Series Review | ล้วงลึกถึงล็อคเกอร์ ในวันชิคาโก้ บูลส์ ยุคจอร์แดน สั่นคลอน กับ “The Last Dance” - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
Series Review | ล้วงลึกถึงล็อคเกอร์ ในวันชิคาโก้ บูลส์ ยุคจอร์แดน สั่นคลอน กับ “The Last Dance”

ถึงส่วนตัวผมจะเป็นคนบ้าบอลมาตั้งแต่เด็กจนโต แต่ในช่วงยุค 90 ซึ่งเราไม่มีมือถือ ไม่มีโซเชียล มีเดียให้เสพ พวกกีฬาอเมริกันเกมส์ ที่หาดูไม่ยากในตอนนั้น ก็เข้ามาจับจองความสนใจเราไม่น้อย

เชื่อเลย ว่าคงมีหลายคนในวัยใกล้เคียง จะเคยเฝ้าดูสติงในมวยปล้ำ WCW หรือเฝ้าดูลีลาปีกอย่างเจอร์รี่ ไรซ์ ครองบัลลังก์ซูเปอร์โบล์ว กับซานฟรานซิสโก โฟตี้นายเนอร์ส

แฟนอเมริกันเกมส์ยุคนั้น ไม่มีใครไม่รู้จัก “ไมเคิล จอร์แดน” และผองเพื่อนใน “ชิคาโก้ บูลส์”
(Source : Nice Nicks)

หรือนอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าคนที่คลั่งไคล้กีฬา หรือไม่ก็ตาม ย่อมจดจำชื่อเสียงอันเกรียงไกรของ “ไมเคิล จอร์แดน” และ “ชิคาโก้ บูลส์” ในยุค 90 ได้ดี เพราะนอกจากฝีมือจะเข้าขั้นหนึ่งในตำนานของโลกกีฬาแล้ว บุคลิก และความเป็น “สัญลักษณ์” ยังส่งอิทธิพลไปทั่วโลก

ซึ่งนั่นเป็นวัตถุดิบชั้นดีของลิมิเต็ดซีรีส์ชื่อ “The Last Dance” ที่พึ่งออนแอร์บน Netflix ไปเมื่อ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยซีรีส์ปล่อยทุกวันจันทร์ สัปดาห์ละ 2 EP มีความยาวทั้งสิ้น 10 EP จะปล่อยครบราวเดือน พ.ค. นี้

ความสำเร็จของบูลส์ในยุคโค้ช “ฟิล แจ็คสัน” ถือว่าเข้าขั้นตำนานที่ไม่มีใครเหมือน
(Source : News Break)

แน่นอนว่ามุมความสำเร็จ และความยิ่งใหญ่ของบูลส์ ถูกหยิบเอามาพูดให้ทุกคนเห็นมามากแล้ว ไม่ต่างจากคลิปลีลาการเล่นของจอร์แดน ที่หาชมได้มากมายในโลกออนไลน์ แต่กับ “The Last Dance” ซีรีส์กลับเลือกแง่มุมของซีซัน 1997/98 ซีซันที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งทำให้บูลส์สั่นคลอน

ที่บอกว่าเป็น “ความสั่นคลอน” เพราะถึงแม้จะเป็นซีซันที่ลุ้นเป็นแชมป์ 3 สมัยซ้อนอีกหน และมีโอกาสดีที่จะก้าวขึ้นไปครองแหวนแชมป์สมัยที่ 6 จาก 8 ปีหลัง แต่กลับมี “การเปลี่ยนแปลง” มากมายเข้ามา ตั้งแต่เรื่องแนวคิดผู้บริหาร, สัญญาของโค้ช และผู้เล่น ซึ่งเป็นที่มาของ 10 EP ที่จะพาเราไปเจาะลึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในช่วงเวลาที่หมิ่นเหม่นี้

สัญญาของ “สก็อตตี้ พิพเพ่น” คู่หูคนสำคัญของจอร์แดน อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผล
(Source : Netflix)

โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้ซีรีส์แบบสารคดีเรื่องนึงจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ “วัตถุดิบที่เอามาเล่า” อย่างเช่น บุคคล, เรื่องราว, สถานที่ และ “วัตถุดิบที่ใช้เล่า” อย่างเช่น ฟุตเทจ, เรื่องเล่าจากปาก, เรื่องเล่าแวดล้อม ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ มีทั้ง 2 อย่างครบถ้วน

วัตถุดิบที่เอามาเล่า

แน่นอนว่าพูดถึง “ชิคาโก้ บูลส์” ในยุคนั้น คุณจะต้องนึกถึง “ไมเคิล จอร์แดน” นำหน้ามาก่อน ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ ก็มี “เอ็มเจ” เป็นวัตถุดิบหลักดำเนินเรื่องแหละ เพราะเขามีความสำคัญ และเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของบูลส์อย่างแท้จริง

แต่นอกจากจอร์แดนแล้ว วัตถุดิบแวดล้อมอื่น ถูกหยิบเอามาใช้แบบเจาะลึกเช่นกัน อย่าง 2 EP ที่ฉายผ่านไป เราจะได้เห็นเรื่องราวของ “สก็อตตี้ พิพเพ่น” ฟอร์เวิร์ดคู่ใจ ซึ่งว่ากันว่าเก่งที่สุดใน NBA เป็นรองแค่จอร์แดน เท่านั้น

“สก็อตตี้ พิพเพ่น” กลไกสำคัญของบูลส์ ที่ได้รับการยกย่องน้อยเกินไป
(Source : MSN)

หรือเรื่องอีรุงตุงนัง ที่บอร์ดบริหารตัดสินใจให้สุดยอดโค้ช “ฟิล แจ็คสัน” คุมทีมเป็นซีซันสุดท้าย พร้อมกับการตัดสินใจจะสร้างทีมใหม่ เมื่อเห็นว่าทีมชุดครองความยิ่งใหญ่ ถึงคราวโรยรา

“เจอร์รี่ เคราส์” (ซ้าย) ผู้จัดการทั่วไปของบูลส์​ในยุคนั้น ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความขัดแย้งกับแจ็คสัน
(Source : Bleacher Nation)

จุดเด่นสำคัญในการใช้วัตถุดิบให้เราเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดแบบครบครัน คือซีรีส์ไม่ได้เล่าเรื่องแบบหนังตามลำดับไปข้างหน้าเรื่อยๆ แต่ซีรีส์กลับเลือกเล่าไทม์ไลน์ตามเรื่องราวที่สำคัญ ดังนั้นมันจะมี

ทั้งจุดตั้งต้นของผู้เล่นอย่างจอร์แดน และพิพเพ่น ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพครอบครัว, สมัยไฮสกูล, สมัยมหาวิทยาลัย หรือช่วงการดราฟท์ตัวเข้ามา

นอกเหนือจากขวบปี 1997/98 เรายังจะได้เห็นแบ็คกราวน์ อย่างการเล่นสมัยมหาวิทลัยของ “เอ็มเจ”
(Source : TarHeelIllustrated)

การเลือกแง่มุมที่เล่าอย่างพิถีพิถัน ทำให้เราเข้าใจทั้งแบ็คกราวน์ และเรื่องราวที่เป็นใจความหลักของซีรีส์ ซึ่งไม่เพียงทำให้เราคิดถึงลีลาของบาสสมัยก่อน แต่ยังติดตามสนุกในฐานะสารคดีเรื่องราวดี ที่พาเราเดินเข้าไปใกล้ชิดทุกแง่มุม

วัตถุดิบที่ใช้เล่า

อีกจุดเด่นสำคัญของสารคดี โดยเฉพาะกับชีวประวัติของบุคคลหรือทีม นั่นคือ “ฟุตเทจ” ที่มีครบครันอย่างที่เราคาดไม่ถึง ไม่เพียงแต่ภาพการแข่งขันเก่าๆ ที่เคยฉายผ่านหน้าจอ แต่ยังมีฟุตเทจวงในจำนวนมาก โดยเฉพาะการอนุญาตให้มีการถ่ายทำอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ปรีซีซัน และตลอดปี 1997/98 ซึ่งถือเป็นแกนของเรื่อง

นอกเหนือจากภาพที่เห็นตามสื่อ ฟุตเทจวงในมากมาย ถูกใช้เล่าเรื่องราวครบหมด
(Source : Variety)

นอกเหนือจากฟุตเทจที่เจาะลึก ยังมีบทสัมภาษณ์จำนวนมากของผู้คนที่เกี่ยวข้อง และสามารถบรรยายภาพที่เกิดในตอนนั้นได้หมดจด มีทั้งการสัมภาษณ์ในยุคปัจจุบัน และฟุตเทจการสัมภาษณ์ในอดีต ซึ่งนำมาร้อยเรียงได้เรียบเนียน

บทสัมภาษณ์ทั้งในปัจจุบัน และในอดีต ถูกนำมาเสริมเล่าเรื่องให้เต็มเติมเช่นกัน
(Source : Chicago Sun-Times)

และสุดท้าย ที่ทำให้องค์รวมมันน่าติดตาม คือการทำหน้าที่สารคดี ที่วางตัวเป็นกลาง และปล่อยให้ผู้ชมได้รับข้อมูลจากการชมเอง โดยไม่ชี้เป้ามุ่งไปว่าใครผิด หรือใครถูก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ทำให้เราได้เข้าใจการกระทำ และเบื้องลึกของแต่ละบุคคล แบบเคลียร์ๆ น่าติดตาม

สิ่งที่คาดหวัง

อย่างที่กล่าวไป ว่าบทความนี้เขียนเมื่อได้ชมไป 2 จากความยาวทั้งหมด 10 EP (Netflix ทยอยปล่อยสัปดาห์ละ 2 ตอน) และ “The Last Dance” สามารถล็อคตัวผมติดหน้าจอซะอยู่หมัดแล้ว แต่กับความยาวอีกตั้ง 8 ตอน เราย่อมมีความคาดหวังกับมันต่อยอดไปอีก

เรื่องราวแวดล้อมอื่น อย่างเรื่องของ “เดนนิส ร็อดแมน” ที่เราคิดถึง
(Source : ESPN)

อย่างแรกซึ่งสำคัญยิ่ง นั่นคือการรักษาความน่าสนใจของซีรีส์สารคดีเอาไว้ เพราะ 2 ตอนที่ผ่านมา บาลานซ์เรื่องราวของจอร์แดน, บูลส์ และบุคคลแวดล้อมอื่น ได้พอเหมาะพอเจาะ หวังว่าในตอนต่อๆ ไป เราจะได้ฟังเรื่องราวที่มากขึ้นของผู้เล่นคนอื่นๆ และได้ยืนอยู่ท่ามกลางเหตุผลต่างๆ ซึ่งทำให้ซีซันนี้สั่นคลอนบูลส์ อย่างยิ่งยวด

อย่างถัดไป คือการคงความยอดเยี่ยมของคอนเทนท์ “กีฬา” แบบ “บันดาลใจ” ไว้ ซึ่งทำให้เราเข้าไปสัมผัสกับ “ทีมเทพ” อย่างชิคาโก้ บูลส์ และ “ตัวเทพ” อย่างจอร์แดน แอนด์ เดอะ แกงค์ แบบเป็นปุถุชนธรรมดา มีขึ้น มีลง มีสมหวัง ผิดหวัง มีล้ม และมีลุกมาหาทางออก

ถึงในสนาม พวกเขาคือ “เทพ” ที่มากพรสวรรค์ แต่ทุกอย่างได้จากความพยายาม และการฟ่าฟันอุปสรรค
(Source : What’s on Netflix)

สิ่งคาดหวังสุดท้าย คือความคมชัดของเรื่องราว เพราะ 2 EP ที่ผ่านมา ปล่อยฟุตเทจและจิ้มเรื่องราวลงลึกไปไม่น้อยแล้ว หวังว่าจะยังคงความเข้มข้น และสร้างความตื่นตาตื่นใจในการรับชมได้จนจบ

บทสรุป และรีวิว

แน่นอนว่าถ้าคุณเป็นแฟนกีฬา, แฟนบาสเก็ตบอล หรือแฟนของบูลส์ยุคนั้น คงไม่มีอะไรจะเชิญชวนมากไปกว่านี้ เชื่อว่าคุณจะลองชมซีรีส์เรื่องนี้แน่นอน ก็ขอเป็นตัวเร่งให้อยากเปิดไปชมเร็วขึ้นก็แล้วกัน

แต่กับคนที่ไม่ได้ติดตามบูลส์ยุคนั้นเท่าไหร่ หรือคุ้นแค่ชื่อของจอร์แดนคนเดียว ก็ยังอยากเชียร์ให้ชมกันอยู่ดี เพราะมันไม่ได้เป็นซีรีส์กีฬาจ๋า ที่มีแต่ “ภาษากีฬา” ที่คุณไม่คุ้นชิน แต่มันเป็นเรื่องของความสำเร็จ และจุดสั่นคลอน ที่มันเกิดขึ้นได้กับทุกวงการ และทุกผู้ทุกคน

“The Last Dance” ไม่ได้เป็นซีรีส์กีฬาจ๋า ที่มุ่งประเด็นเกมแข่งขัน มันมีแง่มุมสากลด้วย
(Source : Superguide)

คะแนนความน่าชม ณ ตอนนี้ คงให้ต่ำกว่า 9.5/10 ไม่ได้ เพราะองค์ประกอบครบถ้วน และมีความยาวที่พอเหมาะต่อการติดตามได้ไม่ยาก และทุกตอนจะทิ้งความรู้สึกอยากดูต่อไว้ตลอด ดังนั้นไม่มีเหตุผลอะไรเลย ที่คุณจะพลาดมัน!

เทรลเลอร์​ของ “The Last Dance” ของ ESPN ผู้ผลิตซีรีส์เข้มข้นนี้
[Source : YouTube (ESPN)]

Picture : ESPN, Netflix, Nice Nicks, News Break, MSN, Bleacher Nation, TarHeelIllustrated, Variety, Chicago Sun-Times, What’s on Netflix, Superguide

Trailer : YouTube (ESPN)

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save