“ลิเบอโร่” ตำแหน่งจอมทัพแห่งลูกหนัง ที่สูญหายจากโมเดิร์น ฟุตบอล - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
“ลิเบอโร่” ตำแหน่งจอมทัพแห่งลูกหนัง ที่สูญหายจากโมเดิร์น ฟุตบอล

เชื่อว่าคอบอลที่ติดตามดูบอลมานานพอสมควร คงจะเคยได้ยินชื่อตำแหน่งที่เรียกว่า “ลิเบอโร่ (Libero)” อยู่บ้าง แต่คงไม่ถึงกับรู้จักมันจริงจังนัก ยิ่งกับแฟนบอลยุคหลัง ซึ่งตำแหน่งนี้ สามารถใช้คำว่า “สูญหาย” ได้เกือบเต็มปากเต็มคำ

ในยุคก่อน 90 ตำแหน่ง “ลิเบอโร่” ถือเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับแฟนบอล
(Source : FC Bayern)

วันนี้ เราเลยขออาสาพาคอบอลไปรู้จักกับตำแหน่ง “ลิเบอโร่” กันดูหน่อย ว่ามันมีที่มายังไง มีหน้าที่อะไร และทำไมกัน จึงค่อยๆ ลดความนิยม จนเลือนหายไปจากโมเดิร์น ฟุตบอล จนแทบไม่เหลือหลออยู่เลย

ลิเบอโร่ คืออะไร?

ในปัจจุบัน เราจะคุ้นเคยตำแหน่ง “ลิเบอโร่” จากกีฬาวอลเลย์บอล ซึ่งถูกแปลเป็นไทยว่า “ตัวรับอิสระ” เน้นการรับบอลแรก หรือบอลที่ถูกบุกมา โดยไม่มีตำแหน่งการยืนตายตัว เคลื่อนที่ได้อิสระ

ตำแหน่งลิเบอโร่ที่เราคุ้นหูในปัจจุบัน จะไปโผล่ในกีฬาวอลเลย์บอล
(Source : LiveAbout)

กับกีฬาฟุตบอล ความหมายว่าเป็น “ตัวรับอิสระ” ถือว่ามีความใกล้เคียง เพราะผู้เล่นในตำแหน่งนี้ จะมีหน้าที่หลักในแนวรับ โดยมักจะยืนอยู่เป็นตัวสุดท้าย หรือหนึ่งในแนวรับ เพียงแต่มีรายละเอียดซับซ้อนกว่า ตามวิธี และกติกาการเล่นที่ฟุตบอล ย่อมมีรายละเอียดต่างจากวอลเล่ย์บอล

มิติที่นอกเหนือจากเกมรับ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีของตำแหน่งลิเบอโร่ คือการเป็นตัวเริ่มในการเซ็ตเกม รวมถึงมีส่วนร่วมกับเกมแดนกลาง หรือเกมรุกได้ด้วย ถือเป็นการเคลื่อนที่อิสระ ทั้งในแนวรับเพื่อเก็บกวาดบอลในแผงหลัง และในแนวรุก ที่เหมือนเป็นตัวฟรีรับส่งบอลได้อีกตัวนึง เรียกว่ามีความสำคัญทั้งรับ และรุก จนหลายคนขนานนามว่านี่คือ “จอมทัพ” ของทีม

“ซูเปอร์แมน” โลธาร์ มัทเธอุส ผู้ขึ้นลงทั้งรับ-รุกไม่มีหมด ในลิเบอโร่ยุคปลาย
(Source : Hall of Fame)

อย่างไรก็ดี ตำแหน่ง “ลิเบอโร่” มีความซับซ้อน เกินกว่าแค่อยู่ดีๆ ผุดขึ้นมาในโลกฟุตบอล มันมีการหล่อหลอมจากแนวคิดอื่น และการทำหน้าที่แบบอื่นมาก่อน ซึ่งเราจะว่ากันต่อในส่วนถัดไป

ก่อนเป็นลิเบอโร่ : จาก “โบลท์” สู่ “สวีปเปอร์”

ถึงจะไม่ได้มีการฟันธงแน่ชัด ว่าผู้คิดค้นระบบการเล่นโดยลิเบอโร่ ได้แรงบันดาลใจมาจากระบบไหนในอดีตเป็นหลัก แต่ก็มีแบบแผนอยู่ 2 แบบหลักๆ ที่เชื่อว่าส่งผลอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง

แนวคิดแรกเกิดตั้งยุคต้น 1930 นู่นเลย กับตำแหน่งที่ชื่อว่า “โบลท์ (Bolt)” หรือ “แวร์รู (Verrou)” ที่ถูกใช้โดยกุนซือ “คาร์ล แรพพั่น” ชาวสวิส ซึ่งปรับเปลี่ยนระบบในสมัยนั้น ที่เน้นเล่นเกมรุกระห่ำอย่าง 2-3-5 หรือ 3-2-5 (ที่ถูกเรียกเล่นๆ ว่า “WM” ตามการยืนเหมือนเป็นตัวอักษร W ในแดนหน้า และ M ในแดนกลาง-หลัง) ให้เกิดความสมดุลมากขึ้น

“คาร์ล แรพพั่น” กุนซือชาวสวิส ผู้เริ่มต้นตำแหน่งที่ต่อมาเรียก “สวีปเปอร์”
(Source : RTS)

รูปแบบที่แรพพั่นคิดขึ้น ทำให้ทีมไม่ได้เล่นเกมรุกเพียงอย่างเดียว แต่หันกลับมาทำให้เกมรับเหนียวแน่น ด้วยการใช้รูปแบบคุมโซน ผสมกับการประกบตัวต่อตัว เกิดตำแหน่งที่เรียกว่าโบลต์ ซึ่งมีอิสระในการเก็บตกในแนวรับ ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “สวีปเปอร์”

การเล่นของแรพพั่นได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่บวก ว่าสร้างความสมดุล แต่ก็มีหลายเสียงบ่นว่าน่าเบื่อ ถึงเขาจะพิสูจน์ตัวเองพอสมควร ด้วยการพาทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ล้มเยอรมัน ในฟุตบอลโลก 1938 แต่ก็ไม่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างมากนัก

แผนทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ของแรพพั่น ที่มีตัวห้อยสุดท้ายคอยเก็บตกแบบคุมโซน
(Source : World Football Analytics)

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อม การใช้ผู้เล่นในตำแหน่ง “โบลท์” ได้มีอิทธิพลต่อกุนซือหลายราย รวมถึงอิตาลีในยุค 60 จนเกิดการจัดวางแนวรับ และกลยุทธ์ที่ชื่อคุ้นหูว่า “คาเตนัชโช่”

คาเตนัชโช่ หรือที่เราเรียกจำกัดความว่า “ตีหัวเข้าบ้าน” ถูกใช้โดยอินเตอร์ มิลาน ก่อนเป็นที่แรก โดยมี “อาร์มันโด ปิชชี่” รับบทกองหลังตัวสุดท้าย ในแผงหลัง 3 ตัว คอยปัดกวาดเกมรุกของฝ่ายตรงข้ามอย่างอิสระ ไม่มีการฟิกซ์ตำแหน่งยืนตายตัว

“อาร์มันโด ปิชชี่” สวีปเปอร์ที่เล่นได้อิสระ และเป็นต้นกำเนิดกลยุทธ์ “คาเตนัชโช่”
(Source : Inter.it)

ปิชชี่ ทำให้แนวทางคาเตนัชโช่ประสบความสำเร็จ พา “งูใหญ่” ไปถึงแชมป์ยุโรป จนได้รับความนิยม และถูกหยิบเอาไปใช้กับหลายทีมในอิตาลี และเริ่มมีชาติอื่นศึกษา เอาปรับไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้น

ที่มีการพูดถึงชัดเจนที่สุด คืออิทธิพลต่อทีมชาติอังกฤษของ “อัลฟ์ แรมซีย์” ที่ให้อิสระกับ “บ็อบบี มัวร์” ได้เล่นในแบบที่กองหลังในยุคนั้นไม่เคยมีใครเล่นมาก่อน คือนอกจากทำหน้าที่แข็งขันในเกมรับ ทั้งสกัด และเก็บกวาดแล้ว ยังมีอิสระในการเซ็ตบอล และพาบอลขึ้นไปถึงแดนกลาง ด้วยทักษะที่เปี่ยมล้น และพละกำลังที่ไม่มีหมด

แรมซีย์เคยเอ่ยว่า หากไม่มี “บ็อบบี้ มัวร์” อังกฤษไม่มีทางไปถึงแชมป์โลกปี 1966
(Source : FIFA)

ทีมชาติอังกฤษชุดนั้น ไปไกลจนถึงการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก หนแรกและหนเดียวในปี 1966 ซึ่งแม้รูปแบบการเล่นจะเป็นแผงหลัง 4 ตัว แต่การทำหน้าที่ของมัวร์ เปรียบเสมือนการรวมอิสระทั้งรับ และรุก เกิดเป็นมิติใหม่ต่อฟุตบอลยุคถัดไป ที่เราเรียกตำแหน่งนี้ว่า “ลิเบอโร่”

ยุคเรืองรองแห่งลิเบอโร่

ถึงคำว่า “ลิเบอโร่” ซึ่งเป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า “Free” หรือ “อิสระ” จะถูกเรียกกันในแวดวงฟุตบอลแดนมักกะโรนีภายหลัง แต่จุดเริ่มต้นในรูปแบบการเล่นที่ชัดแจ้งของตำแหน่งนี้ น่าจะเกิดจากชายที่ชื่อ “ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์”

“ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์” จักรพรรดิลูกหนัง ผู้เป็นสุดยอดแห่ง “ลิเบอโร่” ตลอดกาล
(Source : Bola na Rede)

หลังพ่ายแพ้อย่างเจ็บปวดต่อ “สิงโตคำราม” ในรอบชิงฟุตบอลโลก 1966 คาดว่ามีหลายชาติในยุโรป รวมทั้งเยอรมัน ได้เห็นแนวทางการเล่นของมัวร์ และเริ่มอยากหยิบเอามาใช้กับทีมของตัวเองบ้าง

ทีมที่ใช้ประโยชน์จากแนวทางนี้ ได้ชัดเจนที่สุดคือ “เสือใต้” บาเยิร์น มิวนิค ซึ่งปรับเอาเบ็คเค่นบาวเออร์ ถอยจากแดนกลางมาเล่นตำแหน่งสวีปเปอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นการเก็บกวาดแนวรับด้วยความแข็งแกร่ง และเซ้นส์บอลที่ไม่เป็นสองรองใคร เบ็คเค่นบาวเออร์ยังสามารถพาบอลขึ้นไปสร้างเกมรุกในตัวอีกด้วย

“ไกเซอร์ฟรานซ์” (ซ้าย) กับคู่หู “ฮันส์-จอร์จ ชวาเซนเบ็ค”
(Source : Força Barca)

ความโดดเด่นในการเล่นตำแหน่งนี้ ถูกเรียกว่าเป็น “Attacking Sweeper” หรือสวีปเปอร์ตัวรุก ซึ่งต้องใช้ความสามารถ และความเข้าใจเกมสูง แต่ก็ไม่เหนือบ่ากว่าแรงของเบ็คเค่นบาวเออร์ ที่รับหน้าที่ได้ยอดเยี่ยม แถมแนวรับที่เล่นด้วยกันอย่าง “ฮันส์-จอร์จ ชวาเซนเบ็ค” ยังปรับตัวคอยสอดประสานเข้าขารู้ใจ ทั้งในสโมสรบาเยิร์น และทีมชาติเยอรมัน ความสำเร็จจึงตามมาเพียบ

ความยิ่งใหญ่ของเบ็คเค่นบาวเออร์ ที่พาบาเยิร์นคว้าแชมป์บุนเดสลีก้า 4 สมัย แชมป์ยุโรป 3 สมัย และพาทีมชาติเยอรมันเป็นแชมป์ยูโร 72 และแชมป์ฟุตบอลโลก 1974 ทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็น “ไกเซอร์” หรือ “จักรพรรดิลูกหนัง” ในตอนนั้น กลบชื่อเสียงผู้เล่นตำแหน่งลิเบอโร่คนอื่นไปซะหมด

“เกตาโน่ ชิเรียอา” ตำนานแนวรับอิตาลี ผู้รับบทลิเบอโร่ได้โดดเด่นใกล้เคียนเบ็คเค่นบาวเออร์
(Source : Avvenire)

หนึ่งในนั้นคือ “เกตาโน่ ชิเรียอา” สุดยอดกองหลังที่ดีที่สุดคนนึงในประวัติศาสตร์ลูกหนังแดนมักกะโรนี เพราะเขาเองถือเป็นผู้เล่นในตำแหน่งสวีปเปอร์ตัวรุก ที่มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับไกเซอร์ฟรานซ์ ได้มากที่สุด แถมยังประสบความสำเร็จคว้าทั้งแชมป์ยุโรปกับยูเวนตุส และแชมป์ฟุตบอลโลกกับอิตาลี เกียรติยศก็ไม่ยิ่งหย่อน

สไตล์การเล่นของชิเรียอา ถือเป็นความแปลกใหม่ของฟุตบอลอิตาลี ที่ก่อนนั้นสวีปเปอร์จะทำหน้าที่อิสระเฉพาะในแนวรับ การขยับขึ้นมามีอิสระในการปั้นเกม และเล่นเกมรุก ทำให้ตำแหน่งของเขาถูกขนานนามว่า “ลิเบอโร่” หรือ “ตัวอิสระ” ตามความหมายที่เราได้กล่าวไปข้างต้น

การลดความสำคัญของลิเบอโร่

ตลอดช่วงยุค 70 ต่อมาจนถึง 80 ตำแหน่ง ตำแหน่งลิเบอโร่ถือเป็นจอมทัพสำคัญตลอดมา ถึงจะมีคนเล่นได้เนียนตาเพียงไม่กี่คน แต่ทีมไหนที่ใช้มันได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ย่อมหมายถึงผลลัพธ์ที่ดีทั้งรุก-รับ แบบยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว

อย่างไรก็ตาม เกมฟุตบอลต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แผนการเล่นแบบ 5-3-2 ที่มีเยอรมันเป็นผู้นำเทรนด์ ก็เริ่มถูกตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะทีมอื่นที่หาคนไว้ใจเล่นลิเบอโร่แบบโดดเด่นไม่ได้ แผนการเล่นอื่นๆ เช่น 4-4-2 จึงเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ

รูปแบบ 4-4-2 ของเอซี มิลาน ในยุคเกรียงไกร ที่ไม่ได้ใช้งานลิเบอโร่
(Source : Goal.com)

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในยุค 80 คือเอซี มิลาน ของ “อาร์ริโก้ ซาคคี่” ที่ใช้ระบบ 4-4-2 สร้างรูปแบบการเล่นที่สมดุลทั้งเกมรับ และเกมรุก โดยไม่จำเป็นต้องใช้บริการลิเบอโร่เป็นตัวเป็นตน

เซ็นเตอร์ฮาล์ฟระดับมาสเตอร์อย่าง “ฟรังโก้ บาเรซี่” แจ้งเกิดขึ้นมา ด้วยรูปแบบการเล่นที่ยืดหยุ่น นอกจากเหนียวแน่น ยังเล่นบอลด้วยเท้าได้ดี สามารถเซ็ตเกมเองได้ และเมื่อจำเป็นต้องดันขึ้นไป นักเตะคนอื่นของ “ปีศาจแดงดำ” ก็หมุนวนมาทดแทนตำแหน่งได้ไม่ขาดตกบกพร่อง

“อาร์ริโก้ ซาคคี่” (ที่ 2 จากซ้าย) กับนักเตะสำคัญอย่างบาเรซี่ (ที่ 3 จากซ้าย) และ 3 ขุนพลดัทช์
(Source : The Football Philosophy)

นอกจากนั้นกฎการล้ำหน้าที่มีการปรับเปลี่ยนให้เอื้อประโยชน์ต่อเกมรุกมากขึ้น อย่างการยกล้ำเฉพาะนักเตะที่ขยับไปเล่นบอล หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับคนเล่นลิเบอโร่ หรือสวีปเปอร์ เพราะการเช็คล้ำหน้าจากตัวสุดท้าย หรือการยืนคุมโซนไม่ประกบตัวเป๊ะๆ ทำได้ยากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่ว่า ทำให้หลายชาติหันไปปรับระบบการเล่นที่พึ่งพาผู้เล่นตำแหน่งอื่น มากกว่าจะเป็นลิเบอโร่เพียงตำแหน่งเดียว ถึงจะยังมีทีมในเมืองเบียร์ และ “อินทรีเหล็ก” ทีมชาติเยอรมัน ยังยึดมั่นในการใช้ลิเบอโร่ และกองหลัง 3 ตัวอยู่ก็ตาม

ยุค 90 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนต่อการสูญหายของตำแหน่งลิเบอโร่มากที่สุด เพราะนอกจากจะมีระบบการเล่นใหม่ๆ หลากหลายขึ้นมา อย่าง 4-4-2 ก็มีรูปแบบการยืนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไดมอนด์ หรือการมีมิดฟิลด์ที่ถ่างออกไปจู่โจมจากด้านข้าง เกิดตำแหน่งหลากหลาย อย่างเพลเมกเกอร์, หน้าตัวต่ำ หรือมิดฟิลด์ตัวโฮลด์บอล

“อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน” อีกรายที่มีรูปแบบ 4-4-2 เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการจู่โจมจากกราบด้านข้าง
(Source : Manchester Evening News)

หรือกับต้นฉบับอย่างเยอรมันเอง ก็เริ่มหันมาใช้รูปแบบแผนที่หลากหลาย เพราะการเสาะหาลิเบอโร่คุณภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมี “โลธาร์ มัทเธอุส” หรือ “มัธธีอัส ซามเมอร์” แต่ด้วยรูปแบบการเล่นของฟุตบอลที่เปลี่ยนไป ทำให้ลิเบอโร่ ถูกทดแทนด้วยการเล่นร่วมกันของตำแหน่งอื่น

มัทเธอุส และซามเมอร์ 2 นักเตะในช่วงหลัง ที่เล่นตำแหน่งลิเบอโร่ได้มีประสิทธิภาพ
(Source : Twitter)

และถึง “อินทรีเหล็ก” จะประสบความสำเร็จ ด้วยการเถลิงแชมป์ยูโร 96 ด้วยรูปแบบการมีซามเมอร์เล่นลิเบอโร่ แต่กับฟุตบอลโลก 98 และยูโร 2000 พวกเขากลับล้มเหลว และเริ่มพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนระบบที่ให้ความสำคัญกับลิเบอโร่น้อยลง หลังจากนั้น

สิ่งทดแทนลิเบอโร่

ส่วนสำคัญที่เข้ามามีบทบาททดแทนการเล่นในตำแหน่งลิเบอโร่ หนีไม่พ้นรูปแบบการเล่นในปัจจุบัน ที่มีความแตกต่างจากยุค 60-90 ค่อนข้างชัดเจน

รูปแบบการเล่นที่ใช้การเพรสซิ่งชิงความได้เปรียบในแดนกลาง ถือว่าแตกต่างจากสมัยก่อนมาก
(Source : Demivolee)

เพราะรูปแบบการเล่นของบอลสมัยใหม่ มีความรวดเร็ว ดุดัน และเน้นใช้การบีบพื้นที่กันอย่างหนัก โดยเฉพาะในแดนกลาง จึงทำให้แผนการเล่นที่ไม่สอดคล้องรับมือกับสถานการณ์ ถูกลดทอนความสำคัญไป เช่น การมีลิเบอโร่ หรือการเล่นหน้าคู่

วัตถุประสงค์สำคัญคือการเพิ่มความได้เปรียบในแดนกลาง ซึ่งมีผลต่อการช่วงชิงบอล และการครองเกมบุก จึงทำให้นักเตะต้องมีหน้าที่หลากหลายมากขึ้น เช่น กองหลังไม่สามารถรอห้อยเก็บตกได้เหมือนสมัยมีลิเบอโร่ หรือการค้ำหน้าไว้ 2 คน เท่ากับเสียกำลังพลไปเปล่าๆ

“เจอร์เก้น คลอปป์” หนึ่งในกุนซือที่ใช้การเพรสซิ่ง ที่โมเดิร์น ฟุตบอล นิยม
(Source : GiveMeSport)

จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นการหมุนเวียนตำแหน่ง ผลัดกันขึ้น-ลงของนักเตะในสมัยใหม่ กันอย่างรวดเร็ว และบ้าคลั่งกว่าสมัยก่อน การคงสมดุลของทีม จึงมีความสำคัญกว่าการมีจอมทัพหลังยันหน้า แบบที่ลิเบอโร่เคยมอบเนื้องานไว้

ผลิตผลจากลิเบอโร่ในโมเดิร์น ฟุตบอล

ถึงเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม ตำแหน่ง “ลิเบอโร่” จะค่อยๆ สูญหายไปจากโมเดิร์น ฟุตบอล อย่างที่ว่าไป แต่ก็อย่าลืมว่า รูปแบบการพัฒนาหน้าที่ของลิเบอโร่ ยังคงเหลือร่องรอยให้เราเห็นมากมายในปัจจุบัน

อย่างในแนวรับของฟุตบอลยุคใหม่ เราจะเห็นเซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่สามารถครองบอลได้ดี และออกบอลด้วยเท้าแม่นยำ จนสามารถขึ้นมาทดแทนการเซ็ตเกมของทีมได้สบาย เก่าหน่อยก็มี “ลูซิโอ”​, “ริโอ เฟอร์ดินานด์” หรือ “เฟร์นานโด เอียร์โร่” ที่เป็นหัวใจหลักในการขึ้นเกมจากแดนหลัง

“เป๊บ กวาดิโอล่า” ผู้คิดค้นการเซ็ตบอลจากหลัง ซึ่งมี “เคราด์ ปิเก้” เป็นศิษย์เอก
(Source : GiveMeSport)

หรือในยุคปัจจุบัน เราเห็นการเล่นเซ็ตเกมอันยอดเยี่ยมของ “เคราด์ ปิเก้”, “เซร์คิโอ รามอส” หรือ “เวอร์จิล ฟาน ไดค์” ที่ขยับตัวเองดันสูง และพร้อมจะพาบอลขึ้นมาในแดนกลาง หากสบโอกาส

การทำหน้าที่ดันแผงรับขึ้นสูง และทุกคนมีส่วนกับการตั้งเกมของทีม ยังทำให้ผู้เล่นตำแหน่งอื่นเปลี่ยนหน้าที่ไป เช่น เราจะเห็นมิดฟิลด์ตัวรับ ถอยลงทดแทนเซ็นเตอร์ฮาล์ฟได้ เหมือนเป็นกองหลังตัวที่ 3 หรือการดันขึ้นมารับบท “Sweeper Goalkeeper” ของผู้รักษาประตู อย่างที่เห็น “มานูเอล นอยเยอร์”, “เอแดร์สัน” หรือ “อลิสซง” ทำ

“Sweeper Goalkeeper” สไตล์ที่มาจากรากฐานการห้อยเก็บกวาดแนวรับเป็นตัวสุดท้าย
(Source : Between the Sticks)

ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดเจน ว่ารูปแบบการเล่นของโมเดิร์น ฟุตบอล หรือฟุตบอลสมัยใหม่ มีการพัฒนามาจากแนวคิดของลิเบอโร่อย่างเข้มข้น เพราะลิเบอโร่เอง ถูกสร้างขึ้นมาให้ทีมสามารถครอบครองบอลได้เบ็ดเสร็จทั้งรับและรุก ซึ่งเป็นปรัชญาสำคัญที่แทบทุกทีมยึดมั่นในปัจจุบัน

ความล้าสมัยของ “ลิเบอโร่” จึงยังคงทิ้งแก่นอันทันสมัยไว้ในตัวของมัน และไม่แน่เหมือนกันในอนาคต หากเกมฟุตบอลผันเปลี่ยนแนวทางไปอีกครั้ง ตำแหน่ง “จอมทัพ” นี้ อาจจะกลับมายืนสง่าบนสนามโมเดิร์น ฟุตบอล อีกคำรบก็ได้ ใครจะไปรู้

Picture : Esquire, Natter Football, FC Bayern, LiveAbout, Hall of Fame, RTS, World Football Analytics, Inter.it, FIFA, Bola na Rede, Força Barca, Avvenire, Goal., The Football Philosophy, Manchester Evening News, Twitter, Demivolee, GiveMeSport, Between the Sticks

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save