หงส์กับผี : ความชัง, ความเคารพ และสิ่งที่เป็นมากกว่า “แดงเดือด” - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
หงส์กับผี : ความชัง, ความเคารพ และสิ่งที่เป็นมากกว่า “แดงเดือด”

วนมาอีกหนแล้ว สำหรับการโคจรมาเจอกันของ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล และ “ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือที่บ้านเราเรียกกันติดปากว่า “แดงเดือด” ตามคำที่ถูกบัญญัติขึ้นโดย “ศิริ อัครลาภ” คอลัมนิสต์รุ่นเก๋าของสยามกีฬา ซึ่งเราใช้กันมาถึงทุกวันนี้

ศึก “แดงเดือด” การเจอกันของ 2 ทีมที่มีแฟนบอลมากที่สุดในโลก
(Source : Bleacher Report)

แน่นอนว่าพอมีคำว่า “เดือด” ถูกใส่เข้ามา มันย่อมบ่งบอกถึงอุณหภูมิของเกมที่ร้อนแรง ไม่เพียงแต่เกมในสนาม (ถึงนัดหลังๆ จะไม่ค่อยเดือดก็เถอะ) แต่ยังรวมถึงแฟนบอลของทั้ง 2 ทีม ซึ่งแม้จะไม่มีหน่วยวัดอะไรมาการันตีชัดเจน แต่ไม่เคยมีใครกังขาเลย ว่าแฟนบอล 2 ทีมนี้ เยอะที่สุดในโลก

ซึ่งแม้ระยะหลายขวบปีหลัง ศึกพรีเมียร์ลีกจะมีทีมใหญ่ทีมอื่น เข้ามามีบทบาทในการลุ้นแชมป์ ทั้งอาร์เซน่อล ในยุคของเวนเกอร์, เชลซี ในยุคของ “เสี่ยหมี” อบราโมวิช หรือแมนฯ ซิตี้ นับตั้งแต่มีกลุ่มทุนตะวันออกกลางมาเทคโอเวอร์ แต่ “แดงเดือด” ก็ยังคงเป็นแมทช์สำคัญอันดับแรก ไม่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะอยู่อันดับไหน สถานการณ์อย่างไรก็ตาม

ซีซั่นนี้เจอกันไปแล้วหนนึง และเป็นยูไนเต็ดเพียงทีมเดียว ที่แบ่งแต้มจากลิเวอร์พูลได้
(Source : The Busby Babe)

เช่นเดียวกับ “แดงเดือด” ในคืนวันที่ 19 ม.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งแม้ “หงส์แดง” จะดูเป็นต่อ แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า พวกเขาจะสามารถเก็บ 3 แต้มได้สบายๆ เพราะ “ปีศาจแดง” ทีมนี้นี่แหละ ที่เกือบทำให้พวกเขาต้องแพ้เป็นหนแรกในเกมลีกซีซั่นนี้

เกริ่นมาถึงตรงนี้ อย่าเข้าใจผิดนะครับว่าวันนี้เราจะมารีวิวแมทช์ หรืออัพเดทความพร้อมของนักเตะทั้ง 2 ทีม เพราะคุณคงหาอ่านในช่วงนี้ได้ไม่ยาก แต่เราจะมาพูดถึงแง่มุมอื่น ที่จะทำให้คุณเข้าใจอารมณ์ร่วมของผู้คนทั้ง 2 ฝ่าย ว่าทำไมมัน “แพสชั่น” มันถึงได้มากมายนัก

แรงงานอุตสาหกรรม และคนเมืองท่า

หากจะเริ่มต้นเข้าใจสิ่งที่เกิด ว่ากันว่าเราต้องย้อนไปดูจุดเกิดเหตุของมันเสียก่อน

ความจริงแล้ว ความเป็น​ “อริ” กันของทั้ง 2 ทีม (ในที่นี้คงมุ่งประเด็นไปที่แฟนบอล) ยังไม่มีที่ไหนชี้ชัดว่ามันเริ่มต้นจากจุดไหนกันแน่ แต่จากหลักฐานต่างๆ ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า มันเริ่มจากอารมณ์ร่วมของชาวเมืองทั้ง 2 น่ะแหละ

“ลิเวอร์พูล” ในยุคอุตสาหกรรม ถือเป็นเมืองท่าสำคัญของเกาะอังกฤษ
(Source : Ships Nostalgia)

ย้อนไปถึงยุคอุตสาหกรรม หรือตั้งแต่ก่อนปีค.ศ. 1900 นู่น ทั้ง 2 เมืองถือเป็นหัวเมืองหลักที่ต้องพึ่งพากัน เมืองแมนเชสเตอร์ เป็นเมืองแห่งชนชั้นแรงงานผู้มีกำลังผลิตสูง ส่วนเมืองลิเวอร์พูล ก็เป็นเมืองท่าสำคัญ ที่สินค้าต่างๆ ต้องผ่านทางพวกเขาเป็นด่านแรก

ว่ากันว่าความเลื่อมล้ำของนายทุน และชนชั้นปากกัดตีนถีบ มีอยู่ทุกที่ ในยุคนั้นก็ไม่ต่างกัน เพราะมีการกล่าวอ้างว่าพ่อค้าที่ร่ำรวยของเมืองลิเวอร์พูล ต่างตั้งกำแพงจัดเก็บภาษีมากมายก่อนสินค้าจะส่งผ่านไปยังเมืองอื่น ซึ่งเมืองที่เป็นกำลังผลิตอย่างแมนเชสเตอร์ รับผลกระทบโดยตรง

สิ่งนี้สร้างความไม่พึงพอใจต่อชนชั้นแรงงานในแมนเชสเตอร์ จนมีมาตรการโต้กลับด้านการค้า เกิดเป็นรอยร้าวที่ผู้คน 2 เมืองไม่ถูกกัน ฝั่งลิเวอร์พูลก็ดูถูกว่าคนเมืองแมนเชสเตอร์ เป็นพวกแรงงาน ไม่น่าคบ กลับกันฝั่งแมนเชสเตอร์ ก็มองว่าคนเมืองท่าอย่างลิเวอร์พูลเกียจคร้าน และเต็มไปด้วยความหน้าเลือด หนำซ้ำยังเต็มไปด้วยพวกอพยพ ที่เข้ามาหาผลประโยชน์ ที่ลำพังคนท้องถิ่นทั้ง 2 เมือง ยังจะเอาตัวไม่รอด

คลองที่เมืองแมนเชสเตอร์ขุดขึ้น ทำให้เส้นทางการค้า เปลี่ยนแปลงไปชัดเจน
(Source : Platform)

นอกเหนือจากความไม่พอใจกันแต่เดิมที่กล่าวมา การขุดคลองเดินเรือแมนเชสเตอร์ขึ้นสำเร็จในปี 1894 ทำให้เส้นทางการเดินเรือสินค้าหลายเส้นทาง ไม่จำเป็นต้องไปเทียบท่าทีเมืองลิเวอร์พูลอีกแล้ว ยิ่งเป็นการทวีความไม่พึงพอใจของชาวเมืองลิเวอร์พูล จนหลายแหล่งชี้เปรี้ยงว่านี่คืออีกจุดบาดหมางสำคัญ

จุดห้ำหั่นทางฟุตบอล

แม้จุดเริ่มต้นการก่อตั้งสโมสรทั้ง 2 ทีม จะสอดคล้องกับช่วงความขัดแย้งทางการค้าที่ว่ามา (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก่อตั้งในชื่อ “นิวตัน ฮีธ” ปี 1878 / ลิเวอร์พูล ก่อตั้งเมื่อแยกตัวออกจากเอฟเวอร์ตัน ในปี 1892) และทั้ง 2 ทีมเคยดวลกันในปี 1893 ซึ่งลิเวอร์พูลในฐานะแชมป์ดิวิชั่น 2 สามารถชนะเพลย์ออฟนิวตัน ฮีธ ทีมอันดับสุดท้ายของดิวิชั่น 1 ด้วยสกอร์ 2-0 จนทั้ง 2 ทีมต้องสวนทางกัน แต่ความห้ำหั่นที่ชัดเจน มันเริ่มหลังจากนั้น

“นิวตัน ฮีธ” จุดกำเนิดของยูไนเต็ด ที่ใช้เสื้อสีเหลือง-เขียว ที่แฟนๆ จำติดตา
[Source : HistoryMe (WordPress)]
“ลิเวอร์พูล” ก่อตั้งขึ้นจากการแยกตัวออกจากสโมสรเอฟเวอร์ตัน ทีมฟุตบอลแรกของเมือง
(Source : Wikipedia)

หลังจากผ่านทั้งจุดที่ผลัดกันตกต่ำ อยู่กันคนละดิวิชั่น ผ่านสงครามโลกทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ทำลายความต่อเนื่องของกีฬา ทั้ง 2 ทีมมีจุดที่ขึ้นมาห้ำหั่นกันชัดเจนในช่วงหลังปี 1962

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตอนนั้นถือเป็นทีมขาประจำในดิวิชั่น 1 ซึ่งกำลังฟื้นตัวจากโศกนาฏกรรมที่มิวนิก พวกเขามี “แมตต์ บัสบี้” เป็นกุนซือมานานหลายปี ส่วนลิเวอร์พูลเอง พึ่งจะกลับมาจากการจมอยู่ดิวิชั่น 2 นานหลายปี คุมทีมโดยคนไฟแรง “บิลล์ แชงคลีย์”

แชงคลีย์ (คนกลาง) และบัสบี้ (คนขวา) 2 บรมกุนซือของทั้งคู่
(Source : Semuanya BOLA)

ทั้ง 2 ทีมเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นขาประจำในการลุ้นแชมป์หลากหลายรายการ จนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญต่อกัน ซึ่งนอกจากความสำเร็จที่ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นเพียงเบอร์ 2 อารมณ์ร่วมที่เกลียดชังกันของผู้คนทั้ง 2 เมือง ก็ช่วยโหมเชื้อไฟให้มันเข้มข้นขึ้นมาด้วย

ช่วงก่อนยุค 70 ถือเป็นยุคที่เกรียงไกรของฝั่งยูไนเต็ด พวกเขาวนเวียนอยู่หัวตาราง และสามารถคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ (ปัจจุบันคือยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก) ได้สำเร็จ ก่อนที่เข้ายุค 70 จะเป็นช่วงเวลาของอริเมืองท่าบ้าง

เพสลีย์ (คนที่ 2 จากขวา) กุนซือผู้นำความสำเร็จมากมายมาสู่ลิเวอร์พูล
(Source : Liverpool Echo)

ช่วงยุค 70 และ 80 ถือเป็นช่วงขวบปีที่ยิ่งใหญ่มากของ “หงส์แดง” ความสำเร็จของแชงคลีย์ ต่อด้วยยุคของ “บ๊อบ เพสลีย์” และ “โจ เฟแกน” รวมถึงสานต่อมายังศิษย์เอก “เคนนี่ ดัลกลิช” ช่วยให้พวกเขาคว้าแชมป์มากมายทั้งในประเทศ และในเวทียุโรป

ก่อนที่ยุค 90 จนถึง 2010 ต้นๆ จะเปลี่ยนมือกลับมาเป็นความยิ่งใหญ่ต่อเนื่องของฝั่งยูไนเต็ด ภายใต้การนำทัพของ “อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน” กุนซือชาวสก็อตติช ที่ยากจะหาใครเทียบเคียงได้

ยูไนเต็ดกลับมาเกรียงไกรด้วยมือของ “เฟอร์กี้” บรมกุนซือผู้ยิ่งใหญ่
(Source : The Journal)

เห็นได้ว่าไทม์ไลน์นับตั้งแต่ยุค 60 เป็นต้นมา ทั้ง 2 ทีมต่างผลัดกันประสบความสำเร็จครอบคลุมชั่วอายุกองเชียร์ที่จำความได้ในสมัยนี้ ยิ่งหลังจากยุค 70-80 ที่การสื่อสารถูกถ่ายทอดกระจายไปทั่วโลก จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะมีแฟนบอลมากมายที่สุด และการเจอกันของทั้ง 2 ทีม จึงมีความสำคัญไม่ต่างกัน

เขาเกลียดกันจริงหรือเปล่า?

คำถามนี้น่าสนใจ เพราะมันคงต้องแบ่งออกเป็นมุมมองที่แตกต่างกันระหว่าง “นักฟุตบอล” กับ “แฟนบอล”

แน่นอนแหละว่าเมื่อลงสนาม นักเตะ “หงส์แดง” และ “ปีศาจแดง” ไม่มีอ่อนข้อแน่
(Source : Sky Sports)

ในมุมนักฟุตบอล แน่นอนว่าหน้าที่ของพวกเขาคือทำเต็มที่เสมอในสนาม ดังนั้นไม่แปลกที่เราจะเห็นนักเตะทั้ง 2 ทีม พะบู๊ใส่กันเต็มพิกัดเวลาเจอกัน เอาให้เห็นภาพ ก็ต้องลองนึกถึงการที่ “เจมี่ คาราเกอร์” ลูกหม้อที่เล่นให้ลิเวอร์พูลสโมสรเดียว เคยฝากรอยแผลจากการเข้าสกัดไว้กับทั้งนานี่ และแกรี่ เนวิลล์

เนวิลล์ผู้พี่ และคาราเกอร์ 2 นักเตะ “วัน แมน คลับ” ที่ใส่เต็มกับแดงเดือดเสมอ
(Source : Planet Football)

กลับกัน “แกรี่ เนวิลล์” เอง เขาใส่เต็มตลอด และเคยยอมรับว่าไม่มีแมทช์ไหนจะสะใจเท่าการเอาชนะคู่ปรับตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูล เช่นเดียวกับการยอมรับว่า หากจบซีซั่นนี้ “หงส์แดง” ได้แชมป์ลีกที่รอคอยขึ้นมาจริงๆ แกคงเป็นคนแรกๆ ที่อยากจะบินหนีไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครหาเจอ

แต่ในอีกมุมกลับกัน หลังเกมในสนามจบสิ้นเสียงนกหวีดลง ก็มีอยู่บ่อยครั้งที่นักเตะทั้ง 2 สโมสร จะพบปะกันในสถานะใหม่ เช่น การร่วมทีมชาติอังกฤษ ซึ่งนักเตะทั้ง 2 ทีมก็ร่วมงานกันได้ไม่มีปัญหา บางรายยังสนิทสนมกัน ไม่ว่าจะเป็นตอนยังเล่นกันอยู่ หรือตอนที่เลิกเล่นไปแล้ว แบบที่เราเห็นกันระหว่างคาราเกอร์ กับเนวิลล์ผู้พี่

การพบปะของนักเตะลาตินที่ค้าแข้งในเมืองแมนเชสเตอร์ และลิเวอร์พูล ที่เห็นเป็นประจำ
(Source : The42)

และยิ่งถ้ามองไปถึงนักเตะรายอื่นที่ไม่ใช่สเกาเซอร์ หรือแมนคูเนี่ยนของแท้ เราก็จะเห็นภาพนักเตะจากทั้ง 2 ทีม คบค้าสมาคม ออกไปเที่ยวกันบ่อยๆ อย่างพวกนักเตะบราซิเลียนของทั้ง 2 ทีม เช่น ลูคัส-คูตินโญ่ กับ 2 พี่น้องราฟาเอล-ฟาบิโอ เพราะทั้ง 2 เมือง อยู่ห่างกันแค่ขับรถชั่วโมงเดียว

ย้ายไปมองในมุมของแฟนบอล แม้อารมณ์ที่คุกรุ่นจากความเกลียดชังในอดีต และการเป็นคู่แข่งสำคัญตลอดเวลาเกินครึ่งศตวรรษ จะทำให้เราได้เห็นภาพการด่าทอ และการ “แซว” ที่รุนแรงหนักหน่วงของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นประจำ แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีความเคารพซึ่งกันและกันเลย

ป้ายผ้าของฝั่งยูไนเต็ด ที่เอามาแขวะ “เดอะ ค็อป” หลังพวกเขาคว้าแชมป์ลีกแซง
(Source : Bleacher Report)

อย่างในปี 1958 ที่ฝั่งยูไนเต็ดต้องเผชิญปัญหาขาดนักเตะจากเหตุโศกนาฏกรรมมิวนิก ที่ทำให้ลูกทีมของบัสบี้ เสียชีวิตหลายรายจากอุบัติเหตุทางเครื่องบิน ลิเวอร์พูลเป็นสโมสรแรกๆ ที่เสนอความช่วยเหลือให้พวกเขายืมตัวนักเตะ โดยไม่มีเงื่อนไข และฝั่งทีมจากเมอร์ซีไซด์ ยินดีออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

หรือในปี 1977 ที่ “หงส์แดง” พ่ายแพ้ “ปีศาจแดง” ในรอบชิงเอฟเอ คัพ แทนที่กองเชียร์อสูรแดงจะเดือดดาลดีใจตอกย้ำความปราชัยของคู่อริ พวกเขากลับปรบมือ และร้องเพลงให้กำลังใจนักเตะลิเวอร์พูล ซึ่งยังเหลือภารกิจชิงยูโรเปียน คัพ กับมึนเช่นกลัดบัค โดยหวังว่าเพื่อนร่วมลีกจะคว้าแชมป์ให้อังกฤษได้ภาคภูมิใจ อย่างที่พวกเขาเคยทำได้

แมทช์ชิงเอฟเอ คัพ ปี 1977 ซึ่งเราได้เห็นความเคารพของกองเชียร์ทั้ง 2 ทีม
(Source : Vintage Photos Online)

หรือแม้แต่การแสดงความไว้อาลัยต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมมิวนิกของยูไนเต็ด และโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่ของลิเวอร์พูล แฟนบอลที่นั่นของทั้ง 2 ทีม ก็สื่อสารมันออกมาได้ดีเสมอมา

ภาพโพสต์โซเชียล มีเดียทางการของ “หงส์แดง” ที่แสดงความอาลัยถึงเหตุการณ์ที่มิวนิก
(Source : Twitter)

จึงจะเห็นได้ว่า ในความเข้มข้นจนอาจจะกลายเป็นความเกลียดชังอย่างที่หลายคนคิด ยังมีความเคารพ และขอบเขตที่แบ่งแยกอะไรถูก อะไรควร ซึ่งแฟนบอลทั้ง 2 ทีมทั่วโลก ควรเอาเป็นแบบอย่างทำตามอย่างยิ่ง

เกร็ดน่าสนใจใน “แดงเดือด”

นอกเหนือจากเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับที่มา และอารมณ์ร่วมของผู้คนในศึก “แดงเดือด”​ เราขอปิดท้ายด้วยเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจระหว่างทั้ง 2 ทีมกันบ้าง

  • แม้บ้านเราจะได้ยินคำว่า “เร้ด วอร์” ถูกเรียกเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกันจนคุ้นหู แต่หากคุณไปอยู่ที่อังกฤษนู่น คำที่เขาใช้เรียกการแข่งขันคู่นี้จริงๆ คือ “นอร์ธ เวสต์ ดาร์บี้”
“ฟิล คริสนาลล์” นักเตะคนสุดท้าย ที่ย้ายระหว่างทั้ง 2 ทีมโดยตรง
(Source : Manchester Evening News)
  • นักเตะคนสุดท้ายที่ย้ายข้ามฟากกันโดยตรงคือ “ฟิล คริสนาลล์” ที่ย้ายจากยูไนเต็ดไปลิเวอร์พูล ในปี 1964 นู่น หลังจากนั้นไม่มีการย้ายแบบนั้นอีกเลย โดยจะมีครั้งที่ใกล้เคียง เมื่อ “กาเบรียล ไฮน์เซ่” โอเคจะย้ายมาแอนฟิลด์ แต่ “เฟอร์กี้” ไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น

  • แม้การย้ายโดยตรงเกิดได้ยากในยุคหลัง แต่การย้ายของอดีตนักเตะไปร่วมทีมอริของคู่นี้ ก็ยังมีให้เห็น เคสที่น่าสนใจคือ “พอล อินซ์” ที่ย้ายจากอินเตอร์ ไปลิเวอร์พูล แทนที่จะคืนถิ่นเก่า เพราะที่โอลด์ แทรฟฟอร์ดมี “รอย คีน” อยู่แล้ว หรือ “ไมเคิ่ล โอเว่น” ที่เลือกย้ายไปสวมเสื้อยูไนเต็ด แม้จะเคยเป็นขวัญใจในถิ่นแอนฟิลด์ก็ตาม

  • นอกเหนือจากใบเหลือง-ใบแดงที่มีให้เห็นบ่อยๆ นักเตะที่ไม่คาดคิด ก็ระเบิดฟอร์มเด็ดในศึกแดงเดือดได้เสมอ ตัวอย่างเช่น “แดนนี่ เมอร์พี่” ผู้คอยรังควานยิงปราบผี, การเบิ้ล 2 ประตูของ “มิคาเอล ซิลแวสต์”, แฮททริคปราบหงส์ของ “ดิมิตาร์ เบอร์บาตอฟ”, ฟรีคิกทะลวงไส้ของ “ยอร์น อาเน่ ริเซ่” หรือประตูชัยจากเกมที่เป็นรองทั้งเกมของ “จอห์น โอเช”
“ไรอัน กิกส์” นักเตะผู้เล่นแดงเดือดมากที่สุด กับ “สตีเว่น เจอร์ราร์ด” ผู้ยิงได้สูงสุด
(Source : Rangers News)
  • นักเตะที่เล่นเกมแดงเดือดมากที่สุดคือ “ไรอัน กิกส์” ที่จำนวน 48 นัด ส่วนนักเตะที่ยิงประตูในแดงเดือดมากที่สุดมี 3 คนคือ “จอร์จ วอลล์” นักเตะยูไนเต็ดยุคต้น 1900, “แซนดี้ เทิร์นบูลล์” นักเตะสก็อตติชของยูไนเต็ด ในยุคเดียวกับวอลล์ และ “สตีเว่น เจอร์ราร์ด” ตำนานของลิเวอร์พูล ที่ 9 ประตู

คำพูดแสบๆ คันๆ

เวย์น รูนี่ย์ (ขณะเล่นให้แมนฯ ยู)

(Source : Sky Sports)

“ผมโตมาเชียร์เอฟเวอร์ตัน ครอบครัวผมเป็นเอฟเวอร์โตเนี่ยนกันหมด ดังนั้นผมโตมาด้วยการเกลียดลิเวอร์พูล…. และสิ่งนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

เจมี่ คาราเกอร์

(Source : Ronaldo.com)

“อยากให้เข้าใจตรงกันนะ ว่าผมอยากให้ยูไนเต็ดแพ้ในทุกเกมที่พวกเขาเล่น ผมแฮปปี้ที่พวกเขาแพ้…. ผมมั่นใจเลยว่าแฟนยูไนเต็ดก็จะรู้สึกแบบนั้นเช่นกันกับลิเวอร์พูล ดังนั้น ผมไม่มีทางเปลี่ยนความคิดนั้นแน่”

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

(Source : Soccer Laduma)

“สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการเป็นผู้จัดการทีมของผมคือเขี่ยลิเวอร์พูล ลงจากบัลลังก์ซะที…​ คุณเอาไปเขียนข่าวได้เลย”

เบรนแดน รอดเจอร์ส (ขณะเป็นกุนซือลิเวอร์พูล)

(Source : Liverpool Echo)

“ผมคิดว่านักเตะทุกคนเล่นได้ยอดเยี่ยมในนัดแดงเดือด สิ่งเดียวที่เราควบคุมไม่ได้คือ กรรมการ”

แกรี่ เนวิลล์

(Source : Daily Star)

“ผมไม่สามารถทนลิเวอร์พูล, คนลิเวอร์พูล และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับพวกเขาได้ ผมโตมากับความอิจฉามากมายที่ก่อตัวขึ้น ความจริงก็คือ… ผมอิจฉาในความสำเร็จที่พวกเขาได้ (ตอนเขายังเด็ก)”

สตีเว่น เจอร์ราร์ด

(Source : Sky Sports)

“ผมรู้ว่าเซอร์อเล็กซ์ต้องการตัวผม แต่การย้ายไปเล่นให้ยูไนเต็ดไม่มีวันเกิดขึ้น ผมไม่เคยอยากเล่นให้พวกเขาเลยสักครั้งเดียว”

Picture : beIN SPORTS, Sky Sports, Bleacher Report, The Busby Babe, Platform, Ships Nostalgia, HistoryMe (WordPress), Wikipedia, Semuanya BOLA, Liverpool Echo, The Journal, Planet Football, The42, Vintage Photos Online, Twitter, Manchester Evening News, Rangers News, Ronaldo.com, Soccer Laduma, Daily Star

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save