) พร้อมกับเลือกทีมที่เชียร์ เพราะระบบจะจัดให้คุณจอย Global League แข่งกับแฟนที่เชียร์ทีมเดียวกันอัตโนมัติ รายละเอียดเดี๋ยวไปว่ากันเพิ่มในส่วนของ Leagues & Cups

จัดทีมครั้งแรก ก็จัดการตั้งชื่อทีม, เลือกสโมสรที่เชียร์ และกดยืนยันได้เลย
(Source : Fantasy Premier League)

[รู้จักกับเมนูต่างๆ]

จัดทีมครั้งแรกเรียบร้อย ก็จะเข้ามาเจอกับหน้าตาเต็มๆ ของ FPL ซึ่งมีเมนูเรียงรายเต็มไปหมดเลย ดังนั้นมาอธิบายกันก่อนว่าแต่ละเมนูทำอะไรบ้าง โดยผมจะไม่ลงรายละเอียดทุกเมนู จะขยายความเมนูที่ใช้บ่อยเท่านั้น ซึ่งจะว่าต่อในส่วนถัดไป

(Source : Fantasy Premier League)
  1. Pick Team : น่าจะเป็นเมนูที่เราเข้าบ่อยที่สุด เพราะสามารถจัดทีม 11 ตัวจริง และ 4 ตัวสำรอง รวมถึงการเลือกกัปตัน/รองกัปตันกันที่หน้านี้เลย แถมยังมีรายละเอียดต่างๆ เช่น คะแนน, ลีกต่างๆ ที่เราจอย, จำนวนการเปลี่ยนตัว และการเสริมเติมแต่งชุดทีมของเราสนุกๆ ด้วย
  2. Transfers : เป็นอีกเมนูสำคัญมากๆ เพราะคุณสามารถเลือกสรรนักเตะจากทั้ง 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก เพื่อย้ายเข้ามาในทีมตามเงื่อนไขที่เกมกำหนด ซึ่งเราจะไปว่าละเอียดกันอีกที
  3. Leagues & Cups : อยากทำอะไรเกี่ยวกับลีกย่อย (Leagues) หรือฟุตบอลถ้วยในลีกย่อย (Cups) ก็ใช้เมนูนี้ได้เลย สร้างลีกใหม่, จอยลีกคนอื่น, จอยลีก Public, ออกจากลีก, ดูตารางคะแนนแต่ละลีก เข้าผ่านเมนูนี้ได้หมด
  4. Fixtures : ไว้สำหรับดูตารางแข่งของพรีเมียร์ลีก ซึ่งจะเป็นโปรแกรมของ FPL ไปในตัว แถมมีฟังก์ชัน FDR ที่ไว้ดูความยากง่ายของตารางแข่งแต่ละทีมอีกด้วย
  5. The Scout : เป็นเมนูที่ทาง FPL รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับกุนซือแฟนตาซีไว้ มีข่าวสาร, การระบุตัวเล่นลูกเซ็ตพีซแต่ละทีม และอัปเดตนักเตะบาดเจ็บ/ติดโทษแบน เข้าไปดูเป็นข้อมูลสำคัญได้
  6. Podcast : นอกจากรายการทางทีวีที่อังกฤษแล้ว (ใครติดกล่องทรู อาจจะเคยเปิดไปเจอ) เค้ายังทำ Podcast ด้วย ใครสนใจฟังกูรูของ FPL ก็ลองเข้าไปฟังได้
  7. Stats : อีกหนึ่งเมนูมีประโยชน์ เพราะจะรวบรวมสถิติในแง่แฟนตาซีไว้ครบครัน สามารถฟิลเตอร์เลือกทีม, เลือกตำแหน่ง และเลือกแง่มุมสถิติต่างๆ (เช่น เรียงตามคะแนน, เรียงตามจำนวนที่กุนซือเลือกใช้, เรียงตามฟอร์มในแง่แฟนตาซี เป็นต้น)
  8. Prizes : ดูรายละเอียดรางวัลของ FPL ที่เค้าแจกให้แชมป์รายสัปดาห์, รายเดือน, แชมป์ซีซัน, ฟุตบอลถ้วย FPL Cup
  9. Help : เมนูที่รวบรวมคำถามที่พบบ่อย, กติกาต่างๆ และ Terms and Conditions ถ้าไม่ติดขัดเรื่องภาษา แนะนำให้เข้าไปอ่านซัก 1-2 รอบสำหรับมือใหม่ ผมว่าช่วยให้เข้าใจได้เพิ่มขึ้นมาก (ถ้าติดก็รออ่านของเราละกันนะ!)
  10. Draft : เป็นรูปแบบการเล่น FPL อีกแบบนึง โดยจะใช้วิธีดราฟท์ตัวไล่เรียงไม่ให้ใช้นักเตะซ้ำกันกับเพื่อนในลีก (เป็นสไตล์การเล่นแฟนตาซีแบบอเมริกันเกม) ซึ่งผมจะไม่ไปแตะรายละเอียด เพราะไม่งั้นจะยืดยาวเกินไปอีกมาก

[กฎหลักของการเล่น]

เนื้อหาเมนูต่างๆ อาจจะยังงงสำหรับมือใหม่ แต่เดี๋ยวเข้าใจคอนเซปท์ของ FPL จะเข้าใจฟังก์ชันต่างๆ มากขึ้นตามไปเอง โดยขอเริ่มจากกฎหลักของการเล่น ว่าแข่งกันด้วยอะไร ยังไง

การวัดผล

FPL วัดผลกันด้วย “คะแนนของทีม” ซึ่งได้มาจากคะแนนของนักเตะแต่ละคนในทีมเรา ซึ่งอิงจากผลงานในสนามจริงน่ะแหละ โดยคิดไปตามแต่ละ Gameweek (ใช้ทับศัพท์ตาม FPL ไม่อยากใช้คำว่า “สัปดาห์” เพราะบางที 1 สัปดาห์หรือ 7 วัน ก็มีเตะมากกว่า 1 Gameweek และไม่อยากใช้คำว่า “นัด” เพราะบางทีใน 1 Gameweek อาจมีลงเล่นมากกว่า 1 นัด)

เมื่อได้คะแนนเสร็จสรรพ ใครได้คะแนนมากกว่าก็จะอยู่อันดับสูงกว่าในตารางคะแนน ส่วนการจัดอันดับก็มีหลากหลาย ทั้งราย Gameweek (GW), รายเดือน, คะแนนรวมทั้งซีซัน รวมถึงการแบ่งลีกตามระดับต่างๆ ทั้งการวัดกับคนทั้งโลก, การวัดเฉพาะกุนซือไทย, การวัดเฉพาะแฟนทีมเดียวกัน หรือการวัดในลีกย่อยที่ตั้งกันขึ้นมาเองกับเพื่อนๆ

ตัวอย่างตารางคะแนนจบซีซันที่ผ่านมาของ The.Macho League
(Source : Fantasy Premier League)

วิธีที่จะได้คะแนนมา

มาขยายความกันหน่อย ว่าผลงานในสนามจริงที่นำมาตีความเป็นคะแนน FPL นั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง ดูตามตารางด้านล่างนี้ได้เลย

ที่มาร์คดอกจันไว้ที่ “Bonus Point System” หรือ “BPS” เพราะเป็นระบบการให้โบนัสคะแนนพิเศษ 1-2-3 คะแนนในแต่ละนัด ใครได้ BPS มากที่สุดในเกมนั้น ก็ได้รับเพิ่ม 3 คะแนน แล้วก็ลดหลั่น 2 คะแนน และ 1 คะแนน ลงมา

BPS มีการคำนวณคะแนนดิบยิบย่อยอยู่หลายหัวข้อ เช่น การจ่ายลูกคีย์พาส, การแทคเกิลสำเร็จ, เปอร์เซ็นการจ่ายบอลสำเร็จ จากการผ่านอย่างน้อย 30 ครั้ง เป็นต้น หากอยากทราบรายละเอียด สามารถเข้าไปดูในเมนู Help >> Rules >> Scoring ได้

แฮร์รี เคน คือนักเตะที่ได้คะแนนดิบ BPS สูงสุดของซีซันที่ผ่านมา ถึง 880 คะแนน
(Source : The SportsRush)

และอย่างที่บอกไป ว่าเมนู Help มีรายละเอียดอธิบายการคิดคะแนนต่างๆ เพิ่มเติมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาคลุมเครือ (ขนาดอธิบายยังมีประเด็น!) โดยขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาบางอันดังนี้

การโดนใบแดง : ผู้เล่นที่ถูกใบแดงไล่ออกไป ต้องรับผิดชอบการถูกหักคะแนนจากการเสียประตูของทีมไปจนจบเกม เพราะถือว่าทำให้ทีมต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

คลีนชีต : นักเตะที่จะได้คะแนนคลีนชีต (ไม่เสียประตู) จะต้องอยู่ในสนามอย่างน้อย 60 นาทีเท่านั้น หากถูกเปลี่ยนตัวออก ก็จะถือว่าความรับผิดชอบในการเสียประตูจบลงตามไปด้วย (ต่างจากโดนไล่ออก)

แอสซิสต์ : มีคำอธิบายการได้คะแนนแอสซิสต์ให้พยายามครอบคลุมที่สุดในหลายเคส เช่น การทำให้ทีมได้ฟรีคิก หรือจุดโทษ แล้วเพื่อนยิงเข้าโดยตรง จะถือว่าคนโดนทำฟาล์วหรือคนที่ทำให้ได้จุดโทษ รับคะแนนแอสซิสต์ แต่ถ้าคนๆ นั้น ลุกขึ้นมายิงเข้าไปเอง จะไม่ถือว่าได้แอสซิสต์ เป็นต้น

นอกจากเคน และบรูโน่แล้ว เจ้าของสถิติแอสซิสต์สูงสุดของ FPL ในซีซันก่อนคือวาร์ดี้ ที่ 14 ลูก
(Source : Goal.com)

ใช้ Opta ตัดสินแอสซิสต์ : FPL ระบุไว้ชัดเจนว่าใช้ข้อมูลของ Opta ในการตัดสินแอสซิสต์ในเกม ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ที่จะแสดงผลแตกต่างจากเว็บไซต์, แอพพลิเคชัน หรือแหล่งข้อมูลอื่น ดังนั้นหากเป็นคะแนน FPL แล้ว ให้เชื่อ FPL Official เท่านั้น อย่าไปอิงตาม Live Score, Flash Score หรือเว็บไซต์ข่าวนู่นนี่

รายละเอียดจะมีมากกว่านี้อีกแหละครับ แต่ที่ยกมาพูดน่าจะครอบคลุมการคิดคะแนนหลักๆ อยากทราบเพิ่มเติมไปอ่านใน Help ได้ครับผม ทราบกฎครบ จะทำให้เล่นเกมสนุกขึ้นแน่นอน

[การจัดตัวผู้เล่น]

ทราบวิธีการวัดผลคะแนนกันแล้ว ก็ต้องมาทำความเข้าใจส่วนสำคัญที่สุดของเกม นั่นคือเรื่องการจัดตัวผู้เล่น ซึ่งความจริงมีกลยุทธ์ต่างๆ มากมาย แต่สำหรับมือใหม่ เข้าใจพื้นฐานของมันก่อนจะดีที่สุด แล้วจะเอาไปพลิกแพลงอะไรเพิ่ม ค่อยว่ากันอีกที

การจัดทีมนั้น เราต้องทำการจัดนักเตะทั้งหมด 15 ตัว แบ่งเป็นผู้รักษาประตู 2 ตัว / กองหลัง 5 / กองกลาง 5 / กองหน้า 3 โดยทุกทีมตั้งต้นด้วยงบประมาณเริ่มต้น 100 ล้านปอนด์เท่ากันหมด

ทีมของเราต้องมีนักเตะทั้งหมด 15 ตัว ก่อนจะเอาไปจัดตัวจริง-ตัวสำรองแต่ละ GW อีกที
(Source : Fantasy Premier League)

นอกจากงบประมาณที่มีจำกัดแล้ว เกมยังมีกฎว่าห้ามเลือกนักเตะจากสโมสรเดียวกันเกิน 3 คน ซึ่งงบประมาณ และข้อจำกัดเรื่องจำนวนตัว ทำให้เราต้องศึกษานักเตะจากหลายสโมสร จะเอาแค่ทีมใหญ่ๆ อย่างเดียวไม่ได้เด็ดขาด

โดยเกมจะคิดคะแนนผู้เล่น 11 ตัวแรกเท่านั้น (ยกเว้นจะใช้ตัวช่วย Bench Boost ที่จะอธิบายต่อไปทีหลัง) แต่ตัวสำรองก็อาจมีบทบาทสำคัญ เพราะจะถูกดันขึ้นมาคิดคะแนนแทน หากตัวจริงไม่ได้ลงสนาม

[กลยุทธ์การจัดตัว]

การเล่น FPL ก็เหมือนกับการเตะพรีเมียร์ลีกน่ะแหละ คือมันเป็นเกมระยะยาว มีแมทช์มากมายให้เล่นกัน ดังนั้นการปรับทีมให้เหมาะกับโปรแกรมที่รันไป จึงมีความสำคัญ เพราะในแต่ละ Gameweek เกมมีโควตาให้เราเปลี่ยนตัวฟรี หรือ Free Transfer ได้แค่ 1 ครั้งเท่านั้น หากจะเปลี่ยนมากกว่านั้น ต้องเสียคะแนน -4 ต่อการเปลี่ยนเกิน 1 ครั้ง

แต่ละ GW เราจะได้สิทธิ์ Free Transfer แค่ 1 ครั้ง เปลี่ยนเกินเสียครั้งละ -4
(Source : Fantasy Premier League)

ดังนั้นการวางตัวจริง และตัวสำรองจึงมีความสำคัญ ที่ต้องคิดวางแผนล่วงหน้าไว้ โดยผมขอแนะนำวิธีกว้างๆ 2 วิธี ที่น่าจะทำให้คุณจัด 15 ตัวได้มีประสิทธิภาพในเบื้องต้น

กลยุทธ์เบื้องต้น : เลือกตัวเทพที่พร้อมอยู่ยาว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวทำคะแนนที่เรามักจะเลือกหยิบเข้าทีมก่อนคือพวกซูเปอร์สตาร์ เพราะนักเตะเหล่านี้มักจะคาดหวังคะแนนได้สูงกว่า และแน่นอนว่าราคาก็จะสูงตามไปด้วย

ดังนั้นแล้ว การจะหยิบตัวราคาสูงเข้ามา ก็ต้องให้คุ้มค่าหน่อย ซึ่งความคุ้มค่าเบสิกคือการใช้งานได้ในระยะยาว เพราะหากทำผลงานได้ดี และไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ทำให้เราสามารถใช้ Free Transfer ไปปรับนักเตะตัวรองๆ ที่อาจจะเจอผลงานไม่เอื้ออำนวยได้บ่อยกว่าพวกตัวบิ๊กเนม

เลือกตัวเทพเยอะไปก็ไม่ไหว อย่างตามภาพ แค่ 6 ตัว ปาเข้าไป 56.5 ล้านปอนด์
(Source : Fantasy Premier League)

อย่างไรก็ดีด้วยงบประมาณที่จำกัด ใช่ว่าเราจะสามารถเลือกตัวแพงได้หลายตัวพร้อมกัน เราอาจจะต้องชั่งใจว่าตำแหน่งไหนคุ้มค่า เช่น ถ้าเราดันไปเลือกกองหลังพรีเมียมแพงซัก 2 ตัว อย่างเทรนท์ กับ ดิอาซ ที่มูลค่ารวมกันถึง 13.5 ล้านปอนด์ เท่ากับว่าเราจะมีงบเลือกกองกลาง และกองหน้าน้อยลง เป็นต้น

หรือตามภาพตัวอย่างด้านบน เพิ่มตัวพรีเมียมเข้าไปอีกอย่าง เอแดร์สัน, บรูโน่, ซาล่าห์, เคน รวม 6 ตัวใช้งบไป 56.5 ล้านปอนด์ เหลืองบเฉลี่ยสำหรับ 9 ตัวที่เหลือน้อยกว่า 5.0 ล้านปอนด์เสียอีก โอกาสจะคาดหวังจากตัวเลือกราคาต่ำขนาดนั้น แทบหวังผลคะแนนกลับมายาก

กลยุทธ์เบื้องต้น : ศึกษาโปรแกรมให้ดี

เพิ่งพูดไปว่าเลือกตัวแพงให้คุ้ม ก็เลือกที่มันถือได้นานหน่อย ดังนั้นการที่เราจะวางแผนแบบนั้นได้ เราต้องดูโปรแกรมล่วงหน้าให้ดี อย่าดูแค่นัดต่อนัด มองยาวๆ 4-5 นัด เป็นอย่างต่ำยิ่งดี เพราะเราจะบริหารทีม และ Free Transfer ได้ดีขึ้นตามไปด้วย

วิธีดูความยากง่ายโปรแกรมเบื้องต้นคือกดที่ไอคอน i ของนักเตะตัวที่เราอยากดู ซึ่งจะโชว์รายละเอียดไว้ครบหมด แถมยังมีปุ่ม Add to Watchlist เพื่อดึงมาไว้ในลิสต์พิเศษของเรา เพื่อจะได้กลับมาดูได้สะดวก ไม่ต้องไปค้นหาใหม่จากนักเตะทั้งหมด

กดเข้าไปดูข้อมูลนักเตะ จะสามารถดูได้ทั้งโปรแกรม และแอดไว้ในลิสต์พิเศษ
(Source : Fantasy Premier League)

อีกวิธีคือไปที่เมนู Fixtures แล้วเลือก FDR ซึ่งจะโชว์โปรแกรมความยากง่ายของทั้ง 20 ทีม ให้ดูได้สะดวก โดยแทนความยาก-ง่านด้วยสีต่างๆ เขียวคืองานง่าย, เทาคือปานกลาง, แดงยิ่งเข้มยิ่งเจองานยาก

เข้าไปเช็คความยากง่ายของโปรแกรมแต่ละทีมได้ด้วยเมนู FDR
(Source : Fantasy Premier League)

พอเห็นโปรแกรมล่วงหน้าแล้ว เราอาจจะลองทำตารางนักเตะที่จะใช้งานตัวจริง-ตัวสำรองในแต่ละ Gameweek ใส่ตารางง่ายๆ (ใน excel ก็ได้) แล้วลองประเมินว่าเราจะใช้ใครเป็นตัวจริงบ้าง จะเปลี่ยนใครออกใน GW ไหน เอาใครเข้ามาแล้วสอดคล้องกับงบประมาณ รับรองว่าจะวางแผนได้ดีขึ้นแน่นอน

กลยุทธ์เบื้องต้น : ค้นหาตัวคุณภาพในทีมกลาง-เล็ก

อย่างที่เกริ่นไปว่าเราคงไม่สามารถเลือกแต่ตัวซูเปอร์สตาร์ราคาแพงได้ ดังนั้นการเหล่ทีมระดับกลาง หรือเล็ก ที่อาจจะมีตัวทำแต้มดีๆ จึงมีความสำคัญ อย่างซีซันที่ผ่านมา ดัลลัสของลีดส์ ทำแต้มแฟนตาซีไปถึง 171 คะแนน หรือวัตกินส์ กองหน้าวิลล่า ก็ผลิตแต้มไปถึง 168 คะแนน เลยทีเดียว

ไอวาน โทนีย์ กองหน้าตีนระเบิดของเบรนท์ฟอร์ด หนึ่งในนักเตะทีมเล็ก ที่ถูกจับตามอง
(Source : Premier League)

นักเตะคนไหนน่าแนะนำ เดี๋ยวขอผมแยกไปพูดถึงเต็มๆ ใน EP 1 (บทความถัดไป) แต่ขอยกตัวอย่างตัวที่กุนซือแฟนตาซีเริ่มเล็งกัน ก็มีอย่างโทนีย์ กองหน้าอันตรายของเบรนท์ฟอร์ด เพราะยิงในแชมป์เปียนชิพมากระจาย และราคา 6.5 ล้านปอนด์ในเกม ถือว่าน่าคบหา

หรือจะเป็นบูเอ็นเดีย ที่ย้ายมาปั้นเกมให้วิลล่าแทนแล้ว ยิ่งสิงห์ผงาดขาดกรีลิชที่ย้ายไปซบแมนฯ ซิตี้ เรียบร้อยแล้ว จอมทัพอาร์เจนไตน์ในราคา 6.5 ล้านปอนด์ ก็น่าจะรับบทตัวปั้นเกมหลักของทีมมากขึ้นกว่าตอนที่ทีมมีกรีลิชอยู่

กลยุทธ์ทางเลือก : เลือกนักเตะราคาต่ำ เพื่อสแปร์งบ

ขอแตะลงลึกขึ้นอีกหน่อยถึงกลยุทธ์การจัดทีมที่กุนซือแฟนตาซีมักใช้กัน แบบแรกคือการเก็บงบไว้เน้นตัวที่จะทำแต้ม หรือ 11 ตัวจริง ด้วยการยอมเลือกตัวราคาต่ำสุดในเกมเพื่อประหยัดงบ

ราคาต่ำสุด ก็อย่างผู้รักษาประตู/กองหลังในราคา 4.0 ล้านปอนด์ ส่วนกองกลาง/กองหน้าคือ 4.5 ล้านปอนด์ ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าพวกตัวราคาต่ำสุดเนี่ย ส่วนใหญ่จะเป็นตัวสำรอง โอกาสหวังเก็บแต้มก็ย่อมน้อยตาม เปรียบเสมือนกับการเลือกทิ้งกรายๆ

หลังไบรท์ตันต้องเสียไวท์ไป ดัฟฟี่ที่กลับมาจากยืมตัว ก็เป็นตัว 4.0 ที่น่าจับตามองมากขึ้น
(Source : Sky Sports)

สิ่งที่พอทำได้ คือมองหานักเตะราคาต่ำสุด ที่พอลุ้นโอกาสลงเล่นบ้าง เช่น โกล์อย่างฟอสเตอร์ ที่อาจจะเบียดมือ 1 ได้ด้วยประสบการณ์ (มือ 1 วัตฟอร์ดคือบัคมันน์), ดัฟฟี่ที่กลับมาไบรท์ตัน หลังถูกปล่อยยืม (ไวท์ย้ายไปอาร์เซน่อล) หรือกองหน้าอย่างโอบาเฟมี ที่มักจะลงมาท้ายเกมให้เซาธ์แธมป์ตัน

กลยุทธ์ทางเลือก : เลือกให้ทุกตัวพร้อมลงเล่น

อีกแนวทางนึง คือการเลือก 15 ตัวให้มีโอกาสลงเล่นเป็นตัวจริงสูงที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าต้องแลกมากับการเพิ่มงบมากขึ้นกว่าแบบเลือกทิ้ง ซึ่งข้อดีคือเรามีนักเตะหมุนเวียนได้มากขึ้น แต่ก็จะเปลืองงบมากขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างการเลือกนักเตะทั้ง 15 คน ที่มีโอกาสเป็นตัวจริงทั้งสิ้น เพื่อมีตัวหมุนเวียน
(Source : Fantasy Premier League)

ถามว่าแบบไหนถูก แบบไหนผิด อันนี้ตอบยาก เป็นสไตล์ส่วนตัว หากเป็นมือใหม่ คุณอาจจะลองกลยุทธ์ทั้ง 2 แบบเลยก็ได้ แล้วลองดูว่าตัวทำแต้มหลักๆ มันได้ดั่งใจมั้ย เปรียบเทียบกันทั้ง 2 แนวคิด จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ตัวสำรอง และรองกัปตัน

อธิบายการจัดตัวมาแล้ว มือใหม่อาจจะยังสงสัยการใช้งานตัวสำรอง รวมถึงการเลือกรองกัปตัน ซึ่งก็มีส่วนสำคัญต่อการวางแผนจัดทีมเช่นกัน

สังเกตว่าตัวสำรองนั้นเราสามารถเรียงลำดับ 1-2-3 ได้ (ผู้รักษาประตูต่างหาก เพราะเปลี่ยนได้กับผู้รักษาประตูเท่านั้น) ซึ่งเมื่อมีตัวจริง 11 คนแรกไม่ได้ลง ระบบก็จะดันสำรองขึ้นไปคิดคะแนนแทนตามที่เรียงไว้ สำรองลำดับก่อนหน้าไม่ได้ลง ก็จะเขยิบไปลำดับถัดไป

โดยปกติตัวสำรองจะถูกใช้งานตามลำดับ ยกเว้นกรณีผิดกฎฟอร์เมชันของเกม
(Source : Fantasy Premier League)

อย่างไรก็ดี การดันตัวสำรองขึ้นไปแทน ยังมีข้อยกเว้นข้ามลำดับการดันสำรองขึ้นไปอยู่อย่างนึง นั่นคือตัวที่จะเอาไปคิดคะแนนทั้งหมด ต้องเป็นไปตามกฎการจัดทีม (ฟอร์เมชัน) ของ FPL นั่นคือต้องมีกองหลังอย่างน้อย 3 ตัว, กองกลางอย่างน้อย 2 ตัว และกองหน้าอย่างน้อย 1 ตัว ดังนั้นหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขนี้ ระบบจะดันตัวสำรองมองข้ามลำดับที่จัดไว้ไปเป็นเรื่องรอง

ส่วนกัปตันทีมนั้น ปกติคุณจะสามารถเลือกนักเตะคนนึงเป็นกัปตัน เพื่อได้รับคะแนนคูณ 2 อยู่แล้ว 1 ตัว แต่ถ้ากัปตันดันไม่ได้ลงเล่นขึ้นมา การคิดคะแนนคูณ 2 จะเปลี่ยนไปให้รองกัปตันแทน ดังนั้นการตั้งรองกัปตันก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างไรก็ดี หากจัดผิดพลาด หรือดวงแตกขึ้นมา ทั้งกัปตันและรองกัปตันไม่ลงเล่นทั้งคู่ Gameweek นั้นคุณก็จะอดได้คะแนนคูณ 2 ไปโดยปริยาย ไม่มีการเปลี่ยนไปให้ตัวอื่นอีก

สามารถเลือกกัปตัน และรองกัปตัน ด้วยการคลิกไปที่ตัวนักเตะ เลือกเสร็จอย่าลืมกดเซฟ
(Source : Fantasy Premier League)

โดยการปรับเปลี่ยนนักเตะในทีม รวมถึงการเลือกกัปตัน/รองกัปตัน ทำเสร็จแล้วอย่าลืมกด Save Your Team ด้านล่าง มิฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงของคุณจะไม่ถูกบันทึก พลาดตรงนี้กันมานักต่อนักแล้ว

[Transfer / การเปลี่ยนตัว]

กฎการเปลี่ยนตัวเบื้องต้น

เราสามารถเข้าไปเปลี่ยนตัวที่เมนู Transfer ได้ทุกเมื่อ แต่ต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยตัวนั้นส่งผลต่อ Gameweek ไหน โดยแต่ละ Gameweek นั้นจะแบ่งด้วยเส้นเดดไลน์ เปลี่ยนก่อนเดดไลน์ไหน ก็มีผลคิดคะแนนหลังเดดไลน์นั้น

สังเกตว่าเดดไลน์การจัดทีม/เปลี่ยนตัว ของแต่ละ GW ก็คือ 90 นาที ก่อนคู่แรกจะเริ่มเตะนั่นเอง
(Source : Fantasy Premier League)

เดดไลน์ของ FPL คือ 90 นาที (1 ชั่วโมงครึ่ง) ก่อนแมทช์แรกของ Gameweek นั้นๆ เตะ โปรแกรมแต่ละ Gameweek มีคู่ไหนบ้าง เตะเวลาไหนบ้าง เดดไลน์คือเมื่อไหร่ เข้าไปดูที่หน้า My Team, Transfer, Fixtures มีเขียนชัดเจน

ก่อนซีซันพรีเมียร์ลีกจะเตะนัดแรก เราจะสามารถเปลี่ยนตัวเข้าออกได้แบบไม่เสียแต้มลบ แต่พอ Gameweek 1 เริ่มเมื่อไหร่ (เลยเดดไลน์แรก) คุณจะเปลี่ยนตัวฟรี (Free Transfer) ได้แค่ 1 ตัวต่อ Gameweek เปลี่ยนเกินจะต้องเสียคะแนน -4 ต่อทุกๆ การเปลี่ยนเกิน

ซึ่ง Free Transfer ที่ว่านี้ หากไม่ใช้ใน Gameweek ไหน จะถูกสะสมไปใน Gameweek ถัดไป แต่สะสมได้สูงสุดเพียง 2 สิทธิ์เท่านั้น

ค่าตัวของนักเตะ

พูดแตะๆ เรื่องค่าตัวไปในส่วนการจัดทีม ก็ขอลงละเอียดหน่อย ว่านักเตะทุกคนมีค่าตัวในเกมตั้งต้น ตัวเทพก็ราคาแพง อย่างบรูโน่ก็ไปนู่นเลย 12.0 ล้านปอนด์ หรือแนวรับตัวแพงสุดก็คือตัวที่มีลุ้นแต้มเกมรุกด้วยอย่างเทรนท์ ที่ราคา 7.5 ล้านปอนด์

นักเตะค่าตัวแพงที่สุดในเกมคือเคน และซาล่าห์ 12.5 ล้านปอนด์
(Source : 90Min)

ราคาตั้งต้นตอนแรกกุนซือมือใหม่คงไม่งงกัน แต่เมื่อซีซันเริ่มแล้ว มันจะมีกลไกราคาขึ้นลงของนักเตะเข้ามาด้วย ซึ่งความจริง FPL เค้าไม่ได้เปิดเผยโลจิกการคิดออกมา แม้จะมีหลายเว็บไซต์พยายามแกะสูตร แต่ก็ยังไม่มีอันไหนคอนเฟิร์มชัวร์ 100% ดังนั้นก็เข้าใจเบื้องต้นไว้ว่า นักเตะตัวไหนทำแต้มดี และมีคนเปลี่ยนเข้าเยอะ ก็มีโอกาสจะราคาขึ้น ส่วนราคาลดก็เป็นในทางตรงข้ามกัน

การขึ้นลงปกติจะขึ้นหรือลงครั้งละ 0.1 ล้านปอนด์ ซึ่งอาจจะดูไม่เยอะ แต่ก็ทำให้งบประมาณของเราไม่เพียงพอได้ เพราะกฎของเกมระบุว่าหากเราจะซื้อนักเตะตัวไหนเข้าทีม เราต้องซื้อราคาตลาดในตอนนั้น งบมีแค่ 10 ล้าน แต่เจอ 10.1 ล้านไป ก็อาจเซ็งได้

ด้วยฟอร์มเยี่ยมสม่ำเสมอ ทำให้มาร์ติเนซราคาขึ้นจาก 4.5 ไปเป็น 5.3 ล้านปอนด์ตอนจบซีซัน
(Source : 90Min)

นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดราคาขึ้นลงของนักเตะที่อยู่ในทีมของเราด้วย หากลงไม่ซับซ้อน เคยซื้อมาเท่าไหร่ ตอนจะขายออกก็เป็นไปตามราคาตลาด เช่น ซื้อมา 8.0 ล้านปอนด์ แล้วราคาลงมา 7.9 ล้านปอนด์ ตอนขายก็ได้งบกลับมาแค่ 7.9 (ขาดทุน 0.1)

กลับกันพอเป็นส่วนของราคาขึ้น มันจะมีการคิคำนวณหาร 2 และปัดเศษ ดังนี้
-> สมมติซื้อมา 8.0 ล้านปอนด์ นักเตะราคาขึ้นเป็น 8.1 ล้านปอนด์ เท่ากับส่วนต่าง = 0.1
-> เอา 0.1 มาหาร 2 ได้ 0.05
-> เอา 0.05 ไปบวกกับ 8.0 แล้วปัดเศษทศนิยมตำแหน่งที่ 2 ลง จาก 8.05 ก็จะได้ 8.0 เท่าเดิม

โดยเราจะได้กำไร ก็ต่อเมื่อนักเตะขยับราคาตลาดขึ้นไปเป็น 8.2 ล้านปอนด์ เพราะ
-> สมมติซื้อมา 8.0 ล้านปอนด์ นักเตะราคาขึ้นเป็น 8.2 ล้านปอนด์ เท่ากับส่วนต่าง = 0.2
-> เอา 0.2 มาหาร 2 ได้ 0.1
-> เอา 0.1 ไปบวกกับ 8.0 ได้ราคาขาย 8.1 โดยไม่ต้องปัดเศษลง เพราะไม่มีทศนิยมตำแหน่งที่ 2

ฟังก์ชันหน้า Transfer

เพิ่มเติมฟังก์ชันที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่ในหน้า Transfer หน่อย ซึ่งพอเราเข้าไปในหน้า Transfer เราสามารถใช้ฟิลเตอร์ด้านขวามือเพื่อค้นหาสิ่งต่างๆ ได้สะดวกสบาย

เมื่อเข้าหน้า Transfer ลองใช้ฟิลเตอร์ต่างๆ ทางด้านขวามือดู จะค้นหานักเตะสะดวกขึ้นมาก
(Source : Fantasy Premier League)

โดยสิ่งที่กุนซือนิยมดูคือการกำหนดงบประมาณ แล้วดูว่ามีนักเตะคนไหนเลือกได้บ้าง โดยมักจะเรียงจากแต้มทั้งหมดที่ทำได้ (ก่อนนัดแรกจะเริ่ม แต้มที่โชว์คือแต้มจากซีซันที่แล้ว) หรือเรียงจาก % ที่กุนซือใน FPL เลือก จะชอบแบบไหน ก็ลองฟิลเตอร์ดู

นอกจากนั้น ก็คงเป็นการดูข้อมูลนักเตะ ซึ่งหน้า Transfer จะสะดวกที่สุดที่จะดูนักเตะที่ไม่ฟิต หรือติดแบน เพราะจะมีสีต่างๆ ระบุเตือนอยู่ ได้แก่ สีเหลือง (มีโอกาส 75% ที่จะพร้อมลงเล่น), สีส้ม (25-50%) และสีแดง (ไม่น่าลงเล่นได้, ติดโทษแบน,​ ติดเจอทีมที่ให้ยืมตัวมา)

โฟฟาน่าที่ล่าสุดโชคร้ายเจ็บหนักจากอุ่นเครื่อง ก็ขึ้นสีแดงบ่งบอกชัดเจน
(Source : Fantasy Premier League)

เรื่องอาการบาดเจ็บเนี่ยต้องติดตามข่าวกันให้ดี เพราะกุนซือบางท่านมักจะหัวร้อนเวลานักเตะฟอร์มไม่ดี หรือเจอตัวอื่นฟอร์มดีกว่า ก็รีบชิงเปลี่ยนตัวเร็ว เช่นเดียวกับกุนซือที่เน้นเรื่องงบประมาณทีม กลัวนักเตะราคาขึ้นหรือตก ก็รีบชิงเปลี่ยนตัวเร็วเช่นกัน ซึ่งจุดนี้ต้องระวังนักเตะมาเจ็บเอาทีหลัง ดวงแตกบางทีก็ไม่ค่อยเข้าใครออกใคร

[ตัวช่วย / Chips]

นอกเหนือจากการเปลี่ยนตัว และจัดทีมธรรมดาที่ต้องทำกันตลอดซีซันแล้ว FPL เค้ายังมี “ตัวช่วย” ให้กุนซือแต่ละท่านได้ใช้งานประกอบการวางแผนอีกด้วย โดยตัวช่วยต่างๆ มีคุณสมบัติ และเงื่อนไขแตกต่างกันไป เงื่อนไขอย่างแรกที่มักถามกัน นั่นคือใน 1 Gameweek นั้นใช้ตัวช่วยได้เพียงอันเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้พร้อมกันได้

ส่วน 4 ตัวช่วย แต่ละอันมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ไปดูกันทีละอัน

Bench Boost และ Triple Captain สามารถกดใช้ได้ที่หน้า My Team เลย
(Source : Fantasy Premier League)

(1) Bench Boost : ทั้งซีซัน ใช้ได้ครั้งเดียว

เป็นตัวช่วยที่ทำให้ใน Gameweek นั้น เกมจะคิดคะแนนนักเตะในทีมคุณทั้งหมด 15 ตัว ทั้งตัวจริงและตัวสำรอง ดังนั้นตัวช่วยนี้จึงไม่จำเป็นต้องรีบใช้ ไว้ให้เจอโปรแกรมที่เหมาะสม และทุกตัวในทีมพร้อมทำแต้มให้มากที่สุดก่อน

ซึ่งโดยปกติแล้ว โปรแกรมพรีเมียร์ลีกจะมี Gameweek ที่มีเตะมากกว่า 1 นัด หรือเรียกว่า Double Gameweek ซึ่งกุนซือหลายท่านก็เล็งไปใช้ Bench Boost ที่ GW นั้น อย่างไรก็ดี ต้องดูองค์ประกอบทีมให้ดี

(2) Triple Captain : ทั้งซีซัน ใช้ได้ครั้งเดียว

เป็นตัวช่วยที่คุณสมบัติไม่ซับซ้อน นั่นคือเปลี่ยนให้กัปตันของคุณได้คะแนนคูณ 3 แทนที่จะเป็นคูณ 2 ใน Gameweek นั้น ดังนั้นการเลือกใช้ คงต้องขึ้นอยู่กับความมั่นใจของกุนซือแต่ละท่าน โดยส่วนมากนิยมรอใช้ใน Double Gameweek หรือ Gameweek ที่ตัวทำคะแนนเจอโปรแกรมง่ายที่สุด

Wildcard และ Free Hit จะเป็นเหมือนการล้างทีมใหม่ แต่มีเงื่อนไขต่างกัน อย่าสับสน
(Source : Fantasy Premier League)

(3) Free Hit : ทั้งซีซัน ใช้ได้ครั้งเดียว

เป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้คุณเปลี่ยนนักเตะใน Gameweek นั้นได้แบบไม่จำกัด ไม่เสียแต้มลบ อย่างไรก็ดี Free Hit จะส่งผลแค่ Gameweek นั้น เท่านั้น เมื่อผ่านเดดไลน์ไป นักเตะทุกตัวจะกลับมาเหมือนเดิมก่อนใช้ Free Hit เรียกว่าทีมที่ปรับเปลี่ยนนั้น จะอยู่ชั่วคราวแค่ GW เดียวนั่นแหละ

วิธีการใช้ (GW1 ยังใช้ไม่ได้) ต้องเข้ายังหน้า Transfer เพื่อกดใช้งาน โดยกลไกการทำงานจะครอบคลุมการเปลี่ยนตัวทั้งหมดของ Gameweek นั้น ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนตัวก่อนแล้วค่อยกดใช้ Free Hit หรือใช้ Free Hit ก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนตัว ให้ผลเหมือนกัน

นอกจากนั้น Free Hit จะเป็นตัวช่วยที่เคลียร์ Free Transfer ที่คุณสะสมมาให้เหลือ 1 ใน Gameweek ถัดไปเสมอ

(4) Wildcard : ทั้งซีซันใช้ได้ 2 ครั้ง
ใบที่ 1 : ใช้ได้ตั้งแต่ Gameweek 2 – ก่อนเดดไลน์ Gameweek 20 (ดึกคืนวันที่ 28 ธ.ค.)
ใบที่ 2 : ใช้ได้ตั้งแต่หลังเดดไลน์ Gameweek 20 จนจบซีซัน

ตัวช่วยที่ทรงพลังที่สุด ทำให้คุณเปลี่ยนนักเตะใน Gameweek นั้นได้แบบไม่จำกัด ไม่เสียแต้มลบ แต่ต่างจาก Free Hit ตรงที่ตัวที่เปลี่ยนจะอยู่ถาวรเป็นทีมของเราใน Gameweek ถัดไปเลย เหมือนเป็นการล้างทีมเพื่อปรับทีมใหม่ ซึ่งต้องใช้แต่ละใบตามช่วงเวลาที่แจ้งไว้ด้านบนเท่านั้น ไม่ใช้ถือว่าเสียสิทธิ์

วิธีการใช้ (GW1 ยังใช้ไม่ได้) ต้องเข้ายังหน้า Transfer เพื่อกดใช้งาน โดยกลไกการทำงานจะครอบคลุมการเปลี่ยนตัวทั้งหมดของ Gameweek นั้น ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนตัวก่อนแล้วค่อยกดใช้ Wildcard หรือใช้ Wildcard ก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนตัว ให้ผลเหมือนกัน

นอกจากนั้น Wildcard จะเป็นตัวช่วยที่เคลียร์ Free Transfer ที่คุณสะสมมาให้เหลือ 1 ใน Gameweek ถัดไปเสมอ

[ระบบลีกย่อย (Leagues & Cups)]

มาถึงเมนูสุดท้ายที่จะพูดในส่วนของการสอนเล่น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของ FPL เลย ที่จะทำให้คุณสนุกกับการเล่นยิ่งขึ้น เพราะลำพังไปแข่งกับกุนซือทั้งโลก มันก็คงลุ้นแต่การทำอันดับให้ดี ไม่มีทางสนุกเท่าการห้ำหั่นกับคนใกล้ตัว หรือบลัฟเพื่อนๆ หรอก

เมื่อคุณเข้าไปในเมนู Leagues & Cups อย่างแรกที่จอยอัตโนมัติคือ General Leagues ที่จะโชว์ด้านล่าง ประกอบไปด้วย Overall (แข่งกับคนทั่วโลก), ลีกทีมที่คุณเชียร์, ลีกประเทศไทย และลีกของกุนซือที่เริ่มเล่นใน Gameweek เดียวกัน (ถ้าเล่นแต่แรก ก็จะเป็น Gameweek 1)

กรอบสีเหลืองจะเป็น General Leagues กรอบสีฟ้าจะเป็น Public Leagues
(Source : Fantasy Premier League)

นอกจากนั้น จะมี Public Leagues ที่ไว้สำหรับกุนซือที่อยากจะสุ่มเจอกับกุนซือที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร (ระบบจัดมาให้) โดยสามารถแข่งได้ทั้งแบบ Classic หรือแบบคิดคะแนนสะสมปกติ และแบบ Head-to-Head หรือการจับเอาคู่แข่งในลีกมาดวล vs กันในแต่ละ Gameweek ชนะได้ 3 คะแนน เสมอได้ 1 คะแนน แพ้ไม่มีคะแนน

ที่พูด 2 ส่วน (General และ Public) แบบผ่านๆ เพราะมันไม่ใช่จุดเด่นที่เราเน้นเท่าไหร่ ที่เราเน้นคือ Invitational Leagues ที่มีทั้งแบบ Classic และ Head-to-Head เช่นกัน จุดเด่นคือคุณสามารถสร้างลีกใหม่ขึ้นมาได้เอง แล้วชวนเพื่อนๆ มาจอย หรือจะไปจอยลีกที่เขาสร้างไว้อยู่แล้ว ก็ได้เช่นกัน

ส่วนสำคัญคือ Invitational Leagues ซึ่งเราสร้างหรือจอยผ่านปุ่มด้านบนได้ด้วย
(Source : Fantasy Premier League)

โดยการจอยนั้น จะใช้โค้ดจอย หรือลิงค์จอยที่ระบบสร้างให้ สร้างลีกเองก็แชร์ไปให้เพื่อนเพื่อจอย (เข้าไปตรง Options ในลีกของเรา) หรือถ้าอยากจะจอยลีกคนอื่นเค้า ก็ใช้โค้ด (ผมแนะนำวิธีนี้) หรือคลิกลิงค์จอยที่เค้าแชร์มาให้

ในหน้านี้ สังเกตว่าจะมีปุ่มด้านบนที่เขียนว่า “Create and join new leagues and cups” ซึ่งคุณสามารถคลิกเข้าไปทั้งสร้างลีกย่อยใหม่ หรือจอยลีกย่อยที่มีอยู่แล้ว เมื่อจอยเรียบร้อย ลิสต์ลีกก็จะขึ้นมาแสดงในหน้า Leagues & Cups นี้ รวมถึงด้านขวามือตรงหน้า My Team ด้วย

การจอย ก็สามารถคลิกเข้าไปแล้วใส่โค้ดลีก พร้อมกด Join league ได้เลย
(Source : Fantasy Premier League)

นอกเหนือจากการสร้างลีกย่อยแข่งกันแล้ว ซีซันนี้ทาง FPL ยังมีลูกเล่นเพิ่มเติม ให้แอดมินของลีก สามารถเปิดแข่ง FPL Cup เฉพาะลีกย่อยของตัวเอง (ปกติ FPL Cup จะแข่งกับทั่วโลกเท่านั้น) โดยรายละเอียดเราจะว่ากันภายหลัง เพราะมันจะแข่งขันในช่วงครึ่งซีซันหลังนู่น

The.Macho League 2021/22 เปิดแล้ว!

จบในส่วนสอนเล่นแล้ว ก็ขอเชิญชวนมาจอยลีกย่อยของเรากันหน่อย กับ “The.Macho League” ประจำซีซัน 2021/22 ซึ่งเป็นซีซันที่ 3 แล้วที่เราเปิดให้ร่วมสนุกกันฟรีๆ แต่มีของรางวัลน่าสนใจให้ลุ้นกันครบครัน โดยเฉพาะเสื้อบอลของแท้ทุกเดือน >> อ่านกฎกติกาคลิกที่นี่ <<

วิธีการจอยอธิบายไปแล้วด้านบน โดยลีกของเราใช้โค้ดสำหรับจอยคือ 9n6gz8

ครบถ้วนแบบละเอียดยิบไปแล้วกับการสอนเล่นโดยสมบูรณ์ มือใหม่อาจจะอึ้งหน่อยว่าทำไมรายละเอียดมหาศาลขนาดนี้ แต่ขอให้ลองอ่านจุดที่สงสัยดูก่อน แล้วค่อยๆ ลองเริ่มเล่นไป รับรองว่าใช้เวลาไม่นานอย่างที่คิด คุณก็จะสามารถเป็นกุนซือแฟนตาซีมือดีได้เช่นกัน

และนอกเหนือจากบทความสอนเล่นนี้ ผมยังจะมี “มิตรรัก นักแฟนตาซี” คอลัมน์ประจำ ที่จะอัปเดตให้อ่านกันทุกสัปดาห์ สามารถติดตามได้ ทั้งการแนะนำนักเตะน่าเลือก, การจัดทีมของผมให้ดู และการอัปเดตข่าวสารน่าสนใจของ FPL

นอกจากนั้นเรายังมีคอมมูนิตี้ที่อบอุ่นทั้งกลุ่มเฟซบุ๊ค และกลุ่มแชทใน LINE OpenChat ไว้พูดคุยกันด้วย โดยยังมีเพื่อนบ้านเป็นคอมมูนิตี้แฟนตาซีต่างๆ ที่คึกคักกันทีเดียว ไปลองติดตามได้ ช่องทางของเราเป็นแหล่งรวบรวมชั้นดีเลยครับ มาสนุกด้วยกันเนอะ!
กลุ่มเฟซบุ๊ค >> คลิกที่นี่ <<
กลุ่มแชทใน LINE OpenChat >> คลิกที่นี่ <<

Picture : Fantasy Premier League, Sky Sports, The SportsRush, Goal.com, Premier League, Sky Sports, 90Min

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

1 Comment

  1. 13/08/2022 at 20:47

    […] อ้างจากแหล่งที่มา: … […]

Comments are closed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save