คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของเราในยุคปัจจุบันติดต่อสื่อสารกันผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ด้วยการพัฒนาก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของโครงข่ายอินเตอร์เน็ตทำให้โลกทั้งใบหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว
สิ่งที่เกิดขึ้นอีกซีกโลกหนึ่งสามารถรับรู้ได้ในอีกซีกโลกหนึ่งในชั่วพริบตา ก่อให้เกิดการส่งต่อข้อมูล ความรู้ และข่าวสารปริมาณมากมายมหาศาลในแต่ละวันเคลื่อนผ่านไปตามส่วนต่างๆ ของโลกได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายสิบ หรือหลายร้อยปีก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่จะมีโอกาสมีโอกาสได้เข้าถึงการใช้งานอินเตอร์เน็ต เพราะในปัจจุบันการส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตนั้นทำผ่าน “ใยแก้วนำแสง” โยงใยกันเป็นโครงข่ายรอบโลก และโครงข่ายอินเตอร์เน็ตนั้นส่วนใหญ่ก็จะมีให้บริการเฉพาะในโซนชุมชนเมือง ซึ่งทำให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เช่นตามป่าเขาลำเนาไพรไม่มีโอกาสได้ใช้
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ อิลอน มัสค์ แห่ง SpaceX จึงได้ก่อตั้งโครงการ “Starlink” จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างโครงข่ายดาวเทียมกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตในวงโคจรต่ำ เมื่อโครงการนี้สำเร็จลุล่วง ก็จะทำให้ทุกคนบนโลกที่แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลความเจริญเพียงใดก็สามารถเข้าใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมในห้วงอวกาศได้ และตอนนี้โครงการนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงเร่งรีบดำเนินการ จนทำให้สถานะโครงการในตอนนี้ประสบความสำเร็จในเบื้องต้นแล้ว เราจึงอยากพาเพื่อนๆ ชาว The Macho มาทำความรู้จักโครงการ Starlink กันให้มากขึ้น ใครสนใจก็ตามมาดูกันเลย
โครงการ Starlink คืออะไร?

โครงการ Starlink คืออะไร ทำไมถึงกำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียลในตอนนี้? เรามีคำตอบ
โครงการ Starlink เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยชายที่เกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลกอย่างแท้จริงที่ไม่มีใครไม่รู้จักในยุคนี้อย่าง อิลอน มัสค์ ที่เขาได้เห็นว่าปัจจุบันอินเตอร์เน็ตควรจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิตของทุกคนบนโลกไม่ต่างจากน้ำ และไฟฟ้า แต่โครงข่ายอินเตอร์เน็ตไม่สามารถแผ่ขยายเข้าไปได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นป่าเขาห่างไกลความเจริญ ทำให้ชุมชนที่อยู่ในบริเวณนั้นไม่มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารสำคัญในโลกอินเตอร์เน็ต
ด้วยเหตุนี้โครงการ Starlink จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยตรง การกระจายสัญญาณอินเตอร์ของโครงการ Starlink จะเป็นไปในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ให้บริการเจ้าไหนทำมาก่อน ซึ่งก็คือการกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากห้วงอวกาศ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เน็ตอวกาศ” โดยใช้โครงข่ายดาวเทียมในวงโคจรต่ำทำงานร่วมกันกว่าหลายหมื่นดวง ซึ่งเมื่อโครงการนี้สำเร็จก็จะทำให้ทุกคนบนโลกไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลความเจริญแค่ไหนก็มีโอกาสได้ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณที่จำเป็นต้องติดตั้ง

สถานะของโครงการ Starlink ในตอนนี้คืออยู่ในช่วงเร่งงานเต็มที่ตามสไตล์ของ อิลอน มัสค์ ที่เขามักบอกเสมอว่า “อะไรที่คนทั่วไปใช้เวลาทำ 10 ปี เขาจะทำให้สำเร็จใน 6 สัปดาห์” ซึ่งผลก็คือโครงการ Starlink จะเปิดให้บริการระยะแรกในพื้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและบางส่วนของประเทศแคนาดา ก่อนจะขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วโลกภายในช่วงปี พ.ศ. 2564
การทำงานของดาวเทียมในโครงการ Starlink เป็นอย่างไร?

หลักการทำงานของโครงการ Starlink ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน และไม่ได้มีอะไรใหม่ในเชิงเทคนิค เพราะเทคโนโลยีมีพร้อมอยู่แล้ว รอเพียงแค่ทำให้มันเกิดขึ้นจริง ซึ่งนั่นก็คือการสร้างโครงข่ายดาวเทียมในวงโคจรต่ำ ด้วยดาวเทียมจำนวนมากครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลกเพื่อกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึงให้ทุกคนบนโลกได้ใช้งานกัน
ซึ่งนั่นทำให้โครงการ Starlink กลายเป็นโครงการที่มีการขออนุมัติใช้ดาวเทียมมากที่สุดในโลก เดิมทีโครงการนี้ขออนุญาตใช้ดาวเทียมไปมากกว่า 30,000 ดวง แต่ผ่านการอนุมัติเพียงแค่ 12,000 ดวงเท่านั้น แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะยังคงต้องมีการปรึกษาหารือกันต่อไปเพื่อให้ได้จำนวนดาวเทียมตามที่ต้องการ
สถานะของโครงการ Starlink ตอนนี้คือได้มีการปล่อยดาวเทียมกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตขึ้นไปในวงโคจรแล้วกว่า 865 ดวง ซึ่งดาวเทียมแต่ละดวงได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายแผ่นกระดานเรือใบแบนราบเพื่อประหยัดพื้นที่ในการขนส่งขึ้นสู่อวกาศ ดาวเทียมแต่ละดวงติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าหล่อเลี้ยงตัวเอง ส่วนระบบขับดันจะเป็นเครื่องยนต์จรวดไอออน (Ion Engine) ที่ NASA ออกแบบและพัฒนาให้โดยใช้หลักการนำอิเล็กตรอนความเร็วสูงวิ่งเข้าชนแก๊สจนอะตอมของแก๊สแตกตัวเป็นไอออนซึ่งมีประจุ จากนั้นก็เร่งประจุด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อขับดันออกมาเป็นแรงขับให้ดาวเทียมเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการในการรักษาระยะห่างให้พอดีกับดาวเทียมดวงอื่นๆ

ข้อได้เปรียบอย่างมากของ อิลอน มัสค์ ที่ทำให้เขาสามารถดำเนินโครงการนี้ได้สำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนก็คือ จรวด Falcon 9 ซึ่งเป็นจรวดขนส่งของบริษัท SpaceX ที่เขาเป็นเจ้าของ โดยจรวด Falcon 9 มีข้อได้เปรียบเหนือจรวดอื่นๆ คือมันสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้สามารถประหยัดค่าดำเนินการขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้มาก แถมการส่งดาวเทียม Starlink ในแต่ละครั้ง Falcon 9 สามารถหอบดาวเทียมขึ้นไปปล่อยในวงโคจรได้มากถึง 60 ดวง
ปริมาณดาวเทียมที่มากมายมหาศาลของโครงการ Starlink กับข้อกังวลเรื่องขยะอวกาศจากดาวเทียมที่หมดอายุ

ในอดีตที่ผ่านมาดาวเทียมที่ได้ถูกส่งขึ้นไปในวงโคจรแทบจะไม่มีการวางแผนการบริหารจัดการเมื่อมันหมดอายุการใช้งาน ส่วนมากก็จะปล่อยให้มันกลายเป็นขยะอวกาศลอยเคว้งคว้าง รอวันที่มันจะแรงโน้มถ่วงโลกดูดกลับลงมาทำลายตัวเองในชั้นบรรยากาศ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาหลายร้อยหลายพันปี
แต่มันไม่ใช่สำหรับดาวเทียมทุกดวงในโครงการ Starlink ด้วยสำนึกในความรับผิดชอบต่อวงโคจร ดาวเทียมทุกดวงจึงได้ถูกออกแบบให้ทำลายตัวเองในชั้นบรรยากาศเมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยมันจะทำลายตัวเองภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น เทียมที่หมดสภาพจะเสียดสีจนมอดไหม้ในชั้นบรรยากาศอย่างสมบูรณ์ และที่สำคัญก็คือดาวเทียมทุกดวงของโครงการStarlink ยังอยู่ในวงโคจรที่ต่ำมาก จึงไม่เป็นอันตรายต่อดาวเทียมดวงอื่นๆ และไม่เป็นอันตรายต่อเส้นทางการสัญจรทางอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ตอนนี้โครงการ Starlink เปิดได้เปิดให้ทดลองใช้แบบ Beta กันแล้ว

ที่โครงการเน็ตอวกาศ “Starlink” กำลังโด่งดังเป็นกระแสในเวลานี้ เพราะปัจจุบันได้เปิดสถานการณ์ให้บริการแบบ Beta เพื่อให้ผู้ใช้งานบางส่วนในทดลองใช้กันแล้ว โดยได้รับการรีวิวว่า “มันแรงเวอร์มาก” วิธีการใช้งานก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแค่ผู้ใช้งานติดตั้งจานดาวเทียมขนาดเล็ก (User Terminal) เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่จำเป็นต้องเดินสายนำสัญญาณ (Fiber Optic) จากเครือข่ายอื่น
และนี่ก็ทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการ Starlink ที่เราอยากสรุปให้เพื่อนๆ ชาว The Macho ได้ทราบกันในครั้งนี้ เพราะมันคืออนาคตที่กำลังจะมาถึงในปีหน้านี้ และอีกไม่นานคนไทยก็คงจะได้ใช้งานกัน ก็หวังว่าความก้าวหน้าโครงการนี้จะสร้างความตื่นเต้นให้กับคอเทคโนโลยีกันทุกคน และหากมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงการ Starlink อีก เราจะมานำเสนอกันอีกครั้ง