"ข่าวปลอม" ตัวการสำคัญในการบิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
“ข่าวปลอม” ตัวการสำคัญในการบิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

พี่แน็ปนักร้องนำวง Retrospect จริงๆแล้วเป็นผู้หญิงแต่ผ่าตัดกล่องเสียงและแปลงเพศให้เป็นผู้ชาย เพราะพี่ชายฝาแฝดเสียชีวิตหรือคอพังด้วยสาเหตุอะไรไม่ทราบ  น้องสาวฝาแฝดเลยปลอมตัวมาเป็นพี่แน็ปเพื่อเติมเต็มความฝันในวัยเด็กของทั้งสองคนให้สำเร็จ

ข่าวปลอมในตำนานเมื่อ 10 ก่อนที่คนได้ยินเรื่องราวครั้งนั้นวันนี้คงก้าวสูงวัยทำงานกันแล้ว บางคนก็อาจได้ยินรายละเอียดบิดเบือนไปจากนี้บ้างเล็กน้อยตามประสาข่าวลือ ไม่มีใครรู้ว่าต้นทางของข่าวปลอมนี้มันเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร แต่ทุกคนที่ได้รับสารต่างรับรู้ตรงกันว่าพี่แน็ปเป็นผู้หญิง

มองย้อนกลับไปก็นึกขำตัวเองว่าเชื่อไปได้ยังไงเป็นบ้าเป็นหลัง ทุกวันนี้ก็ยังมีคนเข้าใจผิดแบบนั้นอยู่ อาจฟังดูเป็นเรื่องตลกแต่ขนาดสมัยก่อนโซเชียลเน็ตเวิร์คยังไม่เติบโตเท่าปัจจุบันพลังของข่าวปลอมยังสามารถกระจายตัวได้ในวงกว้างขนาดนี้ แล้วเมื่อมาถึงยุคดิจิทัลที่โลกทั้งใบถูกเชื่อมต่อกันให้แคบลงด้วยโซเชียลมีเดียสื่อข่าวปลอมจะแพร่ระบาดไปขนาดไหน

สื่อข่าวกลายเครื่องมือสำคัญในการปลุกปั่นกระแสจนทั่วโลกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญที่ควรเร่งแก้ไขเพราะชีวิตประจำวันของใครหลายคนผูกพันอยู่กับการใช้โซเชียลในการอ่านข่าวหรือแชร์เรื่องราวต่างๆ  ลงบนบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเอง

https://www.bacalahmalaysia.com

สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีกลายเป็นปรากฎการณ์ข่าวปลอมที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เมื่อ Donald Trump คว้าชัยชนะเหนือ Hillary Clinton แบบพลิกความคาดหมาย ซึ่งผลการศึกษาของ Buzzfeed News ชี้ให้เห็นว่าช่วงสามเดือนสุดท้ายของการเลือกตั้งร้อยละ 85 ของข่าวปลอม 20 อันดับแรกมีการส่งต่อผ่าน Facebook มากที่สุดและทั้งหมดเป็นข่าวปลอมที่ส่งผลเสียต่อฮิลลารี่แต่ช่วยสร้างความเป็นต่อให้แก่ทรัมป์

กรณีข่าวปลอมในสหรัฐฯ ลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาสอบสวนเรื่องราวดังกล่าวหลังจากนั้น Facebook ,Google, Twitter ถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้ข่าวปลอมซื้อพื้นที่ลงโฆษณาทางการเมืองและเรียกร้องให้สามยักษ์ใหญ่แห่งโลกอินเตอร์เน็ตออกมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ครั้งนั้น

หลังๆทั้ง Facebook ,Google และ Twitter จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยพยายามสร้างกลไกตรวจสอบข่าวปลอมเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของข่าวปลอมที่กำลังแพร่ระบาดราวกับเชื้อไวรัสในหมู่ผู้ใช้ โดยเพิ่ม Third Party-Checker ช่องทางสำคัญที่ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าข่าวที่ปรากฎบน News Feed ผู้ใช้มีความจริงเท็จขนาดไหนในหลายประเทศ

https://www.nytimes.com

แต่ล่าสุดฝ่ายกฎหมายสภาอังกฤษออกมารายงานอย่างเป็นทางการว่า Facebook คือแหล่งแพร่กระจายข่าวปลอมและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแก้ปัญหา ทั้งยังระบุด้วยว่าการบิดเบือนข้อมูลที่ไม่รู้ว่าคนทำเป็นใครแถมยังมีการเจาะกลุ่มเป้าหมายชัดเจนนั้นเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ทางคณะกรรมการดิจิทัล, วัฒนธรรม, สื่อและการกีฬาของรัฐบาลอังกฤษใช้เวลากว่า 18 เดือนในการสืบสวนสถานการณ์ข่าวปลอมบน Facebook และติดตามความเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหา

แน่นอนว่าทุกคนคาดหวังให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคม มีความรับผิดชอบต่อเนื้อหาเผยแพร่และเริ่มลงมือจัดการกับปัญหาข่าวปลอมอย่างจริงจัง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และวิธีการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันก็ยังมีช่องโหว่ที่ผู้สร้างข่าวปลอมสามารถหลบหลีกการตรวจจับของผู้ให้บริการได้

เลือกตั้ง 62 กับข่าวปลอมปั่นกระแส ปลุกความขัดแย้ง

https://twitter.com/newtv_18/status/1094797079669403648

สถิติของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่าคนไทยท่องอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง และผลสำรวจจากแหล่งเดียวกันระบุว่าปัญหาที่กวนใจคนเล่นเน็ตเป็นเรื่องข่าวและข้อมูลปลอม โดยข้อมูลเท็จและการปลุกปั่นเหล่านั้นมักเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ศาสนา รวมถึงการเมืองแบบ Post-truth politics หรือ การแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองโดยเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง เนื้อความที่ถกเถียงกันมักออกทะเลและไม่ตั้งอยู่บนนโยบายทางการเมืองหรือข้อเท็จจริง

เมื่อถึงช่วงเลือกตั้งการใช้ข่าวปลอมเพื่อดิสเครดิตอีกฝ่ายอย่างที่ทุกภาคส่วนกลัวก็เกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ข่าวสารจำนวนมากในขณะนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนบางกลุ่มเกิดความเข้าใจผิดหรือทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งหากใครตามข่าวก็จะรู้ว่าพรรคที่กำลังโดนข่าวปลอมโจมตีอย่างหนักในขณะนี้เป็นพรรคสีส้มที่กระแสกำลังมา โดยเป็นการตัดข้อความบางส่วนจากการให้สัมภาษณ์ของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคแก่สื่อต่างๆ มาบิดเบือนความจริงเพื่อให้เกิดกระแสด้านลบ

https://twitter.com/search

สถานการณ์การหาเสียงเลือกตั้งกำลังเดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งจริงในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แน่นอนข่าวปลอมก็คงหลั่งไหลมาเรื่อยๆ และอาจสิ่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใครสักคน ถึงผู้ให้การบริการสื่อสังคมต่างๆ จะมีส่วนสำคัญในการเป็นพื้นที่เผยแพร่ข่าวปลอม แต่การผลักความรับผิดชอบให้ผู้บริการทั้งหมดนั้นไม่อาจแก้ปัญหาข่าวปลอมให้หมดไปได้เพราะการไลค์ การแชร์ การรีทวีตก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ข่าวปลอมกระจายตัวจากแค่กลุ่มหนึ่งออกไปสู่วงกว้างจนเป็นกระแสขึ้นมา

ดังนั้นหากรู้สึกว่าพาดหัวข่าวดูเว่อร์เกินจริง ชวนคลิกเข้าไปอ่านหรือข้อมูลไม่ได้มาจากแหล่งข่าวน่าเชื่อถือชั่งใจสักนิดหนึ่งว่า “ข่าวปลอมหรือเปล่า” ก่อนสนับสนุนคนกลุ่มนั้นด้วยการแชร์ต่อ

Source : 1|2|3|4|5|6

Suthamat
The girl with flowers tattoo

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save