ส่องเหล่าคู่แข่ง “หงส์แดง” และทำความรู้จัก “ชิงแชมป์สโมสรโลก” - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ส่องเหล่าคู่แข่ง “หงส์แดง” และทำความรู้จัก “ชิงแชมป์สโมสรโลก”

แม้จะถูกละเลยความสนใจไปบ้างในระยะหลัง แต่นับตั้งแต่ทัพ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล​ ซิวแชมป์ “ยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก” เมื่อซีซั่นล่าสุด ศึก “ชิงแชมป์สโมสรโลก” หรือชื่อเป็นทางการว่า “ฟีฟ่า คลับ เวิร์ล คัพ” ก็เริ่มกลับมาได้รับความสนใจ และถูกพูดถึงมากขึ้น

โดยแชมป์เมื่อซีซั่นที่แล้ว คือ “เรอัล มาดริด” แชมป์จากยุโรป ซึ่งสามารถคว้าแชมป์สโมสรโลก มาได้ 3 สมัยซ้อน และนับเป็นสมัยที่ 4 ในทัวร์นาเมนท์นี้ ในยุคใหม่

“เรอัล มาดริด” แชมป์สโมสรโลกปีที่แล้ว ซึ่งเป็นแชมป์ 3 สมัยซ้อนของพวกเขา
(Source : Racing Post)

สำหรับการแข่งขันในปีนี้ จัดขึ้น 11-21 ธ.ค. ที่กาตาร์ โดยวันนี้เราจะมาดูกัน ว่าผู้ท้าชิงแชมป์ กับ “หงส์แดง” จะมีใครกันบ้าง

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เข้าใจถึง ศึก “ชิงแชมป์สโมสรโลก” กันมากขึ้น เราจะพาไปรู้จักที่มาที่ไปของทัวร์นาเมนท์นี้กันซะก่อน เพราะเชื่อว่ามีหลายคนยังงงๆ และไม่ทราบกันเท่าไหร่

จุดเริ่มต้นแชมป์ชนแชมป์

ความจริงแล้ว ทั้งฟีฟ่า, สมาพันธ์ฟุตบอลระดับทวีป และหลายหน่วยงาน เคยคิดจะจัดการแข่งขัน เพื่อค้นหาสุดยอดสโมสรของโลก มาโดนตลอด ตั้งแต่ยุค 50 หรือ 60 นู่นเลย เพียงแต่มันไม่ค่อยจะเป็นรูปเป็นร่าง

ที่ใกล้เคียงที่สุด คงเป็นศึกที่มีชื่อเรียกว่า “อินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ” ซึ่งเป็นการจัดร่วมกันของสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) กับ สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ (คอนเมโบล) โดยนำเอาแชมป์จากทั้ง 2 ทวีป มาดวลหาสุดยอดแชมป์กัน

แชมป์อินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ ทีมสุดท้ายคือ “ปอร์โต้” ซึ่งคว้าแชมป์เมื่อปี 2004
(Source : ESPN)

การแข่งขันรายการนี้ ถูกบันทึกว่าแข่งกันมาตั้งแต่ปี 1960 แต่ช่วงปีที่เราทันดูกัน น่าจะเป็นนับตั้งแต่ 1980 ซึ่งสังเวียนแข้งย้ายมาเตะกันที่ญี่ปุ่น เพื่อความเป็นกลาง และเหตุผลด้านการตลาด

โดยปี 1980-2001 เตะกันที่โตเกียว ก่อนจะย้ายมาเตะที่โยโกฮาม่า ในปี 2002-2004 โดยแชมป์ทีมสุดท้ายคือ “ปอร์โต้” (หลังเป็นแชมป์ยุโรป กับมูรินโญ่) ที่เอาชนะ “อนเซ่ คาลดาส” ด้วยการดวลจุดโทษ

ที่ว่าปี 2004 เป็นปีสุดท้าย ก็เพราะในที่สุด “ฟีฟ่า” ก็สามารถก่อตั้ง “คลับ เวิร์ล คัพ” ขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างในปี 2005 ได้สำเร็จ

ความพยายามของฟีฟ่า

ครั้งแรกที่ฟีฟ่า พยายามจัดศึกชิงแชมป์สโมสรโลก เกิดในปี 2000 ในนาม “คลับ เวิร์ล แชมป์เปียนชิพ” โดยทางฟีฟ่า เล่นใหญ่ จัดการแข่งขันที่บราซิล พร้อมเชิญ 8 สโมสร จาก 6 ทวีป เข้าร่วมแข่งขัน เตะกันแบบแบ่งกลุ่ม แล้วเอาแชมป์กลุ่มชิงชนะเลิศ และเอารองแชมป์กลุ่ม ชิงที่ 3

“แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ชุดแชมป์ยุโรปปี 1999 ตัวแทนจากยุโรปเข้าแข่งขัน
(Source : Forbes)

โดยแม้จะมี 2 ยอดทีมของยุโรปในเวลานั้น ร่วมแข่ง ทั้งแมนฯ ยู และเรอัล มาดริด แต่สุดท้ายแชมป์คือโครินเธียนส์ ที่ลงเล่นในฐานะเจ้าภาพ เฉือนชนะจุดโทษ วาสโก ดา กาม่า แชมป์โคปา ลิเบอร์ตาโดเรส (แชมป์สโมสรทวีปอเมริกาใต้) ไปอย่างหวุดหวิด

“โครินเธียนส์” จากบราซิล แชมป์คลับ เวิร์ล แชมป์เปียนชิพ ทีมแรก และทีมเดียว
(Source : FIFA)

จัดได้เพียงครั้งเดียว ทัวร์นาเมนท์นี้ ก็เกิดปัญหาอย่างรวดเร็ว เพราะในปีถัดมา 2001 ที่ฟีฟ่า ตั้งใจจะจัดที่สเปน ต้องมีการยกเลิกไป เพราะติดขัดปัญหาหลายสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของการตลาด ที่บริษัท ISL พาร์ทเนอร์หลักของฟีฟ่า ล้มละลายไป

ความคาดหวังที่จะจัดการแข่งขันให้ใหญ่ขึ้น (ขยับเพิ่มทีมจาก 8 เป็น 12 ทีม) แถมยังเลื่อนมาเตะกันในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล จึงเป็นเพียงแนวคิด ที่ไม่ได้จัดการแข่งขันขึ้นมาจริงๆ

คลับ เวิร์ล คัพ ยุคใหม่

หลังจากเงียบหายไป 3-4 ปี ฟีฟ่าก็เริ่มเดินเครื่องจริงจัง และตั้งการแข่งขัน “ฟีฟ่า คลับ เวิร์ล คัพ” ได้สำเร็จ ในปี 2005 โดยควบรวมเอา “อินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ” และ “คลับ เวิร์ล แชมป์เปียนชิพ” เข้าด้วยกัน พร้อมกับหาสปอนเซอร์หลัก จนทำให้เราได้ยินชื่อเล่นของมันคุ้นหูว่า “โตโยต้า คัพ”

ครั้งแรกในปี 2005 นั้น มีทีมเข้าร่วม 6 ทีมจากแชมป์ทั้ง 6 ทวีป โดยตัวแทนของยุโรป ก็คือ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ที่คว้าแชมป์มาด้วยการโชว์ปาฏิหาริย์อิสตันบูล โดยพวกเขาหวังคว้าแชมป์สโมสรโลก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทีมให้ได้

“สตีเว่น เจอร์ราร์ด” และทัพ “หงส์แดง” ต้องฝันสลาย ในรอบชิงกับเซา เปาโล
(Source : ESPN)

แต่สุดท้าย ยอดทีมจากเมอร์ซีไซด์ ต้องผิดหวัง หลังโดนทีเด็ดของ “เซา เปาโล” แชมป์อเมริกาใต้ จากบราซิล แพ้ไป 0-1 อย่างน่าเสียดาย ท่ามกลางจังหวะการตัดสิน ที่มีข้อกังขา ให้พูดถึงในเวลานั้น

“โรเจริโอ เซนี่” ผู้รักษาประตูจอมเซ็ตพีซ ชูถ้วยสโมสรโลก ในฐานะกัปตันทีมเซา เปาโล
(Source : Soccer, Football or whatever)

นับจากการแข่งขันครั้งนั้น ก็มีการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรโลกต่อเนื่องมาทุกปี โดยนอกเหนือจากที่ญี่ปุ่น ยังเคยไปโม่แข้งกันที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และโมร็อคโก อีกด้วย

ก่อนที่ปีนี้ 2019 และปีหน้า 2020 จะมีกำหนดเตะกันที่กาตาร์ เพื่อเป็นการทดสอบความพร้อมของกาตาร์ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022

การแข่งขันในปี 2019 และ 2020 จะจัดที่กาตาร์ เพื่อทดสอบความพร้อมก่อนเป็นเจ้าภาพบอลโลก
(Source : SKY Sports)

และหลังจากผ่านการแข่งขันปี 2020 ฟีฟ่าก็ประกาศ ปรับรูปแบบการแข่งขัน นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ซึ่งต้องติดตามข่าวกันต่อ ว่าจะมีหน้าตาแบบไหน จะเปลี่ยนเป็นจัดทุก 2 ปี หรือ 4 ปี ตามที่เคยมีข่าวลือรึป่าว

รู้จัก 7 ทีม ชิงแชมป์สโมสรโลก หนนี้

เรื่องของจำนวนทีมเข้าแข่งขัน อย่างที่เคยกล่าวไป ว่าเดิมทีเคยมี 6 ทีม จาก 6 ทวีป ในการแข่ง 2 ครั้งแรก แต่นับตั้งแต่ปี 2007 ก็มีการเพิ่ม “ทีมเจ้าภาพ” เข้ามาเป็นทีมที่ 7

อย่างการแข่งขันในปี 2019 นี้ ซึ่งจะเตะกันระหว่าง 11-21 ธ.ค. นอกเหนือแชมป์จาก ยุโรป, อเมริกาใต้, อเมริกากลาง, แอฟริกา,​ คอนคาเคฟ และโอเชียเนีย ก็จะมี “อัล-ซาด” แชมป์ลีกกาตาร์ เข้ามาร่วมด้วย ในฐานะเจ้าภาพ

โดยรูปแบบการแข่งขัน จะเตะกันแบบน็อคเอาท์ ซึ่งมีการวางสายการแข่งขัน ออกมาแล้ว ดังนี้

ทีมวางในการแข่งขัน ซึ่งไปรอในรอบรองฯ คือแชมป์จากยุโรป และแชมป์จากอเมริกาใต้
(Source : Wikipedia)

ทีมที่ต้องออกแรงเยอะสุด ก็คือ ทีมเจ้าภาพ (อัล-ซาด) และทีมแชมป์โอเชียเนีย (ฮีนเกเน่ สปอร์ต) ที่ต้องลงเล่นตั้งแต่รอบแรก ใครชนะก็จะไปเจอกับแชมป์คอนคาเคฟ (มอนเทร์เร) ในรอบถัดไป

อีกสายนึง จะเป็นการเจอกันระหว่าง แชมป์เอเชีย (ยังไม่ทราบทีมแชมป์) และแชมป์แอฟริกา (เอสเปแรง เด ตูนิส) ซึ่งใครชนะก็จะได้เข้ารอบรองชนะเลิศ ต่อไป

“หงส์แดง” จะเข้าไปรอในรอบรองชนะเลิศ หากชนะก็จะได้เข้าชิงทันที
(Source : LFC Online)

ส่วนทีมที่ได้เข้าไปรอในรอบรองชนะเลิศ ในฐานะทีมวางคือ ลิเวอร์พูล (แชมป์ยุโรป) และทีมแชมป์อเมริกาใต้ (ยังไม่ทราบทีมแชมป์) นั่นเอง

เพื่อให้รู้จักทั้ง 7 ทีมมากขึ้น ก็ถึงคราวมาไล่เรียงกัน ว่าเป็นใคร มาจากไหนกันบ้าง

แชมป์ยุโรป – ลิเวอร์พูล (อังกฤษ)

“หงส์แดง” ลิเวอร์พูล กลับมาเล่นรายการนี้อีกครั้ง หลังห่างหายไปนานถึง 14 ปี
(Source : FOX Sports)

ถือเป็นการกลับมาเล่นในศึกชิงแชมป์สโมสรโลก อีกครั้งในรอบ 14 ปี ของแชมป์ UCL 6 สมัยจากอังกฤษ ซึ่ง “หงส์แดง” เอง ยังไม่เคยคว้ารางวัลเกียรติยศนี้ ประดับตู้สโมสรเลย ตอนสมัยอินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแพ้ทั้ง 2 หนที่ได้ชิง

แชมป์แอฟริกา – เอสเปแรง เด ตูนิส (ตูนิเซีย)

“เอสเปแรง เด ตูนิส” จากตูนิเซีย เข้ามาแข่งรายการนี้ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
(Source : VOA Afrique)

แชมป์ลีกตูนิเซีย 3 สมัยซ้อน และแชมป์ ซีเอเอฟ แชมป์เปียนส์ ลีก 2 สมัยซ้อน เข้ามาแข่งขันรายการนี้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากปีที่แล้ว พ่ายอัล ไอน์ ตกรอบไปอย่างรวดเร็ว โดยปีนี้ พวกเขาจะได้แก้มือกับทีมจากเอเชียอีกหน

แชมป์คอนคาเคฟ – มอนเทร์เร (เม็กซิโก)

“มอนเทร์เร” เข้ามาแข่งขันรายการนี้ เป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยครั้งล่าสุดคือปี 2013
(Source : NBC Sports)

ยอดทีมจากเม็กซิโก เข้ามาแข่งขันรายการนี้ เป็นหนที่ 4 แล้ว โดย 3 ครั้งแรก เป็นการผ่านเข้ามาแบบ 3 ครั้งซ้อน ในฐานะแชมป์ คอนคาเคฟ แชมป์เปียนส์ ลีก เมื่อปี 2011-2013 ก่อนจะห่างหายไปนานถึง 6 ปี

นอกเหนือจากนักเตะผสมผสานชาวเม็กซิกัน และอเมริกาใต้แล้ว พวกเขายังมี “วินเซนต์​ แยนส์เซ่น” กองหน้าชาวดัทช์ ที่ย้ายมาจากสเปอร์ ในศึกพรีเมียร์ลีก อีกด้วย

แชมป์โอเชียเนีย – ฮีนเกเน่ สปอร์ต (นิว คาเลโดเนีย)

“ฮีนเกเน่ สปอร์ต” ทีมจากนิว คาเลโดเนีย ที่สร้างประวัติศาสตร์ เข้ามาเล่นครั้งแรก
(Source : Football in Oceania)

โดยปกติแชมป์จากโอเชียเนีย มักจะเป็นทีมจากนิวซีแลนด์ (ออสเตรเลีย ย้ายไปเตะกับพวกเอเชียแล้ว) แต่ปีนี้ ฮีนเกเน่ สปอร์ต จากชาติเล็กๆ อย่างนิว คาเลโดเนีย สามารถทะลุขึ้นมาเป็นแชมป์ โอเอฟซี แชมป์เปียนส์ ลีก ได้สำเร็จ หลังชนะ สโมสรมาเจนต้า เพื่อนร่วมชาติ ในรอบชิงชนะเลิศ

นักเตะภายในทีมทั้งหมดของพวกเขา เป็นเพียงนักเตะกึ่งอาชีพ และมีหลายคนเริ่มต้นการเล่นฟุตบอล จากฟุตบอลชายหาดมาก่อน

เจ้าภาพ – อัล-ซาด (กาตาร์)

“อัล-ซาด” แชมป์ลีกกาตาร์ปีล่าสุด ซึ่งมี “ชาบี้ เอร์นันเดซ” ผันตัวเองขึ้นไปรับหน้าที่กุนซือ
(Source : FIFA)

สถานการณ์เข้าร่วมทัวร์นาเมนท์นี้ ของอัล-ซาด ยังคงก้ำกึ่งอยู่ ว่าจะเข้ามาในฐานะเจ้าภาพ (ต้องเตะตั้งแต่รอบแรก) หรือในฐานะแชมป์เอเชีย (ได้เข้ารอบสองอัตโนมัติ) เพราะการแข่งขัน เอเอฟซี แชมป์เปียนส์ ลีก ยังไม่จบลง โดยพวกเขาเข้ารอบเป็น 1 ใน 4 ทีมในรอบรองชนะเลิศ อยู่ในขณะนี้

โดยหากพวกเขาได้เป็นแชมป์ เอเอฟซี แชมป์เปียนส์ ลีก ขึ้นมา ทีมที่เป็นรองแชมป์ จะได้สิทธิ์เข้าเล่นชิงแชมป์สโมสรโลกแทน เพราะอัล-ซาด จะได้สิทธิ์ในฐานะเจ้าภาพอยู่แล้ว

อัล-ซาด เคยเข้าแข่งขันรายการชิงแชมป์สโมสรโลกมาแล้ว ในปี 2011 ในฐานะแชมป์จากเอเชีย โดยครั้งนั้น พวกเขาเข้ารอบรองชนะเลิศสำเร็จ ก่อนจะแพ้ต่อบาร์เซโลน่า แชมป์ในปีนั้น

แชมป์เอเชีย – ทราบแชมป์ 24 พ.ย.

“อูราวะ เร้ด ไดมอนส์” และ “กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์” 2 ทีมที่ยังได้ลุ้นคว้าแชมป์เอเชีย
(Source : Zimbio)

การแข่งขัน เอเอฟซี แชมป์เปียนส์ ลีก ยังคงแข่งขันกันอยู่ โดยตอนนี้อยู่ในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งคู่แรก เป็นการพบกันระหว่าง อูราวะ เร้ด ไดมอนส์ (ญี่ปุ่น) กับ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ (จีน) ส่วนอีกคู่คือ อัล-ซาด (กาตาร์) กับ อัล-ฮิลาล (ซาอุดิอาราเบีย) โดยจะแข่งกันช่วงเดือน ต.ค.

ผู้ชนะของทั้ง 2 คู่ จะชิงชนะเลิศกันในรูปแบบเตะ 2 เลก เหย้า-เยือน ในวันที่ 9 และ 24 พ.ย. ก่อนจะได้แชมป์ และเข้าร่วมชิงชัยในศึกสโมสรโลก ต่อไป

แชมป์อเมริกาใต้ – ทราบแชมป์ 23 พ.ย.

คู่ปรับสำคัญ “ริเวอร์เพลท” และ “โบคา จูเนียร์ส” ต้องห้ำหั่น ในกันในรอบรองฯ
(Source : Infobae)

ศึกโคปา ลิเบอร์ตาโดเรส อยู่ในรอบรองชนะเลิศแล้วเช่นกัน โดยทั้ง 2 แมทช์ ถือเป็นซูเปอร์บิ๊กแมทช์อันเข้มข้น คู่แรกเป็นศึกของทีมจากบราซิล เกรมิโอ จะพบกับ ฟลาเมงโก้ ส่วนอีกคู่เป็น “ซูเปอร์คลาสสิโก้” ระหว่าง ริเวอร์เพลท กับ โบคา จูเนียร์ส คู่ปรับตลอดกาล

ผู้ชนะของทั้ง 2 คู่ จะมาดวลในแมทช์ชิงแบบนัดเดียวรู้เรื่อง วันที่ 23 พ.ย. ที่ประเทศชิลี ต้องมาดูว่า “แชมป์เก่า” อเมริกาใต้ อย่างริเวอร์เพลท จะหักด่าน กลับมาแข่งรายการชิงแชมป์สโมสรโลก ได้อีกรอบหรือไม่

ศึกสโมสรโลก จะทำให้โปรแกรมการแข่งขันในเดือน ธ.ค. ของ “หงส์แดง” วุ่นวายแน่นอน
(Source : This Is Anfield)

สุดท้ายแล้ว “หงส์แดง”​ ลิเวอร์พูล จะสมหวังกับแชมป์สโมสรโลกซักทีหรือไม่ เราจะได้รู้กันตอนเดือน ธ.ค. ซึ่งตอนนั้น โปรแกรมพรีเมียร์ลีกเอง ก็คงจะเข้มข้น และมีเรื่องให้ต้องพะวงเช่นกัน

แค่คิดก็เหนื่อยแทนแล้ว!

Picture : FIFA, Khel Now, PlusPNG, Wikipedia, Sky Sports, Soccer, football or whatever, ESPN, Forbes, FIFA, Racing Post, LFC Online, FOX Sports, Infobae, Zimbio, Football in Oceania, NBC Sports, VOA Afrique, This Is Anfield, Wikipedia

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save