ในรอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากเรื่องโควิด-19 ที่การติดเชื้อในอเมริกายังไม่มีทีท่าจะลดลง ยังมีประเด็นร้อนที่มากับแฮชแท็ค #BlackLivesMatter เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมของคนผิวสี หลังตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ในการจับกุม ด้วยการกดเข่าล็อคคอ “จอร์จ ฟลอยด์” บนพื้น แม้จะมีการร้องขอว่าหายใจไม่ออก จนต่อมาเสียชีวิต ด้วยอาการขาดอากาศหายใจ

(Source : Surrey Live)
กระแสการเรียกร้องทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงในอเมริกา แต่ยังทวีการพูดถึงไปทั่วทั้งโลก เพราะแม้จะไม่มีการออกมาชุมนุมกันตัวเป็นๆ แต่มีการใช้โซเชียลมีเดีย ร่วมส่งพลังสนับสนุน ไม่เว้นในวงการกีฬา ซึ่งสตาร์ดังมากมาย ออกมาร่วมแสดงจุดยืนด้วยเช่นกัน
มองผิวเผิน มันอาจเป็นแค่การแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกแบ่งชั้นทางสังคม แต่หากมองลงไปในรายละเอียดแล้ว มันมีความหมายลึกซึ้ง และเหตุผลของการยืนหยัดต่อสู้ของหลายคน มากกว่าที่เราเห็น
ที่มาของ Black Lives Matter
ถึงจะได้ยินกันทั่วไปในขวบปี 2020 นี้ แต่ความจริงแล้ว การเคลื่อนไหวที่ใช้คำว่า “Black Lives Matter” นั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี 2013 หรือเมื่อ 6-7 ปีก่อน จากเหตุการณ์สูญเสียชีวิตของเด็กหนุ่มผิวดำนาม “เทรย์วอน มาร์ติน”

(Source : The Village Voice)
เทรย์วอนวัยเพียง 17 ปี ถูกยิงเสียชีวิตโดย “จอร์จ ซิมเมอร์มันน์” ชายผิวขาว ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าระวังของชุมชน โดยซิมเมอร์มันน์อ้างว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตัว และท้ายที่สุดศาลก็เห็นด้วยตามนั้น
เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่หนุ่มน้อยเทรย์วอน ไม่มีอาวุธต่อสู้ จึงมีการเรียกร้องความยุติธรรม จากเหล่านักรณรงค์ (แอคติวิสท์) ผิวดำ โดยใช้แฮชแท็ค #BlackLivesMatter ซึ่งแปลเข้าใจตรงตัว และตรงความหมายว่า “ชีวิตคนดำ ก็มีความหมาย”

(Source : Anadou Agency)
ความจริงแล้ว การรวมกลุ่มอย่างแข็งแกร่ง ไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับทันทีทันใด แต่เพราะคนผิวดำในอเมริกา คุ้นเคยกับการดูถูก และถูกกีดกันจากความเท่าเทียม มาตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองนู่น แม้ปัจจุบันจะดีขึ้นมาก แต่มันก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุเกิดขึ้นเลย อย่างที่เราเห็นในเคสล่าสุดกับ “จอร์จ ฟลอยด์”
การแบ่งแยกสีผิว และชนชั้นในอเมริกา มีความเข้มข้นมาแต่ไหนแต่ไร เพราะสมัยก่อน คนผิวขาวมองว่าตัวเองเหนือกว่า แม้หลังสงครามกลางเมือง จะมีกฎหมายที่พูดถึงความเท่าเทียมชัดเจนขึ้น แต่กฎย่อยของแต่ละรัฐ ก็ยังมีการแบ่งแยกชัดเจน จนก่อเกิดการต่อสู้มานับครั้งไม่ถ้วน

(Source : Urban Institute)
สำหรับคนที่ยังไม่ค่อยทราบรายละเอียด สามารถไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ เพราะมีการเคลื่อนไหวในหลากหลายชื่อ ทั้งแบบสันติ และนำไปสู่การปะทะ หรือการทำให้โลกได้ชื่นชม และสูญเสีย “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์” บุคคลชื่อก้อง เรื่องการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม
ยกตัวอย่างมาพูดสั้นๆ ก็คือ เมื่อก่อนยังมีการแบ่งแยกหนักข้อมากในอเมริกา บางอาคารมีทางเข้าของคนผิวขาว แยกจากผิวดำ, รถบัสแบ่งแถวนั่งกัน ถ้าคนขาวไม่มีที่นั่ง คนดำต้องลุกให้นั่ง, ห้องน้ำแยกกัน, โรงเรียนแยกกัน และมีร้านอาหารที่ไม่ต้อนรับคนดำเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นจริง ในยุคไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง

(Source : Sutori)
Black Lives Matter กับวงการกีฬา
แน่นอนว่ากระแสการแสดงจุดยืนต่อต้านการกระทำที่ไม่เป็นธรรม จะเริ่มจากดินแดนของเรื่องราวอย่างอเมริกาก่อน เพราะนอกจากความคุ้นชินของปัญหา จนเป็นเหมือนเชื้อไฟที่จุดติดง่าย นักกีฬาหลายคนก็เคยเจอกับปัญหานี้กับตัวเอง หรือไม่ก็คนใกล้ตัว
คนใกล้ตัวไม่ต้องไปยกตัวอย่างไกล เพราะ “จอร์จ ฟลอยด์” ผู้จากไป มีเพื่อนวัยเด็กคือ “สตีเฟน แจ็คสัน” อดีตนักบาสเก็ตบอล NBA ผู้เคยคว้าแหวนแชมป์มาแล้วกับซาน อันโตนิโอ สเปอร์
(Source : Complex)
แจ็คสันออกมาเป็นแกนนำการเรียกร้องความยุติธรรมตั้งแต่ต้น และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันสำคัญ ให้เสียงจากผู้รณรงค์ กระจายไปสู่วงกว้าง โดยหวังว่าการตายของเพื่อนเขาจะไม่สูญเปล่า แม้มันไม่อาจจะชดเชยชีวิตที่เสียไป และความสูญเสียของคนรอบข้าง
หลังจากนั้น มีนักกีฬาที่มีชื่อเสียงมากมาย ออกมาร่วมเรียกร้อง ทั้ง “ไมเคิล จอร์แดน”, “ไทเกอร์ วู้ดส์”, “เซเรน่า วิลเลียมส์”, “นาโอมิ โอซากะ” นักเทนนิสผิวสีลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ ซึ่งไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมากนัก ก็ไม่อาจอยู่เฉย หรือ “ลูอิส แฮมิลตัน” แชมป์โลก F1 ชาวอังกฤษ ที่อกมาสะกิดคนในวงการความเร็ว ว่าเขาเห็นว่าหลายคนยังนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้อยู่

(Source : The Press Stories)
การเรียกร้องจากการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ที่มีคนตามนับล้าน ย่อมส่งแรงกระเพื่อมใหญ่ในสังคมทั่วโลก รวมทั้งยังมีหลายการเรียกร้อง ที่ลึกซึ้ง และทำให้หลายคนเข้าใจว่ามันมีความสำคัญกระทบจิตใจแค่ไหน
อย่าง “โคโค กอฟฟ์” นักเทนนิสผิวสีชาวอเมริกัน วัยเพียง 16 ปี ซึ่งเธอได้ใช้ Tiktok โซเชียลมีเดียที่ปกติเต็มไปด้วยความบันเทิง ให้กลายเป็นช่องทางออกเสียงต่อต้านการกระทำอันโหดร้าย และปิดท้ายด้วยท่าทางเหมือนมอบตัว และคำถามที่หนักหน่วงว่า “หรือฉันจะเป็นคนต่อไป?”

(Source : Daily Mail)
หรือการโพสต์โซเชียลมีเดีย ตั้งแต่แรกๆ ของ “เลบรอน เจมส์” สตาร์อันดับ 1 ของ NBA คนปัจจุบัน ที่ใช้ภาพชาย 2 คนคุกเข่า ด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกันสุดขั้ว
ทางซ้ายของภาพ เป็นรูปการเอาเข่ากดคอฟลอยด์ของตำรวจนายนั้น พร้อมกับคำว่า “This…” ส่วนทางด้านขวา เป็นรูปนักอเมริกันฟุตบอลคนนึง ที่คุกเข่ากับพื้น พร้อมกับคำว่า “…Is Why.”

(Source : News18)
ความหมายของภาพ คือการระบุว่า เพราะสิ่งที่เกิดในรูปซ้าย จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องออกมาเรียกร้องแบบภาพขวา ซึ่งเป็นภาพของ “โคลิน เคเปอร์นิค” บุคคลสำคัญในการแสดงพลังเรียกร้องในวงการกีฬา ที่เราไม่พูดถึงไม่ได้
ใครคือ โคลิน เคเปอร์นิค?
ไม่ต้องสงสัยเลย ว่าการที่ “คิงเจมส์” เลือกใช้รูปคุกเข่าของเคเปอร์นิค ย่อมแสดงให้เห็นว่า การแสดงออกของอดีตควอเตอร์แบ็คซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียกร้องความเท่าเทียม

(Source : Midden Press-Herald)
“โคลิน เคเปอร์นิค” เป็นควอเตอร์แบ็คที่ฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา แต่ที่ทำให้คนจดจำได้ดี กลับเป็นการปฏิเสธยืนเคารพเพลงชาติอเมริกาก่อนเริ่มเกม ซึ่งถือเป็นระเบียบปฏิบัติประจำที่ทุกคนทำกันด้วยความภาคภูมิใจ และหลายคนใช้เป็นการบิวท์อัพให้ฮึกเหิมก่อนลงเล่น
เคเปอร์นิค เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธการยืน โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่อาจเคารพธงชาติด้วยความภาคภูมิใจต่อประเทศที่มีการกีดกันคนผิวดำ ซึ่งเรื่องนี้มันยิ่งใหญ่เกินกว่าอเมริกันฟุตบอล และมันก็คงเห็นแก่ตัว ถ้าเขานิ่งเฉย ไม่แสดงออกอะไรเลย ทั้งที่คนสีผิวเดียวกันนอนเป็นศพอยู่ข้างถนน อย่างไม่เป็นธรรม

(Source : ABC News)
การเรียกร้องที่เข้มข้นของเคเปอร์นิค เกิดขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อเขาแสดงท่าคุกเข่าข้างนึงกับพื้น ขณะเพลงชาติอเมริกาดังขึ้น เพื่อแสดงออกว่า ธงชาติไม่สามารถแสดงถึงสิ่งที่ควรเป็น ซึ่งการกระทำของเขา ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย
ไม่เพียงแต่ประชาชนทั่วไป ที่ผิดหวังกับการไม่ให้เกียรติต่อเพลง และธงชาติ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็ออกมาตอบโต้การกระทำของเคเปอร์นิค ด้วยการกดดันให้ NFL ออกบทลงโทษ เพราะมันถือเป็นการไม่แสดงความรักชาติ

(Source : CNN)
หลังจากนั้น มีนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล เริ่มแสดงออกแบบเดียวกับเคเปอร์นิค จน NFL ต้องออกกฎว่าการยืนเคารพธงชาติ เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนแข่งขัน และผลกระทบที่หนักหน่วงที่สุด ก็มุ่งเป้าไปที่เคเปอร์นิค และส่งผลให้เขาต้องไม่มีสังกัด ในเวลาต่อมา
หลังโฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส ไม่ต่อสัญญา ก็ไม่มีทีมไหนเซ็นสัญญากับเขา มีแค่เพียงเรียกไปทดสอบแต่ก็ลงเอยด้วยการไม่เซ็นสัญญา ซึ่งหลายสื่อเชื่อว่า ทีมต่างๆ ไม่กล้าร่วมงานกับนักกีฬาที่เข้าไปยุ่งกับประเด็นการเมืองจนเกินตัว โดยถึงตอนนี้ เคเปอร์นิคก็ยังไม่มีทีมสังกัด

(Source : Mother Jones)
อย่างที่ทราบกัน ว่าที่นั่น มีกระแสวิจารณ์แตกออกไป 2 ทาง ทั้งรู้สึกว่าเหมาะสม ที่จะแสดงออก จนได้รับรางวัลจากคุณค่าในสิ่งที่ทำหลากหลายรางวัล แต่กลับกัน อีกส่วนก็มองตรงกันข้าม เพราะเป็นการแสดงออกว่าไม่รักชาติ และเคารพในสิ่งที่ควร
เสียงวิพากษ์ในสังคม กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” กันแพร่หลายระดับโลก เมื่อ “ไนกี้” แบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ ตัดสินใจเซ็นสัญญาเคเปอร์นิค ให้มาเป็นหนึ่งในพรีเซ็นเตอร์หลัก ฉลองครบรอบ 30 ปี พร้อมกับสโลแกนที่หนักแน่นดังเดิมว่า “Just Do It”

(Source : The Brock Press)
คำว่า “Just Do It” ของไนกี้ ถูกขยายความด้วยประโยคที่ชัดเจน ว่า “การเชื่อมั่นในบางสิ่ง แม้มันจะต้องเสียสละทุกสิ่ง” ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนการยืนหยัดต่อสู้ของเคเปอร์นิค ทั้งที่สังคมยังคลุมเครือว่าถูกหรือผิด
ช่วงแรกเมื่อแคมเปญของไนกี้ออกไป พวกเขาได้รับกระแสต่อต้านในวงกว้าง จากชาวอเมริกันอนุรักษ์นิยม จนถึงขนาดมีการเผาสินค้าไนกี้เพื่อประท้วง เช่นเดียวกับทรัมป์เจ้าเดิม ที่ตอกย้ำว่า ไนกี้กำลังขุดหลุมฝังตัวเอง
[(Source : YouTube (Doctor Donahue)]
การต่อต้านในหลายส่วนที่อเมริกา ทำให้หุ้นของไนกี้ตกลงทันที แต่ในอีกมุมนึง คนดังหลายคน, สื่อหลายสื่อ และคนทั่วไปอีกมากมาย กลับชื่นชมความกล้าหาญของไนกี้ และเคเปอร์นิค จนการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ตีกลับ เป็นบวกสุดขีด พาหุ้นของไนกี้ดีดกลับมาในเวลาต่อมาไม่นาน
ภาพลักษณ์ของไนกี้ กลายเป็นกระแสบวก ตัวเคเปอร์นิคเอง ก็กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องความยุติธรรม ดังที่เราเห็น “เลบรอน เจมส์” นำภาพของเขาไปแทนสิ่งที่ทุกคนควรตระหนัก เมื่อมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นกับคนผิวสี

(Source : Ex)
นับจากนั้น เคเปอร์นิคแสดงออกเสมอเมื่อมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น เช่นเดียวกับการออกมาแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ของฟลอยด์ ด้วยการยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิ์ตอบโต้ และสู้กลับกับความอยุติธรรม ที่กัดกร่อนสังคมอเมริกันมายาวนาน
Black Lives Matter กับฟุตบอล
เมื่อการคุกเข่าบนพื้น กลายเป็นสัญลักษณ์โต้กลับการคุกเข่าอันทารุณบนร่างของฟลอยด์ ที่มันดังไปกว่าแค่ชีวิตของชายผิวดำเพียงคนเดียว วงการอื่นๆ รวมถึงวงการฟุตบอลก็ใช้สัญลักษณ์นั้น แสดงจุดยืนเช่นกัน
ภาพที่เห็นชัดเจน คือการแสดงสัญลักษณ์ของนักเตะลีกเยอรมัน ที่ลีกของพวกเขา กลับมาแข่งขันออกสื่อก่อนใคร ตามมาด้วยการคุกเข่าร่วมกันของนักเตะ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล รอบวงกลมกลางสนามแอนฟิลด์ จากไอเดียต้นคิดของ “เวอร์จิล ฟาน ไดค์” และ “จอร์จินิโอ้ ไวจ์นาดุม” สองนักเตะดัทช์ผิวสี

(Source : Goal.com)
นอกเหนือจากการแสดงออกในลีกเมืองเบียร์ ทั้งคู่ยังได้แรงบันดาลใจจากการโพสต์แสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดียของ “เรียน บริวสเตอร์” ศูนย์หน้าดาวรุ่งเพื่อนร่วมทีม ซึ่งเคยผ่านการเหยียดผิว มาตั้งแต่ยังเป็นแค่นักเตะเยาวชน ทั้งในและนอกสนาม
ถัดไปไม่นาน สโมสรมากมาย เช่น เชลซี, ดอร์ทมุนด์ และนักเตะชื่อดังทั้ง มาร์คัส แรชฟอร์ด, เจดอน ซานโช, พอล ป็อกบา, เดวิด เบ็คแฮม ก็ต่างออกมาแสดงจุดยืนเดียวกันผ่านช่องทางต่างๆ ในบุนเดสลีก้าเอง การมีการแสดงสัญลักษณ์มากมาย รวมถึงปลอกแขนรณรงค์ ที่นักเตะใส่ลงเล่นกันอย่างแพร่หลาย

(Source : TRT World)
ก้าวต่อไปในวงการกีฬา
แน่นอนว่าการประท้วงของบุคลากรทางกีฬา คงจะไม่เข้มข้นเท่าการไปเดินประท้วงบนท้องถนนอย่างในอเมริกา แต่ทุกภาคส่วนก็แสดงออก และส่งพลังช่วยเหลือกันเต็มที่ เท่าที่ทุกคนทำได้
พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีก้า และ NFL ของศึกอเมริกันฟุตบอล ก็ออกมายืนยัน ว่าจะไม่มีการลงโทษผู้เล่น ที่แสดงออกถึงการสนับสนุน “Black Lives Matter” ไม่ว่าจะเป็นการไม่เคารพต่อเพลงชาติ หรือแสดงท่าทางระหว่างแข่งขัน

(Source : Philadelphia Inquirer)
นอกเหนือจากการแสดงออกกันทั้งอากัปกิริยา และการโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย นักกีฬาหลายรายก็ประกาศบริจาคสนับสนุนการเรียกร้องความยุติธรรมของคนผิวสี เช่นเดียวกับคนดังมีชื่อเสียงจากวงการอื่นๆ อีกมากมาย
สุดท้ายแล้ว มันคงยากแหละ ที่จะหาจุดจบ และความเท่าเทียมได้อย่างทันทีทันควัน เพราะไม่งั้นคงไม่มีการต่อสู้มาอย่างยาวนานเกินกว่าร้อยปี จนถึงวันนี้
แต่อย่างน้อยการเปล่งเสียงออกมาจากทุกหนแห่ง ก็น่าจะทำให้คนที่ไม่ได้ตระหนักถึง ได้ฉุกคิด และหันมามองความเหลื่อมล้ำบ้างไม่มากก็น้อย

(Source : People | HowStuffWorks)
เพราะ “ความเท่าเทียม” เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าคุณจะเป็นคนโด่งดัง หรือสามัญชนธรรมดาทั่วไป ในฐานะที่มนุษย์ทุกคน ควรถูกวัดกันที่คุณค่า และความสามารถ มากกว่าสีผิวที่เลือกไม่ได้มาตั้งแต่ลืมตาดูโลก
Picture : Goal.com, Surrey Live, The Village Voice, Anadou Agency, Urban Institute, Sutori, Complex, The Press Stories, Daily Mail, News18, Midden Press-Herald, ABC News, CNN, Mother Jones, The Brock Press, Ex, TRT World, Philadelphia Inquirer, People | HowStuffWorks
Clip : YouTube (Doctor Donahue)