สรุปเส้นทางความสำเร็จ "Tesla Motor" บริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าการตลาดอันดับ 1 ของโลกที่เพิ่งแซง Toyota ไปไม่กี่วันนี้เอง - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
สรุปเส้นทางความสำเร็จ “Tesla Motor” บริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าการตลาดอันดับ 1 ของโลกที่เพิ่งแซง Toyota ไปไม่กี่วันนี้เอง

ช่วงนี้หากใครได้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นอยู่บ้างก็คงจะทราบข่าวใหญ่ว่าตอนนี้หุ้นของบริษัท Tesla Motor ขึ้นเอาๆ และท้ายที่สุดก็ขึ้นจนตอนนี้ เทสล่า กลายเป็นบริษัทยานยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก แซงหน้า Toyota ที่ครองตำแหน่งเบอร์หนึ่งมานานหลายทศวรรษไปเป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งการทะยานของหุ้นเทสล่าแบบอะไรก็ฉุดไม่อยู่เช่นนี้ ส่งผลให้ อิลอน มัสค์ ผู้เป็น CEO ของ เทสล่า มอเตอร์ ในตอนนี้ได้ร่ำรวยเป็นอันดับที่ 7 ของโลก มีมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมไม่ต่ำกว่าสองล้านล้านบาทแซงหน้าวอเรน บัพเฟต ไปแล้ว ดังนั้นวันนี้เราจะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักบริษัท Tesla Motor กันว่าบริษัทนี้มีเส้นทางการเติบโตเป็นอย่างไร กว่าที่จะมีวันนี้ได้ หากใครพร้อมแล้วก็มาติดตามอ่านกันเลยครับ

พัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก

เพราะ Tesla Motor นั้นอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นก่อนอื่นเรามาย้อนประวัติดูเส้นทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมนี้กันก่อนนะครับ เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์โลกในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในรอบ 100 ปี และบริษัทที่มาสร้างแรงกระเพื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คือ Tesla Motor แล้วบริษัทนี้เป็นใคร มาจากไหน กำลังทำอะไร แล้วทำไมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากมายขนาดนี้ วันนี้คุณจะได้คำตอบ

หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว วิศวกรได้สร้างรถยนต์ที่สามารถจำแนกตามการใช้พลังงานได้ 3 รูปแบบ คือ รถยนต์พลังงานน้ำมัน รถยนต์พลังจักรกลไอน้ำ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยในรถยนต์ทุกๆ 100 คันจะมีรถยนต์ใช้พลังจักรกลไอน้ำอยู่ 40 คัน อีก 38 คันเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ส่วนที่เหลือเป็นรถยนต์ใช้น้ำมัน แม้ว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะมีสัดส่วนน้อยที่สุดในสมัยนั้น แต่ในตอนนั้นตลาดรถยนต์ยังเล็กมาก ความแพร่หลายในการใช้งานจึงไม่มากเท่าที่ควร

เฮนรี่ ฟอร์ด  

แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1908 เมื่อนาย เฮนรี่ ฟอร์ด สามารถทำให้รถยนต์ใช้น้ำมันกลายเป็นรถยนต์ที่ขายได้มากที่สุดในโลก โดยเขาได้คิดค้นวิธีการผลิตรถยนต์แบบสายการผลิต หรือที่เรียกว่า Assembly Line ทำให้จากเดิมที่พนักงานคนหนึ่งต้องทำหลายงานในการผลิตรถยนต์หนึ่งคัน ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นสายการผลิตที่พนักงานได้ทำงานแบบเดิมซ้ำๆ ส่งผลให้ฟอร์ดสามารถผลิตรถยนต์ได้เร็ว และมีราคาต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกลงกว่าเดิมมากๆ ราคารถยนต์ของฟอร์ดจึงเป็นราคาที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้นั่นเอง

เออิจิ โตโยดะ

อีก 37 ปี ต่อมา เออิจิ โตโยดะ เจ้าของบริษัท Toyota ก็ได้นำระบบการผลิตรถยนต์แบบ Assembly Line มาประสานเข้ากับระบบ Just in Time ซึ่งเป็นระบบการผลิตรถยนต์ตามออร์เดอร์แบบทันเวลาพอดี ทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันลดลงกว่าเดิมมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้โตโยต้ากลายมาเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีมูลค่าการตลาดสูงที่สุดในโลกมานานหลายทศวรรษ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป โลกแห่งยานยนต์ของโลกเราก็ดำเนินต่อไปในรูปแบบเดิมๆ ปีแล้วปีเล่าด้วยรูปแบบการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันที่ทิ้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมลพิษที่ทำให้คนเราหายใจไม่สะดวก และที่หายนะที่สุดก็คือปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันในปัจจุบัน

การมาของบริษัท Tesla Motor

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2003 บริษัท Tesla Motor ก็ถือกำเนิดขึ้นโดยสองวิศวกรชาวอเมริกันอย่าง มาร์ติน อีเบอร์ฮาร์ด และ มาร์ค ทาร์เพนนิ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายุคใหม่เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนโดยเฉพาะ และถือเป็นโชคดีมากๆ ที่วิศวกรผู้ก่อตั้งทั้งสองคนนี้ได้ชักชวน อิลอน มัสค์ เข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทของพวกเขา

ในช่วงนั้น อิลอน มัสค์ ได้รับเงินก้อนโตจากการขายบริษัท paypal พอดี โดยได้รับเงินมากว่า 180 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ มัสค์ไม่ได้สนใจเพียงแค่การเป็นนักลงทุน แต่เขาอยากกุมบังเหียนเป็น CEO ของบริษัทเทสล่าด้วย เพราะมัสค์เองคลั่งไคล้ในเรื่องนี้มากๆ ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามข้อตกลงที่เขาต้องการ จนในเวลาต่อมา มัสค์  ได้ก้าวเข้ามาเป็น CEO ของเทสล่าแบบเต็มตัว

เทสล่า ภายใต้การบริหารงานของ มัสค์ เริ่มต้นจากการสร้างรถยนต์สปอร์ตไฟฟ้า Roadster เนื่องจากแบตเตอรี่ไฟฟ้าเป็นต้นทุนที่แพงที่สุดในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคัน จึงไม่มีทางที่ในตอนแรกเทสล่าจะทำรถยนต์ไฟฟ้าให้มีราคาต่ำสู้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันได้ เทสล่าจึงต้องเริ่มจากการขายรถยนต์ราคาแพงให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง จึงกลายเป็นที่มาของรถหรูในโมเดลต่อมาอย่าง โมเดล S และโมเดล X

กลยุทธ์ที่จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของแบตเตอรี่ถูกลงก็คือการผลิตในปริมาณมากๆ เข้าไว้ หรือที่เรียกว่า economy of scale เทสล่าได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้าง กิกะแฟคทอรี่ (Gigafactory)  เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่ 20.6 GWh เทียบเท่ากับกำลังการผลิตแบตเตอรี่ทั้งโลกรวมกัน ตั้งอยู่ที่รัฐเนวาด้า และนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา นอกจากในอเมริกาแล้ว เทสล่ายังตั้งกิกะแฟคทอรี่ในจีน และมีแผนจะไปตั้งกิกะแฟคทอรี่ในประเทศเยอรมันประเทศที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลกด้วย

ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งตัวรถไฟฟ้าของเทสล่าลดลงไปอีก และเมื่อต้นทุนทุกส่วนมีราคาถูกลง เทสล่าจึงเริ่มเข้าสู่กลุ่มแมสด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3 ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าราคาย่อมเยาที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ด้วยราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 35,000 ดอลล่าสหรัฐ หรือราวๆ 1,050,000 บาท ทำให้ยอดจองของโมเดล 3 ในช่วงเปิดตัวปี 2017 ได้ทำประวัติศาสตร์การขายที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การขายรถที่เคยมีมาบนโลกด้วยยอดจองที่ 3.25 แสนออร์เดอร์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท

และเมื่อเร็วๆ นี้ เทสล่า ก็ทำให้เราได้ตื่นเต้นกันอีกครั้งกับการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้า Cybertruck  ที่กำลังจะมาตีตลาดกลุ่มรถยนต์ครอสโอเวอร์ รถกระบะ และรถตู้ ซึ่งรถยนต์ใน 4 กลุ่มนี้มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 71% ของตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา

Tesla Motor ผงาดในตลาดหุ้น

ด้วยนวัตกรรมและแนวคิดสุดล้ำของเทสล่า ทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2019 มูลค่าของบริษัทเทสล่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านล้านบาท นับเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่าใน 7 ปี จนเทสล่ากลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในสหรัฐแซงหน้าฟอร์ด และ GM ผู้นำตลาดรถยนต์ใช้น้ำมันไปแล้ว และในปี 2020 นี้เทสล่าก็มีมูลค่าแซงบริษัทโตโยต้ากลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อยด้วยมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านบาท

ความเคลื่อนไหวของเทสล่าได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก เห็นได้จากเมื่อไม่นานมานี้บริษัทผลิตรถยนต์หรูยักษ์ใหญ่จากเยอรมันอย่างไดม์เลอร์เจ้าของแบรนด์ เมอร์ซิเดส เบนซ์ เพิ่งประกาศเลิกพัฒนารถยนต์ใช้น้ำมันเพื่อหันมาโฟกัสเทคโนโลยีรถยนต์ใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่บุคคลสำคัญผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างคาร์ล เบนซ์ คือผู้คิดค้นรถยนต์ใช้น้ำมันได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลกเมื่อกว่า 133 ปีที่แล้ว

และนี่ก็คือย่างก้าวที่สำคัญของบริษัทเทสล่า และเป็นย่างก้าวสำคัญของวงการยานยนต์โลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคแห่งยานยนต์ไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ และเทสล่าก็ถือได้ว่าเป็นพระเอกในการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาครั้งนี้เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น เพื่อโลกที่สดใสน่าอยู่กว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้

Sujate Wanchat

What one man calls God, another calls the laws of physics.

วิศวกร นักท่องเที่ยว บล็อกเกอร์ นักเขียนบทความ ชอบติดตามโลกเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำสมัย เรื่องราวการท่องเที่ยวผจญภัย มนุษย์ต่างดาว และสาวๆ เซ็กซี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save