‘ฉีดอวัยวะเพศให้ฝ่อ’ วีธีแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพื่อลงโทษในคดี ‘ข่มขืน’ เหมาะสมหรือไม่กับสังคมไทย? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
‘ฉีดอวัยวะเพศให้ฝ่อ’ วีธีแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพื่อลงโทษในคดี ‘ข่มขืน’ เหมาะสมหรือไม่กับสังคมไทย?

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม กรรมาธิการวิสามัญเร่งผลักดันแก้ปัญหาข่มขืนได้ยื่นหนังสือต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อเรียกร้องให้ลงโทษผู้กระทำผิดทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศหรือ “ข่มขืน” โดยเสนอให้มีการการลงโทษ ผู้กระทำผิดในแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เช่น การฉีดยาทำให้อวัยวะเพศฝ่อ ไม่ตื่นตัว เพื่อลดความต้องการทางเพศ การรับประทานยาและฮอร์โมน ที่มีผลทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น 

            ข้อเสนอให้ลงโทษแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” นี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข้อถกเถียงขึ้นเป็นวงกว้างถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ วันนี้เราจึงขอเสนอเรื่องราวของกฎหมายหรือการลงโทษที่เรียกว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ให้เข้าใจความเป็นมามากยิ่งขึ้น  

“ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ในกฎหมายเอเชียโบราณ

            หนึ่งในกฎหมายลักษณะ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะบรรจุอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยมัธยม คือ “ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี” (Code of Hammurabi) ที่ถูกตราขึ้นในสมัยกษัตริย์ฮัมมูราบีแห่งอาณาจักรบาบิโลน (อิรัก-อิหร่านในปัจจุบัน) เมื่อเกือบ 4,000 ปีก่อน ตัวบทกฎหมายเน้นการลงโทษผู้กระทำผิดแบบสนองตอบ เช่น ใครทำร้ายร่างกายจนผู้อื่นตาบอด ผู้นั้นจะต้องถูกทำลายดวงตาเช่นเดียวกัน หากอาคารบ้านเรือนพังถล่มทับคนตาย วิศวกรที่รับผิดชอบจะต้องตายตกตามกัน หรือหากเจ้าหนี้ทำร้ายบุตรของลูกหนี้ที่มาอยู่กับเจ้าหนี้เพื่อขัดหนี้จนถึงแก่ความตาย บุตรของเจ้าหนี้จะต้องตายด้วยเช่นกัน ฯลฯ

โดยพระเจ้าฮัมมูราบีโปรดให้สลักตัวบทกฎหมายลงบนหลักศิลาขนาดใหญ่เพื่อให้ราษฎรได้อ่านและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทำให้กฎหมายฮัมมูราบีกลายเป็นกฎหมายของอาณาจักรบาบิโลนเกือบ 400 ปี ก่อนที่อาณาจักรบาบิโลนจะล่มสลายเพราะการรุกรานของชนเผ่าภายนอก

ภาพจารึกประมวลกฎหมายฮัมมูราบี

            นอกจากนี้ แหล่งอารยธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเอเชียอย่าง “จีน” ก็ปรากฏหลักฐานการบังคับใช้กฎหมายแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่นเดียวกัน ในช่วงปลายราชวงศ์ฉินเมื่อประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,200 ปีก่อน ภายหลังจาก ฉินสือห่วงตี้ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “จิ๋นซีฮ่องเต้” สิ้นพระชนม์ แผ่นจีนภายใต้การปกครองอันโหดร้ายทารุณของราชวงศ์ฉินก็เข้าสู่ยุคแห่งความแตกแยก เกิดกลุ่มกบฏชาวนาขึ้นทั่วประเทศ โดยกลุ่มที่มีบทบาทมากที่สุด คือ กลุ่มของ “หลิวปัง” หรือที่นักอ่านสามก๊กรู้จักกันในชื่อ “เล่าปัง” ที่ได้ยกทัพเข้ายึดครองนครเสียนหยาง ราชธานีของราชวงศ์ฉินได้สำเร็จ แต่ทว่าเมื่อหลิวปังเข้าเมืองก็พบว่าราษฎรในเมืองหลวงต่างหวาดกลัวกองทัพกบฏของหลิวปังจนไม่เป็นอันกินอันนอน แถมบรรดาทหารของหลิวปังบางคนยังเที่ยวปล้นสะดมชาวเมืองจนเกิดการจลาจลขึ้น หลิวปังจึงต้องรีบหาทางให้เมืองเสียนหยางกลับเข้าสู่ภาวะสงบสุขโดยการบัญญัติกฎหมาย 3 ข้อ คือ “ฆ่าคนต้องชดใช้ชีวิต ทำร้ายร่างกายผู้อื่นต้องถูกลงโทษ โจรกรรมทรัพย์สินผู้อื่นต้องชดใช้ความเสียดาย” ก่อนจะให้ทหารติดประกาศไปทั่วเมืองหลวง ไม่ช้าสถานการณ์ในเมืองก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จนหลิวปังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของราษฎร จนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้หลิวปังสามารถสถาปนาราชวงศ์ฮั่นซึ่งปกครองแผ่นดินจีนต่อมากว่า 400 ปี

ภาพวาดจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ หลิวปัง

            จะเห็นได้ว่า กฎหมายในรัฐเอเชียโบราณทั้งแถบตะวันออกกลางและจีน ซึ่งถือเป็นอู่อารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกต่างก็มีกฎหมายในลักษณะ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” คล้าย ๆ กัน

“ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ในกฎหมายเอเชียปัจจุบัน

            ถ้าพูดถึงกฎหมายแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันในปัจจุบันแล้ว กฎหมายแรก ๆ ที่ต้องพูดถึงคือ “กฎหมายอิสลาม” หรือ “ชะรีอะฮ์” (Sharia Law) ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในกฎหมายที่มีการลงโทษรุนแรงที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด เช่น อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย บรูไน ฯลฯ โดยการลงโทษหลายกรณีที่เน้นการสนองตอบผู้กระทำผิดอย่างสาสม เช่น  ฆ่าคนตายต้องชดใช้ชีวิต โจรกรรมทรัพย์สินต้องถูกตัดมือทิ้ง (ขึ้นกับมูลค่าของทรัพย์สิน) หรือข่มขืนต้องถูกประหาร เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีของอิหร่านที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด สถิติในปี 2018 ปรากฏว่า 10-15% ของนักโทษที่ถูกประหารชีวิต คือ ผู้ก่อคดีข่มขืน แสดงให้เห็นว่ากฎหมายอิสลามของอิหร่านมีลักษณะการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันอย่างจริงจัง 

            นอกจากกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามแล้ว ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียหลายประเทศที่มีการลงโทษในลักษณตาต่อตาฟันต่อฟัน ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้ผ่านร่างกฎหมายการลงโทษอาชญากรคดีข่มขืน ด้วยการฉีดยาให้อัณฑะฝ่อในปี 2545 แต่กว่าจะได้ปฏิบัติจริงเป็นครั้งแรก ก็ล่วงเลยมาถึงปี 2555 โดยใช้กับนักโทษข่มขืนต่อเนื่องวัย 45 ปี ที่ก่อเหตุข่มขืนเหยื่อถึง 4 คน หรือกรณีของประเทศจีนที่การก่อคดีข่มขืนมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

            สำหรับในประเทศไทย การนำกฎหมายและบทลงโทษแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” มาใช้ในประเทศกลายเป็นข้อถกเถียงกันมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะในคดีอุฉกรรจ์อย่างคดีการล่วงละเมิดทางเพศหรือ “ข่มขืน” ที่หลายกรณี ผู้กระทำผิดและได้รับการลงโทษไปแล้ว เมื่อพ้นโทษออกมากลับทำผิดซ้ำ ไม่รู้จักเข็ดหลาบ จนหลายคนมองว่ากฎหมายมีบทลงโทษเบาเกินไปและเรียกร้องให้เพิ่มโทษที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ข่มขืน=ประหาร หรือกรณีล่าสุดอย่างการฉีดสารทำให้อวัยวะเพศฝ่อ

            อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะนำกฎหมายและการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันมาใช้กับผู้กระทำผิดในประเทศไทย ควรหมายเหตุตัวโต ๆ ไว้ก่อนว่า ทุกอย่างย่อมมีสองด้าน การใช้บทลงโทษที่รุนแรง แม้ด้านหนึ่งจะช่วยให้ผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษอย่างสาสมและยังช่วยให้ผู้คนบางส่วนเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิด แต่อีกด้านหนึ่ง คนจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อของความ “อยุติธรรม” ในกระบวนการทางกฎหมายจะต้องเผชิญกับการลงโทษที่รุนแรงโดยปราศจากความผิด ตัวอย่างมีเห็นหลายกรณีทั้งในและต่างประเทศ เช่น ในประเทศจีน เมื่อปี 2539 เด็กหนุ่มชาวมองโกลเลียชื่อ ฮักจิลตู วัย 18 จำเลยในคดีฆ่าข่มขืนถูกตัดสินให้รับโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันด้วยการ “ประหารชีวิต” จนกระทั่ง 10 ปีต่อมา ตำรวจสามารถจับคนร้ายตัวจริงได้ ทำให้ศาลสูงสุดประจำเขตปกครองตนเองมองโกเลียในต้องออกมายอมรับต่อสังคมว่า การพิจารณาคดีและประหารชีวิตนายฮักจิลตู มีข้อผิดพลาด และปราศจากพยานหลักฐานเพียงพอ แต่นั่นก็ไม่อาจทำให้ชีวิตของเด็กหนุ่มผู้บริสุทธิ์ฟื้นกลับคืนมาได้

นายฮักจิลตู หนุ่มอายุเพียง 18 ปี แพะรับบาปจากคดีฆ่าข่มขืน และ มารดาของเขาที่โศกเศร้าจากการจากไปของบุตรชายจากความอยุติธรรม

            คำถามก็คือ ประเทศไทยและสังคมไทยพร้อมที่จะรับผลที่ตามมาทั้งด้านดีและด้านร้ายของการใช้บทลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันที่รุนแรงแบบนี้หรือไม่ กระบวนการยุติธรรมของเราสมบูรณ์พร้อมมากพอที่จะตัดสินจบชีวิตคน ๆ โดยที่อีก 10 ปีต่อมาจะไม่ปรากฏว่าเขาเป็น “แพะ” เหมือนกรณีฮักจิลตูหรือไม่ ยังไม่รวมถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างที่ ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ประธานหลักสูตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความคิดเห็นว่า “ถ้าโทษอย่างเดียวของการข่มขืนคือ ประหาร ผลที่ตามมาก็คือ…เหยื่อทุกรายจะตาย เนื่องจากเกิดการฆ่าปิดปาก และอาจมีการอำพรางศพร่วมด้วย”  แน่นอนว่าคำถามเหล่านี้ย่อมไม่อาจตอบได้ด้วยคน ๆ เดียว แต่ทุกคนในสังคมจะต้องร่วมกันหาคำตอบ

อ้างอิง – Thairath

Little Gwa
สาวตัวเตี้ยช่างฝันที่ชอบดูหนังและอ่านหนังสือ เรียนจบเอกประวัติศาสตร์ มีงานอดิเรกเป็นงานประจำ ทำกับข้าวไม่เป็น นอกจาก "กิน" และ "นอน" ชีวิตนี้ก็ไม่เก่งอะไรเลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save