10 ภาพยนตร์ “โคเคน” ที่ไม่ได้เอาไว้ใช้ “รักษาฟัน” และ “เฮโรอีน” ที่ไม่ใช่ “แป้ง” - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
10 ภาพยนตร์ “โคเคน” ที่ไม่ได้เอาไว้ใช้ “รักษาฟัน” และ “เฮโรอีน” ที่ไม่ใช่ “แป้ง”

แทบทุกประเทศทั่วโลก “ยาเสพติด” ถือว่าเป็นสิ่ง “ผิดกฎหมาย” ร้ายแรง โดยเฉพาะในประเทศไทย การครอบครอง ซื้อขาย รวมถึงการใช้สารเสพติดโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นความผิด “อาญา” ที่ต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดและไม่สามารถยอมความได้

แต่อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่การตรวจหาสารเสพติดเกิดความผิดพลาด เพราะสารเสพติดบางชนิดถูกใช้เป็นส่วนผสมใน “ยา” ที่ใช้รักษาในทางการแพทย์ เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดที่ทายาทมหาเศรษฐีตระกูลดัง ซึ่งถูกตรวจพบสารประกอบของ “โคเคน” ในร่างกายหลังเกิดอุบัติเหตุทางรถยนตร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาชี้แจงว่าสารประกอบโคเคนที่ตรวจพบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยาที่ใช้ในการ “รักษาฟัน”  ดังนั้น เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับสารเสพติดชนิดต่าง ๆ มากขึ้น เราจึงขอแนะนำ 10 ภาพยนตร์ “โคเคน” ที่ไม่ได้เอาไว้ใช้ “รักษาฟัน” และ “เฮโรอีน” ที่ไม่ใช่ “แป้ง

1. American Made (2017)

สร้างจากเรื่องจริงสุดเหลือเชื่อของ “แบรี่ ซีล” (ทอม ครูซ) อดีตนักบินพานิชย์ที่เบื่อหน่ายกับอาชีพของตัวเอง จนจับพลัดจับพลูไปทำงานลับให้กับ CIA ด้วยการขนคนต่างด้าวข้ามประเทศ จุดนี้เองที่แบรี่เห็นช่องทางทำเงินมากกว่าเศษเงินที่ CIA จ้างเขา เขาจึงเริ่มรับจ๊อบขน “ยาเสพติด” ทั้งโคเคนและเฮโรอีนเข้าประเทศสหรัฐฯ ทำเงินให้เขาถึง 500,000 เหรียญต่อเที่ยว จนกระทั่งถึงสูงสุดในชีวิตแบรี่ เขาได้ร่วมธุรกิจกับราชายาเสพติดในตำนานอย่าง “ปาโบล เอสโกบาร์”

American Made คือการกลับมาร่วมงานกันของคนคุ้นเคยอย่าง “ทอม ครูซ” กับ “ดั๊ก ไลแมน” ผู้กำกับที่เคยฝากผลงานอย่าง Edge of Tomorow (2014)  โดย American Made เป็นหนังที่มีจุดเด่นเรื่องการเล่าเรื่องที่มีจังหวะจะโคน/ลูกล่อลูกแฝงด้วยมุกตลกร้ายที่ออกแนวล้อเลียนเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ได้อย่างเจ็บแสบแทบทั้งเรื่อง โดยตัวหนังจะค่อย ๆ บิ้วอารมณ์แห่งความบ้าคลั่งของ แบรี่ ซีล ที่ต้องเอาตัวรอดจากสถานการณ์เฉพาะหน้านับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากพวกพ่อค้ายาโคลัมเบีย ผู้ก่อการร้ายนิคารากัว ตำรวจปราบปรามยาเสพติด แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ CIA  ที่น่าทึ่งคือตัวหนังแทบไม่มีฉากแอคชั่นยิงกันหูดับตับไหม้ตามสไตล์หนังอาชญากรรมเลย แต่การตัดต่อและการเล่าเรื่องที่ชวนน่าติดตามจนทำให้คนดูลุ้นไปกับชีวิตสุดบ้าคลั่งของ แบรี่ ซีล

 2. Sicario (2015)

เรื่องราวของเจ้าหน้าที่ FBI สาวอย่าง “เคท มาร์ซี่” (เอมิลี บลันต์) ที่กำลังทำคดียาเสพติดที่ดูผิวเผินแล้วก็ไม่ต่างจากคดียาเสพติดกิ๊กก๊อกทั่วไป แต่ยิ่งเธอสาวลึกลงไป เคทกลับยิ่งพบหลักฐานเชื่อมโยงระหว่างคดีของเธอกับเจ้าพ่อยาเสพติดตัวเอ้ในเมืองฮัวเรซ ประเทศเม็กซิโก ผู้ที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดเธอและทุกคนที่ขัดขวางผลประโยชน์ของเขา เธอจึงต้องร่วมมือกับ “แม็ตต์ โกรเวอร์” (จอช โบรลิน) และ “อเล็กฮานโดร” (เบนิซิโอ เดล โตโร) ทหารรับจ้างที่เธอแทบไม่รู้จักและไม่ไว้ใจเลย

พูดได้ว่าจุดเด่นของ Sicario คือ หนังเริ่มต้นด้วยการสาดอารมณ์ใส่คนดูอย่างบ้าคลั่งชนิดที่เรียกว่าหนังแทบไม่ได้บอกอะไรเราเลย เปิดเรื่องมาก็ยิงกันหูดับตับไหม้ ปิดท้ายด้วยระเบิดชุดใหญ่  คนดูจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละครอย่าง “เคท” คือ งุนงง ไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนเลย จนเธอต้องเริ่มค้นหาคำตอบ ขุดเรื่องราวทุกอย่างให้ลึกขึ้น คนดูก็จะเริ่มกระจ่างไปพร้อม ๆ กับเคท  นอกจากนี้ตัวหนังยังเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ชวนอึดอันหายใจไม่ทั่วท้อง แม้เนื้อแท้แล้ว Sicarioจะอัดแน่นไปด้วยความดราม่าออกแนวสืบสวนสอบสวนมากกว่าแอคชั่นเพียว ๆแต่มันก็เป็นดราม่าที่เต็มไปด้วยความน่าหวาดระแวง เพราะเราเดาไม่ได้เลยว่าใครเป็น “คนดี” และใครเป็น “คนร้าย” เพราะบางครั้งทั้งสองอย่างนี้มันดันรวมอยู่ในคน ๆ เดียวกัน  โดยรวมแล้ว Sicrio คือหนังที่จะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของการดูหนังแบบตัวเกร็งไปทั้งเรื่องเป็นอย่างไร

3. American Gangster (2007)

สร้างจากเรื่องจริงสุดอื้อฉาวของเจ้าพ่อยาเสพติดในยุค 70 อย่าง “แฟรงค์ ลูคัส” (เดนเซล วอชิงตัน) ที่ถีบตัวจากเด็กผิวดำข้างถนนมาเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่สุดในโลก จนกรมตำรวจนิวยอร์คต้องส่ง “ริชชี่ โรเบิร์ตส์” (รัสเซล โครว์) ตำรวจนักสืบที่ขึ้นชื่อเรื่องความ “ตงฉิน” มาทะลายอาณาจักรยาเสพติดของแฟรงค์ให้สิ้นซาก รวมถึงจัดการกับบรรดาตำรวจคอรัปชั่นทั้งหลายแหล่ด้วย

แค่เพียงดูชื่อนักแสดงก็การันตีถึงความสนใจของหนังเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะ American Gangs อัดแน่นไปด้วยนักแสดงคุณภาพจนแทบจะขี่คอกันเลยว่าได้ โดยเฉพาะสองนักแสดงนำที่เคยคว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว ได้แก่ “เดนเซล วอชิงตัน” และ “เดนเซล วอชิงตัน” ยังไม่รวมนักแสดงที่โด่งดังเป็นพลุแตกในเวลาต่อมาอย่าง “จอช โบรลิน” “อิดริส เอลบา” และ “ชเว์เตล ออจิโอฟอร์”  นอกจากนี้ ในแง่คุณค่าก็พูดได้อย่างเต็มปากว่า American Gangster คือหนังแนว “อาชญากรรม” อย่างแท้จริง เพราะตัวหนังแทบทั้งเรื่องเป็นเล่าถึงเส้นทางและวิธีการที่เด็กข้างถนนอย่าง “แฟรงค์ ลูคัส” ใช้ถีบตัวเองจากเด็กเหลือขอที่ไม่มีแม้แต่บ้านจนกลายมาเป็นเจ้าพ่อค้ายาผู้ร่ำรวยระดับโลก แถมหนังยังตีความตัวละครแฟรงค์ ลูคัสได้อย่างน่าสนใจ เพราะ American Gangster ไม่ได้มองแฟรงค์ในฐานะ “อาชญากร” แต่พยายามมอง แฟรงค์ในฐานะ “นักธุรกิจ” ที่มีวิสัยทัศน์ในการหาช่องทางทำธุรกิจจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ทุกครั้ง นี่คือสิ่งทำให้แฟรงค์ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลต่างจากพ่อค้ายาต๊อกต๋อยทั่วไป  ในขณะเดียวกัน American Gangster ยังตีความตัวละครอย่าง “ริชชี่ โรเบิร์ตส์” นายตำรวจคู่ปรับที่เป็นเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามของแฟรงค์ให้มีความเป็น “มนุษย์” ได้อย่างน่าสนใจ เพราะริชชี่คือนายตำรวจที่ชีวิตส่วนตัวนั้นเรียกได้ว่า “เลวร้าย” ทั้งนอกใจภรรยา เปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า ไม่รับผิดชอบครอบครัว ฯลฯ แต่สำหรับการเป็น “ตำรวจ” แล้ว ริชชี่เป็นหนึ่งในตำรวจกินอุดมการณ์แทนข้าวเพียงไม่กี่คนที่ไม่เคยเฉียดใกล้สินบนและการทุจริต 

4. Badboy 2 (2003)

ภาคต่อของหนังแอคชั่นสุดระห่ำ เรื่องราวของสองตำรวจแห่งเมืองไมอามี่อย่าง “ไมค์ โลว์รีย์” (วิลล์ สมิธ) และ “มาร์คัส เบอร์เน็ตต์” (มาร์ติน ลอว์เรนซ์) ที่ภาคนี้พวกเขาต้องต่อกรกับเจ้าพ่อค้ายาเสพติดตัวเอ้อย่าง “จอห์นนี่ ทาเปีย” (จอร์ดี้ มอลล่า) ที่ลักลอบขนยาเสพติดล็อตใหญ่เข้ามายังไมอามี่ด้วยวิธีการบางอย่าง กลายเป็นภารกิจสอดแนมและปราบปรามยาเสพติดที่ทั้งฮาและมันระห่ำยิ่งกว่าภาคแรก

 คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากสำหรับ Badboy 2 เพราะนี่คือหนังระดับตำนานที่เป็นส่วนผสมอย่างลงตัวของความฮาน้ำตาเล็ดกับฉากแอคชั่นระเบิดภูเขาเผากระท่อมตามสไตล์ผู้กำกับจอมทำลายล้างอย่าง “ไมเคิล เบย์”หากใครกำลังมองหาหนังสนุก ๆ ดูเพลินเหมาะสำหรับวันหยุดนอนดูหนังอยู่บ้านชิล ๆ Badboy 2 คือหนึ่งในลิสที่คุณไม่ควรลืมใส่เข้าไปอย่างเด็ดขาด

5.The Wolf of Wall Street (2013)

สร้างจากเรื่องจริงของ “จอร์แดน เบลฟอร์ด (ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ) อดีตโบรกเกอร์หนุ่มผู้ล่มเหลวจากการทำงานใน Wall Street จนผัวตัวเองมาเปิดบริษัทโบรกเกอร์ในย่านชนบท แต่ด้วยสกิลการพูดจูงใจคนระดับเทพยิ่งกว่าไลฟ์โค้ช ทำให้จอร์แดนหาลูกค้ามาซื้อหุ้นกับเขาได้อย่างล้นหลามจนสามารถก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ Stratton Oakmont ของตัวเองได้แถมยังทำกำไรมหาศาล เพียงชั่วพริบตัวจอร์แดนและลูกน้องกลายเป็นมหาเศรษฐีใช้ชีวิตราวกับเทวดาทั้งปาร์ตี้ เล่นยา มั่วผู้หญิง ฯลฯ กลายเป็นเรื่องราวสุดบ้าคลั่งที่เกินจินตนาการในโลกธุรกิจ

 เรียกได้ว่า The Wolf of Wall Street คือหนังสุดบ้าคลั่งเรื่องหนึ่งในชีวิตของ “ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ” เลยก็ว่าได้ เพราะเขาจะต้องเล่นเป็นมหาเศรษฐีจอมเสเพลที่ใช้เงินราวกับเศษกระดาษ ทั้งปาร์ตี้สุดวิปริต เล่นโคเคนจนต้องคลานเข้าบ้าน มั่วผู้หญิงแบบนมเป็นนม เนื้อเป็นเนื้อ แถมยังต้องมีสกิลการพูดชนิดที่ไม่ว่าใครฟังก็ต้องหลงเชื่อจนแทบแยกไม่ออกระหว่างโบรกเกอร์กับนักต้มตุ๋น โดยตัวหนังยาวกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็น 3 ชั่วโมงที่อัดแน่นไปด้วยความบ้าคลั่งสุดขีด มีทั้งความ “ฮา”  ความน่า “อิจฉา” ผสมความน่า “สมเพช” ไปพร้อม ๆ กัน จนถึงขนาดหลายอาจจะรู้สึกรับไม่ได้ในความหยาบโลนของหนังเรื่องนี้  แต่ถ้ามองที่แก่นของหนังก็อาจจะเข้าใจได้ว่านี่คือหนังที่สะท้อนตัวตนความเป็น “มนุษย์” ที่อุดมไปด้วยกิเลส-ตัณหาได้อย่างแท้จริง

6. Snitch (2013)

เรื่องราวของ “จอห์น แมตธิวส์” (ดเวย์น จอห์นสัน) เจ้าของบริษัทรถบรรทุกที่ชีวิตครอบครัวเพียบพร้อมไปด้วยฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ จนกระทั่งลูกชายของเขาถูกตำรวจจับข้อหายาเสพติดจนต้องโทษจำคุกถึง 10 ปี ทางเดียวที่จอห์นจะช่วยลูกชายออกจากคุกได้คือการแฝงตัวเข้าไปในแก๊งค้ายาเสพติดข้ามชาติเพื่อช่วยให้ตำรวจสาวไปถึงตัวการใหญ่ จอห์นที่ไม่เคยฝึกฝันให้รับมือกับสถานการณ์แบบนี้จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยอมเสี่ยงตายเพื่ออิสรภาพของลูกชาย

หากดูจากงานโปรดักชั่นและนักแสดงแล้ว หลายคนอาจจะมองว่า Snitch ดูเหมือนหนังทุนต่ำเกรด B ที่หาได้ทั่วไป แต่อย่าให้รูปลักษณ์ภายนอกของมันหลอกคุณได้เด็ดขาด เพราะ Snitch คือหนังดราม่า-อาชญากรรม แถมผสมแอคชั่นนิด ๆ ที่สนุกเกินคาด นอกจากนี้ Snitch ยังเป็นหนังแนวดราม่าเพียงไม่กี่เรื่องในชีวิตของซุปเปอร์สตาร์นักบู๊อย่าง “ดเวย์น จอห์นสัน” หรือ “เดอะร็อค” อีกด้วย โดยตัวหนังจะทำให้เราต้องคอยเอาใจช่วยจอห์นที่ทั้งชีวิตเคยทำแต่ธุรกิจรถบรรทุก แต่เพื่อช่วยลูกชาย เขาต้องรับบท “สายลับ” จำเป็นที่ต้องแฝงตัวเข้าไปในองค์กรยาเสพติดและไต่เต้าไปถึงตัวการใหญ่  นอกจากเราจะต้องลุ้นและเอาใจช่วยไปกับภารกิจที่ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าตัวตายแล้ว หนังยังเสียดสีความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมที่เน้นการสร้างผลงาน/เอาหน้าของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าผดุงความยุติธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์  ดังนั้น หากใครกำลังมองหาหนังสนุกดูเพลินแบบไม่เสียดายเวลา รับรองว่าคุณจะต้องประทับใจ Snitch อย่างแน่นอน

7. Miami Vice (2006)

เรื่องราวของ “ริคาร์โด้ ทับบ์ส” (เจมี่ ฟ็อกซ์) และ “ซันนี่ คร็อคเก็ตต์” (โคลิน ฟาร์เรลล์) คู่หูตำรวจปราบยาเสพติดที่ต้องแฝงตัวไปทำงานกับเจ้าพ่อยาเสพติดโคลัมเบียเพื่อล้วงความลับและทะลายองค์กรเสพติดข้ามชาติ  แต่ภารกิจที่ซับซ้อนอยู่แล้วก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่อซันซี่ไปมีความสัมพันธ์กับ “อิซาเบลล่า” (กงลี่) ภรรยาของเจ้าพ่อค้ายาเป้าหมาย  หน้าที่และภารกิจถูกทับซ้อนด้วยความรู้สึกส่วนตัวจนตัวตนที่แท้จริงของทั้งคู่เสี่ยงต่อการถูกเปิดเผย

เรียกได้ว่า Miami Vice แทบจะเป็นหนังแอคชั่น-สายลับสูตรสำเร็จที่คุ้นเคยกันดีก็ว่าได้ เรื่องราวเกี่ยวกับคู่หูตำรวจปลอมตัวเข้าแก๊งค้ายาขามชาติซึ่งก็จะต้องเป็นแถว ๆ อเมริกาใต้ แต่ภารกิจก็ยุ่งยากขึ้นเพราะพระเอกดันไปรักกับนางเอกที่เป็นคนในแก๊งค้ายาเป้าหมาย หน้าที่กับความรู้สึกที่ไม่สอดคล้องกันในที่สุดก็ทำให้ภารกิจมีปัญหา พล็อตแนว ๆ นี้อาจเรียกได้ว่า “เฉย” แต่จุดเด่นที่ Miami Vice พอจะชดเชยได้ คือ งานภาพและฉากแอคชั่นที่ทำออกมาได้สมจริง ทั้งฉากและมุมมองที่ดูดิบและเรียลกว่าหนังแอคชั่นในยุคเดียวกัน แม้ว่าฉากแอคชั่นที่เป็นจุดขายของเรื่องมันจะค่อนน้างน้อยไปหน่อยก็ตาม นอกจากนี้คาแร็คเตอร์ของตัวละครหลักอย่าง “ริคาร์โด้” และ “ซันซี่” มีความ “เท่ห์” ทั้งยามสงบและยามบู๊ โดยเฉพาะเวลาจับปืนเข้าฉากแอคชั่นที่ดูแล้วยิ่งเท่ห์

8. Trainspotting (1996)

เรื่องราวของ “มาร์ก เรนตัน” (ยวน แม็คเกรเกอร์) เด็กหนุ่มชาวเมืองเอดินเบอระ สก็อตแลนด์ พร้อมกับเพื่อน ๆ รวมแก๊งอีก 4 คนที่วัน ๆ ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา เอาแต่เล่นยาเสพติด มั่วเซ็กซ์ และก่ออาชญากรรมถูกจับขึ้นศาล จนกระทั่งพ่อแม่ต้องขังไว้ในห้องเพื่อให้เลิกยาสำเร็จ มาร์กจึงตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเดินทางสู่กรุงลอนดอนเพื่อหางานทำเป็นหลักแหล่ง แต่แล้วชีวิตก็หนีไม่พ้นวังวนเก่า ๆ เมื่อเพื่อนเก่าแวะเวียนเข้ามาในชีวิตมาร์กและยื่นข้อเสนอร่วมกันขายยาเสพติด แต่ครั้งนี้มาร์กวางแผนบางอย่างที่จะทำให้เพื่อน ๆ ของเขาต้องจดจำไปตลอดกาล

หากพูดถึงหนังอาชญากรรม-ยาเสพติดแล้วไม่พูดถึง Trainspotting แล้วคงเป็นไปไม่ได้ เพราะนี่คือหนังในดวงใจของใครหลายคน แถมยังเป็นหนังแนวอาชญากรรมยุค 90 เพียงไม่กี่เรื่องที่ยังมีแฟนคลับเรียกให้มีภาคต่อ โดยตัวหนังเต็มไปด้วยความสดใหม่ที่เรียกได้ว่า “แปลกประหลาด” ในยุคนั้น ทั้งการตัดต่อและมุมกล้องแบบฉับไว การร้อยเรียงเหตุการณ์ที่กระจัดกระจายให้ปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องเดียวกัน รวมถึงฉากจำเป็นคนดูยังพูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้  ที่น่าประหลาด คือ หนังไม่ได้ตัดสินว่าการใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาแบบตัวละครในเรื่องเป็นเรื่องผิด หนังไม่ได้ออกแนวเทศนาหรือสอนใจวัยรุ่นเหมือนหนังอาชญากรรมเรื่องอื่น ตรงข้ามจนหลายคนมองว่าหนังเรื่องนี้ส่งเสริมยาเสพติดเสียด้วยซ้ำ ซึ่งนี่อาจจะเป็นประเด็นสำคัญของหนังที่ต้องการให้ทุกคนตัดสินด้วยความคิดของตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าให้ค่านิยมหรือกระแสสังคมเป็นคนตัดสิน

9. Loving Pablo (2017)

หนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมมองและการเล่าของ “เวอร์จิเนีย วาเยโฮ” (เพเนโลเป้ ครูซ)  นักข่าวสาวผู้มีความสัมพันธ์กับ “ปาโบล เอสโกบาร์” (ฮาเวียร์ บาร์เด็ม) เจ้าพ่อยาเสพติดชาวโคลัมเบียที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อค้ายาเสพติดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกช่วงปลายทศวรรษ 20 ว่ากันว่าสัดส่วน “โคเคน” ที่มีอยู่ทั่วทั้งโลก 80% คือสินค้าของเขา  เอสโกบาร์ไม่เพียงแต่เป็นพ่อค้ายา แต่ยังเป็นนักการเมืองตัวเอ้ เขาใช้เงินมหาศาลแจกคนยากจน ทำให้เขากลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อชาวโคลัมเบียยิ่งกว่ารัฐบาล

หากพูดกันตามตรง Loving Pablo เกือบจะเป็นหนัง “สารคดี” ที่ดำเนินเรื่องแบบแบนราบ เล่าถึงประวัติของพ่อค้ายาเอสโกบาร์ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้หลายคนดูไม่จบก็ทนกับความน่าเบื่อไม่ไหวจนต้องปิด แต่ถึงอย่างนั้น Loving Pablo ก็ยังมีข้อที่ทำออกมาได้ค่อนข้างดีจนไม่พูดถึงไม่ได้ คือ การตีความ “ปาโบล เอสโกบาร์” ให้เป็นมากกว่าพ่อค้ายาเสพติดป่าเถื่อน เราจะได้เห้นภาพเอสโกบาร์ที่เป็นทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจที่ไม่ว่าจะทำอะไรย่อมต้องมีเหตุผลและผ่านการคิดอย่างรอบคอบแล้ว เช่น ลงสมัคร สส. เพื่อต้องการกีดกันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ แถมยังเคยเสนอจะชดใช้หนี้แทนประเทศที่มากถึง หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกด้วย ฉะนั้นหากคุณลองเปิดใจทนดูความไม่สนุกของหนักสักนิดอาจจะเห็นจุดเด่นของมันบ้างไม่มากก็น้อย

10. The Infiltrator (2016)

สร้างจากอัตชีวประวัติของ “โรเบิร์ต บ๊อบ มาซูร” (ไบรอัน แครนสตัน) เจ้าหน้าที่ศุลกากรสหรัฐฯ ที่ต้องปลอมตัวเป็น “บ๊อบ มาเซลล่า” นักฟอกเงินเพื่อแฝงตัวเข้าไปในองค์กรค้ายาเสพติดของราชาโคเคนอย่าง “ปาโบล เอสโกบาร์” เขาต้องรวบมือกับเจ้าหน้าที่ FBI ที่ปลอมตัวเข้ามาช่วยสืบคดีเพื่อรวบรวมหลักฐานเพื่อเข้ากวาดล้างองค์กรค้ายายักษ์ใหญ่นี้ให้สิ้นซาก

สำหรับใครที่ชอบแนวแอคชั่นอาจจะไม่ค่อยถูกใจ The Infiltrator เพราะตัวหนังแทบจะไม่ได้บู๊หรือลุ้นระทึกอะไรมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินเรื่องแบบเรียบ ๆ แต่มีความน่าติดตามว่าบ๊อบและบรรดาสายลับที่ปลอมตัวเข้ามาจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เจอได้อย่างไร และจะหาทางโค่นองค์กรค้ายานี้ได้ยังไง ดังนั้น หากคุณเป็นคนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ ปาโบล เอสโกบาร์ มาก่อน และยังไม่เคยถูกสปอยตอนจบ The Infiltrator คือหนังอาชญากรรมที่จะทำให้คุณลุ้นไปกับมันได้อย่างสนุก

Text – Exocet

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save