7 ข้อสรุปความขัดแย้ง 70 ปี ระหว่าง 'สหรัฐอเมริกา' และ 'อิหร่าน' - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
7 ข้อสรุปความขัดแย้ง 70 ปี ระหว่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘อิหร่าน’

นับตั้งแต่ยุคปี ค.ศ. 1950  เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญอย่างมากกับการเมืองภายในประเทศอิหร่านและประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง แต่อะไรบ้างที่เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ลอบสังหาร นายพลโซเลมานี กาเซม ครั้งนี้ มาทำความเข้าใจง่าย ๆ ด้วยสรุป 7 ข้อกัน

1.จุดเริ่มต้นความบาดหมาง : ช่วงต้นทศวรรษ 1950

สหรัฐฯ เคยเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศอิหร่าน ด้วยการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังร่วมกับประเทศอังกฤษในปี 1953 สนับสนุนการรัฐประหารนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด มอสซาเดก ของประเทศอิหร่าน เนื่องจากสหรัฐฯ รู้ข่าวว่าทางนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด มอสซาเดก มีแผนการเข้ายึดสิทธิการผลิตน้ำมันให้กลับมาเป็นของรัฐ ที่แต่เดิมอังกฤษถือครอบครองสิทธิ์ในการควบคุมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษไม่พอใจ จึงส่งผลให้ทำการหนุน โมฮัมหมัด เรซา ซาห์ ขึ้นมาบริหารประเทศอิหร่านแทน ไม่นานจึงเกิดการต่อต้านจากประชาชน และนำไปสู่การปฏิวัติซึ่งทำให้อิหร่านกลายเป็น สาธารณรัฐอิสลาม เช่นในปัจจุบัน

2. การคว่ำบาตรครั้งแรก : ช่วงปลายทศวรรษ 1970

หลังจากการปฏิวัติประเทศให้กลายเป็นสาธารณรัฐอิสลาม กิจกรรมทางการเมืองภายในประเทศยิ่งเข้มข้นขึ้น จนกระทั่งในช่วงปี 1979 ได้เกิด ‘วิกฤตตัวประกันอิหร่าน’ (Iran hostage crisis) ที่เหล่านักศึกษาหัวรุนแรงบุกเข้ายึดสถานทูตสหรัฐ ฯ ในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน และจับชาวอเมริกัน จำนวนกว่า 50 คน ไว้เป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน เหตุการณ์นี้เองจึงทำให้ สหรัฐฯ ตัดสินใจคว่ำบาตรอิหร่านเป็นครั้งแรก และทำให้สถานการณ์ระหว่างอิหร่าน และสหรัฐฯ ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ

3. ความผิดพลาดที่ไม่เคยขอโทษ : ช่วงปลายทศวรรษ 1980

ในปี 1988 เครื่องบินพลเรือนของอิหร่านตก จากการยิงของเรือรบสหรัฐฯ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 290 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางไปนครเมกกะ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม จึงทำให้สถานการณ์ระหว่างทั้งสองฝั่งตึงเครียดขึ้น ทางสหรัฐฯ กล่าวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพียงความผิดพลาดเท่านั้น หากแต่อิหร่านไม่เคยได้รับการชดเชยใด ๆ หรือแม้แต่คำขอโทษจากการสูญเสียเลย นั่นจึงทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

4. การพัฒนาอาวุธนิวเครียล์ของอิหร่าน : ช่วงทศวรรษ 2000

ในปี 2002-2006 สถานการณ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ย่ำแย่จนถึงขีดสุด เมื่ออิหร่านเลือกที่จะไม่หยุดพัฒนาอาวุธนิวเครียล์ จึงทำให้ จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น กล่าวประณามอิหร่านว่าเป็น ‘แกนแห่งความชั่วร้าย’ (Axe of evil) ทำให้อิหร่านถูกคว่ำบาตรเศรษฐกิจอย่างหนัก เม็ดเงินที่ไหลเข้าประเทศจากการขายน้ำมันให้ต่างชาติหยุดชะงัก เกิดความเสียหายต่ออิหร่านอย่างมาก

5. ดีขึ้นและดิ่งลงในช่วงพริบตา : ช่วงทศวรรษ 2010

หลังการขึ้นเป็นประธานาธิบดีบารัค โอบามา ดูเหมือนว่าสถานการณ์ความบาดหมางระหว่างสองประเทศได้ถูกลดลงไป เมื่อปี 2013 ประธานาธิบดีโอบามา ได้ทำการติดต่อพูดคุยอย่างเป็นทางการกับอิหร่าน และในเวลาต่อมาไม่นาน อิหร่านได้ทำ ‘ข้อตกลงนิวเครียล์’ กับมหาอำนาจทั้ง 6 ประเทศ (สหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส และเยอรมัน) ที่จะยอมลดการสะสมแร่ยูเรเนียม เพื่อใช้ในการผลิตอาวุธนิวเครียล์ไปเป็นการใช้ในโรงไฟฟ้าแต่เพียงเท่านั้น และกับการปลดอิหร่านออกจากการคว่ำบาตรทางเศรฐกิจในปี 2016 ซึ่งถือว่าการกระทำครั้งนี้ไม่มีใครเสียเปรียบแต่อย่างใด และนี้จึงเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

แต่เมื่อโดนัล ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาบดีคนล่าสุด ปี 2018 ทรัมป์ได้ประกาศถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงดังกล่าว ด้วยเหตุที่ว่าข้อตกลงนิวเครียล์ไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงในการรักษาความสงบสุข และดูเหมือนว่าอิหร่านนั้นจะได้ประโยชน์อยู่เพียงฝ่ายเดียว นั่นจึงทำให้สถานการณ์กลับมาเร็วร้ายอีกครั้ง และดิ่งลงสุดขีดในปี 2019 หลังจากการที่สหรัฐฯ ประกาศให้กองกำลังหน่วยหนึ่งของอิหร่านกลายเป็นองค์กรก่อการร้าย

6. ชดใช้อย่างสาสม : ก้าวผ่านทศวรรษด้วยการแตกหัก

ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา วันที่ 27 ธันวาคม 2019 ฐานทัพสหรัฐฯ แห่งหนึ่งในอิรัค ถูกขีปนาวุธโจมตีกว่า 30 ลูก เป็นเหตุให้มีพลเมืองชาวสหรัฐฯ เสียชีวิต 1 คน โดยสหรัฐฯ ได้กล่าวโทษกลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ กองกำลังติดอาวุธในอิรักที่มีหน่วรบพิเศษคุดส์ (Quds Force) อิหร่านเป็นผู้สนับสนุน ว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ สหรัฐฯ จึงทำการโต้ตอบกลับในวันที่ 29 ธันวาคม 2019 ด้วยขีปนาวุธไป เป็นเหตุให้มีผูเสียชีวิต 25 คน และบาดเจ็บราวๆ 50 คน

เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้ชาวอิรักจำนวนมากไม่พอใจการกระทำของสหรัฐฯ จึงทำให้เกิดการบุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ในวันที่ 31 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งทรัมป์ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ชดใช้อย่างสาสม” (wil pay a very big price) แต่ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านก็ได้ตอบโต้ทรัมป์ทันควันลงทางทวิตเตอร์เช่นกัน ด้วยข้อความว่า “ไม่เห็นว่าจะทำอะไร(พวกเรา)ได้” (can’t do a damn thing)

จนกระทั่ง วันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2020 ทรัมป์ได้สั่งยิงโดรนขีปนาวุธไปสังหาร นายพลกาเซม โซลามานี นายทหารคนสำคัญของอิหร่าน ซึ่งมีรายงานว่า นายพลโซลามานี  มีอิทธิพลมากเป็นรองแค่เพียงผูนำสูงสุด อาลี คาเมเนอี เท่านั้น อีกทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ ทั่วตะวันออกกลางอีกด้วย ซึ่งสหรัฐฯไม่เพียงสังหารนายพลโซลามานี เพียงผู้เดียวเท่านั้น ยังมีผู้เสียชีวิตจากการสั่งยิงขีปนาวุธครั้งนี้อีก 6 คน ซึ่งหนึ่งในผู้เสียชีวิตนี้คือ ผู้นำกลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์

7.เริ่มต้นทศวรรษใหม่ด้วยสงคราม?

เปิดปี 2020 ได้เพียงไม่กี่วัน หลายคนอาจจะเป็นกังวลว่า นี่อาจจะเป็นชนวนเหตุที่ก่อให้เกิดเรื่องสงครามโลกครั้ง 3 ภายใต้ความหวาดกลัวของผู้คนทั่วโลก ความบาดหมางที่ทั้งสองประเทศมีต่อกันยังคงเดินต่อไปเรื่อย ๆ โดยภายหลังเหตุการณ์ลอบสังหารดังกล่าว ส่งผลให้อิหร่านเลือกที่จะไม่ทำตามข้อตกลงนิวเครียล์อีกต่อไป และจะเดินหน้าผลิตอาวุธเพื่อตอบโต้อย่างเต็มกำลัง

โดยในวันที่ 8 มกราคม 2020 กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่าฐานทัพอากาศอย่างน้อย 2 แห่งในอิรักที่มีทหารอเมริกันประจำการอยู่ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธกว่า 10 ลูก ซึ่งถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า ว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นไปเพื่อแก้แค้นให้นายพลโซลามานี

และภายในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำการแถลงอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบขาว ผ่าน  Facebook Live ต่อเหตุการณ์การโจมตีของอิหร่าน โดยสรุปใจความว่า … เหตุการณ์การโจมตีดังกล่าวไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ ให้กับสหรัฐฯ ได้ ประเทศของเรายังคงมีความสามารถและศักยภาพทางการทหารมากที่สุด ทั้งนี้สหรัฐเองยังมีอาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่สามารถประดิษฐ์ได้ และขออวยพรว่าอย่าให้ได้ใช้มัน (อาวุธชิ้นนั้น) ซึ่งทั้งหมดเป็นไปด้วยท่าทีที่ยังคงยันว่า ‘ทุกอย่างยังคงปกติ’

ทั้งนี้ แม้ว่าท่าทีของทรัมป์จะดูสงบ แต่นานาชาติกลับวิตกต่อเหตุการณ์เป็นอย่างมาก เกรงว่าการปะทะกันของทั้งสองชาติที่กินเวลานานกว่า 70 ปีที่ผ่านมา จะรุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ แม้นักวิชาการส่วนใหญ่จะให้ความเห็นว่า สถานการณ์นี้จะไม่นำไปซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 3 แน่นอน แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยทั่วโลกต่างหวั่นเกรงว่าชนวนเหตุแห่งสงครามได้เริ่มต้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Text – Kanjana Sritiang

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save