มิตรรัก นักแฟนตาซี : Intro 201 สอนเล่น Fantasy Premier League ละเอียด! - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
มิตรรัก นักแฟนตาซี : Intro 201 สอนเล่น Fantasy Premier League ละเอียด!

สัปดาห์ก่อน เราประเดิมคอลัมน์รายสัปดาห์ “มิตรรัก นักแฟนตาซี” ที่จะเขียนให้อ่านกันทุกวันพฤหัสฯ ไปแล้ว เกี่ยวกับที่มาที่ไปของ Fantasy Football และทำไมถึงต้องเล่น Fantasy Premier League (ใครอยากย้อนไปอ่าน >> คลิกที่นี่เลยจ้า <<)

สัปดาห์นี้ ยังอยู่ในโหมดของการเกริ่น หรือ “Intro” ที่เหมาะกับมือใหม่ และให้มือเก๋าได้ทบทวน โดยวันนี้ เราจะโฟกัสกันไปที่ “Fantasy Premier League” กันแบบละเอียด ว่ามันมีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง และวิธีเล่นมันมีอะไรต้องรู้บ้าง

Fantasy Premier League เล่นได้ทั้งบนเว็บไซต์ และแอพมือถือ จ้า

โดยเราจะโฟกัสไปที่การเล่นผ่าน “เว็บไซต์” มากกว่า “แอพในมือถือ” นะครับ เพราะอินเตอร์เฟซมันครบกว่า ใช้งานสะดวกกว่า ถ้าเข้าใจฟังก์ชั่นของเว็บไซต์ ก็ไม่มีปัญหาในการเล่นผ่านแอพมือถือแน่นอนจ้า

รู้จักกับเมนูต่างๆ

หลังจากทำการสมัครแอคเคาท์ Fantasy Premier League เรียบร้อยแล้ว, ผ่านหน้าการจัดตัว (สามารถลองเลือกไปเล่นๆ ก่อน เพราะก่อนนัดแรกเตะ แก้ไขได้ตลอด) และผ่านการใส่ข้อมูลต่างๆ สำหรับทีมของคุณ ก็จะมาเจอหน้าตาเว็บไซต์แบบนี้

หน้าที่ของเมนูต่างๆ จะประกอบไปด้วย

  1. My Team : เป็นหน้าหลักในการจัดทีมของเรา สามารถจัด 11 ตัวจริง 4 ตัวสำรอง หรือเลือกกัปตันทีม/รองกัปตันทีม กันที่หน้านี้เลย (รายละเอียดการจัดทีม อ่านต่อทางด้านล่างจ้า)
  2. Transfer : เป็นหน้าสำคัญ ในการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเข้าสู่ทีม โดยมีนักเตะจากทั้ง 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก ให้เลือกสรร (เงื่อนไข และวิธีการเปลี่ยนตัว จะพูดในสัปดาห์หน้า)
  3. League : ไว้จัดการ “ลีกย่อย” ของเรา ทั้งการจอยลีก, ออกจากลีก, เช็คสมาชิกแต่ละลีก นอกเหนือจากนั้น ยังมี Global Leagues หรือการจัดอันดับกับคนทั่วโลก ในแง่ ทีมที่เชียร์, ประเทศ, Gameweek ที่เริ่มเล่น และเทียบกับทั้งหมด ให้ดูด้วย (การจอยลีก จะอธิบายเพิ่มเติมในตอนท้าย)
  4. Fixture : เอาไว้เช็คโปรแกรมการแข่งขันพรีเมียร์ลีกจริง ซึ่งเป็นตารางแข่งขันของเกมไปด้วยในตัว สามารถเช็คเวลาเตะได้สะดวก เค้าปรับเป็นเวลาไทยไว้แล้ว
  5. Statistic : เป็นเมนูที่ไว้โฟกัสเทียบผลงานของนักเตะ เราสามารถเลือกโดยตำแหน่ง, โดยทีม และสามารถเลือกเรียงลำดับจากหน่วยต่างๆ ได้ตามต้องการ
  6. Scout : เป็นคอนเทนท์ของทางพรีเมียร์ลีกเค้า ที่เขียนเกี่ยวกับ Fantasy Premier League ทั้งหมด มีทั้งบทวิเคราะห์, แนะนำแทคติก และช่องทางโซเชียลต่างๆ
  7. Draft : เป็นวิธีการเล่นแบบใหม่ ที่เค้าทดลองมา 2 ซีซั่นแล้ว มีระบบแย่งดราฟท์ตัวนักเตะ เข้ามาเกี่ยวข้อง มือใหม่ หรือยังไม่อยากจะลองแบบซับซ้อน เล่นแบบธรรมดา ก็ข้ามเมนูนี้ไปได้เลย
  8. Prizes : เป็นเมนูแจกแจงรางวัลทั้งหมดที่พรีเมียร์ลีก เขาจะมอบให้ผู้ชนะของซีซั่น, รายเดือน และรายสัปดาห์ รางวัลหรูหรา แต่การชนะคนหลักล้าน มันไม่ง่าย..
  9. Player Availability : เป็นเมนูไว้เช็คนักเตะที่มีปัญหาอาการบาดเจ็บ ทั้งลงสนามไม่ได้ หรือต้องเช็คความฟิต เอาไว้ประกอบการตัดสินใจ
  10. Rotoworld : ลิงค์ออกไปเช็คข่าวของ “Rotoworld” ซึ่งเป็นเครือของ NBC Sports
  11. Help : รวบรวมปัญหาที่พบบ่อย,​ กติกาของเกม และเงื่อนไขการให้บริการ ไว้ในเมนูนี้

กฎหลักของการเล่น

ทราบเมนูหลักต่างๆ ไปแล้ว ว่ามันทำอะไรบ้าง ก่อนจะไปลงลึกในเมนูสำคัญๆ ก็ขอมาอธิบายถึงวัตถุประสงค์ และกฎหลักของการเล่น Fantasy Premier League กันก่อน เพื่อให้เข้าใจภาพรวม

การวัดผล : Fantasy Premier League วัดผลกันที่ “คะแนนของทีม” ซึ่งได้มาจากคะแนนของนักเตะแต่ละคนในทีมของเรา ในแต่ละ Gameweek (ขออนุญาตใช้คำนี้ แทนคำว่า “สัปดาห์” เพื่อจะได้เคลียร์กับกติกาของเกม ที่จะอธิบายต่อไป) ทีมของใครคะแนนเยอะกว่า ก็อันดับสูงกว่า

วัตถุประสงค์หลัก คือการทำคะแนนของทีมให้ได้เยอะที่สุด เพื่อแข่งกับกุนซือคนอื่น

วิธีที่จะได้คะแนนมา : อย่างที่บอก ว่ามันมาจาก “คะแนนของนักเตะ” ซึ่งคะแนนเหล่านี้ จะอ้างอิงจากผลงานของนักเตะ ที่แข่งขันจริงๆ ในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ

โดยผลงานที่จะก่อให้เกิดเป็นคะแนนของนักเตะ ประกอบไปด้วยรายละเอียดตามนี้

ที่ต้องมาร์คดอกจันไว้ที่ “Bonus Point System” หรือ “BPS” ก็เพราะว่าในแต่ละแมทช์การแข่งขัน จะมีการมอบคะแนน 3, 2 และ 1 ให้กับผู้เล่นที่มี BPS มากที่สุด ซึ่งการคำนวณ BPS นั้น มีกฎเกณฑ์อยู่หลายข้อนอกเหนือจากผลงานที่เราเห็นง่ายๆ อย่าง การยิงประตู, คลีนชีต หรือแอสซิสต์

เลยขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดของ BPS ไว้ตรงนี้ เพราะไม่งั้นจะยืดยาวมาก ใครอยากจะดูเกณฑ์โดยละเอียด ไปที่เมนู Help และกดไปที่ Rules >> Scoring ได้เลย

“ปิแอร์ โอเมริค โอบาเมย็อง” นักเตะที่ได้โบนัสมากที่สุด 32 คะแนน จากฤดูกาล 2018/19

นอกเหนือจากระบบ BPS ที่ทำให้การคิดคะแนนมีมิติมากขึ้น ใน Help ยังมีการอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อลดข้อครหาในกรณีการคิดคะแนนไว้ด้วย เช่น

การโดนใบแดง : ผู้เล่นที่โดนใบแดง จะต้องถูกคิดคะแนน “การเสียประตู” ไปจนจบแมทช์ เพราะถือว่าใบแดง ทำให้ทีมต้องเสียเปรียบ

คลีนชีต : จะนำมาคิดคะแนน เฉพาะนักเตะที่อยู่ในสนามตั้งแต่ 60 นาทีขึ้นไปเท่านั้น และหากนักเตะคนนั้นออกจากสนาม เนื่องจากการเปลี่ยนตัว จะไม่ถูกคิดคะแนนในส่วน “การเสียประตู”

2 แบ็คของ “หงส์แดง” ทั้งโรเบิร์ตสัน และเทรนต์​ เจ้าของจำนวนแอสซิสต์มากที่สุดซีซั่นที่แล้ว

แอสซิสต์ : มีรายละเอียดหลากหลาย ที่เกมจะยกสิทธิ์ให้เป็นแอสซิสต์ เช่น การถูกทำฟาวล์ แล้วทำให้ทีมได้จุดโทษ หรือฟรีคิก แล้วผู้เล่นอีกคนยิงเข้าโดยตรง (ลุกขึ้นมายิงเองไม่ได้), การยิงแล้วโดนเซฟ แล้วมีเพื่อนมาซ้ำเป็นประตู หรือการโหม่ง/ยิงแฉลบ แล้วไปเข้าทางเพื่อนยิงประตูต่อเข้าไป เป็นต้น

โดยทางพรีเมียร์ลีก เค้ามีการอธิบายว่า เค้าใช้ “Opta” ในการคำนวณ และตัดสินผลเหตุการณ์ต่างๆ ในสนาม เพื่อป้องกันผู้เล่นอ้างข้อมูลตามเว็บอื่น ที่อาจแสดงผลแตกต่าง อย่างเช่น การแอสซิสต์ ซึ่งตีความได้หลากหลาย

ตัวอย่างสถิติจาก Opta สำหรับผลงานของ “ลูก้า มิลิโวเยวิช” กัปตันทีมพาเลซ

รายละเอียดของกฎหลักการเล่น จะขอพูดถึงไว้เพียงเท่านี้ เพราะน่าจะครอบคลุมถึงการคิดคะแนนในแบบปกติ ซึ่งหากมีเหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้น เราจะหยิบเอามาคุยกันต่อในอนาคต

การจัดตัวผู้เล่น

ผ่านกฎหลักของเกมมาแล้ว ก็ถึงคราวลงรายละเอียดสิ่งสำคัญอย่างแรกคือ “การจัดตัวผู้เล่น” กันบ้าง โดยเกมจะบังคับให้ต้องจัดนักเตะทั้งหมด 15 ตัว แบ่งเป็น โกล์ 2 / กองหลัง 5 / กองกลาง 5 / กองหน้า 3 ภายใต้งบประมาณตั้งต้น 100 ล้านปอนด์ เหมือนกันทุกคน

นักเตะ 15 ตัว กับงบประมาณ 100 ล้านปอนด์ ซึ่งถูกกำหนดไว้

นอกเหนือจากการจำกัดด้านงบประมาณรวมของทีมแล้ว เกมจะยังบังคับว่า เราสามารถเลือกนักเตะจากสโมสรเดียวกันนั้น ได้แค่เพียง 3 คนเท่านั้น อีกด้วย

กลยุทธ์การจัดตัว

แม้แต่ละ Gameweek เกมจะคิดคะแนนของผู้เล่นแค่ 11 ตัวแรก โดยไม่นับผู้เล่นสำรองอีก 4 ราย (ยกเว้นการใช้ Chips ที่ชื่อว่า Bench Boost ซึ่งจะอธิบายสัปดาห์หน้า) แต่เรื่องของการเปลี่ยนตัว เกมมีข้อแม้ว่า ระหว่าง Gameweek เราจะเปลี่ยนตัว หรือ Transfer นักเตะได้ฟรี เพียงแค่ 1 ตัวเท่านั้น หากต้องการเปลี่ยนเพิ่มต้องเสียคะแนน -4 ต่อการเปลี่ยน 1 ตัว การเลือก 15 นักเตะตั้งต้น จึงมีความสำคัญไม่น้อย

กลยุทธ์ในการจัดตัว ที่เราจะแนะนำกัน จึงขอโฟกัสไปที่การจัดทีมเริ่มแรก ซึ่งอาจจะเอาไปประยุกต์ใช้กับการจัดตัว ในระหว่างซีซั่นได้เช่นกัน

** กลยุทธ์สำคัญ : เลือกนักเตะเทพที่พร้อมอยู่ยาว

สิ่งนี้ ควรเป็นสิ่งแรกที่เราให้ความสำคัญ เพราะนักเตะเทพ หรือนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ มักจะทำแต้มได้เป็นกอปรเป็นกำให้กับเรา แต่กลับกัน ค่าตัวก็ย่อมแพง ดังนั้นเลือกแล้ว ก็ควรคาดหวังการใช้งานในระยะยาว

ถ้าเราอยากเลือก 2 แบ็คจาก “หงส์แดง” มันก็จะกินงบประมาณไปทันที 14 ล้านปอนด์

ยกตัวอย่างเช่น การเลือกกองหลัง โดยจิ้มไปที่ของแพงอย่าง “แอนดี้ โรเบิร์ตสัน” และ “เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาโนลล์” ในราคา 7 ล้านปอนด์ ก็ดูเหมาะสมกับแผนการระยะยาว เพราะลิเวอร์พูล เล่นเกมรับได้เหนียวแน่น มีโอกาสลุ้นคลีนชีตทุกนัด แถมแบ็คทั้ง 2 ข้าง ก็ยังผลิตแอสซิสต์ให้ทีมได้สม่ำเสมอ เมื่อดูจากผลงานซีซั่นที่แล้ว

หรือหากเพิ่ม 2 คนสำคัญของซิตี้เข้าไปอีก งบจะเหลือแค่ 64.5 ล้าน กับ 11 ตัวที่เหลือ

หรือในแดนกลาง หากเราเลือกตัวรุกจัดจ้านของซิตี้ อย่าง “เควิน เดอ บรอยด์” หรือ “ราฮีม สเตอร์ลิ่ง” ก็แน่นอนว่าเราควรจะต้องหวังผลกับพวกเขาในระยะยาว เพื่อให้คุ้มกับค่าตัวระดับ 9 และ 12 ล้านปอนด์ ที่จะไปเบียดเบียนค่าตัวของตัวอื่น

** กลยุทธ์สำคัญ : ค้นหาตัวคุณภาพในทีมระดับกลาง/เล็ก

ด้วยงบประมาณที่จำกัด แน่นอนว่าเราคงจะเลือกเฉพาะนักเตะทีมใหญ่อย่างเดียวไม่ได้ การใช้เงินให้คุ้มค่ากับนักเตะของทีมระดับกลาง และเล็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกเหนือจะมีลุ้นได้แต้มจากนักเตะเหล่านี้แล้ว การใช้พวกเค้าได้ในระยะยาว หมายความว่าเราจะประหยัดการเปลี่ยนตัวไปด้วย

“อโยเซ่ เปเรซ” ในราคา 6.5 ล้านปอนด์ เทียบกับผลงาน 12 ประตูซีซั่นที่แล้ว ถือว่าน่าลอง

ยกตัวอย่างเช่น นักเตะแนวรุกที่ทำผลงานได้ดีในซีซั่นที่แล้ว อย่าง “อโยเซ่ เปเรซ” ของเลสเตอร์ ที่ปีที่แล้วฮ็อตช่วงปลายซีซั่นกับนิวคาสเซิล ราคา 6.5 ล้านปอนด์ จึงน่ารักน่าลุ้น หรือจะเป็น “เจา มูตินโญ่” ของวูล์ฟ ที่ทำได้ดีทั้งยิงประตู และแอสซิสต์ ราคาก็เบาๆ แค่ 5.5 ล้านปอนด์ เท่านั้นเอง

หรือมองไปที่แผงหลัง “จามาล ลาสเซลส์” ของนิวคาสเซิล หรือ “อิสซ่า ดิย็อป” ของเวสต์แฮม ที่ราคา 4.5 ล้านปอนด์ ก็ดูน่าสนใจ เพราะ 2 ตัวนี้ น่าจะยืนเป็นตัวหลักให้ทีมไปตลอดซีซั่น

** กลยุทธ์สำคัญ : มองดูโปรแกรมการแข่งขัน และคิดล่วงหน้า

สิ่งที่กุนซือแฟนตาซีมักจะพลาดกันเยอะ คือเรื่องของการไม่มองการณ์ไกล โดยเฉพาะกับโปรแกรมการแข่งขัน ซึ่งแต่ละทีม จะต้องเจอของหนัก-ของเบา สลับกันไปโดยตลอด การเลือกตัวนักเตะจากทีมที่มีโปรแกรมไม่หนักหนานัก ในช่วง 3-5 นัดถัดไป ก็ย่อมช่วยให้เราไม่ต้องเปลืองเปลี่ยนตัวโดยไม่จำเป็น

สังเกตว่า 4 นัดแรกของสเปอร์ ต้องไปเยือนทีมใหญ่ถึง 2 นัด

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลองมองดูทีมระดับท็อป สเปอร์ต้องออกไปเยือนซิตี้ และอาร์เซน่อล ใน 2 จาก 4 นัดแรก เราอาจจะหลีกเลี่ยงเลือกนักเตะกองหลังไก่เดือยทองในช่วงแรก

หรือกับทีมระดับกลางอย่างบอร์นมัธ ที่ 7 นัดแรก เจอทีม Top 6 แค่เพียงนัดเดียว การเลือกนักเตะอย่าง “คัลลั่ม วิลสัน” หรือ “ไรอัน เฟรเซอร์” ก็ดูจะเหมาะสมในระยะยาว

* กลยุทธ์ทางเลือก : เลือกนักเตะราคาต่ำสุด เพื่อเหลืองบ

อันนี้เป็นวิธีทางเลือก ที่แล้วแต่คุณจะเอาไปเลือกใช้กันเอง โดยอย่างแรก เป็นการเลือกนักเตะที่ราคาต่ำที่สุดของเกม เพื่อให้เรามีงบเหลือไปใช้กับนักเตะคนอื่น

การเลือกนักเตะราคาต่ำสุด ทำให้ประหยัดงบสำหรับตัวอื่นได้ไม่น้อย

การเลือกวิธีนี้ เหมือนเป็นการ “เลือกทิ้ง” แน่นอนว่าข้อเสียมันคือ เราจะเสียตัวเลือกในการหมุนเวียนนักเตะไปเลยฟรีๆ อย่างเช่น การเลือก “มาร์ติน เคลลี่” ของพาเลซ ในราคา 4 ล้านปอนด์ ซึ่งแม้จะมีลุ้นได้ลงบ้าง แต่ก็ยากจะการันตีตัวจริง

วิธีที่พอจะทำให้การเลือกทางนี้ ได้ประโยชน์อยู่บ้าง คือเราต้องเลือกนักเตะที่อาจจะมีโอกาสได้ลงสนามบ้าง อย่างในแดนหน้า นักเตะที่ค่าตัวถูกที่สุดคือ 4.5 ล้านปอนด์ ซึ่งเราอาจจะเลือก “เมสัน กรีนวู้ด” ของแมนฯ ยู เพราะมีโอกาสเหมือนกันที่จะมีชื่อติดทีมในนัดแรกๆ

* กลยุทธ์ทางเลือก : เลือกนักเตะที่ใช้งานได้ทุกคน

วิธีทางเลือกนี้ เป็นวิธีที่ส่วนตัวผมนิยมมากกว่าการเลือกทิ้ง นั่นคือพยายามเลือกนักเตะที่จะเป็นตัวจริงให้กับสโมสร ให้ครบทั้ง 15 คน

หากเลือก “ไรอัน” ไว้ซัพพอร์ต เราก็จะลดความเสี่ยง ในกรณี “เด เกอา” ต้องเจองานหนัก

แน่นอนว่าข้อดีของมัน คือการที่เรามีนักเตะให้หมุนเวียนใช้ได้ครบถ้วน 15 คน เช่น เราอาจจะเลือก “เดวิด เด เกอา” เป็นหลัก แต่พอมีนัดที่ต้องเจอกับทีมโหดๆ โกล์สำรองของเราอาจจะเป็น “แมตต์ ไรอัน” ของไบรท์ตัน ซึ่งแม้จะเสียประตูเยอะ แต่ก็มีจำนวนการเซฟเยอะ และอาจจะมีลุ้น เก็บคลีนชีตได้ในบางแมทช์ เป็นต้น

ในทางกลับกัน วิธีนี้ย่อมทำให้คุณเสียงบประมาณมากขึ้น ในการจะเจียดไปเลือกตัวนักเตะระดับท็อปของทีม อันนี้คุณต้องลองชั่งน้ำหนัก ข้อดีข้อเสีย และลองจัดทีมกันดู

ระบบลีกย่อย

ขอพูดถึงอีกเรื่องนึง คือเรื่องของ “ระบบลีกย่อย” ที่เกมเขาสร้างขึ้นมา เพื่อให้คุณเพิ่มความสนุกในการเล่น นอกเหนือจากการนั่งเล่น นั่งจัดตัวอยู่คนเดียวเหงาๆ

เมื่ออยากใช้บริการฟังก์ชั่นลีก คุณเข้าไปที่เมนู “Leagues” ได้เลย พอเข้าไปปุ๊บ ก็จะเจอหน้าตาประมาณนี้

“Create and join new leagues” คือการสร้างลีกย่อยใหม่ของคุณ หรือการเข้าไปร่วมจอยลีกย่อย ที่มีคนอื่นสร้างไว้อยู่แล้ว (อธิบายต่อด้านล่าง)

“Renew your leagues” อันนี้เป็นฟังก์ชั่นของคนที่เคยสร้างลีกย่อยเมื่อซีซั่นก่อน แล้วอยากจะเปิดลีกเดิมต่อในซีซั่นใหม่นี้ (ขออนุญาตไม่อธิบายต่อ เพราะหน้าเก่า รู้กันอยู่แล้วเนอะ)

เมื่อกด “Create and join new leagues” ไป ก็จะเจอกับหน้าตาประมาณนี้

“Create a new league” คือ ฟังก์ชั่นให้คุณสร้างลีกย่อยของคุณเอง เมื่อกดแล้ว ก็ต้องเลือกระบบของลีก

Classic scoring คือระบบคิดคะแนนแบบปกติ ใครได้คะแนนมากก็อยู่อันดับสูงกว่า เกมจะทำการจัดอันดับให้เราเลือกดูได้ทั้งรายสัปดาห์, รายเดือน และรายตลอดซีซั่น เพื่อให้คุณไปชวนเพื่อน แล้วตั้งกติการางวัลกันเองเป็นส่วนตัว

Head-to-Head scoring เป็นระบบแข่งแบบพบกันหมด เหมือนการแบ่งกลุ่ม ระบบจะจัดการสุ่มให้เลย ว่าแต่ละ Gameweek ใครจะ vs กับใคร ใครชนะก็จะได้ 3 แต้ม แล้วจัดออกมาเป็นตารางอันดับ ซึ่งแบบนี้ ก็ตั้งรางวัลสนุกๆ กับเพื่อนๆ ได้เช่นกัน

ย้อนกลับมาตรงการเลือก “Join an existing league” กันอีกทีในหน้า create or join กดไป ก็จะเจอทางเลือกอยู่ 2 อันแบบนี้

“Private League” คือการเข้าไปจอยกับลีกส่วนตัว ที่มีคนสร้างไว้อยู่แล้ว การจะจอยลีกแบบ Private นี้ คุณต้องมีโค้ด มากรอกเท่านั้น ถึงจะเข้าร่วมได้

อย่างลีกที่เราตั้งขึ้นมา ในชื่อ “The.Macho League” คุณก็ต้องเอาโค้ด t0rphf ไปกรอก เพื่อเข้าร่วม ใครยังไม่ได้จอย รีบเข้ามากันเลยฮะ ตอนนี้เริ่มมีกุนซือเข้ามาจอยหลักหลายสิบรายแล้ว เย้!

กรอกโค้ดตามรูป เพื่อจอย Private League ของเรากัน

“Public League” อันนี้คือการสุ่มเข้าลีกที่เกมจะจัดอัตโนมัติไว้ให้ โดยคุณจะเข้าไปเจอกับกุนซือคนอื่นจากทั่วโลก ที่ถูกสุ่มมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน สามารถเลือกได้ทั้งแบบ Classic และ Head-to-Head

ลงรายละเอียดกันจัดเต็มไม่น้อยเลย สำหรับการเริ่มต้นเข้าใจ Fantasy Premier League ที่หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากการลองจัดทีม และสร้างลีกย่อยสนุกๆ เพื่อชวนเพื่อมาร่วมจอยกัน

มีเมนูสำคัญ “Transfer” หรือ การเปลี่ยนตัว เราจะมาลงรายละเอียดสัปดาห์หน้า

สัปดาห์หน้า เราจะเข้าสู่ EP 1 อย่างเป็นทางการแล้ว โดยผมจะมาอธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องของ Transfer หรือการเปลี่ยนตัว พร้อมกับวิเคราะห์ Gameweek 1 ว่านักเตะคนไหนน่าสนใจเลือกกันบ้าง คอยติดตามให้ดี เพราะเราจะจัดทีมให้ดูกันจริงๆ วัดไปเลยว่า คะแนนมันจะออกมายอดเยี่ยม หรือเลวร้าย

ส่งท้าย ด้วยการย้ำกันอีกที ว่าหากใครจัดทีมเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมเข้ามาจอย Private League ของเรา “The.Macho League” โดยกรอกโค้ด >> t0rphf

เตรียมทีมของคุณให้พร้อม สัปดาห์หน้าฤดูกาลจะเปิดแว้ววววว แล้วมาเจอกับ “มิตรรัก นักแฟนตาซี” วิเคราะห์ Gameweek 1 กันวันพฤหัสฯ หน้าจ้า

Picture : Fantasy Premier League, FourFourTwo, Fantasy Football 247, The Liverpool Offside, Goal.com, Crystal Palace Football Club, Leicester Mercury

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save