7 หนังสือของ จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียน Animal Farm กับการสะท้อนสังคมและจิกกัดการเมืองผ่านวรรณกรรมอันนุ่มลึก - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
7 หนังสือของ จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียน Animal Farm กับการสะท้อนสังคมและจิกกัดการเมืองผ่านวรรณกรรมอันนุ่มลึก

จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เป็นนามปากกาของ เอริค อาร์เธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากหนังสือสุดอมตะหลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็น  Animal Farm ที่ลุงตู่แนะนำให้เราอ่าน หรือ 1984 ที่หลายคนแนะนำให้ลุงอ่านกลับ รวมถึงผลงานอื่น ๆ อีกมากมายของเขาที่เสียดสีประเด็นสังคมและการเมืองหนัก ๆ ช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างน่าสนใจ

misfitpress

นับว่าเป็นการใช้วรรณกรรมเชื่อมโยงกับระบอบการปกครองแบบเผด็จการได้อย่างเจ็บแสบถึงทรงเลยแหละเพราะแม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษแต่เนื้อเรื่องในวันนั้นก็ยังเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ

วันนี้เราจึงถือวาระรักการอ่านแห่งชาติพาทุกคนไปรู้จักตัวตน ศึกษาแนวคิดและอดุมการณ์ของจอร์จ ออร์เวลล์ ผ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่เด็ดไม่แพ้ Animal Farm รวมถึงไปพาไปรู้จักด้วยว่าหนังสือ Animal Farm นั้นแท้จริงมันเกี่ยวกับอะไรกันแน่

1. พม่ารำลึก

แปลจากหนังสือ: Burmese Days

ผู้แปล: บัญชา สุวรรณานนท์

สำนักพิมพ์: ไต้ฝุ่น

ผลงานเล่มแรกของออร์เวลล์ที่มีฉากหลังเป็นประเทศพม่าในช่วงปี 1920 สมัยยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เขาเขียนจากประสบการณ์ตรงของตัวเองเมื่อครั้งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในพม่า เรื่องราวว่าด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอังกฤษที่ทำงานอยู่ในพม่าและเกิดการกดขี่ทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวพม่า ชาวอินเดีย และชาวยุโรป นอกจากนั้นยังพูดถึงการแสวงหาความรัก ความทะเยอทะยาน มิตรภาพ การช่วงชิงอำนาจ และแฝงด้วยภาพสะท้อนแหลมคมของโครงสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่ ถือเป็นนวนิยายอีกรสชาติหนึ่งของที่ยังคงไว้ซึ่งการตีแผ่พฤติกรรมด้านมืดของมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น และแน่นอนว่าทั้งเล่มเต็มไปด้วยการเสียดสีจิกกัดสไตล์จอร์จ ออร์เวลล์ที่แสบสันร้ายกาจจนแทบไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นงานเขียนชิ้นแรกของเขา

2. ความจนกับคนจร ในปารีสและลอนดอน

แปลจากหนังสือ: Down and Out in Paris and London

ผู้แปล: บัญชา สุวรรณานนท์

สำนักพิมพ์: ไต้ฝุ่น

“ลอนดอนเป็นแดนแห่งหม้อน้ำชาและกองจัดหางาน ขณะที่ปารีสเป็นแดนแห่งบิสโทรและโรงงานนรก”

หนังสือเล่มนี้้เป็นแนวสารคดีที่ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงสมัยออร์เวลล์ยังเป็นหนุ่มและเริ่มเขียนงานลงวรสารต่างๆ  ในช่วงเวลานั้นเขาต้องคลุกคลีกับคนจรจัดและยากไร้ในย่านเสื่อมโทรมของลอนดอนเพื่อหาประสบการณ์จริงมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับงานเขียน ส่วนการย้ายไปอาศัยอยู่ในย่านโบฮีเมียนของกรุงปารีสเขาทำงานเป็นคนล้างจานในภัตคารอยู่ช่วงหนึ่งและต้องเผชิญกับความลำเค็ญขัดสน ใช้ชีวิตอยู่ในสลัม ถึงจะทำงานเขียนไปด้วยแต่เหตุการณ์รันทดมากมายในการใช้ชีวิตเยี่ยงยาจก ทำให้ออร์เวลล์สัมผัสถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นอันเป็นผลมาจากสังคมและการเมือง เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงกลายเป็นภูมิหลังแห่งประสบการณ์ที่มีอิทธิพลต่องานเขียนของเขาในเวลาต่อมา

3. แอนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฎของสรรพสัตว์

แปลจากหนังสือ: Animal Farm

ผู้แปล: บัญชา สุวรรณานนท์

สำนักพิมพ์: ไต้ฝุ่น

ผลงานอมตะของออร์เวลล์ที่วินาทีนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง ส่วนใครยังไม่ได้อ่านบอกได้แค่จงอ่านกันเถิด เพราะนี่เป็นหนังสือที่เสียดสีจิกกัดล้อเลียนสังคมเผด็จการได้เจ็บแสบตลกร้ายที่สุด และตราบใดที่สังคมมนุษย์ทั่วทุกมุมโลกยังคงมีความอยุติธรรมอันเกิดจากการกดขี่โดยอภิสิทธิ์ชนอ่านเมื่อไหร่ก็อิน

เรื่องราวว่าด้วยหมูป่าผู้เฒ่าได้เรียกประชุมเหล่าสรรพสัตว์ในฟาร์มแห่งหนึ่ง พร้อมร่ายสุนทรพจน์ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพของเหล่าสัตว์ ความชั่วร้ายของมนุษย์ ตบท้ายด้วยเพลงปลุกใจ จนเหล่าสัตว์นักปฏิวัติทั้งหลายซึมซับอุดมการณ์เหล่านั้นและมีเป้าหมายเดียวกันคืออิสรภาพ เมื่อพวกมันผนึกกำลังขับไล่มนุษย์ออกไปได้สำเร็จ พวกมันก็เริ่มปกครองกันเองภายใต้ชื่อใหม่ที่ได้มาอย่างภาคภูมิว่า แอนิมอล ฟาร์ม” สรรพสัตว์ไม่ตกเป็นทาสของมนุษย์เช่นในอดีต พวกมันยังคงทำงานหนัก แต่เป็นการทำงานโดยสัตว์เพื่อสัตว์ในการดูแลของ “นโปเลียน” หมูผู้นำ ผู้ดูแลสัตว์อย่างอาจหาญและเป็นธรรม …อย่างน้อยนั่นคือสิ่งที่มันกล่าวอ้าง ทว่าความเป็นจริงจะเป็นเช่นไร เมื่ออำนาจมหาศาลตกอยู่ในมือของสิ่งมีชีวิตหนึ่งเดียว ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม

4. แด่คาทาโลเนีย

แปลจากหนังสือ: Homage to Catalonia

ผู้แปล: สดใส

สำนักพิมพ์: เคล็ดไทย

สำหรับแด่คาทาโลเนีย นี้หลายสถาบันยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือยอดเยี่ยมประเภทสารคดีอันดับตัน ๆ  ซึ่งออร์เวลล์ใช้เวลาแค่ประมาณ 6 เดือนในการเขียนหนังสือเล่มนี้จนแล้วเสร็จหลังกลับจากสงครามด้วยสภาพร่างกายทรุดโทรมและมีรอยกระสุนเจาะที่ลำคอ

เรื่องราวว่าด้วยประสบการณ์ตรงของเขาขณะเข้าร่วมสู้รบอยู่ในกองอาสา พี.โอ.ยู.เอ็ม. ช่วงสงครามกลางเมืองสเปน แม้จะเป็นระยะเวลาเพียง 6 เดือนแต่ประสบการณ์ครั้งนั้นได้กลายเป็นสิ่งที่กำหนดชีวิตและทัศนะทางการเมืองของเขาในเวลาต่อมา ดังที่เขาบันทึกไว้ว่า ...และหากว่าสงครามในสเปนจะนำหายนะอันน่ากลัว…ประสบการณ์ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้ผมเชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์มากขึ้น  

เขาได้เห็นความเลวร้าย การเข่นฆ่ากันทางการเมือง แต่อีกมุมหนึ่งเขาก็มีประสบการณ์น่าประทับใจในแนวรบ ได้เห็นความรับผิดชอบและพลังศรัทธาในการสร้างสรรค์สังคมไม่มีชนชั้นในกองทัพ พี.โอ.ยู.เอ็ม. ที่กระตุ้นเตือนให้รัฐบาลทั้งหลายได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมให้ทุกคนมีเสรีภาพและเสมอภาคเท่าเทียมกัน สำหรับฉบับแปลไทยของหนังสือเล่มนี้น่าจะหาได้ยากแล้วในตลาดบ้านเราเพราะพิมพ์ออกมาแค่สองครั้ง และครั้งล่าสุดก็ตั้งแต่ปี 2536 เลย

5. The Road to Wigan Pier  

เล่มนี้ยังไม่มีแปลเป็นภาษาไทย เนื้อหาเป็นแนวสารคดีที่แบ่งออกเป็นสองเรื่องราวที่แตกต่างกันแต่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ในนั้น

เรื่องแรกพูดถึงการไปสัมผัสชีวิตชนชั้นแรงงานของชาวเหมืองในอังกฤษตอนเหนือและตีแผ่ให้เห็นสภาพความเป็นอยู่อันแสนลำบากยากเข็ญของชุมชนชาวเหมืองผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมถ่านหินแหล่งผลิตเชื้อเพลิงเพื่อชีวิตศิวิไลซ์ของคนเมืองแต่ได้รับค่าแรงต่อสัปดาห์น้อยสุดในสังคม

เป็นชีวิตบัดซบท่ามกองภูเขาถ่านที่ระบบสังคมไม่เห็นการมีอยู่ของพวกเขา  ซึ่งสภาพมันแย่มาก จนออร์เวลล์เอ่ยว่าเขายังแทบทนไม่ไหว เขายังบอกอีกว่า หยาดเหงื่อของชนชั้นนี้มีไว้ให้คนที่เหนือกว่าได้รู้สึกเหนือกว่า ซึ่งรวมถึงตัวเขาเอง

ส่วนเรื่องที่สองนั้นเป็นการชำแหละระบบชนชั้นในอังกฤษ ออร์เวลล์ตำหนิชนชั้นกลางที่สอนให้มีอคติตั้งแต่เด็ก เขาเล่าประวัติครอบครัวชนชั้นกลางที่มองชนชั้นแรงงานเป็นเพียงคล้ายมนุษย์ ตั้งแง่รังเกียจไปเสียทุกอย่าง ออร์เวลล์บอกว่าความเกลียดชังรุนแรงมากก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้แต่คนพื้นถิ่นในพม่ายังเทียบไม่ได้กับการที่คนอังกฤษรังเกียจกันเองจนกดขี่คนชั้นแรงงาน เขาวิเคราะห์ชนชั้นกลางเพื่อให้เห็นถึงสภาพแท้จริงของสังคม และทำไมถึงสนับสนุนระบบสังคมนิยม

6. Coming Up for Air

เล่มนี้ยังไม่มีแปลไทยเช่นกัน แต่ถูกแนะนำว่าเป็นหนังสือของจอร์จ ออร์เวลล์ ที่ควรหามาอ่านอยู่เสมอ Coming Up for Air เป็นการย้อนรำลึกถึงอดีตวัยเยาว์ของออร์เวลล์ถึงชีวิตก่อนสงครามกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละคร จอร์จ โบว์ลิ่ง ชายชนชั้นกลางวัย 45 ปี กับลูกสองคนที่เขาเอือมระอาและเมียที่เขาเบื่อเต็มทน

ตามสไตล์ของออร์เวลล์เขาสาธยายวิพากษ์สังคมยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างเข้มข้นใส่ชีวิตในอดีตของเขาผ่านไปกับที่การห้วนรำลึกถึงเหตุการณ์ต่าง  ๆ ในวัยเด็กไล่มาจนถึงวัยหนุ่มช่วงรบในสงครามของตัวละคร มันจึงเป็นความงดงามของฉากที่บรรยายถึงอดีตไม่ย้อนคืน แต่ออร์เวลล์บอกว่า มันเป็นโลกที่น่าอยู่ ผมเป็นส่วนหนึ่งของอดีต และวันหนึ่งคุณเองก็คงเป็นเช่นนั้น

ขณะเขียนหนังสือเล่มนี้ออร์เวลล์พักฟื้นจากอาการป่วยอยู่ที่เมืองมาราเกชในโมร็อกโกปี 1938 เมื่อเทียบกับหนังสือก่อนหน้านี้ที่เขาเขียนการเมืองหนัก ๆ ประเด็นสังคมจ๋า ๆ งานชิ้นนี้ถือว่ามีเนื้อหาเบาลงมากและเป็นที่รู้จักน้อยกว่า

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตีพิมพ์ในปี 1939 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี หนังสือจึงหายจากท้องตลาดไปอย่างรวดเร็ว กว่าจะกลับมาตีพิมพ์ใหม่ใช้ได้ก็ใช้เวลากว่าสิบปีให้หลัง แถมเป็นการขโมยฉบับพิมพ์ครั้งแรกมาจากห้องสมุดเพื่อมาชำระต้นฉบับใหม่ด้วย เนื่องจากฉบับแรกโดนเซ็นเซอร์เพราะมีการกล่าวถึงฮิตเลอร์ในบางส่วน

7. 1984 หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่

แปลจากหนังสือ: 1984 Nineteen Eighty Fou

ผู้แปล: รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพันธ์เผ่าพงศ์

สำนักพิมพ์: สมมติ

1984 เป็นหนังสือแนวดิสโปเปีย กล่าวถึงตัวละคร วินสตัน สมิธ ที่เป็นพลเมืองของประเทศโอเชียเนีย ประเทศที่มีการปกครองโดยพรรคการเมืองเดียวเบ็ดเสร็จชื่อว่า อิงซ็อก มีผู้นำสูงสุดคือ Big Brother ผู้ที่มีใบหน้าปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมเมือง

แม้ประเทศจะอยู่ในภาวะสงครามอิงซ็อกก็สามารถดูแลปกครองให้คนในประเทศกินอยู่ไม่ขาดแคลน ทุกคนต่างรู้จักหน้าที่และช่วยกันสอดส่องผู้ที่เป็นกบฏทางความคิด ส่อแววต่อต้านหรือเห็นตรงข้ามกับพรรค ทุกคนจงรักภักดีกับรัฐบาลแต่ท้ายสุดความคิดที่แตกต่างย่อมเกิดขึ้น โดยสะท้อนผ่านตัวเอกทั้งสอง คือ วินสตัน และจูเลีย และจบโดยที่ทำให้เห็นว่าในโลกที่ถูกตีกรอบเหมือนกันยังคงมีความแตกต่าง มีคนคอยตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็น

สิ่งที่ 1984 ต้องการนำเสนอให้เห็น คือ สิ่งที่สังคมจะต้องยอมแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งความเชื่อที่เสมอภาคกัน ผ่านกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกวางโครงเรื่องและรูปแบบเอาไว้อย่างแยบยลโดยผู้ชี้นำของแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งก็เป็นเพียงความเสมอภาคในระดับของความเชื่อและการรับรู้ ไม่ใช่โดยบนพื้นฐานอยู่ของข้อเท็จจริง นอกจากนี้ 1984 ยังเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของเขาที่ถูกตีพิมพ์เพียงหนึ่งปีก่อนเสียชีวิตด้วยอาการตกเลือดในปอดจากวัณโรคในปี 1950

Source : 1|2|3|4|5|6|7

Suthamat
The girl with flowers tattoo

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save