VAR เครื่องมือที่เที่ยงตรง หรือตัวบ่อนทำลายเสน่ห์? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
VAR เครื่องมือที่เที่ยงตรง หรือตัวบ่อนทำลายเสน่ห์?

กลายเป็นประเด็นร้อนมากขึ้นหลายเท่าตัวในช่วง 2-3 วีคหลัง โดยเฉพาะในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ สำหรับเทคโนโลยี “VAR” หรือ “Video Assistant Referee” ซึ่งถูกใช้เป็นตัวช่วยตัดสินอย่างเป็นทางการ ในโลกลูกหนังช่วงราวๆ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ตัวอย่างห้อง VAR ของพรีเมียร์ลีก ซึ่งเริ่มใช้เข้ามาช่วยตัดสินซีซั่นนี้
(Source : ESPN)

อย่างที่รู้กันว่า “บอลลีกผู้ดี” นั้นออกจะมีความ “หัวโบราณ” อยู่ไม่น้อย ไม่ใช่แค่เรื่อง VAR ที่กว่าจะใช้ ก็ดีเลย์กว่าชาวบ้านเค้า เรื่องสุดคลาสสิกอย่างการเบรกหนีหนาว ก็เป็นประเด็นที่พรีเมียร์ลีก ยังหลีกเลี่ยงที่จะทำเหมือนชาติอื่น แม้จะมีการผ่อนปรนแบ่งสัปดาห์เตะบ้างไปบ้างแล้วก็เถอะ

คำว่า “หัวโบราณ” ที่ว่าของฟุตบอลอังกฤษ ไม่ได้เพียงแต่ฝั่งคนจัดการแข่งขัน หรือ FA นะครับ เพราะมันแทรกซึมอยู่ในฝั่งผู้ชม, แฟนบอล, กูรูวิจารณ์บอล หรือนักเตะ ด้วย ซึ่งพอสิ่งมาใหม่อย่าง VAR มีข้อกังขา ความคิดประมาณว่า “ของเดิมก็ดีอยู่แล้ว” จึงเริ่มส่งเสียงดังขึ้นอีกครั้ง

VAR ที่พึ่งใช้ในซีซั่นนี้ ถูกบางกลุ่มมองว่าขัดจังหวะเกม และไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น
(Source : Racing Post)

ในเมื่อมันเป็นแบบนี้แล้ว จึงเกิดเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ขึ้นมา ว่าไอ้เจ้า VAR เนี่ย มันคือเครื่องมือช่วยเพิ่มความเที่ยงตรง หรือตัวบ่อนทำลายเสน่ห์ของฟุตบอลกันแน่?

เสน่ห์ของฟุตบอล คืออะไร?

ก่อนจะตอบคำถามที่จั่วหัวได้ มันต้องเข้าใจโจทย์ก่อน ว่า “เสน่ห์ฟุตบอลคืออะไรกัน?”

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนบุคคลค่อนข้างมาก คนที่สนับสนุนว่าเกมฟุตบอลมันเป็นเกมของมุนษย์ และตัดสินโดยมนุษย์ ก็มองว่า หากกรรมการบอกฟาวล์ มันก็คือฟาวล์ ถ้าไลน์แมนยกธง มันก็คือล้ำ

เพราะแนวคิดแบบนี้ ก็ถูกใช้ตัดสินจังหวะชี้เป็นชี้ตายของฟุตบอลมาแสนนาน แม้จะน่ากังขาหลายครั้ง แต่มันคือ “เสน่ห์” ที่ทำให้เกมสนุก และมีอารมณ์ร่วมตามมามากมาย

ลูก “แฮนด์ ออฟ ก็อด” ของมาราโดน่า ที่ถูกยกมาอธิบายเสน่ห์ของฟุตบอลบ่อยครั้ง
(Source : Diario AS)

ถ้าไม่มีเสน่ห์ที่ว่ามานี้ เราย่อมไม่ได้เห็นประตูจาก “หัตถ์พระเจ้า” ของดิเอโก้ มาราโดน่า หรือการพังประตูของ “เจฟฟ์ เฮิร์สต์” ที่พาอังกฤษเป็นแชมป์โลกในปี 1966

เรื่องของเสน่ห์ฟุตบอล ยังถูกเอามาพูดถึง “ความต่อเนื่องของเกม” ที่ VAR ได้เข้ามาทำลายให้เกมติดขัด กรรมการต้องหยุดรอดู หรือรอฟัง สัญญาณจากทีมงานห้องวีดีโอ จนหลายคนแซะว่า นี่มันฟุตบอล หรืออเมริกันฟุตบอลกันแน่

การตัดสินของกรรมการ ตามมาด้วยการไม่เห็นด้วยของฝั่งที่เสียประโยชน์อยู่เสมอ
(Source : Daily Express)

ในทางกลับกัน ฝั่งที่เห็นว่า “ความถูกต้อง” ต่างหาก ที่มีความสำคัญเหนือเรื่องของเสน่ห์ หรือความไหลลื่นของเกม เค้าก็มีเหตุผล เพราะฟุตบอลมันตัดสินกันด้วยผลสกอร์นี่หน่า ก็ในเมื่อมันจะมีผู้แพ้ และผู้ชนะ การทำให้มันเคลียร์หน่อย ก็ย่อมเป็นผลดีที่สุด

ทำไมก่อนนี้เรียกร้อง VAR กัน?

มันไม่หนีไปจากเหตุผลข้างบนนักหรอก คนที่รู้สึกว่าทุกอย่างต้อง “ถูกต้อง” มันก็มีอยู่ไม่น้อย หากมีอะไรมาช่วยให้การตัดสินมันเที่ยงตรง ยุติธรรม มันย่อมเป็นผลดีต่อเกมกีฬาอยู่แล้ว อย่าง “โกล์ไลน์” ที่ใช้กันมานานหลายปี ก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี

ในเมื่อมันมีจังหวะกังขาเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ล้ำหน้า, ประตู หรือใบแดง มีเทคโนโลยีมาช่วยก็ดี
(Source : The Statesman)

มองกลับมาอีกฝั่ง ฝั่งที่ชื่นชอบ “เสน่ห์ของฟุตบอล” พอเห็นการตัดสินที่ผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งส่งผลโดยตรงต่อทีมตัวเอง ก็เริ่มอดรนทนไม่ได้ ที่จะเรียกร้องให้มีอะไรมาช่วยเชิร์ตดำหน่อยก็ดี เพราะอาจารย์แกตัดสินจากเสี้ยววินาทีตอนนั้น แต่แฟนบอลที่นั่งชมอยู่ ต่างมีภาพรีเพลย์ให้ดูกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ข้อผิดพลาดมันจึงเห็นบ่อยขึ้น จนเป็นภาพลักษณ์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง

ความรู้สึกที่สะสมมา บวกกับการเห็นรายการอื่นเขาใช้ VAR กันได้ผลที่ดี ทำให้พรีเมียร์ลีก (และทีมสโมสรในสังกัด) ยอมโหวตให้มีการใช้ VAR จนได้ในซีซั่นนี้

จังหวะวัดละเอียดยิบของ VAR พรีเมียร์ลีก ที่มีเสียงออกมาชื่นชมว่าเป๊ะดีมาก
(Source : The Sun)

แถมเมื่อเริ่มใช้ในตอนต้นฤดูกาล VAR ของอิงลิชชน ยังได้รับคำชมมากมายอีกต่างหาก เพราะมีการลากเส้นที่ละเอียดยิบ เรียกว่ามาช้า แต่มาแบบคุณภาพ ตัดสินสิ่งต่างๆ ละเอียด ครอบคลุม

ข้อกังขาเริ่มก่อตัว

ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นได้ดี และดูจะราบรื่น แต่พอผ่านการแข่งขันไปเพียง 7-8 แมทช์ ข้อกังขาของ VAR ในพรีเมียร์ลีก ก็เริ่มก่อตัวขึ้น กลายเป็นกระแสตีกลับ

จังหวะทิ้งตัวของโอริกี้ ที่คิดว่าจะได้ฟาวล์ แต่กรรมการให้เล่นต่อ และนำไปสู่ประตู
(Source : iNews)

หากจะนับจังหวะแรกที่ VAR ถูกวิจารณ์ในวงกว้าง น่าจะเป็นจังหวะการได้ประตูขึ้นนำ 1-0 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเกมแดงเดือด ซึ่งฝั่งที่ไม่เห็นด้วย มองว่า “ดิว็อก โอริกี” กองหน้าของลิเวอร์พูล ถูก “วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ” ทำฟาวล์ก่อนที่บอลจะถูกชิงกลับมาเป็น จังหวะสวนกลับของยูไนเต็ด

กรรมการในวันนั้นคือ “มาร์ติน แอตกินสัน” ซึ่งโบกมือให้เล่นต่อ เมื่อเขาเห็นจังหวะปะทะตอนนั้นด้วยตาเปล่า นอกจากนั้น เมื่อประตูเกิดขึ้นไปแล้ว มีภาพ VAR ฉายซ้ำให้ได้เห็นอีก และยืนยันว่าไม่ฟาวล์ แม้จะมีการสัมผัสแบบไม่ถูกบอลจริง ของลินเดอเลิฟ

จากการย้อนดู VAR มีการสัมผัสของลินเดอเลิฟจริง แต่ก็มีการยืนยันประตูเช่นเดิม
(Source : Daily Mail)

มีบ้างเหมือนกัน ที่มีคนออกความเห็นว่า จังหวะนั้นมันไกลจากจังหวะพังประตูตั้งหลายวินาที อย่าง “มาร์ค แคลตเทนเบิร์ก” อดีตกรรมการมือ 1 ของพรีเมียร์ลีก ก็ออกมาสนับสนุนว่ามันคนละจังหวะกัน ดังนั้นหากแอตกินสัน มองว่าการสกัดนั้นไม่ฟาวล์ จังหวะได้ประตูจึงถือว่าใสสะอาด

“มาร์ติน แอตกินสัน” กรรมการที่เริ่มถูกเพ่งเล็งว่าสับสนในการตัดสิน
(Source : Manchester Evening News)

อย่างไรก็ดี ก็มีอีกหลายฝ่ายแย้งขึ้นมาว่า ถ้าจังหวะนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการได้ประตู และแอตกินสันมั่นใจว่าไม่เป็นการฟาวล์ แต่ทำไมมีการเรียก VAR ขึ้นมาดู ซึ่งพอดูแล้วมันก็เห็นอยู่ว่าน่าจะฟาวล์ สรุปแล้ว VAR กับแอตกินสัน สับสนในการตัดสินหรือเปล่า?

นั่นเป็นจังหวะแรก ที่เริ่มมีการกังขาในการใช้ VAR ของพรีเมียร์ลีก

ข้อกังขาตามมามากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่รู้ว่าเพราะการจับผิดรึป่าว หลังเริ่มมีเหตุกังขา มันเลยมีเหตุการณ์ชวนสงสัยเกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้ง ครั้งที่ถูกพูดถึง และวิจารณ์หนักหนากว่าแดงเดือด ก็ดันมี “หงส์แดง” เข้ามาเกี่ยวข้องอีกแล้ว ในนัดที่ทีมจ่าฝูง ต้องออกไปเยือนแอสตัน วิลล่า

เกมนี้มีการดู VAR ถึงประตูที่เกิดว่าล้ำหน้าหรือไม่ ถึง 2 ครั้ง 2 ครา และทั้ง 2 จังหวะต้องอาศัยการลากเส้นแบบละเอียดยิบ เรียกว่าแนวเกมรุก กับเกมรับแทบจะเทียบเคียงเส้นทับเส้น

จังหวะประตูของวิลล่า ที่มีการเช็ค VAR กันละเอียด ก่อนตัดสินให้เป็นประตู
(Source : Tribuna)

จังหวะประตูของ “เทรเซเก้ต์” ที่ยิงขึ้นนำให้วิลล่า ไลน์แมนไม่มีการยกธง กรรมการเป่าให้เป็นประตู แต่ก็มี VAR ถูกเรียกเพื่อตรวจสอบ เพราะมันเป็นจังหวะวิ่งสอดมาเล่นเซ็ตพีซ ที่เรียกว่าสวนแนวรับ กันแค่เพียงเสี้ยววินาที และสุดท้าย VAR ก็ตัดสินว่าเป็นประตู

กลับกัน ในจังหวะที่ “โรแบร์โต้ ฟิร์มิโน่” ส่งบอลเข้าไปกองที่ก้นตาข่าย ไลน์แมนยกธงว่าล้ำหน้า และผู้ตัดสินก็เป่าตามที่ผู้ช่วยแจ้งมา VAR ที่เรียกมาดูอีกครั้ง ลากเส้นกันอยู่ 2-3 ที ก่อนจะตัดสินว่า ศูนย์หน้าหงส์แดง ล้ำหน้าเพียงเสี้ยวเดียว โดยตีเส้นจากรักแร้ ที่คนควบคุม VAR มองว่าอยู่หน้าสุด

“แอนดี้ เกรย์” หนึ่งในกูรูฟุตบอล ที่ออกมาสับการเปลี่ยนลากเส้นไปมาของแอตกินสัน
(Source : SPORTbible)

ข้อกังขาสำคัญในจังหวะนี้ เกิดจากการลากเส้นใหม่หลายครั้ง จนสื่อวิเคราะห์บอลฝั่งอังกฤษ เขาจับสังเกตว่ากรรมการในห้อง VAR มีการเปลี่ยนหาจุดที่ลากอย่างน่าสงสัย จากตอนแรกที่เข่าของ “ไทโรน มิงส์” อยู่หน้าหัวไหล่ของฟิร์มิโน่ กลายเป็นสุดท้าย รักแร้ของศูนย์หน้าบราซิล เลยล้ำเข่าของมิงส์ไป

และไม่รู้ว่าความบังเอิญหรืออย่างไร กรรมการที่ห้อง VAR ในวันนั้นคือ “มาร์ติน แอตกินสัน” คนที่ตัดสินแดงเดือดไปเมื่อ 2 นัดก่อนนี่เอง

จังหวะยิงของอ๊อกซ์เลด ที่พุ่งไปโดนมือชัดเจน แต่ VAR กลับไม่ย้อนดูตรวจสอบด้วยซ้ำ
(Source : Tribuna)

พอมีข้อกังขาจังหวะนึง ก็นำไปสู่ข้อสงสัยในจังหวะถัดไป เมื่อมีจังหวะการยิงประตูของนักเตะลิเวอร์พูล ที่โดนมือของผู้เล่นวิลล่าชัดเจน โดยมือนั้นไม่ได้อยู่แนบกับลำตัว

กรรมการในเกมไม่ได้ชี้เป็นจุดโทษ อันนั้นอาจจะพอเข้าใจได้ แต่ VAR กลับไม่แจ้งให้มีการพิจารณาจุดโทษเลย จึงทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกกระบุงโกย

จังหวะยกมือผิดธรรมชาติของอัลลี่ แต่แอตกินสัน ที่เป็นกรรมการในสนาม และ VAR ชี้ว่าไม่ฟาวล์
(Source : The Sun)

นอกเหนือจากจังหวะน่ากังขาในเกม วิลล่า-ลิเวอร์พูลแล้ว มันยังมีจังหวะชวนสงสัยทั้งเกมที่อาร์เซน่อล ควรได้ประตูชัยเหนือพาเลซ และการไม่ให้จุดโทษจากการแฮนด์บอลของสเปอร์ ในเกมล่าสุดที่ไปเยือนเอฟเวอร์ตัน ทำให้ VAR ถูกตำหนิ ว่าสุดท้ายมันทำให้เที่ยงตรงขึ้น จริงหรือไม่

VAR มันมีปัญหาจริงหรือ?

เมื่อมีข้อกังขามากมายเกิดขึ้น คนย่อมหันกลับมามองว่า สรุปปัญหามันเกิดที่ระบบ VAR จริงรึป่าว? เสียเวลาดู ทำเกมดีเลย์แล้ว แต่ดันได้ผลตัดสินแย่ๆ กลับมา เพราะ VAR แหงเลย ใช่มะ?

เวลาที่ตรวจสอบนานเป็นนาที ยิ่งทำให้ VAR ถูกมองว่าทำลายเกมฟุตบอล
(Source : Washington Post)

จะตอบข้อนี้ ต้องย้อนกลับไปที่ตอนต้นฤดูกาลเสียก่อน ว่าทำไมตอนนั้น ก็ใช้ระบบ VAR แบบเดียวกันนี่แหละ กลับได้รับคำชม และไม่มีข้อโต้แย้งจากใครเลย แม้จะเสียประโยชน์ก็ตาม

คำตอบที่ได้มันเลยค่อยๆ ชัดเจน ว่าระบบ VAR เป็นเพียงแค่ “ตัวช่วย” ในการเห็นภาพ ณ จุดเกิดเหตุได้ชัดเจนขึ้น (จะว่าไป ก็เหมือนระบบภาพรีเพลย์ ที่เราดูบอลกันมาช้านานน่ะแหละ) แต่คนที่ตัดสิน และใช้งาน คือ “กรรมการ” เอง

แม้ VAR จะดูเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา แต่การตัดสินยังคงมาจากกรรมการเหมือนเดิม
(Source : talkSPORT)

ที่ขยายความมาแบบนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะพุ่งเป้าไปที่กรรมการอย่างเดียวหรอกครับ เพียงแต่อยากให้เข้าใจว่า VAR จะใช้ได้แม่นยำ และเฉียบคมแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับคนใช้ต่างหาก

ถ้ากรรมการประจำห้อง VAR ระบุจุดเกิดเหตุได้แม่น ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น การตีเส้นล้ำหน้า ผนวกเข้ากับกฎกติกาที่ถูกต้อง ความลังเลย่อมน้อยลง ความแคลงใจก็ควรจะลดลงตามไปด้วย

ยิ่งกับการที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เลือกจะไม่มีการโยนกลับมาให้ผู้ตัดสินในสนามตัดสินใจ อย่างการดูจอเล็กข้างสนามแบบลีกอื่น กรรมการประจำห้อง VAR ยิ่งต้องเด็ดขาด และฟันธงรวดเร็ว

ท้ายที่สุด VAR มันจำเป็นมั้ยล่ะ?

เล่าความกันมาถึงตรงนี้ คำตอบข้อนี้มันก็ย้อนกลับไปมองหาวัตถุประสงค์ ในประโยคแรกของมันเอง ว่าเราต้องการ “ความถูกต้อง” ในเกมฟุตบอลมั้ยล่ะ? ร้อยทั้งร้อย ผมว่าคำตอบมันคือ “ใช่”

รูปแบบการชี้ขาดตัดสินไม่ได้เปลี่ยนไปเลย “กรรมการ” ยังคงเป็นคนตัดสินใจสุดท้าย
(Source : Premier League)

ดังนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า VAR มันช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้ และคนที่จะใช้มันให้เกิดความเที่ยงตรงที่สุด ก็ยังคงเป็นทีมงานกรรมการ คนที่เป็นตุลาการในสนามลูกหนังมาแต่ไหนแต่ไร

เมื่อท้ายที่สุดมันยังถูกตัดสินด้วยมุมมองคน เสน่ห์มันก็ไม่น่าหายไปมากนักหรอก และยิ่งหาก VAR ถูกใช้โดยกรรมการที่เที่ยงตรง มันยังช่วยเพิ่มเติมความยุติธรรมให้เกมลูกหนัง ขึ้นไปได้อีกด้วย

พรีเมียร์ลีก พึ่งผ่านการใช้ VAR ไปไม่กี่นัด การพัฒนาผู้ใช้ให้คุ้นเคย จึงยังคาดหวังได้อยู่
(Source : Evening Standard)

ดังนั้นแล้ว เราคงต้องให้เวลา “คนใช้ VAR” กันอีกหน่อย เพราะมันอาจจะเกิดจากความ “มือใหม่” ไม่คุ้นเคย มากกว่าความ “ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม” โดยเจตนา

หวังว่าแบบนั้นนะ….

Picture : ESPN, Racing Post, Diario AS, Daily Express, The Statesman, The Sun, iNews, Daily Mail, Manchester Evening News, Tribuna, SPORTbible, Washington Post, talkSPORT, Premier League, Evening Standard

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save