5 นักเขียนระดับตำนานที่เท่ทั้งภาษาและชีวิตจริง - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
5 นักเขียนระดับตำนานที่เท่ทั้งภาษาและชีวิตจริง

การจะซื้อหาหนังสือสักเล่มนอกจากพิจารณาดูภาพหน้าปกและเรื่องย่อบริเวณปกหลัง สิ่งหนึ่งที่ตัวหนอนหนังสือมักจะยกมาเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจเสมอคือชื่อเสียงเรียงนามของนักเขียน

นักเขียนแต่ละคนก็จะมีสไตล์การเขียนที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป หากใครเคยอ่านคนไหนแล้วถูกใจก็คงไม่ลังเลที่จะซื้อผลงานเล่มใหม่ทันที ยิ่งเป็นนักเขียนชื่อดังด้วยแล้วยิ่งสามารถการันตีคุณภาพของผลงานได้ว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง

ซึ่งนักเขียนชื่อดังบางคนก็ไม่ได้มีเสน่ห์แค่ตัวผลงาน แต่เรื่องราวชีวิตเท่ๆ ต่างจากภาพลักษณ์นักเขียนสุดเนิร์ดในจินตนาการ ก็ทำให้ใครหลายคนสนอกใจและยกย่องพวกเขาขึ้นเป็นไอดอล วันนี้เราจึงคัด 5 นักเขียนชื่อดังระดับตำนานที่เท่ทั้งในชีวิตและตัวอักษรมาฝากกัน

1. Ernest Hemingway

Smithsonian Magazine

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) เป็นนักเขียนอเมริกันในตำนานแห่งศตวรรษที่ 20 และเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1954 ด้วยภาษาการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์กับไลฟ์สไตล์ดิบๆ แบบชายชาตรีประดุจนักรบผู้ห้าวหาญทำให้เขาได้รับการขนานนามว่า “ปาป้าเฮมิงเวย์”

วิถีชีวิตแมนๆ อย่างการผจญภัยท่องโลกออกตกปลาล่าสัตว์ สู้วัวกระทิง กับประสบการณ์ลูกผู้ชายในสนามรบที่เผชิญมาอย่างโชกโชนตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่1 สงครามกลางเมืองสเปน และสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งร่ำลือกันว่าเขาเป็นสายลับให้กับทางคิวบาและรัสเซีย คือ วัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่ถ่ายทอดมาสู่งานเขียนชั้นบรมครูและได้รับการยกย่องอย่างกว้างขว้างชนิดที่ว่าหากลบผลงานเขาออกจากหน้าประวัติศาสตร์ วรรณกรรมโลกจะไม่สมบูรณ์เลยทีเดียว  

Redwood Library

แมทธิว อดัมส์ (Matthew Adams) แห่ง Washington Post พูดถึงงานเขียนของเขาว่า เฮมิงเวย์ใส่สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนลงไปในงานวรรณกรรมจากการเล่นสำบัดสำนวน เชือดเฉือนกันเจ็บแสบตามขนบวรรณกรรมอังกฤษ และนำเอาเลือดการสู้รบ การดวลกัน เซ็กซ์ การล่าสัตว์ และความตายใส่ลงไปในงานวรรณกรรมแบบอเมริกัน

นอกจากนั้นการประกาศก้องว่าจะไม่ใช้คำวิเศษณ์ (adverb) ที่ถูกมองว่าเยิ่นเย้อยืดย้วยแต่หันมาใช้การเปรียบเปรยใหญ่ๆ ด้วยคำง่ายๆ ตรงไปตรงมาเป็นจุดเด่นที่ทำให้ของผลงานเฮมิงเวย์ห้วน กระชับ เรียบง่ายแต่มีพลังซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแม่แบบที่นักเขียนรุ่นต่อมายึดถือเป็นแบบอย่าง

หนังสือที่ควรหยิบมาอ่าน : For Whom the Bell Tolls , The Garden of Eden, A Farewell To Arms, The Sun Also Rises และ To Have and Have Not

2. Charles Bukowski

Kienyke

ชาลส์ บูเคาว์สกี (Charles Bukowski) เป็นนักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันผู้มีสไตล์การเขียนที่ดุดันและเย้ยยันสังคมแต่ช่วยปลอบประโลมจิตใจอย่างความตรงไปตรงมาอันเป็นเอกลักษณ์ งานเขียนของเขาส่วนใหญ่มีฉากหลังเป็นลอสแอนเจลิสซึ่งเป็นเมืองที่เขาอาศัยอยู่ โดยมักสะท้อนภาพสังคมของคนชั้นล่างชาวอเมริกันเกี่ยวกับชีวิตอันยากแค้น,เหล้า,ยา, เซ็กส์ และความน่าเบื่อหน่ายของการทำงาน นิตยสาร Time ได้ขนานนามเขาว่า “นักเขียนเอกแห่งชีวิตอเมริกันชั้นต่ำ”

บูเคาว์สกีอาจจะดูเป็นแค่ชายขี้เมาที่ไม่ได้มีวิถีชีวิตหรือรูปลักษณ์หวือหวาเท่าไหร่นัก แต่ความเป็นคนแสนธรรมดาที่ไม่เคยยอมแพ้ทำให้หลายคนชื่นชมเขา ไม่ว่าชีวิตจะดีจะเลว ขรุขระขนาดไหนบูคาวสกีไม่เคยทิ้งการเขียนจนในที่สุดเขาก็ได้เป็นนักเขียนที่ประสบความสบความสำเร็จตอนอายุ 50 ปี แต่ความสำเร็จของเขาก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป บูเคาว์สกียังคงกินเหล้า เที่ยวผู้หญิง ทำตัวเหมือนเช่นเดิมเพราะเขาไม่ได้มองว่าความสำเร็จต้องทำให้เขาเปลี่ยนไป

Grub Street

การที่ชีวิตเดินทางมาถึงจุดที่ใฝ่ฝันได้เพราะเขารู้ตัวเองดีว่าเป็นแค่ไอ้ขี้แพ้คนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งบูเคาว์สกีเลือกที่จะยอมรับมันแบบไม่แต่งแต้มใดๆ และถ่ายทอดทุกอย่างออกมาผ่านงานเขียนที่เต็มไปด้วยความเสียดสีเย้ยยันต่อเรื่องไร้สาระในสังคม ไร้การประนีประนอมด้วยถ้อยคำสวยหรูแต่จริงใจ

หนังสือที่ควรหยิบมาอ่าน : Post Office, Ham on Rye, Hot Water Music , Erections, Ejaculations, Exhibitions, and General Tales of Ordinary Madness, Burning in Water, Drowning in Flame: Selected Poems 1955-1973 , Factotum และ The Last Night of the Earth Poems

3. Haruki Murakami

Andersen Award

ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami)  คือนักเขียนชายชาวญี่ปุ่นที่มีโอกาสเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมหลายรอบ ถึงจะคว้ารางวัลกลับบ้านไม่ได้สักทีแต่คนทั่วทั้งโลกต่างจดจำชื่อของเขาได้ดีในความสามารถกรีดความเหงาให้กลายเป็นเรื่องราวตรึงใจ ถึงขั้นที่มีคนนิยามว่าเขาเป็น “เจ้าพ่อวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์น”

งานเขียนของมูราคามิส่วนใหญ่จะเป็นงานเขียนแนวเหนือจริง ใช้ภาษาเรียบง่าย ค่อย ๆ พาคนอ่านล่องลอยไปกับการเล่าเรื่องที่อบอวลไปด้วยความเหงา เศร้า สะเทือนอารมณ์แต่มีเสน่ห์ตรงที่สามารถผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตธรรมดากับเรื่องราวเหนือจริงต่างๆในเรื่องได้อย่างลงตัว ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อเรื่องมักจะจบแบบปลายเปิด เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่ผู้อ่านแต่ละคนจะได้จากการอ่านหนังสือของเขานั้นจึงแตกต่างกันออกไป

Dappled Things

และไม่เพียงของงานเขียนเขาที่ได้รับการชื่นชมแต่ชีวิตเขาตั้งแต่การเป็นเจ้าของบาร์แจ๊ส จนมาถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มเป็นนักเขียน การวิ่งมาราธอนและการต้องเปิดแผ่นเสียงฟังทุกวันกับภรรยาเป็นกิจวัตรต่างก็ล้วนมีเสน่ห์ชวนให้คนอ่านอยากรู้จักเขาให้มากขึ้นผ่านงานเขียนที่เขามักสอดแทรกลงไปเสมอ

หนังสือที่ควรหยิบมาอ่าน : A Wild Sheep Chase, The Wind-Up Bird Chronicle, Hard-Boiled Wonderland and the End of the World, 1Q84, Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage, Kafka On the Shore, Norwegian Wood, Pinball 1973, Hear the Wind Sing และ Dance Dance Dance

4. John Steinbeck

The Writing Cooperative

จอห์น สไตน์เบ็ค (John Steinbeck) เป็นนักเขียนรางวัลโนเบลชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชและเยอรมัน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างงานเขียนที่เพียบพร้อมทั้งจินตนาการ ความสมจริง โดดเด่นด้วยอารมณ์ขันและมุมมองทางด้านสังคมที่เฉียบคม

สไตน์เบ็คจัดว่าเป็นนักเขียนที่เฉลียวฉลาดและสู้ชีวิตคนหนึ่ง เขาเคยมีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแต่ต้องเลิกเรียนกลางคันเพราะปัญหาค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นก็จึงพาตัวเองไปนิวยอร์คเพื่อหาสำนักพิมพ์เสนองานแต่ก็ล้มเหวไม่เป็นท่าจนต้องกลับบ้านเกิดที่แคลิเฟอร์เนีย ถึงชีวิตจะไม่เป็นอย่างฝันแต่เขาก็มุมานะเขียนหนังสือต่อไปพร้อมๆ กับทำงานสารพัดชนิดเพื่อเลี้ยงตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนเก็บผลไม้ ผู้ช่วยในห้องแล็ปเคมี หรือสัปเหร่อก็เคยเป็นมาแล้ว    

Stephen Amidon

ผลงานเขียนของเขาจึงโดดเด่นในเรื่องสะท้อนสภาพชีวิต การเมือง และเศรษฐกิจของสังคมอเมริกันยุคนั้น ซึ่งภายในเนื้อหาได้แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่กว้างขวางทางด้านชีววิทยา ดนตรีแจ๊ส การเมือง หรือประวัติศาสตร์ของเขาได้เป็นอย่างดี เขามองทุกสิ่งอย่างละเอียดละออและถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครชนชั้นแรงงานด้วยภาษาอันงดงามราวบทกวี

หนังสือที่ควรหยิบมาอ่าน : Of Mice and Men, In Dubious Battle, The Long Valley, To a God Unknown, Tortilla Flat, America and Americans and Selected Nonfiction, Travels with Charley, The Winter of Our Discontent, A Russian Journal, Steinbeck: A Life in Letters และ The Grapes of Wrath

5. J.D. Salinger

Variety

เจ.ดี.ซาลินเจอร์ (J. D. Salinger) คือ นักเขียนขวัญใจวัยรุ่นตลอดกาลจากวรรณกรรมอมตะระดับโลกเรื่อง ‘The Catcher in the Rye’ แม้ชิ้นงานที่ซาลิงเจอร์ทิ้งไว้ไม่ได้มีมากนัก แค่นวนิยายและรวมเรื่องสั้นเพียง 4 เล่ม แต่สไตล์งานเขียนอันเป็นเอกลักษณ์จับอารมณ์คนอ่านได้อยู่หมัดและผลงานระดับตำนานอันมีอิทธิพลทางด้านดนตรีและภาพยนตร์ในยุคต่อมาทำให้เขาถูกยกมาพูดถึงอยู่เสมอ

ซาลินเจอร์เริ่มเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่สมัยมัธยมและมีโอกาสได้ตีพิมพ์ลงนิตยสารก่อนที่จะเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 และพบกับความโหดร้ายของสมรภูมิรบในยุโรป เขาจึงเก็บความรู้สึกที่เผชิญมาถ่ายทอดผ่านการเขียนนวนิยายเรื่อง The Catcher in the Rye ตั้งแต่ครั้นยังอยู่ในสนามรบ

AARP

เมื่อหนังสือได้รับการตีพิมพ์ชื่อเสียงของเขาก็โด่งดังเป็นพลุแตกนักอ่านหลายต่อหลายคนยกย่องให้ตัวละครของนวนิยายเรื่องนี้เป็นฮีโร่และแบบอย่างในการมองโลก แต่แทนที่จะกอบโกยความสำเร็จซาลินเจอร์กลับเลือกหายตัวไปจากวงการดื้อ ๆ หลังจากทำงานเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสารอยู่พักหนึ่ง

ชีวิตหลังออกจากวงการไปยังคงเป็นปริศนา แต่การกระทำนั้นถูกมองว่าเป็น “คนจริง” ที่ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตนเองเขียน และเปลี่ยนสถานะซาลิงเจอร์จากนักเขียนให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณไปโดยปริยาย

หนังสือที่ควรหยิบมาอ่าน : The Catcher in the Rye, Nine Stories, Raise High the Roof Beam, Carpenters and Seymour: An Introduction และFranny and Zooey

Source : 1|2|3|4|5|6|7

Suthamat
The girl with flowers tattoo

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save