วิเคราะห์เจาะลึก : ทำไม “จิ้งจอกสยาม” ถึงร้ายกาจขนาดนี้? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
วิเคราะห์เจาะลึก : ทำไม “จิ้งจอกสยาม” ถึงร้ายกาจขนาดนี้?

ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกผ่านไป 12 นัดเรียบร้อยแล้ว แม้สายตาส่วนใหญ่จะจับจ้องไปที่การลุ้นแชมป์ระหว่าง “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ที่พึ่งโม่แข้งกันไป แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีอีกไม่น้อย ที่หันมาพูดถึงการก้าวขึ้นมาสู่หัวตารางอย่างแข็งแกร่งของ “จิ้งจอกสยาม” เลสเตอร์ ซิตี้

“จิ้งจอกสยาม” เลสเตอร์ ทะยานขึ้นมาเป็นรองจ่าฝูง พร้อมสถิติรุก-รับเยี่ยม
(Source : The National)

จะไม่ให้พูดถึงได้ไง เมื่อผ่าน 12 นัดบนหลักไมล์อันยาวไกลของพรีเมียร์ลีก เลสเตอร์โกยแต้ม 26 คะแนน ยิงได้ 29 ลูก มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของลีก เป็นรองแค่ซิตี้ และเสียไปเพียง 8 ประตู น้อยที่สุดในลีก

นอกจากนั้น กับการเจอกับทีมใหญ่ แม้จะพลาดท่าให้กับแมนฯ ยู และลิเวอร์พูล (แบบหวุดหวิด ทั้ง 2 นัด) แต่พวกเขาก็ล้ม 2 ทีมจากนอร์ธ ลอนดอน อย่างสเปอร์กับอาร์เซน่อล และแบ่งแต้มในเกมเยือนเดอะ บริดจ์ ของเชลซี ได้อีกต่างหาก

พอผลงานซีซั่นนี้มันกระฉูด คนก็เริ่มคิดถึง “ความเป็นไปได้” ที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว
(Source : Sky Sports)

ไม่รู้ว่าภาพเก่าที่พวกเขาหักปากกาเซียนคว้าแชมป์ลีกเมื่อซีซั่น 2015/16 มันแฟลชแบ็คกลับมา หรือเพราะฟอร์มการบดบี้คู่แข่งในซีซั่นนี้ของลูกทีม “เบรนแดน ร็อดเจอร์ส” เด่นชัดมากๆ ทำให้เหล่านักวิจารณ์ และแฟนบอล ต่างออกปากตรงกันว่านี่มัน “ของจริง” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญชั่ววูบ

และก็เพราะเราเองก็เป็นหนึ่งในคนที่คิดเช่นนั้น จึงต้องลองมาดูกันหน่อย ว่ามันมีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ “จิ้งจอกสยาม”​ ผงาดขึ้นมากระฉูดขนาดนี้

ทีมตัวจริงที่ลงตัว

“บีร็อด”​ เข้ามารับงานในถิ่นคิง พาวเวอร์ สเตเดี้ยม ในช่วงปลายเดือน ก.พ. ซีซั่นก่อน นั่นหมายความว่าเขาต้องเข้ามาใช้งานนักเตะชุดเดิมที่ “โคล้ด ปูแอล” ทิ้งมรดกไว้ โดยยังไม่สามารถซื้อตัวใหม่ที่ต้องการได้

“เบรนแดน ร็อดเจอร์ส” ย้ายกลับมาแดนผู้ดีอีกครั้ง เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
(Source : LCFC.com)

ดังนั้น สิ่งที่เขาทำได้คือการพยายามจัดแจงทรัพยากรที่มีอยู่ให้เข้าที่เข้าทางที่สุด ซึ่งเขาก็ทำได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะการพาทีมชนะ 4 นัดรวดในลีกช่วงเดือน มี.ค. ถึงต้น เม.ย. โดยแทบจะไม่เปลี่ยนไลน์อัพ 11 ตัวจริงเลย

เมื่อเข้าใจทรัพยากรที่มีแล้ว เขาเติมสิ่งที่ทีมขาดในช่วงตลาดซัมเมอร์ ซึ่งแม้จะมีนักเตะที่เข้ามาเสริมไม่มากมาย แต่ก็เห็นได้ชัด ว่ามีผลด้านบวกต่อแผนการเล่นที่ทีมจะใช้

พราต (ซ้าย) และอโยเซ่ (ขวา) ถูกเซ็นเข้ามา ส่วนเทเลม็องส์ ทีมลงทุนซื้อขาด
(Source : LCFC.com)

มิดฟิลด์ตัวกลางคุณภาพ ที่ทำได้ดีในการยืมตัวอย่าง “ยูริ เทเลม็องส์” ถูกเซ็นถาวรด้วยราคาราว 35 ล้านปอนด์, “อโยเซ่ เปเรซ” ตัวรุกชาวสแปนิช เข้ามาเติมความหลากหลายในเกมบุก ส่วน “เดนนิส พราต” ก็ถูกเสริมเข้ามา เพื่อทดแทนปัญหาแดนกลางที่มีอะไหล่น้อยเกินไป

แดนกลาง ไปจนถึงแนวรุกไม่มีปัญหาอยู่แล้วกับคุณภาพที่มีอยู่ “วิลเฟร็ด เอ็นดิดี้” ทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยม “เจมส์ แมดดิสัน” ก็เล่นกับเทเลม็องส์ ได้ลงตัว และเป็นตัวเซ็ตการเข้าทำที่โดดเด่น ส่วนแดนหน้า คุณไม่ต้องบรรยายสรรพคุณของ “เจมี่ วาร์ดี้” ให้เสียเวลา

“ฮาร์วี่ย์ บาร์นส์” ตัวรุกดาวรุ่ง ซึ่งได้โอกาสจากร็อดเจอร์ส สม่ำเสมอ
(Source : Premier League)

เกมรุกด้านข้าง แม้อโยเซ่ จะใช้เวลาปรับตัวอยู่พักนึง แต่เลสเตอร์ก็ไม่เสียหายตรงนี้มากมาย เพราะมี “ฮาร์วี่ย์ บาร์นส์” และ “ดามาราย เกรย์” ที่สร้างผลงานได้โอเค ยังไม่รวมถึงตัวเก๋า “มาร์ค อัลไบรท์ตัน” ที่แม้ไม่ได้ลงตัวจริงเยอะ แต่ยังหวังผลได้ยามต้องการประสบการณ์

แต่ปัญหาแนวรับคือสิ่งที่หลายคนห่วงที่สุด เพราะแม้พวกเขาได้เงินก้อนโตจากยูไนเต็ด ในการขายเซ็นเตอร์ฮาล์ฟเบอร์ 1 ของทีมอย่าง “แฮร์รี่ มาไกวร์” ไป แต่พวกเขาก็ไม่ได้เสริมใครเข้ามาทดแทนเลย

แต่แทนที่ร็อดเจอร์ส จะตื่นตระหนก เขากลับมอบความไว้วางใจให้ “เคกลาร์ โซยุนคู” เซ็นเตอร์ดาวรุ่งชาวเติร์ก ที่แทบไม่ถูกปูแอลใช้งาน หลังย้ายมาจากไฟร์บวร์ก เมื่อซีซั่นที่แล้ว และผลลัพธ์ที่ได้กลับมา ยอดเยี่ยมเกินความคาดหมายมาก

ช่องโหว่สำคัญจากการขาดหายไปของมาไกวร์ ถูกทดแทนด้วยของดีที่มีอยู่แล้ว
(Source : Yahoo! Sports)

โซยุนคู จับคู่กับ “จอนนี่ อีแวนส์” ได้อย่างลงตัว คว้าตำแหน่งแมน ออฟ เดอะ แมทช์ของทีมหลายนัด ทั้งคู่สอดประสานกันได้ดี มีตัวชน และตัวรอง ฟอร์มของกองหลังทีมชาติตุรกี ยังช่วยยกระดับให้อีแวนส์ เรียกฟอร์มเก่งกลับมาอีกครั้ง

รูปแบบการเล่นที่พัฒนา

ตั้งแต่คุมทีม “หงส์ขาว” สวอนซีจนสร้างชื่อ รูปแบบการเล่นด้วยการต่อบอลสั้นถูกใช้งานมาเป็นสัญลักษณ์ของร็อดเจอร์สโดยเสมอ เช่นเดียวกับการคุมลิเวอร์พูล และเซลติก ที่เขาพยายามยึดมั่นปรัชญาเดิมไว้ตลอด

ร็อดเจอร์ส เมื่อครั้งคุม “หงส์แดง” ซึ่งเขาเกือบพาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้
(Source : Metro)

อย่างไรก็ดี หากติดตามการทำงานของร็อดเจอร์สแบบใกล้ชิดหน่อย จะเห็นว่าเขามีการปรับปรุงรายละเอียดการเล่นของเขาไปพอสมควร เมื่อประสบการณ์มากขึ้น

อย่างแรกที่เห็นชัดเจน คือร็อดเจอร์สปรับการครองบอลให้ยืดหยุ่นมากกว่าเดิม จากที่เคยเล่นบอลชัวร์ เน้นเก็บบอลไว้ กลายเป็นการปรับจังหวะให้เร็วขึ้น และพร้อมเข้าทำทันทีหากสบโอกาส

แน่นอนว่าการพูดในหน้ากระดาษมันง่าย แต่เอาเข้าจริง การ “เข้าทำให้เร็วขึ้น” มันไม่ได้เกิดแค่เพียงชั่วข้ามคืน เพราะมันต้องการมูฟเมนท์ที่ถูกต้อง และบอลเท้าสู่เท้าก็ต้องแม่นยำเพียงพอ

“วิลเฟร็ด เอ็นดิดี้” มิดฟิลด์ตัวรับ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อรูปทรงเกมของทีม
(Source : Football Addict)

นั่นจึงทำให้เราเห็น การปรับให้ทีมเคลื่อนที่มากขึ้ในซีซั่นนี้ คู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟจะดันขึ้นมาสูงกว่าเดิม เพื่อตั้งบอล เอ็นดิดี้ในตำแหน่งตัวรับ ก็พร้อมดันขึ้นไปเก็บตกจังหวะ 2 สูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่แมดดิสันกับเทเลม็องส์ ก็สลับกันเล่นสูง-ต่ำ แล้วแต่รูปแบบของเกม สร้างบาลานซ์ที่มากขึ้นตามไปด้วย

เกมด้านข้าง นอกจากจะมีตัวริมเส้น ที่สามารถหุบเข้าในแล้วแต่จังหวะ แบ็คสองข้างอย่าง “เบน ชิเวลล์” และ “ริคาร์โด้ เปไรร่า” ก็มีหน้าที่ดันขึ้นมาเสริมให้เกมรุกครบมิติ ซึ่งทั้งคู่ทำได้ดีอย่างที่เราทราบกัน

แผนที่ปรับให้กล้ารุก กล้าดันเกม ช่วยปลดล็อคให้ประสิทธิภาพวาร์ดี้ เด่นตามไปด้วย
(Source : Premier League)

และสำหรับแดนหน้า แม้แผนการเล่นในปัจจุบัน จะไม่มีหน้าตัวต่ำที่พร้อมชิงจังหวะกับวาร์ดี้ เหมือนสมัยมี “ชินจิ โอกาซากิ” แต่ด้วยแผนที่มูฟกันมากขึ้น และดันขึ้นมาสอดประสานในแนวรุกชัดเจน ทำให้วาร์ดี้ไม่โดดเดี่ยว และยังสามารถใช้ไหวพริบชิงจังหวะให้เป็นประโยชน์มากขึ้นอีกด้วย

การเล่นแบบทีมใหญ่

อย่างที่ทราบกันว่าพรีเมียร์ลีกนั้นมีรูปแบบการเล่นที่รวดเร็วมาก ทีมเล็กหรือทีมใหญ่ ต่างอยากเล่นเกมเร็วทั้งการเข้าทำ และการบีบพื้นที่เข้าหาในขณะเป็นฝ่ายรับ แต่สิ่งที่ทำให้ “ทีมใหญ่” แตกต่าง นอกเหนือจากประสิทธิภาพนักเตะแล้ว การเล่นที่ “สม่ำเสมอ” จัดว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน

หากเป็นสมัยก่อน เราจะคุ้นกับการเล่น “เน้นรับ” ของทีมรอง ส่วนทีมใหญ่ หรือทีมที่เป็นต่อก็จะเล่น “เกมรุก” หรือเกมที่สวยงามกว่า จู่โจมเข้าใส่

แต่กับยุคสมัยนี้ เราจะเห็นหลายต่อหลายทีมหันมาเล่นเกมรุก หรือการต่อบอลสวยงามเป็นพื้นฐาน แต่ก็ใชว่ามันจะประสบความสำเร็จเสมอไปกับทุกทีม

นอริช ซิตี้ คือตัวอย่างของการเล่นบอลที่สวยงาม แต่ความแม่นยำมันไม่ได้
(Source : The Athletic)

เราจะเห็นตัวอย่างของฟูแล่มปีที่แล้ว หรือกับปีนี้ก็คงเป็นนอริช ที่การเล่นของพวกเขาสวยงาม เน้นบอลกับพื้น แต่ประสิทธิภาพมันยังขาดความสม่ำเสมอ ความสวยงามมันก็กลายเป็นภาพลวงตา เมื่อบอลถูกบีบและตัดไปอย่างรวดเร็ว ไม่ถึงครึ่งสนามด้วยซ้ำ

กับเลสเตอร์เอง พวกเขาหันมาเล่นบอลสั้นที่เร็วขึ้น และเสี่ยงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมันไม่ง่ายที่จะทำให้ “สม่ำเสมอ” แต่พวกเขาก็ทำได้ดีในการค่อยๆ ลดความผิดพลาด การยืนตำแหน่งที่เป็นธรรมชาติ ก็ช่วยโคฟเวอร์พื้นที่ในการเก็บบอลจังหวะสอง ดีขึ้นตามไปด้วย

เทเลม็องส์ และแมดดิสัน 2 มิดฟิลด์เซ้นส์บอลสูง ที่ช่วยให้เกมมีความสม่ำเสมอ
(Source : 90Min)

เมื่อประสิทธิภาพเกิดมากขึ้นจากความพยายามจนคุ้นชิน ประสิทธิผลที่สม่ำเสมอจึงตามมา ยิ่งเก็บผลการแข่งขันที่ดีได้ต่อเนื่อง ความมั่นใจจึงสูงปรี๊ด ใครเจอพวกเขาก็ต้องมีหนาว

ก้าวต่อไปของจิ้งจอกสยาม

ถึงตรงนี้ แน่นอนแหละว่า คงเสียงวิจารณ์เพียงหยิบมือ ที่ออกมาพูดว่าเลสเตอร์ ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 เพราะแค่บังเอิญ เนื่องจากประสิทธิภาพทั้งรุก และรับของพวกเขา ตอบข้อสงสัยนี้ได้อย่างดี แต่ถ้าพูดถึงจุดหมายปลายทางล่ะ? เส้นทางต่อไปของพวกเขา จะไปได้ถึงไหนกัน?

นอกเหนือจากฟอร์มระดับท็อป การที่ทีมใหญ่นัดกันฟอร์มตก ก็มีส่วนทำให้เลสเตอร์ มีลุ้นขึ้น
(Source : NDTV Sports)

แน่นอนว่าเป้าหมายที่ดูจะเป็นไปได้มากขึ้นคือการลุ้นติดอันดับ 1 ใน 4 เพื่อพาพวกเขากลับไปเล่นฟุตบอลยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก อีกหน ด้วยช่องว่างที่ทิ้งทีมอันดับ 5 ถึง 9 แต้ม มันชัดเจนอยู่แล้ว

แต่เป้าที่ใหญ่กว่านั้นล่ะ… พวกเขาดีพอจะเป็นทีมที่ลุ้นแชมป์เลยหรือเปล่า? อันนี้มันยังสองจิตสองใจอยู่

เพราะอย่างที่พูดไปในหัวข้อด้านบน “ความสม่ำเสมอ” เป็นปัจจัยสำคัญที่ลูกทีมของ “เบรนแดน ร็อดเจอร์ส” ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาพร้อม

ศึกสำคัญกับซิตี้ช่วงปลายปี จะเป็นอีกนัดที่วัดมาตรฐานของเลสเตอร์
(Source : Leicester Mercury)

โปรแกรมในเดือน ธ.ค. ที่พวกเขาจะเจอกับทีมที่พวกเขา “ถือไพ่เหนือกว่า” เมื่อดูจากฟอร์มปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นข้อพิสูจน์ความต่อเนื่องเปราะแรกของพวกเขา

ก่อนที่จะปิดท้ายปลายปีด้วย 3 โปรแกรมโหด เยือนซิตี้, เหย้าหงส์แดง และเยือนเวสต์แฮม ในระยะเวลาห่างกันแค่ 7 วัน ตรงนั้น จะเป็นบททดสอบสำคัญ ว่าพวกเขาจะผ่านปฏิทิน 2019 ในตำแหน่งไหน

หาก “จิ้งจอกสยาม” ยังยืนระยะทำแต้มเกาะติดกลุ่มนำได้ไม่แตกต่างจากตอนนี้ เมื่อนั้น ค่อยเรียกพวกเขาว่าทีมลุ้นแชมป์ก็คงไม่สาย

#Fearless สโลแกนเมื่อครั้งพวกเขาคว้าแชมป์ลีก อาจกลับมาใช้งานได้อีกครั้งในปีนี้
(Source : The Guardian Nigeria)

เพราะหากถามไปยังผู้คนที่เมืองเลสเตอร์ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับสโมสรฟุตบอลสีน้ำเงินทีมนี้ พวกเขาแตะเกินมาตรฐานที่พวกหวังไว้แล้ว หนทางต่อจากนี้ ล้วนเป็นกำไรที่จะต่อยอดสิ่งที่พวกเขาเริ่มสร้างขึ้นมาแล้วแหละ

Picture : Football Ace, The Guardian Nigeria, Leicester Mercury, NDTV Sports, 90Min, The Athletic, Premier League, Football Addict, Metro, Yahoo! Sports, LCFC.com, Sky Sports, The National

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save