10 ภาพยนตร์ “ปฏิวัติ” ยอดเยี่ยมที่คุณไม่ควรพลาด - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
10 ภาพยนตร์ “ปฏิวัติ” ยอดเยี่ยมที่คุณไม่ควรพลาด

เป็นที่รู้กันดีว่ามนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” ต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม คอยช่วยเหลือกันและพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอยู่รอด เมื่อมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันจำนวนมากก็ย่อมต้องมีการจัดระบอบการปกครอง ระเบียบแบบแผน รวมถึงกฎกติกาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

แต่บ่อยครั้งที่โครงสร้าง/กฎกติกาถูกตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม เต็มไปด้วยการกดขี่และความไม่เท่าเทียม  บทเรียนในประวัติศาสตร์แทบทุกยุคทุกสมัยจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวการลุกฮือขึ้นของมวลชนเพื่อโค่นล้มระบอบและกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมนี้ หากทำสำเร็จก็เรียกว่า “ปฏิวัติ” แต่ถ้าหากแพ้ก็จะกลายเป็น “กบฏ”  แม้แต่ในปัจจุบัน เรื่องราวทำนองนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ดังนั้น เราจึงขอแนะนำ 10 หนัง “ปฏิวัติ” ยอดเยี่ยมที่คุณไม่ควรพลาด

1. Snowpiercer (2013)

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง มนุษย์ที่เหลือเพียงหยิบมือต้องอาศัยอยู่บนรถไฟขนาดยักษ์ที่วิ่งไปรอบโลกแบบไม่มีวันหยุด ภายในรถไฟผู้โดยสารทุกคนจะถูกแบ่งกลุ่มตาม “ตั๋ว” ไล่ตั้งแต่ชั้น 1 ซึ่งอยู่หัวขบวนไปจนถึงผู้โดยสารชั้นสุดท้ายที่อยู่ท้ายขบวน โดยผู้โดยสารหัวขบวนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่หรูหราสุขสบาย ในขณะที่ผู้โดยสารท้ายขบวนกลับถูกกดขี่ข่มเหงและปล่อยให้อดอยากแทบจะกินกันเอง ทำให้ชนชั้นล่างจึงตัดสินลุกฮือขึ้นเพื่อก่อการปฏิวัติบนขบวนรถไฟ

Snowpiercer คือหนังแอคชั่น-ไซไฟที่โดดเด่นด้วยพล็อตเรื่องสุดแหวกแนว แถมชื่อผู้กำกับอย่าง “บองจุนโฮ ผู้” (ผู้กำกับ The Host. Mother, Parasite) ก็ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจขึ้นอีกเท่าตัว โดยตัวหนังจะฉายภาพให้เราเห็นชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วระหว่างชนชั้นท้ายขบวนที่ถูกพวกผู้โดยสารหัวขบวนกดขี่ข่มเหง พวกเขาต้องอยู่อย่างอดอยากจนแทบกินกันเองกับพวกหัวขบวนที่ใช้ชีวิตหรูหราสุขสบายไม่ต่างกับอยู่โรงแรม 5 ดาว  สภาพที่ต่างแตกกันสุดขั้วของ 2 ชนชั้น ทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมไปกับชะตากรรมและความเจ็บปวดของชนชั้นท้ายขบวนได้เป็นอย่างดี กว่าจะรู้ตัวอีกที เราก็อินไปกับการลุกขึ้นปฏิวัติของเคอร์ติส (คริส อีแวนส์) แล้ว  แต่เมื่อถึงจุดไคลแมกซ์ที่เฉลยปมทุกอย่าง เราอาจจะต้องถามตัวเองว่าการปฏิวัติคือสิ่งที่ถูกต้องจริงหรือ ? แล้วเราจะเลือกยืนอยู่ข้างไหนกันแน่

2. V For Vendetta (2005)

เมื่อประเทศอังกฤษถูกปกครองโดยผู้นำจอมเผด็จการ ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง ไม่กล้าแม้แต่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนกระทั่งวันหนึ่งชายใส่หน้ากากที่เรียกตัวเองว่า “V” ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับแผนการที่จะกอบกู้อิสรภาพของประชาชนและโค่นล้มทรราชย์ลงจากบัลลังก์

V For Vendetta คือหนังที่เป็นส่วนผสมของหนังแอคชั่น-ดราม่าที่จะทำให้หัวใจของคุณโชดช่วงไปด้วยไฟแห่งเสรีภาพ โดยตัวหนังดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลักอย่าง “อีวี่” (นาตาลี พอร์ตแมน) นักข่าวสาวที่ต้องเข้าไปพัวพันกับ “V” ชายสวมหน้ากากลึกลับที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ด้วยเนื้อที่โดดเด่น โดยเฉพาะฉากแอคชั่นและอุดมการณ์ทางการเมืองที่หนังสามารถนำเสนอ “จุดอ่อน” ของพวกเผด็จการได้อย่างคมคาย หนังทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่ทำให้เผด็จการกลัวหัวหดไม่ใช่กำลังอาวุธ แต่เป็น “ประชาชน” ที่ลุกฮือขึ้นมาต่อสู้กับมัน  หนังเรื่องนี้อาจทำให้คุณรู้สึกหวงแหนอิสรภาพและเสรีภาพของตัวเองมากขึ้นก็เป็นได้

3. Les Misérables (2012) 

หนังเพลงที่สร้างจากเรื่องจริงที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทกวีของนักกวีชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ “วิกตอร์ อูโก” ซึ่งใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสพบกับเหตุการณ์ยุ่งยากมากมาย ทั้งการแบ่งชนชั้น กษัตริย์ที่ข่มเหงประชาชน และการปฏิวัติต่อสู้ของประชาชนเพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม จนนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

Les Misérables ค่อนข้างแตกต่างไปจากหนังทั่วไปตรงที่มันเป็น “หนังเพลง” ที่ใช้การร้องเพลงแทนบทพูดแทบจะทั้งเรื่อง ทำให้อาจจะต้องอาศัยการเปิดใจดูสักเล็กน้อย แน่นอนว่ามันจะให้อารมณ์ที่แตกต่างไปจากการดูหนังทั่วไป แต่สิ่งหัวใจสำคัญของ Les Misérables ทั้งฉบับวรรณกรรมและหนังคือ การสื่อถึงความ “อยุติธรรม” และความ “ไม่เท่าเทียม” กันของคนในสังคม  คนร่ำรวยและชนชั้นสูงใช้ชีวิตหรูหราสุขสบายที่ขูดรีดมาจากเลือดของคนชั้นล่าง  “การปฏิวัติ” จึงเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้พวกเขาได้รับความเท่าเทียมแม้จะต้องแลกกับชีวิตพวกเขาก็ยอม

4. The Dark Knight Rise (2012)

หนังปิดไตรภาค Batman ฉบับ “คริสโตเฟอร์ โนแลน” ในภาคนี้ แบทแมน (คริสเตียน เบล) ต้องเผชิญหน้ากับวายร้ายสุดโหดอย่าง “เบน” (ทอม ฮาร์ดี) ที่มาพร้อมแผนการปฏิวัติครั้งใหญ่เพื่อโค่นล้มระเบียบ/กฎเกณฑ์ทั้งหลายและนำเมืองก็อตแธมเข้าสู่ยุคแห่ง “อนาธิปไตย” อย่างแท้จริง

พูดได้ว่า Batman ไตรภาคของผู้กำกับมือทองอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นมากกว่าหนังซุปเปอร์ฮีโร่ เพราะมันเป็นหนังที่สอดแทรกด้วยคำถามเชิงปรัชญาที่ว่า “ธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีหรือชั่วกันแน่ ?” ซึ่งดูเหมือนว่าโนแลนได้ใช้คำถามนี้เป็นแกนสำคัญของ Batman ทั้งสามภาค  โดยซุปเปอร์ฮีโร่อย่างแบทแมนคือตัวแทนของความว่า “ธรรมชาติของมนุษย์นั้นดี” แบทแมนจึงศรัทธาในตัวมนุษย์อย่างแรงกล้า แต่ในทางตรงข้าม วายร้ายอย่าง “โจ๊กเกอร์” และ “เบน” คือตัวแทนของความคิดที่ว่า “ธรรมชาติของมนุษย์นั้นชั่วร้าย” เราจึงเห็นวายร้ายสองตัวนี้พยายามพังกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนของสังคมเพื่อปลดปล่อยธาตุแท้อันชั่วร้ายของมนุษย์ออกมา  The Dark Knight Rise จึงเป็นหนังที่จะทำให้เราเห็นภาพว่า เมื่อสังคมกลายเป็นอนาธิปไตยที่ไร้ซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์แล้ว มนุษย์นั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง

5. Star Wars Episode 6 Return of the Jedi (1983)

หนังปิดไตรภาคแรกของมหากาพย์ Star Wars โดยในภาคนี้ กลุ่มกบฏที่นำโดย “ลุค สกายวอคเกอร์” (Mark Hamill) และ “เจ้าหญิงเลอา” (Carrie Fishe) จะต้องทำสงครามขั้นแตกหักกับกองทัพอันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิ หากพวกเขาพ่ายแพ้ทั้งจักรวาลก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของ “ซิธลอร์ด” ตลอดไป

เรียกได้ว่า Star Wars คือ แฟรนไชส์หนังสงครามอวกาศระดับตำนานที่แทบทุกคนต้องรู้จักเลยก็ว่าได้ แต่อย่าให้แสงสีและความสนุกตื่นเต้นของตัวหนังหลอกคุณได้เชียว เพราะแม้ Star Wars จะเต็มไปด้วยการต่อสู้และการผจญภัยล้ำจินตนาการ แต่แก่นของเรื่องมันกลับอัดแน่นไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอันเข้มข้นระหว่างฝ่ายกบฏที่ต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” กับฝ่ายจักรวรรดิที่ต้องการปกครองจักรวาลแบบ “เผด็จการ”  เช่นเดียวกับหนังการเมืองเรื่องอื่น ๆ Star Wars ให้เราเห็นภาพการต่อสู้ของกลุ่มกบฏที่ลุกฮือขึ้นก่อการปฏิวัติเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตย เพียงแต่การต่อสู้ของ Star Wars นั้นเปลี่ยนฉากหลังจากถนนและเมืองไปเป็น “อวกาศ” เท่านั้นเอง  

6. VALKYRIE (2008)

สร้างจากเรื่องจริงที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทหารและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่งตัดสินใจลุกขึ้นก่อการปฏิวัติโค่นล้มการปกครองที่แสนชั่วร้ายพวกนาซีที่นำโดยผู้นำจอมเผด็จการอย่าง “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์”  พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องเดิมพันด้วยชีวิตตัวเองและคนที่ตัวเองรักเท่านั้น แต่ยังเดิมพันด้วยอนาคตของประเทศเยอรมนีทั้งประเทศอีกด้วย

สำหรับใครที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 มาบ้างอาจจะพอเดาตอนจบของหนังได้ว่าสุดท้ายแผนการก่อปฏิวัติครั้งนี้สำเร็จหรือไม่หรือฮิตเลอร์ตายอย่างไร  แต่ถึงอย่างนั้น บางครั้งในการเดินทาง  “จุดหมาย” อาจจะไม่สำคัญเท่าสิ่งที่ได้เจอ “ระหว่างทาง”  ซึ่ง VALKYRIE คือหนังประเภทนั้น คือแม้หลายคนจะรู้ตอนจบ แต่ความสนุกของมันก็ไม่ได้น้อยลงเลย เพราะหนังมันทำให้คนดูต้องคอยลุ้นและเอาใจช่วยไปกับกลุ่มปฏิวัติทั้งในช่วงวางแผนและช่วงลงมือปฏิบัติการ เรียกได้ว่าหนังแทบจะดึงคนดูเข้าไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งของฝ่ายปฏิวัติเลยก็ว่าได้ แถมบทสรุปยิ่งทำให้เราเห็นถึงความชั่วร้ายของเผด็จการ เมื่อคุณดูหนังจบ คุณอาจจะเกลียดระบอบเผด็จการมากขึ้นเป็นเท่าตัวก็เป็นได้

7. The Hunger Games: Mockingjay – Part 1 (2014)

เรื่องราวของ Mockingjay Part 1 ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่ “แคทนิส” (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ถูกกลุ่มกบฏพาตัวไปที่เขต 13 ร่วมกับบรรณาการคนอื่น ๆ ส่วน “พีต้า” (จอช ฮัทเชอร์สัน) ถูกแคปิตอลจับตัวไป หลังจากที่แคทนิสเห็นถึงความเลวร้ายที่แคปิตอลเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยม เธอจึงตัดสินใจร่วมมือกับกลุ่มกบฏเพื่อปลุกระดมมวลชนทั้งพาเน็มให้ลุกขึ้นมาโค่นล้มแคปิตอล

พูดได้ว่าเนื้อเรื่องในภาคนี้ส่วนใหญ่เน้นไปทางดราม่า-การเมืองแบบจัดเต็ม ผิดกับภาคก่อน ๆ ที่เป็นแนวแอคชั่น-ไซไฟ  ดังนั้นหากใครที่ชอบ 2 และหวังจะได้ดูฉากแอคชั่นมัน ๆ ลุ้น ๆ อาจจะรู้สึกหงุดหงิดบ้างเล็กน้อย  แต่ถ้าใครชอบหนังแนวชิงไหวชิงพริบทางการเมือง อาจจะรักภาคนี้เลยก็ได้ เพราะตัวหนังจะพาเราไปทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “โฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda) ภายใต้หลักที่ว่า “ใครคุมสื่อได้ก็สามารถควบคุมมวลชนได้”  ทั้งกลุ่มกบฏและพาเน็มจึงต้องมีสื่อและโฆษณาชวนเชื่อของตัวเองเอาไว้ปลุกระดมมวลชน  แคทนิสถูกกลุ่มกบฏทำให้กลายเป็น “ม็อกกิ้งเจย์” สัญลักษณ์ของการปลดแอก คำพูดเพียงไม่กี่คำของแคทนิส สามารถปลุกระดมมวลชนทั้งพาเน็มให้ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับแคปิตอลได้ ในขณะที่พีต้าถูกแคปิตอลใช้ให้พูดจาเกลี้ยกล่อมมวลชนให้ภักดีต่อแคปิตอล  เมื่อคุณดูจบ คุณอาจจะเข้าใจการเมืองในสื่อรอบตัวคุณมากขึ้นก็เป็นได้

8. Gladiator (2000)

หนังอิงประวัติศาสตร์จักรวรรดิโรมันที่เคยรุ่งเรืองเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน เรื่องราวของ “แม็กซิมัส” (รัสเซล โครว์) ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ที่ถูกพิษการเมืองเล่นงานจนเขาต้องสูญเสียครอบครัว ส่วนตัวเองก็ต้องหลบหนีจนถูกจับไปเป็นนักสู้บนสังเวียนประลองที่เรียกว่า “แกลดดิเอเตอร์”  แม็กซิมัสจึงวางแผนโค่นล้มจักรพรรดิทรราชย์เพื่อกอบกู้จักรวรรดิโรมันและแก้แค้นให้กับคนที่เขารัก  

เรียกได้ว่า Gladiator เป็นหนังระดับตำนานสุดคสาสสิคอีกเรื่องหนึ่ง การันตีด้วยรางวัลออสการ์ถึง 3 สาขา หนึ่งในนั้น คือ รางวัลออสการ์สาขา “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” โดยตัวหนังเป็นแนวแอคชั่นพีเรียดแบบเต็มสูบ ทั้งหอก ดาบ ขวาน และอาวุธอีกสารพัดที่เป็นส่วนหนึ่งของฉากแอคชั่นแบบเลือดสาด แถมทำออกมาได้ยิ่งใหญ่ราวมกับพลิกฟื้นกรุงโรมเมื่อ 2,000 ปีก่อนขั้นมาใหม่ แต่เหนืออื่นใด แกนหลักของ Gladiator คือการต่อสู้กันระหว่าง “ทรราชย์” ที่กระหายอำนาจและ “ผู้ถูกกดขี่” ที่ต้องการอิสรภาพและความเท่าเทียม  ดังนั้น Gladiator จึงเป็นหนังที่จะทำให้คุณเข้าใจว่า “เราจะเห็นธาตุแท้ของคนเมื่อเขามีอำนาจสูงสุดอยู่ในมือ”

9. THE PATRIOT (2000)

หนังอิงประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 18 เรื่องราวของ “เบนจามิน มาร์ติน” (เมล กิบสัน) อดีตนายทหารที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐเซาท์แคโรไลนา แต่แล้วชีวิตอันสงบสุขของเขาและครอบครัวก็พังครืน เมื่อเกิดสงครามปฏิวัติอเมริกาขึ้นในปี 1776 กองทัพอังกฤษได้คร่าชีวิตลูกชายคนหนึ่งของเขาไป เบนจามินจึงต้องจับอาวุธลุกขึ้นสู้อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่ออิสรภาพและเอกราชของประเทศชาติ

THE PATRIOT คือหนังแนวแอคชั่น-พีเรียดสุดคลาสสิคอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ว่าผ่านไปอีกกี่ปีก็ต้องมีคนพูดถึงอยู่เสมอ เพราะนอกจากฉากแอคชั่นที่ดูสนุกตื่นเต้นแทบทั้งเรื่องแล้ว พล็อตของตัวหนังที่อิงอยู่กับ “สงครามปฏิวัติอเมริกา” มันก็ทรงพลังจนทำให้คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพของชาวอเมริกันในยุคนนั้น  ความโหดร้ายที่อังกฤษทำต่อชาวอเมริกันหรือความสูญสียที่ชาวอเมริกันต้องยอมแลกมาเพื่อให้ซึ่งอิสรภาพและเอกราช ทั้งหมดนี้มันทำให้คนดูลุ้นและเอาใจช่วยไปกับการปฏิวัติในครั้งนี้แบบไม่รู้ตัว  พูดได้ว่า THE PATRIOT จะทำให้คุณเข้าใจว่าทำไมชาวอเมริกันถึงภูมิใจในอิสรภาพและเสรีภาพของตัวเองอย่างทุกวันนี้

10. Law Abiding Citizen (2009)

เรื่องราวของ “ไคลด์ เชลตัน” (เจอราร์ด บัตเลอร์) พ่อบ้านหนุ่มที่ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขกับภรรยาและลูกสาวแสนน่ารัก จนกระทั่งครอบครัวของเขาถูกฆ่าตัวด้วยฝีมือคนร้ายที่พยายามปล้นบ้านเขา แต่กฎหมายกลับไม่สามารถมอบความยุติธรรมให้กับเขาได้ คนร้ายที่ลงมือฆ่าลูกเมียของเขาได้รับโทษสถานเบาเพียงติดคุกไม่กี่ปี แถม “นิค ไรซ์” (เจมี ฟ็อกซ์) อัยการในคดีนี้เลือกที่จะไม่ดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพราะกลัวว่าจะแพ้คดี ไคลด์จึงสิ้นศรัทธาในกฎหมายและระเบียบแบบแผนทั้งหลายแหล่ เขาจึงเริ่มวางแผนที่จะแก้แค้นให้กับคนที่เขารักและเหนืออื่นใด คือ การโค่นล้มกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมลงให้หมด

เรียกได้ว่า Law Abiding Citizen คือหนังแนวดราม่า-สืบสวนสอบสวนที่จะพาเราไปเข้าใจถึงเหตุผลของตัวละคร 2 ตัว ได้แก่ “ไคลด์ เชลตัน” สามีและพ่อผู้เห็นความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมจนต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติโค่นล้มระบบหรือ “นิค ไรซ์” อัยการที่เข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมีช่องโหว่และไม่สมบูรณ์แบบ แต่ได้ความยุติธรรมเพียงแค่เศษเสี้ยวก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย  ดังนั้น Law Abiding Citizen จึงเป็นหนังที่เล่นกับความรู้สึกและทัศนคติของคนดูว่าหากเป็นเราจะเลือกทำแบบตัวละครตัวไหนเพราะต่างก็มีเหตุผลที่เข้าใจได้ทั้งคู่ 

Text – Exocet

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save