ล้อเล่นหรือคุกคามทางเพศ : พฤติกรรมแบบไหนที่หนุ่ม ๆ ต้องระวังไม่ให้เข้าข่าย Sexual Harassment - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ล้อเล่นหรือคุกคามทางเพศ : พฤติกรรมแบบไหนที่หนุ่ม ๆ ต้องระวังไม่ให้เข้าข่าย Sexual Harassment

เมื่อคืนก่อนขณะเรากำลังนั่งอ่านอะไรใน Twitter อยู่เพลิน ๆ สายตาก็ไปสะดุดเข้ากับทวีตหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาดราม่าเกี่ยวกับภาพของนักร้องสาวซุปเปอร์สตาร์วัย 17 ปีอย่าง “Billie Eilish” 

ภาพตันเหตุนั้นเธอสวมเสื้อกล้ามรัดรูปเผยให้เห็นเผยให้เห็นหน้าอกหน้าใจขณะโดนเหล่าแฟนคลับรุมถ่ายรูปอยู่ จริง ๆ ภาพไม่ได้มีความโป๊เปลือยอะไรเลย แค่เสื้อกล้ามสีขาวธรรมดามีแจ็กเกตสวมทับ แต่ประเด็นมันอยู่ที่คนคอมเมนต์ ซึ่งใช้ภาษาสื่อไปในทาง “Sexual Harassment” หรือ การคุมคามทางเพศ 

Photo by Jo Hale/Redferns

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าสาวน้อย Billie Eilish ปกติเธอจะสวมเสื้อโอเว่อร์ไซต์อยู่ตลอดเวลา นี่จึงเหมือนเป็นภาพแรกที่ทำให้พวกเราเห็นเรือนร่างอันถูกปิดบังเอาไว้ภายใต้เสื้อตัวโคร่ง ซึ่งเหตุผลที่เธอเลือกแต่งตัวแบบนั้นไม่ใช่แค่ว่าเธอชอบแฟชันแนวฮิปฮอปสไตล์อย่างเดียว แต่เป็นเพราะเธอไม่ต้องการให้คนอื่นตัดสินเรื่องรูปร่างหรือแสดงพฤติกรรมทางเพศกับเธอ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเธอก็เหมือนกับเด็กวัยรุ่นคนอื่นทั่วไปใส่เสื้อกล้ามหรือกางเกงขาสั้นเป็นปกติ 

หลายคนไม่รู้ว่าหลังแสงสปอร์ตไลท์ Billie เป็นเพียงเด็กสาวที่ต้องต่อสู้กับอาการป่วยทางจิตและภาวะซึมเศร้า โดยใช้ชีวิตอยู่กับความเกลียดชัง ความเจ็บปวด และความหวาดกลัวมาโดยตลอด เนื้อหาในเพลงส่วนใหญ่ของเธอจึงเศร้าเสียจนคนฟังน้ำตาไหลตาม 

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นบรรดาแฟนคลับและคนธรรมดาจึงออกมาปกป้องเธอ แต่เหมือนยิ่งปกป้องยิ่งมีคนกวนประสาท คนโพสต์รูปโดยใช้คำส่อคุกคามทางเพศไม่ทุกร้อนอะไร คนคอมเมนต์หยาบคายด่าทอคนปกป้องกลับมา ยิ่งคอมเมนต์ใต้เพจไทยที่แชร์ออกไปยิ่งหนักหน้าเพราะนี่มันเข้าข่าย Sexual Harassment ชัด ๆ เพราะ การคุกคามทางเพศ หมายถึง พฤติกรรมการล่วงเกินในทุกรูปแบบทั้งทางกาย วาจา และการสัมผัสที่แสดงออกถึงนัยยะทางเพศซึ่งเป็นพฤติกรรมอันไม่พึ่งปรารถนาของบุคคลทั่วไป 

นอกจากกรณีสาว Billie Eilish จะตกเป็นเหยื่อการลวนลามทางวาจา ในบ้านเราก่อนหน้านั้นก็เคยมีกรณีของสาว อิมเมจ สุทิตา หลายคนบอกว่าเธอเป็นสาวซ่อนรูป และจ้องจะโฟกัสไปที่หน้าอกของเธอเสมอ แถมยังไปคอมเมนต์เชิงลามกกับเธออีกต่างหาก ซึ่งอิมเมจได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความจริงในใจว่าเธอรู้สึกแย่กับการที่ผู้ชายเห็นผู้หญิงเป็นแค่ Sex Object จนตัวเธอเองก็กลัวที่จะสวมเสื้อผ้าที่เปิดเผยเรือนร่าง

เรื่องตลกของผู้ชายแต่ขำไม่ออกของผู้หญิง 

ทั้งกรณีของอิมเมจและ Billie Eilish มันสะท้อนให้เห็นว่าคนที่ใช้คำพูดเชิง Sexual Harassment มองว่าเป็นเรื่องปกติ เห็นเป็นเรื่องแซวตลกขำ ๆ บางคนบอกว่าเด็กอายุ 17 ไม่ควรจะต้องมาเจออะไรแบบนี้ แต่ไม่ว่าผู้หญิงจะอายุเท่าไหร่ก็ไม่ควรมาเจออะไรแบบนี้ทั้งนั้น แม้เธอจะแต่งตัวเชิญชวนหรือทำพฤติกรรมส่อไปในการเชิญชวนทางเพศขนาดไหน แต่เราไม่สามารถคิดแทนเธอได้ว่าเธอต้องการอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่ 

แม้กระทั่งฝ่ายชายเองก็มีหลายครั้งที่โดนสาว ๆ เข้าไปคอมเมนต์เชิง Sexual Harassment เช่นกัน รวมถึงการเยียดเพศทางเลือกที่เรามักล้อเขาเล่นกันสนุกปาก

ปกติเวลาเห็นคนคอมเมนต์แย่ ๆ ออกไปจำนวนหนึ่ง เรามักจะคิดว่า “ไม่เห็นจะเป็นไรเลย ใคร ๆ ก็ทำ” คำว่าใคร ๆ ก็ทำนี่แหละกลายเป็นปัจจัยหนึ่งของการคุกคามทางเพศ

“ เมื่อมองไปที่โครงสร้างของสังคมจะเห็นว่าสังคมมีส่วนมากในการหล่อหลอมผู้คนที่เห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศไม่เป็นไร เป็นเรื่องล้อเล่น เป็นเรื่องตลก ตั้งแต่สื่อกระแสหลักที่มีละคร หรือรายการโทรทัศน์ตลกโปกฮา มีมุกเหยียดเพศ ล้อเลียนรูปร่าง และพฤติกรรมทางเพศกันอย่างเป็นเรื่องธรรมดา พาดหัวในข่าวแบบรุนแรงแฝงการเหยียดที่มีคนคลิกไลค์จำนวนมาก ระดับสังคมการทำงานที่มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด มีการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ไปจนถึงในระดับครอบครัว ที่ผู้ใหญ่อาจจะพูดเล่นแนวนี้กันเป็นเรื่องปกติ และเมื่อย้อนไปถึงสังคมไทยในซึ่งมีเพศชายเป็นใหญ่ ก็จะทำให้เกิดลักษณะของการมองเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศหรือเปล่า นี่ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดด้วย ”

พญ.เบญจพร ตันติสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา กล่าวเอาไว้ในงานเสวนาเรื่อง“ลวนลามทางเพศผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ภัยเงียบที่ถูกเพิกเฉย” 

พฤติกรรมที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศ 

อย่างที่บอกไปว่าการคุมคามทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั้งเพศตรงกันข้ามและเพศเดียวกันซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การพูดในเชิงเพศสัมพันธ์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงการเยียดเพศหรือเยียดเชื้อชาติด้วย  โดยผลการศึกษาของ Bureau of National Affairs บริษัทด้านกฎหมายแบ่งการคุมคามทางเพศออกมาด้วยกัน 4 รูปแบบ คือ วาจา การสัมผัส การสื่อสาร และสายตา 

นอกจากนั้นยังพบว่าประเภทที่มีการคุกคามทางเพศมากที่สุดคือทางวาจา 83 % รองลงมาเป็นการถูกเนื้อต้องตัว  14 % การสื่อสาร 2 % และสุดท้ายทางสายตา 1 %

1. วาจา

คำพูดต่าง ๆ ที่เราพูดออกไปโดยไม่คิด หรืออาจจะคิดแล้วแต่ไม่ได้รู้ว่าจะกระทบใจอีกฝ่ายขนาดไหน โดยหมายถึงตั้งแต่การล่วงเกินแบบตรง ๆ ,การใช้คำพูดหยาบคาย, การเล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับเพศหรือการรวมเพศ, การข่มขู่หรือเอาเรื่องส่วนตัวอีกฝ่ายมาเป็นข้อต่อรอง, การพูดถึงสัดส่วนของร่างกายหรือนำมาล้อเลียน(อันนี้แหละเป็นบ่อยกันนัก), ติหรือชมของสงวน ไปจนถึงพูดคำที่ทำให้อีกฝ่ายได้รับความอายหรือขายหน้า

2. การสัมผัส

พวกมือไวทั้งหลายที่ชอบโอบนิดจับหน่อยโดยอีกฝ่ายไม่ยินยอมนี่แหละใช่เลย หรือพฤติกรรมอย่างยื่นหน้าหรือนำตัวเองเข้าไปชิดเกินไป พยายามจะกระซิบข้างหูเธอแต่เอาปากมาชนแก้มก็ใช่, การทำตัวกีดกันทางผ่านขว้างทางไม่ให้ไป,การตื๊อไม่เลิก, ทำร้ายร่างกาย จนกระทั่งไปถึงการ ข่มขืน ล้วนเป็นการคุกคามทางเพศ 

3. การสื่อสาร

หมายถึงตั้งแต่การเขียนในกระดาษ,การส่งข้อความทางแชท, การส่งรูปภาพ, รวมถึงการส่งของสงวนปลอมหรือส่งของขวัญประเภทเกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์อันทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่น่าอึดอัดในเรื่องเพศ ซึ่งพวกแอบถ่ายทั้งหลายหรือชอบดูคลิปโป๊ในที่สาธารณะเข้าข่ายข้อนี้แหละ 

4. การแทะเล็มด้วยสายต

จ้องเธอจนตาจะถลนเรารู้นะว่าผู้ชายหลายคนทำบ่อย แล้วผู้หญิงอย่างเรา ๆ ก็ดูออกว่าสายตาแบบไหนมาดี สายตาแบบไหนมาหื่น ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจถึงคุณจะแค่มอง แต่มันก็ทำให้เธอรู้สึกอึดอัดไม่ใช่น้อย โดยกรณีที่ใช้สายตาจ้องมองแล้วเข้าข่ายคุกคามทางเพศ มีตั้งแต่จ้องมองส่วนต่างๆของร่างกาย, ติดภาพเปลือย, อวดชิ้นส่วนของร่างกาย และมองภาพ หรือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ

พฤติกรรมทั้งหมดนี้หลายคนคงรู้อยู่แก่ใจแล้วว่ามันไม่ใช่พฤติกรรมที่เหมาะสมเท่าไหร่นัก แต่ความกล้าที่ผลักดันให้เราทำกันบ่อย ๆ คือคำว่า “แค่ล้อเล่นเอง” จากประสบการณ์ส่วนตัวไอ้คำว่าล้อเล่นนี่แหละที่ทำร้ายจิตใจคนอื่นมานักต่อนักแล้ว 

โลกออนไลน์ พื้นที่คุกคามทางเพศขนาดใหญ่ 

อิทธิพลของโลกออนไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่กลัวหรือขาดความเกรงใจ บางคนบอกว่าจะใช่การคุมคามทางเพศได้อย่างไรผู้ที่ถูกกระทำไม่ได้เสื่อมเสียตรงไหน แต่โลกออนไลน์นี่แหละตัวดี เราแชร์ต่อ เราคอมเมนต์กันอย่างสนุกมือ เพราะคิดว่าไม่ได้เจอตัวกันซึ่ง ๆ หน้าเสียหน่อย เรานี่นักเลงตัวดีใจกล้ากว่าใครในโซเชียลโดยไม่รู้เลยว่าก่อให้เกิดความเครียดและกดดันอย่างหนักต่อผู้ถูกกระทำ จนอาจถึงขั้นทำให้เขาอยากฆ่าตัวตายไปเลย  

คุณใช้ถ้อยคำแทะโลมคนอื่นได้ เหมือนไม่ได้มองอีกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน และมันอาจเป็นการปลูกฝังให้กล้าที่จะละเมิดสิทธิอื่นๆ เช่น ละเมิดสิทธิทางร่างกายได้ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศกล่าว

ต่อไปนี้จะหื่นหรือรู้สึกอย่างไรเก็บความคิดเหล่านั้นไว้กับตัวเองดีกว่า อย่าเอาความเสื่อมทรามในจิตใจเราไปลงกับใคร ไม่งั้นคุณอาจจะเข้าข่ายคุกคามทางเพศแบบไม่ทันคิด 

Source : 1|2|3|4|5|6|7

Suthamat
The girl with flowers tattoo

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save