ค่าตัว “ถูก” หรือ “แพง” จริงๆ มันวัดกันที่ไหน? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ค่าตัว “ถูก” หรือ “แพง” จริงๆ มันวัดกันที่ไหน?

ในฐานะคนที่อายุเกิน 30 และทันดูฟุตบอลในยุคที่ค่าตัวขึ้นหลักล้านปอนด์ ก็ถือว่ามูลค่าสูงแล้ว การได้เห็นค่าตัวนักเตะสมัยนี้ ที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ชวนให้รู้สึกว่ามัน “แพงจังวะ” เชื่อว่าหลายคน ก็คงเห็นตรงกัน

แต่ถ้าเราลองมองกันกว้างขึ้นอีกหน่อย ตัดเรื่องความรู้สึกแว้บแรกออกไป ไอ้เรื่องที่จะตัดสินว่า “แพง” หรือ “ถูก” บางทีมันก็ไม่แฟร์เหมือนกัน ถ้าเราจะไปตัดสินกันตั้งแต่การเซ็นสัญญาเสร็จสิ้น โดยยังไม่รอดูผลงานของนักเตะคนนั้นเลย

“เวอร์จิล ฟาน ไดค์” และ “อลิสซง เบ็คเกอร์” ที่ค่าตัวรวมกัน 142 ล้านปอนด์ แต่รู้สึกว่า “คุ้มค่า”

ตัวอย่างของราคาที่แสนแพง หยิบยกเอามาพูดได้ไม่ต้องไปไหนไกลตัว ก็อย่าง “เวอร์จิล ฟาน ไดค์” ที่ยังคงเป็นเจ้าของสถิติกองหลังที่แพงที่สุดในโลกที่ 75 ล้านปอนด์ (แว่วๆ ว่า เลสเตอร์อยากได้ค่าตัวมาไกวร์ สูงกว่า หากมีการย้าย) หรือ “อลิสซง เบ็คเกอร์” นายด่านบราซิเลี่ยน ซึ่งตอนที่ “หงส์แดง” จ่ายค่าตัวเกือบ 67 ล้านปอนด์ ก็เป็นราคาที่สูงที่สุดสำหรับผู้รักษาประตู

ถามว่าค่าตัวรวม 142 ล้านปอนด์ ที่จ่ายไปแพงมั้ย ในความรู้สึกตอนซื้อ บอกเลยว่า “แพง” แต่ถ้าเทียบผลงาน 1 ซีซั่นครึ่งของกัปตันทีมชาติฮอลแลนด์ และ 1 ซีซั่นเต็มของมือ 1 ทีมชาติบราซิล แทบไม่มีใครคิดว่ามัน “แพง” หรอก ยิ่งได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นถ้วยบิ๊กเอียร์สมัยที่ 6 ยิ่งรู้สึก “คุ้มค่า”

“ฟิลิปเป้ คูตินโญ่” ยังไม่สามารถเรียกความ “คุ้มค่า” ให้กับบาร์เซโลน่า ที่ลงทุนจ่ายถึง 105 ล้านปอนด์

กลับกันหากมองการทำตังค์ได้สูงที่สุดในการปล่อยผู้เล่นออกไปของหงส์แดง อย่าง “ฟิลิปเป้ คูตินโญ่” ในราคา 105 ล้านปอนด์ (และอาจเพิ่มได้ถึง 142 ล้านตามเงื่อนไข) ที่ไม่สามารถเรียกฟอร์มเก่งที่บาร์เซโลน่าได้ กลายเป็นราคาค่างวดที่บาร์ซ่า จ่ายไปแบบ “แพงหูฉี่” และความ “คุ้มค่า” ตกกลับมาเป็นของฝั่งลิเวอร์พูลไปแทน

หรือจะเอาอีกตัวอย่างที่ชัดเจน ก็อย่างการขาย “ราฮีม สเตอร์ลิ่ง” ไปให้กับ “เรือใบสีฟ้า”​ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในราคารวมๆ 49 ล้านปอนด์ ซึ่งทั้งตอนขาย และตอนผ่านซีซั่นแรกที่ค่อนข้างน่าผิดหวังของเจ้าตัว แทบจะทุกคนพูดตรงกันว่า “แพง” และ “ไม่คุ้ม”

ลูกกรอกคะนอง “ราฮีม สเตอร์ลิ่ง” ที่อาจจะใช้เวลาหน่อย แต่ก็พิสูจน์ว่าค่าตัวเขา “ไม่แพง”

แต่เมื่อเด็กคะนองอย่างราฮีมปรับตัว และเล่นเข้าแผนของเป๊บ กวาดิโอล่า มากขึ้นเรื่อยๆ ราคา 49 ล้านตอนนั้น กลับกลายเป็น “ไม่แพง” และ “คุ้มค่า” ขึ้นทันที กับนักเตะที่อายุปัจจุบัน แค่ 24 ปี แต่ติดทีมชาติอังกฤษไปเกินครึ่งร้อย แถมยังยิงให้ซิตี้ใกล้หลัก 70 ประตูไปเรียบร้อย ในระยะเวลา 4 ซีซั่น

ดังนั้นแล้ว ค่าตัวที่มองดูแพงแสนแพง อาจกลับกลายเป็นความคุ้มค่าคุ้มราคาก็ได้ หากผลงานที่ตอบแทนสโมสร และผลลัพธ์ความสำเร็จ มันผลิดอกออกผลในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกันกับตลาดซัมเมอร์นี้ ที่กำลังดำเนินไปจนกว่าจะถึงเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. ก็เริ่มมีนักเตะราคาแรงๆ คอนเฟิร์มการย้ายทีมกันไปบ้างแล้ว

“เอด็อง อาซาร์” ย้ายไปร่วมทีมเรอัล มาดริด เรียบร้อย ด้วยค่าตัวก่อนบวกเงื่อนไข 90 ล้านปอนด์

“เอแดน อาซาร์” หนึ่งในนักเตะที่เก่งที่สุดในโลกฟุตบอลปัจจุบัน ย้ายไปร่วมทีมเรอัล มาดริด เสียที หลังจากมีข่าวมีตลอดในช่วงขวบปีหลัง ค่าตัวของเขาอยู่ที่ประมาณ 90 ล้านปอนด์ ซึ่งอาจจะเพิ่มเติมขึ้นไปถึง 117 ล้าน ตามเงื่อนไขที่ผูกไว้เพิ่มเติมในสัญญาซื้อขาย

ในตัวเลขไม่ห่างกันมาก ทีม “ตราหมี” แอต.มาดริด ที่เตรียมเสีย “อองตวน กรีซมันน์” ไป ก็หาตัวแทน ด้วยการทุ่มทุนเพื่อปลดล็อคสัญญาของ “เจา เฟลิกซ์” แนวรุกดาวโรจน์ชาวโปรตุกีส ของเบนฟิก้า ในราคาที่สูงถึง 113 ล้านปอนด์

“เจา เฟลิกซ์” นักเตะค่าตัวทะลุหลัก 100 ล้านปอนด์คนล่าสุด ของโลกฟุตบอลที่หมุนเร็ว

ด้วยราคาระดับเมกกะโปรเจคต์ แน่นอนว่ามีน้อยคน ที่จะบอกว่าค่าตัวของอาซาร์นั้น “แพง” เพราะนอกจากฝีเท้าที่ได้รับการพิสูจน์มาหลายต่อหลายปีแล้ว เม็ดเงินตอบแทนให้กับเชลซีที่เขาซื่อสัตย์รับใช้มายาวนาน 7 ปี ก็ดูสมเหตุสมผล

กลับกันกับเจ้าหนู เจา เฟลิกซ์ ซึ่งพึ่งจะโด่งดังขึ้นมาในฤดูกาลนี้ และถ้าจะนับจริงๆ เขาพึ่งถูกพูดถึงแบบจริงจัง เมื่อเดือน เม.ย. นี้เอง ภายหลังยิงแฮททริคใส่ไอน์ทรัค แฟรงก์เฟิร์ต ในยูโรป้า ลีก ค่าตัวในระดับที่สูงกว่าอาซาร์ เลยดูแพงระยับ แม้ไม่อาจมองข้ามเรื่องอายุการใช้งานของเจ้าตัว ที่ยังเอ๊าะๆ แค่ 19 ปีก็ตาม

ฟอร์มฮ็อตของเฟลิกซ์ ทำให้เขาติดทีมชาติโปรตุเกสชุดใหญ่ไปแล้ว ในเนชั่นส์ ลีก ไฟนอล

หนูเจา กับทีม “ตราหมี” อาจจะตะกุกตะกักในปีแรก แบบที่เรารู้สึกว่า “ไม่คุ้ม” กับราฮีม สเตอร์ลิง แต่กลับมาประสบความสำเร็จในปีต่อๆ ไป แบบคุ้มเกินคุ้มก็ได้ ใครจะไปรู้

หรือมันอาจจะเป็นหนึ่งในความล้มเหลวครั้งใหม่ ของการทุ่มซื้อนักเตะ เหมือนที่โลกเคยรู้สึกตรงกันว่า “โคตรไม่คุ้ม” กับนักเตะค่าตัวสถิติโลกอย่าง “เดนิลสัน” ที่ย้ายไปดับกับเรอัล เบติส ด้วยค่าตัว 21.5 ล้านปอนด์ ในปี 1998 ก็เป็นได้

“เดนิลสัน” ปีกทีมชาติบราซิล เจ้าของสถิติค่าตัวแพงที่สุดในโลกเมื่อปี 1998 แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า

ในขณะที่ ค่าตัว 112 ล้านปอนด์ ที่ดู “คุ้มค่า” กว่ามากของอาซาร์ อาจจะตามมาด้วยผลลัพธ์พลิกล็อค ที่ส่งผลให้เขาไม่ประสบความสำเร็จกับ “ราชันชุดขาว” ก็เป็นได้เช่นกัน หากการทุ่มทุนสร้างแตะหลัก 300 ล้านปอนด์ของ “ซิเนดีน ซีดาน” ไม่อาจนำมาซึ่งถ้วยรางวัล ที่ยักษ์ใหญ่จากมาดริดคาดหวัง

การทุ่มทุนสร้างทีมใหม่ของ “ซีเนดีน ซีดาน” ย่อมคาดหวังผลสำเร็จ ที่เป็นรูปธรรมทันที

หรืออย่างค่าตัวรวมเงื่อนไขทั้งหมด ระดับ 50 ล้านปอนด์ ของ “อารอน วาน-บิสซาก้า” ฟูลแบ็ควัย 21 ปี ที่ “ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทุ่มทุนจ่ายให้กับคริสตัล พาเลซ ทั้งที่พึ่งขึ้นชั้นมาเล่นเป็นตัวจริงชุดใหญ่ของ “ปราสาทเรือนแก้ว” ได้เพียงซีซั่นเดียว

หากคิดแบบง่ายๆ ถึงผลงานที่ไม่ประสบความสำเร็จของทีมเมื่อซีซั่นก่อน หรือการซื้อตัวสำคัญก่อนนี้อย่าง อเล็กซิส ซานเชส หรือโรเมลู ลูกากู ที่ดูไม่คุ้มค่า คุ้มราคา มันก็พาลทำให้คิดว่า ไอ้หนู “วาน-บิสซาก้า” คงจะมาคว้าน้ำเหลวอีกคนแน่ๆ

“อารอน วาน-บิสซาก้า” แบ็คขวามคนใหม่ของ “ปีศาจแดง” ที่ทุ่มซื้อมาด้วยราคารวม 50 ล้านปอนด์

แต่ถ้าฤดูกาลใหม่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ สามารถปรับทีมได้ลงตัวล่ะ? หากปีศาจแดง สามารถเติมนักเตะ ในตำแหน่งที่มีปัญหา แล้วกลับมาทำผลงานได้ดีล่ะ? แล้วถ้าวาน-บิสซาก้า สามารถเล่นด้วยฟอร์มเหนียวแน่น แบบที่เขาเล่นกับคริสตัล พาเลซ ในชุดสีแดงเพลิงล่ะ?

บางที 50 ล้านปอนด์ อาจจะคุ้มแสนคุ้มก็ได้ หากทัพปีศาจแดงได้ “แกรี่ เนวิลล์” คนใหม่ ที่รับใช้ทีมได้อีกนานแสนนาน ว่ามั้ย?

Picture : Fox SPORTS Asia, Manchester United FC, KissPNG, New Straits Times, The National, ESPN, 90Min, Evening Standard

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save