รู้จัก “รามิน จาวาดี้” ผู้สรรสร้างสุนทรีเพลงแห่ง Game of Thrones - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
รู้จัก “รามิน จาวาดี้” ผู้สรรสร้างสุนทรีเพลงแห่ง Game of Thrones

หลังจากแนะนำตัวให้ชาวโลกรู้จักในเดือน เม.ย. ปี 2011 จวบจน EP สุดท้ายจบลงในอีก 8 ปีให้หลัง “Game of Thrones” ถือเป็นซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเรื่องหนึ่งแห่งยุค ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งเนื้อหา, ตัวละคร และการผลิต/การสร้าง ถูกพูดถึงในระดับสูง สูงเกินกว่าปกติที่เราจะใส่ใจ หรือชื่นชอบซีรีส์ซักเรื่องนึง

และแม้ซีซั่นที่ 8 ซีซั่นสุดท้ายที่เป็นดั่งบทสรุป จะโดนโจมตีจากทั่วทุกสารทิศในเรื่องของเนื้อหา ว่ามาเสียของ ตกม้าตายตอนจบ แต่ในส่วนของงานโปรดักชั่นต่างๆ ยังคงได้รับคำชมในระดับสูง เพราะมันเปิดโลกทัศน์ในการชมซีรีส์ที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจินตนาการไว้

“รามิน จาวาดี้” นักประพันธ์เพลง ผู้สร้างสกอร์ระดับตำนานตลอด 8 ซีซั่น

หนึ่งในองค์ประกอบงานสร้าง ที่จะใช้คำว่า “งานมาสเตอร์พีซ” ก็ไม่ผิด คือเรื่องของ “สกอร์” หรือเพลงประกอบซีรีส์ ซึ่งมี “รามิน จาวาดี้” นักประพันธ์เพลงคนเก่งแห่งยุค รับหน้าที่เป็นแกนหลัก เพราะนอกเหนือจากความไพเราะที่สามารถฟังซ้ำได้ไม่เบื่อ มันยังมีความลึกซึ้งสอดคล้องกับอารมณ์ของหนัง และเสริมอรรถรสในการชมได้อย่างดีเยี่ยม

และด้วยความอินในอารมณ์ของเพลงที่ยังตกค้างอยู่แม้ซีรีส์จะจบไป บวกกับการอยากสดุดีผลงานระดับชั้นครูของจาวาดี้ วันนี้เลยอยากใช้บทความนี้ ทำความรู้จักเขามากขึ้น ทั้งประวัติ และผลงานที่มันก่อร่างจนมาเป็นมาสเตอร์พีซของเขาในทุกวันนี้

รู้จักกับรามิน

“รามิน จาวาดี้” ปัจจุบันอายุ 44 ปี (จะครบ 45 ปี ในเดือน ก.ค.) เป็นลูกครึ่งอิหร่าน-เยอรมัน คุณพ่อเป็นชาวอิหร่าน ส่วนคุณแม่เป็นชาวเยอรมัน เกิดที่เมืองดุ๊ยส์บวร์ก เมืองทางตะวันตกของเยอรมัน

จาวาดี้เข้ามาเรียนสาขาดนตรีที่อเมริกา และจบจากเบิร์กลี่ คอลเลจ ออฟ มิวสิค ที่บอสตัน สถาบันที่มีคนดังในแวดวงดนตรีศึกษามากมาย อย่างเช่น ชาร์ลี พูจ, สมาชิกของวง Imagine Dragons, Dream Theater, Aerosmith

จาวาดี้ เมื่อครั้งกลับไปเยือนเบิร์กลี่ สถาบันดนตรีที่เขาร่ำเรียนมา

เมื่อศึกษาจบ ฝีมือของเขาไปเตะตา “ฮานส์ ซิมเมอร์” ปรมาจารย์เพลงแห่งยุค เลยไม่รอช้า ดึงเขาเข้ามาทำงานภายใต้บริษัท “Remote Control Productions” บริษัทที่ซิมเมอร์ก่อตั้ง และเน้นหนักไปในการทำสกอร์ประกอบหนังโดยเฉพาะ

จาวาดี้ กับฮานส์ ซิมเมอร์ ผู้เปรียบเหมือนอาจารย์คนสำคัญ

ภายหลังสั่งสมประสบการณ์ เขาได้ย้ายไปลอส แอนเจลิส และเพิ่มเลเวล ด้วยการเป็นผู้ช่วยของ “เคลาส์ บาเดลท์” อีกหนึ่งนักทำสกอร์มือทองชาวเยอรมัน ซึ่งร่วมงานกับซิมเมอร์บ่อยๆ

ความสามารถที่มากขึ้นของจาวาดี้ ทำให้เขาได้มีส่วนร่วมในการทำสกอร์ให้หนังดังๆ มากมาย อย่างเช่น Pirates of the Caribbean : The Curse of the Black Pearl หรือ Something’s Gotta Give ก่อนจะเริ่มแยกออกมาทำงานในนามตัวเองเต็มตัว

เพลงธีมหลักของ Pirates of the Caribbean หนึ่งในงานเอกของซิมเมอร์ และบาเดลท์

งานในนามตัวเองครั้งแรกของจาวาดี้คือ Blade: Trinity ซึ่งทำให้เขาคุ้นเคยกับผู้กำกับ “เดวิด โกเยอร์”​ ซึ่งต่อมาได้ร่วมงานกันในหนัง Unborn และซีรีส์ FlashForward ซึ่งทำให้จาวาดี้ได้เข้าชิงรางวัลเอ็มมี่

เดวิด โกเยอร์ ผู้กำกับคนแรกที่จาวาดี้ร่วมงานในฐานะนักประพันธ์เพลงเดี่ยว
“Blade’s Back” หนึ่งในเพลงผลงานจาวาดี้ โดยร่วมแต่งกับแร็พเปอร์ดัง RZA

หลังจากนั้น จาวาดี้ยังรับงานช่วยซิมเมอร์อยู่ด้วย โดยงานสุดท้ายที่เขารับงานในฐานะผู้ช่วย คืองานระดับเมเจอร์อย่าง Batman Begins (ซึ่งทำให้เขาได้รู้จัก “โจนาธาน โนแลน” ที่ชักชวนเขามาทำซีรีส์ Westworld ในเวลาถัดมา) และ The Island ก่อนจะผันตัวมารับงานเดี่ยวแบบเต็มตัว

คริสโตเฟอร์ (ซ้าย) และโจนาธาน โนแลน 2 พี่น้อง ที่ร่วมงานใน Batman Begins ก่อนที่โจนาธาน จะกลายเป็นผู้สร้าง Westworld และดึงจาวาดี้มาร่วมงานในภายหลัง

งานหลังจากนั้นของจาวาดี้ก็หลากหลายมาก มีทั้งหนังอย่าง Iron Man, Deception, Mr. Brooks, Clash of the Titans มีซีรีส์อย่าง Prison Break ที่ได้เข้าชิงเอ็มมี่ครั้งแรก รวมถึงอนิเมชั่นอย่าง Fly Me to the Moon กับสตูดิโอ nWave และยังมีงานทำซาวน์แทร็คให้วีดีโอเกมอย่าง Medal of Honor อีกต่างหาก

“Driving with the Top Down” ผลงานของจาวาดี้ ใน Iron Man ภาคแรก
งานกับหนัง “Mr. Brooks” ที่ได้เข้าชิงรางวัล World Soundtrack Awards

Game of Thrones : งานสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละคร

กับ Game of Thrones การใช้สกอร์บอกเล่าผ่านตัวละคร ถือเป็นจุดเด่นสำคัญ

ด้วยความหลากหลาย และฝีมือที่มากขึ้น HBO จึงเลือกให้เขาทำสกอร์ให้กับซีรีส์แฟนตาซีดราม่าฟอร์มใหญ่ “Game of Thrones” ตั้งแต่ซีซั่นแรก โดยจาวาดี้ ต้องทำการบ้านอย่างหนักในการใช้เพลงเพื่อสื่อสารความหมายที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม

จาวาดี้เคยให้สัมภาษณ์ว่า งานในการทำสกอร์ของ GOT นั้น มีความลึกซึ้งเกี่ยวกับตัวละครมาก อย่างในซีซั่นแรก ที่ซีรีส์แนะนำตัวละครให้ผู้ชมได้รู้จัก เขาจะเน้นทำธีมเพลงให้สอดคล้องแบบเจาะตัวละครสำคัญ แต่พอซีซั่นต่อๆ มา ซึ่งตัวละครเริ่มกระจัดกระจายไปตามเนื้อหา เขาก็ต้องปรับเพื่อหาจุดเชื่อมโยงเพื่อสื่ออารมณ์ให้ได้

อย่างเช่น เปลี่ยนจากเพลงเฉพาะของจอน ให้กลายเป็นเพลงของสตาร์กแทน เพื่อสื่อสารถึงตัวละครในตระกูลที่ต่างแยกย้ายมีเนื้อเรื่องของตัวเอง แต่เล่าเรื่องไปพร้อมๆ กัน หรือการผสมผสานเพลงของตัวละครในซีนที่ตัวละครมาเจอกัน อย่างจอนกับแดเนรีส เป็นต้น

“My Watch Has Ended” สกอร์ที่แต่งเจาะจงไปที่ “จอน สโนว์”
“Truth” สกอร์ที่แต่งการเข้าฉากคู่กันของจอน และแดนี่ ซึ่งจะให้อารมณ์แตกต่างออกไป

Game of Thrones : ข้ามขีดจำกัดของเครื่องดนตรี

ความซับซ้อน และหลากหลายของอุปกรณ์ ถือเป็นอีกจุดแข็งของจาวาดี้

จาวาดี้เคยพูดติดตลกว่า นับวันที่ซีรีส์ประสบความสำเร็จ และมีซีซั่นเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวเขาเองก็เริ่มงงกับทีมงานแล้วว่า “มีเครื่องดนตรีอะไรที่เรายังไม่ได้ใช้อีก?” เพราะเขาค่อยๆ พัฒนาความซับซ้อนของสกอร์ ตามเนื้อหา และตัวละครที่เติบโตขึ้น จึงมีอะไรให้ใส่เพิ่มเติมอยู่เสมอ

“Light of the Seven” สกอร์ตอนสุดท้ายของซีซั่น 6 ซึ่งใส่เสียงเปียโนที่แตกต่างลงไป

อย่างตอนจบซีซั่น 6 ซึ่งจาวาดี้ ใส่เมโลดี้ของเปียโนในแบบที่ไม่เคยใช้มาก่อนลงไป เพื่อสื่อสารความเซอร์ไพรส์ให้ผู้ชมถึงการล้มตายของตัวละครที่ไม่คาดคิด โดยกว่าจะได้สกอร์ที่เขาพึงพอใจ เขาต้องเช็คแล้วเช็คอีก จนมั่นใจว่า ไม่มีเสียงอะไรสื่อสารอารมณ์นั้นได้ดีเท่าเปียโนอีกแล้ว

Game of Thrones : อิสระในการทำงานเหนือขอบเขต

เดวิด เบนิออฟฟ์ และ แดน ไวส์ 2 ผู้สร้าง ที่ทำงานใกล้ชิดกับจาวาดี้ เพื่อให้ได้สกอร์ที่สมบูรณ์

สิ่งหนึ่งที่ถูกใจจาวาดี้เสมอ ในการทำ GOT ก็คือ “ความเป็น​แฟนตาซี” ของซีรีส์ ช่วยให้เขาใส่จินตาการในการทำสกอร์ไปได้แบบไร้ขอบเขต นอกเหนือจากนั้น ก็ต้องชมไปถึง เดวิด เบนิออฟฟ์ และ แดน ไวส์ 2 ผุ้สร้าง (คนที่โดนด่ายับในซีซั่น 8 น่ะแหละ!) ซึ่งให้อิสระ และเปิดอกคุยกับเขาทุกครั้ง ถึงสิ่งที่อยากให้เป็น ตลอดระยะเวลายาวนาน 8 ซีซั่น

“The Rains of Castamere” สกอร์ที่จาวาดี้ทำเพิ่มระหว่างซีซั่น ใน EP “Red Wedding”

นอกเหนือจากการปรึกษากัน เพื่อหาจุดที่เหมาะเจาะที่สกอร์แต่ละอันจะเริ่ม หรือสิ้นสุดการบรรเลง จาวาดี้เอง ก็เคยถูกร้องขอให้แต่งธีมเพิ่มเติมระหว่างที่การถ่ายทำเสร็จสิ้นไปแล้วด้วย ซึ่งทั้งหมด เกิดจากความตั้งใจให้ซีรีส์ออกมาสมบูรณ์ และสื่อถึงผู้ชมมากที่สุด อย่าง “The Rains of Castamere” ในฉากสุดช็อค “Red Wedding”

Game of Thrones : การออกทัวร์เกิน 70 โชว์

จาวาดี้บนเวที Game of Thrones Live Concert Experience ที่มีมากเกิน 70 โชว์

นอกเหนือจากการทำสกอร์เพื่อทำให้ซีรีส์สมบูรณ์แล้ว การทำ GOT ก็ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ที่นักแต่งเพลงน้อยคนจะได้รับ โดยเฉพาะในวัยแค่ 40 กว่าแบบจาวาดี้ ประสบการณ์นั้นคือทัวร์คอนเสิร์ต ในชื่อ “Game of Thrones Live Concert Experience”

ทัวร์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ก.พ. ปี 2017 และสิ้นสุดในเดือน ต.ค. ปี 2018 เป็นการทัวร์ครั้งสำคัญถึง 72 โชว์ โดยแบ่งเป็น 49 ครั้งในอเมริกาเหนือ และอีก 23 ครั้งในยุโรป เพื่อเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของเพลงสกอร์ GOT โดยมีจาวาดี้เป็นวาทยกร แสดงสกอร์มากมายจากซีซั่น 1-7

ภาพรวมของโชว์ ที่ยิ่งใหญ่ทั้งดนตรี และบรรยากาศที่เหมือนชมซีรีส์อยู่จริงๆ

ตลอดระยะเวลาการทัวร์ ซึ่งต้องแบ่งออกเป็น 3 เลก (เพราะจำนวนโชว์มาก เล่นติดต่อกันไม่พักไม่ได้) จาวาดี้และทีมงาน ได้ทำการปรับเปลี่ยนเพลงให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ โดยเขาเคยเปรียบเทียบมันกับการสร้างบ้าน ที่ต้องมีต่อเติมส่วนนั่นนิดนี่หน่อยไปเรื่อยๆ โดยที่คุณไม่มีวันจะพึงพอใจ 100% กับสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน

Game of Thrones : รางวัลเอ็มมี่ตัวแรก

จาวาดี้ทวิตขอบคุณ หลังทราบว่าชนะเอ็มมี่ ก่อนขึ้นแสดงทัวร์

หลังแยกมารับงานเดี่ยว จาวาดี้เคยเข้าชิงรางวัลเอ็มมี่ (เปรียบเสมือนออสการ์ของวงการทีวี) มาแล้ว 2 หนจากซีรีส์ Prison Break และ FlashFoward ก่อนจะได้กลับมาเข้าชิงเพิ่มเติม นับตั้งแต่มาทำงานใน GOT

สกอร์แรกที่ทำให้จาวาดี้เข้าชิงกับ GOT คือสกอร์ประกอบ “The Mountain and the Viper” ในซีซั่น 4 EP 8 ซึ่งมีฉากเด่นเป็นการดวลเดือดตัวต่อตัวของ “เดอะ เมาธ์เท่น”​ กับเจ้าชาย “โอเบริน มาร์เทล” ก่อนจะเข้าชิงอีกหนจากการรับงานจาก HBO ในการทำเพลงธีม Main Title ให้กับ Westworld

ซีนต่อสู้สำคัญของ “ไวเปอร์” กับ “เมาธ์เท่น” ใน EP ที่สกอร์ของราวาดี้เข้าชิงเอ็มมี่
ธีม Main Title ของ Westworld ผลงานคุณภาพ ที่ได้เข้าชิงเอ็มมี่เช่นกัน

ปี 2018 ถือเป็นโอกาสสำคัญของจาวาดี้ เมื่อเขาได้เข้าชิงเอ็มมี่ถึง 2 รางวัลจากสกอร์ประกอบ EP จากทั้งของ Westworld ซีซั่น 2 และกับ “The Dragon and the Wolf” สกอร์สำคัญในซีซั่น 7 EP สุดท้าย ที่มีเรื่องราวมากมาย ทั้งการเจรจาระหว่างแดเนรีส กับเซอร์ซี่, การตายของลิตเติลฟิงเกอร์, การเผยความจริงเรื่องชาติกำเนิดของจอน และความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างจอนกับแดนี่

“The Dragon and the Wolf” EP สำคัญส่งท้ายซีซั่น 7 ที่รวมตัวละครเข้าซีนเพียบ

และก็เป็นการเข้าชิงจาก The Dragon and the Wolf นี่แหละ ที่ทำให้จาวาดี้ชนะเอ็มมี่ครั้งแรกสำเร็จ เหนือคู่แข่งหินๆ อย่าง Jessica Jones, Star Wars Rebels หรือ Once Upon a Time

เส้นทางต่อไป

นอกเหนือจากการลุ้นว่าจะมีสกอร์ไหนในซีซั่น 8 เข้าชิงอีกบ้าง (สกอร์ The Night King น่าลุ้นมาก) คงต้องติดตามต่อว่าจาวาดี้ จะมีงานสกอร์เพิ่มเติมกับซีรีส์ Westworld ที่ HBO ประกาศทำซีซั่น 3 ไปแล้ว หรือไม่

“The Night King” สกอร์อันเลื่องลือ ที่ว่ากันว่ามีโอกาสชิงเอ็มมี่อีก

โปรเจ็คต์ที่คอนเฟิร์มแน่นอนแล้วคือการทำสกอร์ให้เกม “Gears 5” ที่จะเสร็จสิ้นกันปีนี้ หลังจากทำเพลงให้อนิเมชั่นน่ารักๆ อย่าง “The Queen’s Corgi” ไปแล้ว นอกเหนือจากนั้นต้องติดตามต่อ ว่าเขาจะมีโปรเจ็คต์สำคัญอะไรให้ได้ตื่นเต้นกัน

ตามที่เกริ่นไปครับ คาดหวังว่าทุกท่านจะได้รู้จักตัวตนของ “รามิน จาวาดี้” พระเอกอีกคนที่ทำให้เราติดตามดู GOT มายาวนานถึง 8 ซีซั่น 73 EP แบบนี้ สิ่งที่อยากจะทิ้งท้าย ย่อมหนีไม่พ้นธีมสำหรับ Main Title ซึ่งกลายเป็นสกอร์ที่รัก และฟังไม่มีเบื่อของคนทั่วโลกไปแล้ว

เขียนเกี่ยวกับสกอร์ของ Game of Thrones จะพลาดธีม Main Title ได้ไง

จนกว่าจะพบกันใหม่นะจาวาดี้ และเวสเตอรอส!

Picture : Vulture, PlusPNG, Time Magazine, Berklee College of Music, Twitter, Freshly Popped Culture, Pinterest, Polygon, NPR Illinois, Sky News, Broward Palm Beach New Times, Observer, Winter is Coming, Entertainment Weekly, Consumer Impulse

Clip : Solís Music, EargasmOfficial, nckaz, blitz34, Game of Thrones DDL, WaterTower Music, Game of Tens, supernova, GameofThrones

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save