10 ภาพยนตร์ “โค้ช” กีฬายอดเยี่ยมที่คุณไม่ควรพลาด - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
10 ภาพยนตร์ “โค้ช” กีฬายอดเยี่ยมที่คุณไม่ควรพลาด

หากพูดถึงข่าวคราววงการกีฬา ณ ตอนนี้คงไม่มีข่าวไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่แห่งเกาะอังกฤษอย่าง “ลิเวอร์พูล” หรือ “หงส์แดง” ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพียงแค่ 1 ปี สาวก Red Machine เพิ่งจะฉลองการคว้าถ้วยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกสมัยที่ 6 ไปหมาด ๆ  ความสำเร็จทั้งหมดนี้ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจาก “โค้ช” ที่ชื่อ “เยือร์เกิน คล็อพ” ซึ่งเข้ามาช่วยยกระดับทีม เพื่อเป็นการร่วมแสดงความยินดีกับเหล่าสาวกหงส์แดง เราจึงขอแนะนำ 10 หนัง “โค้ช” กีฬายอดเยี่ยมที่คุณไม่ควรพลาด

1. MILLION DOLLAR BABY (2004)

เรื่องราวของ “แฟรงกี้ ดันน์” (Clint Eastwood) โค้ชมวยรุ่นเก๋าที่เคยปั้นนักมวยอาชีพมามากมาย เขาทุ่มเทชีวิตทั้งหมดให้กับมวยจนทำให้เขาห่างเหินกับครอบครัว จนวันหนึ่ง สาวน้อยชื่อ “แมกกี้ ฟิตเจอรัล” (Hilary Swank) เดินเข้ามาในยินพร้อมกับขอให้แฟรงกี้ช่วยฝึกเธอให้เป็นนักมวยอาชีพ  การเดินทางบนเส้นทางนักสู้อันโหดร้ายของโค้ชรุ่นเก๋ากับนักมวยสาวที่มีฝันอันยิ่งใหญ่จึงเริ่มขึ้น

เรียกได้ว่าหนังเรื่องนี้ค่อนข้างแตกต่างไปจากหนังแนวกีฬาทั่วไปที่มักมีกลิ่นอายของภาพยนตร์แนว Feel Good ซึ่งส่วนมากจะเล่าถึงการต่อสู้ฝ่าฝันอุปสรรคต่าง ๆ ของตัวละครในช่วงต้นเรื่อง และมักจบลงด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในตอนจบ แต่ MILLION DOLLAR BABY กลับดำเนินเรื่องโดยจับเอาโทนของหนัง 2 โทนที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงให้มาอยู่ในเรื่องเดียวกัน โทนแรกคือโทนของหนักแนวกีฬาทั่วไปที่เต็มไปด้วยความ Feel Good จนคนดูอาจรู้สึกอมยิ้มและสนุกสนานไปกับมัน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง หนังก็จะพาเราดำดิ่งสู่โทนของความ ดราม่า หดหู่ ตึงเครียด บางคนอาจถึงขั้นเวทนาเลยก็มี ยิ่งตัวหนังได้นักแสดงระดับ “ตำนาน” ของวงการภาพยนตร์อย่าง “คลินต์ อีสต์วุด” ก็ยิ่งทำให้มิติทางอารมณ์และการแสดงออกของตัวละครยิ่งสมจริงและอารมณ์จนคนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับมันได้อย่างง่ายดาย  รับรองว่าหากคุณดูหนังจบแล้ว คุณจะไม่แปลกใจว่าทำไม MILLION DOLLAR BABY ถึงได้รางวัลออสการ์มาถึง 4 สาขา หนึ่งในนั้นคือ รางวัลออสการ์สาขา “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม”

2. CREED (2015)

เรื่องราวของ “อโดนิส จอห์นสัน” (ไมเคิล บี จอร์แดน) ลูกชายเพียงคนเดียวของอดีตแชมป์มวยโลกในตำนานอย่าง “อะพอลโล ครีด” ซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่เขายังไม่เกิดด้วยซ้ำ แต่ด้วยสายเลือดนักสู้ที่พุ่งพล่านอยู่ในตัว อโดนิสเลือกที่จะเดินขึ้นสังเวียรตามรอยพ่อ โดยการออกตามหา “ร็อกกี้ บัลบัว” (ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน) นักชกคู่ปรับตลอดกาลของพ่อและขอร้องให้เขาช่วยเป็น “เทรนเนอร์”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ร็อคกี้” คือหนังระดับตำนานที่ผู้ใหญ่แทบทุกคนย่อมรู้จักเป็นอย่างดี เพราะร็อคกี้คือแฟรนไชส์หนังที่มีอายุกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 1976 ที่ร็อคกี้ภาคแรกเข้าฉาย จนกระทั่งถึงภาค 6 ในปี 2006  นอกจากนี้หากพูดถึงชื่อ “ร็อคกี้ บัลบัว” ย่อมต้องพูดถึงชื่อ “ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน” เป็นของคู่กัน  แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าตัวสตอลโลนก็มีอายุค่อนข้างมากแล้ว การจะฟิตหุ่นล้ำบึกแสดงบทโหด ๆ เหมือนเมื่อก่อนคงเป็นเรื่องยาก  ดังนั้น การส่งไม้ต่อจากร็อคกี้ให้แก่ตัวละครรุ่นลูกอย่าง “อโดนิส จอห์นสัน” เพื่อให้สานต่อตำนานนักสู้เจ้าสังเวียรจึงดูเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างลงตัว

นอกจากนี้ หากพูดถึงตัวหนัง Creed แทบจะเดินตามรอยของ “ร็อคกี้” เพราะมันอัดแน่นไปด้วยฉากต่อยมวยที่เร้าใจ ยิ่งรวมกับเทคนิคการถ่ายทำและการตัดต่อในปัจจุบันที่ก้าวหน้ายุคของร็อคกี้อย่างมาก ทำให้เราได้เห็นแทบทุกหมัด ทุกช็อตบนสังเวียนผ้าใบ ซึ่งทำให้เรารู้สึกสมจริงราวกับอยู่บนเวทีด้วยตัวเอง จนบางคนถึงกับต้องนั่งเกร็งลุ้นไปกับฉากชกมวย แถมตัวหนังยังค่อนข้างเอาใจสาวกรุ่นเก่าที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของร็อคกี้ด้วยการดึงตัวละครและฟุตเทจวิดีโอเก่า ๆ จากเรื่องร็อคกี้มาอยู่ในหนังให้แฟน ๆ ได้หายคิดถึงอยู่บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ  ใครที่ชื่นชอบแฟรนไชส์ร็อคกี้ต้องไม่พลาด Creed

ตัวอย่าง

3. COACH CARTER (2005)

หนังสร้างจากเรื่องจริงของ “โค้ชคาร์เตอร์” (Samuel L. Jackson) โค้ชทีมบาสเก็ตบอลประจำโรงเรียนมัธยมปลายริชมอนด์ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความไร้ระเบียบวินัยแถมแต่ละคนยังมีผลการเรียนต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนแทบหาอนาคตไม่ได้ คาร์เตอร์จึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงทีมบาสเก็ตบอลให้ทุกคนในทีมรู้จักการปรับปรุงและพัฒนาตัวเองทั้งในเรื่องกีฬาและการเรียน รวมไปถึงการวางตัวทั้งในและนอกสนามแข่ง จนทีมสามารถสร้างสถิติการแข่งขันสุดเหลือเชื่อที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์บาสเก็ตบอล

พูดได้ว่า COACH CARTER คือหนังแนวกีฬาที่แตกต่างไปจากหนังกีฬาเรื่องอื่น ๆ เพราะหนังกีฬาส่วนใหญ่มักจะมีส่วนสำคัญอยู่ที่เกมการแข่งขันในสนาม แต่ COACH CARTER กลับเป็นหนังกีฬาที่เน้นเรื่องราวนอกสนามแข่งเป็นส่วนใหญ่ เพราะหนังต้องการแสดงให้เห็นถึงปรัชญาการคุมทีมของโค้ชคาร์เตอร์ที่ “กีฬา” ต้องควบคู่กับ “การศึกษา” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบวินัย การแต่งกาย การพูดจา รวมไปถึงการวางตัวที่เหมาะสมทั้งในและนอกสนาม สำหรับโค้ชคาร์เตอร์ นักกีฬามากมายเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ แต่จะมีเพียงนักกีฬาที่มีทั้งพรสวรรค์และรู้จักพัฒนาตัวเองเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ หนังเรื่องนี้จะทำให้คุณเข้าใจ

ความหมายของประโยคสุดคลาสสิคที่ว่า “กีฬาเล่นเป็นทีม แพ้เป็นทีม ชนะเป็นทีม” ว่าเป็นอย่างไร 

4. Draft Day (2014)

เรื่องราวของ “ซันนี่ วีเวอร์” (เควิน คอสเนอร์) ผู้จัดการทีมอเมริกันฟุตบอล คลีฟแลนด์ บราวน์ เขากำลังจะต้องตัดสินใจเลือกผู้เล่นใหม่เข้าทีม ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นจุดชี้ชะตาของทีมในอนาคต ท่ามกลางความกดดันของเจ้าของทีม เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเมืองที่ต่างก็ไม่ไว้ใจให้ซันซี่คุมทีมที่พวกเขารัก รวมถึงปัญหาชีวิตส่วนตัวที่รุมเร้า สิ่งเหล่านี้ถาโถมเข้ามาหาเขาอย่างไม่หยุดหย่อน โดยที่เขามีเวลาจัดการทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงเพียงแค่วันเดียว

เชื่อว่าสำหรับคนไทยอย่างเรา ๆ อาจจะไม่คุ้นเคยหรือมีความรู้เกี่ยวกับ “อเมริกันฟุตบอล” มากนัก ทำให้หลายคนเวลาดูหนังเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้อาจจะรู้สึกงงงวยในกฎกติกาและรายละเอียดต่าง ๆ ที่ไม่เข้าใจ  แต่สำหรับ Draft Day นั้นค่อนข้างแตกต่างไปจากหนังอเมริกันฟุตบอลเรื่องอื่น เพราะตัวหนังแทบไม่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันในสนามแข่งเลยแม้แต่น้อย เพราะเนื้อเรื่องส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การแข่งขันนอกสนามในส่วนของการแย่งชิงตัวนักกีฬาดาวรุ่ง ซึ่งแต่ละทีมจะต้องงัดลูกล่อลูกชนและเทคนิคในการเจรจาเพื่อให้ได้ตัวนักกีฬาที่ตัวเองหมายตาไว้ โดยตัวหนังจะพาเราไปตามติดชีวิตภายใน 1 วันของ “ซันนี่ วีเวอร์” ผู้จัดการทีมคลีฟแลนด์ บราวน์ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์สุดกดดันต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในวันเดียว  ซันนี่จะต้องเลือกระหว่างการยอมคล้อยตามเสียงกดดันรอบตัวหรือเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง ใครที่ชอบหนังแนวชิงไหวชิงพริบเต็มไปด้วยเล่เหลี่ยมแพรวพราวต้องไม่พลาด Draft Day

5. TROUBLE WITH THE CURVE (2012)

หนังว่าด้วยเรื่องราวของ “กัส” (Clint Eastwood) แมวมองนักเบสบอลรุ่นเก๋าที่อยู่ในวัยใกล้ถึงฝั่งเต็มที แต่ด้วยความรักที่มีต่อเบสบอลและจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ต่อสังขาร กัสยังคงฝืนทำหน้าที่แมวมองต่อไป  และเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่ายังทำงานได้ เขาจึงออกเดินทางไปยัง Atlanta พร้อมด้วยลูกสาว (Amy Adams) เพื่อไปดูฟอร์มการเล่นของนักเบสบอลรุ่นใหม่  ที่นี่เอง กัสและลูกสาวจึงค่อย ๆ เริ่มปรับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกและช่วยกันเฟ้นหานักเบสบอลผู้มีพรสวรรค์โดยอาศัยประสบการณ์และสัญชาตญาณแมวมองระดับเทพของกัส

เรียกได้ว่า TROUBLE WITH THE CURVE เป็นได้ทั้งหนังกีฬา หนังรัก หนังครอบครัว หนังเสียดสีธุรกิจกีฬา หรือแม้แต่หนังสะท้อนชีวิตผู้สูงอายุที่เต็มไปด้วยอารมณ์และรสชาติที่หลากหลาย ตัวหนังมีความ ดราม่าในระดับที่กำลังพอดี ไม่เข้มข้นเกินไป ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ของตัวละคร โดยเฉพาะ “กัส” ที่ใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับกีฬาที่ตัวเองรักจนห่างเหินกับคนในครอบครัว แต่เมื่อวัยชรามาถึง ทุกคนต่างต้องการครอบครัวหรือใครสักคนที่จะคอยบอกเราว่าชีวิตเรายังมีค่า เราไม่ได้รอความตายอย่างโดดเดี่ยว  เพราะฉะนั้น TROUBLE WITH THE CURVE ถือเป็นหนังกีฬาที่แฝงไปด้วยความรู้สึกอบอุ่นของครอบครัวที่ไม่ค่อยเจอในหนังกีฬาเท่าไหร่นัก ไม่แน่ว่าถ้าคุณดูหนังเรื่องนี้จบ คุณอาจจะเข้าใจผู้สูงอายุในครอบครัวมากขึ้นก็เป็นได้

6. REAL STEEL (2011)

เรื่องราวของ “ชาร์ลีย์ เคนตัน” (Hugh Jackman) อดีตนักมวยดาวรุ่งที่ชีวิตพลิกผันเป็นนักมวยตกอับ เมื่อโลกอนาคตมีการใช้หุ่นยนต์เหล็กขึ้นสังเวียรผ้าใบแทนมนุษย์ ชาร์ลีจึงผันตัวเองมาเป็นโปรโมเตอร์มวยเอาหุ่นยนต์ของตัวเองตระเวนไปขึ้นชกตามเวทีต่าง ๆ เพื่อล่าเงินรางวัล จนกระทั่งวันหนึ่ง “แม็กซ์” ลูกชายวัย 10 ขวบที่เขาแทบไม่เคยเห็นหน้าและไม่เคยมีใกล้ชิดด้วยเลยกำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา ด้วยความจำเป็น ชาร์ลีกับแม็กซ์จึงต้องแท็กทีมเป็นคู่หูออกตระเวนเดินทางไปตามสังเวียนต่าง ๆ เพื่อแข่งขัน ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ค่อย ๆ เข้าใกล้การเป็นพ่อลูกที่เข้าใจกันมากขึ้น

พูดได้ว่า REAL STEEL คือหนังกีฬาที่ผสมผสานข้อดีของหนังหลายแนวไว้ด้วยกัน ทั้งไซไฟ แอคชั่น และดราม่า ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วค่อนข้างลงตัวสุด ๆ โดยเฉพาะฉากแอคชั่นที่เรียกได้ว่าเอาคนดูอยู่หมัดจนต้องลุ้นและเอาใจช่วยไปกับเกมการแข่งขันบนสังเวียน  ส่วนของพาร์ทดราม่าก็ทำให้คนดูรู้สึกอบอุ่นและอิ่มเอมไปกลิ่นกลายของหนังแบบ Feel Good  ซึ่งตัวหนังสามารถสลับอารมณ์ของหนังระหว่างความตื่นเต้นเร้าใจกับ
ดราม่าซึ้ง ๆ ได้อย่างฉลาด เรียกได้ว่า REAL STEEL คือหนังกีฬาที่มีครบแทบทุกรสเหมาะกับทุกเพศทุกวัย

ตัวอย่าง

https://www.youtube.com/watch?v=T75j9CoBVzE

7. MONEYBALL (2011)

สร้างจากเรื่องจริงของ “บิลลี่ บีน” (Brad Pitt) อดีตนักเบสบอลที่ผันตัวเองมารับตำแหน่งผู้จัดการทีม Oakland Athletics ในช่วงที่ทีมกำลังประสบปัญหาขาดผู้เล่นตัวหลักหลายคน เนื่องจากถูกทีมใหญ่เงินหนากว้านซื้อตัวไป ขณะเดียวกันทีมก็ไม่มีเงินทุนมากพอจะซื้อนักกีฬาเกรด A มาทดแทนตัวหลักที่เสียไปได้  บิลลี่จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องสร้างทีมขึ้นมาใหม่ เขาตัดสินใจจ้าง “ปีเตอร์ แบรนด์” (Jonah Hill) นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสถิติและตัวเลขให้มาช่วยเฟ้นหาผู้เล่นฝีมือดีแต่ยังไม่มีชื่อเสียง ด้วยทฤษฎีและการอ้างอิงด้านสถิติของปีเตอร์ซึ่งแหวกแนวและแตกต่างไปจากทีมอื่น ทำให้ Oakland Athletics เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนนำไปสู่ผลลัพธ์อันน่าเหลือเชื่อที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์กีฬาเบสบอล

เรียกได้ว่านี่คือหนังกีฬาที่เต็มไปด้วยข้อมูลและรายละเอียดด้านกีฬาอย่างแท้จริง โดยตัวหนังมีฉากหรือเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันในสนามอยู่ค่อนข้างน้อย เนื้อเรื่องส่วนใหญ่โฟกัสอยู่ในออฟฟิศและโต๊ะทำงานของบิลลี่ บีนและปีเตอร์ แบรนด์ สองคู่หูที่พยายามเปลี่ยนปรัชญาการทำทีมที่เคยมีมา แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากผู้เล่นและผู้บริหารสายอนุรักษ์นิยม แต่ความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าอย่างไม่ลังเลทำให้บิลลี่และปีเตอร์ค้นพบวิถีการเลือกผู้เล่นฝีมือฉกาจแต่ค่าตัวถูกเหมือนได้ฟรี โดยการอ้างอิงตัวเลขและสถิติมากกว่าลักษณะทางกายภาพของผู้เล่น ซึ่งผิดแปลกแหวกแนวไปจากปรัชญาการทำทีมในยุคนั้น  เพราะฉะนั้น MONEYBALL จึงเป็นหนังที่เหมาะกับคนที่ต้องการแรงบันดาลใจในการลองอะไรใหม่ ๆ เพื่อหลุดออกจากกรอบเดิม ๆ

8. Secretariat (2010)

 สร้างจากเรื่องจริงของ “เพนนี่ เชเนอรี่” (Diane Lane) คุณนายวัยกลางคนที่มีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมแทบทุกอย่าง มีทั้งครอบครัวที่อบอุ่นและฐานะมั่นคง จนวันหนึ่งเธอได้รับมรดกที่ผู้เป็นพ่อทิ้งไว้ให้เป็นโรงเพาะพันธุ์ม้าแข่งพร้อมกับม้าแข่งอีกจำนวนหนึ่ง  เพนนี่จึงติดสินใจสืบทอดกิจการและความฝันของพ่อ เธอลงทุนปรับปรุงฟาร์มเพาะพันธุ์ม้าใหม่ ซื้ออุปกรณ์ใหม่ จ้างเทนเนอร์ฝึกม้าคนใหม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เธอมีลูกม้าแข่งตัวใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่า มันกำลังจะเติบโตเป็นม้าแข่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยเห็นมา 

Secretariat คือหนังกีฬาที่ค่อนข้างแปลกกว่าหนังเรื่องอื่นในแง่ของชนิดกีฬา เพราะมันเป็นหนังเกี่ยวกับการแข่งม้า ซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยเห็นหนังกีฬาชนิดนี้เท่าไหร่นัก แต่ข้อดีของมันคือคนดูแทบไม่ต้องมีพื้นความรู้เกี่ยวกับการแข่งม้าก็สามารถดูและเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็น  นอกจากนี้ตัวหนังยังเป็นแนวกีฬา-ดราม่าที่ค่อนข้างเป็นสูตรสำเร็จของหนังแนวกีฬาทั่วไป  โดยเนื้อเรื่องโฟกัสอยู่ที่ 2 ตัวละครสำคัญ คือ “เพนนี่ เชเนอรี่” คุณนายวัยกลางคนที่ต้องมารับมรดกโรงเพาะพันธุ์ม้าต่อจากพ่อ กับเจ้า “ซีเคร็ททาเรียส” (Secretariat) ลูกม้าที่รูปร่างแสนธรรมดาแต่กลับมีความเร็วอันน่าเหลือเชื่อ  ทั้งคุณนายเพนนี่และเจ้าซีเคร็ททาเรียสต่างก็คล้ายคลึงกัน คือ ทั้งคู่เกิดมาพร้อมกับความ “ธรรมดา” โดยคุณนายเพนนี่เป็นเพียงแม่บ้านที่แทบไม่เคยรู้จักการแข่งม้าหรือมีความรู้เรื่องม้าเลย ส่วนซีเคร็ททาเรียสก็เป็นม้าที่รูปร่างแสนธรรมดา ไม่สง่างามเหมือนม้าแข่งตัวอื่น ๆ ทำให้ไม่มีเจ้าของฟาร์มคนไหนต้องการตัวมัน แต่ในความธรรมดาของทั้ง 2 ตัวละครนี้ มันกลับมีความ “พิเศษ” ที่ไม่เคยมีใครเห็น โดยคุณนายเพนนี่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นอยากทำตามความฝันของพ่อให้สำเร็จ ส่วนซีเคร็ททาเรียสคือม้าที่เกิดมาพร้อมความเร็วอันเหลือเชื่อสวนทางกับลักษณะทางกายภาพ  ทั้ง 2 ตัวละครนี้จึงเหมือนกับกระจกที่สะท้อนตัวตนของกันและกันได้เป็นอย่างดี  

9. We Are Marshall (2006)

สร้างจากเรื่องจริงสุดสะเทือนใจในปี 1970 เมื่อทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยมาร์แชลกำลังเดินทางกลับบ้านโดยเครื่องบิน แต่กลับประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก ทำให้ทุกคนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด ทีมฟุตบอลที่เคยยิ่งใหญ่ระดับประเทศเพียงชั่วพริบตัวกลับเหลือสมาชิกแค่ 4 คน ซึ่งรอดจากอุบัติเหตุเพราะไม่ได้ขึ้นเครื่องไปด้วย  มหาวิทยาลัยจึงหวังกอบกู้สถานการณ์โดยแต่งตั้ง “แจ็ค เล็งเยล” (Matthew McConaughey) เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ แจ็คจึงต้องร่วมมือกับสมาชิกทีมที่เหลืออยู่เพื่อสร้างทีมมาร์แชลที่เคยยิ่งใหญ่ขึ้นมาใหม่

We Are Marshall คือหนังกีฬาที่อัดแน่นไปด้วยเนื้องเรื่องดราม่าสุดเข้มข้น โดยตัวหนังโฟกัสไปที่ตัวผู้จัดการทีมคนใหม่อย่างแจ็คที่ต้องออกแสวงหานักกีฬาหน้าใหม่เพื่อสร้างทีมฟุตบอลมาร์แชลขึ้นมาอีกครั้ง และถึงแม้ว่าจะหาผู้เล่นได้ครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว การที่จะฝึกฝนหรือทำให้ทั้งทีมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเหมือนทีมมาร์แชลในอดีตนั่นไม่ใช่เรื่องง่าย  สมาชิกเก่าบางคนยังคงยึดติดกับอดีตและไม่ยอมรับทีมใหม่ ในขณะที่สมาชิกใหม่ที่พึ่งเข้าทีมหลายคนยังเด็กและอ่อนประสบการณ์เกินกว่าจะลงแข่งจริงได้  ความกดดันและความคาดหวังต่าง ๆ ล้วนถาโถมเข้าใส่แจ๊คอย่างไม่หยุดหย่อน  เรียกได้ว่า We Are Marshall คือหนังกีฬาที่จะทำให้เราเข้าใจว่าบางครั้งการไว้อาลัยให้กับคนที่เรารักที่ดีที่สุดก็คือ เก็บพวกเขาไว้ในความทรงจำและก้าวต่อไป

10. The Fighter (2010)

สร้างจากเรื่องจริงของ “ไอริช มิคกี้ วาร์ด” (Mark Wahlberg) นักชกรุ่นไลต์เวลเตอร์เวต ผู้ไม่เคยชนะในสังเวียนไหนเลย  แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มีความหวังและพยายามฮึดสู้อีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาได้ “ดิ๊กกี้” (Christian Bale) พี่ชายติดยาของตัวเองมาเป็นเทรนเนอร์ให้ และยังได้พบกับ “ชาร์ลีน” (Amy Adams) แฟนสาวที่ทำให้เขาค้นพบเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตว่า ชัยชนะไม่ได้เป็นเพียงเกียรติยศชื่อเสียงเท่านั้น แต่หมายถึงปากท้องของคนในครอบครัวที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบอีกด้วย

 The Fighter คือหนังแนวกีฬา-ดราม่าที่อัดแน่นไปด้วยความฮึกเหิมและแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะใครที่กำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อปากท้องและความอยู่รอดของครอบครัวยิ่งไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้ นอกจากนี้  ตัวหนังยังสะท้อนลักษณะนิสัยของ 2 ตัวละครอย่าง “มิคกี้” และ “ดิ๊กกี้” ผ่านสไตล์การชกมวยที่แตกต่างกัน โดยมิคกี้เป็นนักมวยประเภทดุดัน ปักหลักแลกหมัดแบบไม่กลัวโดนน็อค ตรงกับลักษณะนิสัยของมิคกี้ที่เป็นคนตรงไปตรงมา ทำอะไรจริงจังมุ่งมั่นกับชีวิตอย่างถึงที่สุด ในขณะที่ดิ๊กกี้เป็นนักมวยประเภทหลบหลีก ไม่แลกหมัดแต่จะคอยหาจังหวะออกหมัดแบบฉาบฉวย ตรงกับนิสัยของดิ๊กกี้ที่ค่อนข้างไร้แก่นสาร ไร้ระเบียบวินัยของนักกีฬา สนแต่เรื่องเล่นยาไปวัน ๆ  แต่เมื่อพวกเขาอยู่ด้วยกัน ทั้งมิคกี้และดิ๊กกี้ต่างเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน ผลักดันอีกฝ่ายให้ไปถึงฝั่งในของตัวเองอีกด้วย  เรียกได้ว่า The Fighter คือหนังกีฬาที่โฟกัสความสัมพันธ์ของตัวละครซึ่งสร้างพลังใจและความฮึกเหิมให้คนดูได้เป็นอย่างดี

Text – Exocet

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save