มิตรรัก นักแฟนตาซี : EP 41 เทียบเคสบุนเดส, กัลโช่, ลีกดัทช์ กับไทม์ไลน์พรีเมียร์ ที่คาดว่ากลับมาเตะ! - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
มิตรรัก นักแฟนตาซี : EP 41 เทียบเคสบุนเดส, กัลโช่, ลีกดัทช์ กับไทม์ไลน์พรีเมียร์ ที่คาดว่ากลับมาเตะ!

ยังคงอยู่ในช่วงล็อคดาวน์กันในทุกประเทศใหญ่ๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นส่วนของประชาชนทั่วไป หรือในแวดวงฟุตบอล ซึ่งอย่างหลัง หลายประเทศเริ่มมีการขยับขยาย และเห็นทิศทางต่อไปกันบ้างแล้ว

กัลโช่ เซเรีย อา ที่ยูเวนตุส กับลาซิโอ แต้มเบียดสูสี เป็นลีกล่าสุดที่ขยับตัว จะกลับมาเตะ
(Source : Ronaldo.com)

ใน EP นี้ เราเลยจะมาสรุปเคสกันหน่อย ถึงสิ่งที่บุนเดสลีก้า, กัลโช่ เซเรีย อา และเอเรดิวิซี่ ลีกดัทช์ เลือกทำ ซึ่งอาจจะเป็นแบบอย่างต่อลีกอื่น ก่อนที่เราจะว่ากันในส่วนของพรีเมียร์ลีกอีกหน เพราะสื่อเขาก็เริ่มวางไทม์ไลน์ออกมาแล้ว ว่าหากฟุตบอลเมืองผู้ดีจะกลับมาเตะ เมื่อไหร่จะทำอะไรบ้าง

การตัดสินใจของลีกใหญ่

เป็นข่าวออกมารัวๆ เมื่อช่วงไม่ถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงการกำหนดทิศทางเป็นเรื่องเป็นราวของหลายลีกใหญ่ โดยเป้าหมายหลักคือพยายามขจัดความคาราคาซังของซีซัน 2019/20 เพราะปล่อยเวลาให้นานไป ก็ยิ่งหาทางจบฤดูกาลยาก และส่งผลกระทบไปถึงซีซันหน้าแน่นอน

“บุนเดสลีก้า” เยอรมัน และ “กัลโช่ เซเรีย อา” อิตาลี ออกมาตรการไปในทิศทางเดียวกัน คือทางลีกได้กำหนดไทม์ไลน์ในการกลับมาเตะออกมา ทั้งระยะเวลากลับมาซ้อม, ระยะเวลาการเตะให้จบ, มาตรการป้องกันระหว่างเล่น รวมถึงมาตรการตรวจเชื้อผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจ และไม่เพิ่มภาระให้ประเทศตนเอง

บุนเดสลีก้า ถือเป็นลีกใหญ่แรกที่ออกมาตรการกลับมาเตะชัดเจน และน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี
(Source : Rediff)

บุนเดสลีก้าเป็นลีกที่ขยับตัวก่อน เพราะเริ่มมีการให้นักเตะกลับมาซ้อมแบบ “Social Distancing” ก่อนหน้านี้แล้ว เลยขยับออกกำหนดการกลับมาเตะ 9 พ.ค. ถึงปลายเดือน มิ.ย. โดยเป็นการแข่งขันแบบปิดสนาม จำกัดผู้เกี่ยวข้องในวันแข่ง และมีมาตรการเข้มข้นในการทดสอบการติดเชื้อ รวมถึงการปฏิบัตตัวของนักเตะแต่ละคน

เช่นเดียวกับเซเรีย อา อิตาลี ที่ออกแผนคล้ายกัน แต่จะกลับมาเตะช้าหน่อย ประมาณปลายเดือน พ.ค. หรือต้นเดือน มิ.ย. เพื่อให้ซีซันจบประมาณต้นเดือน ส.ค. ซึ่งแม้จะช้า แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้แมทช์ที่เหลือถึง 12-13 แมทช์ ค้างเติ่งอยู่

กัลโช่ เซเรีย อา วางแผนจะกลับมาเตะเช่นกัน โดยรูปแบบปิดสนาม จำกัดผู้เกี่ยวข้อง
(Source : Evening Standard)

อีกข้อที่น่าสนใจ คือทั้ง 2 ลีกใหญ่ วางมาตรการของตัวเองให้กลับมาเตะ แม้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ กำหนดการห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก ถึงเดือน ก.ย. หรือ ต.ค. นู่น

กลับกันหากมองไปที่ “เอเรดิวิซี่” ลีกของฮอลแลนด์ ที่แม้จะเหลือการแข่งขันอีกประมาณ 9 นัด แต่ตัดสินใจ “ยกเลิก” ซีซัน 2019/20 ไปเรียบร้อย โดยไม่มีการมอบแชมป์ และไม่มีทีมขึ้นชั้น-ตกชั้น แต่ยังคงให้สิทธิ์ไปเล่นฟุตบอลยุโรปซีซันหน้า ตามอันดับล่าสุด

อาแหยกซ์ และเอแซด อัลค์มา ซึ่งแต้มเท่ากันอยู่หัวตาราง ได้สิทธิ์ไปเตะ UCL
(Source : Teller Report)

ซึ่งการตัดสินใจของสมาคมบอลดัทช์ ถือเป็นมุมมองต่อปัญหาที่แตกต่างกับอิตาลี และเยอรมันแบบสุดขั้ว ทั้งที่สถานการณ์ติดเชื้อไม่ได้แย่กว่า และรัฐบาลก็ประกาศไม่ให้จัดงานที่รวมผู้คนไม่ต่างช่วงกัน (เยอรมันประกาศไว้ไกลกว่าฮอลแลนด์ด้วยซ้ำ)

ซึ่งการตัดสินใจแบบนี้ของเอเรดิวิซี่ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยเฉพาะความไม่พอใจของทีมที่เสียผลประโยชน์ เช่น “คัมบูร์” ทีมจ่าฝูงในลีกรอง ที่โกยแต้มจนนอนมาเลื่อนชั้นแน่ๆ แต่กลับสูญเปล่า เล่นเอาโกรธจนควันออกหู ออกมาสัมภาษณ์ดุดัน

“เฮงค์ เด ยอง” กุนซือคัมบูร์ ออกมาจวกการยกเลิก ว่าน่าอับอายที่สุดในประวัติศาสตร์
(Source : Teller Report)

ซึ่งนอกเหนือจากคัมบูร์แล้ว ทีมอันดับ 2 ลีกรองอย่าง “เด กราฟส์ชับ” ที่ทำแต้มเหนือโซนเพลย์ออฟ 7 คะแนน ก็รู้สึกว่าไม่แฟร์เช่นกัน จนประธานสโมสรของพวกเขา เตรียมหารือกับประธานคนอื่น เพื่อกำหนดข้อเรียกร้องต่อไป

หรือ “อูเทรชท์” ทีมอันดับ 6 ซึ่งยังมีโอกาสดีลุ้นไปเล่นยูโรป้า ลีก เพราะนอกจากตามหลังทีมอันดับ 5 (ที่ได้โควตายูโรป้า) แค่แต้มเดียว แต่มีนัดตกค้าง 1 นัดในมือ และมีประตูได้-เสียมากกว่า 13 ลูก พวกเขายังมีนัดชิงฟุตบอลถ้วยกับเฟเยนอร์ด รออยู่ด้วย ยกเลิกแบบนี้ ถือว่าทุกอย่างกลายเป็นศูนย์

อูเทรชท์ กลายเป็นทีมที่น่าเห็นใจที่สุด จากการประกาศยกเลิกของเอเรดิวิซี่
(Source : FC Utrecht)

ยังไม่รวมถึงอารมณ์ร่วมของนักเตะหลายราย อย่าง “ฮาคิม ซิเย็ค” จอมทัพของอาแหยกซ์ ที่นำจ่าฝูงเบียดกับเอแซด อัลค์มา ด้วยแต้มเท่ากัน และนำแค่จากประตูได้-เสีย ก็ออกมาบอกว่าอยากลุ้นคว้าแชมป์ด้วยการลงเล่นมากกว่า ยิ่งเป็นซีซันสุดท้ายของเขากับยอดทีมดัทช์ ก่อนจะย้ายไปร่วมทีมเชลซี ซีซันหน้า

กรณีศึกษาจากลีกใหญ่

แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของทุกลีก คืออยากให้สถานการณ์กลับมาปกติโดยเร็ว ไม่ว่าจะเรื่องการระบาด, ความปลอดภัย หรือการเดินหน้าต่อของฟุตบอล แต่ในเมื่อมันยังไม่เห็นหนทางกลับมาได้ 100% แบบนั้น การหาทางเดินหน้าจึงจำเป็น

ด้วยสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะปลอดภัย 100% เมื่อไหร่ การตัดสินใจจึงมีส่วนสำคัญ
(Source : Sport Industry Group)

ก่อนนี้ เราจะเห็นทุกลีกมุ่งเป้าหวังจะกลับไปเตะ แต่ยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ดังนั้น การตัดสินใจที่ดูแข็งแรง และมีประสิทธิภาพของลีกเมืองเบียร์ จึงเป็นใบเบิกทางที่น่าสนใจ แม้สถานการณ์โดยรวมของผู้ติดเชื้อในประเทศยังไม่ถึงกับดีนัก

วิธีการซ้อมแบบ Social Distancing และการกำหนดมาตรฐานการตรวจเชื้อของผู้เกี่ยวข้องก่อนแต่ละแมทช์จะเริ่ม ทำให้ชาติอื่นได้เห็นแนวทาง และประเมินงบประมาณ กับชุดตรวจเชื้อ ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งอิตาลี และสเปน ก็พิจารณาในมาตรฐานแบบเดียวกัน

ภาพตัวอย่างน่ารักๆ ของบุนเดสลีก้า กับไอเดียการทดแทนการขาดหายของผู้ชมในสนาม
(Source : RFI)

กลับกันหากหันไปมองลีกดัทช์ ซึ่งแม้จะดูเป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทุกสิ่ง ด้วยการประกาศยกเลิก แต่ปัญหาในเรื่องความยุติธรรม กลับถูกตั้งคำถามขึ้นอย่างชัดเจน จนเริ่มเป็นเสียงด้านลบที่กลบด้านบวกไปจนหมด

จุดที่ลีกดัทช์บริหารได้ไม่ดี จุดแรกคือการตัดสินใจ ที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับผลโหวต ถึงผลโหวตให้มีการขึ้นชั้น-ตกชั้น จะมากกว่าอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ โดยอ้างเหตุผล ปัดทางเลือกที่จะเพิ่มทีมเข้ามาในลีก (มีเลื่อนชั้น แต่ไม่มีตกชั้น) แค่ว่ากลัวโปรแกรมซีซันหน้า แน่นเกินไป

เอดีโอ เดน ฮาก ที่มี “อลัน พาร์ดิว” คุมทีมอยู่ จะรอดตกชั้นจากการยกเลิกแข่งต่อ
(Source : The Totally Football Show)

เพราะหากมองไปที่ท้ายตาราง 2 อันดับสุดท้าย ซึ่งโอกาสรอดริบหรี่ อย่างเดน ฮาก และวาลไวค์ อยู่ห่างโซนเพลย์ออฟหนีตกชั้นถึง 7 และ 11 แต้มตามลำดับ กลับโชคดีได้เล่นลีกสูงสุดต่อ กลับกันคัมบูร์ที่โกยแต้มนำโซนเพลย์ออฟในลีกล่าง อยู่ถึง 11 แต้ม กลับโชคร้ายไม่ได้เลื่อนชั้น ซะอย่างนั้น

อีกจุดคือการตัดสินใจเรื่องตัดจบ ทั้งๆ ที่ยังมี 4 ทีมที่แข่งน้อยกว่าทีมอื่นอยู่ 1 นัด แล้วดันมีทีมอย่างอูเทรชท์ ที่นัดตกค้างนั้นอาจมีผลต่ออันดับชัดเจน ตรงนี้ก็ไม่เคลียร์

ซึ่งหากประเทศอื่นจะเลือกวิธีการตัดจบแบบนี้อีก ควรจะต้องระมัดระวังรายละเอียดตรงนี้ให้ดี มิเช่นนั้นการอ้างว่าเพื่อส่วนรวม อาจจะกลายเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักไม่เพียงพอ หากมันขัดต่อความยุติธรรมขึ้นมา

ไทม์ไลน์น่าสนใจจากสื่อผู้ดี

ว่ากันถึงเคสศึกษาของลีกอื่นมายืดยาว แต่กับพรีเมียร์ลีก และฟุตบอลลีกอื่นของอังกฤษ พวกเขาก็ยังไม่มีการฟันธงมาตรการออกมานะครับ มีเพียงแค่คำยืนยันมาตลอด ว่าตั้งใจจะกลับมาเตะต่อให้จบซีซัน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

ทีนี้ ก็เริ่มมีสื่อใหญ่ๆ ที่นั่น เค้าเริ่มจับทิศทางของพรีเมียร์ลีกกันมากขึ้น ยิ่งประเทศอื่นมีการขยับตัวกลับมาเตะได้บ้าง จึงเกิดไทม์ไลน์ที่คาดการณ์ออกมาโดย “The Times” สื่อชั้นนำที่นู่น และสื่ออื่นเช่น BBC ก็มีการเกริ่นกว้างๆ เช่นกัน ว่าถ้าจะกลับมาเตะ มันก็จะราวๆ นี้แหละ

ภาพ “เซดดริก ซัวเรซ” แบ็คโปรตุกีซของอาร์เซน่อล ขับรถมาสนามซ้อมเมื่อ 27 เม.ย.
(Source : Evening Standard)

27 เม.ย. : มีหลายสโมสรเช่น อาร์เซน่อล, ไบรท์ตัน, เวสต์แฮม ที่พร้อมเปิดศูนย์ซ้อมให้นักเตะเข้ามาซ้อมแบบแยกตัวใครตัวมัน เพื่อเรียกความฟิต

1 พ.ค. : มีการประชุมผู้ถือหุ้นของพรีเมียร์ลีก หารือเรื่องนักเตะหมดสัญญา 30 มิ.ย. และตลาดซื้อขายซีซันหน้า

7 พ.ค. : วันสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษ จะประกาศความคืบหน้าเกี่ยวกับการล็อคดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทั่วประเทศ

15 พ.ค. : หากความคืบหน้าเป็นในทิศทางที่ดี จะมีการประชุมของพรีเมียร์ลีก เพื่อกำหนดระยะเวลา กลับมาซ้อม และลงแข่งขัน รวมถึงมาตรการต่างๆ

หากสถานการณ์ไม่แย่ลง และรัฐบาลเห็นชอบ นักเตะพรีเมียร์ลีก อาจกลับมาซ้อม 18 พ.ค.
(Source : West Ham United)

18 พ.ค. : ทีมในพรีเมียร์ลีกกลับมาซ้อม และมีระยะเวลา 3 สัปดาห์ ในการเรียกความฟิต และอาจมีแมทช์อุ่นเครื่อง ตามแต่เหมาะสม

8 มิ.ย. – 27 ก.ค. : กลับมาแข่งขันแบบปืดสนามให้จบครบทั้ง 92 นัดที่เหลืออยู่

การแข่งขันน่าจะกลับมา เพียงแต่บรรยากาศคงไม่เป็นแบบนี้แน่
(Source : 90Min)

3 – 21 ส.ค. : นักเตะกลับมารวมตัวอีกครั้ง เพื่อเตรียมทีมสำหรับซีซัน 2020/21 โดยจะได้พักเพียง 1 สัปดาห์

9 – 29 ส.ค. : เป็นช่วง 3 สัปดาห์ ที่จะแข่ง UCL และยูโรป้า ลีก ของซีซัน 2019/20 ให้จบ

22 ส.ค.​ : พรีเมียร์ลีกซีซัน 2020/21 อาจจะเริ่ม เช่นเดียวกับฟุตบอลถ้วย และฟุตบอลสโมสรยุโรป

ยูฟ่ายังคงหวังจัด UCL นัดชิงชนะเลิศ ที่สนามอตาเติร์ก กรุงอิสตันบลู ในเดือน ส.ค.
(Source : Simple Wikipedia)

29 ส.ค. : UCL ซีซัน 2019/20 นัดชิงที่อิสตัลบูล (ก่อนนั้นในช่วงสัปดาห์เดียวกัน จะมีการชิงยูโรป้า ลีก)

12 ก.ย. : โอกาสที่ฟุตบอลลีกซีซัน 2020/21 จะเริ่มได้ช้าสุด (ถ้าทุกอย่างไม่ลงล็อค ส.ค.) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบีบโปรแกรม และจัดแมทช์เตะไปในตัว

ย้ำกันอีกที ว่าไทม์ไลน์ที่ว่ามา ยังไม่ได้เป็นแบบ Official ผ่านการคอนเฟิร์มแต่อย่างใด ทุกอย่างยังเป็นการคาดการณ์ เพราะต้องดูสถานการณ์ และการตัดสินใจของสมาชิกพรีเมียร์ลีก ที่อาจจะมีความเห็นแตกต่างกัน

โดยตอนนี้ยังสรุปได้แค่ว่า ถ้าสถานการณ์การติดเชื้อไม่แย่ลง หรือรัฐบาลอังกฤษ ไม่ได้มีมาตรการเข้มข้นขึ้นอีก ลีกเมืองผู้ดีน่าจะไปในทิศทางของบุนเดสลีก้า หรือกัลโช่ เซเรีย อา มากกว่าเอเรดิวิซี่

จัดทีม วัดใจ

EP นี้ขออนุญาตข้ามเรื่องการแนะนำนักเตะทีเด็ดกันไปก่อน เพราะนอกจากจะมีเวลาให้แนะนำกันอีกหลายสัปดาห์ เนื้อหาส่วนอัพเดทสถานการณ์ปัจจุบันยังค่อนข้างยาวมาก

กลับมาพูดถึงการจัดทีม เพื่อบริหาร Free Transfer กันต่อไป โดยเดดไลน์ที่ผ่านมาใช้งบที่เหลืออยู่น้อยนิด จัดการเปลี่ยนอีแกน ของเชฟฯ ยู เข้ามาแทนแฟร์นานเดซ ของนิวคาสเซิล เรียบร้อย

บริหาร FT กันไป ขยับเอาอีแกน เข้ามาเติมเกมรับ ซื้อใจดาบคู่เขาไป
(Source : Fantasy Premier League)

สเต็ปต่อไปน่าจะขยับเขยื้อนทีมได้ยากแล้ว เพราะนอกจากงบประมาณจะไม่เหลือ นักเตะที่มีถือว่าน่าพึงพอใจ ถ้าจะมีลองขยับ ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนตัวเมเจอร์ออก เพื่อหาสิ่งที่น่าสนใจกว่า

ตัวอย่างก็เช่น การถอดปาทริซิโอ้ออก แล้วเลือกโป๊บ เพื่อได้งบเพิ่มมา 0.2, การถอดฟาน ไดค์ออก แล้วใส่อลอนโซ่ เพื่อเพิ่มงบ 0.3 หรือใส่โดเฮอร์ตี้ เพื่อเพิ่มงบ 0.2 หรือจะถอดโอบาออก แล้วใส่เคนเข้ามาแทน อันนี้ก็ได้งบมา 0.2 เช่นกัน

มาร์กอส อลอนโซ่ มาแรงในช่วงก่อนเบรกไป ถือเป็นอีกตัวที่น่าวัดใจ
(Source : Internewscast)

แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อ นอกจากการชั่งใจว่าของใหม่ดีกว่าของเก่าจริงรึป่าว คืองบประมาณราว 0.2-0.3 ล้านปอนด์ จะเอาไปปรับปรุงทีมตรงไหนได้มั้ย ถ้าได้ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้ ก็อาจจะเลือกคงทีมเดิมไว้ จะเลือกทางไหน ก็ติดตามก่อนเดดไลน์กันได้ที่ช่องทางเดิมของเรา
กลุ่มแชท ใน LINE OpenChat >> คลิกเลย <<
กลุ่ม facebook >> คลิกเลย <<

บอลยังไม่กลับมาเตะ ก็รวมใจดูแลตัวเองที่บ้านไปก่อน แล้วรอติดตามข่าวสารกับเรา
(Source : The Statesman)

เดดไลน์ของการเปลี่ยนตัวสุดสัปดาห์นี้ ยังคงอยู่เหมือนเดิมนะครับ 17.30 น.​ ของวันเสาร์ที่ 2 พ.ค. โดยนอกจากการบริหาร FT ไป ต้องรอติดตามข่าวคราวจากพรีเมียร์ลีกด้วย ว่าวันที่ 1 พ.ค. จะมีรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมรึป่าว ทั้งเรื่องของการกลับมาเตะ และเรื่องตลาดซื้อขาย

โดยรายละเอียดข่าวสารอัพเดท ยังไงเราเอามาฝากทุกท่านเหมือนเดิม ตามไปจอยกลุ่มเฟซบุ๊ค และเข้ามาในกลุ่ม LINE OpenChat กันได้ แล้วเจอกันครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม : Noble DS Supporters Jersey
Picture : Fantasy Premier League, TheTop10News, Ronaldo.com, Rediff, Evening Standard, Teller Report, FC Utrecht, Sport Industry Group, West Ham United, 90Min, Simple Wikipedia, Internewscast, The Statesman, RFI, The Totally Football Show

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save