10 หนังโดนอุ้ม/ลักพาตัว ระดับตำนานที่ทำให้คุณลุ้นจนนั่งไม่ติด - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
10 หนังโดนอุ้ม/ลักพาตัว ระดับตำนานที่ทำให้คุณลุ้นจนนั่งไม่ติด

“การลักพาตัว” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “อุ้ม” คือ การก่ออาชญากรรมที่สร้างความหวาดกลัวและความหวาดระแวงให้กับผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัวไปเพื่อขู่กรรโชกเรียกค่าไถ่หรือการลักพาตัวไปเพื่อค้ามนุษย์  พ่อแม่จำนวนมากจึงมักจะคอยเฝ้าระวังลูกหลานอย่างไม่ให้คาดสายตาเพราะไม่รู้ว่าวันไหนความโชคร้ายนี้จะมาถึงตัว การลักพาตัวจึงกลายเป็น “คำ” (Keyword) ที่ทำงานกับจิตใจของผู้คนได้เป็นอย่างดี   ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ภาพยนตร์จำนวนมากเลือกที่จะใช้ปมแห่งความกลัวในจิตใจของผู้คนนี้เป็นพล็อตในการสร้างภาพยนตร์ วันนี้เราจึงจะขอแนะนำ 10 หนังโดนอุ้ม/ลักพาตัวระดับตำนาน

1. Taken (2008)

Taken (สู้ไม่รู้จักตาย) ถือว่าเป็นหนังแนวแอคชั่น-สืบสวนที่อัดแน่นไปด้วยความตื่นเต้นแทบทุกวินาที โดยตัวหนังบอกเล่าเรื่องราวของ “ไบรอัน มิลส์” (เลียม นีสัน) อดีตเจ้าหน้าที่ CIA รุ่นเก๋าที่อุทิศชีวิตวัยหนุ่มทั้งหมดให้กับประเทศชาติจนทำให้เขาต้องหย่าร้างกับภรรยา เขาหวังจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในวัยเกษียณเพื่อชดเชยให้กับลูกสาวสุดที่รักที่เขาแทบไม่เคยมีเวลาให้เลย แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นดั่งหวัง เมื่อลูกสาวของเขาถูกแก๊งค้ามนุษย์ลักพาตัวไป ไบรอันจึงต้องปลุกสัญชาตญาณสายลับระดับพระกาฬเพื่อออกตามหาลูกสาวและตามคิดบัญชีทุกคนที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่าพล็อตเรื่องอาจดูไม่ซับซ้อนแถมคาดเดาตอนจบได้ง่ายตามสไตล์หนังลักพาตัวสูตรสำเร็จ แต่สิ่งที่ทำให้ Taken เป็นที่จดจำในฐานะ “ตำนาน” คือ ลวดลายการสืบสวน/ไล่ล่าของพระเอกที่เป็นสายลับรุ่นเก๋า แม้ภายนอก ไบรอัน มิลส์ จะดูเป็นหนุ่มใหญ่วัยเกษียณใจดีท่าทางเป็นมิตร แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องปัดฝุ่น
สกิลการสืบสวนไล่ล่า ตัวหนังก็แสดงเห็นถึงทักษะการต่อสู้  ไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมไปถึงโลกของสายลับที่เต็มไปด้วยเครือข่ายที่โยงใยกันอย่างซับซ้อน เรียกได้ว่า Taken คือหนังลักพาตัวพล็อตแสนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาจนคุณต้อง “เซอร์ไพรส์” อย่างแน่นอน

2. Gone Baby Gone (2007)

หากพูดถึงชื่อ เบน แอฟเฟล็ก (Ben Affleck) หลายคนคงคิดถึงเขาในฐานะนักแสดงที่มีใบหน้าเคร่งขรึม ชอบเล่นแต่บทเดิม ๆ แทบทุกเรื่อง แต่จะมีสักกี่คนที่คิดถึงเขาในฐานะ “ผู้กำกับ” ฝีมือระดับเทพ โดยเฉพาะด้านการเล่าเรื่องที่ชาญฉลาดจนหาตัวจับได้ยาก โดย Gone Baby Gone คือผลงานกำกับชิ้นแรกของ เบน แอฟเฟล็ก และยังเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้เขาในกลายมาเป็นผู้กำกับอัจฉริยะอีกคนหนึ่งของวงการ  โดยหนังบอกเล่าเรื่องราวของคู่รักนักสืบที่ถูกว่าจ้างให้มาตามหาเด็กสาววัย 4 ขวบที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เมื่อทั้งคู่ค่อย ๆ สืบสาวราวเรื่องไปเรื่อย ๆ พวกเขาก็พบว่ามันเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่มจนเรียกได้ว่าไม่ว่าใครที่เกี่ยวข้องกับเด็กสาวที่หายตัวไปล้วนแล้วแต่มีสิทธิ์ลักพาตัวเธอได้ทั้งนั้น เมื่อปมหนึ่งถูกคลี่คลาย พวกเขาก็จะพบอีกปมหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในนั้นเหมือนกับการเปิดตุ๊กตาแม่ลูกดกที่พวกเขาจะต้องเปิดไปทีละชั้น ๆ จนเมื่อถึงชั้นสุดท้าย คนดูก็จะถูกดึงเข้าไปมีอารมณ์ร่วมกับตัวละครที่จะต้องตัดสินเลือกอะไรบางอย่างระหว่างหลักการที่ยึดถือมาทั้งชีวิตกับศีลธรรมความเป็นมนุษย์

3. Oldboy (2003)

Oldboy หรือชื่อไทยว่า เคลียร์บัญชีแค้นจิตโหด คือหนังแนวระทึกขวัญ-สืบสวนสอบสวนจากเกาหลี ฝีมือผู้กำกับมือฉมังอย่าง Park Chan-wook แม้หนังเรื่องนี้จะถูกฮอลลีวู้ดนำไปรีเมคใหม่ในชื่อ Old boy (2013) ซึ่งได้ดาราดังอย่าง จอช โบรลิน, อลิซาเบธ โอลเซ่น และซามูเอล แอล. แจ็กสัน มาเป็นนักแสดงนำ แต่หากพูดถึงความคลาสสิคและความดาร์คแบบหลอนทุกโสดประสาทแล้ว Oldboy ต้นฉบับเกาหลีในปี 2003 คือเรื่องที่เราอยากแนะนำ

โดยเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ “โอแทสึ” ชายหนุ่มที่ตื่นขึ้นมาในห้องแห่งหนึ่ง โดยเขาไม่รู้ว่าตัวเองมาโผล่ที่นี่ได้อย่างไรและทำไมต้องมาอยู่ที่นี่ เขาถูกขังอยู่ในห้องนี้ถึง 15 ปีเต็ม จนถูกปล่อยตัวออกมา เขาพยายามจะสืบหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ จนได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ชื่อว่า “มิโด” ที่ได้ช่วยเหลือเขาในการตามล่าหาความจริงและคนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้

เรียกได้ว่าไม่สามารถเล่าเรื่องย่อหรือรายละเอียดของหนังได้มากกว่านี้ เพราะมันจะกลายเป็นการเปิดเผยส่วนที่ทรงคุณค่าที่สุดของหนังไป บอกได้เพียงว่าหนังเรื่องนี้คือหนึ่งใน “ตำนาน” ของหนังแนวพล็อตทวิสหรือ “หักมุม” ชนิดที่ขยี้จิตใจของคนดูจนแหลกละเอียดไม่มีชิ้นดี โดยหนังเกือบทั้งเรื่องจะคอยทำหน้าที่บิ้วอารมณ์คนดูและเค้นอารมณ์คนดูให้มีอามรมณ์ร่วมกับตัวละครจนกระทั่งถึงจุดพีคช่วงท้ายของหนัง คุณก็จะพบว่าจิตใจและศีลธรรมความเป็นมนุษย์ของคุณถูกคนเขียนบทขยี้จนแหลกสลายไปอย่างงดงามไร้ที่ติ หากใครชอบหนังแนวท้าทายศีลธรรมความเป็นมนุษย์ Oldboy คือเรื่องที่คุณพลาดไม่ได้

4.Gone Girl (2014)

Gone Girl ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกันของ Gillian Flynn และกำกับโดย David Fincher ผู้กำกับขั้นเทพที่เคยฝากผลงานระดับตำนานไว้มากมาย เช่น Se7en (1995), Fight Club (1999), Zodiac (2007) และ The Girl with the Dragon Tattoo (2011) โดยตัวหนังเล่าเรื่องชีวิตของ “นิค” และ “เอมี่” คู่สามีภรรยาที่ดูปกติเหมือนคู่สามีภรรยาทั่วไป จนกระทั่งวันหนึ่ง เอมี่เกิดหายไปตัวอย่างลึกลับในวันครบรอบแต่งงาน ทิ้งไว้เพียงร่อยรอยการต่อสู้และคราบเลือดภายในบ้าน เบาะแสต่าง ๆ ล้วนชี้ไปที่สามีอย่างนิค แม้ตำรวจจะยังหาหลักฐานที่แน่นหนามาดำเนินคดีเขาไม่ได้ แต่ข่าวที่แพร่สะพัดออกไปในสังคมก็ทำลายชีวิตของนิคอย่างไม่มีชิ้นดี เขาถูกสื่อต่าง ๆ ประโคมข่าวว่าเป็น “ฆาตกร” ที่ฆ่าภรรยาผู้น่าสงสารของตัวเองอย่างโหดเหี้ยม ทางเดียวที่เขาจะพ้นมลทินคือการตามหาตัวเอมี่ให้พบพร้อมกับค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ 

เรียกได้ว่า Gone Girl คือหนังที่พยายามนำเสนอเรื่อง “ชีวิตคู่” ได้อย่างเจ็บแสบ แถมยังตีแสกหน้านิยามความรักแบบหวานแหวว/โรแมนติกจนหน้างาย หนังแสดงให้เราเห็นว่าชีวิตคู่และความรักในโลกสมัยนี้มันไม่ได้มีแค่เรื่องสดใสสวยงามที่พระเอกและนางเอกเจอกัน ตกหลุมรักกัน และแต่งงานกันอย่างมีความสุข สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของชีวิตคู่ เหมือนกับยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่อยู่เหนือน้ำ แต่ส่วนที่อยู่ใต้น้ำซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของภูเขาน้ำแข็งคือความจริงอันโหดร้ายอีกด้านของชีวิตคู่ที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ความเบื่อหน่าย คำโกหก และการแสดงธาตุแท้หรือตัวตนที่แท้จริงของแต่ละคนหลังจากแต่งงาน  โดยตัวหนังจะค่อย ๆ พาเราไปสำรวจชีวิตแต่งงานในมุมมองของทั้งสองฝ่ายพร้อมกับคลายปมปริศนาต่าง ๆ ว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับเอมี่ จนเมื่อถึงช่วงพีคในช่วงท้ายเรื่อง เราอาจจะเกิดคำถามขึ้นว่า “เรารู้จักคนรักของเราดีแค่ไหน?”

https://www.youtube.com/watch?v=esGn-xKFZdU

5.Along Came a Spider (2001)

Along Came a Spider ดัดแปลงจากเนื้อเรื่องบางส่วนของนิยายขายดีจากปลายปากกา เจมส์ แพ็ทเทอร์สัน เรื่อง Alex Cross โดยตัวหนังเล่าเรื่องของ “อเล็กซ์ ครอสส์” (มอร์แกน ฟรีแมน) ตำรวจสืบสวนและนักจิตวิทยารุ่นเก๋าที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีการลักพาตัวลูกสาวนักการเมืองระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ ครอสส์ต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่าง “เจซซี แฟลนนิแกน” (โมนิก้า พ็อตเตอร์) เพื่อหยุดแผนการร้ายของผู้ที่อยู่เบื้องหลังและติดตามตัวเด็กสาวที่ถูกลักพาตัวไปให้ได้

หากคุณเป็นเด็กยุค 90 ที่โตมาเก็บหนังแนวสืบสวนสอบสวนที่ตัวละครเอกมีทั้งความเก่งและความเก๋า สืบสวนโดยใช้หลักจิตวิทยาอันแยบยลบวกกับสัญชาตญาณในการคลี่คลายคดี มีการหักมุมเล็กน้อยในตอนท้าย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของหนังสืบสวนสอบสวนยุค 90 คุณก็ไม่ควรพลาด Along Came a Spider เพราะคุณจะได้ลุ้นไปกับการตามล่าหาเบาะแสต่าง ๆ ที่จะเชื่อมโยงไปถึงตัวคนร้าย แถมพระเอกอย่างอเล็กซ์ ครอสส์ก็โชว์ความเก่งและความเก๋าด้านการสืบสวน รวมถึงไหวพริบปฏิภาณในการต่อกรกับคนร้ายตัวจริงได้แบบมีกึ๋นตามสไตล์นักสืบในหนังยุค 90 แม้ว่า Along Came a Spider จะค่อนข้างเป็นหนังสืบสวน “สูตรสำเร็จ” ตามสไตล์ยุค 90 ไปบ้าง (จนหลายอาจเดาเนื้อเรื่องได้ตั้งแต่ช่วงกลางเรื่อง) แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ลดความ
สนุกตื่นเต้นของหนังเรื่องนี้ไปเลยแม้แต่น้อย

6.Prisoners (2013)

หนังดราม่า-สืบสวนสอบสวนสุดเข้มข้นที่ว่าด้วยเรื่องราวของ 2 ครอบครัวระหว่างครอบครัวของ “โดเวอร์” (ฮิวจ์ แจ็คแมน) และครอบครัวของ “แฟรงคลิน” (เทอร์เลนซ์ โฮเวิร์ด) เพื่อนสนิทที่ใช้ช่วงเวลาวันหยุดมาจัดปาร์ตี้ทานข้าวที่บ้านกันอย่างมีความสุข แต่แล้วลูกสาวของทั้ง 2 ครอบครัวกลับหายตัวไปในระหว่างออกไปวิ่งเล่นอย่างเป็นปริศนา ทำให้โดเวอร์และแฟรงคลินออกพึ่งนักสืบ “โลกิ” (เจค จิลเลนฮาล) ให้เข้ามาช่วยตามหาเด็กสาวทั้งสอง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้คดีไม่คืบหน้า โดเวอร์จึงหมดความอดทนและออกตามหาลูกสาวด้วยตัวเองโดยไม่สนกฎหมาย 

เรียกได้ว่า Prisoners  คือหนังที่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภาพและสภาพแวดล้อมที่ถูกเซ็ตขึ้นให้ความรู้สึกหม่นหมองซึมเศร้า สอดคล้องกับสภาวะทางอารมณ์ของตัวละครที่เต็มไปด้วยความกดดันและการถูกบีบคั้นทางอารมณ์  แถมปมปริศนาต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ คลี่คลายก็เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคนดูอย่างชาญฉลาด ในแง่หนึ่งหนังก็ให้คนดูสำรวจจิตใจของตัวเองไปพร้อมกันว่าว่าหากเราเป็น โดเวอร์ ที่กำลังคลั่งกับการตามหาลูกสาวที่หายไป เราจะทำอย่างเดียวกับโดเวอร์หรือไม่? พูดอีกนัยหนึ่งคือหนังเล่นกับความรู้สึกที่ขัดแย้งกันของคนดูว่าจะเลือกอะไร ระหว่างความถูกต้องกับลูกสาวผู้เป็นที่รัก

7.Changeling (2008)

หนังดัดแปลงจากเรื่องจริงสุดสะเทือนขวัญในอเมริกาช่วงปี 1928 ที่บอกเล่าเรื่องราวของ “คริสติน คอลลินส์” (แอนเจลีนา โจลี) คุณแม่ลูกหนึ่งที่อยู่ ๆ ลูกชายวัย 9 ขวบของเธอหายไปจากบ้านอย่างลึกลับ เธอจึงรีบขอความช่วยจากตำรวจเมืองลอสแอนเจลิส ไม่นานเธอก็ได้รับข่าวดีว่าตำรวจสามารถตามหาลูกชายของเธอพบแล้วและกำลังพาตัวกลับมา แต่เธอกลับพบว่าเด็กชายที่ตำรวจพามาส่งนั้น “ไม่ใช่ลูกชายของเธอ” คริสตินพยายามขอร้องให้ตำรวจตามหาลูกชายตัวจริงของเธอ แต่กรมตำรวจไม่อยากยอมรับการทำงานผิดพลาดของตัวเอง พวกเขาจึงพยายามยัดเยียดให้เธอรับเด็กคนนี้ไว้  คริสตินจึงต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อบอกให้สังคมรับรู้ว่านี่ไม่ใช่ลูกของเธอ ในขณะเดียวกันกรมตำรวจก็พยายามปกปิดการทำงานที่ผิดพลาดนี้ด้วยการข่มขู่และคุกคามชีวิตของคริสติน

พูดได้ว่า Changeling คือหนังดราม่าสุดเข้มข้นที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและจิตวิญญาณของความ “แม่” อย่างแท้จริง ตัวหนังจะให้เราได้เห็นเรื่องราวของแม่ที่ไม่เพียงแต่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากการสูญเสียลูกชาย แต่เธอยังต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวกับการใช้อำนาจเหนือกฎหมายของหน่วยงานรัฐที่พยายามปกปิดความผิดพลาดของตัวเองทุกวิถีทาง  ภาพของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ยืนหยัดต่อกรกับการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของข้าราชการอย่างทรหดอดทน บวกกับกลิ่นอายของหนังแนวสืบสวนสอบสวนที่จะทำให้เราลุ้นและเอาใจช่วยไปกับการติดตามหาตัวลูกชายของคริสติน Changeling จึงเป็นหนังแนวลักพาตัวอีกเรื่องหนึ่งที่จะพลาดไม่ได้

8.Room (2016)

เรื่องราวของ “จอย” (บรี ลาร์สัน) เด็กสาวใสซื่อที่ถูกชายที่ชื่อ “นิค” จับมาขังไว้ที่ห้องเก็บของหลังบ้านเพื่อใช้เป็นเครื่องบำบัดความใคร่กว่า 7 ปี จนกระทั่งหลายปีต่อมา จอยได้ให้กำเนิด “แจ๊ค” ลูกชายของเธอกับนิค เธอเลี้ยงดูแจ๊คด้วยความรักและความเอาใจใส่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แจ๊คไม่เคยได้เห็นโลกภายนอกผนังห้อง จนกระทั่งจอยตัดสินใจจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้แจ๊คได้ออกไปมีชีวิตยังโลกภายนอกพร้อมกับอิสรภาพ แต่อิสรภาพของเธอกับแจ๊กนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

เรียกได้ว่า Room คือหนังสร้างชื่อของ “แม่” แห่งจักรวาลมาเวลอย่าง “บรี ลาร์สัน” (Brie Larson) เลยก็ว่าได้ เพราะบรี ลาร์สันแทบจะต้องแบกรับหนังทั้งเรื่องไว้คนเดียว เนื่องจากเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ล้วนโฟกัสอยู่ที่ตัวละครของเธอ จอยคือตัวละครที่มีมิติและความซับซ้อนทางอารมณ์สูง มุมหนึ่งจอยคือเด็กสาวที่หวาดกลัว ไร้หนทางต่อสู้ แต่อีกมุมหนึ่งเธอยังคงเป็น “แม่” ที่เข้มแข็งคอยดูแลและปกป้องลูกชายตัวน้อยของเธอจากความจริงอันโหดร้ายเพื่อให้เขายังมีโลกที่สวยงามแบบที่เด็กทุกคนควรจะมีต่อไป ด้วยฝีมือการแสดงที่ยอดเยี่ยมนี้จึงส่งให้เธอไปคว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากหนังเรื่องนี้ 

9.Saw (2004)

เรื่องราวของชายหนุ่ม 2 คน ได้แก่ อดัม (ลีห์ วานแนล) และ กอร์ดอน (แครี่ เอ็ลเวส) ที่ถูกฆาตรกรโรคจิตนามว่า “จิ๊กซอว์” ลักพาตัวมาขังรวมกันไว้ในที่ที่ดูเหมือนห้องน้ำแห่งหนึ่ง พวกเขาทั้งสองคนถูกบังคับให้ต้องเล่นเกมโรคจิตสุดโหดเพื่อแลกกับการมีชีวิตรอดไปจากที่นี่

แทบไม่ต้องพูดอะไรมากเพราะนี่คือ “ตำนาน” หนังสยองขวัญสุดโหดฝีมือการกำกับของเจ้าพ่อหนังสยองขวัญอย่าง “เจมส์ วาน” โดยตัวหนังจะตัดสลับเรื่องราวย้อนอดีตของทั้งคู่ก่อนที่จะถูกลักพาตัวมาเล่นเกมส์ว่าเขาทั้งคู่ทำอะไรมาก่อนจะมาโผล่ที่ห้องน้ำแห่งนี้  ตัดสลับกับเรื่องราวของตำรวจที่พยายามตามล่าตัวจิ๊กซอว์อยู่ยังโลกภายนอก ก่อนที่จะหนังจะนำคนดูไปพบกับบทสรุปที่เรื่องราวของตัวละครทุกตัวมาบรรจบกันและเปิดเผยเหตุผลและแรงจูงใจของฆาตกรที่ชื่อจิ๊กซอว์ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการสร้างตัวร้ายที่น่าจดจำที่สุดตัวหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์

10.The Silence of the lambs (1991)

เรื่องราวของ “แคลลิช สตาร์ลิ่ง” (โจดี ฟอสเตอร์) ตำรวจสาวไฟแรงที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมสืบคดีฆาตกรรมและลักพาตัวหญิงสาวของฆาตกรต่อเนื่องสุดโหดเจ้าของฉายา “Buffalo Bill” โดยสตาร์ลิ่งต้องเข้าไปสัมภาษณ์ ดร. ฮันนิบาล เล็กเตอร์ (แอนโทนี ฮ็อปกินส์) ฆาตกรโรคจิตอัจฉริยะที่ถูกขังอยู่ในคุกเพื่อหาข้อมูลในการจับตัว Buffalo Bill  แต่สิ่งที่ฮันนิบาลเรียกร้องก็คือให้เธอเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอทั้งหมดเป็นการแลกเปลี่ยน

หากพูดถึงหนังสืบสวนสอบสวนที่เคยมีมาทั้งหมดในโลก The Silence of the lambs คือหนึ่งในหนังสืบสวนสอบสวนที่ดีที่สุดตลอดกาลก็ว่าได้ อีกทั้งยังเป็นหนังที่บุกเบิกยุคทองของหนังสืบสวนสอบสวนยุค 90 ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อหนังแนวสืบสวนสอบสวนในยุค 90  หนังเรื่องนี้คือส่วนผสมที่ลงตัวของหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องสืบสวนอย่างมีชั้นเชิงแทรกความระทึกขวัญไว้ได้อย่างลงตัว แถมมีกลิ่นอายของหนังแนวสยองขวัญที่บีบให้คนดูต้องลุ้นระทึกบางช่วง รวมถึงบทภาพยนตร์ในเชิงจิตวิทยาซึ่งเล่นกับอารมณ์หรือปมลึก ๆ ของตัวละคร  ยังไม่นับฝีมือการแสดงระดับปรมาจารย์ของ แอนโทนี ฮ็อปกินส์ ที่ส่งให้เขาไปคว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอีกด้วย โดยฉากจำที่กลายเป็นตำนานฉากหนึ่งของโลกภาพยนตร์ คือ ฉากที่แสดงสีหน้าและแววตาสุดโรจจิตชวนขนลุกของฮันนิบาล เล็กเตอร์ที่ถูกขังอยู่ในคุก

Text – Exocet

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save