พรีเมียร์มาแล้ว! มาดู "นิว นอร์มอล" และลูกพิศวง เข้าเต็มใบ ทำไมไม่เป็นประตู?!? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
พรีเมียร์มาแล้ว! มาดู “นิว นอร์มอล” และลูกพิศวง เข้าเต็มใบ ทำไมไม่เป็นประตู?!?

หลังหายหน้าไปนาน 3 เดือน ล่าสุดพรีเมียร์ลีกก็กลับมาลงเตะเรียบร้อย กับโปรแกรมคู่ตกค้าง 2 คู่ เมื่อดึกคืนวันพุธที่ 17 มิ.ย. ระหว่าง แอสตัน วิลล่า-เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้-อาร์เซน่อล

คู่ตกค้างที่ลงเล่นกันไป มีบิ๊กแมทช์ “เรือใบสีฟ้า” ดวล “ปืนใหญ่” ด้วย
(Source : Manchester Evening News)

หลังเราเห็น “นิว นอร์มอล” ที่น่าสนใจมากมายกับบุนเดสลีก้า ซึ่งเป็นลีกใหญ่ที่กลับมาลงเล่นก่อนใคร พอถึงคราวพรีเมียร์ลีกกลับมาลงเล่นกับอีก 9-10 นัดที่เหลือ ก็มีหลายสิ่งที่เหมือน และหลายสิ่งที่ต่าง

“นิว นอร์มอล” ของลีกสูงสุดเมืองผู้ดีจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง เราไปไล่เรียงกัน แถมด้วยจังหวะปริศนาทอล์คออฟเดอะทาวน์ ที่เมืองนอกเรียกว่า “Ghost Goal” หรือ “ประตูพิศวง” ที่เชฟฯ ยู ควรได้ แต่ไหงมันไม่ได้?!?

การสวมหน้ากากอนามัย

จุดนี้เป็นจุดที่พรีเมียร์ลีก แตกต่างจากบุนเดสลีก้าชัดเจน เพราะในลีกสูงสุดเมืองเบียร์ แม้จะมีการจำกัดจำนวนผู้เกี่ยวข้องที่เข้ามาในสนามได้ แต่ก็ยังเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัยทุกคน ยกเว้นผู้จัดการทีม และนักเตะที่ลงสนาม 11 คน บวกกับนักเตะที่ออกไปวอร์มเท่านั้น

แพทย์ หรือนักกายภาพประจำทีม ที่ต้องดูแลนักเตะใกล้ชิด ยังคงต้องสวมหน้ากากให้ถูกต้อง
(Source : NewsChain)

แต่กับพรีเมียร์ลีก พวกเขายืนยันว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บริเวณสนาม (รวมกันราว 100 กว่าราย) ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะทุกคนผ่านขั้นตอนการตรวจเชื้อมาหลายครั้งแล้ว โดยจะมีเพียงแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด ทั้งของทีมและของสนาม (เช่น เจ้าหน้าที่เปล) ที่ต้องเข้าไปดูแลนักเตะที่เจ็บใกล้ชิด และผู้ตัดสินที่ 4 เท่านั้น ที่ต้องสวมหน้ากาก

ความปลอดภัยของอุปกรณ์

อุปกรณ์สนามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกฟุตบอล, เสา-คานประตู หรือมุมธง จะมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ทั้งก่อน, ระหว่างพักครึ่ง และหลังแมทช์แข่งขัน

Social Distancing

ยังคงมีการเว้นระยะห่างจากกันให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ที่ชัดเจนคือการนั่งของตัวสำรอง และสตาฟฟ์โค้ช ซึ่งยังคงเว้นระยะห่างจากกัน โดยใช้พื้นที่ซุ้มม้านั่ง และบนสแตนด์ด้านหลังซุ้ม

การใช้พื้นที่สแตนด์ด้านหลังซุ้มม้านั่ง เพื่อให้นักเตะสำรอง และสตาฟฟ์นั่งแบบเว้นห่างกัน
(Source : Daily Star)

การเดินลงสู่สนาม ก็สามารถลงมายืนเรียงในสนามได้โดยไม่ต้องรอเดินลงมาพร้อมกันทั้ง 2 ทีม ทีมไหนพร้อมก็ลงมาก่อนได้เลย และไม่มีการจับมือกันเช่นเดิม

นอกจากนั้น การสัมภาษณ์กับสื่อทั้งก่อน และหลังเกม ก็ยังคงต้องเว้นระยะห่างจากกัน รวมถึงการงดใช้เด็กเก็บบอลเหมือนในเยอรมัน โดยจะมีลูกฟุตบอลวางไว้ตามจุดต่างๆ ข้างสนาม ให้นักเตะหยิบมาเล่นด้วยตนเอง

การไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต

ก่อนการเริ่มแข่งขันทุกแมทช์ พรีเมียร์ลีก และสมาชิกเห็นชอบร่วมกัน ที่จะมีการยืนไว้อาลัย 1 นาที เพื่ออุทิศให้กับผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือโควิด-19

การยืนไว้อาลัย 1 นาที อุทิศแด่ผู้เสียชีวิตจากการโคโรน่าไวรัส
(Source : Inkl)

โดยหากสโมสรไหน จะมีการไว้อาลัยอื่น เช่นการจากไปของบุคลากรสำคัญของสโมสร ก็ให้ทำการยืนไว้อาลัยร่วมไปด้วยเลย

ซึ่งในแมทช์แรกที่กลับมาแข่งขันในเกม วิลล่า-เชฟฯ ยู ก็มีความหมายลึกซึ้งมากกว่านั้น เมื่อ 1 ในผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 คือ “รอน สมิธ” พ่อของผู้จัดการทีม “ดีน สมิธ”

เสื้อของ “รอน สมิธ” ถูกเอามาวางตรงตำแหน่งที่นั่งประจำ ในแมทช์กับเชฟฯ ยู ด้วย
(Source : Birmingham Live)

โดยรอนเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวิลล่า เคยทำงานเป็นการ์ดสนาม และถือตั๋วปีของสโมสรมายาวนาน จนถึงปัจจุบัน

Black Lives Matter

หลังมีการเรียกร้องอย่างเข้มข้นก่อนหน้านี้จากสโมสร และนักเตะ ก่อนที่พรีเมียร์ลีกจะเห็นชอบดึงเป็นประเด็นสำคัญร่วมกัน โดยการกลับมาเตะหนนี้ เราก็ได้เห็นสัญลักษณ์การแสดงออกมากมาย

เสื้อแข่งของนักเตะทุกคน ที่จะใช้ “Black Lives Matter” แทนชื่อตัวเอง
(Source : People)

จุดที่สังเกตเห็นเด่นชัด คือนักเตะทุกคน จะสวมเสื้อแข่งที่เขียนคำว่า “Black Lives Matter” แทนชื่อของตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคนเท่าเทียม และทุกชีวิตไม่ว่าจะผิวสีไหน ก็ควรได้รับการเคารพ และจดจำเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นทีแขนเสื้อด้านขวา ยังจะมีตราที่เขียนว่า “Black Lives Matter” ติดที่เสื้อแข่งขันชัดเจน โดยจะใช้รูปแบบชุดแข่งแบบนี้ ไปอย่างน้อยจนจบซีซันนี้

ถัดจากเสื้อ คือการแสดงสัญลักษณ์ก่อนเขี่ยบอลทุกเกม ด้วยการทำท่าคุกเข่าข้างหนึ่งบนพื้น ซึ่งเป็นการแสดงถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมของสีผิว ซึ่งใช้กันทั่วโลก โดยนอกจากนักเตะ กรรมการ และสตาฟฟ์ ก็ร่วมแสดงจุดยืนนี้พร้อมกันด้วย

การคุกเข่าแสดงสัญลักษณ์ ก่อนจะเริ่มเขี่ยลูกในทุกเกม
(Source : The Times)

ฝั่งสนามเหย้าแต่ละสนาม ก็มีการขึ้นข้อความเกี่ยวกับ Black Lives Matter บนจอ ทั้งวีดีโอ และแบนเนอร์ รวมถึงผืนผ้าใบตกแต่งสแตนด์ ก็มักจะมีข้อความแสดงการเรียกร้องเช่นกัน

ให้กำลังใจ NHS

อย่างที่ทราบกันดีว่า หน่วยงาน NHS หรือ United Kingdom National Health Service เป็นหน่วยงานทางสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ที่เป็นแนวหน้า ซึ่งทำงานอย่างหนักในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทางพรีเมียร์ลีก และสโมสรต่างๆ จึงอยากจะแสดงคำขอบคุณด้วยเช่นกัน

ตราหัวใจสีน้ำเงินของ NHS จะถูกติดที่เสื้อนักเตะทุกคน จนจบซีซันนี้
(Source : talkSPORT)

เราจึงจะเห็นเสื้อแข่งของทุกทีม จะมีสัญลักษณ์หัวใจสีน้ำเงิน พร้อมอักษร NHS ที่หน้าอก เพื่อแสดงคำขอบคุณ และห่วงใยดังกล่าว

บรรยากาศในสนาม

เหมือนกับในเยอรมัน และสเปน สนามเหย้าของพรีเมียร์ลีก ใช้การเปิดเสียงเชียร์แฟนบอลตลอดการแข่งขัน และมีการเลือกทั้งเสียงปลุกเร้า เสียงโห่ หรือเสียงเฮ ตามจังหวะของเกม

ผืนผ้าใบ และธงตกแต่งต่างๆ ถูกขึงบนสแตนด์ เพื่อสร้างบรรยากาศให้มากที่สุด
(Source : The world news platform)

นอกจากบรรยากาศทางเสียง บนสแตนด์รอบด้านในสนาม ก็มีการประดับด้วยผืนผ้าใบ และธงเชียร์ เพื่อสร้างความคุ้นชินให้มากที่สุด เท่าที่สนามเหย้าแต่ละแห่งจะทำได้

และกับสนามที่มีจอขนาดใหญ่ภายใน ก็มีการตัดภาพการลุ้นชมเกมถ่ายทอดสดของแฟนบอล ผ่านโปรแกรมคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศที่ดูน่ารักไปอีกแบบ อย่างในสนามเอติฮัด ของ “เรือใบสีฟ้า” มีการตั้งจอของแฟนบอลที่หลังโกล์ทั้ง 2 ฝั่งด้วย

จอขนาดใหญ่ ที่ติดตั้งไว้บริเวณใกล้หลังโกล์ในสนามเอติฮัด สเตเดียม
(Source : TimesDaily)

โดยการตัดภาพลุ้นของแฟนบอลจากคอนเฟอร์เรนซ์ ยังถูกใช้ตัดออกอากาศในจังหวะลุ้นประตูระหว่างถ่ายทอดสดด้วย ซึ่งถือว่าแปลกใหม่จากชาติอื่นๆ

การป้องกันนักเตะบาดเจ็บ

พรีเมียร์ลีก ได้มีการปรับเปลี่ยนกฎให้สามารถเปลี่ยนตัวได้เพิ่มเติมจาก 3 เป็น 5 คน โดยแต่ละทีมสามารถใช้สิทธิ์เปลี่ยนตัวได้ 3 ครั้ง (ไม่นับช่วงพักครึ่ง) เพื่อไม่ให้รบกวนเกมมากจนเกินไป

นอกจากเพิ่มจำนวนการเปลี่ยนตัวแล้ว พรีเมียร์ลีกยังอนุญาตให้แต่ละทีม ส่งรายชื่อตัวสำรองได้เพิ่มเติมจาก 7 เป็น 9 คน เพื่อสามารถบริหารสภาพร่างกายของนักเตะได้ดีขึ้นด้วย

การพัก “คูลลิ่ง เบรก” ซึ่งกรรมการสามารถพิจารณาใช้ได้ เพื่อช่วยรักษาสภาพร่างกายนักเตะ
(Source : People)

และที่เพิ่มเติมมาอีกอย่าง คล้ายคลึงกับลา ลีก้า ของสเปน นั่นคือกรรมการสามารถสั่งให้มี “คูลลิ่ง เบรก” หรือพักเบรกดื่มน้ำได้ โดยในคู่ระหว่างวิลล่ากับเชฟฯ ยู ได้มีการพักเบรก 2 ครั้ง ทั้งช่วงครึ่งทางของครึ่งแรก และครึ่งหลัง

ที่มีการให้เบรกดื่มน้ำได้ ก็เพราะอากาศของยุโรปเริ่มร้อนขึ้น บวกกับการร้างสนามไปนานของนักเตะ แถมโปรแกรมยังถี่ยิบ มีวิธีไหนช่วยได้ ก็หยิบเอามาใช้

ประตูพิศวงของดาบคู่

หัวข้อนี้ไม่ได้เป็นนิว นอร์มอล แต่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะเกมวิลล่า-เชฟฯ ยู มีจังหวะไม่ได้ประตูอย่างไม่น่าเชื่อของ “ดาบคู่” ทั้งที่ลูกข้ามเส้นเข้าไปแล้วชัดเจน เมื่อดูภาพช้า

จังหวะเสียหลักเลยเส้นทั้งบอลทั้งคนของนีแลนด์ ซึ่งโกล์ไลน์ไม่ส่งสัญญาณซะฉิบ
(Source : The Guardian)

ตามปกติแล้ว เรื่องลูกข้ามเส้นหรือไม่ ฟุตบอลมีเทคโนโลยี “โกล์ไลน์” ที่จะมีมุมกล้องมากมาย เพื่อวัดอย่างละเอียดว่าลูกฟุตบอลข้ามเส้นไป 100% แล้วหรือไม่ ก่อนจะส่งสัญญาณไปที่นาฬิกาข้อมือผู้ตัดสิน ทำให้การตัดสินข้อนี้ ไม่เคยมีใครกังขา แม่นยำมาตลอด

แต่การรับลูกไม่ติดมือของ “ออร์ยาน นีการ์ด” นายทวารวิลล่า แล้วชนกับเพื่อนร่วมทีม จนตัวและลูกฟุตบอลหลุดถลำเข้าไปในโกล์ สัญญาณเจ้ากรรมดันไม่ส่งไปที่ข้อมือของ “ไมเคิล โอลิเวอร์” กรรมการที่เรียกได้ว่าเป็นมือ 1 ของอังกฤษ

“ไมเคิล โอลิเวอร์” ยืนยันว่าไม่มีสัญญาณส่งมาจากโกล์ไลน์ ว่าลุกผ่านเส้นไปครบแล้ว
(Source : iNews)

เมื่อไม่มีสัญญาณ โอลิเวอร์จึงไม่ให้เป็นประตู และ VAR ก็แจ้งในภายหลังว่า การตัดสินว่าบอลข้ามเส้นหรือยัง เป็นหน้าที่ของเทคโนโลยีโกล์ไลน์ จึงไม่อาจก้าวก่ายได้

ภาพรีเพลย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของผู้ชมทางบ้าน จึงงงเป็นไก่ตาแตก ว่ามันไม่ได้ประตูได้ยังไง ทั้งที่บอลที่นีแลนด์ยันเอาไว้นั้นอยู่หลังเสาประตูทั้งใบ

ซูมกันชัดๆ ว่าบอลเข้าไปแล้วแน่นอนเต็มใบ ก่อนที่นีแลนด์จะพยายามดันบอลไว้กับเสา
(Source : Mimic News)

ซึ่งล่าสุด บริษัทฮอว์กอาย ผู้ให้บริการเทคโนโลยีโกล์ไลน์กับพรีเมียร์ลีก ได้ออกมายอมรับว่ามีข้อผิดพลาด ที่มุมกล้องไม่สามารถตรวจจับ ทำให้ไม่มีการส่งสัญญาณว่าลูกเข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นเคสแรกจากการใช้งานมาแล้วเกินกว่า 9,000 ครั้ง และบริษัทได้แสดงความขอโทษต่อพรีเมียร์ลีก และเชฟฯ ยู กับกรณีนี้อย่างสุดซึ้ง

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า 2 แต้มที่หล่นหายของเชฟฯ ยู จะส่งผลต่อการลุ้นอันดับฟุตบอลยุโรปแค่ไหนในบั้นปลาย แต่มันก็ทำให้แฟนบอลเริ่มรู้สึกตะหงิดๆ แล้วแน่นอน ว่าขนาดโกล์ไลน์ที่ไร้ข้อกังขา ยังพลาดกันซึ่งหน้าแบบนี้!

โปรแกรมต่อจากนี้

หลังผ่าน 2 คู่ตกค้าง เท่ากับทั้ง 20 ทีม จะมีโปรแกรมเหลืออีก 9 นัดเท่ากันหมด โดยจะใช้เวลาเพียง 5 สัปดาห์ ในการแข่งขันทั้งหมด ไปสิ้นสุดนัดสุดท้ายในวันที่ 26 ก.ค.

8 สโมสร ที่ยังอยู่ในเส้นทางเอฟเอ คัพ ยังมีโปรแกรมเพิ่มเติมลงเล่นเข้าไปอีก
(Source : 233 Football)

แน่นอนว่าระยะเวลาแค่นี้ กับ 9-10 แมทช์ ย่อมอัดแน่นแทบจะเรียกว่าสัปดาห์ละ 2 นัดโดยตลอด แต่นอกเหนือจากพรีเมียร์ลีก ยังจะมีโปรแกรมเอฟเอ คัพ ลงเล่นกันควบคู่ไปด้วย ตั้งแต่รอบ 8 ทีมสุดท้าย จนนัดชิงชนะเลิศในวันที่ 1 ส.ค.

นอกจากนั้น ทีมที่ยังอยู่ในเส้นทาง “ยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก” และ “ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก” ทั้ง แมนฯ ซิตี้, เชลซี, แมนฯ ยู และวูล์ฟ ยังต้องลงเล่นกันต่อในช่วงกลางเดือน ส.ค. ซึ่งล่าสุดยูฟ่าคลอดโปรแกรมแบบเตะน็อคเอาท์นัดเดียวรู้เรื่อง ในสนามเป็นกลาง ออกมาแล้ว

“เอสตาดิโอ้ ดา ลูซ”​ สนามของเบนฟิก้า ถูกเลือกเป็นสังเวียนแข้งรอบชิงของ UCL ปีนี้
(Source : SL Benfica)

เท่ากับทีมที่มีลุ้นหลายถ้วย อย่างเช่น “เรือใบสีฟ้า” หรือ “ปีศาจแดง” อาจจะต้องลงเล่นสูงสุดถึง 16-17 นัด ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือนกว่า

ยังไม่รวมการเริ่มต้นซีซัน 2020/21 ซึ่งน่าจะพยายามบีบให้เริ่มกันได้ ก.ย. เพื่อกระทบกำหนดการต่างๆ และตลาดซื้อ-ขายซัมเมอร์ให้น้อยที่สุด เท่ากับเป็นช่วงหฤโหดของนักฟุตบอล และผู้เกี่ยวข้องในทีมอย่างแท้จริง

2 ทีมจากเมืองแมนเชสเตอร์ อาจจะต้องลงเล่นถึง 16-17 นัด หากเข้ารอบชิงฟุตบอลถ้วย
(Source : Ronaldo.com)

สุดท้ายแล้วการกรำศึกหนักของซีซันนี้ และเร่งรัดเปิดซีซันหน้า ทั้งที่ยังไม่ทราบว่าจะมีผู้ชมเข้าสนามได้เมื่อไหร่ จะส่งผลกระทบแต่ละสโมสรแค่ไหน อีกไม่นานเราคงได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

Picture : Reuters UK, Mimic News, Manchester Evening News, NewsChain, Daily Star, People, The Times, talkSPORT, TimesDaily, The world news platform, The Guardian, iNews, 233 Football, SL Benfica, Ronaldo.com, Inkl, Birmingham Live

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save