ชวนสำรวจ “นิว นอร์มอล” บุนเดสลีก้า หลังกลับมาเตะก่อนใครเพื่อน - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ชวนสำรวจ “นิว นอร์มอล” บุนเดสลีก้า หลังกลับมาเตะก่อนใครเพื่อน

หากไม่นับประเทศที่ไม่ค่อยอยู่ในโฟกัสของแฟนบอลบ้านเรา อย่างลีกเบลารุส กับนิคารากัว ที่ไม่หยุดพักเพราะโควิด-19 เลย หรือกับเคลีก เกาหลีใต้ ซึ่งกลับมาเตะสัปดาห์ที่ผ่านมา “บุนเดสลีก้า” ของเยอรมัน ถือเป็นลีกชั้นนำลีกแรก ที่กลับมาเตะซีซัน 2019/20 ต่อ ก่อนใคร

บุนเดสลีก้ากลับมาเตะแล้วก่อนใคร พร้อมมาตรการ “นิว นอร์มอล” มากมาย
(Source : Rappler)

แน่นอนว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในยุโรป รวมถึงที่เยอรมัน ยังไม่น่าไว้วางใจ ดังนั้นแล้ว การกลับมาเตะหนนี้ จึงมีมาตรการที่แตกต่างจากตอนสถานการณ์ปกติอยู่มาก หลายวิธีปฏิบัติ และขั้นตอน จึงเป็น “แนวทางใหม่” หรือที่ตอนนี้กำลังนิยมเรียกว่า “นิว นอร์มอล (New Normal)”

“นิว นอร์มอล” ที่บุนเดสลีก้าใช้ แน่นอนว่ามุ่งลดความเสี่ยงของนักเตะ และผู้เกี่ยวข้อง ของพวกเขาเอง แต่รับรองเลยว่านอกเหนือจากนั้น มันจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ ที่หลายลีกจะยึดเป็นแนวทาง หากพวกเขาเลือกจะกลับมาเตะให้จบ ตามที่ลีกเมืองเบียร์นำร่องมา

สนามอันเงียบเหงา

สิ่งแรกที่จำเป็นมาก คือการจำกัดผู้เกี่ยวข้องในสนามให้น้อยที่สุด ซึ่งบุนเดสลีก้ากำหนดทีมงาน, นักกีฬา, สตาฟ์ต่างๆ และผู้เกี่ยวข้องแค่ประมาณ 320 คนต่อนัด ไม่มีผู้ชม หรือผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในสนามโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น “บุนเดสเทรนเนอร์” อย่าง “โยอาคิม เลิฟ” หรือสัตว์นำโชค ที่สโมสรเยอรมันนิยมใช้กัน ก็หมดสิทธิ์

สนามซิกนัล อิดูน่า ปาร์ค ของดอร์ทมุนด์ กับภาพไม่มีผู้ชม ซึ่งไม่คุ้นตา
(Source : Reuters)

นอกเหนือจากไร้ผู้ชมในสนามแล้ว ด้านนอกของสนามยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยควบคุมความเรียบร้อย เพื่อไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องมาออกันหน้าสนาม ตามความกังวลว่าอาจจะมีแฟนบอล มารวมตัวเพื่อให้กำลังใจทีมรักกัน

พูดถึงบรรยากาศในสนาม แม้แพสชั่นของนักเตะจะไม่ได้ลดลง เพราะทุกคนก็มุ่งมั่นกลับมาแข่งขันเพื่อทีม แต่เสียงเชียร์ที่หายไป ก็ทำให้หลายคนไม่คุ้นชินกับมัน อย่าง “ลูเซียง ฟาฟร์” กุนซือดอร์ทมุนด์ ก็ยอมรับว่าไม่คุ้นเลย เมื่อไร้เสียงเชียร์ของแฟนบอลเวลาทำประตูได้ หรือจ่ายบอลสวยๆ ทุกอย่างเงียบเชียบ

เกมไลป์ซิก-ไฟร์บวร์ก ที่เล่นโดยไม่มีผู้ชมในสนามเช่นกัน
(Source : Bdnews24)

หรือ “คริสเตียน สไตรช์” กุนซือไฟร์บวร์ก ก็รู้สึกเสียดายที่แฟนบอลไม่ได้เข้ามาชม และไม่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขเมื่อทีมลงแข่งขัน แต่ถึงจะไม่คุ้นชิน นักเตะทุกคนก็ยังมีหน้าที่แสดงความมุ่งมั่น และคว้าผลการแข่งขันที่ดีที่สุด

สำหรับแฟนบอลที่ติดตามอยู่ทางบ้าน นอกเหนือจากการชมถ่ายทอดสด มีไอเดียเหมือนกัน ที่จะใส่เสียงเชียร์ของแฟนบอลเข้าไปประกอบกับการพากย์ หากเลือกฟังในรูปแบบเสียงผ่านวิทยุ หรือออนไลน์ ซึ่งยังเป็นที่นิยมอยู่ในยุโรป

มาตรการ Social Distancing

นอกเหนือจากการซ้อม ที่แม้จะอนุญาตให้ซ้อมรวมทีมได้ แต่ก็มีมาตรการ Social Distancing เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสให้มากที่สุด เช่น หลีกเลี่ยงการปะทะ, แยกกันเดินทางไป-กลับ, ห้ามใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน กับการแข่งขันจริง ก็มีมาตรการใหม่ๆ อีกเพียบ

เริ่มจากการแถลงข่าวก่อนเกม ซึ่งบุนเดสลีก้าให้ใช้วิธีทางออนไลน์ทดแทนไปเลย สัมภาษณ์หลังเกม ก็มีเพียงเล็กน้อย โดยต้องเว้นระยะของผู้สัมภาษณ์กับนักเตะ หรือกุนซือ แบบเว้นระยะห่างชัดเจน เช่น ใช้ขาไมค์ยาวพิเศษ

การสัมภาษณ์กุนซือ หรือนักเตะในสนาม จะกำหนดระยะห่างชัดเจน
(Source : Twitter)

การเดินทางมาแข่งขัน ก็ระบุชัดเจนว่าแต่ละทีม ต้องพักในโรงแรมเดียวกัน และเดินทางมาสนามเป็นระเบียบเรียบร้อย แยกกันใช้อุปกรณ์ส่วนตัว เดินลงสนามโดยเว้นระยะห่างกัน รวมถึงไม่มีการถ่ายรูปรวม หรือสัมผัสมือก่อนการแข่งขัน โดยเราจะเห็นทางออกของอากัปกิริยาอื่น เช่น ใช้ท่อนแขนสัมผัสกัน หรือใช้เท้าสัมผัสกันแทน

การสัมผัสกันด้วยท่อนแขน หรือเท้า ถูกนำมาใช้ หากจะแสดงความยินดี หรือทักทายกัน
(Source : Waspada Online)

นอกจากนั้น ตำแหน่งการนั่งของสตาฟฟ์โค้ช และนักเตะตัวสำรอง ยังเว้นระยะห่างกันอย่างชัดเจน เช่น มีเพียงกุนซือ และผู้ช่วย 2-3 ราย ในซุ้มม้านั่งสำรอง ส่วนนักเตะสำรองทั้งหมด ไปนั่งเว้นระยะห่างกันบนสแตนด์ใกล้ๆ ซุ้ม โดยห้ามลุกขึ้นไปไหน ยกเว้นจะลงไปวอร์มข้างสนาม

การนั่งเว้นระยะของซุ้มมานั่ง และตัวสำรอง โดยมีกุนซือได้รับอนุญาตไม่ให้สวมหน้ากากคนเดียว
(Source : The Daily Star)

ลดความเสี่ยงจากโควิด

นอกเหนือจากมาตรการคัดกรอง ที่มีการตรวจเชื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และตรวจวัดอุณหภูมิทุกคนที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าสนาม ยังมีมาตรการที่ชัดเจนในรายละเอียด ภายในสนามอีกด้วย

อย่างแรกคือเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย ที่ก่อนจะลงสู่สนามเพื่อวอร์ม, ซ้อม หรือแข่งขัน ทุกคนต้องสวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลา โดยระหว่างแข่งขัน มีเพียงนักเตะที่ลงตัวจริง, ผู้ตัดสิน 3 คนในสนาม และตัวกุนซือ เท่านั้น ที่อนุญาตไม่ให้สวมหน้ากากอนามัยได้ (มีการขออนุญาตรัฐบาลเป็นทางการ) นอกนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวสำรองที่ไม่ได้ลงไปวอร์ม, ผู้ช่วยกุนซือ หรือกรรมการที่ 4 ทั้งหมดต้องใส่หน้ากากหมด

การสวมใส่หน้ากากอนามัย มีการระบุขั้นตอน และผู้สวมใส่ชัดเจนครอบคลุม
(Source : Forbes)

โดยสำหรับนักเตะสำรอง หากต้องลงไปวอร์มที่ข้างสนาม นักเตะทุกคนต้องเอาหน้ากากไว้ที่คอ เพื่อให้พร้อมหยิบมาใส่ทันที เมื่อเสร็จสิ้นการวอร์ม และกลับมายังตำแหน่งนั่งข้างสนาม

อย่างถัดไป คือเรื่องการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะลูกบอลที่ใช้แข่งขัน ที่มีการฆ่าเชื้อทั้งก่อนเริ่มเตะ พักครึ่ง และหลังจบการแข่งขัน เช่นเดียวกับเสา, คาน และธงเตะมุม

การฆ่าเชื้ออุปกรณ์แข่งขันที่นักเตะต้องใช้ร่วมกัน ทำสม่ำเสมอก่อน-หลังแข่ง และพักครึ่ง
(Source : FOX6Now)

ไม่เพียงการป้องกันก่อน และระหว่างเตะ มาตรการเมื่อพบนักเตะ หรือผู้เกี่ยวข้อง ให้ผลเทสต์เป็นบวก ทางบุนเดสลีก้า ก็ออกมาฟันธงไว้ก่อนแล้ว ว่าจะกักตัวเฉพาะผู้ที่ตรวจพบเชื้อ โดยไม่กักทั้งทีม และไม่มีการยกเลิกการแข่งขันโดยรวมแน่นอน

ปรับเปลี่ยนกติกา

อีกสิ่งสำคัญที่ถูกหยิบมาปรับให้เป็นนิว นอร์มอล คือเรื่องกติกาการแข่งขัน ซึ่งเอื้อให้การกลับมาเตะเป็นไปได้ราบรื่นสูงสุด ทั้งเรื่องการลดความเสี่ยง และการให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้เกี่ยวข้อง

การอนุญาตให้เปลี่ยนตัวเพิ่มจาก 3 เป็น 5 คน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุด ซึ่งทั่วโลกจับตามอง โดยบุนเดสลีก้าเลือกเพิ่มจำนวนการเปลี่ยนตัว เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บของนักเตะ ซึ่งต้องห่างหายจากการแข่งขันมานาน และหาโอกาสเรียกความฟิตได้ยาก ในช่วงกักตัวอยู่บ้านใครบ้านมัน

ชาลเก้ และหลายทีม ใช้โควต้าเปลี่ยนตัวครบ 5 คน ตามกติกาใหม่
(Source : en24News)

นอกจากนั้น เรื่องของการเช็คการตัดสินใจ VAR ที่ปกติในบุนเดสลีก้า ผู้ตัดสินในสนาม จะสามารถใช้จอมอนิเตอร์ข้างสนามประกอบการตัดสินใจได้ แต่เมื่อกลับมาเตะท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 การเช็คมอนิเตอร์ถูกตัดออก เพื่อหลีกเลี่ยงให้มีการสัมผัสอุปกรณ์

สิ่งควรทำ หรือขอความร่วมมือ

สิ่งที่หลายคนจับตามองอีกอย่าง คืออากัปกิริยาของนักเตะ เช่น ท่าทางดีใจ และการขากถุยสารคัดหลั่ง ที่อาการในเวลาปกติ มันขัดต่อการป้องกันโควิด-19 อย่างสิ้นเชิง

ซึ่งพอผ่านนัดแรกที่บุนเดสลีก้ากลับมาเตะ ก็มีอารมณ์เผลอให้เห็นอยู่หลายที ทั้งการถุยน้ำลาย หรือสั่งน้ำมูกลงที่พื้นสนาม ซึ่งทำกันจนเคยชิน หรือการเข้าไปดีใจแบบสัมผัสเกินเลย ซึ่งมีทั้งสวมกอด หรือหนักถึงขั้นขอจุ๊บทีนึง!

“เดเร็ค โบยาต้า” คงจะเพลินไปหน่อย ถึงจุ๊บใส่ “มาร์โก้ กรูยิช” ซะอย่างนั้น
(Source : Daily Mail)

เหตุการณ์ขอจุ๊บ เกิดขึ้นในแมทช์ระหว่างฮอฟเฟ่นไฮม์ กับแฮร์ธ่า เบอร์ลิน เมื่อ “ดีเร็ค โบยาต้า” เซ็นเตอร์ของแฮร์ธ่า ไปแสดงความยินดีด้วยการสวมกอด และจุ๊บ “มาร์โก้ กรูยิช” กองกลางเพื่อนร่วมทีม ซึ่งเกิดเสียงวิจารณ์ตามมาพอสมควร

โดยทางบุนเดสลีก้า ก็ออกมาแสดงความเข้าใจ ว่านักเตะอาจจะเผลอลืมไป และแสดงอากัปกิริยาเหมือนในช่วงเหตุการณ์ปกติ ซึ่งลีกสูงสุดของเยอรมัน จะไม่มีการลงโทษในกรณีนี้ เพียงแต่ขอความร่วมมือกับนักเตะ ว่านับจากนี้ หลีกเลี่ยงได้ ก็หลีกเลี่ยงซะเถอะ

ตัวอย่างการดีใจแบบเว้นระยะห่างของดอร์ทมุนด์ หลังประตูขึ้นนำของฮาลันด์
(Source : Yahoo Sports)

โดยแม้จะมีเผอเรอกันไปบ้าง แต่นักเตะส่วนใหญ่ก็ปรับตัวได้ดี อย่างการแสดงความดีใจเมื่อทำประตูได้ หลายรายก็เลือกใช้วิธีการชนด้วยท่อนแขน ข้อศอก หรืออย่างประตูขึ้นนำของดอร์ทมุนด์ ของ “เออร์ลิง เบราท์ ฮาลันด์” นักเตะ “เสือเหลือง” การแสดงอาการดีใจแบบเว้นระยะห่าง ได้น่ารักน่าชัง

สีสันแห่งความคิดถึง

แม้มาตรการหลายอย่าง ที่ถูกนำมาใช้ จะทำให้อรรถรสของฟุตบอลเลือนรางไป แต่ก็มีสีสันอื่น ซึ่งพอให้เราได้ชุ่มชื่นหัวใจขึ้นบ้าง นอกเหนือจากการมีฟุตบอลให้ชมอีกครั้ง

สีสันแรกคือการแสดงสัญลักษณ์ขอบคุณไปยังแฟนบอล แม้จะไม่มีพวกเขาเข้ามาชมในสนามก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น การวิ่งไปเฮกับ “เยลโล่ วอลล์” หรือสแตนด์แฟนบอลฮาร์ดคอร์หลังโกล์ของดอร์ทมุนด์ หลังเกมที่ชนะชาลเก้ ซึ่งนักเตะ “เสือเหลือง” แสดงอาการเหมือนเดิมทุกประการ แม้จะไม่สามารถจับมือเพื่อนร่วมทีมกันได้ และบนแสตนด์จะไม่มีแฟนบอลอย่างเคย

นักเตะ “เสือเหลือง”​ วิ่งไปกระโดดเฮกับ “เยลโล่ วอลล์” เหมือนเดิม แม้จะไร้ผู้ชม
(Source : Bundesliga)

หรือสีสันอีกอย่าง คือความพยายามของสโมสร และแฟนบอล ที่จะส่งแรงใจไปให้นักเตะที่พวกเขารักให้ได้มากที่สุด อย่างการตั้งแสตนดี้รูปแฟนบอลหลากหลายของโบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค หรือการนำเสื้อทีมเหย้าหลากหลายสมัย มาสวมไปบนเก้าอี้บนสแตนด์ ของโคโลญจน์

สแตนดี้หน้ากองเชียร์ ซึ่งถูกวางเรียงรายบนสแตนด์ เพื่อให้กำลังใจพลพรรค “สิงห์หนุ่ม”
(Source : Time Magazine)
เสื้อเหย้าหลายซีซัน ที่ถูกสวมบนเก้าอี้ เพื่อเป็นตัวแทนของกำลังใจจากแฟนบอลของโคโลญจน์
(Source : Cameroon Magazine)

ซึ่งแม้มันจะไม่ได้ช่วยให้บรรยากาศในสนามคึกคักเหมือนวันที่ทุกอย่างเป็นปกติ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ทั้งฝั่งแฟนบอล และนักเตะ ได้รู้สึกถึงความคิดถึง และกำลังใจที่มีให้กัน ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนอยากให้สถานการณ์กลับมาปกติโดยเร็ว เพื่อการคืนสู่เหย้าของสีสัน และเสียงเชียร์ที่คุ้นเคย

Picture : Deccan Herald, Rappler, Reuters, Bdnews24, Twitter, The Daily Star, Waspada Online, Forbes, FOX6Now, en24News, Daily Mail, Yahoo Sports, Bundesliga, Time Magazine, Cameroon Magazine

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save