“อาดา เฮเกเบิร์ก” แข้งสาวเบอร์ 1 ผู้ปฏิเสธฟุตบอลโลก - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
“อาดา เฮเกเบิร์ก” แข้งสาวเบอร์ 1 ผู้ปฏิเสธฟุตบอลโลก

สำหรับฟุตบอลชาย หลังฟุตบอลยุโรปรูดม่านปิดฤดูกาลไป ก็มีเพียงฟุตบอลรอบคัดเลือกทีมชาติให้ได้ติดตามกันเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่โคปา อเมริกา และแอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ จะโม่แข้งให้ได้เป็นน้ำจิ้ม ก่อนฤดูกาลใหม่จะเปิด ก็ต้องรอ ส.ค. นู่น

แต่สำหรับฟุตบอลหญิงแล้ว ช่วงเดือน มิ.ย. นี้ เป็นการโม่แข้งทัวร์นาเมนต์สำคัญ อย่างฟุตบอลโลก ซึ่งแม้ฟุตบอลโลกของพวกเธอ จะไม่ได้รับความนิยม และมีเงินรางวัลสูงเท่าของผู้ชาย แต่ในมุมมองของแข้งสาวแล้ว ถือเป็นโอกาสยิ่งใหญ่ ที่จะได้แสดงให้เห็นว่ากีฬาของพวกเธอ ก็สนุกและตื่นเต้นไม่แพ้กัน

ฟุตบอลโลกหญิงที่ฝรั่งเศส เป็นทัวร์นาเมนต์สำคัญที่สุดในชีวิตของเหล่า “ชบาแก้ว” เช่นกัน

อย่างนักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยของเรา นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่พวกเธอได้หลุดเข้ามาถึงรอบสุดท้ายนี้ การแข่งขันที่ฝรั่งเศส จึงเป็นเหมือนความฝันครั้งใหญ่ ที่หวังจะทำให้ดีที่สุดอีกครั้ง แม้โดยฝีเท้าแล้ว เราต้องยอมรับว่ายังห่างหลายทีมอยู่มากก็ตาม

และหากจะพูดถึงนักฟุตบอลหญิงที่ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ คนที่อยู่ในทีมที่ไม่ผ่านการคัดเลือก หรือคนที่ได้รับบาดเจ็บ คงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ

แต่กับนักฟุตบอลที่ชื่อ “อาดา เฮเกเบิร์ก” ที่เป็นถึงนักฟุตบอลหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล “บัลลงดอร์” เมื่อปีที่ผ่านมา มันน่าเซอร์ไพรส์ ที่ไม่มีเธออยู่โชว์ฝีเท้าที่ฝรั่งเศส ทั้งที่เธอฟิตพร้อม และระเบิดตาข่ายเป็นว่าเล่นในระดับสโมสร

“อาดา เฮเกเบิร์ก” แข้งสาวนอร์เวย์ ผู้คว้าบัลลงดอร์ฝ่ายหญิง เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์

“อาดา เฮเกเบิร์ก” เป็นกองหน้าสาวชาวนอร์เวย์ ปัจจุบันเธออายุแค่ 23 ปี แต่กวาดเกียรติยศส่วนตัวมามากมายจนนับไม่ถ้วน

นอกเหนือจากเป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้าบัลลงดอร์ ซึ่งพึ่งจัดให้กับฝ่ายหญิงเมื่อปีที่แล้ว เธอยังคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก มาแล้ว 4 สมัยซ้อนกับโอลิมปิก ลียง ทีมเบอร์ 1 ของแข้งสาวยุโรป แถมยังมีแชมป์ลีกเอิงหญิง 5 สมัยซ้อน และแชมป์เฟรนช์ คัพ อีกถึง 4 สมัย

อาดา ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ “โอลิมปิก ลียง” กวาดแชมป์มามากมาย

สถิติการยิงประตูส่วนตัวก็เข้าขั้นมหาโหด รวมตลอดการค้าแข้งระดับสโมสร เล่น 254 นัด ยิง 255 ประตู กับลียง เธอลงเป็นยิง 165 นัด ซัดไป 193 ประตู ครองตำแหน่งดาวซัลโวลีกเอิง มาตลอด 3 ซีซั่นหลังสุด

กับทีมชาตินอร์เวย์เอง เธอลงเล่นให้ทีมชาติชุดใหญ่ตั้งแต่อายุ 16 และด้วยฝีเท้าที่หาตัวจับยาก ทำให้เธอกลายเป็นตัวหลักของทีมตั้งแต่ยังเด็ก ทำสถิติยิง 38 ประตู จากการรับใช้ชาติเพียง 66 นัด ก่อนเส้นทางทุกอย่างยุติลงเมื่อปี 2017 หลังเธอตัดสินใจขอเบรคจากการเล่นทีมชาติ อย่างไม่มีกำหนด

อาดา ขอหยุดเล่นทีมชาตินอร์เวย์อย่างไม่มีกำหนด ในปี 2017 จากเหตุไม่พอใจสมาคมฟุตบอล

เหตุผลหลักที่อาดา ขอพักจากการเล่นทีมชาติ คือเธอไม่พอใจสมาคมฟุตบอลนอร์เวย์ ที่ดูแลนักฟุตบอลทีมชาติหญิง ไม่เท่าเทียมกับทีมชาย

แม้ต่อมา สมาคมจะพิจารณาเพิ่มค่าใช้จ่ายให้นักฟุตบอลหญิงมากเป็น 2 เท่า เพื่อให้เท่าเทียมกับทีมชาย แต่อาดา ก็ยังคงปฏิเสธการกลับไปติดทีมชาติ โดยระบุว่าข้อเรียงร้องของเธอไปไกลกว่านั้นมาก

ภาพอาดา ในสีเสื้อทีมชาตินอร์เวย์ ที่ไม่รู้ว่าจะได้เห็นอีกครั้งเมื่อไหร่

อาดา เคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอพยายามเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในแวดวงฟุตบอลของนอร์เวย์ ไม่เพียงแต่ค่าจ้างที่สมาคมมาเพิ่มเติมให้ เธอยังมองเห็นว่า สมาคมควรมีความจริงจัง ในการลงทุนพัฒนาฟุตบอลหญิง ให้มีมาตรฐานดีขึ้นเหมือนฟุตบอลชาย

และจากการยืนกรานจะไม่กลับไปรับใช้ชาติ ก็ทำให้ฟุตบอลโลกหญิง 2019 ต้องขาดนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลกไปโดยปริยาย

“มาร์ติน ออเดการ์ด” ทีมชาตินอร์เวย์ชาย หนึ่งในคนที่ออกมาวิจารณ์การตัดสินใจของอาดา

แม้การกระทำของเธอ จะดูมีหลักการเพื่อส่วนรวม แต่ก็มีหลายเสียงออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วย อย่างเช่น “อเล็กซี่ ลาลาส” อดีตกองหลังทีมชาติสหรัฐฯ ทีมชาย ที่ออกมาบอกว่า มันน่าเสียดาย ที่อาดาไม่ใช้โอกาสนี้บอกคนทั่วโลก ให้เข้าใจฟุตบอลหญิงมากขึ้น ผ่านผลงานในศึกสำคัญที่สุดอย่างฟุตบอลโลก

หรือ “มาร์ติน ออเดการ์ด” มิดฟิลด์เรอัล มาดริด และทีมชาตินอร์เวย์ชาย ก็ออกมาบอกทำนองว่า จะมีอะไรน่าภาคภูมิใจไปกว่าการรับใช้ชาติในฟุตบอลโลก พร้อมกับบอกว่าเพื่อนร่วมทีมของอาดา ควรได้รับการเคารพ ที่ดีกว่าการตัดสินใจแบบนี้ของเธอ

เพื่อขยายความต่ออีกหน่อย ว่าทำไมอาดา ถึงยืนหยัดเรียกร้อง “ความเท่าเทียม” ขนาดนั้น ทุกอย่างมันย่อมมีที่มา และไอเดียต่างๆ มันย่อมมีแรงบันดาลใจ ซึ่งสำหรับอาดาแล้ว มันน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก

อาดา กับพี่สาว “อันดริเน่” ผู้ซึ่งเริ่มเล่นฟุตบอลด้วยกัน ตั้งแต่เด็กจนโต

ในยุคก่อนปี 2000 ฟุตบอลหญิงเริ่มเป็นที่รู้จัก แต่ก็ยังไม่ได้พัฒนาแบบทุกวันนี้ (การแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกของฟีฟ่ารอบสุดท้ายครั้งแรก จัดปี 1991) อาดาที่เกิดในปี 1995 เริ่มเล่นฟุตบอลตามพี่สาว “อันดริเน่ ฮาเกเบิร์ก” กับทีมเยาวชนของ “ซันน์ดาล ฟุตบอล” ร่วมกับเด็กผู้ชาย เพราะสมัยก่อนในระดับเด็กๆ ยังไม่มีการแบ่งประเภทชาย-หญิง กันชัดเจน

เธอ และพี่สาว เติบโตมาในเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึงหมื่นคน อาดาเริ่มฝึกฟุตบอล และลงแข่งฟุตบอลตอนเด็กในทีมที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย แต่ท่ามกลางเด็กชาย ทีมก็มีอันดรีเน่เป็นกัปตัน แถมมีแม่ของเธอเป็นโค้ชอีกต่างหาก เรียกว่าจะชาย หรือหญิง ไม่มีแบ่งแยก ทุกคนเท่าเทียมกัน ตัดสินกันตามความสามารถ

สองพี่น้อง “เฮเกเบิร์ก” คู่หูคนเก่งตั้งแต่เยาวชน ทั้งระดับสโมสร และทีมชาติ

เมื่อทั้ง 2 สาว เริ่มมีแวว และพัฒนาฝีเท้า จนได้ขึ้นมาเล่นลีกผู้หญิง ระดับสูงสุดในนอร์เวย์ อาดา ก็เริ่มมีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่ตามรอยพี่สาว

เธอคิดอยู่เสมอว่า “เธอกำลังเล่นฟุตบอลเป็นอาชีพ” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดูเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะฟุตบอลหญิงยังห่างไกลจากความเป็นลีกอาชีพแบบฟุตบอลชายมาก หลายต่อหลายประเทศ ฟุตบอลหญิงยังเป็นแค่ลีกกึ่งอาชีพ ที่ทุกคนต้องมีงานประจำหารายได้ไปด้วย

อาดา ในสีเสื้อของ “สตาบีค” ทีมชั้นนำลีกนอร์เวย์ ที่เธอคว้าแชมป์บอลถ้วย ตั้งแต่อายุ 17

ฝีเท้าที่ฉกาจฉกรรจ์ของเธอ ทั้งการทำสถิติเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุด (อายุ 16 ปี) ที่ทำแฮททริค ในลีกผู้หญิงระดับสูงสุดของนอร์เวย์, เป็นนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมของลีกตั้งแต่ปีแรกที่เล่นทีมชุดใหญ่ หรือการเป็นดาวซัลโวของลีกนอร์เวย์ ในปีที่ 2 ที่ลงเล่น (อายุ 17 ปี) ทำให้เธอได้มีโอกาสย้ายไปค้าแข้งในเยอรมัน พร้อมกับพี่สาว ก่อนจะฉายเดี่ยว ย้ายไปร่วมทีมลียง ทีมชั้นนำของยุโรปในเวลาต่อมา

การย้ายมาร่วมทีม “โอลิมปิก ลียง” ตั้งแต่ปี 2014 ทำให้เธอประสบความสำเร็จระดับสูง

ฟอร์มการเล่นที่ไม่หยุดพัฒนาของอาดา ช่วยให้เธอระเบิดฟอร์มพังประตูกับลียง แบบไม่ต้องรอการปรับตัว ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักร่วมกับเหล่านักเตะฝรั่งเศสอย่าง เว็นดี้ เรนาร์, อมานดีน อองรี, ยูจิเน่ ลา มาซ็อง และแนวรุกอันตรายชาวเยอรมัน เด็นนิเฟอร์ มารอซซาน (เจ้าของอันดับ 3 บัลลงดอร์ 2018)

นอกเหนือจากแชมป์ที่สโมสรโกยแบบเต็มอิ่มนับตั้งแต่เธอย้ายไปร่วมทีมตั้งแต่ปี 2014 เธอยังเป็นผู้หญิงคนแรก และเป็นคนที่ 2 ต่อจาก “เฟเรนซ์ ปุสกัส” หากนับรวมชาย-หญิง ที่ยิงแฮททริคได้ในรอบชิงยูโรเปี้ยน คัพ หรือ UCL หลังเธอซัด 3 เม็ด ในนัดชนะบาร์เซโลน่า ช่วยให้ลียงคว้าแชมป์ UCL สมัยที่ 4 ติดต่อกัน เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

ไฮไลต์นัดถล่มบาร์เซโลน่า คว้าแชมป์ UCL ซึ่งอาดา ยิงแฮททริคสร้างประวัติศาสตร์

ความมุ่งมั่นทุ่มเทของเธอ และการคาดหวังความเปลี่ยนแปลงที่เท่าเทียมในแวดวงฟุตบอลหญิงของเธอยังคงชัดเจนไม่เปลี่ยน ไม่น่าเชื่อว่าเธอใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี เปลี่ยนจากเด็กผู้หญิงที่เล่นปะปนกับทีมฟุตบอลเด็กชาย กลายเป็นศูนย์หน้าระดับพระกาฬของโลก ที่ประสบความสำเร็จล้นหลาม และคว้าบัลลงดอร์มาครองในที่สุด

กับการรับรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการลูกหนังประจำปี 2018 เคียงข้าง “ลูก้า โมดริช” ที่ได้รับในฝ่ายชาย เธอกล่าวยกเครดิตรางวัลให้กับทีมของเธอ, ผู้คนที่แวดล้อมอยู่ในวงการฟุตบอล และยังบอกให้เด็กผู้หญิงทั่วทุกมุมโลก จงเชื่อมั่นในตัวเอง

อาดา กับ “ลูก้า โมดริช” มิดฟิลด์เรอัล มาดริด และโครเอเชีย ผู้ชนะรางวัลฝ่ายชาย

ถึงตอนนี้ ก็ตอบได้ยากเหมือนกันว่า ความมุ่งมั่นของเธอ ที่เรียกร้องความเท่าเทียมของฟุตบอลหญิง จะเห็นผลแค่ไหน เช่นเดียวกับเส้นทางกับทีมชาตินอร์เวย์ ที่ตอบได้ยากไม่แพ้กัน ว่าจะกลับมาบรรจบ ให้เราได้เห็นฝีเท้าเธอในบอลยูโร หรือบอลโลก อีกหรือไม่

แต่อย่างน้อย ความมุ่งมั่น ทุ่มเทเต็ม 100% ของเธอ ที่จะประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก ได้เอาเป็นแบบอย่าง และหันมามองคุณค่าของฟุตบอลหญิงมากขึ้นแน่นอน อันนี้ไม่ต้องสงสัยเลย

Picture : The Guardian, FIFA.com, The Independent, Eurosport, talkSPORT, ESPN, TV2 Sumo, CBC.ca, Chixa, Al Jazeera, Goal.com, Sports Illustrated, Driva

Clip : UEFA

rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save