“ร็อคเก็ตแมน” กับ “แตนอาละวาด” : เรื่องราววัตฟอร์ดที่รักของเอลตัน - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
“ร็อคเก็ตแมน” กับ “แตนอาละวาด” : เรื่องราววัตฟอร์ดที่รักของเอลตัน

หากจะพูดถึงชื่อเสียงของ “เซอร์ เอลตัน จอห์น” ร้อยทั้งร้อยย่อมชี้เปรี้ยงไปที่ผลงานเพลงของเขา เพราะศิลปินระดับตำนานชาวอังกฤษรายนี้ มีเพลงกว่า 50 เพลง ที่เคยติดอันดับท็อปชาร์ตทั้งฝั่งอังกฤษ และบิลบอร์ดของอเมริกา ผลงานเพลงที่อุทิศแด่ “เจ้าหญิงไดอาน่า” อย่าง “Candle in the Wind” ก็ทำยอดขายระดับเกินกว่า 33 ล้านแผ่น ยังไม่รวมรางวัลอีกมากมาย ที่ช่วยการันตีคุณภาพของเขา

“เอลตัน จอห์น” และโปรดิวเซอร์คู่ใจ “เบอร์นี่ ทูปิน” กับรางวัลออสการ์ที่คว้ามาในปีนี้
(Source : Female First)

แต่หากมองไปที่อีกมุมนึง ถ้าเราบอกว่า “เอลตัน จอห์น” คนเดียวกัน เป็นแฟนคลับเหนียวแน่นของฟุตบอล และเคยเป็นเจ้าของสโมสรระดับลีกสูงสุดของอังกฤษด้วย เชื่อว่ายังมีอีกไม่ทราบ ระคนแปลกใจ หรือหากใครที่พอจะเคยได้ยินบ้าง ก็คงไม่รู้รายละเอียด ว่ามันมีความลึกซึ้งแค่ไหน

สโมสรที่กล่าวถึงคือ “แตนอาละวาด” วัตฟอร์ด ซึ่งทุกวันนี้ ยังคงรักษาสถานภาพบนเวทีพรีเมียร์ลีก แม้ซีซันนี้จะต้องดิ้นรนหนีตกชั้นหนักก็ตาม โดยปัจจุบัน เอลตันไม่ได้เป็นเจ้าของสโมสรแล้ว แต่กลับมีสแตนด์ ที่เป็นชื่อของตัวเองอยู่แทน!

โฉมหน้าสแตนด์ที่เปลี่ยนเป็นชื่อเอลตัน เพื่อให้เกียรติกับอดีตเจ้าของสโมสรผู้ยิ่งใหญ่
(Source : Goal.com)

ชื่อที่เป็นเกียรติบนสแตนด์ขนาดนั้น ย่อมไม่ได้มาง่ายดาย เพราะมันเพาะบ่มจากความผูกพัน และการล้มลุกคลุกคลานหลายครั้ง ซึ่งเราจะพาไปย้อนดูกัน ว่าเอลตัน และวัตฟอร์ด มีความสำคัญต่อกัน มากแค่ไหน

ความรักต่อวัตฟอร์ด

เหตุผลที่ “เรจินัล ดไวท์” (ชื่อเดิม) หรือ “เอลตัน จอห์น” เชียร์ และรักวัตฟอร์ด มันเริ่มขึ้นง่ายๆ เหมือนเด็กทั่วไป นั่นคือเขาเกิดในละแวกพินเนอร์ ทางตอนเหนือของลอนดอน ซึ่งมีสโมสรประจำถิ่นคือ “วัตฟอร์ด”

เด็กน้อยจากย่านพินเนอร์ “เรจินัลด์ ดไวท์” หรือที่โตมาจนเป็นที่รู้จักในชื่อ “เอลตัน จอห์น”
(Source : Daily Mail)

เอลตัน รู้สึกอินกับวัตฟอร์ดตั้งแต่อายุ 7 ขวบ หลังได้เข้าไปดูในสนามครั้งแรกตอน 6 ขวบ เพราะนอกจากบ้านจะอยู่ห่างสนามแค่ 5 ไมล์ การที่ครอบครัวเชียร์วัตฟอร์ด ทำให้เขาได้เดินทางไปชมเกมสม่ำเสมอ และพัฒนาเป็นแฟนบอลอย่างไม่ต้องสงสัย

ตลอดการคอยเอาใจช่วยวัตฟอร์ดของเอลตัน ไม่ค่อยสุขสมหวังเท่าไหร่นัก ทีมมักจะอยู่ในลีกระดับ 3 (เรียกดิวิชั่น 3 ในสมัยนั้น) เป็นส่วนใหญ่ จนช่วงเข้าสู่ยุค 70 “แตนอาละวาด” ก็เริ่มถีบตัวเองขึ้นไปอยู่ในดิวิชั่น 2 แต่ก็ทำได้เพียงหนีตกชั้น ก่อนตกกลับมายังดิวิชั่นเดิม ในไม่กี่ปี

ช่วงระยะเวลาต้น 70 ดังกล่าว เอลตันเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากความสำเร็จกับอัลบั้มแรก แต่เขาก็ยังคงอยากมีส่วนช่วยสโมสรที่รักเสมอ จนได้มีโอกาสได้เข้ามาเป็นรองประธานให้กับสโมสร ในปี 1973 และเขยิบเป็นประธานบริหาร (President) ในปีถัดมา

“เอลตัน จอห์น” เริ่มโด่งดัง หลังอัลบั้มแรก “Goodbye Yellow Brick Road” ขายกระฉูด
(Source : The Current)

แม้ผลงานเพลงของเอลตัน จะพุ่งเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง จนเขาสามารถตั้งบริษัทของตัวเองทีชื่อ “เดอะ ร็อคเก็ต เร็คคอร์ด” สำเร็จ แต่ในทางกลับกัน ผลงานของวัตฟอร์ด กลับต่ำเตี้ยลง และต้องตกชั้นลงไปอยู่ในดิวิชั่น 4 หลังจบรองบ๊วยในซีซัน 1974/75 ซึ่งนั่น ทำให้เอลตัน เริ่มสนใจอยากซื้อหุ้นเป็นเจ้าของสโมสรซะเอง

ด้วยอาชีพ และรายได้งานเพลงที่มั่นคง จึงทำให้ เอลตันตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ทำตามความฝัน ด้วยการเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรรักได้สำเร็จในปี 1976 โดยเขาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดบริหาร (Chairman) และหวังพาทีมขึ้นสู่ลีกสูงสุดให้ได้ แม้ตอนนั้นจะจมปลักอยู่ดิวิชั่น 4 ก็ตาม

มาดของเอลตัน ที่ไม่เหมือนใคร เมื่อตอนเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรใหม่ๆ
[Source : YouTube (Elton John Archive)]

การตัดสินใจบ้าๆ และจุดเริ่มต้น

หากพูดถึงการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลของเศรษฐี หรือนักธุรกิจในยุคปัจจุบัน เราคงคุ้นเคย และรู้ถึงวัตถุประสงค์ทางธุรกิจระยะยาว แต่กับยุค 70 และทีมที่อยู่ดิวิชั่น 4 การตัดสินใจของเอลตัน ที่เข้ามาเป็นเจ้าของวัตฟอร์ด มีแต่คนหาว่า “บ้า”

“ร็อด สจ๊วต” ศิลปินชื่อดัง รุ่นราวคราวเดียวกับเอลตัน เคยออกปากแซวเอลตันในตอนนั้นว่า “เธอจะไปรู้อะไรเรื่องฟุตบอล? เพราะถ้าเธอรู้ เธอคงไม่ทำแบบนี้หรอก!”

ภาพเอลตัน กับ “ร็อด สจ๊วต” เพื่อนศิลปิน ขณะวิ่งอยู่ในสนามวิคาเรจ โร้ด ของวัตฟอร์ด
(Source : Michael Putland)

แต่เอลตัน ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาตั้งใจจริง และคำพูดที่หวังพาทีมขึ้นไปอยู่ลีกสูงสุด ก็เป็นคำมั่นที่มีท่าทีเป็นจริง มากกว่าจะเป็นคำสวยหรู ที่พูดไปอย่างนั้น ในวันที่เข้ารับตำแหน่ง

เอลตันลงทุนในการปรับปรุงสนาม ให้มีมาตรฐานมากขึ้น ส่วนเรื่องผลงานในสนาม หลังทีมจบแค่อันดับ 7 ในซีซันแรกที่เขาเป็นเจ้าของ ทีมก็ได้ปลดกุนซือ “ไมค์ คีน” และมองหากุนซือคนใหม่ ที่จะพาทีมไปได้ดีกว่าที่เป็น

จากคำแนะนำของ “ดอน เรวี่” ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษในตอนนั้น เอลตันตัดสินใจแต่งตั้งกุนซือวัยแค่ 32 ปี ที่ชื่อ “เกรแฮม เทย์เลอร์” ซึ่งก่อนนั้นคุมลินคอล์น ซิตี้ ทีมที่เขาแขวนสตัดท์ด้วย

“เกรแฮม เทย์เลอร์” กุนซือหนุ่ม ซึ่งเอลตันเลือกดึงเข้ามากู้วิกฤตวัตฟอร์ด
(Source : The Mirror)

กุนซือวัยหนุ่มในวันนั้น ที่ต่อมาได้กลายมาเป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษด้วยเช่นกัน ตัดสินใจปฏิเสธการทาบทามของเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ทีมในดิวิชั่น 1 (ลีกสูงสุด) ทำเอานักวิจารณ์ และแฟนบอลงุนงง ว่าทำไมเทย์เลอร์ ถึงเลือกลดระดับมาคุมทีมในดิวิชั่น 4 (ลินคอล์น ตอนนั้นอยู่ดิวิชั่น 3 ด้วยซ้ำ)

เอลตัน & เทย์เลอร์

ถึงบุคลิกของท่านประธานเอลตัน จะแตกต่างจากประธานคนอื่น ทั้งการแต่งตัวที่นำแฟชั่นเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการนั่งชมเกมอยู่ที่ม้านั่งสำรอง แทนที่จะไปนั่งชมบนสแตนด์ แต่ทุกครั้งที่เขาเดินทางมาสนาม และคอยปลุกเร้าแฟนบอล ทุกคนสัมผัสได้ว่ามันมาจากความจริงใจ ใช่การทำตามกระแสไปอย่างงั้น

การแต่งกาย และบุคลิกที่ไม่เหมือนเจ้าของสโมสรคนไหน ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารทีม
(Source : Evening Standard)

นอกเหนือจากการเข้ามามีส่วนร่วมกับทีม เอลตันยังลงทุนเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อยกระดับทีม และเปิดโอกาสให้เทย์เลอร์ มีอิสระเต็มที่ในการปลุกปั้นทีมให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอย และผลลัพธ์ที่ดี ก็ตามมาอย่างรวดเร็ว

เพียงซีซันแรกของการร่วมแรงร่วมใจของเอลตัน, เทย์เลอร์ และทุกคนที่วัตฟอร์ด ทำให้พวกเขาคว้าแชมป์ดิวิชั่น 4 ด้วยการนำห่างอันดับ 2 ถึง 11 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นแต้มที่ห่างสุดกู่ เพราะสมัยนั้น ยังใช้ระบบชนะได้ 2 คะแนนอยู่เลย

ซีซันถัดไป 1978/79 วัตฟอร์ดยังคงเดินหน้าทำผลงานได้ยอดเยี่ยม นำโดย “ลูเธอร์ บลิสเซ็ตต์” ศูนย์หน้าที่อยู่กับทีมมาหลายปี โดยบลิสเซ็ตต์ทำถึง 21 ประตู ซิวดาวซัลโวดิวิชั่น 3 และพาทีมจบรองแชมป์ มุ่งหน้าสู่ดิวิชั่น 2 อย่างรวดเร็ว

“ลูเธอร์ บลิสเซ็ตต์” กองหน้าคนสำคัญ ที่เทย์เลอร์ปลุกปั้นจนโด่งดัง
(Source : Twitter)

โดยในช่วงที่เขายังอยู่ลีกระดับ 3 วัตฟอร์ดของเอลตัน และเทย์เลอร์ เคยสร้างเซอร์ไพรส์ บุกไปน็อคแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตกรอบที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด จนเป็นที่มาของการพาดหัวข่าวเรียกนักเตะว่าเป็น “Elton John’s Rocket Men” ในเช้าวันรุ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี เส้นทางตะลุยสู่ลีกสูงสุด ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ วัตฟอร์ดเริ่มซีซันแรกในดิวิชั่น 2 ด้วยการหนีตกชั้น และรอดหวุดหวิดในอันดับ 18 ก่อนจะยกระดับฟอร์มให้ดีขึ้น และจบอันดับ 9 ในซีซันถัดไป และเลื่อนชั้นได้สำเร็จ ในซีซันที่ 3

บลิสเซ็ตต์ และ “จอห์น บาร์นส์” ปีกดาวรุ่ง ที่โชว์ฟอร์มเด่น พาวัตฟอร์ดเลื่อนชั้นขึ้นดิวิชั่น 1
(Source : theScore.com)

ซีซันนั้นคือ 1981/82 ซึ่งบลิสเซ็ตต์กลับมาระเบิดฟอร์มอีกครั้ง เขายิง 19 ประตูในลีก รวม 25 ประตูทุกถ้วย บวกกับฟอร์มอันร้อนแรงของเด็กหนุ่มที่ชื่อ “จอห์น บาร์นส์”​ ที่บวกอีก 13 ประตูในลีก ช่วยให้ “แตนอาละวาด” จบรองแชมป์ และได้สิทธิ์เลื่อนสู่ลีกสูงสุด หรือดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกของสโมสร

ซีซันเซอร์ไพรส์บนลีกสูงสุด

การขึ้นมาเล่นบนลีกสูงสุดครั้งแรกของวัตฟอร์ด ไม่ได้ทำให้พวกเขาตื่นสนามเลย กลับกันพวกเขาสร้างผลงานที่สุดแสนเซอร์ไพรส์ ด้วยการจบรองแชมป์ดิวิชั่น 1 เป็นรองแค่เพียงลิเวอร์พูล ซึ่งคุมทีมปีสุดท้ายโดยปรมาจารย์ “บ๊อบ เพสลีย์”

วัตฟอร์ดลุยลีกสูงสุดซีซันแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นรองแชมป์ดิวิชั่น 1 เลยทีเดียว
(Source : City Till I Die)

นอกเหนือจากการทำทีมที่สุดยอดของเทย์เลอร์ ผลงานส่วนตัวของนักเตะ “แตนอาละวาด”​ ก็ยอดเยี่ยมไม่ต่างกัน โดยเฉพาะบลิสเซ็ตต์ ที่คว้าดาวซัลโวของลีกด้วยจำนวน 27 ประตู ทั้งที่ไม่เคยเล่นลีกสูงสุดมาก่อน ฟอร์มอันร้อนแรงส่งผลให้เขาติดทีมชาติอังกฤษ และได้ย้ายไปลองของกับยักษ์ใหญ่อย่างเอซี มิลาน ในซีซันถัดไป

จากนักเตะโนเนมดิวิชั่น 4 บลิสเซ็ตต์ใช้เวลาไม่กี่ปี ก้าวมาติดทีมชาติ และเป็นดาวซัลโวดิวิชั่น 1
(Source : Twitter)

ปีกดาวรุ่งอย่างบาร์นส์ ก็ยังคงโดดเด่น แม้จะต้องเจอกองหลังโหดๆ บนลีกสูงสุด แต่ “ปีกนิลกาฬ” ยิงได้ถึง 10 ประตูในลีก กลายเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามอง และก้าวขึ้นไปติดทีมชาติอังกฤษ ในเวลาต่อมาไม่นาน

ความจริงแล้ว ฟอร์มสุดยอดของวัตฟอร์ด ทำให้พวกเขาขึ้นไปยืนบนอันดับ 1 ของตารางในช่วงสั้นๆ ด้วยซ้ำ แต่เพราะประสบการณ์ และความสม่ำเสมอที่เป็นรอง ทำให้สุดท้ายลิเวอร์พูลเข้าป้ายคว้าแชมป์ไป แม้นัดสุดท้ายของซีซัน พวกเขาจะสามารถล้ม “หงส์แดง”​ ได้ที่วิคาเรจ โร้ด ก็ตาม

แตนคึกคะนอง

ต่อเนื่องจากการขึ้นไปถึงรองแชมป์ลีกสูงสุด วัตฟอร์ดได้ออกไปลุยฟุตบอลยุโรปครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร ในปี 1983/84 และทำได้ไม่เลว ด้วยการลุยไปถึงรอบ 3 ของยูฟ่า คัพ ชนะทั้งไกเซอร์สเลาเทิร์น และเลฟสกี้ โซเฟีย ก่อนจะไปจอดป้ายจากการพ่ายสปาร์ตา ปราก

นักเตะวัตฟอร์ด เตรียมส่องฟรีคิกในเกมยูฟ่า คัพ กับไกเซอร์สเลาเทิร์น จากเยอรมัน
(Source : Twitter)

เมื่อต้องลงเล่นหลายถ้วย และเสียบลิสเซ็ตต์ไป ทีมจบเพียงกลางตารางของดิวิชั่น 1 โดยมี “โม จอห์นสตัน” ศูนย์หน้าสก็อตติชที่เข้ามาแทน และรับดาวซัลโวของทีม บวกกับฟอร์มที่ดีต่อเนื่องของบาร์นส์ ทำให้พวกเขาเซอร์ไพรส์ไปจนถึงรอบชิงเอฟเอ คัพ ก่อนจะพ่ายเอฟเวอร์ตัน จบรองแชมป์

“เกรแฮม เทย์เลอร์” ขณะเดินนำลูกทีมลงสู่สนามเวมบลีย์ ในรอบชิงเอฟเอ คัพ ปี 1984
(Source : Evening Standard)

โดยก่อนเกมเอฟเอ คัพ นัดชิงดำเริ่ม เอลตันเคยยอมรับว่าเขาถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เมื่อได้ยินเพลง “Abide with Me” ซึ่งทำให้เขาย้อนคิดถึงวัยเด็ก และสัมผัสได้ถึงสิ่งที่ผ่านมากับวัตฟอร์ด จนมาถึงหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของทีมที่เขาเฝ้าตามเชียร์มาตั้งแต่เด็ก

รอยยิ้มของกองเชียร์ “แตนอาละวาด” ก่อนเอฟเอ คัพ นัดชิง ซึ่งเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของทีม
(Source : Keith Collman)

โบกมือลา

ผลงานนับจากนั้นของวัตฟอร์ด ยังคงอยู่ในระดับที่เอาตัวรอดในลีกสูงสุดได้สบาย โดยส่วนใหญ่จะจบประมาณกลางตาราง นักเตะของทีมก็ทำผลงานได้ดี การได้บลิสเซ็ตต์กลับมา และฟอร์มที่สม่ำเสมอของบาร์นส์, โคลิน เวสต์, เคนนี่ แจ็คเก็ตต์ ช่วยพาทีมไปป้วนเปี้ยนในรอบลึกๆ เอฟเอ คัพ ได้บ่อยๆ

“เคนนี่ แจ็คเก็ตต์” นักเตะผู้รับใช้วัตฟอร์ดเพียงสโมสรเดียว ตลอดการค้าแข้ง
(Source : Express & Star)

อย่างไรก็ดี ปี 1987 ถือเป็นจุดหักเหสำคัญของวัตฟอร์ด เมื่อเอลตันตัดสินใจขายหุ้นของสโมสรให้กับ “แจ็ค เพ็ทชีย์” นักธุรกิจชาวอังกฤษ โดยแม้เขาจะยังคงเป็นประธานบริหาร แต่บทบาทกับทิศทางสโมสร ก็มีส่วนร่วมน้อยลงชัดเจน

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยส่งแรงกระเพื่อมสำคัญ คือเมื่อจบซีซัน 1986/87 เทย์เลอร์ตัดสินใจลาไปรับงานคุมแอสตัน วิลล่า ทำให้วัตฟอร์ดเลือกแต่งตั้ง “เดฟ บาสเซ็ตต์” อีกยอดกุนซือฝีมือดี ผู้พาวิมเบิลดัน เลื่อนชั้นอย่างรวดเร็วจากลีกล่างขึ้นมาดิวิชั่น 1 แต่มีปัญหาขัดแย้งกับประธานสโมสรจอมโหด “แซม แฮมมัม” ที่พยายามใส่เงื่อนไข ว่าเขามีสิทธิ์เปลี่ยนการจัดตัวที่บาสเซ็ตต์เลือก แกเลยเลือกลาออกซะเลย

นอกจากนั้น ทีมยังเสียนักเตะคนดังอย่างบาร์นส์ ไปให้ลิเวอร์พูล ในราคา 900,000 ปอนด์ ซึ่งแม้จะได้เม็ดเงินที่สูงในยุคสมัยนั้นกลับมา แต่การหาตัวตายตัวแทน มันไม่ง่ายดายอย่างที่คิด

“จอห์น บาร์นส์” ย้ายไปร่วมทีม “หงส์แดง” ส่งผลให้เกมรุกของวัตฟอร์ด ลดประสิทธิภาพลงชัดเจน
(Source : Last Word on Football)

ฝีมือที่เป็นที่ยอมรับ และการพาวิมเบิลดันขึ้นมาในเส้นทางคล้ายวัตฟอร์ด หลายฝ่ายเชื่อว่าทีมจะไปต่อได้ดีกับบาสเซ็ตต์ แต่กลายเป็นว่าผลงานจริง กลับไม่เป็นอย่างหวัง บาสเซ็ตต์แยกทางกับสโมสร หลังคุมมายังไม่ถึง 7 เดือน และนำไปสู่การตกชั้นของ “แตนอาละวาด” จนต้องใช้เวลาอีกนานถึง 12 ปี ต่อจากนั้น กว่าจะกลับมายังลีกสูงสุดได้

การคัมแบ็ค

นับจากตกชั้น วัตฟอร์ดภายใต้การดูแลของเพ็ทชีย์ ล้มลุกคลุกคลาน เคยหล่นลงไปถึงลีกระดับ 3 (เรียกว่าดิวิชั่น 2 หลังลีกสูงสุดเปลี่ยนชื่อเป็นพรีเมียร์ลีก) จนจำเป็นต้องเรียกความช่วยเหลือของคนคุ้นเคยอย่าง “เกรแฮม เทย์เลอร์” อีกครั้ง

โดยแม้ชื่อเสียงของเทย์เลอร์ จะค่อนข้างด่างพร้อย จากผลงานคุมทีมชาติอังกฤษก่อนนั้น ที่ไม่ประสบความสำเร็จ จนถูกเรียกฉายาว่า “มิสเตอร์หัวผักกาด” ที่คิดอะไรสับสนไปหมด แต่กับแฟนวัตฟอร์ดแล้ว เทย์เลอร์ยังคงเป็นตำนานที่ได้รับการยกย่องไม่เปลี่ยนแปลง

การกลับมากู้ศรัทธาของเทย์เลอร์ โดยกลับมาร่วมงานกับแจ็คเกตต์อีกครั้ง
(Source : Pinterest)

เทย์เลอร์ กลับมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอล กลางซีซัน 1995/96 ขณะที่วัตฟอร์ดอยู่ดิวิชั่น 1 และมี “เคนนี่ แจ็คเก็ตต์”​ อดีตนักเตะผู้รับใช้วัตฟอร์ดเพียงทีมเดียว รับบทกุนซือของทีม แต่ฟอร์มยังกู่ไม่กลับ และต้องตกชั้นลงสู่ดิวิชั่น 2

ซีซันถัดมา กับผลงานที่จบเพียงกลางตารางดิวิชั่น 2 เทย์เลอร์จึงต้องกลับมารับหน้าที่กุนซือใหญ่ด้วยตัวเองอีกครั้ง และปรับแจ็คเก็ตต์มาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมแทน เพื่อสู้ศึกซีซัน 1997/98

นอกจากการกลับมารับบทกุนซือของเทย์เลอร์ เอลตันยังกลับมาซื้อสโมสรอีกครั้งด้วย
(Source : The Mirror)

และประเด็นสุดสำคัญ ที่ทำให้ทุกคนเชื่อมั่นอีกครั้ง นั่นคือการกลับมาของเอลตัน ที่ตัดสินใจซื้อหุ้นสโมสรคืน กลับมานั่งตำแหน่งเจ้าของทีม และประธานบอร์ดบริหารอีกครั้ง และผลลัพธ์ของการร่วมแรงร่วมใจของเอลตัน กับเทย์เลอร์ ก็ประสบความสำเร็จอีกครั้ง

“แตนอาละวาด” ฮึดเลื่อนชั้น 2 สเต็ปรวด โผล่พรวดขึ้นไปเล่นในพรีเมียร์ลีกได้อย่างน่าทึ่ง แม้สุดท้ายจะอยู่ได้แค่ปีเดียว และตกชั้นทันที แต่มันก็สร้างความสุขหอมหวานให้แฟนๆ อีกครั้ง

อำลา และเป็นที่จดจำ

เอลตันเป็นเจ้าของสโมสรวัตฟอร์ดคำรบที่ 2 อยู่ถึงปี 2002 ในขณะทีมยังอยู่ในดิวิชั่น 1 (แชมป์เปียนชิพในปัจจุบัน) และต้องการปรับเปลี่ยนหาประธานบอร์ดบริหาร ที่สามารถให้เวลาเต็มที่กับสโมสร เขาจึงตัดสินใจขายหุ้นอีกครั้ง แต่ยังคงนั่งแท่นเป็นประธานบริหาร เพื่อคอยช่วยเหลือสโมสรต่อไป

ตั้งแต่ตอนนั้น แม้เอลตันจะไม่ได้เป็นเจ้าของวัตฟอร์ดอย่างเป็นทางการ แต่เขาก็ยังคงผูกพันกับสโมสรอยู่เสมอ โดยเขาจัดคอนเสิร์ตของตัวเองที่วิคาเรจ โร้ด เพื่อนำเงินมอบให้กับทีม ถึง 2 ครั้ง 2 ครา

แฟนวัตฟอร์ด สวมแว่นตาสไตล์เอลตัน เข้าไปชมคอนเสิร์ตของคนที่เขารัก
(Source : Watford Observer)
“เอลตัน จอห์น” บนเวทีคอนเสิร์ตของตัวเอง ที่สนามวิคาเรจ โร้ด
(Source : Watford Observer)

กับแฟนบอลเอง พวกเขายังคงรัก และคิดถึง “ร็อคเก็ตแมน” อยู่เสมอ และในปี 2014 สแตนด์ฝั่งนึง ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “Sir Elton John Stand” เพื่อเป็นเกียรติแก่ “เจ้าของสโมสรตลอดชีพ”

โดยเอลตันเดินทางมาร่วมพิธี พร้อมกับคู่ชีวิต “เดวิด เฟอร์นิช” และลูกบุญธรรม ซึ่งภายหลังเซ็นสัญญาเข้าอคาเดมี่ของวัตฟอร์ด พร้อมกับกล่าวว่า “นี่เป็นอีกหนึ่งวัน ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต”

เอลตัน กับ “เดวิด เฟอร์นิช” คู่สมรส และลูกบุญธรรม ในวันเปิดใช้ชื่อสแตนด์ของเขา
(Source : Metro)

ความรักที่แฟนบอลมอบให้เอลตัน ยังรวมถึงการปรับเอาเพลงของเขา มาใช้เป็นเพลงธีมเปิดก่อนแมทช์แข่งขันจะเริ่ม หรือการนำเพลงมาร้องเชียร์ทีม กันอย่างสนุกสนาน

ซึ่งแม้ระยะหลัง เอลตันจะไม่ค่อยได้ไปชมเกมที่สนามมากนัก เพราะเขายอมรับว่ามันไม่สนุกเหมือนเคย เมื่อทุกคนเอาแต่จะหยิบกล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือมาขอถ่ายรูปไม่หยุด ต่างจากยุค 70 หรือ 80 ที่เขามีอิสระในการเข้ามาชม และสนุกกับเกมได้เต็มที่

แม้จะไม่ได้เข้ามาดูในสนามบ่อยเหมือนเคย แต่เวลามาดูที เอลตันก็เฮจัดเต็มเสมอ
(Source : Football Paradise)

แต่ในมุมแฟนบอล พวกเขารู้ว่าเอลตัน ยังคงสนับสนุน และเชียร์ทีมอยู่เสมอ โดยในมุมมองแฟนบอลวัตฟอร์ด พวกเขากล่าวเสมอ ว่าสโมสรแห่งนี้ เป็นหนี้เอลตันอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน หากนำเอาความรู้สึกนี้ไปถามเอลตัน เขาจะตอบกลับอีกอย่าง ว่าเขาต่างหากที่เป็นหนี้วัตฟอร์ด เพราะสโมสรแห่งนี้ ได้มอบพลัง และความรักทุกอย่างให้กับเขา ทั้งในช่วงที่มีความสุข หรือช่วงที่สับสนวุ่นวาย จนสามารถพูดได้ว่า “วัตฟอร์ดช่วยชีวิตเขาไว้” ก็คงไม่แปลก

(Source : Clash Magazine)

Picture : Smooth Radio, Female First, Goal.com, Daily Mail, The Current, Michael Putland, The Mirror, Evening Standard, Twitter, theScore.com, City Till I Die, Keith Collman, Express & Star, Last Word on Football, Pinterest, The Mirror, Watford Observer, Metro, Football Paradise, Clash Magazine

Clip : YouTube (Elton John Archive)

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save