Series Review | “ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์” ข้อสอบเก่าสุดหิน ที่ถูกเรียงรายละเอียดใหม่อย่างบรรจง - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
Series Review | “ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์” ข้อสอบเก่าสุดหิน ที่ถูกเรียงรายละเอียดใหม่อย่างบรรจง

ถึงจะโดนโควิด-19 เบรกกระแสไปพอสมควรก่อนหน้านี้ แต่สุดท้าย “ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์” หรือฉลาดเกมส์โกงที่ถูกปรับรูปแบบให้กลายเป็นละคร ก็คลอดออกมาในที่สุด พร้อมกระแสตอบรับที่ดีทีเดียว แม้ก่อนนี้จะมีหลายคนเป็นห่วง กับการเอาของดีอยู่แล้วกลับมาทำใหม่

“ฉลาดเกมส์โกง”​ เวอร์ชันหนัง ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในและนอกประเทศ
(Source : The Momentum)

การนำกลับมาทำใหม่ของ GDH ทั้งที่ความสำเร็จอย่างสูงของเวอร์ชันภาพยนตร์ ยังไม่ทันจะจางหายเท่าไหร่ ย่อมเหมือนเป็นการเจอข้อสอบที่โหดหินขึ้นกว่าเดิมอีกเท่าตัว

ซึ่งเราจะดึงประเด็นต่างๆ มาเปรียบเทียบในการรีวิวด้วย เพราะเชื่อว่าหลายคนที่ประทับใจกับเวอร์ชันหนังยาว จะออกลูกลังเลว่าจะดูเวอร์ชันละครนี้ดีมั้ย / อ้อ… รีวิวนี้ ไม่มีสปอยล์แน่นอนครับ ใครยังไม่ได้ชม อ่านได้ไม่ต้องกังวล

นักแสดง และตัวละคร

ปฏิเสธไม่ได้ว่านักแสดงที่มารับบท เป็นภาพลักษณ์อย่างแรกที่ทุกคนจะจับตามอง เพราะเซ็ตเก่าทั้งตัวนักแสดง และบทบาทในเรื่อง ทำได้เข้าขั้นยอดเยี่ยม เทียบกับเหล่านักแสดงเซ็ตใหม่ ที่มี “มือใหม่” ในความคิดหลายคนอยู่เกือบยกเซ็ต

ลิน (จูเน่-เพลินพิชญา)

“จูเน่-เพลินพิชญา” กับบทบาทท้าทายอย่าง “ลิน” หรือ “ครูพี่ลิน”
(Source : MThai)

บทบาทที่ถูกเปรียบเทียบที่สุด หนีไม่พ้น “ครูพี่ลิน” เพราะ “จูเน่-เพลินพิชญา” ถูกปรามาสไว้พอสมควร ด้วยชั่วโมงบินที่น้อย และมีผลงานเด่นกับการเป็นไอดอลมากกว่านักแสดง

อย่างไรก็ดี หากคนที่เคยมีโอกาสได้ชมซีรีส์ของ GDH ก่อนนี้อย่าง “One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ” มา จะเห็นว่าจูเน่มีฝีไม้ลายมือไม่เบา เสน่ห์ในตัวเธอถือว่าน่าสนใจ การสวมบทบาทเป็นตัวละครก็ทำได้ดีแนบเนียน

บท “ตะวัน” ใน “One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ” ถือเป็นก้าวแรกที่สอบผ่านของจูเน่
(Source : Me Review)

บทของ “ลิน” ถูกปรับให้มีความละเอียด และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นผ่านการแสดงของจูเน่ ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงตัวละครได้โดยไม่เปรียบเทียบกับบทบาทที่ “ออกแบบ-ชุติมณฑน์” เคยแสดงไว้

การแต่งเติมสีสันอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ยังทำให้มัน “เข้ามือ” ของจูเน่มากขึ้นด้วย โดยเราจะได้เห็นสีหน้า และแววตาที่แตกต่างจากเวอร์ชันภาพยนตร์ ซึ่งเมื่อทำได้ราบรื่น ก็ยิ่งทำให้เราล้างภาพเวอร์ชันหนัง ออกไปได้อย่างรวดเร็ว

ฟิลลิ่ง และอินเนอร์ของจูเน่ สร้างความแตกต่างให้บท “ลิน” ที่ผู้ชมพร้อมซึมซับใหม่
(Source : GDH, WeTV)

แบงค์ (เจ้านาย-จินเจษฎ์​)

“แบงค์” ที่ละครมีเวลาให้เล่าเรื่องราวมากขึ้น รับบทโดย “เจ้านาย” มือใหม่ที่หลายคนห่วง
(Source : The Thaiger)

คนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในแว่บแรก หนีไม่พ้น “เจ้านาย-จินเจษฎ์” เพราะบท “แบงค์” ในเวอร์ชันหนัง มีการเล่นกับอารมณ์ที่ขึ้นสุด-ลงสุดบ่อยครั้ง จนทำให้คนคุ้นตากับการรับบทไว้ของ “นนกุล-ชานน” การจะสร้างตัวละครซ้ำรอยเดิม ย่อมมีความเสี่ยงสูงลิบ ยิ่งบุคลิกของเจ้านาย แตกต่างจากบทแบงค์ในหนังคนละขั้ว

โดยส่วนตัวแล้ว คาแรคเตอร์แบงค์ในเวอร์ชันหนัง เป็นตัวละครที่ผมทั้งชอบและไม่ชอบปะปนกัน แน่นอนว่าเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเติมเต็มเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างดีเยี่ยม เพียงแต่เวลาที่สั้นของหนัง ทำให้บทแบงค์มีความกระโดดไปมาสูง จนสัมผัสได้ถึงความ “ล้น” ของการแสดงในบางซีน

กับช่วงต้น ที่เรายังไม่ได้เห็นกราฟอารมณ์ขึ้นสูงของแบงค์ “เจ้านาย” ถือว่าทำหน้าที่ได้ดี
(Source : Me Review)

ซึ่งจุดที่ทำให้รู้สึก “ล้น” นั้น ดูจะถูกปรุงแต่งได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในเวอร์ชันละคร เพราะมีเวลาในการบ่ม และทำความรู้จักกับตัวละครมากขึ้น ถึงแม้ในช่วง EP แรกๆ จะยังไม่ได้เห็นอารมณ์ที่บีบคั้นเหมือนกับในหนัง แต่ก็ทำให้เราเข้าถึงตัวละครของแบงค์มากขึ้น และรู้สึกว่ามันเป็นแบงค์ที่ดูเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เจ้านาย สามารถทำให้เราเชื่อในการสวมบทแบงค์ในช่วง EP แรก ที่มีพื้นเพชีวิตน่าเห็นใจ ระคนกับการถูกซ้ำเติมปมด้อยบ่อยครั้ง ก็เหลือแต่การพัฒนาตัวละครใน EP ถัดๆ ไปของแบงค์ ว่าพอถึงการเค้นอารมณ์ เจ้านายจะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน ต้องติดตาม

พัฒน์ (ไอซ์-พารีส)

ความท้าทายใหม่ของ “ไอซ์-พาริส” ที่ต้องพลิกคาแรคเตอร์มารับบท “พัฒน์”
(Source : GDH, WeTV, Twitter)

ตัวละคร “พัฒน์” เองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะฝีมือการแสดงของ “เจมส์-ธีรดนย์” ถือว่าเข้าขั้นอยู่แล้ว ตอนที่รับบทในภาพยนตร์ ถึง “ไอซ์-พาริส” จะเคยผ่านงานแสดงมาบ้าง แต่การสวมบทพัฒน์ ที่ดูพลิกคาแรคเตอร์สำหรับไอซ์ ก็ดูจะท้าทายไม่เบา

เท่าที่ได้สัมผัสในช่วง 4 EP แรก “พัฒน์” ในเวอร์ชันละครนั้น มีความลึกในอารมณ์มากกว่า ตามประสาการที่ละครมีเวลาบอกเล่าเรื่องราวได้มากกว่าหนัง พัฒน์ในเวอร์ชันนี้ดูจะมีความซับซ้อนในตัวตนอยู่ และมีมุมที่ละครพยายามให้ผู้ชมเข้าใจที่มาที่ไป ของการกระทำแต่อย่างของเขา

ความฉูดฉาดของ “พัฒน์” เวอร์ชันละครอาจลดลง แต่ก็ถูกทดแทนด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่ใส่เข้ามา
(Source : All Area Entertainment)

ตัวไอซ์เองแสดงได้ดีทีเดียว ถึงตอนแรกจะมีติดเรื่องของสำเนียง และภาพลักษณ์ขี้เล่นที่เราเห็นตัวตนจริงๆ เขาเป็น แต่พอมีเนื้อหาที่พัฒนาตัวละครมากขึ้น เราเริ่มเข้าใจว่าเขาสวมบทพัฒน์ได้ดี จะบอกว่าบทปรับให้พัฒน์เป็นไอซ์ หรือไอซ์สวมตัวตนเป็นพัฒน์ได้แนบเนียน อันนี้ตอบได้ไม่ชัด แต่ก็แสดงว่ามันทำให้เราเชื่อได้

เกรซ (นาน่า-ศวรรยา)

“นาน่า” กับบท “เกรซ” ที่นอกจากความใสน่ารัก ยังเพิ่มปมตัวละครให้มีบทบาทมากขึ้นเยอะ
(Source : GDH, one31)

ปิดท้ายด้วย “เกรซ” ซึ่งในหนังไม่ค่อยมีเวลาพูดถึงตัวละครนี้ ให้เห็นตื้นลึกหนาบางมากนัก การได้ “นาน่า-ศวรรยา” มารับบท จึงไม่ถูกกดดันในแง่บทบาท เท่ากับคำถามว่า เวอร์ชันละครจะปรับแต่งให้เกรซ ดูมีมิติเพิ่มขึ้นกว่าเดิมได้ยังไง

ตัวละคร “เกรซ” ในเวอร์ชันละคร แสดงความคิดข้างในออกมาเด่นชัดขึ้นมาก เรียกได้ว่าเป็นนางรองได้อย่างเต็มปาก ความสดใสของตัวละคร เข้ากับตัวตนของนาน่าได้ดี แต่พอมีซีนอารมณ์ซึ่งต้องการที่มาที่ไป ก็ทำให้เราได้เห็นมิติที่แตกต่างไปในการแสดง ซึ่งเป็นโทนที่แตกต่างจากตัวละคร “เหม่เหม” บทสร้างชื่อของเธอจากเลือดข้นคนจาง

นอกเหนือจากตัวตนที่ชัดขึ้น ยังมีเรื่องราวความสัมพันธ์ของ “เกรซ-พัฒน์” ที่ซับซ้อนขึ้นด้วย
(Source : แนวหน้า)

จุดน่าติดตามต่อใน EP ถัดไป คือจะหาจุดแลนด์ดิ้งให้ตัวละครเกรซยังไงให้ไม่หนักเกินไป และไม่ถูกกลืนหายไปจากโครงเรื่อง เพราะการปูว่าตัวละครนี้มีส่วนร่วมมากขึ้น ย่อมเป็นช่องเปิดกว้าง ที่วัดใจว่าบทละครจะน่าสนใจแค่ไหนด้วย

เนื้อหาที่แยบยล

แน่นอนว่าความสำเร็จของเวอร์ชันหนัง ส่วนสำคัญที่ได้รับคำชื่นชมล้นหลาม มาจากเนื้อหา และเรื่องราวที่ถูกนำเสนอเป็นภาพยนตร์ได้ลงตัว เป็นภาษาสากลที่ทำให้ทั้งในไทยและต่างประเทศ สามารถเข้าใจทั้งหมดทั้งมวลแจ่มชัด

นอกจากขั้นตอนของ “กลโกง” ที่ตีแผ่สังคมได้ “ฉลาด” ของเวอร์ชันหนัง ยังทำให้การดำเนินเรื่องคมชัด รวดเร็ว ไม่ว่าคุณจะดูเอาความบันเทิง หรือจะดูเอารายละเอียด มันตอบโจทย์ค่อนข้างครบ

จุดเริ่มต้นการโกงเล็กๆ ไปสู่รูปแบบที่ใหญ่ขึ้น เป็นภาษาสากล ที่เวอร์ชันหนังสื่อสารได้เฉียบ
(Source : Vocal)

ดังนั้น การที่เวอร์ชันละครเลือกที่จะ “ขยายความ” สิ่งต่างๆ ให้มากขึ้น ด้วยเวลาที่เยอะขึ้น ดูเผินๆ อาจจะน่าสนใจ แต่ย่อมหลีกเลี่ยงข้อสงสัยไม่ได้ ว่าจะทำให้ความคมชัดน้อยลงไปหรือเปล่า

ซึ่งจากที่ได้ชมมา 4 EP ถือว่า GDH ทำได้ดีเลย กับการเก็บจุดกิมมิคเดิมไว้ แต่ขยายรายละเอียดด้วยการทำการบ้านที่ลึกซึ้งขึ้น ซีนไหนที่เคยเป็นที่สงสัย ก็มีการปรับให้ลงตัว ซีนไหนสามารถขยี้ให้เข้าถึงตัวละคร และสังคมมากขึ้น ก็กล้าที่จะหยิบมันใส่ลงมา โดยยังคงความสนุกในการเดินเรื่องฉับไวไว้

ซีน “ค่าพาย” ที่เป็นภาพจำในภาพยนตร์ ถูกหยิบเอามาใช้ในเวอร์ชันละครด้วยเช่นกัน
(Source : The Thaiger)

รายละเอียดที่มากขึ้น และความใหม่ในเนื้อหาย่อยที่วางลงมา ทำให้เราสามารถสัมผัสอารมณ์ของหนังที่เปลี่ยนไป จากหนังที่ดูสนุกและน่าลุ้นตาม กลายเป็นเวอร์ชันละครที่รสชาติหลากหลาย ดราม่าเข้มขึ้น ระทึกยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ในองค์ประกอบมากขึ้น โดยอารมณ์ของโครงหลัก ไม่ได้ถูกลดทอนลงจนเกินไป

ระยะเวลาที่มากขึ้นกว่าหนัง ทำให้ GDH สามารถเพิ่มความแยบยลของซีน, องค์ประกอบโปรดักชัน และการแสดงออกของตัวละครลึกขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย จุดนี้ทำให้ผู้ชมละคร รู้สึกได้ถึงความสดใหม่ และอินไปกับสิ่งถ่ายทอดออกมา โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบว่าหนังหรือละครดีกว่ากัน

เวลาที่มากขึ้น ทำให้เราได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ อย่างเช่น ความสัมพันธ์ของตัวละคร
(Source : Twentyfour-news)

น่าสนใจว่า EP ต่อจากนี้ ซึ่งเรื่องต้องขมวดปมเข้มข้นขึ้น สเกลการโกงที่ใหญ่ขึ้น และตัวละครที่ต้องแสดงมุมที่แตกต่างออกมามากขึ้น จะทำให้คงความสนุก และสดใหม่ได้แค่ไหน โดยเฉพาะกับการยืนยันว่าละครจะมี “ตอนจบต่างจากเดิม” ยิ่งเปรียบเหมือนดาบสองคม ซึ่งจะนำมาสู่การเปรียบเทียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

งานโปรดักชัน

พูดถึงด้านบนไปนิดนึง เพราะมันเกี่ยวพันกับความแยบยลที่ GDH ทำได้ แต่ที่ต้องแยกเรื่องโปรดักชันออกมาพูดด้วย เพราะ 4 EP แรก งานโปรดักชันถือว่าโดดเด่น และถูกพูดถึงอย่างมาก ไม่แพ้ปัจจัยอื่นเลย

“พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” กับงานท้าทาย ที่ต้องรักษาลายเซ็นตัวเอง ในงานที่มีโครงเดิมแข็งแรง
(Source : INNNews)

โดยส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างชื่นชอบงานของผู้กำกับ “พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” มาตั้งแต่ “Project S The Series | SOS skate ซึม ซ่าส์” เป็นทุนเดิม และสงสัยว่าเขาจะนำเอาสไตล์ของตัวเองมาใส่กับฉลาดเกมส์โกงเวอร์ชันละครยังไง ในเมื่องานหนังเดิมของ “บาส-นัฐวุฒิ” มีลายเซ็นที่โคตรชัด

ตัวอย่างงานภาพสื่อความหมายของ SOS ซึ่งผู้กำกับ “พัฒน์” ทำได้ยอดเยี่ยม
(Source : มติชนออนไลน์)

ปรากฏว่าพอได้ชม เราได้เห็นลายเซ็นของพัฒน์ออกมาในฉลาดเกมส์โกงได้จริงๆ การเลือกองค์ประกอบฉาก และสิ่งแฝงนัยยะสื่อความหมาย หรือแม้แต่ดนตรี/เพลงประกอบ ถูกหยิบออกมาใช้สอดคล้องกับเนื้อหารายละเอียดที่เพิ่มมา โดยไม่ไปรบกวนซีนจำซึ่งถูกยกมาจากหนัง

การเลือกโฟกัสภาพไปที่ตัวละครแบบไม่เร่งรัด เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นอินเนอร์ และเข้าใจตัวละคร พัฒน์ยังคงทำได้ดีไม่ต่างจากที่ทำใน SOS โดยการที่ส่งซีนได้ถึงขีด ทำให้เหล่านักแสดงต่างได้รับคำชมไปด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างงานด้านภาพในเวอร์ชันละคร ซึ่งสร้างคาแรคเตอร์ทันที เพียงแว่บแรกที่เห็น
(Source : Siam Zone)

ต้องติดตามชมต่อกับเนื้อหาที่ยังเหลืออีกหลายส่วน เช่นเดียวกับตัวละครรุ่นใหญ่ทั้งหลาย ที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้น งานภาพและโปรดักชันต่างๆ จะออกมาส่งเสริมแค่ไหน เราคงได้เห็นฝีมือกัน

สรุปผลสอบเบื้องต้น

หลังจากผ่านไปเรียบร้อยแล้ว 4 EP (ขณะที่เขียนบทความอยู่) ต้องยอมรับเลยว่า “ฉลาดเกมส์โกง” เวอร์ชันละคร สร้างมาตรฐานไว้ได้สูง และคู่ควรต่อคำชม จะเรียกว่ามากกว่าที่หลายคนคาดไว้ ก็คงจะไม่ผิด

4 EP กับการปูตัวละครหลัก และจุดเริ่มต้นของการโกง ถือว่าละครทำได้ยอดเยี่ยม
(Source : The Thaiger)

จุดแข็งสำคัญคือการคงโครงเรื่องหลักที่สะท้อนสังคมในแง่ของ “การโกง” และสิ่งบีบคั้นให้ตัวละครเลือกทางเดินที่ไม่ถูกไม่ควร แต่สามารถขยายให้เห็นความลึกของทั้ง 2 ส่วนได้มีชั้นเชิงที่ไม่จำเจ และไม่ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ ผู้ชมเลยสัมผัสได้ถึงความสดใหม่ และอยากติดตามต่อเรื่อยๆ

งานโปรดักชันกลายเป็นอีกสิ่งที่สื่อถึงการทำการบ้านอย่างหนัก และกระตุ้นให้ผู้ชมอยากย้อนไปชมตอนที่ดูผ่านมาแล้ว ซึ่งส่วนนี้ส่งผลดีต่อการพูดต่อในโซเชียล ซีนนู้นซีนนี้ถูกพูดถึงหลากหลาย อาจจะไม่เท่ากับ “เลือดข้นคนจาง” แต่ถือว่ามีกระแสที่จับต้องได้ชัดเจน

เก็งข้อสอบต่อ

เท่าที่ทราบ เวอร์ชันละครนี้จะมีความยาวทั้งหมด 12 EP ซึ่งถือว่าไม่สั้น-ไม่ยาวนัก โดยเมื่อเทียบกับ “เลือดข้นคนจาง” ที่มีคนบ่นช่วงกลางว่าเริ่มยืด ตอนนั้นมีถึง 18 EP (ตอน) จึงถือว่าฉลาดเกมส์โกง ควรจะกระชับกว่า

ดังนั้นจึงคาดเดาคร่าวๆ ได้ล่วงหน้า ว่าแม้ 4 EP แรก จะค่อยๆ ปูให้เห็นรายละเอียดของตัวละครมากขึ้น แต่อีกอึดใจคงต้องเร่งสปีดและขมวดเรื่องราวฉึบฉับเข้มข้น ซึ่งจะกลายเป็นข้อสอบชั้นดี ว่าการผลิตเวอร์ชันใหม่ครั้งนี้ คะแนนจะผ่านฉลุย แบบที่เราได้เห็นในช่วงแรกหรือเปล่า

แน่นอนว่าซีนการโกงครั้งใหญ่ระดับประเทศ ต้องตามมาในอีกไม่ช้า
(Source : Beartai)

ตัดเกรด : 9/10

คงให้น้อยกว่านี้ไม่ได้ เพราะข้อสอบโหดหินมากอย่างที่บอก แต่ GDH ก็ยังอุตส่าห์ทำมันได้แบบมีแผลน้อยมาก ไม่ว่าคุณจะชอบเวอร์ชันหนังแค่ไหน เวอร์ชันละครก็ยังน่าติดตาม เพราะมันถูก “ปรับ” ให้เนียนขึ้น จนคุณจะ “ติด” แบบไม่รู้ตัว

ตัวอย่าง “ฉลาดเกมส์โกง”​ เวอร์ชันละคร
[Source : YouTube (GDH)]

Picture : GDH, one31, WeTV, The Momentum, MThai, Me Review, The Thaiger, Twitter, All Area Entertainment, Vocal, Twentyfour-news, INNNews, Siam Zone, Beartai, แนวหน้า, มติชนออนไลน์

Trailer : YouTube (GDH)

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save