เจาะโปรแกรมหฤโหด และการเบรกหนีหนาวไม่เหมือนใครของพรีเมียร์ลีก - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
เจาะโปรแกรมหฤโหด และการเบรกหนีหนาวไม่เหมือนใครของพรีเมียร์ลีก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบอลลีกสูงสุดแดนผู้ดี หรือพรีเมียร์ลีก เป็นลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบ้านเรา ด้วยความคุ้นเคยที่มีมาช้านาน กับสไตล์การเล่น และกับทีมสโมสรที่มีแฟนบอลมากมาย ซึ่งพาลทำให้เราคุ้นชินไปกับธรรมเนียมต่างๆ ของเขาไปด้วย

ภาพการลงเล่นในช่วง ธ.ค. หนาวเหน็บ ที่คุ้นตาแฟนบอลพรีเมียร์ลีก
(Source : The Sun)

อย่างเรื่องของการ “เบรกหนีหนาว” ซึ่งฟุตบอลลีกอังกฤษมีความพิเศษแตกต่างกับลีกชั้นนำอื่น ตรงที่พี่เขาไม่เคยจะเบรกให้ได้พักผ่อนกันเลย แม้อาการจะหนาวเหน็บ หรือเป็นช่วงเทศกาลที่คนเขาหยุดกันก็ตาม

เบรกหนีหนาวคืออะไร?

เกริ่นให้เข้าใจกันก่อน เผื่อใครไม่คุ้นเคยกับบอลลีกอื่นๆ ว่าในช่วงฤดูหนาวของยุโรป โดยเฉพาะช่วงเดือน ธ.ค. – ม.ค. อากาศมันจะหนาวเป็นพิเศษ อุณหภูมิบางที่ไม่ใช่แค่เป็นเลขตัวเดียว มีติดลบเสียด้วยซ้ำ ยังไม่นับพวกหิมะ ที่มักจะโปรยปรายลงมาเป็นอุปสรรคต่อการเล่น

ประเทศที่อากาศหนาวไม่ต่างกับอังกฤษ อย่างเยอรมัน เบรกที 3 สัปดาห์
(Source : Bundesliga)

ตัดพวกประเทศที่หนาวจับใจ อย่างพวกสแกนดิเนเวีย ที่เขยิบตารางบอลลีกไปเตะ เม.ย. ถึง พ.ย. เลี่ยงหน้าหนาวไปเลย เหล่าลีกใหญ่ในประเทศชั้นนำ ก็จะมีเบรกหนีหนาวกันทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศเลวร้าย ที่เป็นทั้งอุปสรรคต่อคนมาเตะ และคนมาดู

ยกตัวอย่างเช่น เยอรมัน ที่อากาศหนาวไม่แพ้อังกฤษ พวกเขาจะเบรกหนีหนาวกันช่วงปลายเดือน ธ.ค. ถึงเกือบกลาง ม.ค. เป็นเวลาราว 3 สัปดาห์, อิตาลีจะเบรกช่วงต้นเดือน ม.ค. เป็นเวลาราว 2 สัปดาห์ ส่วนสเปนที่อากาศไม่หนาวเท่า ก็ยังเบรกช่วงปลายเดือน ธ.ค. ถึงต้น ม.ค. เป็นเวลาประมาณ 10-12 วัน

เหตุผลที่เบรกหนีหนาว?

แน่นอนว่าเหตุผลหลัก คือเรื่องของสภาพอากาศที่เลวร้าย และเป็นอุปสรรคต่อการเล่น แต่ก็มีเหตุผลรอง ที่หลายมุมมองคิดว่ามันมีประโยชน์ต่อภาพรวมต่อทีมชาติ และตัวนักเตะ

นักเตะทีมชาติอังกฤษ ที่ว่ากันว่ากรำศึกหนักมากกว่าชาติอื่นๆ
(Source : talkSPORT)

ก็เพราะนักเตะต้องกรำศึกหนักมาตลอดปี ซีซั่นนึงเริ่มราวๆ เดือน ส.ค. กว่าจะไปจบก็เดือน พ.ค. อีกปีนึง พักแป๊บๆ ประมาณกลางหรือปลาย ก.ค. ก็ต้องมาเตรียมทีมซีซั่นใหม่แล้ว ยังไม่รวมที่บางปีมีทัวร์นาเมนท์ใหญ่ อย่างบอลโลกหรือบอลยูโร ที่จะทำให้เวลาพักสั้นลงไปอีก

ดังนั้นแล้ว การเบรกหนีหนาว จึงเป็นเหมือนการปิดเทอมเล็ก ให้นักเตะได้พักแข้งพักขา นอกจากสโมสรจะได้ประโยชน์ ทีมชาติเองก็ที่มักมีนักเตะส่วนใหญ่ค้าแข้งอยู่ในประเทศ ก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วย

สองอดีตกุนซือต่างชาติของทีมชาติอังกฤษ ทั้งคาเปลโล่ และอีริคส์สัน ที่บอกอังกฤษควรเบรกหนีหนาว
(Source : Zimbio)

ประเด็นนี้ ถูกยกเอามาพูดเช่นกัน เมื่อมีการถกประเด็นว่าอังกฤษควรมีเบรกหนีหนาวซักที เพราะสาเหตุนักเตะกรอบเป็นข้าวเกรียบ เป็นปัจจัยที่ทำให้ทีมชาติพวกเขา ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ทำไมอังกฤษ ไม่เบรกหนีหนาว?

ประเด็นคลาสสิกที่ผู้เกี่ยวข้องพูดกัน นั่นคือมันเป็น “ธรรมเนียมปฏิบัติ” ซึ่งแน่นอนว่ามันสอดคล้องกับความเป็นอังกฤษ ที่หลายสิ่งหลายอย่าง มักจะเป็น “อุนรักษ์นิยม”

การเตะตะบี้ตะบันในช่วงเดือน ธ.ค. ต่อไปจนถึงต้นเดือน ม.ค. จึงปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เพราะฟุตบอลถือเป็นกีฬาประจำชาติ ที่ผู้คนแดนผู้ดีดูกันได้ทุกเพศทุกวัย จึงไม่แปลกที่มันเปรียบเสมือน “กีฬาครอบครัว” ที่พ่อหรือแม่จูงลูก จูงหลาน เข้ามาชมเกมเป็นประจำ

ฟุตบอลจัดเป็นกีฬาครอบครัวของชาวอังกฤษ ที่สร้างความบันเทิงทุกเพศทุกวัย
(Source : Premier League)

เมื่อเป็นกีฬามหาชน มันก็เหมือนเป็นสิ่งสร้างความบันเทิงไปในตัว ยิ่งวันหยุดเทศกาลสำคัญ ยิ่งเหมาะจะเป็นกิจกรรมครอบครัว จนกลายเป็นไฟต์บังคับที่จะต้องมีแมทช์ในวัน Boxing Day (26 ธ.ค. วันแกะของขวัญ) หรือวันขึ้นปีใหม่ ที่ประเทศอื่นเขาไม่เตะกัน

และยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนไป ความบันเทิงก็ผูกพันกับเรื่องธุรกิจไปในตัว จึงไม่แปลกที่ช่วงปลายปี ตั๋วและยอดผู้ชมการถ่ายทอดสดจะสูงขึ้นกว่าปกติ เพราะนอกจากลีกอื่นจะไม่เตะตรงวันกับพรีเมียร์ลีกแล้ว ฝรั่งเขาก็หยุดงานกันตั้งแต่คริสต์มาส เรียกว่าพร้อมมาชมเกมเต็มที่ วันไหนขอให้บอก

ช่วงปลายปี ถือเป็นช่วงดูบอลที่สนุก และเอ็นจอยกับเทศกาล ของชาวอังกฤษ
(Source : News Wire Fax)

นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลด้านโปรแกรมการแข่งขัน ที่ทีมในลีกอังกฤษ มีจำนวนสโมสรมากกว่าประเทศอื่น (พรีเมียร์ลีก 20 ทีม บางประเทศมีแค่ 18 ทีม หรือแชมป์เปียนชิพลงไป มีถึง 24 ทีม) โปรแกรมการลงเตะจึงเยอะเป็นพิเศษ

หลายคนสงสัย ว่าอย่างลา ลีก้า ก็มี 20 ทีมหนิ ทำไมเขายังเบรกหน้าหนาวได้? คำตอบก็คือ ลา ลีก้า ใช้วิธีมีแมทช์มิดวีคมากกว่าพรีเมียร์ลีก ซึ่งจะว่าไปพรีเมียร์ลีกก็น่าจะทำได้ เพียงแต่มันติดข้อแม้หลักๆ อยู่ 2 ข้อ

อย่างแรก คือทีมพรีเมียร์ลีก ต้องลงเตะบอลถ้วยในประเทศถึง 3 ถ้วย ยังไม่รวมบอลยุโรปที่หลายทีมต้องลงเล่นเพิ่ม อย่างที่ 2 ก็คือ ลีกผู้ดีมีช่วงเทศกาลเตะถี่ปลายปีให้ต้องหาแมทช์ลงเล่นอยู่แล้ว ดังนั้นก็ยัดมันตรงนั้นแหละ ตาม “ธรรมเนียมปฏิบัติ” กันมา

ที่ว่าถี่ มันถี่แค่ไหนกัน?

ไม่ต้องยกตัวอย่างไปไกล เรามาดูที่ซีซั่นนี้นี่แหละ ว่าแต่ละทีมต้องลงเตะถี่ยิบแค่ไหนกันในช่วงปลายปี

ทีมที่ตกรอบลีก คัพ ไปแล้วอย่างบอร์นมัธ ยังต้องลงเล่นเน้นๆ ช่วงนี้ ถึง 8 แมทช์
(Source : FantasyBet)

ยกตัวอย่างทีมที่ไม่ต้องเล่นฟุตบอลถ้วยเลยในเดือนนี้ อย่างบอร์นมัธ ตลอดปฏิทินเดือน ธ.ค. – ต้น ม.ค. พวกเขาต้องเตะทั้งหมด 8 แมทช์ เยือนพาเลซ (4 ธ.ค.), เหย้าลิเวอร์พูล (7 ธ.ค.), เยือนเชลซี (14 ธ.ค.), เหย้าเบิร์นลี่ย์​ (21 ธ.ค.), เหย้าอาร์เซน่อล (26 ธ.ค.), เยือนไบรท์ตัน (28 ธ.ค.), เยือนเวสต์แฮม (1 ม.ค.) บวกด้วยเอฟเอ คัพ รอบ 3 (รอบแรกที่ทีมพรีเมียร์ลีกลงเล่น) ในวันที่ 4 ม.ค.

สังเกตว่าช่วงที่ถี่ยิบคือปลายปี เพราะอังกฤษเขาปักไว้ว่า 26 ธ.ค. ต้องมีแมทช์ลงเล่นไม่ว่าจะตรงวันไหนก็ตาม ปีนี้มันเป็นวันพฤหัส ทำให้มีช่องห่างจากแมทช์ก่อนหน้า (เสาร์ 21 ธ.ค.) มากหน่อย แต่ก็จะไปติดกับแมทช์ถัดไป (เสาร์ 28 ธ.ค.) กลายเป็นเตะวันเว้นวันไป

ฝั่งลิเวอร์พูล พวกเขาต้องขาดฟาบินโญ่ และลงเล่นช่วงนี้ถึง 11 แมทช์
(Source : Diario AS)

แล้วถ้าลองไปมองทีมที่มีถ้วยอื่น เช่น สเปอร์จะมีทั้งหมด 9 แมทช์ (เพิ่ม UCL 1 แมทช์), แมนฯ ซิตี้จะมีทั้งหมด 10 แมทช์ (เพิ่ม UCL 1 แมทช์ และคาราบาว คัพ 1 แมทช์) ส่วนลิเวอร์พูล แม้จะมีพรีเมียร์ลีก 1 แมทช์เลื่อนไป เพราะพวกเขาไปเตะสโมสรโลก แต่รวมแล้วต้องลงเล่นทั้งหมด 11 แมทช์ (เพิ่ม UCL 1 แมทช์, คาราบาว คัพ 1 แมทช์ และสโมสรโลก 2 แมทช์)

นั่นเป็นเหตุผลที่ลิเวอร์พูล และลีก คัพ ไม่สามารถหาช่องลงของโปรแกรมรอบ 8 ทีมกับวิลล่าได้ จนสุดท้าย “หงส์แดง” ต้องยอมเตะ 2 แมทช์ที่ห่างกันไม่ถึง 24 ชั่วโมง ใน 2 ทวีป โดยการยอมแบ่งทีมออกเป็น 2 ชุด อย่างที่เป็นข่าวครึกโครม

รู้หรือไม่? ปีนี้พรีเมียร์ลีกมีเบรกหนีหนาวแล้ว!?!

หลังมีการถกประเด็นเรื่องนี้มานานหลายปี ว่าถึงเวลาหรือยัง ที่บอลลีกผู้ดีควรจะต้องมีเบรกหนีหนาวกะเค้า เพื่อช่วยให้นักเตะไม่กรอบ และการแข่งขันไม่ต้องเจอกับช่วงที่อากาศเป็นอุปสรรค สุดท้ายพรีเมียร์ลีก ก็หล่นไอเดียเบรกหนีหนาวแบบไม่เหมือนใครออกมา

ไอเดียที่ว่า ไม่ใช่กันเบรกหยุดแข่งขันไป 2-3 สัปดาห์เหมือนกับประเทศอื่น แต่เป็นการ “สลับสัปดาห์เตะ” แถมยังเกิดในช่วงเดือน ก.พ. อีกต่างหาก!?!

10 แมทช์ในนัดที่ 26 ซึ่งจะกลายเป็นการเบรกหนีหนาวครั้งแรก
(Source : Fantasy Premier League)

การเบรกหนีหนาวในซีซั่น 2019/20 พรีเมียร์ลีกหยอดเอาไว้ในการแข่งขันนัดที่ 26 ของซีซั่น ซึ่งจะเตะกันในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2020 นู่นแน่ะ

โดยการแข่งขันทั้งหมด 10 แมทช์ จะแบ่งออกเป็นเตะเสาร์-อาทิตย์ ที่ 8-9 ก.พ. 5 แมทช์ และเตะเสาร์-อาทิตย์ ที่ 15-16 ก.พ. อีก 5 แมทช์

นั่นทำให้แต่ละทีมมีโอกาสพักราว 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าเตะนัดที่ 26 ก่อนค่อยพัก หรือจะพักก่อนเตะนัดที่ 26

การเลือกวิธีนี้ หลายคนมองว่า นักเตะมันก็ต้องซ้อมอยู่ดี ได้พักจริงๆ สั้นมากๆ
(Source : Reuters)

ซึ่งการเบรกหนีหนาวแบบใหม่นี้ จะใช้กับโปรแกรมของพรีเมียร์ลีกเท่านั้น ลีกรองลงไปยังคงเตะกันเหมือนเดิม เพราะมีถึงดิวิชั่นละ 24 ทีม โปรแกรมเตะแน่นมาก เกินกว่าจะขยับได้

และแน่นอนว่า การเตะในช่วงที่ “หนาวจริงๆ” ของซีซั่นอย่างเดือน ธ.ค. จนถึงต้น ม.ค. ก็ยังจะโม่แข้งกันถี่ยิบเช่นเคย ไม่เปลี่ยนแปลง

โปรแกรมโหดซีซั่นนี้ มีอะไรน่าดูบ้าง?

นอกเหนือจากเป็นเดือนที่เปรียบเสมือนให้กำไรแฟนบอล เพราะเตะกันถี่ยิบ ยังถือเป็นการเดินทางสู่ครึ่งทางของฤดูกาล ซึ่งเราจะเห็นรูปร่าง และตำแหน่งของแต่ละทีมชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าจะลงเอยแบบไหน

คู่บี้แชมป์ ยังไงก็ไม่พ้นแมนฯ ซิตี้ กับลิเวอร์พูล ที่เราน่าจะเห็นชัดเจนขึ้นว่า ช่องว่างจะต่างกันแค่ไหน

ช่วงโปรแกรมโหด จะเป็นการพิสูจน์ว่าเลสเตอร์ จะยืนระยะได้แค่ไหน
(Source : Foxes of Leicester)

ทีมที่ตามมาอย่างเลสเตอร์ และเชลซี เราจะได้เห็นว่าพวกเขายืนระยะได้ดีแค่ไหน จะกลายเป็นผู้ท้าชิงแชมป์ในช่วงครึ่งหลังของซีซั่น และเป็นผู้ท้าทาย Top 4 อย่างขันแข็ง จริงหรือเปล่า

ทีมที่ฟอร์มลุ่มๆ ดอนๆ ก่อนหน้านี้ อย่างสเปอร์, แมนฯ ยู และอาร์เซน่อล จะยกระดับผลงานขึ้นมาได้แค่ไหน เช่นเดียวกับพวกลงทุนไม่น้อยอย่างเวสต์แฮม กับเอฟเวอร์ตัน ที่ยังอยู่ไกลจากเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้ต้นฤดูกาล

เราจะได้ชม “แมนเชสเตอร์ ดาร์บี้” ที่มีผลต่อทั้งเป๊บ และโอเล่
(Source : Hindustan Times)

ถัดจากนั้น ลูกทีมของ “เป๊บ กวาดิโอล่า” ต้องออกไปเยือนอาร์เซน่อล ยุคลุงก์เบิร์ก ในวันที่ 15 ธ.ค. ก่อนจะเปิดบ้านพบกับม้ามืดเลสเตอร์ ในวันที่ 22 ธ.ค. ถือเป็นงานหนักติดๆ กันของแชมป์เก่า

“จิ้งจอกสยาม” เองก็ใช่ย่อย หลังต้องไปเยือนซิตี้ พวกเขาต้องพิสูจน์ตัวเองต่อเนื่อง เมื่อ “เบรนแดน ร็อดเจอร๋ส” ต้องพาลูกทีมเปิดบ้านรับลิเวอร์พูล ในคืนวันศุกร์ที่ 27 ธ.ค.

ปิดท้ายปี 2019 ด้วย “ลอนดอน ดาร์บี้แมทช์” ที่อาร์เซน่อล เปิดรังเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม รับการมาเยือนของเชลซี ในวันที่ 29 ธ.ค. ซึงน่าจะเป็นจุดพิสูจน์ว่า “แฟรงค์ แลมพาร์ด” จะพาทีมไปได้ไกลแค่ไหน

“เฟร็ดเดริก ยุงก์เบิร์ก” ในบทกุนซือรักษาการณ์ ที่ต้องเจองานหนักเพียบ
(Source : 90Min)

ยังไม่รวมถึงการเอาใจช่วยให้ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์สโมสรโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร โดยพวกเขาต้องลงเล่นรอบรองชนะเลิศ ในวันที่ 18 ธ.ค. ต่อด้วยแมทช์ชิงแชมป์ (หรือชิงที่ 3) ในอีก 3 วันให้หลัง ที่ประเทศกาตาร์

Picture : The Week UK, Fantasy Premier League, The Sun, Bundesliga, talkSPORT, Zimbio, Premier League, News Wire Fax, FantasyBet, Diario AS, Reuters, Foxes of Leicester, Hindustan Times, 90Min

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save