ฉายานักบอลรุ่นเก่า ที่ฟังปั๊บ จำติดหู - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ฉายานักบอลรุ่นเก่า ที่ฟังปั๊บ จำติดหู

เรื่องของการตั้งฉายาให้กับสิ่งนู้นสิ่งนี้ มันเป็นเหมือนเรื่องปกติของผู้คนทั่วโลกนะครับ ในบ้านเราก็มี แต่ที่ทำให้เราติดหูกับการตั้งฉายาของคนไทย นอกเหนือจากเพราะเป็นภาษาแม่ที่คุ้นชินมาแต่เกิด ก็ต้องยอมรับในภาษา และคำของบ้านเรา ว่ามันรังสรรค์ฉายาสะดุดหูได้เป็นพิเศษ

นักเตะชื่อดังมักจะมี “ฉายา” อยู่เสมอ อย่าง “มนุษย์ต่างดาว”, “เจ๊ทโด้” หรือ “หม่อมเหยิน”

อย่างในแวดวงฟุตบอล กีฬาอันดับ 1 ของบ้านเรา ที่เราติดตามกันทั้งบอลไทย และบอลนอก ฉายาในยุคปัจจุบัน ก็ถูกตั้งกันขึ้นมาอยู่ตลอด อย่างเช่น “คริสเตียโน่ โรนัลโด้” เราก็เรียกง่ายๆ จากการย่อชื่อว่า “โด้” หรือเอามันหน่อยก็ “เจ๊ทโด้” หรือ “หลุยส์ ซัวเรซ” เราก็ตั้งกันว่า “หม่อมเหยิน” โดยเอาลักษณะเด่นของแก ล้อไปกับชื่อตลกบ้านเรา พอศูนย์หน้าคนเก่งชาวอุรุกวัย มีพฤติกรรมไล่งับชาวบ้าน ฉายาก็ปรับมาเป็น “หม่อมกัด” แทน

ฉายาต่างๆ นานา ที่ตั้งขึ้นมา มันก็ถือเป็นอรรถรสที่ทำให้เราจดจำตัวนักเตะ หรือชื่อเสียงเรียงนามพวกเขาได้ง่ายขึ้น ไม่เพียงแค่ตอนเรานั่งชมฟุตบอล แต่ยุคสมัยนี้ มันยังถูกใช้ในการสื่อสารผ่านโซเชียล ที่กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตไปแล้ว

“เดวิด เด เกอา” กับฉายา “ลามะ” เพราะรูปทรงหน้า และคอ รวมถึงการไว้เครา ดูเหมือนตัวลามะ

ไอ้ฉายามากมายในยุคปัจจุบันอย่าง “หัวขิง” ของเจอร์ราร์ด, “ตู้เย็น” ของลูกากู, “ลามะ” ของเด เกอา หรือ “หอกบลูทูธ” ของแฮร์รี่ เคน มันก็สนุก และน่าจดจำดี แต่ถ้าลองไปเทียบถึงยุคก่อนหน้านั้น ซักยุค 90 ถอยลงไป มันจะมีฉายาคลาสสิกกว่า ที่ฟังปุ๊บ จำได้ทันที

วันนี้เลยอยากจะชวนดักแก่ ย้อนกลับไปดูฉายาสะดุดหู เหล่านั้นกัน

ฉายาที่ได้จากการยกย่อง

ฉายาจำพวกนี้จัดเป็นความเท่ที่อ่านกี่ทีก็รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกร โดยสมัยก่อน นักเตะที่ได้รับการยกย่องขึ้นชื่อฉายาว่า “ราชา” “ราชันย์” “เจ้าชาย” ต้องมีความสามารถ และผลงานที่ประสบความสำเร็จ น่ายกย่อง

“ไกเซอร์ลูกหนัง” ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์ ผู้เปรียบเป็นเหมือนผู้ยิ่งใหญ่ ในวงการลูกหนังโลก

นักเตะจำพวกนี้ ก็อย่างเช่น “ไกเซอร์ลูกหนัง” ฟรานซ์ เบคเค่นบาวเออร์, “นักเตะเทวดา” โยฮัน ครัฟฟ์, “นโปเลียนลูกหนัง” มิเชล พลาตินี่ หรือ “เจ้าชายลูกหนัง” เอ็นโซ่ ฟรานเชสโคลี่

นอกเหนือจากการยกย่องดั่งเป็นนักรบคนสำคัญ ก็ยังมีนักเตะที่ได้รับฉายาเข้าข่ายนี้ ซึ่งบวกด้วยเอกลักษณ์อย่างอื่นเข้าไปด้วย อย่างเช่น “ไข่มุกดำ” เปเล่ ซึ่งโดดเด่นเปรียบเสมือนไข่มุกที่เจิดจรัส แล้วก็บวกกับการที่เจ้าตัวเป็นนักเตะผิวสี เข้าไปด้วย (สมัยก่อน การใช้คำบางคำ บ้านเรายังไม่ซีเรียสเรื่องคำที่อาจจะดูเหยียดผิว กันมากนัก)

“ไข่มุกดำ” เปเล่ นักเตะที่คนค่อนโลกยกให้เป็นเบอร์ 1 ตลอดกาล

หรือจะเป็น “ซูเปอร์แมน” โลธ่าร์ มัทเธอุส ตำนานลิเบอโร่ของเยอรมัน ซึ่งนอกจากฝีเท้าจะโดดเด่นแล้ว ความอึดขึ้นลงได้ตลอดเกม ก็มีส่วน เช่นเดียวกับ “กัปตันมาร์เวล” หรือ “กัปตันกระดูกเหล็ก” ไบรอัน ร็อบสัน ซึ่งมีเรื่องความอึด และความเป็นผู้นำมาเอี่ยวด้วย

“เทพบุตรลูกหนัง” จอร์จ เบสต์ ที่นอกจากฝีเท้าโดดเด่นแล้ว ยังหล่อเหลาเอาการ

นอกจากเรื่องจุดเด่นแล้ว เรื่องหน้าตา และสไตล์นอกสนามก็เอามาตั้งได้ด้วย ชัดเจนที่สุดก็เป็น “เทพบุตรลูกหนัง” จอร์จ เบสต์ ที่ยกย่องทั้งฝีเท้า และหน้าตาที่หล่อเหลา มีไลฟ์สไตล์ชอบเข้าสังคม เป็นเอกลักษณ์

ฉายาจากรูปลักษณ์ ที่เป็นเอกลักษณ์

อันนี้ก็เห็นกันได้ง่าย จากรูปลักษณ์ภายนอกที่น่าจดจำ บางคนก็โดดเด่นกว่าคนอื่นอย่าง “ไอ้หัวงูเก็งกอง” รุด กุลลิท ที่ภายหลังชื่อของเขาก็กลายเป็นฉายาของอีกคนอย่าง “กุลลิทขาว” คาร์ลอส วันเดอร์ราม่า โดยตั้งจากทรงผมที่เป็นเอกลักษณ์

“กุลลิทขาว” คาร์ลอส วันเดอร์ราม่า จอมทัพโคลอมเบีย ซึ่งมีเอกลักษณ์ทรงผมไปทาง รุด กุลลิท

“เสือเตี้ย” ดิเอโก้ มาราโดน่า เองก็ได้ฉายาจากรูปร่างของเขา ก่อนจะถูกเรียกว่า “แฮนด์ ออฟ ก็อด” ภายหลังฟุตบอลโลก 1986, “หมึกดำยักษ์” เลฟ ยาชิน ก็มาจากชุดแข่ง ที่เขามักจะใส่สีดำทั้งตัว

หรือ “อ้วนซ่าส์” พอล แกสคอยน์, “แก้มแดง” คาร์ลไฮม์ รุมเมนิกเก้, “เพชฌฆาตหน้าติดหนวด” เอียน รัช, “ไอ้หงอก” ฟาบริซิโอ ราวาเนลลี่ ก็ชัดเจนสมฉายา

“เจ้านกน้อย” การ์รินช่า ปีกตำนานทีมชาติบราซิล ที่เอาชนะความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย

ชื่อที่ชอบมากจนต้องขอแยกมาคือ “เจ้านกน้อย” การ์รินช่า ปีกทีมชาติบราซิล นอกเหนือจากลีลาที่พลิ้วไหว ฉายาของเขา ยังมาจากรูปร่างที่ไม่สมประกอบ ว่ากันว่า เขามีขาซ้ายสั้นกว่าขาขวาถึง 6 เซนติเมตร แต่ก็ต่อสู้จนสามารถเล่นฟุตบอลได้ แถมยังเก่งจนหลายสื่อยกให้เป็นอันดับ 2 รองจากแค่ เปเล่ เท่านั้น

ฉายาจากสไตล์การเล่น

ฉายาในหมวดหมู่นี้ จะสะท้อนสไตล์การเล่นออกมา โดยส่วนใหญ่จะพูดถึงจุดเด่นที่นักเตะแต่ละหน่อมี อย่าง “มิดฟิลด์เท้าช่างทอง” ของเกล็นน์ ฮ็อดเดิ้ล ก็มาจากการจ่ายบอลแม่นยำเหมือนชั่งวัดมาเรียบร้อย, “ยอดคนแสนคม” ฉายาที่คารมคมคายของโธมัส เฮสเลอร์ ก็บ่งบอกถึงสรรพคุณของเขาอย่างดี หรือจะเป็น “ปีกพ่อมด” ไรอัน กิกส์ ที่ร่ายลีลาริมเส้นเหมือนพ่อมด

“เพชฌฆาตพรายกระซิบ” ฉายาคลาสสิก และไพเราะ ของมาร์โก ฟาน บาสเท่น ศูนย์หน้าดัทช์แมน

อีกเซ็ตที่ต้องตีความกันต่ออีกหน่อย ก็มี “เพชฌฆาตพรายกระซิบ” ฉายาโคตรเพราะของ มาร์โก ฟาน บาสเท่น ที่แม้จะรูปร่างสูง แต่มีสปีดต้น และการชิงจังหวะที่เทพกว่าคนอื่น แถมยังอยู่ถูกที่ถูกเวลา เหมือนมีพรายมากระซิบบอก

“ฉลามล้อคลื่น” คาร์ลไฮซ์ รีดเล่ กองหน้าเยอรมัน ผู้มีส่วนสำคัญพาดอร์ทมุนด์คว้า UCL ปี 1997

“ฉลามล้อคลื่น” ของคาร์ลไฮซ์ รีดเล่ ก็เท่ดี โดยมาจากสไตล์การเล่นที่มักจะโดดเด่นเรื่องการเล่นลูกกลางอากาศ และคอยก่อกวนกองหลังอยู่เรื่อย หรือ “มะพร้าวห้าว” กอร์ดอน สตรัคคั่น มิดฟิลด์สก็อตติช ที่ดุดัน กัดไม่ปล่อย แถมไม่เคยกลัวใครหน้าไหนเลย

พวกสายยิงสะนั่น ก็มีฉายาทีเด็ดให้จดจำเหมือนกัน “ฮ็อตช็อต” อลัน เชียร์เรอร์, “บาติโกล์” กาเบรียล บาติสตูต้า, “ไอ้ลูกระเบิด” เกิร์ด มุลเลอร์ ล้วนยกย่องศูนย์หน้าตีนระเบิด ที่ขึ้นชื่อเรื่องการพังประตู

“พ่อมดนักบุญ” ฉายาที่ขัดกันในตัว แต่น่าจดจำของ แมทธิว เลอ ทิสซิเอร์

ที่คลาสสิก และชื่นชอบคือฉายา “พ่อมดนักบุญ” ของแมทธิว เลอ ทิสซิเอร์ เพลย์เมกเกอร์ของทีม “นักบุญ” เซาท์แธมป์ตัน ที่นอกจากทักษะจะเพลิดเพลินชวนดูแล้ว จมูกของแกยังงุ้มๆ เหมือนพ่อมดอีกด้วย ฉายา “พ่อมดนักบุญ” จึงครบถ้วน และดูเท่แบบ Contrast น่าจดจำ

ฉายาจากนิสัย ใจคอ

ว่ากันว่า นักเตะสมัยก่อน เล่นด้วย​ “ใจ” กันมากกว่าสมัยนี้ เรื่องนิสัย ใจคอ ที่โดดเด่น เลยเป็นที่พูดถึงกันมาก และก็เลยเอามาตั้งฉายากันซะเลย

“ศิลปินลูกหนัง” ฉายาที่เหมาะสมอย่างมากกับ เอริก คันโตน่า กองหน้าที่เต็มไปด้วยฟีลลิ่ง

ไม่มีใครไม่รู้จักฉายา “ศิลปินลูกหนัง” ของเอริค คันโตน่า ที่มีสไตล์ และมาดเฉพาะตัว, “ขบถลูกหนัง” ของแบรนด์ ชูสเตอร์ ก็ไม่ได้มาฟลุ๊คๆ, “ไอ้โรคจิต” ของวินนี่ โจนส์ ก็บอกควบรวมไปเลย ทั้งนิสัยบ้าบอ และการกระทำในสนาม ที่ไม่เหมือนใคร หรือจะเป็น​ “คนโตตัวเล็ก” ที่บ่งบอกว่าเดนิส ไวส์ ห้าวเพียงใด แม้จะตัวเล็กกว่าชาวบ้านเค้า

“เจ้าห้าวหัวเสือ” สเตฟาน เอฟเฟ่นแบร์ก จอมทัพอินทรีเหล็ก ที่ดุดัน มีความเป็นผู้นำสูง

ที่รู้สึกว่าเท่มาก คงเป็น “จอมห้าวหัวเสือ” สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก จอมทัพของทีมชาติเยอรมัน และบาเยิร์น มิวนิค นอกจากทรงผมสีบลอนด์ไว้ยาวดูคล้ายหัวเสือ (จริงๆ มันออกเป็นหัวสิงโตมากกว่า – หรือส่วนนึง ที่เรียกว่าหัวเสือ ก็เพราะเขาเล่นให้ “เสือใต้” บาเยิร์น มิวนิค) รวมกับบุคลิกที่ห้าวเหมือนเสือ เลยเป็นที่มาของฉายาที่เราอยากคารวะคนตั้ง

ฉายาจากถิ่นที่มา

ถ้าพูดถึงยุคสมัยนี้ ก็คงประมาณว่าเป็น “เมสซี่ญี่ปุ่น” หรือ “เมสซี่เวียดนาม” อะไรทำนองนั้น สมัยก่อนเองก็มีฉายาที่ตั้งจากเชื้อชาติ และบ้านเกิด ที่น่าจดจำอยู่เหมือนกัน

“เสือดำแห่งโมซัมบิก” ยูเซบิโอ ตำนานทีมชาติโปรตุเกส ที่มีบ้านเกิดอยู่โมซัมบิก

ในวัยเด็ก​ “เสือดำแห่งโมซัมบิก” ของยูเซบิโอ คือฉายาที่โคตรเท่ แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ว่าโมซัมบิก มันคือที่ไหน (เป็นประเทศในแอฟริกา อดีตเมืองขึ้นโปรตุเกส บ้านเกิดของยูเซบิโอ) หรือ “พ่อมดแมกยาร์” ก็ถูกเอามาเรียกตำนานนักเตะฮังการีอย่าง เฟเรนซ์ ปุสกัส

ยุคหลังจากนั้น เราคุ้นหูกับ “ยักส์เดนส์” ปีเตอร์ ชไมเคิล, “ปีกจรวดยูเครน” อังเดร แคนเชลสกี้, “โมสาร์ทลูกหนัง” อันเดรียส แฮร์โซก จอมทัพทีมชาติออสเตรีย หรือ “มนต์ดำแห่งไลบีเรีย” ฉายาของหนึ่งในกองหน้าที่ดีที่สุดในโลกตอนนั้นอย่าง จอร์จ เวอาห์

ฉายาจากอาชีพ

ปิดท้ายด้วย ที่มาที่แปลกประหลาดจากคนอื่น ด้วยการใช้อาชีพของนักเตะ มาตั้งเป็นฉายาซะเลย!

ย้อนไปไกลหน่อย คงต้องเป็น “คุณหมอนักเตะ” ฉายาของโซเครตีส อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติบราซิล ซึ่งเป็นพี่ของไร อดีตกองกลางแซมบ้าอีกคน ซึ่งเป็นแชมป์โลกเมื่อปี 1994

“คุณหมอนักเตะ” โซเครตีส (คนกลาง) ตำนานแซมบ้า ซึ่งเรียนจบแพทย์ มาจริงๆ

ฉายา “คุณหมอนักเตะ” ไม่ได้มามั่วๆ เพราะโซเครตีส ถือเป็นนักฟุตบอลที่หายากมาก ที่เรียนจบระดับมหาวิทยาลัย แถมเรียนจบแพทย์ และยังเรียนจบ ขณะที่แกเริ่มเป็นนักฟุตบอลจริงจังไปแล้ว อีกต่างหาก

และถ้าเขยิบมาในยุคซัก 80-90 หน่อย ก็จะมีอีกคน นั่นคือ “ไอ้ตำรวจ” สเตฟาน คุนซ์

“ไอ้ตำรวจ” สเตฟาน คุนซ์ กองหน้าพละกำลังสูงของทีมชาติเยอรมัน ซึ่งเคยเป็นตำรวจมาก่อน

สเตฟาน คุนซ์ เป็นศูนย์หน้าตัวเป้า ที่โด่งดังที่สุดกับโบคุ่ม และไกเซอร์สเลาเทิร์น เคยค้าแข้งกับไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น และเบซิคตัส ฝีเท้าที่ไม่ธรรมดา ทำให้แกติดทีมชาติเยอรมันไป 25 นัด

ก่อนจะได้ดิบได้ดีในอาชีพนักฟุตบอล ในช่วงต้นยุค 80 คุนซ์มีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง โดยสมัยที่แกเริ่มย้ายมาเข้าสังกัดโบคุ่มในปี 1983 คุนซ์ที่เป็นเด็กหนุ่มวัย 20 ต้นๆ ต้องหารายได้จากการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ควบคู่ไปกับการซ้อมฟุตบอล

คุนซ์ ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมชาติเยอรมันชุดยู-21

ปัจจุบันคุนซ์ อายุ 56 ปีแล้ว หลังเลิกเล่นก็รับงานผู้จัดการทีมบ้าง แต่ไม่ได้คุมทีมในระดับบุนเดสลีก้า จนมาได้งานที่เริ่มเป็นที่พูดถึง ด้วยการคุมทีมชาติเยอรมัน ยู-21 ตั้งแต่ปี 2016 และล่าสุดก็พึ่งพาทีมเป็นรองแชมป์ ยูโร ยู-21 โดยแพ้สเปน ในนัดชิง 1-2 เมื่อ ต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมานี้เอง

Picture : Read Football, SPOX, These Football Times, Goal.com, Midnimo, Fox Sports, Esquire, Marca, Twitter, YouTube, The18, Sky Sports, Metro, Sport Insider, SL Benfica, FIFA World Football Museum, Sport Bild, Sportschau, King’s Review

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save