Movie Review | เรียนรู้ 5 ข้อคิดน่าสนใจจาก “Itaewon Class” (ไม่สปอยล์) - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
Movie Review | เรียนรู้ 5 ข้อคิดน่าสนใจจาก “Itaewon Class” (ไม่สปอยล์)

ช่วงที่ประชาชนคนไทยต้องอยู่ติดบ้าน เพราะเจ้า “โควิด-19” ยังสุ่มเสี่ยง โอกาสที่เราจะได้ชมซีรีส์ที่บ้านก็มีมากขึ้นตามไปด้วย จึงไม่แปลก ที่จะเห็นการพูดถึงซีรีส์กันเพียบ ดังนั้นเรื่องที่จะกลายเป็นกระแสพูดกันทั่วถึงในช่วงนี้ ต้องมีทีเด็ดอะไร ที่น่าสนใจ

ในบรรดาตัวเลือกมากมาย “Itaewon Class” กลายเป็นเบอร์ต้นๆ ที่คนพูดถึง
(Source : Insight.co.kr)

ในบรรดาซีรีส์น่าดูชม “Itaewon Class” เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่ถูกพูดถึงกันอย่างมาก และด้วยคำชมด้านบวก ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นไปติดอันดับ Top 1 หรือ 2 ของ Netflix ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพอดูจนจบแล้ว เราก็เห็นด้วยกับหลายกระแสเลย ว่าซีรีส์เรื่องนี้ “มีทีเด็ด”

เนื้อเรื่องย่อ

“Itaewon Class” บอกเล่าเรื่องราวการ “ทวงแค้น” ของพระเอกทรงผมเกาลัด “พัคแซรอย” หนุ่มมุ่งมั่น ซึ่งชีวิตถูกทำลายย่อยยับ ด้วยการเข้าไปข้องแวะกับ “ตระกูลชาง” ครอบครัวอิทธิพลสูงด้านธุรกิจอาหารที่มีชื่อแบรนด์ว่า “ชางกา” โดยมีประธาน “ชางแดฮี” และลูกชายตัวแสบ “ชางกึนวอน” เป็นตัวละครสำคัญ

“พัคแซรอย” พระเอกทรงผมขัดใจ ตัวเดินเรื่องหลักของซีรีส์
(Source : Daum)

การทะเลาะวิวาทของแซรอย กับเจ้ากึนวอน ส่งผลให้เขาโดนเด้งจากโรงเรียน และพ่อของเขาที่ทำงานชางกา ก็ต้องมาลาออกตามไปอีก เท่านั้นยังไม่พอ ชางกึนวอน ยังก่อเหตุชนแล้วหนี จนพ่อของแซรอยต้องเสียชีวิต สร้างความเดือดดาลให้แซรอยลงไม้ลงมือแก้แค้น จนต้องเข้าไปนอนในซังเตด้วยข้อหาร้ายแรง ถึง 3 ปี

แต่ชีวิตที่เรียกว่าพังครืนของแซรอย ไม่ได้ทำให้เขาท้อถอย เขามีเป้าหมายสำคัญในการออกมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ และแก้แค้นตระกูลชาง ด้วยการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เป็นอันดับ 1 ในด้านธุรกิจอาหาร เหนือกว่าชางกาให้ได้

(ซ้ายบน) พัคแซรอย กับโซอีซอ (ขวาบน) ชางกึนวอน (ซ้ายล่าง) โอซูอา (ขวาล่าง) ชางแตฮี
(Source : Soompi)

เรื่องราวการทวงแค้นด้วยชั้นเชิงการสร้างธุรกิจจึงเกิดขึ้นนับจากจุดนั้น โดยนอกเหนือจากการต่อสู้ของแซรอยแล้ว ยังมีตัวละคร 2 สาว อย่าง “โอซูอา” เพื่อนและคนที่เขารักมาแสนนาน กับ “โซอีซอ” เด็กสาวแอนตี้สังคมตัวแสบ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของแซรอย จนเกิดกิมมิครักสามเส้า ให้ได้มีมิติเพิ่มเติมด้วย

เทรลเลอร์ซับไทยของ “Itaewon Class” หรือ “ธุรกิจปิดเกมแค้น”
[Source : YouTube (Netflix Thailand)]

รีวิวกันหน่อย

สิ่งแรกเลยที่ผมชอบเกี่ยวกับ “Itaewon Class” คือเรื่องของ “ชั้นเชิง” ซึ่งแสดงให้ผู้ชมเห็นถึง “ความเฉียบคม” ในการผลิตซีรีส์เรื่องนี้ ให้น่าชื่นชมในทุกส่วนประกอบของเนื้อหา และการโปรดักชั่น (เพลงเพราะนะฮะ ลองหาฟังดู ^^)

เรื่องการสร้างคาแรกเตอร์ให้มีสีสันควบคู่ไปกับความสมจริง ถือเป็นจุดเด่นหลัก
(Source : Forbes)

คาแรกเตอร์ และบทสนทนา ถือเป็นจุดแรกที่อยากชม เพราะทุกตัวละครสามารถบาลานซ์ระหว่างความสมจริง และการผลักดันให้เนื้อเรื่องมีสีสัน ได้พอดิบพอดี ทุกตัวมีความเป็น “มนุษย์” ที่จับต้องได้ ซึ่งทำให้เราได้เห็นทั้งด้านที่ดี และด้านที่ผิดพลาด ที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

ความประณีตในการสร้างตัวละคร ยังแสดงออกมาชัดเจนทางบทสนทนา ที่เรื่องนี้มักจะยึดมั่นใน “อุดมการณ์” ของตัวละคร และนำมากระจายใช้ในเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดเรื่อง ซึ่งนอกจากจะตอกย้ำให้คนดูเก็ทมากขึ้น ยังทำให้เรารู้สึกได้ว่าตัวละครแต่ละตัวมีกรอบที่ชัดเจน น่าสนใจ

การแสดงออกของตัวละครผ่าน “ความเชื่อ” และ “บทสนทนา” ทำให้คนดูสัมผัสได้
(Source : JTBC, MEAWW)

เรื่องของเนื้อหา เป็นสิ่งที่ชมรองลงมา เพราะทำได้น่าติดตาม มีช่วงเอื่อยหรือแผ่วบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้สะดุดน่าเกลียด จึงไม่แปลกที่เมื่อเริ่มดู แล้วจะหยุดไม่ค่อยได้ เผลอแป๊บเดียวก็นอนดึกกันเป็นแถบ

อย่างไรก็ดี จุดของเนื้อหามีการหักคะแนนไปบ้างในช่วง EP ท้ายๆ ของเรื่อง ที่ดูจะจำเจ และลดความน่าสนใจมากไปหน่อย แต่ด้วยการปูเนื้อหา และเพาะบ่มตัวละครตั้งแต่แรกอย่างที่ว่ามา ก็เพียงพอจะทำให้เราอิน และออกปากชมได้อย่างไม่เคอะเขิน เมื่อดูจบ

ความเข้มข้นของการปูเนื้อหา และตัวละคร เป็นจุดแข็งที่ทำให้ดูแบบหยุดไม่ได้
(Source : 천지일보)

ส่วนสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะมันทำให้ “Itaewon Class” ดูแตกต่างจากเรื่องอื่น คือการถ่ายทอด “แง่คิด” ของเรื่องและตัวละคร ซึ่งเพิ่มความสนุกต่อการติดตาม และน่าหยิบเอามาเขียนให้อ่านกันต่อด้านล่าง

5 แง่คิดน่าสนใจ

[ใช้ชีวิตด้วยอิสระของตัวเอง]

ประเด็นนี้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมอะไร หลายเรื่องก็ใช้กันอยู่บ่อยๆ เพื่อสร้างคาแรกเตอร์ให้ดูโดดเด่นสะดุดตา ซึ่ง “Itaewon Class” เองก็ใช้ เพียงแต่ใช้ได้แนบเนียน และสร้างความเชื่อต่อคนดู มากกว่าเรื่องอื่นๆ

“พัคแซรอย” ตัวละครหลักที่ชัดเจนในการผลักดัน การเป็นตัวเองอย่างอิสระ
(Source : JTBC, MEAWW)

แง่คิดในข้อนี้ ต้องขอชมช่วง 2-3 EP แรกเป็นอย่างยิ่ง ว่าซีรีส์สามารถเล่าปูมหลังของตัวละครได้เฉียบคม ไม่ว่าจะเป็นการบอกแบบโต้งๆ หรือการทำให้เราค่อยๆ ซึมซับ ซึ่งมันเป็นผลดีอย่างมากในตอนกลาง และท้ายของเรื่อง ว่าทำไมแต่ละตัวละครถึงตัดสินใจเชื่อมั่นในสิ่งที่ลงมือทำ

ความชัดเจนของแนวคิดตัวละคร สร้างความน่าสนใจให้ผู้ชมสำเร็จแล้ว บทซีรีส์ยังเก่งที่มี “ลิมิต” ของแต่ละการตัดสินใจมาตบให้เกิดความเชื่อว่ามันสมจริงเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งส่งผลดีชัดเจน ต่อการสร้างอารมณ์ “พร้อมจะเอาใจช่วย” และ “พร้อมเข้าใจ” ตัวละครต่างๆ ไปควบคู่กับความบันเทิง

“โซอีซอ” อีกหนึ่งคาแรกเตอร์สำคัญ ที่มีความเป็นตัวเองสูง
(Source : WallpaperAccess)

แง่มุมนี้ ชอบการหยิบยกแนวคิดของ “พัคแซรอย” ที่สื่อสารไว้แต่แรกกับคุณพ่อ และการเลือกทางเดินชีวิตของ “โซอีซอ” ที่มันไม่ใช่แค่ต่อต้านสังคม และเป็นตัวของตัวเองเอาเท่ แต่มีความชัดเจนในวิธีที่จะก้าวไปสู่เป้าหมาย ซึ่งสอนเราในชีวิตจริง ให้หาจุดบาลานซ์ตรงนี้ให้ได้ หากจะเลือกทางเดินของตัวเอง และอยากประสบความสำเร็จ

[คนใกล้ตัวสำคัญเสมอ]

ต่อเนื่องจากแง่คิดแรก สิ่งที่เข้ามาตบแนวคิดส่วนตัวให้เข้ารูปเข้ารอย คือเรื่องของคนรอบกายใกล้ตัว เพราะ “Itaewon Class” แสดงให้เห็นว่า เราต้องเจอปัจจัยอื่นๆ มากมายในการลงเมือทำอะไรซักอย่าง โดยเฉพาะคนใกล้ตัวที่มีผลสำคัญไม่น้อย

คนใกล้ตัวมีความสำคัญไม่แพ้กัน ในการผลักดันทำอะไรซักอย่างนึง
(Source : Twitter)

ซีรีส์สอนให้เรารู้ว่า พลังทั้งแง่บวกหรือลบ ล้วนส่งต่อกันได้จากคนใกล้ตัวนี่แหละ ขึ้นอยู่กับว่าตัวเราจะพร้อมนำเอาไปกำหนดทิศทางการตัดสินใจของเราแค่ไหน อย่างเส้นทางการค่อยๆ เติบโตของ “พัคแซรอย” ที่มีทีมงานคอยร่วมผลักดันเป้าหมายพร้อมกับเขา

แรงผลักดันต่อคนรอบข้าง ทำให้เราได้เห็นการเลือกรับมือที่น่าสนใจของแซรอย
(Source : 데일리시큐)

นอกเหนือจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ ซีรีส์ยังพยายามสื่อสารวิธีการเลือกใช้กลยุทธ์ “ชนะมิตร และจูงใจคน” ที่น่าสนใจ และไม่เว่อร์วังเกินจริง ซึ่งยิ่งเป็นแง่คิดที่ดี ที่เราจะให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะมาดี หรือมาร้าย

[ความพยายามมีแค่ไหน ความสำเร็จอาจไม่มาตามนั้น]

ความจริงข้อนี้ มันก็มาจากวลีคลาสสิก “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ที่ใช้กันในทุกเรื่องน่ะแหละ เพียงแต่ซีรีส์เรื่องนี้ สามารถทำให้มันกลมกล่อม สร้างแรงผลักดันเอาใจช่วย และความคาดหวังจากผู้ชม ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเรื่อง

ความพยายามอาจไม่เพียงพอ ถ้าเราไม่ฉลาดใช้ และรู้จังหวะโอกาส
(Source : WallpaperAccess)

จุดนี้ผมขอย้อนไปชมการวางคาแรกเตอร์อีกแล้ว ที่ไม่ใช่แค่ตัวฝั่งคนดีเท่านั้น ที่ช่วยผลักดันในทิศทางบวกกัน ตัวละครฝั่งร้าย ก็มีส่วนเกื้อหนุนให้เกิด “ความพยายาม” ซึ่งทำมาได้ดี ไม่ใช่กระโชกโฮกฮาก ใช้ความรุนแรง แต่ใช้แรงผลักในใจ ซึ่งทำให้มันมีชั้นเชิงน่าติดตามชม

ไม่ใช่แค่แรงผลักดันในด้านดี การผลักดันที่ไม่ดี ก็ส่งผลต่อความพยายามของเราได้เช่นกัน
(Source : Insight.co.kr)

ที่ใช้คำว่า “ความพยายามมีแค่ไหน ความสำเร็จอาจไม่มาตามนั้น” เพราะชีวิตมันไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ ความพยายามเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอให้ประสบความสำเร็จ

การใช้ชั้นเชิงทางความคิด และจังหวะเวลาที่ถูกต้อง ในการสร้างความพยายาม ก็มีส่วนสำคัญให้เกิดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ไม่แพ้กัน

จากจุดเริ่มต้นจากพ่อ แซรอยใช้มากกว่า “ความพยายาม” ในการเดินหาเป้าหมายที่เกินตัว
(Source : 미주 중앙일보)

ดังนั้น หากพยายามไปแล้วสูญเปล่า ก็อย่าพึ่งท้อถอย เพราะการล้มและผิดหวัง อาจเปิดตาเราให้สว่าง และหาหนทางกลับไปสู้ใหม่ ด้วยความพยายามที่ “ถูกทิศทาง” มากกว่าเดิม

[เก่งเป็นทีม แกร่งเป็นกลุ่ม]

สิ่งที่ให้แง่คิดชัดเจนอีกอย่างคือเรื่องพลังของทีม เพราะมันคงยากที่จะประสบความสำเร็จแค่คนเดียว เพราะถึงเราจะเก่งกล้าแค่ไหน เราก็คงไม่เด่นไปซะทุกอย่าง ทีมเวิร์คจะช่วยอุดรอยรั่ว และทำให้ความบาลานซ์ในการเดินหน้าอย่างมั่นคงขึ้น

การรวมตัวของคนบกพร่องหลายคน จนเป็นทีมที่แข็งแรงทีมเดียว มีคุณค่าเสมอ
(Source : 더피알)

แต่ก็อย่างที่บอกไป ว่าทุกคนไม่ได้เด่นไปซะทุกอย่าง เนื้อหาของซีรีส์ก็เลยดันเรื่องการช่วยกัน “เติมเต็ม” ซึ่งกันและกัน แทนที่จะทำให้ทุกคนกลายเป็นคนที่เพอร์เฟ็คไปซะหมด มันก็เลยส่งผลให้เนื้อหามีมิติ และทำให้คนรักตัวละครอื่นๆ เพิ่มเติมไปด้วย

นอกเหนือจากเรื่องของ “คน” ที่พูดถึงการลุยแบบทีมเวิร์ค ซีรีส์ยังผสมผสานเรื่องของกลยุทธ์ธุรกิจเข้าไปในบางส่วน ว่าองค์ประกอบแค่อย่างเดียวไม่ได้ผลักดันให้ประสบความสำเร็จ เท่ากับช่วยให้สิ่งแวดล้อมรอบข้างเอื้อไปด้วย ซึ่งจุดนี้แหละ ทำให้หลายคนมองว่าซีรีส์เรื่องนี้ มีชั้นเชิงที่แตกต่างจากเรื่องอื่น

“มาฮยอนอี” (ซ้าย) และ “ชเวซึงกวอน” 2 ตัวละครรอง ที่คนดูหลงรักได้ไม่ยาก
(Source : Daum)

[หาถ่าน(ให้ถูกก้อน) เติมไฟในตัวคุณ]

แง่คิดสุดท้ายที่ผมชอบมากที่สุดข้อนึง คือเรื่องของการสร้างแรงขับในตัวเองของตัวละครต่างๆ ไม่ใช่แค่ “พัคแซรอย” ที่เป็นตัวเดินเรื่องหลัก แต่ยังเป็นตัวละครอื่นๆ อย่างท่านประธาน “ชางแดฮี” หรือตัวละครรอง ซึ่งทุกตัวมีความสมเหตุสมผลที่เพียงพอ ต่อการกระทำในเวลาต่อไป

ท่านประธาน “ชางแดฮี” ตัวละครสำคัญ ที่ทั้งผลักดัน และได้รับการผลักดันจากแซรอย
(Source : Insight.co.kr)

นอกเหนือจากการบอกให้ผู้ชมรู้ว่าชีวิตเราต้องการแรงผลัก เหมือนเป็น “ถ่านเชื้อเพลิง” เติมให้เกิดความท้าทายในการกำหนดเป้าหมายแล้ว การสร้างกรอบและความคิดที่ไม่ถูกต้อง ย่อมส่งผลต่อการผลักดันเราไปในทิศทางที่ส่งผลเสียในอนาคตได้ด้วยเหมือนกัน

การผูกแง่คิดข้อนึง ที่ต้องการความถูกต้องในข้ออื่นๆ ที่กล่าวมา นอกจากทำให้หนังดูมีมิติน่าติดตาม ยังสร้างความรู้สึก “แปลกใหม่” ระหว่างดู แบบที่เราไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

ระดับความน่าดู : 9/10

16 EP ที่เข้มข้น ดูเพลิน และตัวละครทำดี มีเหรอจะไม่แนะนำ
(Source : WallpaperAccess)

ของเค้าดีจริงๆ แหละ เพราะโดยองค์ประกอบหลัก ถือว่า “Itaewon Class” ครบครันในการเป็นซีรีส์ดีๆ ที่ควรค่าแก่การชม และบอกต่อ

จุดเสียคะแนนอาจจะมีบ้างในช่วงท้ายๆ ที่เนื้อหามีความ “แผ่วปลาย” และหาทางจบแบบไม่ค่อยสมกับที่ปูเรื่องราวมาอย่างเท่ แต่ถ้าลองชั่งน้ำหนักกับความดีที่ทำมาได้เนี้ยบตั้งแต่ต้น มันไม่น่าเกลียดเลยที่จะมอบคะแนนระดับเกือบเต็มให้

เพราะตลอด 16 EP ที่จั่วหัวมาว่า “ทวงแค้น” แทบไม่มีความรุนแรงต่อยตีที่พร่ำเพรื่อ แต่มันกลับทำให้ความเข้มข้นในการชม หล่อเลี้ยงให้เราสามารถดูได้แบบไม่หลับไม่นอน ไม่เชื่อลองดู!

Picture : WallpaperAccess, JTBC, MEAWW, Insight.co.kr, Daum, Soompi, 천지일보, 더피알, 미주 중앙일보, Forbes, Twitter, 데일리시큐

Trailer : YouTube (Netflix Thailand)

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save