เกรแฮม พ็อตเตอร์ : ปรัชญาครองบอล, ลีกล่าง และคอนเสิร์ตร็อค! - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
เกรแฮม พ็อตเตอร์ : ปรัชญาครองบอล, ลีกล่าง และคอนเสิร์ตร็อค!

ถ้าพูดถึง “ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน” สโมสรจากแดนใต้ของเกาะอังกฤษ หลายคนคงไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไหร่ เพราะถ้าว่ากันจากผลงาน พวกเขามักจะวนเวียนเป็นทีมหนีตกชั้นซะมากกว่า

เช่นเดียวกับชื่อเสียงเรียงนามของกุนซือชื่อ “เกรแฮม พ็อตเตอร์” ชาวอังกฤษวัย 45 ปี หลายคนรู้ว่าเขาทำทีมไบรท์ตันมาปีนึง ชอบเล่นบอลบนพื้น แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดมากมาย เครดิตก็เลยไม่ค่อยจะได้กับเขา เพราะเล่นสวยให้ตาย แต่สุดท้ายต้องหนีตกชั้น ก็แค่นั้น

“เกรแฮม พ็อตเตอร์” กุนซือชาวอังกฤษ ที่คุมไบรท์ตันเป็นซีซันที่ 2
(Source : Sports Mole)

แต่กับซีซันนี้ หลังผ่านพ้นไป 3 นัด สไตล์และการเล่นของไบรท์ตันเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น เพราะแม้จะพ่ายให้กับทั้งเชลซี และแมนฯ ยู แต่ทั้ง 2 เกมเจ้านกนางนวลครองบอลได้เหนือกว่าในหลายช่วงหลายตอนของเกม จะติดก็ตรงความเด็ดขาดที่มีน้อยไป และความผิดพลาดที่มีบ่อยเกิน จึงทำให้ผลลัพธ์ทางแต้มยังไม่สวยงามนัก

เรื่องการครองบอลของไบรท์ตัน พอดูรูปแบบเกม และสิ่งที่นักเตะแต่ละคนเจตนาเล่น เห็นได้ชัดเจนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องฟลุ๊ค มันเกิดจากการเพาะบ่มแนวทางมานานแรมปี มันชัดเจนจนทำให้เราอยากทำความรู้จักกุนซือของพวกเขาซักหน่อย

แนวทางการเล่นของไบรท์ตัน เล่นเอาแมนฯ ยู แทบลากเลือด กว่าจะชนะนาทีสุดท้าย
(Source : Evening Standard)

อยากเข้าใจว่าทำไมเขาหลงใหลรูปแบบการเล่นครองบอล อยากเข้าใจว่าทำไมกุนซือโนเนม ที่พาทีมกระเสือกกระสนหนีตกชั้น กลับได้สัญญายาวจากไบรท์ตัน รับรองว่ามันมีสิ่งน่าสนใจมากมาย

พื้นเพพ็อตเตอร์

สมัยค้าแข้ง “เกรแฮม พ็อตเตอร์” เคยเป็นนักเตะในตำแหน่งแบ็คซ้าย ฝีเท้าถือว่าไม่เลวเลย เขาเติบโตจากการเป็นเด็กปั้นของเบอร์มิงแฮม ก่อนจะย้ายไปเล่นกับสโต๊ค ซึ่งการได้เล่นสม่ำเสมอ ทำให้เขาเคยก้าวขึ้นไปติดทีมชาติอังกฤษชุดยู-21 ด้วย ก่อนจะย้ายไปเล่นกับเซาธ์แธมป์ตัน แต่แจ้งเกิดไม่สำเร็จ

พ็อตเตอร์ในสีเสื้อ “สิงโตคำราม” จากการเคยติดชุดยู-21 หนนึง
(Source : BT Sport)
พ็อตเตอร์เคยย้ายไปร่วมทีม “นักบุญ” ในพรีเมียร์ลีก แต่แจ้งเกิดไม่สำเร็จ
(Source : The Coaches’ Voice)

ชีวิตค้าแข้งหลังจากนั้นไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เขาวนเวียนในลีกระดับล่าง ก่อนจะปิดฉากอาชีพค้าแข้งกับแม็คเคิลสฟิลด์ ทาวน์ ทีมในลีกทู ด้วยอายุแค่ราว 30 ปี

หลังแขวนสตัดท์ พ็อตเตอร์หันไปเอาดีกับการศึกษาเพิ่มเติม โดยเริ่มจากการเรียนปริญญาตรีด้านสังคมศาสตร์ ก่อนจะหันไปรับงานในส่วนพัฒนาทีมฟุตบอลในระดับมหาวิทยาลัย ต่อด้วยการรับบทผู้อำนวยการเทคนิคของทีมชาติหญิงกาน่า ในฟุตบอลโลกปี 2007

พ็อตเตอร์ เริ่มงานในระดับมหาวิทยาลัย โดยไม่ได้เป็นโค้ชในตอนแรกด้วยซ้ำ
(Source : Hull Daily Mail)

เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงในระดับนึง พ็อตเตอร์ก็เริ่มขยับมารับงานสตาฟฟ์โค้ชมากขึ้น กับทั้งทีมชุดมหาวิทยาลัยของอังกฤษ และทีมมหาวิทยาลัยในลีดส์ ก่อนจะเพิ่มเติมความรู้ด้วยการจบปริญญาโท ในศาสตร์ความฉลาดทางอารมณ์ และภาวะความเป็นผู้นำ

ตะลุยลีกล่างสวีเดน

หนทางการเป็นโค้ชเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง หากเป็นคนอื่น ก็คงเดินหน้าเก็บประสบการณ์ในอังกฤษต่อไป เพื่อหวังขึ้นไปเป็นโค้ชของทีมระดับลีกอาชีพในซักวัน

แต่พ็อตเตอร์กลับเลือกเส้นทางอีกแบบ เมื่อตัดสินใจตอบรับคำเชิญไปคุมทีม “ออสเตอซุนด์” ทีมในลีกระดับ 4 ของสวีเดน จากคำแนะนำของ “แกรม โจนส์” เพื่อนของเขา ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ช่วยของ “โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ” ที่สวอนซี เลยทำให้พ็อตเตอร์ข้ามขั้นมาเป็นกุนซือใหญ่ ตั้งแต่อายุแค่ 35 ปี

“แกรม โจนส์” เพื่อนที่มีส่วนสำคัญ ในการแนะนำโอกาสไปเริ่มงานในสวีเดน
(Source : WalesOnline)

การเดินทางข้ามประเทศไปอยู่ที่สวีเดน กับทีมที่ไม่มีใครรู้จัก ถือเป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงของพ็อตเตอร์ รวมถึงครอบครัว ที่ต้องย้ายที่อยู่ไปเริ่มต้นการผจญภัยครั้งใหม่ ที่แปลกประหลาด

พ็อตเตอร์เคยเล่าถึงเหตุการณ์ที่ภรรยาไปเนอสเซอรี่ท้องถิ่น แล้วเจอคนที่นั่นถามว่า “คุณมาทำอะไรที่นี่?” ภรรยาพ็อตเตอร์ตอบว่า “สามีฉันมาเป็นโค้ชทีมฟุตบอล” และเมื่ออีกฝั่งถามเธอต่อว่าทีมอะไร เพียงแค่ภรรยาเขาตอบว่า “ออสเตอซุนด์” อีกฝั่งก็บอกว่า “ถ้าฉันเป็นคุณ ฉันคงกลับบ้านไปดีกว่า”

การตัดสินใจไปเริ่มงานในต่างถิ่นที่ไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของพ็อตเตอร์
(Source : The Independent)

พ็อตเตอร์บอกว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นเร็วมาก และการตัดสินใจมันก็ดูไม่เข้าท่าเลยในตอนแรก แต่เขาและครอบครัวมองในภาพรวม แล้วรู้สึกว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ดี ทุกคนเลยพร้อมสู้ไปกับการเปลี่ยนแปลงนี้

ไม่น่าเชื่อ ว่าสิ่งที่เขาลังเลใจว่ามันจะเวิร์ค จะทำให้เขาผจญภัยร่วมกับออสเตอซุนด์ นานถึง 8 ปี จากทีมที่อยู่ในลีกระดับ 4 เขาใช้เวลา 2 ปีติดต่อกันในช่วง 2011-2013 พาทีมขึ้นมาอยู่ลีกระดับ 2 และใช้เวลาอีก 3 ปี ก็สามารถพาทีมทะลุขึ้นมาสู่ลีกสูงสุดได้อย่างมหัศจรรย์

จากทีมลีกระดับ 4 พ็อตเตอร์สามารถพาทีมขึ้นสู่ลีกสูงสุด ได้ในเวลาเพียง 5 ปี
(Source : Forbes)

เท่านั้นยังไม่พอ แค่เพียงซีซันแรกที่ลงเล่นในลีกสูงสุด ทีมโนเนมซึ่งเพิ่งก่อตั้งทีมเมื่อปี 1996 สามารถคว้าแชมป์บอลถ้วยได้สำเร็จ เปิดทางให้พวกได้ตั๋วสุดพิเศษ ไปลุยยูโรป้า ลีก ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทีม

ถึงเส้นทางการเล่นฟุตบอลสโมสรยุโรปครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร จะต้องจบลงแค่เพียงรอบ 32 ทีม ด้วยฝีเท้าของยักษ์ใหญ่อย่างอาร์เซน่อล แต่ระหว่างทางก่อนนั้น พวกเขาน็อคทั้งกาลาตาซาราย และพีเอโอเค ตกรอบคัดเลือก แถมยังจบรอบแบ่งกลุ่มด้วยการเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม ทำแต้มได้เท่าแอธเลติก บิลเบา เท่ซะไม่มี!

พ็อตเตอร์ทักทายกับเวนเกอร์ ในเกมที่พาออสเตอซุนด์ ไปเยือนเอมิเรตส์
(Source : Twoeggz)

การเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น ทำให้รูปแบบการเล่นของเขาเป็นที่โจษจัน เพราะแม้จะมีพื้นฐานจาก 3-5-2 แต่ก็ถูกปรับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งระหว่างเกมหลากหลาย มีความยืดหยุ่น, เน้นเกมรุก และมีแบบแผนเพื่อครอบครองบอลไว้กับทีม

Team Building กลยุทธ์ที่ไม่เหมือนใคร

อย่างที่เราเกริ่นถึงพื้นเพของพ็อตเตอร์ ว่ากุนซือรายนี้เรียนด้านสังคมศาสตร์ และจบปริญญาโทเกี่ยวกับเรื่องความฉลาดทางอารมณ์โดยตรง เขาจึงไม่พลาดนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ และกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนพูดถึงกันอย่างมาก

ความกลมเกลียวของออสเตอซุนด์ มาจากวิธีการของพ็อตเตอร์ที่ชื่อ “Culture Academy”
(Source : CNN International)

ตอนคุมทีมออสเตอซุนด์ เขาใช้ “Team Building” หรือกิจกรรมเสริมสร้างความเป็นทีมที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั่นแหละ โดยถูกเรียกว่า “Culture Academy” ที่มีกิจกรรมมากมายให้นักเตะ และสตาฟฟ์ทำร่วมกัน

กิจกรรมที่ว่ามีทั้งการเต้น, การแสดงละครเวทีต่อหน้าผู้ชม, การร้องเพลง รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตร็อค ที่พ็อตเตอร์เองร่วมร้องนำด้วย!

คอนเสิร์ตร็อค หนึ่งในวิธีทำ Team Building ของพ็อตเตอร์
(Source : CNN International)
ละครเวที “สวอนเลค” อีกหนึ่งกิจกรรม ที่ทำเอาถูกพูดถึงกันทั่วประเทศ
(Source : CNN International)

พ็อตเตอร์บอกว่าการที่มีกิจกรรมทำร่วมกัน และมีธีมเปลี่ยนไปในทุกปี นอกจากจะทำให้ทุกคนใกล้ชิด และมีชีวิตชีวาแล้ว สิ่งต่างๆ ที่ทำ ยังทำให้ผู้เล่นมีความกล้าที่จะแสดงศักยภาพ ซึ่งนั่นทำให้สปิริตของทีมดีขึ้นอย่างชัดเจน

แน่นอนว่าสิ่งที่พ็อตเตอร์ทำ ให้ผลบวกทั้งในและนอกสนาม แต่เขาเองก็ไม่ได้คิดจะเก็บมันเป็นเครดิตของเขาแต่อย่างใด โดยเขาพูดอย่างถ่อมตัวแค่เพียงว่า เขาพยายามทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดเท่านั้น

ไม่เพียงแต่นักเตะ ตัวเขาเองและเหล่าสตาฟฟ์ ก็มีส่วนร่วมด้วยโดยตลอด
(Source : The Telegraph)

ซึ่งความคิดนี้ ไม่ต่างจากความคิดของชายไกลบ้านคนเดิม ที่พร้อมมาหาความท้าทายในลีกระดับ 4 ต่างแดน ทำไมให้ดีที่สุด แล้วคิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง

พิสูจน์ตัวเองในอังกฤษ

หลังคุมทีมในสวีเดนนานถึง 8 ปี พร้อมความสำเร็จที่ไม่ธรรมดา นั่นช่วยปูทางให้เขาได้กลับมารับงานในอังกฤษกับ “สวอนซี” ทีมซึ่งเพิ่งตกชั้นมาจากพรีเมียร์ลีกหมาดๆ

กับมาดการคุมทีมสวอนซี ทีมฟุตบอลอาชีพบนแผ่นดินอังกฤษ ทีมแรกของเขา
(Source : WalesOnline)

พ็อตเตอร์ให้เหตุผลในการย้ายกลับบ้านมารับงานกับสวอนซีว่า สโมสรมีความเปิดกว้างที่จะสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ และพยายามสู้เพื่อจะหาทางกลับสู่ลีกสูงสุด ซึ่งนั่นตรงกับสิ่งที่เขาอยากทำ

ส่วนนึงที่สื่อไม่ได้พูดถึง แต่น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจของเขา คือพ็อตเตอร์มีความสนิทสนมกับโจนส์ คนที่เคยแนะนำให้เขาได้งานที่สวีเดน นั่นทำให้ทั้งคู่ชื่นชอบสไตล์การทำทีมของ “โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ” อดีตกุนซือสวอนซี ที่เน้นการครองบอล และเล่นบนพื้นเป็นทุนเดิม การถูกทาบทามโดยสโมสรที่เชื่อมั่นในแนวทางนั้น น่าจะช่วยให้เขาตัดสินใจง่ายขึ้น

“โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ” กุนซือชาวสแปนิช ที่พ็อตเตอร์ชื่นชอบแนวทาง
(Source : New Straits Times)

ถึงซีซันนั้นสวอนซีจะจบแค่เพียงอันดับ 10 แต่รูปแบบการเล่นของทีมก็มีหลายสิ่งให้น่าชื่นชม ว่ากันว่าพ็อตเตอร์ใช้รูปแบบการเล่นตลอดซีซันแตกต่างกันมากถึง 10 แบบ และทำให้ทีมมีจำนวนการผ่านบอลเยอะที่สุดในลีก ซึ่งตอบโจทย์ไอเดียของเขาเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี พ็อตเตอร์ไม่มีโอกาสได้สานงานในซีซันใหม่กับสวอนซีต่อ เพราะไบรท์ตันสืบเท้าเข้ามาแสดงความสนใจ พร้อมยอมจ่ายถึง 3 ล้านปอนด์ ในการดึงตัวเขาและทีมงาน ย้ายไปคุมทีมในพรีเมียร์ลีกแทน

หมอนี่น่ะเหรอ? กุนซือระดับพรีเมียร์ลีก

สิ้นสุดซีซัน 2018/19 ไบรท์ตันทำเรื่องเซอร์ไพรส์ ด้วยการปลดกุนซือ “คริส ฮิวจ์ตัน” ที่คุมทีมมานาน 5 ปี แถมเป็นคนพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาสู่พรีเมียร์ลีก และซีซันล่าสุดก็พาทีมหนีตกชั้นสำเร็จ โดยบอร์ดบริหารให้เหตุผลว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลง

ตอนไบรท์ตันปลดฮิวจ์ตัน ไม่มีใครคาดคิดว่าจะไปเอาพ็อตเตอร์ มาคุมทีมแทน
(Source : Premier League)

แน่นอนว่าทั้งแฟนบอล และสื่อต่างๆ คาดหวังว่ากุนซือคนใหม่ของไบรท์ตัน น่าจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับนึง อย่างน้อยก็เพื่อเข้ามายกระดับทีมให้ไม่ต้องหนีตกชั้นอีก แต่แล้วเมื่อทุกอย่างตกลงเรียบร้อย ชายคนที่มารับงานต่อคือ “เกรแฮม พ็อตเตอร์” ด้วยสัญญาถึง 4 ปี

หลายสื่องงงวย ว่าทำไมไบรท์ตันเลือกพ็อตเตอร์เข้ามา เขาไม่เคยคุมทีมในพรีเมียร์เลย เคยคุมทีมในอังกฤษมาแค่ซีซันเดียวด้วยซ้ำ แถมเป็นการพาทีมจบอันดับ 10 ในแชมป์เปียนชิพ ไอ้เรื่องความสำเร็จกับออสเตอซุนด์น่ะหรอ? ใครจะไปสนใจ!

พ็อตเตอร์ไม่สนใจเสียงวิจารณ์ เขาทำงานในแบบของเขาทันที ก่อนเปิดตัวได้สวยในนัดแรกด้วยการบุกไปถล่มวัตฟอร์ด 3-0 แต่หลังจากนั้นทุกสิ่งอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาคิด

พ็อตเตอร์เปิดตัวนัดแรกในพรีเมียร์ลีกได้สวยงาม แต่นั่นเป็นเพียงภาพลวงตา
(Source : 90MAAT)

ถึงจะมีชัยชนะน่าประทับใจให้ อย่างการบุกไปชนะสเปอร์ 3-0 แต่การเน้นต่อบอลตั้งแต่หลังบ้าน ก็สร้างความผิดพลาดมากมาย เพราะเกมระดับพรีเมียร์ลีกบีบเพรสซิ่งกันดุเดือด ทีมของเขาจึงอันดับค่อยๆ ต่ำลง จนหล่มไปอยู่ในโซนตกชั้นก็มี

แต่ถึงอันดับจะล่อแหลม ก็ไม่อาจทำให้เขาปรับเปลี่ยนสไตล์การเล่นของทีมเลย แม้จะแพ้เยอะกว่าชนะ แต่สุดท้ายทีมก็อยู่รอดได้สำเร็จ โดยมีแมทช์สำคัญที่ล้มอาร์เซน่อลได้ 2-1 หลังกลับมาจากเบรกโควิด-19

ชัยชนะเหนืออาร์เซน่อลในนาทีสุดท้าย 2-1 ทำให้โอกาสรอดตกชั้นแทบจะ 100%
(Source : Arsenal)

รูปแบบที่ผลิดอกออกผล

อย่างที่เกริ่นไป การรอดตกชั้นแค่หวุดหวิด ทำให้ไม่ค่อยมีใครให้เครดิตรูปแบบที่แกพยายามสร้างเท่าไหร่ แต่หากลองดูที่รายละเอียด พ็อตเตอร์ค่อยๆ ดันนักเตะใหม่ให้ปรับตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวรุกอย่างโมเพย์ หรือทรอสซาด์ เข้ามาเพิ่มมิติให้เกมไม่เชื่องช้า กองหลังอย่างเว็บสเตอร์ ช่วยให้การยืนรูปแบบเซ็นเตอร์ 3 ตัวแน่นขึ้น ส่วนเด็กที่ดันขึ้นมาอย่าง คอนนอลลี่ หรืออัลซาเต้ ก็ซึมซับปรัชญาการเล่นของเขาชัดเจน

อัลซาเต้ และคอนนอลลี่ 2 ดาวรุ่ง ที่พ็อตเตอร์ดันขึ้นมา และเริ่มเป็นตัวจริงสม่ำเสมอ
(Source : Brighton & Hove Albion)

รวมกับตัวที่เติมเข้ามาอย่าง แลมพ์ตี้ (ซื้อมาตอน ม.ค. ซีซันที่แล้ว), ลัลลาน่า, ไวท์ (กลับมาจากยืมตัว) ทำให้การยืนในแบบแผนที่พ็อตเตอร์ตั้งใจ เริ่มเป็นรูปร่างชัดเจน อย่างที่เราเห็นกับ 3 นัดแรกของฤดูกาลปัจจุบัน

แน่นอนว่าจุดอ่อนของไบรท์ตันยังมีมากมายให้ต้องปรับแก้ ทั้งการเซ็ตอัพบอลจากหลังที่ยังผิดพลาด, การเล่นแผนกลาง 3 ตัว ที่ไม่มีตัวรับแท้ หรือการจบสกอร์ไม่เฉียบขาด

แต่อย่างน้อย กุนซือโนเนมที่หน้าตาไม่ได้น่าเกรงขาม แถมประวัติการทำงานก็ออกจะแปลกประหลาดรายนี้ ก็ทำให้แฟนบอล และสื่อต่างๆ เริ่มหันมามอง และหล่นคำพูดว่า “เล่นดีว่ะ” ให้กับ “เจ้านกนางนวล”​ ทีมนี้ มากขึ้นเรื่อยๆ

แนวทางเริ่มมาแล้ว แต่ผลลัพธ์จะสวยงามมั้ย เราคงต้องติดตามผลงานกันต่อ
(Source : Football Paradise)

ส่วนผลลัพธ์โดยรวมในซีซันนี้จะออกมาแบบไหน… คงต้องรอติดตามชมตอนต่อไป เพราะต้องไม่ลืมว่า เวทีพรีเมียร์ลีกสอนให้หลายทีมได้รู้มานักต่อนัก ว่าแค่ความสวยงาม บางทีมันไม่เพียงพอจะประสบความสำเร็จ

Picture : Sky Sports, Sports Mole, Evening Standard, The Coaches’ Voice, BT Sport, Hull Daily Mail, WalesOnline, The Independent, Forbes, Twoeggz, CNN International, The Telegraph, New Straits Times, Premier League, 90MAAT, Arsenal, Brighton & Hove Albion, Football Paradise

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save