JAPAN YANKEE : Bosozoku วัฒนธรรมนักเลงขาซิ่งแห่งดินแดนอาทิตย์แผ่แสง - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
JAPAN YANKEE : Bosozoku วัฒนธรรมนักเลงขาซิ่งแห่งดินแดนอาทิตย์แผ่แสง

หนุ่มๆ คนไหนเป็นแฟนมังงะหรือถึงแม้จะเป็นแค่นักอ่านขาจร คงต้องเคยหยิบหนังสือการ์ตูนแนวอันธพาลมีเรื่องชกต่อยกับคู่อริมาอ่านช่วงสมัยเป็นวัยรุ่นฮอร์โมนพลุ่งพล่านเป็นแน่

เห็นเรื่องราวพวกเขาผ่านหน้ากระดาษมาตั้งนาน แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของเขาเป็นอย่างไร วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จัก ล้วงชีวิตเหล่าแยงกี้ที่มีสตอรี่และรายละเอียดน่าสนใจมากมายนอกจากวีรกรรมป่วนเมืองสุดมันส์ในหนังสือการ์ตูน

จุดกำเนิดวัฒนธรรมย้อนแย้ง

ชุดคลุมยาวสุดเท่ ทรงผมรีเจนท์ และมอเตอร์ไซต์คันโตดีไซน์แปลกตา เป็นภาพที่แวบขึ้นมาในหัวทันทีหากพูดถึงแก็งค์นักเลงขาซิ่งเจแปนนิช พวกเขามีชื่อเรียกว่า โบโสะโซคุ (Bosozoku)  หรือ เเยงกี้ (Yankee)

โบโสะโซคุถือเป็น Sub-Culture ด้านมืดอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่โด่งดังและเลื่องชื่อลือไกลในเรื่องเอกลักษณ์แหวกแนวสุดโต่ง ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ทั้งเรื่องสไตล์การแต่งตัว แต่งรถ หรือการดำรงชีวิตแบบแขวนอยู่บนเส้นด้ายของพวกเขา แต่ในทางกลับกันหลายคนก็ถูกดึงดูดด้วยเรื่องวีรกรรมห้าวหาญของแก๊งค์ที่เล่าต่อกันมาแทน

ซึ่งต่อมาสิ่งยูนีคเหล่านั้นได้กระจัดกระจายกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับสไตล์แฟชั่นแก่คนรุ่นหลังและเป็นที่รู้จักของคนทั่งโลก

คาดกันว่าโบโสะโซคุมีจุดกำเนิดในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในขณะนั้นทหารญี่ปุ่นนิยมขับรถมอเตอร์ไซต์เป็นกลุ่มออกไปโบกธงจักรวรรดิแผ่แสงอาทิตย์สีแดงตามสไตล์เลือดรักชาติเพื่อปลุกระดมความเป็น “ลูกหลานแห่งสวรรค์ของดินแดนอาทิตย์อุทัย”

หลังจบสงครามโลกครั้ง 2 ที่สองเป็นยุคแห่งอิสระภาพและการแสวงหาของวัยรุ่นทั่วโลก บวกกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มเด็กหนุ่มเลือดร้อนหรือกลุ่มเด็กเดนที่สังคมไม่ให้การยอมรับ หยิบวัฒนธรรมรักชาติอันเลือนลางครั้งลัทธิจักรวรรดิเคยยิ่งใหญ่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านสังคมติดกรอบ ด้วยการซิ่งมอเตอร์ไซต์ไปตามถนน คอยก่อกวนความสงบสุขของบ้านเมืองเพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง

พฤติกรรมก็ไม่ต่างจากเด็กแวนซ์บ้านเราสักเท่าไหร่ ออกมาเบิ้ลรถเสียงดัง ขับรถบนถนนสาธารณะด้วยความเร็วสูง ผ่าไฟแดง โบกธงไปมา บางครั้งก็พกดาบออกมากวัดแกว่งสร้างความหวาดกลัวให้คนพบเห็นด้วย แต่ไม่ได้มุ่งทำร้ายใครที่อยู่นอกเหนือเส้นทาง ส่วนใหญ่จะเป็นการปะทะกันเองระหว่างแก๊งค์มากกว่า

ช่วงปี 70s ถือเป็นยุครุ่งเรืองของโบโสะโซคุเลยก็ว่าได้ ในขณะนั้น  “Black Emperors” เเก๊งที่ใหญ่ที่สุดมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 2,000 คนเลยทีเดียว แต่พอเข้ายุค 80s-90s ตำรวจมีนโยบายกวาดล้างกลุ่มโบโสะโซคุให้สิ้นซาก หลายครั้งมีการใช้กำลังเข้าปะทะเพื่อยุบแก๊งค์ วัฒนธรรมนักเลงขาซิ่งจึงค่อยๆ ตายไปทีละนิดๆ เหลือโบโสะโซคุเพียงไม่กี่แก๊งค์เท่านั้นที่ยังคงดำรงอยู่ได้แบบดั้งเดิม

ว่ากันว่าบางแก๊งค์อยู่รอดจากการกวาดล้างมาได้เป็นเพราะพวกเขามีแก๊งค์มาเฟียและยากูซ่าคอยหนุนหลังอยู่ เพราะสมาชิกบางคนเมื่อโตขึ้นก็อัพเกรดตัวเองเข้าสู่สายดาร์คเป็นลูกสมุนยากูซ่าหรือไม่ก็ตั้งตัวเป็นยากูซ่าเอง ปัจจุบันก็ยังคงมีโบโสะโซคุอยู่ในสังคมของญี่ปุ่นเพียงเเต่เปลี่ยนรูปเเบบเเละเเนวทางแตกต่างไปจากอดีต

แหกกฎสังคม แต่มีกฎเป็นของตนเอง

โดยส่วนใหญ่โบโสะโซคุมักมาจากครอบครัวระดับล่างที่มีปัญหาหรือเป็นเด็กเกเรที่สังคมไม่ต้องการ เมื่อคนเจอปัญหาเดียวกันมาเจอกัน แบ่งสารทุกข์สุขดิบร่วมกัน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเพื่อนๆ ในแก๊งค์นี่แหละคือครอบครัวเดียวกัน และถึงแม้ว่าพวกเขาจะคือคนนอกคอกที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์สังคมแต่เลือดการดำรงชีวิตอย่างมีกฎระเบียบของคนญี่ปุ่นก็ยังฝังอยู่ในสายเลือดของพวกเขา

แต่ละแก๊งค์ล้วนมีกฎเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบสมาชิกในแก๊งค์ไว้อย่างเป็นระบบไม่ต่างกับยากูซ่า ตั้งแต่การคัดกรองคนเข้าแก๊งค์ การแบ่งระดับตำแหน่งในแก๊งค์ หรือการกำหนดบทลงโทษในกรณีที่ละเมิดกฎดังกล่าว กระทั่งเวลาขับมอเตอร์ไซต์เองก็ยังมีกฎว่าห้ามใครแซงหัวหน้าแก๊งค์ หัวหน้าแก๊งค์จะต้องเป็นคนขับนำเสมอ

สไตล์การแต่งตัวสุดแนว

วัฒนธรรมหลายๆอย่างของแก๊งค์นักบิดได้รับการซึมซับมาจากการทหารยุคสงครามโลก รวมถึงการแต่งกายด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการนำวัฒนธรรมเดิมมาผสมผสานให้เข้ากันกับสไตล์ร็อคเกอร์ที่กำลังนิยมในยุคนั้นโดยปรับแต่งให้ดูน่ากลัวมากยิ่งขึ้น

เสื้อคลุมยาวที่ปักตัวอักษรคันจิเต็มแผ่นหลังเป็นสโลแกนของแก๊งค์ บางครั้งก็เป็นปรัญชาหรือคำกลอนปลุกใจ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากทหารญี่ปุ่นยุคสงครามที่ใช้วิธีนี้ประกาศความรักชาติ โบโสะโซคุจึงนิยมใส่เสื้อตัวนี้กรณีออกงานหรือออกศึก เพื่อประกาศศักดิ์ดาให้รู้ไปเลยว่านี่แก๊งค์ใคร ธรรมเนียมในการใส่เสื้อคลุมตัวนี้คือห้ามใส่อะไรไว้ด้านในเด็ดขาด

โดยส่วนใหญ่มักเสื้อเป็นสีดำหรือสีขาว บางแก๊งค์มีประเพณีสืบทอดเสื้อหัวหน้าแก๊งค์รุ่นสู่รุ่น ซึ่งเสื้อหัวหน้าจะไม่เคยถูกทำไปทำความสะอาดเลย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงความเป็นมาของแก๊งค์และการแบกรับหน้าที่ของหัวหน้ากลุ่มที่ต้องรักษาไว้

อีกแฟชั่นที่ยกวัฒนธรรมเดิมมาใช้คือการพันผ้าไขว้บนลำตัวเป็นรูปตัว X ซึ่งได้อิทธิพลมาจากนักบินรบช่วงสงครามโลกที่ผูกผ้าลักษณะนี้ไว้กับตัวก่อนออกไปทำภารกิจสำคัญ แต่ก่อนมักนิยมใช้ผ้าพันแผลแต่หลังๆมาได้วิวัฒนาการมาใช้ผ้าดิบแทน

นอกจากนั้นยังมีการนำชุดหมีเสื้อผ้าของกลุ่มคนใช้แรงงานมาใส่เข้าคู่กันกับรองเท้าบู้ททรงสูง รองเท้านินจา และรองเท้าเกี๊ยะด้วย แต่บางครั้งก็ใส่เป็นกางเกงขาใหญ่ๆ คล้ายกระโปรงแทน

ทรงผมแหวกแนวสุดโต้ง

บางคนเห็นทรงผมของพวกเขาแล้วปวดตับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสะดุดตามาก เห็นปุ๊บรู้เลยว่านี่คือนักเลงญี่ปุ่น เหล่าโบโสะโซคุยุคแรกมักไว้ทรงผมรีเจ้นท์ (regent hairstyle) ที่จัดทรงเป็นก้อนๆยื่นออกมาด้านหน้าคล้ายตูดเป็ด ซึ่งได้อิทธิพลมาจากราชาเพลงร็อคแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) กับทรงปอมปาดัวร์(Pompadour) ของสาวชนชั้นสูงในฝรั่งเศส แต่บางคนก็ทำทรงผมดัดหยิกทั้งหัวแทน ไม่ก็สกินเฮด หรือไม่ก็ทำสีผมเจ็บๆ ไปเลย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแก๊งค์นักเลงขาซิ่งจากแดนอาทิตย์อุทัยเท่านั้น ยังเหลือเรื่องสไตล์การตกแต่งพาหนะคู่กายอันเป็นสีสันสำคัญของวงการมอเตอร์ไซต์และรถยนต์ที่สร้างชื่อให้ญี่ปุ่นบนเวทีโลก ให้ตามอ่านกันในบทความหน้าด้วยใครเป็นขาซิ่งพลาดไม่ได้เลย

Source : 1|2|3

Pic : 1|2|3

Suthamat
The girl with flowers tattoo

บทความที่เกี่ยวข้อง

1 Comment

  1. 22/07/2022 at 22:36

    […] อ้างจากแหล่งที่มา: … […]

Comments are closed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save