ทำไมฟุตบอลสมัยใหม่ ไม่ค่อยเล่นหน้าคู่? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ทำไมฟุตบอลสมัยใหม่ ไม่ค่อยเล่นหน้าคู่?

อย่างที่ทราบกันดีนะครับ ว่าทุกวันนี้รูปแบบการเล่นฟุตบอล นิยมหันมาใช้กองหน้าตัวเป้าเพียงตัวเดียว ระบบที่ชัดเจน ก็จำพวก 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 ที่มีหน้าตัวค้ำเพียงคนเดียว หรือแผนที่ดูเหมือนจะเป็นหน้าคู่แบบ 4-4-1-1 หรือ 4-1-3-2 ก็ไม่ได้มีกองหน้าตัวเป้ายืนค้ำใกล้กัน เหมือนสมัยก่อน

หากลองมองย้อนไปในศึกพรีเมียร์ลีก ที่เราติดตามกันมา “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ของ “เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน” เอง ก็เคยประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง กับการเล่นระบบหน้าคู่ “ดไวค์ ยอร์ค” เคยจับคู่กับ “แอนดี้ โคล” ได้อย่างลงตัว และคว้าทริปเปิ้ลแชมป์อันเกรียงไกรมาครองในปี 1999

“ปืนใหญ่” อาร์เซน่อล ในชุดไร้พ่าย ซึ่งยังคงเล่นในรูปแบบเป็น 4-4-2 อยู่
แม้เบิร์กแคมป์ จะขยับลงมาต่ำหน่อย แต่เขาก็ยืนใกล้ เพื่อประสานงานกับอองรีตลอด

“อาร์เซนอล” ของ “อาร์แซน เวนเกอร์” ชุด “อินวินซิเบิล” ที่คว้าแชมป์ลีกแบบไม่แพ้ใครในปี 2003/04 ก็มีรูปแบบการเล่นที่ละม้ายคล้ายหน้าคู่มากกว่าสมัยนี้ “เดนนิส เบิร์กแคมป์” จะเป็นคนคอยประสานงาน ผลัดกันขึ้นลงชิงจังหวะกับ “เธียร์รี่ อองรี” โดยมีแนวรุกด้านข้างอย่าง “โรแบร์ ปิแรส” หรือ “เฟร็ดเดริก ลุงก์เบิร์ก” เพิ่มมิติเข้าไปอีก

แต่ถ้าลองเปรียบเทียบโดยยึดเอาทั้ง 2 บรมกุนซือ ในช่วงการทำงานขวบปีหลังๆ ก่อนที่จะวางมือจากทีมไป หน้าตาแผนการเล่นของทั้งคู่กลับเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

“ปีศาจแดง” ในฤดูกาล 2010/11 มีเวย์น รูนี่ย์ เล่นร่วมกับศูนย์หน้า แต่ก็มักจะเป็นลักษณะหน้าต่ำเท่านั้น

เซอร์ อเล็กซ์ เลือกเล่นระบบ 4-2-3-1 หรือ 4-1-4-1 เป็นระบบหลัก อย่างในนัดชิง UCL ในปี 2011 ที่พ่ายให้กับบาร์เซโลน่า เขาเลือกที่จะจัดให้ “เวย์น รูนี่ย์” เล่นในรูปแบบหน้าตัวต่ำ โดยมี “ชิชาริโต้” เล่นหน้าเป้าเพียงคนเดียว

กับอาร์แซน เวนเกอร์ ยิ่งหนักไปกันใหญ่ เพราะในฤดูกาลท้ายๆ ของเขา เลือกใช้ระบบ หลัง 3 ตัว บ่อยครั้งขึ้น ในแนวรุกก็เน้นไปที่ตำแหน่งมิดฟิลด์ กลายเป็น 3-4-2-1 หรือ 4-2-3-1 ที่มีหน้าเป้าเพียงคนเดียว

เพราะอะไร และทำไม ระบบหน้าคู่ที่ยืนใกล้กัน ถึงเปลี่ยนไปไม่ได้รับความนิยม ในช่วงหลัง? วันนี้เราลองมาขุดคุ้ยกัน

ระบบหน้าตัวเดียว มันนิยมเมื่อไหร่?

ยังตอบได้แน่ชัดยากว่าระบบเล่นด้วยการอัดกองกลางลงไปมากขึ้น แล้วมีหน้าตัวเป้าค้ำไว้เพียงคนเดียวได้รับความนิยมเมื่อไหร่ แต่ถ้ามองไปที่ศึกชิงแชมป์ระดับโลกทั้งฟุตบอลโลก และยูโร ในนัดชิงชนะเลิศ เราจะเริ่มเห็นการเล่นเกมรุกที่ยืดหยุ่นน่าสนใจกับ “ตราไก่” ฝรั่งเศส ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 และแชมป์ยุโรปในอีก 2 ปีให้หลัง

“ตราไก่” ฝรั่งเศส ชุดแชมป์โลก 1998 ซึ่งมีรูปแบบการเล่นที่แตกต่างออกไปจากระบบเดิมๆ

ก็จริงอยู่ที่ทีมที่เป็นรองหลายทีม อย่างสาธารณรัฐเช็ก จะเล่นแผนกองหน้าตัวเดียวมาก่อน ในยูโรนัดชิงกับเยอรมันปี 1996 แต่นั่น น่าจะเป็นเพราะต้องการความรัดกุม มากกว่าจะเป็นการยึดแผนนั้นอย่างเป็นรูปแบบ

“เลอ เบลอส์” ชุดเกรียงไกร ใช้กองหน้าตัวเป้าเป็น “สเตฟาน กีวาร์ซ” หรือ “คริสตอฟ ดูการ์รี่” เพียงคนเดียว แล้วให้อิสระขับเคลื่อนเกมโดยแผงมิดฟิลด์เชิงรุกอย่าง “ยูริ จอร์เกฟฟ์” และ “ซิเนอดีน ซีดาน” เช่นเดียวกับ “เธียร์รี่ อองรี” ที่ตำแหน่งหลัก ก็ถ่างออกไปเล่นริมเส้นซะมาก

“สเตฟาน กีวาร์ช” ศูนย์หน้าตัวเป้าชุดแชมป์โลก ซึ่งหน้าที่หลักไม่ใช่การจบสกอร์

แผนการเล่นในรูปแบบ 4-2-3-1 หรือ 4-3-2-1 ที่ทีมตราไก่เล่น มันเปิดโลกทัศน์ในเรื่องแทคติกได้ไม่น้อย หน้าตัวเป้าไม่ต้องทำสกอร์ถล่มทลาย แต่เป็นเหมือนตัวดึงความสนใจ หรือพักบอลเพื่อส่งต่อ ปล่อยหน้าที่ทะลุทะลวงพังประตู ให้เป็นของตัวเสริมที่อยู่ด้านหลัง

หันกลับมามองที่เกาะอังกฤษ เจ้าของแบบแผน 4-4-2 อันคลาสสิก ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกัน เพียงแต่ช้าออกไปหน่อย

อย่างที่บอกว่าช่วงต้นยุค 2000 หลายทีมชั้นนำยังใช้แผนหน้าคู่อยู่ แต่มันก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมากขึ้นเรื่อยๆ หลังก้าวเข้าสู่ยุค 2000

“รุด ฟาน นิสเตลรอย” ศูนย์หน้าครบเครื่อง ซึ่งทำให้ “เฟอร์กี้” หันมายึดระบบหน้าเป้าตัวเดียว

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เริ่มปรับมาเล่นแผนหน้าเป้าตัวเดียวเมื่อเขาได้ “รุด ฟาน นิสเตลรอย” มาร่วมทีม ปีก 2 ข้างเป็นหน้าที่ของ “ไรอัน กิกส์”​ และ “คริสเตียโน่ โรนัลโด้” ส่วนแผงกลางก็อัดแน่นได้เพิ่ม จากคุณภาพเดิมของ “รอย คีน” และ “พอล สโคลส์” ก็เติมพวกปิดทองหลังพระอย่าง “ดาร์เรน เฟลทเชอร์” ลงไปได้อีกตัว

อาร์เซนอลยังคงใช้รูปแบบเป็น 4-4-2 มากกว่า จวบจนถึงชุด “ไร้พ่าย” แต่ก็เริ่มมีรูปแบบที่ยืดหยุ่นขึ้น “เธียร์รี่ อองรี” คือหน้าเป้า แต่ก็เคลื่อนที่มีอิสระมากกว่ารูปแบบเดิมๆ ในขณะที่กองหน้าอีกตัว อย่าง “เบิร์กแคมป์” หรือ “โฆเซ่ เรเยส” ก็เล่นในลักษณะเป็น “หน้าต่ำ” มากกว่าหน้าคู่โบราณ

“เชลซี” ชุดแชมป์ดับเบิลแชมป์ตั้งแต่ปีแรกที่ “โชเซ่ มูรินโญ่” มาคุม ซึ่งแผนการเล่นชัดเจน

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนในพรีเมียร์ลีก หนีไม่พ้นการมาถึงดินแดนผู้ดีของ “โชเซ่ มูรินโญ่” ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นของเชลซี ให้แตกต่างไปจากเดิม มันเห็นผลทันทีด้วยตำแหน่ง “ดับเบิลแชมป์” ตั้งแต่ซีซั่นแรก 2004/05

“จ่ามู” เข้ามาพร้อมนักเตะใหม่อย่าง “ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา” และ “อาร์เยน รอบเบน” นอกจากนั้น ความแข็งแกร่งของนักเตะที่มีอยู่เดิม อย่าง “โคล้ด มาเกเลเล่” ทำให้เขาเปลี่ยนทีมเป็นรูปแบบ 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 ได้ทันที

แผนการเล่น 4-3-3 ประสิทธิภาพสูงของมูรินโญ่

ดร็อกบา รับบทกองหน้าตัวเป้าได้อย่างยอดเยี่ยม เล่นคนเดียวได้ พักบอลก็ดี จบสกอร์ก็ดี และมีความแข็งแกร่งระดับที่หาตัวจับยาก ในขณะที่มาเกเลเล่ ก็ท็อปฟอร์ม เขาเก็บกวาดจัดระเบียบหน้าบ้านได้เบ็ดเสร็จแทบจะคนเดียว ทำให้ตำแหน่งอื่นสามารถเล่นเกมรุกได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะปีกทั้งสองข้าง ที่มีทั้งโจ โคล, เดเมียน ดัฟฟ์ และรอบเบน

นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการเล่นรุก-รับ ด้วยแผนนี้แล้ว การควบคุมจังหวะให้เป็นไปตามที่ “สิงห์บลู” ต้องการ ทำให้พวกเขาแพ้ไปเพียงนัดเดียว เสียเพียง 15 ประตูตลอดซีซั่น และจบด้วย 95 แต้ม

นับตั้งแต่ช่วงนั้น จะด้วยอิทธิพลของกุนซือภาคพื้นยุโรปนอกเกาะอังกฤษ หรือจากกระแสรูปแบบเกมที่เน้นการครองเกม และการผ่านบอลมากยิ่งขึ้น ก็แล้วแต่ ความนิยมในการเล่นหน้าคู่ก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

“เคนนี่ ดัลกลิช” กับความพยายามที่จะกลับมาเล่นระบบหน้าคู่ “แคร์โรลล์-ซัวเรซ” กับ “หงส์แดง”

“เคนนี่ ดัลกลิช” เคยพยายามปรับให้ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูลกลับมาใช้ระบบหน้าคู่ หลังซื้อ “แอนดี้ แคร์โรลล์” เข้ามาจับคู่กับ “หลุยส์ ซัวเรซ” แต่ก็ทำได้แค่เพียงช่วงสั้นๆ

หรือหากดูในฤดูกาลปัจจุบัน ก็น่าจะเหลือแค่ “เบิร์นลี่ย์” ที่ยังให้ “คริส วู้ด” และ “แอชลี่ย์ บาร์นส์” ยืนเป็นหน้าคู่ใกล้กัน ทีมอื่นๆ ก็ใช้ระบบหน้าตัวเดียวกันไปเสียหมด

ถ้าจะมีข้อยกเว้น ก็คงต้องเป็น “จิ้งจอกสยาม” ชุดเซอร์ไพรส์คว้าแชมป์ลีก ด้วยระบบ 4-4-2

แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น เพราะหากคุณจะลองมองไปที่ “จิ้งจองสยาม” เลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อซีซั่น 2015/16 พวกเขาใช้ระบบ 4-4-2 เป็นแผนหลัก มี “เจมี่ วาร์ดี้” เล่นหน้าคู่กับ “ชินจิ โอกาซากิ” แม้โอกาซากิ จะต้องขยันเป็นพิเศษเล่นทั้งรุก-รับ แต่ก็ถือว่าทั้งคู่ ยืนใกล้กันในการเล่นเกมรุก หรือสวนกลับ ซึ่งเป็นอาวุธเด็ดที่ทำได้ดีตลอดทั้งซีซั่น

แล้วทำไมสมัยก่อนเขาเล่นหน้าคู่?

ฟุตบอลสมัยก่อนหน้านี้ มีรูปแบบการเล่นที่ไม่ซับซ้อนเท่าสมัยนี้ อย่างแรกที่สำคัญคือมีบอลไดเร็ค และบอลโด่งเข้าไปในพื้นที่สุดท้าย มากกว่าสมัยนี้มาก การมีกองหน้าคู่ ทำให้แดนหน้าเลือกรูปแบบการเล่นได้หลากหลาย เช่น มีตัวนึงชง ตัวนึงคอยสอดเล่น ซึ่งเห็นได้ทั่วไปในทีมชั้นนำ

“เอมิล เฮสกี” กับ “ไมเคิล โอเว่น” หนึ่งในคู่กองหน้า ในยุคที่นิยมเล่นหน้าคู่ มีคนชง มีคนสอด

อย่างที่สอง คือการเล่นแทคติกป้องกันในสมัยก่อน ไม่ได้มีความแยบยล และบีบกันตั้งแต่แดนกลางเหมือนสมัยนี้ กองหลังก็ลอยสูงกว่า ทำให้การชิงจังหวะกันในสมัยนี้ มักจะเริ่มกันในแดนมิดฟิลด์ ซึ่งมันก็เหมาะสมที่จะมีการถมกองกลางลงไป เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ แตกต่างกับยุคก่อนที่แลกหมัดกันมากกว่า

อย่างสุดท้าย คือเรื่องของการสร้างสรรค์เกม สมัยก่อน บางทีคุณอาจจะต้องการ “ดิเอโก้ มาราโดน่า” แค่คนเดียว ก็เอาชนะทีมฝั่งตรงข้ามได้ แต่สมัยนี้ ด้วยรูปแบบการเล่นที่รัดกุม ระมัดระวัง ทำให้คุณต้องการคนสนับสนุนที่หลากหลายทั้งรุก-รับ แม้ “ลิโอเนล เมสซี่” จะตัดสินผลการแข่งขันได้ แต่หากแดนกลางโดยรวมครองบอลไม่ได้ ทุกอย่างก็ลำบาก

แม้ “ลิโอเนล เมสซี่” จะเทพแค่ไหน แต่การฝ่าการตั้งรับยุคใหม่ ต้องมีเพื่อนร่วมทีมสนับสนุนเสมอ

ดังนั้นแล้ว คุณต้องการกองกลางเพิ่มขึ้นในสมัยนี้ เพื่อจะช่วงชิงการครอบครองเกม สำหรับทีมที่เป็นต่อ และคอยทำลายการเซ็ตเกม สำหรับทีมที่เป็นรอง

จุดนี้ ยังทำให้กองกลางยุคใหม่ ต้องเด่นทั้งรุก-รับ เพื่อปรับเปลี่ยนหน้าที่ที่เหมาะกับช่วงจังหวะของเกม อย่างเช่น การเล่นของ “จอร์จินิโอ ไวจ์นาดุม” ที่ปกติเล่นเป็นมิดฟิลด์ที่ได้ทั้งโฮลด์บอล และถ่ายบอลไปมา แต่พอมีลูกครอสจากด้านข้าง หรือบอลไดเร็ค เขาก็พร้อมสอดขึ้นไปช่วยทำประตูในกรอบเขตโทษ แบบนัดที่พาลิเวอร์พูล พลิกกลับมาชนะบาร์เซโลน่า 4-0

กองหน้าแบบไหน เหมาะกับยุคปัจจุบัน?

แน่นอนว่าแม้รูปแบบการเล่นจะเปลี่ยนแปลงไป แต่กองหน้าที่แข็งแรง ดุดัน ที่หลายคนมักจะเรียกว่าสไตล์โบราณ ก็ยังไม่ถึงกับจะต้องสูญพันธุ์ซะทีเดียว เพียงแต่กองหน้าสไตล์นี้ ต้องมีจุดเด่นอย่างอื่นเพิ่มเติมขึ้นมา

“โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้” กองหน้าสูงใหญ่ ที่เล่นบอลบนพื้นได้ดี และมีเทคนิคยอดเยี่ยม

ที่สำคัญคือเรื่องของ “ความเร็ว” และ “ความคล่องตัว” ซึ่งเหล่ากองหน้าทุกคนต้องมี เพื่อสามารถจะเล่นบอลบนพื้น และลงมาเป็นตัวเชื่อมที่ดีให้กับทีมได้

พวกกองหน้าที่รวดเร็ว คล่องแคล่วอยู่แล้ว ก็ต้องหันไปเน้นเรื่องของความแข็งแรง และการครองบอลที่เหนียวแน่นขึ้น ตอบรับกับเกมสมัยใหม่ที่รวดเร็ว และต้องใช้จังหวะฉาบฉวยในการเข้าทำ

“เชสก์ ฟาเบรกัส” ผู้รับบท False 9 ได้แนบเนียน ในทีมสเปนชุดแชมป์ยูโร 2012

ความยืดหยุ่นในการเล่นได้หลากหลายทั้งตรงกลาง ด้านข้าง หรือลงมาต่ำ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งสร้างภาษีให้กองหน้ารับมือได้ยาก เหมือนที่เราจะได้เห็นการเล่นแบบ “False 9” หรือหน้าตัวหลอก ซึ่งไม่หยุดเคลื่อนที่ แค่เพียงจุดเดียว

ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ก็อย่างทีมชาติสเปนชุดแชมป์ยูโร 2012 ที่ใช้ “เชสก์ ฟาเบรกัส” ได้อย่างโดดเด่น หรือจะแบบ “เอด็อง อาซาร์” เล่นกับเชลซีในหลายๆ นัด หรือ “โรแบร์โต้ ฟิร์มิโน่” ที่ทำให้ลิเวอร์พูล ได้ประโยชน์มานักต่อนัก

และด้วยแผนการเล่นที่ทำให้ศูนย์หน้าลดลง ก็ทำให้เหล่าผู้จัดการทีมต้องปวดหัวเพิ่มเติม ในการจัดการความพึงพอใจของกองหน้าที่อยู่ในสังกัด

เปรีบเทียบชัดๆ ระหว่างสิ่งที่แฟนบอลมักฝันถึง (แผนล่าง) กับแผนที่ผู้จัดการทีมต้องใช้จริง (แผนบน)

อย่าง “อูไน เอเมรี่” ก็ยังหาสูตรให้โอบาเมย็อง เล่นกับลากาเซ็ตต์ ลงตัวไม่ได้ จริงอยู่ว่าแฟนบอลคงอยากจะเห็นการจัด “หน้าคู่” เล่นคู่กันไปเลย แต่ตามแทคติก และรูปแบบการเล่นที่จะต้องเผชิญในสนามจริงแล้ว เอเมรี่ (รวมถึงเวนเกอร์ ก่อนหน้า) ไม่สามารถทิ้งกองหน้าค้ำไว้ 2 คน และศูนย์เสียหมากแดนกลางไปตัวนึงได้

“โอเล่ กุนนาร์ โซลชา” เองก็ต้องเลือกดร็อปลูคาคู หากอยากจะใช้งานแรชฟอร์ด หรือแม้แต่ทีมเจ้าบุญทุ่มอย่างบาร์เซโลน่า ที่ยังไม่สามารถหากองหน้าที่เล่นตัวเป้าได้เข้ากับรูปแบบ ได้เท่ากับ “หลุยส์ ซัวเรซ” ที่เริ่มอายุอานามมากแล้ว เป็นต้น

Picture : Manchester Evening News, Pain in the Arsenal, Goal.com, Ronaldo.com, Todays Sports News, Ouest-France, Sportskeeda, Read Chelsea, Yahoo, Bleacher Report, Metro, The Telegraph, Daily Times, Number of Things, The New York Times, iNews

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save