“ปีใหม่ เสียงใหม่” วิธีฝึกร้องเพลงอย่างง่ายสำหรับมือใหม่ - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
“ปีใหม่ เสียงใหม่” วิธีฝึกร้องเพลงอย่างง่ายสำหรับมือใหม่

วันหยุดปีใหม่เป็นอย่างไรกันบ้างครับ? คงจะน้อยคนทีเดียวที่วันหยุดปีใหม่นั้นจะไม่ออกไปไหนเลยโดยเฉพาะไปปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง บางคนนั้นชอบออกไปผับที่มีคนมากๆ และโยกไปกับจังหวะเพลงด้วยกัน บางคนนั้นอาจจะไปผับหรือบาร์เล็กๆ มีดนตรีสดพร้อมกับเครื่องดื่มคู่ใจ หรือบางคนนั้นก็อาจจะไปคาราโอเกะกับเพื่อนฝูงหรือแค่นั่งกันอยู่หน้าบ้าน และมีกีตาร์หนึ่งตัวผลัดกันร้องผลัดกันเล่น ถ้าคุณเล่นดนตรีได้หรือร้องเพลงเพราะ ก็คงจะดีทีเดียว แต่ถ้าร้องไม่เพราะล่ะ? ก็พอจะเอาช้อนเคาะแก้วไปก่อนก็ได้

            แต่คุณจัดอยู่ในประเภทที่ว่าปาร์ตี้กี่ทีก็เอาช้อนเคาะแก้วทุกทีเพราะไม่มั่นใจในเสียงของตัวเองหรือเปล่า? ถ้าสังสรรค์กับเพื่อนฝูงแล้วเป็นเราที่ร้องเพลงไม่ได้เรื่องเลยนั้นเพื่อนฝูงก็คงไม่ว่าอะไรหรอก แต่เราเข้าใจว่าการร้องเพลงไม่เพราะนี่สามารถกลายเป็นปัญหาใหญ่ๆ ได้ในบางครั้งเลยนะ เช่นถ้าคุณมีงานเข้าสังคมในที่ทำงานของคุณแล้วคุณต้องร้องเพลง คุณคงภาวนาในใจว่าปล่อยผมไปเถอะ หรือถ้าผู้ชายอย่างเราจะจีบหญิงสักคนล่ะ? จะดีแค่ไหนถ้าผู้ชายอย่างเรามีสกิลร้องเพลงติดตัวเอาไว้

            เรารู้ว่าผู้ชายอย่างเราหลายๆ คนประสบปัญหาไม่มั่นใจในเสียงร้องของตนเอง และคุณก็ไม่รู้จะทำอย่างไรจะไปเรียนร้องเพลงก็ไม่มีเวลาบทความนี้จะช่วยให้คุณพัฒนาเสียงร้องของคุณให้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย โดยที่คุณไม่ต้องรู้เทคนิคการร้องเพลงมากเกินไปนักเราขอเสนอหลักไม่กี่อย่างที่จะเป็นพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ สำหรับทุกคนดังต่อไปนี้

1.พูดให้ชัด

แม้ว่าบางครั้งเราจะได้ยินเพลงบางเพลงที่นักร้องอาจจะร้องไม่ชัดบ้างแต่การร้องให้ชัดนั้นสำคัญมาก เพราะมันทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าคุณกำลังพูดอะไรอยู่ ยิ่งถ้าคุณอยากจะร้องเพลงภาษาอื่นๆ เช่นภาษาอังกฤษยิ่งต้องชัด(ขอให้นึกภาพฝรั่งที่พยามร้องเพลงไทยโดยที่ไม่ฝึกภาษาไทยเราก็คงไม่บอกว่าเพราะเช่นกัน) โดยเฉพาะถ้าคุณอยากจะร้องให้ใครฟังสักคนยิ่งต้องอยากให้เขาได้ยินสิ่งที่เราร้องชัดๆ ใช่ไหมล่ะ ไม่ต้องกลัวว่าร้องชัดเกินไปจะกลายเป็นร้องเหมือนหุ่นยนต์นะครับสไตล์มันฝึกฝนกันทีหลังได้

แม้ว่าเรามักจะไม่ต้องห่วงในข้อนี้กันมากนักโดยเฉพาะถ้าคุณจะร้องเพลงภาษาไทยแต่หากมีเหตุการณ์สำคัญใดๆ ที่คุณต้องร้องให้ดีให้ได้เราขอแนะนำให้คุณพยามฝึกพูดเนื้อเพลงก่อนเสมอ การฝึกพูดเนื้อเพลงก่อนนอกจากจะทำให้เราพูดชัดขึ้นแล้วยังเป็นการลดความประหม่าเมื่อถึงเวลาต้องร้องมันออกมาจริงๆ และยังทำให้เราเข้าใจเนื้อเพลงนั้นๆ มากขึ้นอีกด้วย นักร้องมืออาชีพหลายคนนั้นฝึกตีความเพลงด้วยวิธีนี้เสมอก่อนที่จะฝึกจริงโดยเฉพาะเมื่อนักร้องเหล่านั้นต้องประกวดหรือขึ้นเวทีสำคัญต่างๆ

2.จับจังหวะให้ได้

ส่วนใหญ่เราจะเข้าใจว่าการร้องเพลงนั้นร้องให้ถูกโน้ต และไม่เพี้ยนสำคัญที่สุด ซึ่งนั่นไม่จริงร้องให้ตรงจังหวะสำคัญกว่าเยอะ เพราะต่อให้เป็นนักร้องมืออาชีพแค่ไหน ก็อาจจะพลาดร้องเพี้ยนบ้างในบางครั้งเรื่องปกติครับ อย่างเราๆ เพี้ยนสักสองสามทีต่อเพลงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่จังหวะนั้นพลาดครั้งเดียวอาจทำให้เพลงล่มได้เลยวิธีเช็คจังหวะก็ง่ายนิดเดียว เริ่มจากลองฝึกร้องกับเพลงที่ชอบ เพลงอะไรก็ได้ บันทึกเสียงเอาไว้และลองเปิดฟังดูถ้าต้นประโยคเพลงเราร้องเหลื่อมกับเสียงร้องต้นฉบับอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะนำจังหวะเข้ามาก่อนหรือช้ากว่าจังหวะก็ตาม นั่นก็เข้าข่ายว่าจับจังหวะไม่ได้แล้วล่ะครับ

แต่วิธีแก้ไขนั้นไม่ได้ยากเลย จังหวะเหมือนเข็มนาฬิกาที่เราสามารถเดาได้แน่ๆ เข็มนั้นจะเดินเมื่อไหร่ คนปกติส่วนใหญ่นั้นมักรอให้ได้ยินเสียงร้องก่อนแล้วจึงค่อยร้องตามแต่นั่นเท่ากับว่าเราร้องช้ากว่าจังหวะจริงไปแล้วเรียบร้อยให้คุณพยายามฟังเสียงกลองให้ดีเสียงกลองชุดมักจะคอยใบ้ให้เราเสมอว่าเราควรจะต้องร้องตรงไหนด้วยวิธีที่นักดนตรีมักเรียกกันว่า“ลูกส่ง” ให้คุณเริ่มจากการฟังลูกส่งเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับสังเกตุเสียงร้องให้ดีจะทำให้เข้าใจจังหวะการร้องได้มากขึ้นดังนั้นการเริ่มฝึกจากเพลงที่มีเสียงของกลองชุดนั้นจะง่ายกว่าและเมื่อคุณมั่นใจมากขึ้น ลองกับเพลงที่ไม่มีเสียงกลองชุดดูแม้ว่าจะไม่มีเสียงกลองชุดอยู่แล้ว แต่คุณก็จะเข้าใจเสียงเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้ไม่ยากนัก

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งเมื่อต้องฝึกจับจังหวะคือความใจเย็นบางคนร้องๆ ไปสักพักก็เริ่มมีอินเนอร์กับเพลง และเริ่มที่จำร้องเร็วกว่าจังหวะจริงจนมีคำล้อเลียนที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า “นักร้องนำ(จังหวะ)” เราแนะนำให้ใจเย็นและค่อยๆ ร้องตามอย่างใจเย็น อย่าเพิ่งมีอินเนอร์มากนักในตอนฝึกและสำหรับบางคนที่การจับจังหวะเป็นปัญหาใหญ่การท่องเนื้อเพลงไปตามจังหวะเพลงก็ช่วยให้คุณโฟกัสอยู่กับจังหวะได้มากขึ้น โดยที่คุณยังไม่ต้องห่วงเรื่องเพี้ยนไม่เพี้ยน

3.ร้องตรงคีย์

เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่นั้นไม่มั่นใจที่สุดแต่เราอยากบอกทุกคนว่า เป็นเรื่องยากมากๆ ที่ใครสักคนนั้นจะมีปัญหาร้องเพี้ยนชนิดเกินเยียวยา และจริงๆ แล้วการร้องเพี้ยนนั้นมีที่มาที่ไป ซึ่งแก้ไขได้ไม่ยาก เรื่องแรกที่มักจะตกม้าตายกันบ่อยๆ คือ เลือกเพลงที่ไม่เข้ากับเสียงของเรา แม้ว่าจะเป็นเสียงผู้ชายเหมือนกันแต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วเราสามารถแบ่งประเภทเสียงของผู้ชายได้โดยสังเขปดังต่อไปนี้


เทเนอร์(Tenor)

เสียงชนิดนี้จะหมายถึงผู้ชายที่มักจะมีเนื้อเสียงเล็กและใสกว่าประเภทเสียงอื่น แต่มีโทนเสียงที่สูงที่สุด ยกตัวอย่างเช่นพี่ตูน Bodyslam, นะ Polycat หรือ Adam Levine เป็นต้น เทเนอร์จะมีสามารถร้องเสียงสูงได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องตะเกียกตะกายหรือต้องตะโกนออกมา แต่ถ้าต้องร้องเสียงต่ำ ๆ แล้วล่ะก็จะเสียเปรียบชาวบ้านเขาอย่างแรง

อย่างไรก็ดี เทเนอร์นั้นมีเพลงเท่ห์ๆ ให้ร้องโชว์ได้มากมาย เพลงของสิงโต นำโชคหรืออะตอม ชนกันต์นั้นไม่สูงจนเกินไปที่จะฝึกร้องสำหรับเทเนอร์หรือหากเริ่มมั่นใจในเสียงสูงของตนเองมากขึ้น เราขอแนะนำให้ฝึกเพลงของวงพอส หรือ Polycat ก็ไม่เลว Maroon 5 และ Sam Smith (บางเพลง) นั้นเหมาะมากที่จะใช้ฝึกร้องเสียงหลบแต่เราไม่แนะนำให้หัดเพลงของ Queen และ Bruno Mars เพราะนั่นยากประมาณนึงเลย

เพลงที่แนะนำ: อยู่ต่อเลยได้ไหม (สิงโต นำโชค), อ้าว(อะตอม ชนกันต์), พบกันใหม่ (Polycat),Lost Star (Adam Levine) และ I’m Not the Only One (SamSmith) เป็นต้น

บาริโทน (Baritone)

เป็นประเภทเสียงที่พบได้ทั่วไป จะมีเนื้อเสียงที่หนากว่าเทเนอร์ สามารถร้องเสียงสูงได้แต่อาจจะไม่สูงมากเท่าเทเนอร์ แต่ทำเสียงกลาง และต่ำได้ดีกว่า แม้ว่าจะเป็นประเภทเสียงที่พบได้ทั่วไป แต่ก็เป็นประภทที่มีความยืดหยุ่นสูง และร้องในย่านโน้ตเสียงกลางซึ่งเป็นโน้ตที่พบได้กับเพลงแทบจะทุกเพลง ตัวอย่างนักร้องเสียงบาริโทนเช่น โอ๊ต ปราโมทย์, Ronan Keating หรือ Frank Sinatra เป็นต้น

เพลงของพลพล และป้าง นครินทร์นั้นเหมาะมากๆ ที่จะนำมาเป็นเพลงไม้ตายของเรา แต่อย่าลืมความโรแมนติกในเพลงของโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ถ้าคุณจะไปร้องจีบใคร ส่วนสากลนั้น เพลงของ RonanKeating กับ Eric Clapton หลายๆ เพลงนั้นถูกนำมาใช้เป็นเพลงฝึกในการเรียนร้องเพลงบ่อยครั้ง และเราไม่แนะนำให้นำเพลงของ Frank Sinatra มาใช้งาน ยกเว้นว่าคุณจะถูกฝึกมาเป็นอย่างดี (และมันอาจจะเก่าเกินไปในหลายๆ สถานการณ์) ข้อสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่านักร้องบาริโทนส่วนใหญ่ที่มีชื่อเสียงนั้นล้วนถูกฝึกให้ร้องเสียงสูงได้อยู่แล้ว(เช่นโอ๊ต ปราโมทย์ เป็นต้น) ดังนั้นบาริโทนนั้นจำเป็นต้องเลือกเพลงอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เพลงๆ นั้นสูงเกินไปจนร้องไม่ไหว

เพลงที่แนะนำ: แค่มี (พลพล พลกองเส็ง), ได้ไหม(โต๋ ศักดิ์สิทธิ์), When You Say Nothing At All (RonanKeating) และ Wonderful Tonight (Eric Clapton) เป็นต้น

เบส (Bass)

ไม่ได้หมายถึงแค่ชนิดของเครื่องดนตรี แต่ยังหมายถึงเสียงผู้ชายที่มีโทนเสียงต่ำมากๆ ได้เช่นกัน ลักษณะของเสียงประเภทนี้จะมีเนื้อเสียงที่หนา และทุ้มที่สุด สามารถร้องโน้ตต่ำๆ ได้ดี แต่จะร้องเสียงสูงได้ยาก ตัวอย่างของนักร้องเสียงเบสเช่น ธีร์ ไชยเดช, Greasy Cafe Louis Armstrong เป็นต้น แม้ว่าเสียงประเภทนี้จะฝึกเสียงสูงได้ยาก แต่ว่ากันว่าเป็นประเภทเสียงที่ฟังแล้วโรแมนติก ดูเป็นผู้ชายอบอุ่นที่สุด

อันที่จริงแล้วนักร้องเสียงเบสนั้นค่อนข้างหายากในประเทศไทย ก็เลยมีเพลงให้เลือกน้อยตามไปด้วย อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปนั้นเบสและบาริโทนสามารถร้องเพลงที่ใกล้เคียงกันได้อย่างไม่ขัดเขิน และมักจะร้องได้สูงพอ ๆ กันหากไม่เคยผ่านการฝึกฝนมาก่อน แต่เพลงของธีร์ ไชยเดชนั้นก็เหมาะกับเสียงประเภทนี้จริง ๆ Greasy Café นั้นก็ไม่เลว ส่วนเพลงสากลนั้นคงหนีไม่พ้น Josh Turner นักร้องเพลงคันทรีที่มีเสียงต่ำเป็นเอกลักษณ์นั่นเอง และเราขอบอกว่า หากคุณมีทักษะด้านการฟังที่ดีพอจนคุณสามารถนำเพลงผู้หญิงมาร้องด้วยโทนเสียงของผู้ชายได้ล่ะก็ จะพบว่าเบสนั้นสามารถร้องได้สบาย ๆ แทบจะทุกเพลงเลยล่ะ (บาริโทนเช่นกัน)

เพลงที่แนะนำ: Home (ได้ทั้งเวอร์ชั่นของธีร์ ไชยเดชและบอย โกสิยพงษ์),ฤดูร้อน (เวอร์ชั่นของ Greasy Café), Your Man (Josh Turner)เป็นต้น

แน่นอนว่าเสียงทุกเสียงนั้นสามารถทำลายข้อจำกัดของตัวเองได้ทั้งหมดถ้าได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอแต่สำคัญว่าเราต้องรู้ว่าเสียงของเราอยู่ในประเภทใดเพราะเวลาที่เราเลือกเพลงที่จะร้อง เราจะร้องได้ง่ายกว่า และแก้ปัญหาเรื่องเสียงเพี้ยนได้ง่ายกว่า

แบบฝึกหัดที่ง่ายและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาร้องเพี้ยนคือการฝึก“ไถเสียง” เหมือนไถเสียงเครื่องบินที่กำลังบินขึ้นบินลงน่ะครับโดยเริ่มจากระดับเสียงไหนก็ได้ และทำการไถ (ทำเสียงฮูหรือฮาก็ได้) ไถขึ้นไปจนสุด และไถกลับลงมาให้ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ ลองทำซ้ำดูบ่อยๆ แบะจับความรู้สึกให้ได้ว่าเสียงสูงๆ ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร เสียงต่ำก็เช่นกันและลองกลับไปร้องเพลงโปรดของคุณอีกครั้งหนึ่ง เราจะรู้สึกว่าเราร้องตรงโน้ตมากขึ้นที่เป็นเช่นนี้เพราะ ความจริงแล้วเส้นเสียงของทุกคนนั้นมีศักยภาพมากกว่าที่เราคิดแต่เมื่อเวลาเรา “พูด” นั้น เราไม่ได้ใช้ศักยภาพของเส้นเสียงอย่างเต็มที่ทำให้คนส่วนใหญ่นั้นชินกับเสียงพูดมากเกินไปจนร่างกายไม่สามารถทำเสียงที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าช่วงเสียงปกติที่เราใช้พูดกันแบบฝึกหัดง่ายๆ นี้จะช่วยฝึกเส้นเสียงของเราเสียใหม่ว่า เอ้อ เราก็ทำได้นะ

และนี่ก็เป็นทริคง่ายๆ ที่จะทำให้เราร้องเพลงได้เพราะขึ้นชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว และมั่นใจที่จะร้องโชว์คนอื่นได้มากขึ้นแต่หากใครที่รู้สึกว่า จริงๆ เราก็ร้องได้นะ ไม่เพี้ยนด้วย จังหวะก็ตรงแต่ทำไมฟังแล้วไม่เห็นมันจะเพราะเลย ทำยังไงเราถึงจะร้องได้ดีเหมือนเรียนมาฉบับหน้าเราจะมาพูดกันต่อว่าเราจะทำอย่างไรให้เราร้องเพลงได้เพราะขึ้นเข้าไปอีกครับ

Text – Kuakul

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save